Advance search

เกาะลันตา พื้นที่เกาะกลางทะเลทะเลอันดามันขนาดใหญ่ของจังหวัดกระบี่  แหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ทรัพยากรทางธรรมาชติและทางทะเลที่สวยงามหลากหลาย เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ

เกาะลันตาใหญ่
เกาะลันตา
กระบี่
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
28 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 มิ.ย. 2024
เกาะลันตา

คำว่า “ลันตา” ได้มีผู้รู้และให้ความหมายที่มาของชื่อนี้ไว้หลายท่าน โดยมีที่มาจาก 4 ความหมายดังนี้

ความหมายแรก “ลันตา” มาจากคำว่า “ลันตาส/ลันตัส” เป็นภาษามลายู แปลว่าโรงร้าน โรงเรือน ซึ่งก็คือที่ตากปลาของชาวบ้าน

ความหมายที่สอง “ลันตา” มาจากคำว่า “ลานตา” แปลว่าหาดทรายที่เต็มไปด้วยเปลือกหอยลานตาไปทั่วหาดของเกาะ     

ความหมายที่สาม กล่าวว่า “ลันตา” มาจากคำว่า “ลันตั๊ดซู” จากภาษาจีน ซึ่ง “ลุน/หลุน” แปลว่า ภูเขา “ตั๊ด”แปลว่า ทางไกล และ “ซู” แปลว่า เกาะ ความหมายรวมคือ เกาะที่มีแนวภูเขาเป็นแนวยาวไกล และชาวเลเรียกว่า “ปูเลาซาตั๊ก” ซึ่งมีความหมายอย่างเดียวกัน

ความหมายสุดท้ายคือ “ลันตา” เพี้ยนมาจากคำว่า “ลอนตา” ในภาษามลายู ซึ่งแปลได้ว่า คนจนหรือคนที่ต่อสู้อย่างปากกัดตีนถีบ ซึ่งหมายถึงคนพื้นเมือง อันเดิมทีได้ร่อนแร่อยู่แถบนี้มานานนม ซึ่งกลุ่มคนร่อนแร่นี้ ถูกเรียกว่า “โอลังลอนตา” และหมู่เกาะที่มีคนเร่รอนกลุ่มนี้อยู่ จะถูกเรียกว่า “ปูเลาลันตา” ซึ่งอาศัยอยู่ใน 3 พื้นที่คือ หมู่เกาะสุรินทร์, พังงา, และหมู่เกาะลันตา


เกาะลันตา พื้นที่เกาะกลางทะเลทะเลอันดามันขนาดใหญ่ของจังหวัดกระบี่  แหล่งที่มีระบบนิเวศสมบูรณ์ ทรัพยากรทางธรรมาชติและทางทะเลที่สวยงามหลากหลาย เป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวจากทั่วทุกสารทิศ

เกาะลันตาใหญ่
เกาะลันตา
กระบี่
81150
7.626342007616142
99.07903673001918
เทศบาลตำบลเกาะลันตาใหญ่

เกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ พื้นที่เกาะขนาดใหญ่แห่งนี้เป็นพื้นที่ที่มีผู้คนเข้ามาอยู่อาศัยตั้งบ้านเรือนเป้นชุมชนต่อเนื่องมาเป็นระยะเวลายาวนานมากกว่า 100 ปีมาแล้ว โดยเรื่องเล่าท้องถิ่นกล่าวถึงที่มาของพื้นที่นี่และการเข้ามาอยู่อาศัยของผู้คนไว้ว่า ในอดีตช่วงที่มีการค้ารุ่งเรืองในแถบพื้นที่สุวรรณภูมิไปจนถึงมลายู ได้มีการค้าโดยเรือสำเภาผ่านน่านน้ำทะเลเป็นจำนวนมาก ทั้งจากประเทศจีน และฝั่งอาหรับ รวมไปถึงมลายูเส้นทางเดินเรือจากชายฝั่งประเทศพม่ามีความคึกคักเรื่อยมาตามแนวชายฝั่งทะเลทอดยาวลงมาทางตอนใต้ของทะเลอันดามันแถบประเทศไทย เกาะลันตาจึงเป็นทางผ่านสำหรับพ่อค้า นักเดินเรือที่ใช้เส้นทางแถบนี้ในการจอดแวะพัก

