Advance search

บ้านไสเหนือ

ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการปลูกผักปลอดสารพิษพิชิตความยากจน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

บ้านไสเหนือ
นาหลวงเสน
ทุ่งสง
นครศรีธรรมราช
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2023
บ้านไสเหนือ

ที่ตั้งหมู่บ้านตั้งอยอยู่ในพื้นที่ที่เรียกว่า “ป่าไส” เหนือคลองท่าโหลน จึงเป็นที่มาของชื่อ “บ้านไสเหนือ”


ชุมชนชนบท

ชุมชนแห่งนี้เป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ มีการปลูกผักปลอดสารพิษพิชิตความยากจน โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต

บ้านไสเหนือ
นาหลวงเสน
ทุ่งสง
นครศรีธรรมราช
80110
วิสาหกิจชุมชน โทร. 08-7045-6079, อบต.นาหลวงเสน โทร. 0-7575-5535
8.216762542
99.72075
องค์การบริหารส่วนตำบลนาเสนหลวง

มีเรื่องเล่าถึงประวัติความเป็นมาของบ้านไสเหนือว่า เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2445 ได้มีชาวบ้านจากบ้านใต้ บ้านเหนือ บ้านควนเกียบ บ้านไร่ควน เข้ามาแผ้วถางป่าไม้บริเวณทิศตะวันออกของคลองท่าโหลน คลองหนานเหมียง คลองอ่าวคาว และได้ขึ้นไปแผ้วถางป่าเพื่อใช้เป็นที่ทํากินและที่อยู่อาศัย ในปีแรกชาวบ้านได้บุกเบิกพื้นที่ป่าใหญ่เพื่อทำสวนมะพร้าวและสวนหมาก แต่ผ่านไปเพียงหนึ่งปีก็มีไม้ขนาดเล็กขึ้นเต็มพื้นที่ ชาวบ้านจึงเรียกป่านี้ว่า “ป่าไส” ต่อมาชาวบ้านได้บุกเบิกที่ดินเพิ่มเติมเพื่อปลูกข้าว ในครั้งนี้ได้เลือกพื้นที่ที่สามารถซับน้ำได้ดี โดยที่ดินแต่ละผืนที่ชาวบ้านใช้ปลูกข้าว จะปลูกได้ประมาณ 2 ปี ก็จะปล่อยร้างแล้วบุกเบิกที่ดินผืนใหม่ ทำเช่นนี้เรือยไป ลักษณะคล้ายไร่เลื่อนลอย บริเวณที่ชาวบ้านได้เข้าไปแผ้วถางบุกเบิกเป็นพื้นที่ทำกินและที่อยู่อาศัยแห่งนี้อยู่อยู่ด้านทิศตะวันออกของคลองท่าโหลน หรือชาวบ้านเรียกว่า “เหนือคลอง” เพราะสมัยก่อนผู้คนจะสร้างที่อยู่อาศัยอยู่ใกล้แม่น้ำลําคลอง บริเวณนี้จึงเรียกว่า “บ้านไสเหนือ” 

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ จด บ้านไชยชนะสงคราม หมู่ที่ 7 ตําบลหลวงเสน
  • ทิศใต้ จด บ้านสะพานท้อน หมู่ที่ 2 ตําบลนาหลวงเสน
  • ทิศตะวันออก จด เขตอุทยานแห่งชาติน้ำตกโยง
  • ทิศตะวันตก จด บ้านท่าเลา หมู่ที่ 3

