Advance search

ย่านเทเวศร์ ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กับพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจนกลายเป็นพื้นที่ที่เจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้าและด้านวัฒนธรรม

วชิรพยาบาล
ดุสิต
กรุงเทพมหานคร
กฤษฎา อุ่นลาวรรณ
28 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 มิ.ย. 2024
ธำรงค์ บริเวธานันท์
28 มิ.ย. 2024
เทเวศร์

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างวังเทวะเวสม์ เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ เป็นที่มาของชื่อย่าน “เทวะเวศร์” ต่อมามีการออกเสียงเป็น “เทเวศร์” 


ย่านเทเวศร์ ชุมชนเก่าแก่ตั้งแต่ต้นกรุงรัตนโกสินทร์ กับพัฒนาการทางสังคมและเศรษฐกิจจนกลายเป็นพื้นที่ที่เจริญรุ่งเรืองและมีความสำคัญทั้งทางด้านเศรษฐกิจการค้าและด้านวัฒนธรรม

วชิรพยาบาล
ดุสิต
กรุงเทพมหานคร
10300
13.772404972422416
100.50046726830887
กรุงเทพมหานคร

ในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้น ช่วงรัชกาลที่ 1 ถึงรัชกาลที่ 3 (พ.ศ. 2325-2394) ย่านเทเวศร์อยู่นอกพื้นที่เขตพระนคร เป็นพื้นที่ชานเมืองที่ตั้งวัดเก่าตั้งแต่สมัยอยุธยาซึ่งเรียงรายไปตามแนวแม่น้ำเจ้าพระยา และเป็นศูนย์กลางของชุมชนมาตั้งแต่อดีต พื้นที่บางส่วนเป็นที่ดินส่วนพระมหากษัตริย์ที่พระราชทานให้เป็นที่อยู่อาศัยของชาวต่างชาติ ได้แก่ ญวน แขก เขมร และทวาย ประชาชนส่วนใหญ่ตั้งบ้านเรือนอยู่อาศัยริมน้ำเป็นหลักเนื่องจากสัญจรไปมาสะดวก โดยย่านเทเวศร์ในสมัยนั้นมีการตั้งถิ่นฐานอย่างเบาบาง พื้นที่ต่าง ๆ เป็นป่ารกร้างและพื้นที่เกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ 

ในสมัยรัชกาลที่ 4 ถึงรัชกาลที่ 7 (พ.ศ. 2394-2475) ในสมัยนี้กรุงเทพมหานครเริ่มมีความเจริญก้าวหน้าเป็นอย่างมาก พื้นที่ย่านเทเวศร์เริ่มมีการพัฒนามากขึ้น มีการขุดคลองผดุงกรุงเกษมแล้วเสร็จในช่วงปี พ.ศ. 2395 ย่านเทเวศร์มีความเจริญมากขึ้นเนื่องจากการตัดคลองผ่านพื้นที่ ทำให้ชุมชนขยายบริเวณกว้างออกมาตามแนวริมฝั่งคลอง มีเขตชุมชนใหม่ขยายตัวอย่างต่อเนื่อง ทำให้พื้นที่ที่เคยอยู่นอกเขตพระนครกลายเป็นส่วนหนึ่งของเขตพระนครจากการขยายตัวของชุมชนมายังบริเวณริมฝั่งแม่น้ำเจ้าพระยาและตามแนวคลองผดุงกรุงเกษม โดยเฉพาะบริเวณปากคลองที่มีเรือสินค้าจอดเรียงรายอย่างคับคั่งจนเกิดเป็นตลาดที่มีความคึกคัก และชุมชนก็มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่องจากการพัฒนาระบบสาธารณูปโภคและการเติบโตของสังคม โดยเฉพาะในช่วงตั้งแต่รัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา

ในสมัยรัชกาลที่ 6 ได้มีการสร้างวังเทวะเวสม์ เพื่อเป็นที่ประทับของสมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ ซึ่งเป็นที่มาของชื่อย่านเทเวศร์ โดยเดิมทีเรียกว่า “เทวะเวศร์” ต่อมามีการออกเสียงเป็น “เทเวศร์” 

ในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 7 ถึงรัชกาลที่ 9 เป็นช่วงที่ย่านเทเวศร์มีความเจริญรุ่งเรืองเป็นอย่างมาก มีประชากรเข้ามาอยู่อาศัยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ภายหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครอง พ.ศ. 2475 พื้นที่ที่เคยเป็นวังหลายแห่งในย่านเทเวศร์มีการเปลี่ยนแปลงเชิงพื้นที่ในการสร้างสถานที่ราชการ และเปลี่ยนเป็นพื้นที่ราชพัสดุในภายหลัง โดยปรับการใช้งานพื้นที่อาคารเป็นที่ทำการของยุวชนทหาร สภาวัฒนธรรมแห่งชาติ หอสมุดแห่งชาติ เป็นที่ทำการธนาคารแห่งประเทศไทย ฯลฯ ด้วยเหตุนี้พื้นที่ย่านเทเวศร์จึงมีพัฒนาการการเติบโตของสังคมอย่างรวดเร็ว ทั้งระบบสาธารณูปโภค ระบบสาธารณูปการ และระบบเศรษฐกิจการค้า ทำให้มีความหนาแน่นของบ้านเรือนและผู้คนที่เข้ามายังพื้นที่ ซึ่งองค์ประกอบต่าง ๆ ของย่านเทเวศร์ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ราชการ ตลาด ถนน ลำคลอง ล้วนเป็นปัจจัยที่ส่งผลให้ย่านเทเวศร์เจริญเติบโตและมีพัฒนาการทางสังคมอย่างต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน

เทเวศร์เป็นย่านเก่าแก่แห่งหนึ่งที่ตั้งอยู่ทางด้านทิศเหนือของกรุงเทพมหานคร เป็นพื้นที่อยู่ติดกับแม่น้ำเจ้าพระยา และมีลำคลองตัดผ่าน ขนาบกับถนนสามเสน ช่วงระหว่างคลองวัดราชาธิวาสไปจนถึงถนนท่าเกษม แยกบางขุนพรหม โดยพื้นที่ส่วนนี้อยู่ในเขตการปกครอง 2 พื้นที่ คือ บริเวณส่วนหนึ่งของแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร และแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต มีเนื้อที่โดยรวมประมาณ 0.3746 ตารางกิโลเมตร โดยพื้นที่ที่อยู่ในส่วนของแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร มีเนื้อที่ประมาณ 0.1797 ตารางกิโลเมตร และส่วนที่อยู่ในพื้นที่แขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต มีเนื้อที่ประมาณ 0.1971 ตารางกิโลเมตร ซึ่งในพื้นที่ย่านเทเวศร์ประกอบไปด้วยสถานที่สำคัญต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นวัด สถานที่ราชการ ตลาด สถาบันการศึกษา ชุมชนเก่าแก่สำคัญ เช่น ชุมชนวัดนรนาถสุนทริการาม ชุมชนวัดเทวราชกุญชร และชุมชนท่าว่าสุกรี โดยพื้นที่ย่านเทเวศร์มีอาณาเขตติดต่อ ดังนี้

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ คลองวัดราชาธิวาส
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ถนนท่าเกษม บริเวณสี่แยกบางขุนพรหม
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ถนนสามเสน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ แม่น้ำเจ้าพระยา

ย่านเทเวศร์อยู่ในเขตการปกครองของ 2 พื้นที่ คือ บริเวณส่วนหนึ่งของแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร และแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต โดยมีสถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรแขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 2,533 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 1,204 คน ประชากรหญิง 1,329 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 972 หลังคาเรือน และแขวงวชิรพยาบาล เขตดุสิต มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 8,844 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 4,110 คน ประชากรหญิง 4,734 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 3,041 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)

ย่านเทเวศร์ถือได้ว่าเป็นย่านการค้าและเศรษฐกิจที่สำคัญมาตั้งแต่อดีตจากพัฒนาการทั้งสังคมที่มีมาอย่างต่อเนื่อง ทั้งยังมีบทบาทด้านการค้าและมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักมาอย่างยาวนาน พื้นที่ย่านเทเวศร์มีกิจกรรมทางการค้าของกลุ่มประชากรในพื้นที่อย่างหลากหลายไม่ว่าจะเป็นตลาดเทวราชกุญชร มีพื้นที่ตลาดสดที่ขายอาหารสด อาหารแห้ง ผักผลไม้ รวมไปถึงของชำโดยทั่วไป ทั้งยังมีตลาดต้นไม้ หรือที่เรียกกันว่า “ตลาดต้นไม้เทเวศร์” มีการขายไม้ดอก ไม้ประดับ พืชผลนานาชนิด และวัสดุอุปกรณ์ในการดูแลจัดการต้นไม้อย่างหลากหลาย

นอกจากนี้ยังมีการขายวัตถุโบราณ ของเก่า หรือสินค้าหายากสำหรับนักสะสมอีกด้วย พื้นที่กิจกรรมในตึกแถวบริเวณแยกเทเวศร์ ถนนสามเสน และถนนศรีอยุธยา มีการเปิดห้างร้านขายสินค้าที่หลากหลายปะปนกันไปตลอดแนวริมฝั่งถนน ทั้งร้านขายอาหาร ร้านของชำ ร้านตัดผม ร้านเสริมสวย ร้านเครื่องสำอาง ร้านตัดเย็บเสื้อผ้า ร้านขายยา ร้านขายหนังสือ คลินิก เวชกรรม ร้านเครื่องประดับ ธนาคาร โรงรับจำนำ ฯลฯ ทำให้พื้นที่ย่านเทเวศร์เป็นอีกพื้นที่หนึ่งที่ประชากรมีการทำการค้าขายเป็นอาชีพที่สร้างรายได้ในครัวเรือน และเป็นพื้นที่ทางเศรษฐกิจด้านการค้าขายที่มีความคึกคักแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร

เทเวศร์ เป็นพื้นที่ชุมชนเก่าแก่ที่มีมาตั้งแต่ช่วงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ ทั้งยังมีวัดเก่าแก่โบราณที่สร้างมาตั้งแต่ช่วงสมัยอยุธยาตั้งอยู่ในพื้นที่อีกหลายวัด ดังนั้นรูปแบบวิถีชีวิต และลักษณะทางสังคมของประชากรในย่านเทเวศร์จึงมีความเกี่ยวข้องกับศาสนา ประเพณี และวัฒนธรรม ซึ่งโดยส่วนใหญ่จะสัมพันธ์กับพระพุทธศาสนา วัฒนธรรมประเพณีต่าง ๆ ที่ปรากฏในพื้นที่ก็จะเกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิตแบบพุทธศาสนาด้วยเช่นเดียวกัน ชาวบ้านมีการทำบุญตักบาตรอย่างสม่ำเสมอ โดยเฉพาะในช่วงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา จะรวมตัวกันไปทำบุญที่วัด ซึ่งวัดสำคัญในพื้นที่ย่านเทเวศร์ ได้แก่ วัดนรนาถสุนทริการาม และวัดเทวราชกุญชรวรวิหาร เป็นศูนย์รวมศรัทธาของพุทธศาสนิกชนในพื้นที่ และเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมสำคัญ ตลอดจนการทำกิจกรรมร่วมกันของประชาชนในย่านเทเวศร์และประชาชนทั่วไป กิจกรรมสำคัญที่จัดขึ้นตามช่วงประเพณีเทสกาลในแต่ละรอบปี เช่น การทำบุญตักบาตรในช่วงเทศกาลวันส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ การสรงน้ำพระในช่วงเทศกาลวันสงกรานต์ การจัดงานประจำปีของแต่ละวัด การทอดกฐิน การทอดผ้าป่าสามัคคี และงานรื่นเริง มหรสพอื่น ๆ และพื้นที่ตลาดวัดเทวราชกุญชรยังมีการทำบุญตลาดในทุกปีด้วย ถือได้ว่าชุมชนย่านเทเวศร์เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตและวัฒนธรรมที่สัมพันธ์เกี่ยวเนื่องกันตลอดทั้งปี

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ย่านเก่าเทเวศร์

ย่านเทเวศร์เป็นพื้นที่ที่ความเจริญก้าวหน้าทั้งทางด้านระบบเศรษฐกิจและสังคม มีเส้นทางคมนาคมที่สัญจรไปมาได้สะดวกทั้งโดยรถส่วนตัว หรือบริการขนส่งสาธารณะ รถโดยสารประจำทาง หรือสามารถเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะทางน้ำได้เช่นกัน ผ่านเรือโดยสารในแม่น้ำเจ้าพระยามายังท่าเทียบเรือบริเวณย่านเทเวศร์ ทั้งนี้ยังมีระบบสาธารณูปโภค ที่ครบครับ ทันสมัย และเข้าถึงในทุกพื้นที่ ทั้งการให้บริการระบบไฟฟ้า น้ำประปา สัญญาณโทรศัพท์ ที่ทำการไปรษณีย์ ระบบการจัดเก็บขยะ ระบบบรรเทาสาธารณภัย ระบบสาธารณสุข และมีระบบสาธารณูปการในพื้นที่ ได้แก่ สถาบันการศึกษาที่อยู่ใกล้ย่านนี้หลายแห่ง ศาสนสถานสำคัญ วัดเทวราชกุญชร วัดราชาธิวาส ตลาดซื้อขายสินค้า สถานที่/หน่วยงานราชการ ทั้งยังเป็นที่ตั้งของสถานที่สำคัญหลายแห่งในบริเวณใกล้เคียง โดยเฉพาะพระราชวัง และวังของเจ้านาย ที่ส่วนใหญ่ถูกสร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 5 ได้แก่ พระราชวังดุสิต วังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมพระนครสวรรค์วรพินิต (วังบางขุนพรหม) วังสมเด็จฯ กรมพระยาเทวะวงศ์วโรปการ (วังเทวะเวส์) วังพลตรี พระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระจันทบุรีนฤนาถ (วังเทเวศร์) วังกรมหลวงราชบุรีดิเรกฤทธิ์ (วังรพีพัฒน์) วังกรมหลวงปราจิณกิติบดี วังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงพิษณุโลกประชานาถ (วังปารุสกวัน) วังสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรมหลวงลพบุรีราเมศวร์ (วังลดาวัลย์) วังจันทร์เกษม และที่ทำการเรือยนต์หลวง ท่าวาสุกรี (เขตพระราชวังท่าวาสุกรี) ฯลฯ

ภาษาพูด : ภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ภาษาไทย

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ธีมาพร วัชราทิน. (2548). การพัฒนาพื้นที่ย่านการค้า: กรณีศึกษา ย่านเทเวศร์ กรุงเทพมหานคร. มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

ศรัณยู นกแก้ว. (ม.ป.ป.). ย้อนวันวาน 8 พิกัดท่องเที่ยวย่านเก่า เทเวศร์’. สืบค้นเมื่อ 28 มิถุนายน 2567, จาก https://anowl.co/anowlsabai/