Advance search

คุ้มวัดเหนือ

มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมือง คือ พิพิธภัณฑ์ตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย อีกทั้งบริเวรวัดยังมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก คือ ปลาร้าบอง สินค้าที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม

มหาชัย
ตลาด
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
4 มิ.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
14 มิ.ย. 2024
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
29 มิ.ย. 2024
มหาชัย
คุ้มวัดเหนือ

จุดศูนย์กลางของชุมชนและศูนย์รวมจิตใจของชุมชนคือ วัดมหาชัย ชาวบ้านจึงเรียกบริเวณนี้ว่าชุมชนวัดมหาชัย


มีแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์เมือง คือ พิพิธภัณฑ์ตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย อีกทั้งบริเวรวัดยังมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก คือ ปลาร้าบอง สินค้าที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม

มหาชัย
ตลาด
เมืองมหาสารคาม
มหาสารคาม
44000
16.18634831
103.3061734
เทศบาลเมืองมหาสารคาม

สมัยก่อนมีกลุ่มคนที่โยกย้ายเข้ามาในมหาสารคาม ส่วนใหญ่มาจากร้อยเอ็ดและประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นหลัก ตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกบริเวณวัดโพธิ์ศรี ปี พ.ศ. 2408 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าฯ ทรงโปรดเกล้าฯ ยกบ้านลาดยางใหญ่เป็นเมืองมหาสารคาม ให้ท้าวมหาชัย (กวด) เป็นพระเจริญราชเดชเดชวรเชษฐมหาขัติยพงศ์ รวิวงศ์สุรชาติฯ พร้อมด้วยท้าวเพียสร้างเมืองและสร้างวัดมหาชัยขึ้น ต่อมาเมืองมหาสารคาม มีผู้คนย้ายเข้ามาจากหัวเมืองต่าง ๆ มาประกอบการทำมาหากินเลี้ยงชีพมากขึ้น ต่างพากันมาขอปลูกบ้านเรือนบริเวณวัดมหาชัย ต่อมาเมื่อมีคนมาอาศัยอยู่มากขึ้น จึงได้ตั้งชุมชนขึ้นชื่อ "ชุมชนมหาชัย" เพื่อเป็นเกียรติแก่ท้าวกวดมหาชัยผู้สร้างเมืองมหาสารคาม 

ชุมชนมหาชัยมีการขยายตัวเริ่มจากคุ้มวัดโพธิ์ศรี ถนนเส้นหลักที่คนในชุมชนใช้สัญจรไปมาคือ ถนนมหาดำริห์ พระเจริญราชเดช กวด ได้สร้างวัดมหาชัยขึ้น เป็นวัดคู่บ้านคู่เมือง ทำให้ชุมชนเกิดการขยายตัวออกมาบริเวณวัดมหาชัยมากขึ้น อีกปัจจัยหนึ่งที่ทำให้เกิดชุมชนมหาชัย คือ ความแออัดในชุมชมวัดโพธิ์ศรี คนในชุมชนจึงขยายตัวออกมาทางทิศตะวันตกของเมืองมหาสารคาม ชาวจีนอพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดร้อยเอ็ด ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานเพื่อทำการค้าในเมืองมหาสารคาม อาศัยอยู่บริเวณทิศใต้ของวัดมหาชัย คนจีนในชุมชนมหาชัยส่วนใหญ่อาศัยอยู่แถวตลาดสดเทศบาลจนถึงอาณาเขตของชุมชนนาควิชัย คนจีนในชุมชนมหาชัยส่วนใหญ่ประกอบอาชีพขายค้า เปิดร้านขายของชำ เกิดเป็นย่านการค้าใหญ่ที่สุดของเมืองมหาสารคาม

สภาพแวดล้อมชุมชนผนวกกับโครงสร้างทางสังคมที่มีความเก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของเมืองมหาสารคามจึงทำให้ชุมชนมีความหนาแน่น ทั้งในเรื่องผู้ประกอบการ อาหาร คลินิก ร้านจำหน่ายฉลากกินแบ่งรัฐบาล และแผงเช่าพระเครื่อง ก่อให้เกิดเครือข่ายชุมชน การอาศัยอยู่ร่วมกันแบบเครือญาติ อยู่แบบพี่น้องอาศัยซึ่งกันและกัน

