ภายในชุมชนบ้านศรีสุข มีการทอและเย็บผ้าไหม
เดิมชื่อ "บ้านหนองน้ำส่าง" เพราะหมู่บ้านตั้งหมู่บ้านใกล้ ๆ กับหนองน้ำส่าง (ส่าง คือ บ่อน้ำ) ต่อมาพระชัยสุข ได้เปลี่ยนชื่อเป็น "บ้านเหล่าศรีสุข" คำว่า เหล่า ก็คือ สวนร้างหรือป่าร้าง คำว่า สุข เป็นชื่อท้ายของพระชัยสุข ท้ายที่สุดชื่อหมู่บ้านได้เปลี่ยนตามนามของผู้ก่อตั้ง
ภายในชุมชนบ้านศรีสุข มีการทอและเย็บผ้าไหม
บ้านศรีสุข ตั้งอยู่หมู่ที่ 3 ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม อยู่ห่างจากตัวอำเภอไปทางทิศตะวันตกเฉียงเหนือ ตามถนนสายกันทรวิชัย-เชียง ประมาณ 7 กิโลเมตร และห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 23 กิโลเมตร
บ้านศรีสุขตั้งขึ้นเมื่อประมาณ พ.ศ. 2432 โดยมีพระชัยสุข เป็นหัวหน้าหมู่บ้าน ได้พาญาติที่น้องอพยพมาจากบ้านหนองแหลวเฒ่า ซึ่งเกิดโรคระบาดตายเป็นจำนวนมาก มาตั้งหมู่บ้านใหม่ซึ่งอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้านหนองแหลวเม่า ประมาณ 2 กิโลเมตร ได้เลือกตั้งหมู่บ้านใกล้ ๆ กับหนองน้ำส่าง (ส่าง คือ บ่อน้ำ) ด้วยเหตุนี้จึงเรียกชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านหนองน้ำส่าง" เพราะขุดบ่อเพียง 2-3 เมตร ก็จะมีน้ำใสสะอาดไว้ใช้ดื่ม ต่อมาพระชัยสุขจึงได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น "บ้านเหล่าศรีสุข" คำว่า เหล่า ก็คือ สวนร้างหรือป่าร้าง คำว่า สุข เป็นชื่อท้ายของพระชัยสุข เพื่อให้ชื่อบ้านเป็นสิริมงคลจึงตั้งชื่อบ้านตามนามของผู้ก่อตั้ง
ผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ ราชเสนา ซึ่งเป็นบุตรเขยของพระชัยสุข สมัยนั้นยังไม่มีนามสกุลใช้ ต่อมาทางราชการประกาศให้ตั้งนามสกุลผู้ใหญ่บ้านใหม่ว่า "สมศรีสุข" จากนั้นประมาณ 1 ปี นายราชเสนา สมศรีสุข พาลูกบ้านจัดตั้งวัดขึ้นและมีการขุดสระน้ำปลูกบัว ดังนั้นจึงตั้งชื่อว่า "วัดสระบัว" หรือวัดเล่าศรีสุข มีสมภารชื่อ พระอธิการสอ เตชปญโญ
ปี พ.ศ. 2485 ตั้งผู้ใหญ่ไมล์ บุตรคำโชติ เป็นผู้ใหญ่บ้าน ท่านได้ปกครองลูกบ้านด้วยความเข้มแข็ง พาลูกบ้านแบ่งล็อคบ้านตัดถนนกว้างถึง 14 เมตร หากถูกบ้านใครที่ดินใครก็ให้รื้อถอน ชาวบ้านก็ให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี ทำให้ได้ถนนกว้างตามต้องการและเป็นระเบียบ โดยมีปลัดอินทร์ เจริญศิริ จากอำเภอกันทรวิชัยมาช่วย
