Advance search

ผู้คนในชุมชนสามารถปรับตัวเเละอยู่กับภัยธรรมชาติที่ต้องเผชิญ ทั้งในช่วงฤดูฝนที่น้ำท่วมขังและช่วงหน้าแล้งที่ต้องดูแลพืชผลทางการเกษตร

หมู่ที่ 10
ใคร่นุ่น
ท่าขอนยาง
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
4 มิ.ย. 2024
ณัฐพล นาทันตอง
10 มิ.ย. 2024
เกริกกฤษณ์ โชคชัยรัชดา
29 มิ.ย. 2024
บ้านใคร่นุ่น

แรกเริ่มตั้งชื่อตามหนองไข่นุ่น ชื่อว่าบ้านไข่นุ่น ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ที่เกิดขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ ต่อมาทางราชการจึงเปลี่ยนเป็นว่า บ้านใคร่นุ่น ซึ่งหมายถึงความรักใคร่ สามัคคี กลมเกลียว


ชุมชนชนบท

ผู้คนในชุมชนสามารถปรับตัวเเละอยู่กับภัยธรรมชาติที่ต้องเผชิญ ทั้งในช่วงฤดูฝนที่น้ำท่วมขังและช่วงหน้าแล้งที่ต้องดูแลพืชผลทางการเกษตร

ใคร่นุ่น
หมู่ที่ 10
ท่าขอนยาง
กันทรวิชัย
มหาสารคาม
44150
16.2311893962826
103.301154971122
เทศบาลตำบลท่าขอนยาง

บ้านใคร่นุ่น ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม จากหลักฐานการบันทึกของบรรพบุรุษ กล่าวว่า เมื่อปี พ.ศ. 2423 มีประชาชนจำนวน 4 ครอบครัว มาทำมาหากินบริเวณใกล้หนองใคร่นุ่น และอยู่ใกล้แม่น้ำชี ซึ่งมีมูลเหตุที่ทำให้ก่อตั้งหมู่บ้านก็คือ มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ด้วยการมีห้วยหนองใคร่นุ่น และที่สำคัญคือ แม่น้ำชี ซึ่งเป็นแหล่งที่มาของการเป็นอยู่ของมนุษย์

โดยแรกเริ่มตั้งชื่อตามหนองไข่นุ่น ชื่อว่าบ้านไข่นุ่น ซึ่งเป็นชื่อต้นไม้ที่เกิดขึ้นอยู่ตามหนองน้ำ ต่อมาทางราชการจึงเปลี่ยนเป็นว่า บ้านใคร่นุ่น ซึ่งหมายถึงความรักใคร่ สามัคคี กลมเกลียว ผู้เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านปรากฏชื่อคือ พ่อผู้ใหญ่พรหม ภักดี ซึ่งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก และอีก 3 ท่านเอกสารไม่ระบุชื่อแน่ชัด จากนั้นมาจึงมีผู้คนอพยพมาเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ทำให้มีประชากรมากยิ่งขึ้น ปี พ.ศ. 2540 จึงแบ่งการปกครองออกเป็น 2 หมู่ คือ หมู่ 10 (เดิม) และหมู่ 14 (ใหม่)

สภาพแวดล้อมชุมชน

  • ทิศเหนือ จรด ห้วยกุดโดก บ้านวังบัว ตำบลขามเฒ่าพัฒนา 
  • ทิศใต้ จรด ลำน้ำชี เขตอำเภอเมือง อำเภอเมืองมหาสารคาม 
  • ทิศตะวันออก จรด บ้านกุดร่อง หมู่ที่ 5 ตำบลท่าขอนยาง 
  • ทิศตะวันตก จรด บ้านวังหว้า หมู่ที่ 6 และวนอุทยานชีหลง

จากสภาพภูมิศาสตร์ของบ้านใคร่นุ่นเต็มไปด้วยธรรมชาติมากมาย เช่น ลำน้ำชี ห้วยหนอง บึง ซึ่งเป็นที่มาของปัจจัย 4 ธรรมชาติเหล่านี้เป็นเสมือนหัวใจสำคัญที่ช่วยให้ประชาชนดำรงชีวิตอยู่อย่างสงบสุข โดยการประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ เช่น การทำนา ต้องอาศัยแหล่งน้ำเป็นสำคัญ