เนื่องจากเป็นเกาะขนาดใหญ่สามารถสังเกตได้ง่าย และมีพื้นที่สำหรับอยู่อาศัยค้างแรม ทั้งยังเป็นพื้นที่สำหรับหลบลมพายุในช่วงฤดูมรสุมของชาวประมงและนักเดินเรือ ต่อมาจึงเริ่มมีผู้คนมาตั้งหลักปักฐานสร้างบ้านเรืออยู่อย่างถาวร และการเป็นชุมชนที่ขยายใหญ่ขึ้นเรื่อยๆ ชุมชนที่สำคัญในพื้นที่คือชุมชนศาลาด่าน ซึ่งในช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ใช้เป็นพื้นที่ด่านภาษีของเรือเดินทางที่มาทำการค้า จากภูเก็ต ระนอง ที่จะเดินทางผ่านไปยังปีนัง และสิงคโปร์ และในปี พ.ศ. 2544 ทางราชการได้ยกฐานะพื้นที่เกาะลันตาเป็นอำเภอเกาะลันตามาจนถึงปัจจุบัน

อำเภอเกาะลันตาเป็นพื้นที่เกาะในทะเลฝั่งอันดามัน ประกอบไปด้วยเกาะหลักขนาดใหญ่ คือ เกาะลันตาใหญ่ และเกาะอื่นๆ มีพื้นที่โดยประมาณ 99.3 ตารางกิโลเมตร สภาพทางภูมิศาสตร์ทางกายภาพเป็นภูเขาสลับซับซ้อนและค่อนข้างลาดชัน ทางตอนเหนือประกอบด้วยเทือกเขาทอดตัวไปตามแนวเหนือใต้ และแนวตะวันตกเฉียงเหนือ-ตะวันออกเฉียงใต้ สลับการพื้นที่ราบและพื้นที่เนิน ด้านตะวันตก และทางตอนใต้มีที่ราบบริเวณชายหาด พื้นที่ส่วนใหญ่จึงมีความลาดชันมากกว่า 35 เปอร์เซ็นต์ ไปจนถึงบริเวณตอนกลางของเกาะที่มีความลาดชันมากกว่า 50 เปอร์เซ็นต์ ความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 เมตร ไปจนถึงยอดเขาสูงที่สุดตอนกลางของพื้นที่ที่มีความสูง 488 เมตร

เกาะลันตาใหญ่และหมู่เกาะบริวารของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาตั้งอยู่ในทะเลอันดามัน เป็นพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้และมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ทำให้มีลักษณะภูมิอากาศแบบมรสุมในเขตร้อนมีเพียง 2 ฤดูกาล คือ ฤดูฝน และฤดูร้อน อุณหภูมิเฉลี่ยตลอดทั้งปีอยู่ที่ 28 องศาเซลเซียส มีอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดในเดือนมีนาคมที่ 34 องศาเซลเซียส และอุณหภูมิเฉลี่ยต่ำสุดในเดือนธันวาคมที่ 24 องศาเซลเซียส มีปริมาณน้ำฝนเฉลี่ยตลอดปีมากกว่า 2,100 มิลลิเมตร

ประชากรส่วนใหญ่ในอำเภอเกาะลันตาเป็นชาวไทยมุสลิม ร้อยละ 90 นอกจากนั้นเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ชาวอูรักลาโวยจ และกลุ่มชาวไทย พื้นที่เกาะลันตาประกอบไปด้วยเขตการปกครองส่วนท้องถิ่น 6 ตำบล ซึ่งประชากรกระจายตัวกันอยู่ในพื้นที่เกาะลันตาใหญ่ และตามหมู่เกาะบริวารโดยรอบ มีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรอำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 35,141 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 17,822 คน ประชากรหญิง 17,319 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 15,408 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