อาณาเขตติดต่อ

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ ห้วยคะคาง
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ชุมชนนาควิชัย
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ชุมชนสามัคคี
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ชุมชนโพธิ์ศรี

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ

สภาพพื้นที่ที่เป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะดินเป็นดินร่วนปนทราย สภาพชุมชนมีความแออัดมีการสร้างบ้านเรือนอยู่ติดกัน พื้นที่บางส่วนเป็นเนิน 

จากแผนพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ. 2561-2565 เทศบาลเมืองมหาสารคาม ได้ระบุจำนวนประชากรเพศชายและหญิง ไว้ดังนี้ จำนวนประชากรชาย 394 คน จำนวนประชากรหญิง 483 คน รวมทั้งสิ้น 877 คน คนในชุมชนมีกลุ่มชาติพันธุ์ไท-ลาว และเป็นกลุ่มคนเชื้อสายจีนบางส่วน

จีน

มีการจัดตั้งองค์กรการทำกิจกรรมภายในชุมชน มีการจัดตั้งกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มออมทรัพย์ และกองทุนร้านค้า องค์กรดูแลสุขภาพผู้สูงอายุกลุ่ม ดำเนินการโดยอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน, ชมรมพระเครื่องหน้าวัดมหาชัย

ชาวบ้านนับถือศาสนาพุทธ ในช่วงเช้าของทุกวันตลาดสดเขตเทศบาลบรรยากาศครึกครื้นเพราะเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในจังหวัด ชาวบ้านออกมาทำบุญตักบาตร ส่วนวันพระใหญ่หรืองานบุญประจำปีชาวบ้านจะจัดที่วัดมหาชัย มีการจัดงานตามปฏิทินความเชื่อของชาวไทยเชื้อสายจีน มีศาลเจ้าอยู่ในชุมชนมีการจัดงานไหว้ศาลเจ้าตามความเชื่อ 

1.นายบุญช่วย อัตถากร

  • อดีตนายกเทศมนตรีเมืองมหาสารคาม
  • อดีต ส.ส จังหวัดมหาสารคาม

2.พระอริยานุวัตร เขมรจารี 

  • อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย รวบรวม เก็บรักษาและจัดแสดงโบราณวัตถุรวมทั้งเอกสารโบราณอีสาน

ชุมชนมหาชัยยังมีร้านจำหน่ายของที่ระลึก คือ ปลาร้าบอง เป็นสินค้าที่มีชื่อเสียงอีกแห่งหนึ่งของจังหวัดมหาสารคาม

ภาษาของชาวบ้านในท้องถิ่นสมัยก่อนคือ ภาษาอีสาน ในส่วนที่ต้องติดต่อราชการใช้ ภาษากลาง ปัจจุบันใช้ทั้งภาษาอีสานและภาษากลางปะปนกัน


วัดมหาชัย ตามพระอารามหลวง ตั้งอยู่ในเขตเทศบาลเมืองมหาสารคาม เป็นวัดที่สร้างขึ้นพร้อมตั้งเมืองมหาสารคาม ในปี พ.ศ. 2408 โดย พระเจริญราชเดช (กวด) หรือท้าวมหาชัย เพื่อเป็นวัดประจำเมือง แต่ชาวเมืองมหาสารคามเรียกว่า วัดเหนือ เพราะตั้งอยู่ทางทิศเหนือน้ำโดยถือเอาทางน้ำไหลเป็นเครื่องหมาย 

พ.ศ. 2482 รัฐบาลออกรัฐนิยมให้เปลี่ยนชื่อวัดทุกวัดในประเทศไทย วัดเหนือ จึงเปลี่ยนเป็น วัดมหาชัย ในเวลาต่อมาเป็นวัดอารามหลวง ปัจจุบันวัดมหาชัยมีพระเทพสิทธาจารย์ (น้อย ญาณวุฑโฒ) ดำรงตำแหน่งเจ้าอาวาสวัดและเจ้าคณะจังหวัดมหาสารคาม ภายในวัด พระวิหาร (พระอุโบสถหลังเก่า) สร้างสมัยพระเจริญราชเดช (กวด) ภายในประดิษฐานพระประธานก่ออิฐถือปูนบางชนะมารแบบเชียงแสน ล้านช้าง ลงรักปิดทองหน้าตักกว้าง 2 ศอก 4 นิ้ว ชาวเมืองให้ความเคารพศรัทธามาก รวมทั้งพระฝนแสนห่า อายุกว่าร้อยปี ประดิษฐานอยู่ด้านหลังพระประธาน