จากสภาพภูมิศาสตร์เป็นที่ราบลุ่ม เพราะเป็นอาณาเขตติดต่อกับลำน้ำชี มีลำน้ำมากมายความเป็นอยู่จึงถือว่าดีกว่าบ้านอื่น ๆ ในละแวกนี้ แต่จุดด้อยของหมู่บ้านแห่งนี้คือ ถ้าถึงฤดูฝนมีฝนตกมากหรือฤดูน้ำหลาก น้ำก็มักจะท่วมบ่อย ๆ ผลผลิตทางการเกษตรจึงมักเสียหาย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าฝนน้อยหรือฤดูแล้ง ผลผลิตก็มักจะสูงกว่า เพราะหมู่บ้านนี้มีระบบชลประทานเป็นคลองส่งน้ำที่สูบน้ำจากแม่น้ำชีขึ้นมาใช้ในการเกษตรกรรม

ชุมชนบ้านใคร่นุ่น ประกอบด้วยจำนวนครัวเรือนทั้งสิ้น 141 ครัวเรือน และมีจำนวนประชากร 641 คน โดยแบ่งเป็นเพศชาย จำนวน 364 คน และเพศหญิง จำนวน 277 คน  

ผู้คนในชุมชนส่วนมากประกอบอาชีพอยู่ในภาคสังคมเกษตรกรรม การทำนา เป็นหลัก ซึ่งชาวนาสามารถทำนาปลัง เก็บเกี่ยวผลผลิตได้ปีละ 2 ครั้ง ส่วนอาชีพเสริมนั้นเป็นการปลูกถั่วลิสง เพื่อเป็นรายได้มาช่วยหล่อเลี้ยงคนในครอบครัว

ราว พ.ศ. 2558 หน่วยงานรัฐได้ส่งเสริมให้ปลูกข้าวโพดข้าวเหนียวเพื่อขายเป็นรายได้เสริม ปลูกมากในช่วงฤดูแล้ง ขณะเดียวกันหน่วยงานท้องถิ่นหลายฝ่ายได้ร่วมกันจัดงาน "ข้าวโพดที่กันทรวิชัย" เพื่อช่วยชาวบ้านงดทำนาปรังหันมาปลูกข้าวโพดอินทรีย์สร้างรายได้

บ้านใคร่นุ่น ประกอบด้วย บุญประเพณี ฮีต 12 คอง 14 ดังนี้

  • เดือนอ้าย บุญพระสงฆ์บุญเข้ากรรม
  • เดือนยี่ บุญคุณลานบุญประทายข้าวเปลือก
  • บุญเดือน 3 บุญข้าวจี่บุญกุ้มข้าวใหญ่
  • บุญเดือน 4 บุญผะเหวดเทศมหาชาติ บุญขึ้นบ้านใหม่ นิยมทำในเดือนมีนาคมถึงพฤษภาคม
  • บุญเดือน 5 บุญสงกรานต์ตบประทาย เอาทรายใส่ถังภาชนะเล็ก ๆ แล้วไปคว่ำให้เป็นรูปทรงคล้ายเจดีย์มีความเชื่อว่าเป็นการบูชาแม่น้ำทำแล้วให้อยู่เย็นเป็นสุข
  • บุญเดือน 6 บุญบั้งไฟ บุญบวชนาค บุญขึ้นบ้านใหม่
  • บุญเดือน 7 บุญเบิกบ้าน บุญชำฮะ
  • บุญเดือน 8 บุญเข้าพรรษา
  • บุญเดือน 9 บุญข้าวประดับดิน
  • บุญเดือน 10 บุญข้าวสาก นำอาหารคาวอาหารหวานห่อใส่กระทงใบตอง แล้วนำไปไว้ธาตุช่วงเที่ยงถึงตอนบ่ายค่อยไปเก็บจากธาตุแล้วเอาไปไว้นา เชื่อว่าเป็นการทำบุญให้บรรพบุรุษปู่แฮกย่าแฮกอยู่ที่นาเจ้าที่เจ้าทาง
  • บุญเดือน 11 บุญออกพรรษา บุญข้าวทิพย์ ตักบาตรเทโว
  • บุญเดือน 12 บุญกฐิน

