Advance search

แหล่งผลิตเนื้อโคขุนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสกลนคร 

หมู่ที่ 10
บ้านโพนยางคำ
โนนหอม
เมืองสกลนคร
สกลนคร
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
30 พ.ค. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
1 มิ.ย. 2024
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
29 มิ.ย. 2024
บ้านโพนยางคำ

เดิมชื่อบ้านโพนขี้แฮ้ง มีมาจากต้นยางใหญ่ที่อยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นที่อาศัยของอีแร้งเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านจึงพากันเรีกว่า ต้นยางขี้แฮ้ง และกลายมาเป็นชื่อหมู่บ้านในที่สุด กระทั่งได้มีการรวมหมู่บ้านอุ้มไผ่กับโพนขี้แฮ้งเข้ารวมกัน ได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ ซึ่งดัดแปลงมาจากชื่อเดิม คือ โพนขี้แฮ้ง กับคำว่าต้นยางขี้แฮ้ง มาเป็น โพน – ยาง - คำ มาจนถึงปัจจุบัน


ชุมชนชนบท

แหล่งผลิตเนื้อโคขุนที่ใหญ่ที่สุดในจังหวัดสกลนคร 

บ้านโพนยางคำ
หมู่ที่ 10
โนนหอม
เมืองสกลนคร
สกลนคร
47000
17.08297126
104.1909175
องค์การบริหารส่วนตำบลโนนหอม

บ้านโพนยางคำ ก่อตั้งขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานเอกสารอ้างอิง แต่พอประมาณอายุได้ในราว 130-170 ปี โดยการเทียบเคียงกับการตั้งวัดโพนยางคำ ซึ่งก่อตั้งในราวปี พ.ศ. 2420 กลุ่มผู้ก่อตั้งหมู่บ้าน มีอยู่ 2 กลุ่ม คือ

กลุ่มที่ 1 อพยพมาจากเมืองภูวานากระแด้ง ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง สปป.ลาว มาตั้งบ้านที่บ้านห้วยปลาใย บ้านโพนนาไก่ ต.โนนหอม เป็นเผ่าภูไท และได้แยกตัวออกมาหาชัยภูมิที่ตั้งหมู่บ้านใหม่ ตั้งหมู่บ้านอยู่บริเวณใจกลางของหมู่บ้านทางด้านทิศตะวันออกของวัดในปัจจุบัน เรียกชื่อหมู่บ้านว่า บ้านโพนขี้แฮ้ง มีสัญญลักษณ์ คือ ต้นยางใหญ่ ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน เป็นที่อยู่ของอีแร้งเป็นจำนวนมาก ต้นยางนี้ชาวบ้านพากัน เรียกว่า ต้นยางขี้แฮ้ง บุคคลในกลุ่มนี้เป็นต้นสกุลร้อยพิลา โคครบรม ขันเพียแก้ว และไพจันทร์ ในปัจจุบัน

กลุ่มที่ 2 อพยพมาจากบ้านดอนหมู ต.งิ้วด่อน เป็นเผ่ากะเลิง มาตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน ห่างจากหมู่บ้านในปัจจุบันประมาณ 500 เมตร เรียกชื่อหมู่บ้านว่าบ้านอุ้มไผ่ (บ้านฮ้าง) มีสัญญาลักษณ์ คือ มีต้นไผ่เป็นจำนวนมาก บุคคลในกลุ่มนี้เป็นต้นสกุล หารจำปา, หาญจำปา ในปัจจุบัน