อูรักลาโวยจ

เกาะลันตา อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ วิถีชีวิตของผู้คนดั้งเดิมที่เข้ามาตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่อาศัยในพื้นที่นี้เป็นคนพื้นเมืองที่ประกอบอาชีพประมงเป็นหลัก เป็นการทำประมงชายฝั่ง ประมงพื้นบ้าน ซึ่งสามารถพบเห็นวิถีชีวิต และชุมชนประมงได้โดยทั่วไปในพื้นที่เกาะลันตาใหญ่ และเกาะบริวารอื่นๆ โดยจะเรียกกลุ่มผู้ทำอาชีพประมงนี้ว่า ชาวเล หรือ อูรักลาโวยจ

นอกจากนี้เกาะลันตายังเป็นพื้นที่แหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดกระบี่ที่มีชื่อเสียงโด่งดัง เป็นพื้นที่ยอดนิยมแห่งหนึ่งของการท่องเที่ยวทางทะเล หรือการท่องเที่ยวหมู่เกาะของเมืองไทย ด้วยเหตุนี้ทำให้เกาะลันตาจึงมีการพัฒนาด้านระบบเศรษฐกิจที่เติบโตและมั่นคง มีกลุ่มนายทุนมาลงทุนด้านการท่องเที่ยวในพื้นที่ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจด้านอาหาร หรือแหล่งที่พักสำหรับนักท่องเที่ยว ทำให้ประชากรในพื้นที่หันไปประกอบอาชีพด้านธุรกิจการท่องเที่ยวด้วยเช่นเดียวกัน ไม่ว่าจะเป็นการค้า การบริการเรือนำเที่ยว การท่องเที่ยวชุมชน ฯลฯ ซึ่งสิ่งเหล้านี้ช่วยกระจายรายได้ให้กับคนในพื้นที่ และพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ดีชาวเกาะลันตา และสร้างรายได้ให้กับชาวบ้านได้เป็นอย่างดีอีกทางหนึ่ง         

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ทรัพยากรธรรมชาติและการท่องเที่ยว

หมู่เกาะลันตาเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติและทรัพยากรทางทะเล เป็นแหล่งท่องเที่ยวยอดนิยมและเป็นจุดมุ่งหมายสำคัญของนักท่องเที่ยวหลากหลายกลุ่มจากพื้นที่ต่างๆ ทั้งชาวไทยและนักท่องเที่ยวต่างชาติ พื้นที่เกาะลันตามีระบบนิเวศและสภาพแวดล้อมที่สมบูรณ์ เป็นแหล่งเพาะพันธุ์และที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตในทะเลหลายชนิด เช่น ปะการังอ่อนหลากสีสัน และสัตว์น้ำขนาดใหญ่ เช่น วาฬ ฉลามวาฬ และแมนต้าเรย์ เป็นต้น ทั้งยังเป็นแหล่งดำน้ำที่เป็นที่นิยมเป็นอย่างมาก มีกิจกรรมดำน้ำลึกและดำน้ำตื้น มีแหล่งท่องเที่ยวชุมชนที่มีชื่อเสียงด้านการท่องเที่ยวเชิงนิเวศ ชมป่าเลนและกิจกรรมท่องเที่ยวชุมชน มีที่พัก ร้านอาหาร ท่าเรือ ร้านค้าต่างๆ สำหรับให้บริการนักท่องเที่ยวอย่างครบครัน ทรัพยากรท่องเที่ยวทางธรรมชาติและพื้นที่ทางการท่องเที่ยวที่สำคัญของเกาะลันตา ประกอบด้วย

1. หาดคอกวาง เป็นหาดที่อยู่ด้านเหนือสุดของเกาะลันตาใหญ่ มีลักษณะเป็นแหลมโค้งรูปเสี้ยวพระจันทร์ สามารถมองเห็นทะเลได้ทั้งสองฝั่ง ลักษณะเป็นหาดทรายปนโคลน หาดด้านฝั่งตะวันตกเดินเล่นได้ ส่วนหาดฝั่งตะวันออกห้ามลงเล่นน้ำเพราะเป็นจุดอันตราย

