บ้านท่าข้ามควาย ชุมชนที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นวิถีชีวิตของผู้คน พื้นที่ที่เต็มไปด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย เป็นทุนสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง
เนื่องจากบริเวณชุมชนมีท่าเรือที่ใช้สำหรับการขนย้ายสัตว์เลี้ยง ฝูงวัวควายที่ชาวบ้านนำไปจำหน่าย จึงเรียกว่า “ท่าข้ามควาย”
บ้านท่าข้ามควาย ชุมชนที่เต็มไปด้วยอัตลักษณ์ท้องถิ่นวิถีชีวิตของผู้คน พื้นที่ที่เต็มไปด้วยแหล่งทรัพยากรธรรมชาติที่มีความอุดมสมบูรณ์และหลากหลาย เป็นทุนสำคัญในการสร้างเสริมศักยภาพชุมชนเข้มแข็ง
พื้นที่บริเวณชุมชนบ้านท่าข้ามควายเป็นพื้นที่ราบชายทะเล และติดกับผืนป่าชายเลน พื้นที่ส่วนหนึ่งบนฝั่งเป็นพื้นที่เนิน ได้มีกลุ่มชาวบ้านโยกย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐาน แรกเริ่มมีเพียงครอบครัวขนาดเล็กไม่กี่ครอบครัวเข้ามาสร้างบ้านเรือนอยู่อาศัยในบริเวณนี้ ต่อมาจึงมีกลุ่มชาวบ้านอพยพโยกย้ายพาครอบครัวเข้ามาตั้งรกรากในพื้นที่นี้มากยิ่งขึ้น ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยอาศัยพื้นที่เนินถัดขึ้นมาจากชายฝั่งในการเพาะปลูกเพื่อยังชีพ และเลี้ยงดูครอบครัว โดยในปี พ.ศ. 2515 ถูกจัดตั้งให้เป็นหมู่บ้าน พร้อมกับการจัดตั้งตำบลนาทอน ซึ่งแบ่งแยกพื้นที่การปกครองออกจากตำบลทุ่งว้า โดยใช้ชื่อชุมชนว่า “บ้านท่าข้ามควาย” เนื่องจากบริเวณชุมชนมีท่าเรือที่ใช้สำหรับการขนย้ายสัตว์เลี้ยง ฝูงวัวควายที่ชาวบ้านนำไปจำหน่าย จึงใช้ชื่อนี้เป็นชื่อชุมชนมาจนทุกวันนี้
บ้านท่าข้ามควาย หมู่ที่ 6 ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล อยู่ในการดูแลขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น องค์การบริหารส่วนตำบลนาทอน ที่ตั้งชุมชนอยู่ห่างจากที่ว่าการอำเภอทุ่งหว้ามาทางทิศตะวันตก เป็นระยะทางประมาณ 15 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสตูลมาทางทิศเหนือระยะทางประมาณ 75 กิโลเมตร โดยสภาพลักษณะทางภูมิศาสตร์ชุมชนเป็นพื้นที่ราบชายฝั่งทะเล และเป็นที่ราบลุ่มติดกับป่าชายเลน ทั้งยังมีพื้นที่เนินบางส่วนใช้สำหรับเป็นแหล่งเพาะปลูกทางเกษตรกรรม
สถิติประชากรทางการทะเบียนราษฎร (รายเดือน) สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง รายงานจำนวนประชากรหมู่ที่ 6 บ้านท่าข้ามควาย ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล มีจำนวนประชากรทั้งสิ้น 725 คน โดยแยกเป็นประชากรชาย 348 คน ประชากรหญิง 377 คน จำนวนหลังคาเรือนทั้งสิ้น 218 หลังคาเรือน (ข้อมูลเดือนธันวาคม 2566)
บ้านท่าข้ามควาย หมู่ที่ 6 ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล เป็นหมู่บ้าน อพป. มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชน ชาวบ้านมีความรักสามัคคี มีความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ประชากรส่วนใหญ่ในพื้นที่จะประกอบอาชีพด้านการทำเกษตรกรรม การทำสวนยางพารา ปลูกพริกไทย พืชผักชนิดอื่น ๆ และประกอบอาชีพประมงชายฝั่งหรือประมงพื้นบ้าน นอกจากนี้ชุมชนบ้านท่าข้ามควายยังถูกสนับสนุนและผลักดันให้เป็นชุมชนท่องเที่ยว ดังนั้นรายได้ส่วนหนึ่งของประชากรในชุมชนจะมาจากการเปิดรับนักท่องเที่ยว มีอาชีพด้านธุรกิจการท่องเที่ยวที่หลากหลาย ทั้งการค้าขายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน การบริการนักท่องเที่ยว การบริการนำเที่ยว การบริการแหล่งที่พักโฮมสเตย์ ซึ่งรายได้จากธุรกิจด้านการท่องเที่ยวช่วยส่งเสริมศักยภาพชุมชนและสร้างระบบเศรษฐกิจที่ดีให้กับคนในพื้นที่ นอกจากนี้ชาวบ้านยังมีการจัดการกลุ่มสมาชิกในชุมชนเพื่อรองรับนักท่องเที่ยว โดยแบ่งเป็นกลุ่มต่าง ๆ เพื่อทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ ได้แก่