ลักษณะภูมิประเทศ

สภาพพื้นที่เป็นที่ราบสูง มีความอุดมสมบูรณ์ เหมาะสําหรับปลูกยางพารา ปลูกพืชผัก ผลไม้ เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา มีเนื้อที่ทั้งหมด 2,967 ไร่ เป็นโฉนดที่ดิน จํานวน1,139 ไร่ มีผู้ถือครอง 110 ครัวเรือน เป็น น.ส. 3 จํานวน 70 ไร่ ผู้ถือครอง 6 ครัวเรือน ที่ดินทํากินไม่มีเอกสารสิทธิ์ จํานวน 71 ครัวเรือน ไม่มีที่ดินทํากิน 14 ครัวเรือน และเป็นพื้นที่ต้นน้ำ โดยมีแหล่งน้ำธรรมชาติ มีลําคลอง 4 สาย คือ คลองท่าโหลน คลองหนานเหมียง คลองอ่าวคาว คลองหูหนาน มีประปาภูเขา 3 แห่ง บ่อน้ำตื้น 61 บ่อ บาดาน 1 บ่อ แผนที่ชุมชนบ้านไสเหนือ (นงลักษณ์ แดงคูหา, 2555: 39)

การคมนาคม บ้านไสเหนือมีถนนสายหลักที่ใช้ในการเดินทางติดต่อกับชุมชนภายนอก และเดินทางสัญจรภายในหมู่บ้านทั้งหมด 7 สาย ได้แก่

  • สายสามแยกสะพานท้อน - น้ำตกหนานเตย เป็นถนนลาดยาง คอนกรีต
  • สายสามแยกสะพานท้อน – บ้านนายเกลื่อน เป็นถนนลาดยาง
  • สายช่องตริบจากบ้านนาเอื้อน – บ้านนายสงค์ เป็นถนนหินคลุก
  • สายแยกบ้านนายสุวิทย์ – บ้านนายยม เป็นถนนหินคลุก
  • สายแยกบ้านนายประดับ - วัดศิลาราย เป็นถนนหินคลุก
  • สามแยกบ้านนายจรัส - หนานนกกินน้ำ เป็นถนนคอนกรีต
  • สายสะพานน้ำล้นฝายประปา – น้ำตกหนานเตย

บ้านไสเหนือมีประชากรจํานวน 851 คน ชาย 419 คน หญิง 432 คน มีครัวเรือนทั้งสิ้น 229 ครัวเรือน โดยชาวบ้านหมู่บ้านไสเหนือ คือ กลุ่มชาวไทยพุทธ (คนไทยที่นับถือศาสนาพุทธ)

ชาวบ้านไสเหนือมีรายได้เฉลี่ยประมาณ 55,194 บาท/คน/ปี ทุกครัวเรือนรวมปีละประมาณ  16,711,950 บาท ชาวบ้านส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทําสวนยางพาราเป็นอาชีพหลัก อาชีพรองและอาชีพเสริม คือทําสวนผลไม้ ปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงปลา นอกจากนี้ยังมีการรวมกลุ่มกันดําเนินกิจกรรมตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง ได้แก่ กลุ่มเผาถ่านเอาน้ำส้มควันไม้ กลุ่มทําขนมไทย กลุ่มเลี้ยงปลาดุก กลุ่มเลี้ยง สุกร กลุ่มผลิตปุ๋ยอินทรีย์อัดเม็ด และกลุ่มท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์

อนึ่ง บ้านไสเหนือเป็นชุมชนที่ได้รับยกย่องเป็นชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงของการท่องเที่ยวเชิงอนุรักษ์ โดยนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของ พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช บรมนาถบพิตร มาใช้เป็นหลักในการดำเนินชีวิต เนื่องจากเล็งเห็นว่าประชาชนในพื้นที่ภาคใต้ส่วนใหญ่ชอบบริโภคผัก แต่ไม่นิยมปลูก ซึ่งทรงกังวลเรื่องสารเคมีที่ปะปนมากับผัก จึงได้ริเริ่มเชิญชวนประชาชนทุกสาขาอาชีพให้หันมาปลูกผัก เลี้ยงสัตว์ สร้างรายได้เสริมในครอบครัวและชุมชน ปัจจุบันชุมชนบ้านไสเหนือมีกลุ่มสาขาอาชีพทั้งหมด 14 ฐานอาชีพ ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเลี้ยงปลา โคขุน เลี้ยงกบ ไก่พื้นเมือง ผักปลอดสารพิษ กลุ่มเลี้ยงปลาดุก กลุ่มเครื่องแกง กลุ่มไม้กวาดดอกหญ้า กลุ่มเครื่องจักสาน เป็นต้น ซึ่งผลผลิตที่ได้จากการดำเนินงานของกลุ่มอาชีพ ทางชุมชนจะนำออกจำหน่ายสู่ตลาดประชารัฐ ตลาดเสาร์-อาทิตย์ และตลาดนัดในชุมชน ทั้งนี้ ไก่พันธุ์สวยงามที่เลี้ยงไว้ ได้มีการจัดส่งเข้าประกวดและประกาศขายตามสื่อโซเชียล ทำให้มีรายได้เสริมอีกทางหนึ่งตามความถนัดแต่ละบุคคล และยังเป็นแบบอย่างให้เกษตรกรผู้ประสบปัญหาราคายางได้หันมาประกอบอาชีพเสริม ใช้เวลาว่างให้เกิดประโยชน์ และสร้างรายได้ให้ครอบครัวด้วย 