ต่อมาในปี พ.ศ. 2470 เห็นว่าพัทธสีมาหลังนี้คับแคบ ได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาสร้างพันธสีมาหลังเก่าเป็นวิหาร แต่ยังคงรักษาสภาพไว้ตราบจนปัจจุบัน ที่บริเวณด้านทิศเหนือของวัดติดพระอุโบสถหลังใหม่เป็นอาคารพิพิธภัณฑ์ใบลานพระอริยานุวัตร เขมจารีนุสรณ์ จัดแสดงวรรณคดีของภาคตะวันออกเฉียงเหนืออักษรไทย-ล้านช้าง

แต่อาคารที่น่าสนใจ คือ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อศึกษาหาความรู้ศิลปวัฒนธรรมอีสานสร้างโดย พระอริยานุวัตร เขมจารี ในปี พ.ศ. 2509 วัตถุประสงค์เพื่อเก็บรวบรวมวรรณคดีของภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อักษรไทย ล้านช้าง รวมทั้งศิลปะโบราณวัตถุหลายยุคสมัยที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ก่อสร้างมานานหลายสิบปี ตัวอาคารบางส่วนจึงอยู่ในสภาพทรุดโทรม แต่ทางวัดก็ไม่มีงบประมาณมาพัฒนาปรับปรุง

กระทั่งในปี พ.ศ. 2563 ธนาคารกรุงเทพจำกัด (มหาชน) รับพระราชทานผ้าพระกฐินเพื่อถวาย ณ วัดมหาชัย พระอารามหลวงเมื่อวัดที่ 11 ต.ค. 2563 พร้อมกับธนาคารพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้ เพื่ออนุรักษ์มรดกทางวัฒนธรรมของชาติให้ดำรงสืบไป 

การปรับปรุงแล้วเสร็จสมบูรณ์ในปี พ.ศ. 2565 จึงได้มีการทำพิธีเปิดอาคารพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ เมื่อวันที่ 22 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมาตรงกับวันสถาปนาเมืองมหาสารคาม

นายทม เกตุวงศา ผอ.การสถาบันวิจัยศิลปะและวัฒนธรรมอีสาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม เล่าว่า ขั้นตอนการเข้ามาปรับปรุงพิพิธภัณฑ์แห่งนี้อันดับแรกคือ การสำรวจโบราณวัตถุที่มี จากนั้นได้ทำบัญชีรายการแล้วแยกประเภทหมวดหมู่เพื่อจะได้รู้ว่าโบราณวัตถุแต่ละประเภทมีจำนวนเท่าใดเพื่อให้สอดคล้องกับเรื่องราวที่นำเสนอและจำนวนสิ่งของที่จัดแสดง

ในการจัดแสดงนิทรรศการได้แบ่งออกเป็น 5 โซน 

  1. จะเป็นเรื่องวัดมหาชัย ประวัติความเป็นมาของวัดมหาชัย
  2. โซนพระพุทธศิลป์จัดแสดงโบราณวัตถุเป็นพระพุทธรูปฝีมือบรรพชนอีสาน รวมทั้งราชสำนัก
  3. โซนประวัติ พระอริยานุวัตร เขมจารี ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์แห่งนี้
  4. การแสดงประวัติศาสตร์ยุคต่าง ๆ
  5. เรื่องราวของวัดมหาชัยกับผู้คน และสังคม ในการให้ความรู้โบราณวัตถุเพื่อให้สอดคล้องกับยุคเทคโนโลยีการอธิบายความเป็นมาของโบราณวัตถุจะให้ผู้ชมสแกนคิวอาร์โค้ดที่ติดอยู่หน้าวัตถุโบราณแต่ละชิ้นก็จะรู้เรื่องราวของวัตถุโบราณแต่ละชิ้นนั้นอย่างละเอียด หรือถ้าสูญหายก็สามารถติดตามคืนได้