2. หาดคลองดาว เป็นหาดที่มีทรายขาวเนียน เป็นแนวยาวประมาณ 3 กิโลเมตร มีความปลอดภัยเหมาะสำหรับการลงเล่นน้ำ ตั้งอยู่ใกล้แหล่งชุมชนบ้านศาลาด่านและท่าเรือ และยังเป็นที่ตั้งของโรงแรมหลายแห่ง ส่วนใหญ่เป็นโรงแรมสำหรับพักแบบครอบครัว

3. หาดพระแอะหรือลองบีช เป็นหาดที่ตั้งอยู่ถัดจากหาดคลองดาว หาดทรายมีสีขาวอมน้ำตาลอ่อน มีความละเอียดเนียน ตลอดแนวชายหาดประมาณ 4 กิโลเมตร มีทิวสนกระยายอยู่เป็นระยะ มีโรงแรมหลายระดับ หลายสไตล์ให้เลือก ทั้งยังมีสวนสาธารณะบรรยากาศร่มรื่นเหมาะแก่การนั่งพักผ่อน

4. หาดคลองโข่ง เป็นหาดที่ต่อจากหาดพระแอะ หน้าหาดมีต้นเตยทะเลขึ้นเรียงรายตลอดแนว ความยาวของหาดประมาณ 3 กิโลเมตรเศษ ทะเลหน้าหาดคลองโข่งมีโขดหินเป็นจำนวนมาก ไม่สามารถลงเล่นน้ำได้ แต่จะเหมาะสำหรับการชมวิวในช่วงพระอาทิตย์ตก โขดหินเหล่านี้เป็นที่อาศัยของสัตว์น้ำตัวเล็ก ซึ่งบางครั้งเมื่อน้ำลดจะมีชาวบ้านออกหากุ้งหรือกั้งไปเป็นอาหารค่ำได้ด้วย   

5. หาดคลองโตบ เป็นหาดที่อยู่ถัดไปจากหาดคลองโข่งไม่ไกลนัก ชายหาดเป็นเม็ดทรายหยาบสีน้ำตาลอมแดง หาดนี้เป็นหาดเล็ก ๆอยู่ติดริมถนน หน้าหาดมีโขดหินตลอดแนว ทำให้ลงเล่นน้ำไม่ได้ หาดนี้มีความเงียบสงบเหมาะแก่การนั่งเล่นชมพระอาทิตย์ตก และมักใช้เป็นที่จอดพักเรือของชาวประมง และเป็นแหล่งอาหารของชุมชนท้องถิ่นในการหาปูหาหอยตามโขดหิน

6. หาดคลองนิน เป็นหาดค่อนข้างยาว ตั้งอยู่กึ่งกลางเกาะพอดี ตลอดแนวหาดมีโรงแรม ร้านอาหารเป็นจำนวนมาก ชายหาดนี้มีทรายขาวสะอาดเนียนละเอียด หาดมีความลาดชันไม่มากนัก สามารถลงเล่นน้ำได้ นักท่องเที่ยวนิยมกิจกรรมชายหาด เช่น วอลเล่ย์บอล หรือฟุตบอลบริเวณชายหาด

7. หาดบากันเตียง เป็นหาดที่อยู่ถัดมาจากหาดคลองนิน มีทรายขาวละเอียดและนำทะเลสีสวยใส ที่หัวหาดขนาบด้วยเนินเขา ตัวหาดมีลักษณะเป็นครึ่งวงกลมโค้งมน บางครั้งจึงเรียกอ่าวบากันเตียง หาดค่อยๆ ลาดลงทะเลเหมาะแก่การลงเล่นน้ำ บรรยากาศเงียบสงบ เป็นหาดที่มีทิวทัศน์งดงาม จุดเด่นคือมีความเป็นธรรมชาติป่าเขาของอุทยานแห่งชาติที่โอบล้อมหาดทรายไว้ บนหาดมีรีสอร์ทไม่มากนัก และเป็นที่ตั้งของพิมาลัยรีสอร์ทแอนด์สปา ซึ่งเป็นรีสอร์ทระดับห้าดาวแห่งแรกของเกาะลันตา