ต่อมาบ้านอุ้มไผ่ได้รวมกับบ้านโพนขี้แฮ้ง เนื่องจากภูมิประเทศของบ้านอุ้มไผ่เป็นพื้นที่ค่อนข้างต่ำ เป็นปัญหาเกี่ยวกับความเป็นอยู่ในฤดูฝน และสาเหตุหนึ่งก็คือไม่สามารถขยายหมู่บ้านได้ จึงได้อพยพรวมเข้ากับบ้านโพนขี้แฮ้ง ซึ่งเป็นที่สูงและเหมาะสมกว่า ต่อมาบ้านโพนขี้แฮ้งมีประชากรมากขึ้น และเป็นหมู่บ้านโดยสมบูรณ์ โดยมี นายบุดดี ร้อยพิลา เป็นผู้ใหญ่บ้าน ต่อมาได้มีการเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านใหม่ ซึ่งดัดแปลงมาจากชื่อเดิม คือ โพนขี้แฮ้ง กับคำว่าต้นยางขี้แฮ้ง มาเป็น โพน-ยาง-คำ มาจนถึงปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงชื่อในระยะแรก นายบุดดี ร้อยพิลา ได้ตกลงกับชาวบ้านว่า ถ้ามีบุคคลใดก็ตาม มาเรียกชื่อหมู่บ้านตนเองเป็นชื่อเดิมอยู่จะไม่ต้อนรับบุคคลนั้น แม้แต่น้ำก็จะไม่ให้กิน การกระทำนั้นก็มีความมุ่งหมายเพื่อต้องการให้มีการเรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ให้มีการเปลี่ยนแปลงไปโดยรวดเร็ว มิได้เจตนาอย่างอื่นใด

ประมาณ 5 ปี ต่อมาราษฎรในหมู่บ้านเกิดเจ็บไข้ได้ป่วยไม่อยู่ดีกินดีเสียชีวิตหลายคนในระยะไม่ถึงปี ผู้ใหญ่ บุดดี ร้อยพิลา จึงได้ประชุมปรึกษาหารือกับชาวบ้าน และได้มีมติเห็นพ้องต้องกันพากันจัดตั้ง มเหศักดิ์หลักบ้านขึ้นเป็น 2 กลุ่ม

มเหศักดิ์กลุ่มที่ 1 คือ กลุ่มกะเลิง อยู่ทางทิศตะวันออก ตั้งมเหศักดิ์หลักบ้านอยู่ต้นไฮใหญ่ มีเนื้อที่อยู่ประมาณ 13 ไร่ (เดิมเป็นสถานีตำรวจภูธรโนนหอม ปัจจุบันไม่มีแล้ว)

มเหศักดิ์กลุ่มที่ 2 คือ กลุ่มภูไท เรียกกันว่า คูช้างเผือก เป็นที่ตั้งของมเหสักดิ์ รวมที่ดินของมเหศักดิ์คูช้างเผือก มีเนื้อที่ประมาณ 57 ไร่ ปัจจุบันคือบริเวณโรงเรียนสกลทวาปี สังกัดองค์การบริหารส่วนจังหวัดสกลนคร

บ้านโพนยางคำ หมู่ที่ 10 ตำบลโนนหอม อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร อยู่ห่างจากตัวเมืองสกลนคร 11 กิโลเมตร มีลักษณะภูมิประเทศเป็นที่ดอนเนินสูงสามารถมองเห็นได้แต่ไกล และมีพื้นที่ต่ำสำหรับทำการเกษตร

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองแดง
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านไผ่ล้อม, บ้านโนนหอม
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านคำผักแพว, บ้านโพนนาไก่
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านดอนหมู, บ้านโพนงาม

ลักษณะของชุมชนบ้านโพนยางคำในปัจจุบัน เป็นชุมชนที่มีวิถีชีวิตที่เรียบง่าย รักสงบ ต่างอยู่ด้วยกันด้วยความเอื้ออาทรและช่วยเหลือเผื่อแผ่ซึ่งกันและกัน มีวัดประจำหมู่บ้านคือ วัดโพนยางคำ มีโรงเรียนประจำหมู่บ้านคือ โรงเรียนบ้านโพนยางคำ กรป.กลางพัฒนา ที่ให้การศึกษาแก่ชาวบ้านและนักเรียน ประชากรในหมู่บ้านนับถือ ศาสนาพุทธ ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรโดยการทำนา รับจ้าง ค้าขาย และเลี้ยงสัตว์ รับราชการ ประกอบธุรกิจส่วนตัว ในปัจจุบันมีคนจากท้องถิ่นอื่นเข้ามาอยู่อาศัยในหมู่บ้าน เช่น มาเป็นเขย มาเป็นสะใภ้