ประมาณปี พ.ศ. 2500 นายชำนาญ พจนา นายอำเภอกันทรวิชัย ขณะนั้น ให้นายประจักษ์ รองหานาม ปลัดอำเภอมาช่วยพัฒนาและได้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่เป็น บ้านศรีสุข วัด ก็ใช้ชื่อว่าวัดศรีสุข ปี พ.ศ. 2502 ผู้ใหญ่บ้านชื่อนายสาง บุญหล้า ได้พัฒนาสืบต่อมาจากผู้ใหญ่บ้านคนก่อน และทำการบูรณะวัดศรีสุข จนมีกุฏิ ศาลาการเปรียญและโบสถ์ ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดคือ พระครูสิริสุขวัฒน์ เจ้าคณะตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ต่อมาปี พ.ศ. 2530 ผู้ใหญ่บ้านนายด่วน มุลมิล เป็นผู้ปกครองหมู่บ้าน หมู่ที่ 3 ตำบลศรีสุข ปัจจุบัน
จากการจัดระดับการพัฒนาหมู่บ้าน บ้านศรีสุขถูกจัดฐานะความเป็นอยู่ของประชาชนในระดับกลาง
ปี พ.ศ. 2524-2525 เป็นหมู่บ้านพัฒนารองอันดับ 1 ของจังหวัดมหาสารคาม
ปี 2532-2534 เป็นกลุ่มเป้าหมายใน 5 จังหวัด ของประเทศไทยที่ทางกรมการศึกษานอกโรงเรียน ได้จัดโครงการศึกษาเพื่อสร้างงานในชนบท โดยได้รับความช่วยเหลือ จากสำนักงานโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำจังหวัดมหาสารคามเป็นผู้รับผิดชอบโครงการการพัฒนาแห่งสหประชาชาติ ซึ่งศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนประจำจังหวัดมหาสารคามเป็นผู้รับผิดชอบโครงการดังกล่าว ทางศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนได้จัดกลุ่มแม่บ้านให้เรียนวิชาตัดเสื้อผ้าใช้ผ้าที่ชาวบ้านทอเองออกจำหน่ายตามท้องตลาดในราคาถูก นอกจากนี้ยังมีกลุ่มเลี้ยงวัวนม กลุ่มประดิษฐ์ดอกไม้ กลุ่มเย็บปักถักร้อย ซึ่งโครงการเหล่านี้ ปัจจุบันได้ยกเลิกแล้วยังคงเหลือแต่โครงการเลี้ยงโคนม ซึ่งทางปศุสัตว์อำเภอได้เข้ามาดูแลและรับผิดชอบ
ปี พ.ศ. 2540 บ้านศรีสุขได้แยกหมู่บ้านออกเป็น 2 หมู่ คือ บ้านศรีสุข หมู่ 3 และบ้านศรีสุขหมู่ 19 จนถึงปัจจุบัน
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านคอนบาก ตำบลศรีสุข บ้านคอนกลาง อำเภอยางตลาด
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านลาด บ้านดอนแดง และถนนสายกันทรวิชัย-เชียงยืน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านนาดี บ้านหนองแคน ตำบลศรีสุข
- ทิศตะวันตก ติดกับ ติดเขตห้วยวังแซว บ้านทัน ตำบลนาสีนวน
ชุมชนบ้านศรีสุข ประกอบด้วยจำนวนครัวเรือน 128 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากรรวมทั้งสิ้น 423 คน แบ่งเป็นเพศชายจำนวน 209 และเพศหญิงจำนวน 218 คน