บ้านไสเหนือ เป็นหมู่บ้านที่ยังคงรักษาขนบธรรมเนียม ประเพณี และวัฒนธรรมเก่าแก่ไว้อย่างเหนียวแน่น ทุกจะมีประเพณีสำคัญประจำปีที่จัดขึ้นอย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ ได้แก่ ประเพณีสารทเดือนสิบ และประเพณีเดือนห้า

สารทเดือนสิบ : เป็นประเพณีทําบุญอุทิศส่วนกุศลให้แก่บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้ว จึงมีบทบาทสำคัญของการแสดงความกตัญญูกตเวทีต่อผู้มีพระคุณ ซึ่งชาวไทยถือว่าเป็นหัวใจที่สําคัญที่สุดของสังคมไทย ประเพณีสารทเดือนสิบจึงเกิดขึ้นจากคติความเชื่อที่ว่า ในบรรดาญาติพี่น้องที่ล่วงลับไปแล้วนั้น มีผู้ที่สร้างชื่อครั้งที่ยังมีชีวิตอยู่ และต้องไปทนทุกข์ทรมานเป็นเปรตอยู่ในนรกภูมิ

นครศรีธรรมราช เป็นจังหวัดที่ขึ้นชื่อเรื่องประเพณีสารทเดือนสิบเป็นอย่างมาก เนื่องจากเป็นจังหวัดที่ปฏิบัติสืบทอดพิธีดังกล่าวนี้มายาวนานที่สุด และจัดยิ่งใหญ่เป็นประจำทุกปี ฉะนั้นประชากรทุกพื้นที่ในจังหวัดนครศรีธรรมราช รวมถึงชาวบ้านไสเหนือจึงให้ความสำคัญกับประเพณีสารทเดือนสิบนี้เป็นที่สุด พิธีบุญวันสารทเดือนสิบ จะเริ่มขึ้นตั้งแต่วันแรม 13 ค่ำ เดือน 10 ซึ่งวันนี้จะถือกันว่าเป็น "วันจ่าย" คือวันแห่งการจับจ่ายซื้อของ เมื่อถึงวันแรม 14 ค่ำ ถือกันว่าเป็น "วันยกหมฺรับ หรือแห่หมฺรับ" โดยหมฺรับที่จัดทําขึ้นนั้นจะประกอบไปด้วยของกินของใช้ที่จําเป็นมากมายหลายชนิด แต่ที่จะขาดเสียไม่ได้ คือ ต้องมีขนม 5 อย่าง ซึ่งถือเป็นหัวใจของการทําบุญสารทเดือน 10 ขนม 5 อย่างนั้น ได้แก่

  • ขนมพอง เป็นสัญลักษณ์ของแพฟ่อง สําหรับให้บรรพบุรุษที่ล่วงลับไปแล้วใช้ล่องข้ามห้วงมหรรณพ
  • ขนมลา ใช้เป็นแพรพรรณเครื่องนุ่งห่มเพื่อให้บรรพบุรุษได้สวมใส่
  • ขนมกงหรือขนมไข่ปลา ให้บรรพบุรุษได้แทนเครื่องประดับร่างกาย
  • ขนมบ้า ให้บรรพบุรุษใช้แทนลูกสะบ้าเล่นในเทศกาลสงกรานต์
  • ขนมดีซํา ให้บรรพบุรุษใช้แทนเงินเบี้ยเพื่อใช้สอย