บ้านโพนยางคำนั้น ประกอบไปด้วยชาติพันธุ์หลายกลุ่มมารวมกัน ได้แก่ ภูไท ซึ่งเป็นกลุ่มดั้งเดิม นอกจากนั้นมีกลุ่มกะเลิง ลาว ญ้อ คนถิ่นอื่น ๆ ที่มามีครอบครัวตั้งหลักปักฐาน จึงมีภาษาพูดหลายสำเนียง เช่น สำเนียงภูไท ลาว กะเลิง และญ้อ

กะเลิง, ญ้อ, ผู้ไท

ประชาชนส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทางด้านการเกษตรโดยการทำนา รับจ้าง ค้าขาย และเลี้ยงสัตว์ รับราชการ ประกอบธุรกิจส่วนตัว

ประเพณีที่ชาวบ้านถือปฏิบัติกันมาตั้งแต่โบราณ เช่น การทำบุญกองข้าว การทำบุญพระเวสสันดรชาดก การทำบุญผ้าป่า การทำบุญกฐินสามัคคี ประเพณีห่อข้าวสาก ห่อข้าวประดับดิน การทำบายศรีสู่ขวัญแก่ผู้มาเยือน มีความเชื่อเรื่องผีปู่ตา ซึ่งเชื่อว่าเป็นผีมเหศักดิ์ดูแลหมู่บ้าน ความเชื่อในเรื่องผีนั้นก็มีอยู่บ้าง เช่น มีการเจ็บป่วย คนเฒ่าคนแก่ก็จะไปหาหมอเหยามาเหยาหาสาเหตุ เช่น อาจจะผิดผีไร่ผีนา หรือผิดผีบรรพบุรุษ ก็จะหาวิธีบำบัดการป่วยตามที่หมอเหยาแนะนำ ในแต่ละปีผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องผีก็จะเลี้ยงผี ซึ่งเป็นประเพณีปฏิบัติของผู้ที่มีความเชื่อในเรื่องนี้ เมื่อก่อนก่อนที่จะทำนาก็จะมีการแฮกนา เพื่อบอกผีตาแฮกผู้ปกปักรักษาว่าถึงฤดูกาลทำนาแล้ว ขอให้ข้าวในนางาม และให้ได้ข้าวมาก ๆ พอถึงตอนเก็บเกี่ยวก็จะมีพิธีบอกผีตาแฮกอีก โดยการเอาใบคูน ใบยอ ไข่ต้มและข้าวดำข้าวแดงใส่กระทงใบตองไปไว้ที่กองมัดข้าวในลานข้าว แล้วบอกกล่าวขออนุญาตฟาดข้าวกับผีตาแฮก เพื่อจะบอกให้ผีตาแฮกรู้ว่าจะฟาดข้าวที่เก็บเกี่ยวมาแล้ว

พอเดือน 3 ออกใหม่ 3 ค่ำ ก็จะเป็นประเพณีผูกแขนวัว ผูกแขนควาย ซึ่งเป็นสัตว์ที่มีพระคุณในการลากเกวียน และการไถนาปลูกข้าวให้กิน ในวันดังกล่าวจะมีการต้มไข่ใส่พาขวัญ ทำน้ำอบน้ำหอม แล้วนำไปประพรมที่ตัววัวตัวควาย พร้อมกับพูดในสิ่งที่ดีงามเพื่อเป็นการขอบคุณ พร้อมทั้งเอาฝ้ายที่เตรียมมาไปผูกที่เขา แต่ในปัจจุบันประเพณีที่ดีงามนี้มีคนปฏิบัติน้อยมาก เนื่องจากมีเครื่องจักรกลทางการเกษตรมาแทนวัวควายที่ใช้ไถนาและมีรถแทนเกวียนที่ใช้ลากเพื่อขนผลิตผลทางการเกษตร

สิ่งดีที่น่าชื่นชม คือ ชาวบ้านโพนยางคำเป็นคนรักสงบ นับถือผู้อาวุโส เคารพและปฏิบัติตามขนบธรรมเนียมประเพณี จึงทำให้ชาวบ้านอยู่กันมาด้วยความสมัครสมานสามัคคีกันมาโดยตลอด