สำหรับโบราณวัตถุที่นำมาจัดแสดงได้คัดเลือกชิ้นที่สวยและสมบูรณ์ โดยนำโบราณวัตถุชิ้นอื่นที่เก็บรักษาไว้ออกมาหมุนเวียนจัดแสดงเพื่อให้ความรู้ที่หลากหลายมากยิ่งขึ้น พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือแห่งนี้ จะเป็นแหล่งเรียนรู้ด้านประวัติศาสตร์ โบราณคดี และวรรณกรรมรวมถึงเป็นแหล่งสร้างสรรค์ความทรงจำอันทรงคุณค่าของบรรพชนแห่งเมืองมหาสารคาม และ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงศาสนาที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมืองมหาสารคาม 

พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัย เป็นพิพิธภัณฑ์ที่ตั้งขึ้นโดยมีท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) อดีตเจ้าอาวาสวัดมหาชัย ซึ่งเป็นวัดพระอารามหลวงเพียงวัดเดียวของจังหวัดมหาสารคามเป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งโดยได้รับการสนับสนุนจากหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐและเอกชน ทั้งในและต่างประเทศ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เกิดขึ้นสืบเนื่องมาจากท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร ได้เก็บรวบรวมคัมภีร์ใบลานไว้เป็นจำนวนมาก พร้อมทั้งปริวรรตออกมาเป็นอักษรไทยปัจจุบัน เพื่อให้คนที่อ่านตัวอักษรโบราณที่บันทึกเรื่องราวต่าง ๆ ไว้ในคัมภีร์ใบลานให้ได้รู้ และได้จัดตั้ง "ศูนย์อนุรักษ์วรรณคดีภาคตะวันออกเฉียงเหนือ" ขึ้น เมื่อปี พ.ศ. 2513 ต่อมาได้มีผู้นำเอาวัตถุโบราณต่าง ๆ ที่นอกเหนือจากคัมภีร์ใบลานมาบริจาค นานเข้าวัตถุโบราณมากขึ้นเรื่อย ๆ ท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตรจึงได้จัดตั้งเป็นพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นฯ ขึ้น จนเป็นที่รู้จักกันแพร่หลาย มีคณาจารย์ นักวิชาการ นิสิต นักศึกษา นักเรียน และผู้สนใจทั่วไปจากที่ต่าง ๆ ได้เข้าไปศึกษาและขออนุเคราะห์ความรู้ด้านต่าง ๆ จากท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตรเป็นประจำมิได้ขาด ทั้งด้าน วรรณคดี วรรณกรรม ตัวอักษรโบราณ ประเพณี พิธีกรรม ด้านต่าง ๆ ของภาคอีสาน เนื่องจากท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตรเป็นปราชญ์ที่ยิ่งใหญ่ของภาคอีสานท่านหนึ่ง มีความแตกฉานในพระไตรปิฎก มีความรู้และความชำนาญในภาษาถิ่นและวรรณคดีท้องถิ่นจนได้รับ ปริญญาดุษฎีบัณฑิตกิตติมศักดิ์ สาขาภาษาศาสตร์และ วรรณคดีไทย จากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เมื่อปี พ.ศ. 2532 ได้รับเชิดชูเกียรติเป็นผู้มีผลงานดีเด่น ด้านวัฒนธรรม จากสำนักงานคณะกรรมการวัฒนธรรมแห่งชาติ และได้รับรางวัลพระเกี้ยวทองคำ ผู้ส่งเสริมภาษาไทยดีเด่นจากจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เมื่อปี พ.ศ. 2533