รุ่งเช้าวันแรม 15 ค่ํา จะมีการยกหมฺรับไปยังวัดต่าง ๆ เรียกว่า “หมฺรับตา- ยาย” โดยเมื่อเสร็จพิธีทางสงฆ์แล้ว ก็จะนําอาหารและข้าวของในหมฺรับไปวางไว้ตามกําแพงวัด ใต้ต้นไม้ หรือวางไว้บนศาลาที่จัดทําขึ้นเรียกว่า “หลาเปรต” ให้พระสงฆ์สวดบังสุกุลอุทิศส่วนบุญกุศล เสร็จเรียบร้อยแล้วผู้ที่เข้าร่วมในพิธีทั้งหมด ก็จะเข้าไปแย่งชิงอาหารและสิ่งของในหมฺรับที่นําไปวางไว้ ด้วยเชื่อว่าอาหารเหล่านี้เป็นของที่เหลือจากบรรพบุรุษ หากผู้ใดได้กินแล้วจะได้กุศลแรง จึงเป็นที่มาของชื่อชื่อเรียกว่า “ชิงเปรต”

บุญเดือนห้า : หรือประเพณีสงกรานต์ ตามคติของชาวบ้านไสเหนือ บุญเดือนห้าถือเป็นช่วงเวลาของการทําบุญให้กับบรรพบุรุษที่เสียชีวิตไปแล้ว วันที่ 14 – 15 เมษายน ชาวบ้านจะทําสำรับกับข้าวไปถวายพระที่วัด และจะหยุดประกอบอาชีพ จะถือว่าเป็น “วันว่าง” 

1.นายแย้ม ธนาวุฒิ : หมอดูโชคลาภ ทำขวัญเด็ก ตั้งศาลพระภูมิ แก้บน แก้เภทภัย

2.นายประสิทธิ์ ศรีสิริ : หมอยาสมุนไพร

3.นายร่าน หนูสาย : หมอนวดแผนไทย

4.นางละมัย ไชยทอง : หมอนวดแผนไทย

5.นายเจนชริญ บุญสิทธิ์ : ผู้นำพิธีกรรมตั้งศาลพระภูมิ

6.นางฉวีวรรณ ไตรสารณะคุปต์ : ทำไม้กวาดดอกหญ้า

7.นายเฟื่อง สังข์ชุม : ทำไม้กวาดดอกหญ้า

8.นายมานพ แก้วมณี : ทำไม้กวาดดอกหญ้า

9.นางวรรณะ มัชฉิมชัย : ทำหัวกรงนก 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้

ภาษาเขียน : ภาษาไทย


ในพื้นที่หมู่บ้านไสเหนือไม่มีโรงเรียน เด็กเล็กจะส่งเข้ารับการดูแลที่ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านท่าเลา และเด็กที่อยู่ในวัยเรียนเดินทางไปเรียนตัวเมืองทุ่งสง

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

นงลักษณ์ แดงคูหา. (2555). การมีส่วนร่วมของประชาชนในโครงการพัฒนาชุมชนต้นแบบเศรษฐกิจพอเพียงและทฤษฎีใหม่ : กรณีศึกษาบ้านไสเหนือ ตำบลนาหลวงเสน อำเภอทุ่งสง จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาสหวิทยาการเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร.

ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบบ้านไสเหนือ. (2565). [ออนไลน์]. ค้นคืนเมื่อ 26 เมษายน 2566, จาก https://www.facebook.com/

อรุณพร จันทรเสน. (2559). ศูนย์เรียนรู้เพื่อการพัฒนาเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ บ้านไสเหนือ. [ออนไลน์]. ค้นคืนเมื่อ 26 เมษายน 2566, จาก https://rdp-test.appspot.com