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

บ้านโพนยางคำ ต.โนนหอม อ.เมือง จ.สกลนคร อาจเป็นเพียงหมู่บ้านเล็ก ๆ ที่ดำรงชีวิตอยู่อย่างเรียบง่ายด้วยการเพาะปลูก เลี้ยงสัตว์ อันเป็นวิชาชีพชีพขั้นพื้นฐานของวิถีเกษตรกรรม และยังไม่เป็นที่รู้จักของคนทั่วไป

จนเมื่อปี พ.ศ. 2523 ได้มีการจัดตั้งสหกรณ์โพนยางคำขึ้น ซึ่งมีเกษตรกรในพื้นที่ให้ความสนใจเข้าร่วมเป็นสมาชิกจำนวนมาก เพราะถือเป็นอาชีพที่สร้างรายได้แก่ครอบครัวได้อย่างมั่นคง

โคขุนโพนยางคำนั้นเป็นโคเนื้อลูกผสมพันธุ์ไทย-ฝรั่งเศส ที่เกิดจากการผสมเทียมโดยใช้น้ำเชื้อจากพ่อพันธุ์-แม่พันธุ์โคเนื้อ 3 สายพันธุ์ ได้แก่ พันธุ์ชาโรเลย์ส (Charolais) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส เป็นสายพันธุ์หลัก, พันธุ์ซิมเมนทอล (Simmental) ถิ่นกำเนิดประเทศสวิตเซอร์แลนด์ และพันธุ์ลิมูซีน (Limusin) ถิ่นกำเนิดประเทศฝรั่งเศส

หลังจากลูกโคสายเลือดผสมมีอายุประมาณ 2 ปีแล้ว ก็จะเข้าสู่วิธีการ "ขุนโค" โดยจัดการถ่ายพยาธิ ฉีดวัคซีน และตอนก่อนที่จะนำเข้าคอก ทางสหกรณ์ใช้เทคนิคการให้โคฟังเพลงเพื่อให้วัวกินอาหารได้มาก โดยเชื่อว่าเนื้อวัวที่ได้จะนุ่ม และเลี้ยงด้วยอาหารธรรมชาติเป็นหลัก แบ่งเป็นอาหารหยาบที่ใช้หญ้าหรือฟาง เสริมด้วยอาหารสูตรพิเศษที่ใช้ธัญพืชในการผลิต ซึ่งเชื่อกันว่าเนื้อโคจะมีกลิ่นหอมและรสหวานยิ่งขึ้น ส่วนที่คอกวัวนั้นมีการดูแลความสะอาดเป็นอย่างดี ทำความสะอาดพื้น เก็บมูล อาบน้ำวัว แปรงขัดขน ให้วัวกินอาหารได้มากขึ้น ซึ่งความพิเศษของเนื้อโคขุนโพนยางคำนั้น เนื้อจะมีรสชาติอร่อย หอม เนื้อนุ่ม ชุ่มฉ่ำ ไม่มีกลิ่นเหม็นสาบ และมีลายไขมันแทรกตามมาตรฐานสากล (หรือที่เรียกว่า Marbling Score)

บ้านโพนยางคำ ประกอบไปด้วยกลุ่มชนชาติพันธุ์หลายกลุ่ม ได้แก่ ภูไท ซึ่งเป็นกลุ่มดั้งเดิม นอกจากนั้นมีกลุ่มกะเลิง ลาว ญ้อ คนถิ่นอื่นๆ ที่มามีครอบครัวตั้งหลักปักฐาน จึงมีภาษาพูดหลายสำเนียง เช่น สำเนียงภูไท ลาว กะเลิง และญ้อ

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

NationTV. (15 พฤศจิกายน 2565). เนื้อโพนยางคำยอดขายพุ่ง! หลังขึ้นโต๊ะผู้นำเอเปค. Nation. https://www.nationtv.tv/

เติมศักดิ์ ไชยบุญ, ผู้ใหญ่บ้านชุมชนโพนยางคำสัมภาษณ์, ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน

บุญญารัตน์ ศิริฟองสัมภาษณ์, ณ ที่ทำการผู้ใหญ่บ้าน