ต่อมาเมื่อท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร (อารีย์ เขมจารี) มรณภาพลงในปี พ.ศ. 2535 ทำให้ พิพิธภัณฑ์แห่งนี้เริ่มซบเซาลง ไม่ได้รับการจัดระบบและดูแลอย่างต่อเนื่องไม่ได้เปิดให้ผู้สนใจเข้าชมและศึกษาอย่างสม่ำเสมอและโบราณวัตถุต่าง ๆ ในพิพิธภัณฑ์เริ่มชำรุดเสื่อมโทรมลงตามลำดับ เพราะขาดการดูแลอย่างถูกต้องตามหลักวิชาการ ต่อมาเมื่อวันที่ 7 มีนาคม พ.ศ. 2546 พระมหาสังคม จิตติญาโณ (ต่อมาได้รับพระราชทานสมณศักดิ์เป็นพระราชาคณะชั้นสามัญที่ พระศรีวชิรโมลี) รักษาการเจ้าอาวาสวัดมหาชัยในขณะนั้นได้ตั้งใจที่จะสืบทอดเจตนารมณ์ของท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร เล็งเห็นความสำคัญของพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ เพื่อให้ฟื้นกลับมาเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปเหมือนสมัยที่ท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตรยังมีชีวิตอยู่ จึงได้ทำหนังสือถึงมหาวิทยาลัยมหาสารคาม เพื่อขอความอนุเคราะห์จัดส่งเจ้าหน้าที่เข้าไปจัดระบบเอกสารใบลานและจัดเก็บเอกสารโบราณต่าง ๆ มหาวิทยาลัยจึงได้ส่งเจ้าหน้าที่ที่ทำงานเกี่ยวกับด้านพิพิธภัณฑ์เข้าไปจัดระบบวัตถุโบราณในเบื้องต้นและได้ส่งเจ้าหน้าที่ของโครงการอนุรักษ์ใบลานฯ ไปจัดระบบเกี่ยวกับเอกสารใบลานใน เบื้องต้น 

หลังจากนั้นมารองศาสตราจารย์วีณาวีสเพ็ญประธานโครงการอนุรักษ์ใบลานในภาค ตะวันออกเฉียงเหนือ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม มุ่งมั่นที่จะฟื้นความมีชีวิตให้กับพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นแห่งนี้เพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านศิลปวัฒนธรรม โบราณคดี อักษรศาสตร์ วรรณคดี ประเพณีเกี่ยวกับภาคอีสานทุกแขนงจึงได้เขียน "โครงการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัด 41 มหาชัย" ขึ้นเพื่อเสนอหน่วยงานและบุคคลต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งสมาชิกวุฒิสภา สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร ตลอดถึงต้นตระกูลเจ้าเมืองที่สร้างวัดมหาชัยและผู้สนใจทั่วไปซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการต่อเนื่องระยะยาว และใช้งบประมาณมากจึงยังไม่ได้รับการสนับสนุน 

อย่างไรก็ตามด้านคัมภีร์ใบลานนั้นระหว่างปี พ.ศ. 2546-2547 โครงการอนุรักษ์คัมภีร์ใบลาน มหาวิทยาลัยมหาสารคาม ได้สำรวจและจัดระบบให้แก่วัดต่าง ๆ ที่ยังมีใบลานในทุกอำเภอของจังหวัดมหาสารคาม ยังขาดอยู่ที่เดียวและเป็นแหล่งที่สำคัญในอดีตดังกล่าวมาแล้วคือวัดมหาชัย ประธานโครงการได้ตระหนักว่า จะต้องเข้าไปดำเนินการที่วัดมหาชัยอย่างเป็นรูปธรรมให้ได้ เพื่อให้วัดแห่งนี้ซึ่งตั้งอยู่กลางเมือง เป็นแหล่งเรียนรู้ด้านตัวอักษรโบราณ วรรณคดีท้องถิ่น และอื่น ๆ เพื่อเป็นการปฏิบัติบูชาท่านเจ้าคุณพระอริยานุวัตร จึงได้เขียนโครงการได้เสนอจังหวัดมหาสารคามชื่อ "โครงการจัดระบบข้อมูลคัมภีร์ใบลานโดยใช้เทคโนโลยีสารสนเทศในศูนย์พิพิธภัณฑ์ภาคตะวันออกเฉียงเหนือวัดมหาชัยจังหวัดมหาสารคาม เพื่อเป็นสังคม การเรียนรู้และแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม" เพื่อของบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2548 ของจังหวัดมหาสารคาม ซึ่งได้งบประมาณมาจัดระบบเอกสารใบลานในศูนย์พิพิธภัณฑ์ได้ในส่วนหนึ่ง จนสามารถจัดเป็นพิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลานโดยเฉพาะแยกต่างหากจากโบราณวัตถุอื่น ๆ โดยใช้ชื่อว่า "พิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลาน พระอริยานุวัตร เขมจารีนุสรณ์" เพื่อเป็นการเชิดชูและสืบสานเจตนารมณ์ของท่าน เจ้าคุณพระอริยานุวัตร ผู้ก่อตั้งพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นและ รวบรวมคัมภีร์ใบลานไว้มากมายจนเป็น แหล่งเรียนรู้ที่หน่วยงานต่าง ๆ ได้มาศึกษาหาความรู้และ ได้เขียนชุดโครงการวิจัยเชิงปฏิบัติการเรื่อง "การจัดการเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาท้องถิ่นเพื่อพัฒนาสู่สังคมการเรียนรู้" เพื่อของบประมาณหมวดเงินอุดหนุนประจำปีงบประมาณ 2549 โดยมีโครงการย่อย 4 โครงการ ดังนี้ 