โครงสร้างของสังคม เป็นในลักษณะของการรวมกลุ่ม เช่น กลุ่มผู้เลี้ยงโค-กระบือ เเละการประกอบอาชีพในภาคเกษตรกรรม นอกเหนือจากนั้นผู้คนในชุมชนจะประกอบอาชีพรับจ้างทั่วไปและทอผ้าไหม
บ้านศรีสุขมีการทำบุญหรืองานประเพณีต่าง ๆ ตลอดทั้ง 12 เดือน เหมือนประเพณีทั่วไปของภาคอีสาน สำหรับบ้านเปลือยน้ำมีประเพณีที่ทำมาตั้งแต่สมัยโบราณจนถึงปัจจุบัน คือ ประเพณีเลี้ยงปู่ตา ประกอบพิธีปีละ 2 ครั้ง คือ ครั้งแรกระหว่างเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และในช่วงเดือนธันวาคม
1.นายปฏิมา เหล่าชัย ชำนาญด้านเย็บผ้า
2.นายวิลัย เหล่าชัย ชำนาญด้าน หมอเป่า งูสวัด
3.นางสุภาพร ไชยโครต ชำนาญด้านด้านทอผ้า
4.นายสุรพงษ์ บุตรคำโชติ ชำนาญด้านด้านทอผ้า
- บ้านศรีสุข มีการเย็บผ้าไหมในหมู่บ้าน
การใช้ภาษา คนในหมู่บ้านจะใช้ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษาอีสาน ส่วนภาษากลางจะใช้ในกรณีที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานทางราชการเป็นส่วนใหญ่
ปัญหาหนี้สินของชาวบ้าน เนื่องจากการผู้ยืมเงินจากธนาคารหรือเงินนอกระบบมาใช้ในการประกอบอาชีพ หรือประกอบการที่ตนเองไม่มีความรู้หรือประสบการณ์ ทำให้ผลผลิตไม่มีคุณภาพ ขาดการประกันราคาสินค้า ผลผลิตที่ได้ไม่คุ้มค่ากับการลงทุน จึงไม่มีเงินที่จะไม่ใช้คืนหนี้ที่ยืมมา
ปัญหาคนว่างงาน ชาวบ้านส่วนใหญ่จะประกอบอาชีพทำนา ฤดูทำนา ชาวบ้านไม่มีอาชีพเสริม ทำให้รายได้ไม่เพียงพอต่อการดำรงชีวิต
ปัญหาราคาข้าวตกต่ำ ชาวบ้านบ้านศรีสุขประกอบอาชีพทำนา และรายได้ของชาวบ้านส่วนใหญ่ก็มาจากการขายข้าว แต่การทำนาต้องใช้ต้นทุนสูง ขณะเดียวกันราคาจำหน่ายตกต่ำ ทำให้ชาวบ้านมีรายได้ไม่เพียงพอ
ปัญหาดินจืด อันเนื่องมาจากการทำไร่มันสำปะหลังติดต่อกันหลายปีโดยมิได้ปลูกพืชหมุนเวียน ทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ จึงทำให้การเพาะปลูกได้ผลผลิตน้อยลงเรื่อย ๆ ทำให้สิ้นเปลืองงบประมาณในการซื้อปุ๊ยบำรุงดิน
ปัญหาทางสังคม ที่พบในปัจจุบันเป็นปัญหาที่เกิดจาก ประชาชนในวัยแรงงานอพยพไปขายแรงงานต่างถิ่นเป็นจำนวนมาก ปล่อยให้คนสูงอายุกับเด็กอยู่บ้าน ทำให้เด็กขาดความอบอุ่น ซึ่งปัญหานี้อาจนำไปสู่ปัญหาอื่นได้อีก เช่น การดูแลเอาใจใส่เด็กของคนเฒ่าตนแก่อาจไม่เด็มที่เนื่องจากเป็นเพราะวัยที่แตกต่างกันมาก หรือการขาดความรู้ในการดูแลเอาใจใส่เด็กทำให้เด็กมีปัญหา อาจนำไปสู่การติดเพื่อนที่ไม่ดี นำไปสู่การทะเลาะวิวาทหรือติดยาเสพติด ซึ่งปัญหายาเสพติดเป็นปัญหาใหญ่มากสำหรับคนในชุมชน มีการปราบปราม จับกุมหลายราย แต่ไม่นานก็จะมีขึ้นมาอีกปัญหานี้ยังต้องมีการแก้ไขอย่างจริงจัง โดยการได้รับความร่วมมือจากชาวบ้านให้ช่วยเหลือสอดส่องดูแล เป็นหูเป็นตาดูแลลูกหลานตัวเองให้ดี