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ผู้คนในหมู่บ้านจะใช้ภาษาท้องถิ่นคือ ภาษาอีสาน ส่วนภาษากลางจะใช้ในกรณีที่ต้องติดต่อกับหน่วยงานทางราชการเป็นส่วนใหญ่


ปัญหาทางการเมืองการปกครอง เป็นระบอบประชาธิปไตย แต่ประชาชนส่วนใหญ่ยังยึดติดกับตัวบุคคล คือนับถือผู้นำ โดยประชาชนส่วนใหญ่ถูกครอบงำทางความคิดไม่มีเสรีภาพในการตัดสินใจและยังมีการทุจริตในการเลือกตั้งเกือบทุกระดับ แต่ก็ไม่ถึงขั้นรุนแรงมากนัก


ปัญหาจากการเกษตรจากสภาพทางกายภาพมีลักษณะเอื้ออำนวยต่อการประกอบอาชีพเกษตรกรรมและการเลี้ยงสัตว์เป็นอาชีพเสริม ประชากรกว่า 80% จึงประกอบอาชีพการเกษตรเป็นจำนวนมาก จากเหตุผลนี้เองจึงทำให้เกิดปัญหาเศรษฐกิจด้านการเกษตรที่ไม่มีคุณภาพ ขาดตลาดรองรับประกอบกับ ต้นทุนการผลิตสูงขึ้น เนื่องจากการนำเทคโนโลยีมาช่วยเพิ่มผลผลิต โดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา มีการทำนาปีละ 2 ครั้ง คือ นาปีและนาปรัง แต่ปัจจุบันประสบปัญหาเรื่องราคาผลผลิตตกต่ำจึงไม่ค่อยมีการทำมากนัก แต่ประชากรบางส่วนก็หันไปประกอบอาชีพการค้าขายและรับจ้างแทนการทำนา หรือมีการนำสัตว์มาเลี้ยงเป็นอาชีพเสริม


โดยทั่วไปสภาพทางกายภาพอุดมสมบูรณ์ไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติ แต่เมื่อมีประชากรเพิ่มขึ้นจึงทำให้แย่งชิงการทำมาหากิน เกิดการทำลายธรรมชาติ ทำให้ธรรมชาติเหล่านั้นลดลง แต่ปัญหาที่สำคัญที่สุดที่มีผลกระทบกับทรัพยากรที่สำคัญพอสรุปได้ ดังนี้

  1. ดินพังทะลาย คือ บริเวณฝั่งแม่น้ำชี เกิดจากการกัดเซาะของแม่น้ำและการตัดไม้ทำลายป่า และเกิดน้ำท่วมรวดเร็ว
  2. ป่าไม้ถูกทำลาย เพื่อนำมาสร้างบ้านเรือน ไม้ส่วนใหญ่ที่ถูกทำลายคือไม้ยาง, ไม้ประดู่ ฯลฯ
  3. น้ำเน่าเสียบริเวณแม่น้ำชี เนื่องจากการเลี้ยงปลาในกระชังเป็นจำนวนมาก
  4. อากาศเสียบริเวณรอบหมู่บ้าน เพราะมีการเลี้ยงสุกรเป็นจำนวนมาก นอกจากนั้นอากาศยังร้อนขึ้นทุกวัน เนื่องจากการตัดไม้ทำลายป่า
  5. เมื่อถึงฤดูฝนจะมีฝนตกชุก หรือฤดูน้ำหลากน้ำก็มักจะท่วมบ่อย ๆ ผลผลิตทางการเกษตรจึงมักเสียหาย แต่ในทางตรงกันข้าม ถ้าฝนน้อย หรือฤดูแล้ง ผลผลิตก็มักจะสูงกว่า เพราะหมู่บ้านนี้มีระบบชลประทานเป็นคลองส่งน้ำที่สูบน้ำจากแม่น้ำชีขึ้นมาใช้ในการเกษตรกรรม

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ประพาส วิชาเรือง. (ม.ป.ป.). การจัดทำแผนแม่บทชุมชนบ้านใคร่นุ่น หมู่ 10 ตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. สาขาการจัดการและประเมินโครงการ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม

กองบรรณาธิการ. (2558, 21 มกราคม). แนะปลูกข้าวโพดหวานแทนทำนาปรัง. คม ชัด ลึก. ค้นจาก https://www.komchadluek.net/