8. หาดคลองจาก เป็นหาดเล็กๆ หาดทรายมีลักษณะโค้งเหมือนเสี้ยวพระจันทร์ เป็นหาดที่มีทรายละเอียด คงกลิ่นอายของชาวประมงและคนท้องถิ่น ตั้งอยู่ห่างไกลจากความวุ่นวาย มีบรรยากาศที่เงียบสงบ เหมาะสำหรับนักท่องเที่ยวแบบ longstay หรือนักท่องเที่ยวเชิงนิเวศ เนื่องจากที่พักราคาถูก และยังมีการพัฒนาน้อย บางครั้งหาดรู้จักในนามของหาดน้ำตก (waterfall bay) เนื่องจากหาดตั้งอยู่ใกล้กับทางที่ไปสู่น้ำตกสายเล็กในเกาะลันตา

9. หาดไม้ไผ่ หรือ Last beach เป็นหาดสุดท้ายก่อนถึงแหลมโตนด ซึ่งเป็นที่ตั้งของที่ทำการอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา นักท่องเที่ยวเรียกว่าหาดไม้ไผ่เนื่องจากมีป่าไผ่อยู่เป็นจำนวนมาก หาดนี้อยู่ห่างไกล จึงเงียบสงบ เหมาะสำหรับผู้ที่ไม่ชอบความวุ่นวาย บนเส้นทางก่อนถึงหาดเป็นทางลงเขาจึงต้องใช้ความระมัดระวังในการเดินทาง แต่สามารถชมความงามของทิวทัศน์จากมุมสูงของหาดได้

10. แหลมโตนด ตั้งอยู่ในเขตอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา สถานที่แห่งนี้เปรียบเหมือนเป็นสัญลักษณ์ของเกาะลันตาเพราะเป็นที่ตั้งของประภาคารเก่าแก่ที่ทางอำเภอลันตาใช้เป็นสัญลักษณ์ในการส่งเสริมการท่องเที่ยว ลักษณะของแหลมโตนดจะเป็นแหลมยื่นไปในทะเล โดยมีหาดโตนดอยู่ทางตะวันออกและหาดหินงามทางตะวันตก จากจุดชมวิวจะมองเห็นต้นโตนดขึ้นเรียงรายตลอดแนวชายทะเล

11. อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาครอบคลุมพื้นที่ 134 ตารางกิโลเมตร ประกาศจัดตั้งเป็นอุทยานแห่งชาติเมื่อวันที่ 15 สิงหาคม 2533 อยู่ในกลุ่มพื้นที่คุ้มครองหมู่เกาะอันดามัน ที่ทำการของอุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตาตั้งอยู่ด้านทิศใต้ในส่วนท้ายของเกาะลันตาใหญ่ ประกอบด้วยเกาะ 25 เกาะ สามารถแบ่งออกได้เป็น 4 กลุ่ม ได้แก่