ปัญหาสำคัญของสังคมอีกอย่างหนึ่ง คือ ปัญหาการว่างงานของคนในชุมชน เมื่อสิ้นฤดูทำนาแล้วชาวบ้านก็ไม่มีงานทำไม่ว่าจะเป็นผู้สูงอายุหรือหนุ่มสาว พอว่างงานก็ทำให้มีเวลาว่างมากขึ้นทำให้คิดมาก ทำให้เกิดโรคเครียดซึ่งนำไปสู่การเจ็บป่วยตามมา และอีกประเด็นหนึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญมาก คือ เมื่อมีเวลาว่างมากก็พากันจับกลุ่มเล่นการพนัน ไม่ว่าจะเล่นไฟ เล่นไฮโล เล่นบอล บางคนเสียการพนันถึงกับขายรถ ขายที่นาเพื่อนำไปใช้หนี้การพนันที่เล่นเสียไป ทำให้เกิดปัญหาหนี้สินตามมาอีก ซึ่งสิ่งที่ตามมาก็คือ ทำให้สังคมขาดความสงบสุข
ปัญหาศาสนาและวัฒนธรรม จะเห็นได้ว่าวัฒนธรรมการแต่งกายของเด็กวัยรุ่นเปลี่ยนแปลงไปมาก เพราะได้รับวัฒนธรรมต่างชาติเข้ามา เช่น การแต่งกายในปัจจุบัน ผู้หญิงขาดวินัยหรือมีความทันสมัยมากขึ้นไม่เป็นกุลสตรีหรือแม่ศรีเรือนดังแต่ก่อน มีการแต่งกายสมัยนิยม ใส่เสื้อสายเดี่ยว กางเกงขาสั้นไม่รักนวลสงวนตัว ทำให้เกิดปัญหาถูกกระทำชำเรา หรือมีการแต่งงานตั้งแต่อายุยังน้อย บางครั้งท้องก่อนแต่ง ออกโรงเรียนกลางคัน ซึ่งจะเป็นผลต่อเนื่องในปัญหาหลายอย่างตามมาอีก และอีกอย่างหนึ่งชาวบ้านยังเชื่อและมีทัศนคติต่อระบบเจ้าขุนมูลนาย ให้ความเคารพต่อเจ้าหน้าที่แบบนายกับชาวบ้านทำ หากเจ้าหน้าที่ออกคำสั่งกับชาวบ้านและรีดไถชาวบ้านมีความเชื่อผิด ๆ ในเรื่องบุญกรรม เรื่องโชคชะตา เช่น การไปให้หมอดูทำนายโชคชะตา หมอดูทำนายว่าจะมีโชคลากภ เกิดความเชื่อขึ้นมาว่าตัวเองจะมีโชค จะร่ำรวยโดยไม่ต้องทำมาหากิน สุดท้ายก็ไม่มีอะไร เพราะนอนรอโชคชะตาไม่ทำมาหากิน จากปัญหาทางศาสนาและวัฒนธรรม อาจส่งผลไปสู่ปัญหารุนแรงอื่น ๆ เช่น ปัญหาเสพติด ปัญหาความยากจน เป็นต้น
อรรถยาพร คำควร. (2545). การจัดทำแผนแม่บทชุมชน บ้านศรีสุข หมู่ 3 ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. สาขาการจัดการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
นายสุรพงษ์ บุตรคำโชติ ผู้ใหญ่บ้านศรีสุข (ผู้ให้สัมภาษณ์), นายธนวิทย์ สิงห์โสด (สัมภาษณ์), ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน บ้านศรีสุข หมู่ 3 ตำบลศรีสุข อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม, 21 พฤษภาคม 2567