  • โครงการย่อยที่ 1 การอนุรักษ์ใบลานและการนำองค์ความรู้จากใบลานสู่การเรียนรู้ในชุมชน 
  • โครงการย่อยที่ 2 การพัฒนาสารสนเทศทางภูมิปัญญาท้องถิ่นสู่การเรียนรู้ชุมชน
  • โครงการย่อยที่ 3 การพัฒนารูปแบบการบริหารจัดการพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่นอย่างยั่งยืนและมีชีวิต
  • โครงการย่อยที่ 4 การพัฒนารูปแบบการเรียนรู้ด้านภูมิปัญญาโดยใช้หลักสูตรท้องถิ่น 

โดยได้ประชุมหัวหน้าโครงการย่อย ตลอดถึงพระสงฆ์และชาวคุ้มวัดมหาชัยแล้วบางส่วน แต่เนื่องจาก งบประมาณมีจำนวนจำกัดท าให้ชุดโครงการนี้ตกไป 

จะเห็นได้ว่าทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้พยายามอย่างยิ่งในการที่จะฟื้นฟูและพัฒนาพิพิธภัณฑ์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ วัดมหาชัยเพื่อให้เป็นแหล่งเรียนรู้ของชุมชนและประเทศชาติซึ่งอดีตอธิการบดีและ อธิการบดีท่านปัจจุบันก็ให้ความสนใจและพยายามให้การสนับสนุนทุกวิถีทาง แต่พิพิธภัณฑ์แห่งนี้จะฟื้นกลับมาเป็นที่รู้จักและเป็นแหล่งเรียนรู้ของคนทั่วไปนั้นจะต้องได้รับความร่วมมือจากทุกฝ่ายทั้งพระสงฆ์ ชาวคุ้ม ทั้งภาครัฐและเอกชน จึงจะทำให้การฟื้นฟูและพัฒนาพิพิธภัณฑ์แห่งนี้เจริญก้าวหน้าเป็นที่ศึกษาหาความรู้ของลูกหลานชาวอีสานและผู้สนใจทั่วไปตลอดถึงเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมที่มีค่ายิ่งของชุมชนและประเทศชาติ

ทวีศิลป์ สืบวัฒนะ, ธีรชัย บุญมาธรรม และนายทม เกตุวงศา. (2545). โครงการจัดตั้งพิพิธภัณฑ์เมือง ศูนย์รวม เผยแพร่  และจำหน่ายผลิตภัณฑ์พื้นบ้าน จังหวัดมหาสารคาม. เทศบาลบาลเมืองมหาสารคาม.

วีณา วีสเพ็ญ และสมัย วรรณออุดร. (2554). บทบาทของมหาวิทยาลัยมหาสารคามในการฟื้นฟูพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมท้องถิ่นฯ วัดมหาชัย ในบทความวิชาการ อนุรักษ์ ฟื้นฟู บูรณาการ สัมมนาระดับภูมิภาคเพื่อสร้างเครือข่ายความร่วมมือด้านการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม โครงการการอนุรักษ์ใบลานภาคตะวันออกเฉียงเหนือ. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. น.40-41.

เทศบาลเมืองมหาสารคาม. (2561). แผนพัฒนาท้องถิ่น ปี พ.ศ 2561-2565. เทศบาลเมืองมหาสารคาม

หลวงตาดนตรี ชาญาชุติยุโย. พระครู. วัดมหาธาตุ, สัมภาษณ์, 19 มิถุนายน 2567

MGR Online. (2561, 3 มกราคม). แห่ซื้อเป็นของฝาก! “ปลาร้าบอง” อาหารเลิศรส Signature ชาวอีสานขายดี. MGR Online. ค้นจาก https://mgronline.com/