  • กลุ่มเกาะรอก ประกอบด้วยเกาะรอกนอก และเกาะรอกใน ซึ่งเกาะรอกในมีภูมิประเทศทั่วไปเป็นหินผาสูงชัน มีโขดหินซึ่งผุกร่อนมาเป็นเวลานานอยู่ทางทิศเหนือ ด้านที่หันสู่ทิศตะวันตกเป็นหน้าผาทอดยาว ด้านหน้าของเกาะมีความยาวประมาณ 2.4 กิโลเมตร ยอดเขาที่สูงที่สุด สูง 208 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนเกาะรอกนอกเป็นเกาะที่มีขนาดใกล้เคียงกับเกาะรอกใน ยอดเขาที่สูงที่สุด สูง 156 เมตรจากระดับน้ำทะเล บริเวณระหว่างช่องเขาจะมีที่ราบขนาดกว้างอยู่ 2 แห่ง คือ ช่องเขาหาดทะลุ และอ่าวม่านไทร
  • กลุ่มเกาะห้า (เกาะตุกนลิมา) และเกาะหินแดง กลุ่มเกาะห้าประกอบด้วยเกาะเล็กๆ 5 เกาะ มีที่ราบเล็กน้อยบนยอดเขาของเกาะที่มีพื้นที่มาก 2 เกาะ และอีก 3 เกาะที่เหลือมีลักษณะเหมือนหินโผล่พื้นน้ำ ไม่มีพื้นที่ราบบนเกาะ บริเวณเกาะหินแดงหินม่วงเป็นแหล่งดำน้ำที่เป็นรู้จักทั่วโลก มีปะการังอ่อนหลากหลายชนิดที่มีสีสันสวยงาม
  • กลุ่มเกาะไหง ประกอบด้วย เกาะไหง และเกาะม้า ด้านหน้าเกาะทางทิศตะวันออกของเกาะไหงเป็นหาดทรายทอดยาวตามแนวชายฝั่ง ทิศใต้ลักษณะเป็นอ่าว ด้านตะวันตกตอนเหนือมีลักษณะเป็นเขาสูงชัน ยอดเขาสูงที่สุด สูง 198 เมตรจากระดับน้ำทะเล ส่วนเกาะม้ามีลักษณะเหมือนหินโผล่พื้นน้ำ ไม่มีพื้นที่ราบ
  • กลุ่มเกาะลันตา ประกอบด้วยเกาะใหญ่น้อยจำนวน 16 เกาะ ได้แก่ เกาะลันตาใหญ่ เกาะตะละเบ็ง เกาะไม้งาม ฯลฯ ลักษณะภูมิประเทศของเกาะลันตาใหญ่เป็นภูเขาสลับซับซ้อน และค่อนข้างลาดชัน ที่ราบปรากฏเฉพาะบริเวณชายหาดทางตอนใต้ พื้นที่ส่วนใหญ่มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 35 ไปจนถึงบริเวณตอนกลางของเกาะที่มีความลาดชันมากกว่าร้อยละ 50 มีความสูงจากระดับน้ำทะเลตั้งแต่ 100 เมตร ไปจนถึงยอดเขาสูงที่สุดตอนกลางของพื้นที่ที่มีความสูง 488 เมตร สำหรับเกาะบริวารอื่นๆ มีสภาพเป็นโขดหินสูงชัน บนเกาะลันตาใหญ่มีลำธารหลายแห่ง แต่มักขาดน้ำในช่วงฤดูแล้ง โดยมีลำธารเพียง 3 สาย ที่มีน้ำไหลอยู่ตลอดปี ได้แก่ คลองจาก คลองน้ำจืด และคลองนิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

จังหวัดกระบี่. (ม.ป.ป.). เกาะลันตา. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2567, จาก https://krabi.thailocallink.com/travel_top/detail/6

ดรรชนี เอมพันธุ์ (2562). การกำหนดขีดความสามารถในการรองรับการท่องเที่ยวเพื่อสร้างมาตรฐานการบริหารจัดการแหล่งท่องเที่ยวในพื้นที่หมู่เกาะลันตา จังหวัดกระบี่: แผนงานวิจัย: รายงานฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม.

สำนักอุทยานแห่งชาติ. (ม.ป.ป.). อุทยานแห่งชาติหมู่เกาะลันตา (Mu Ko Lanta). สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2567, จาก https://portal.dnp.go.th/Content/nationalpark?contentId=927

องค์การบริหารส่วนจังหวัดกระบี่. (ม.ป.ป.). เกาะลันตา. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2567, จาก https://www.krabipao.go.th/travel/detail/42/data.html

องค์การบริหารส่วนตำบลเกาะลันตาน้อย. (ม.ป.ป.). ประวัติและที่มาของเกาะลันตา. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2567, จาก http://www.kohlantanoi.go.th/index.php?op=staticcontent&id=816