- ฝ่ายต้อนรับนักท่องเที่ยว
- ฝ่ายชุดการแสดงต้อนรับนักท่องเที่ยว
- ฝ่ายพิธีกร/กิจกรรมนันทนาการ
- ฝ่ายแนะนำ/มัคคุเทศก์
- ฝ่ายบริการชุมชน/เรือนำเที่ยว/บริการรถชุมชน
- ฝ่ายประจำจุดเรียนรู้ในชุมชน
- ฝ่ายสินค้าและผลิตภัณฑ์ชุมชน
- ฝ่ายอาหารสำหรับนักท่องเที่ยว
- ฝ่ายอาคารสถานที่/ภูมิทัศน์ชุมชน
บ้านท่าข้ามควาย หมู่ที่ 6 ตำบลนาทอน อำเภอทุ่งหว้า จังหวัดสตูล มีผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้นำชุมชนในการทำกิจกรรมต่าง ๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับวิถีชีวิต กลุ่มองค์กรภายในชุมชน กลุ่มกิจกรรม การท่องเที่ยวและการจัดการชุมชน โดยสมาชิกในชุมชนมีความรักสามัคคี มีสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน ให้ความร่วมมือและมีส่วนร่วมในกิจกรรมของชุมชนอย่างสม่ำเสมอ ดำเนินชีวิตอย่างเรียบง่ายภายใต้ระบอบประชาธิปไตย มีการพึ่งพาอาศัยกันและกัน ให้ความเคารพผู้นำและผู้อาวุโส ร่วมกันดูแลรักษาพัฒนาชุมชน มีส่วนร่วมในการแสดงความคิดเห็นและการบริหารจัดการชุมชนในด้านต่าง ๆ รับผิดชอบหน้าที่ของตนเองและปฏิบัติตามระเบียบชุมชนเป็นอย่างดี
แหล่งท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าข้ามควาย
1.หาดไม้ขาว พื้นที่ชุมชนบ้านท่าข้ามควายตามแนวชายฝั่งไปจนถึงพื้นที่หาดไม้ขาว มีระยะทางของพื้นที่ชายหาดกว่า 3 กิโลเมตร ตลอดเส้นทางจะพบกับสัตว์ชนิดต่าง ๆ เช่น หิ่งห้อย ผีเสื้อ ปูลม ค้างคาวแม่ไก่ และเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ของทรัพยากรธรรมชาติ
2.สันหลังมังกร หรือสันหลังมังกรทอง เป็นพื้นที่หาดทรายสีขาวทอดยาวที่จะโผล่พ้นน้ำขึ้นมาให้เห็นเมื่อระดับน้ำทะเลลดลงในช่วงน้ำลง เป็นจุดชมบรรยากาศความสวยงามของพื้นที่ทะเลและพื้นที่โดยรอบซึ่งเราจะอยู่บริเวณท่ามกลางทะเล เป็นพื้นที่ที่มีทัศนียภาพที่สวยงามมากที่สุดแห่งหนึ่ง
3.หอสี่หลัง เป็นพื้นที่เนินทรายที่กินบริเวณกว้างขวาง เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของปูก้ามดาบ และปูกองทัพเป็นจำนวนมาก ให้นักท่องเที่ยวได้แวะเยี่ยมชมและสัมผัสวิถีธรรมชาติ
4.แหล่งชมเหยี่ยว เหยี่ยวหรือนกเหยี่ยวที่อาจเป็นสัตว์ที่หาชมได้ยากในหลายพื้นที่ แต่ที่บ้านท่าข้ามควายนักท่องเที่ยวสามารถไปชมนกเหยี่ยวที่บินโฉบเฉี่ยวต้านคลื่นลมบนน่านฟ้าได้เป็นจำนวนมากที่แหล่งดูนกเหยี่ยวโดยการล่องเรือชมในลำคลองทองหอม
5.พิพิธภัณฑ์ของโบราณ แหล่งรวบรวมเครื่องมือเครื่องใช้ ที่เกี่ยวพันกับวิถีชีวิตของชาวบ้านท่าข้ามควายในอดีต อุปกรณ์ต่าง ๆ ของใช้ของคนในชุมชนที่จัดแสดงไว้ให้คนรุ่นหลัง และผู้ที่สนใจได้เข้ามาศึกษาเรียนรู้
6.ศูนย์การเรียนรู้ชุมชน เป็นศูนย์กลางแหล่งเรียนรู้ของชุมชนที่จะให้ข้อมูลอันนำไปสู่กระบวนการสร้างเสริมการเรียนรู้ การถ่ายทอด และแลกเปลี่ยนประสบการณ์ทางวัฒนธรรม วิถีชีวิต เอกลักษณ์ท้องถิ่นชุมชน เป็นแหล่งบริการความรู้ชุมชนที่ช่วยให้เกิดกระบวนการเรียนรู้และร่วมรักษา สร้างสรรค์ พัฒนาต่อยอดในอนาคต และถ่ายทอดให้กับผู้คนที่เข้ามาในชุมชนได้รับรู้และเข้าใจอย่างถูกต้อง
7.โฮมสเตย์ชุมชนบ้านท่าข้ามควาย โฮมสเตย์ชุมชนเป็นสถานที่สำหรับพักอาศัยของชาวบ้านที่เปิดต้อนรับนักท่องเที่ยวที่เข้ามาพักผ่อน และในขณะเดียวกันก็ได้เรียนรู้สภาพความเป็นอยู่ วิถีชีวิตของชุมชน ผู้คนในท้องถิ่น สัมผัสกลิ่นอายและมนต์เสน่ห์แห่งวิถีชาวบ้าน
8.เกาะตะบัน พื้นที่อันซีน (Unseen) ที่สำคัญอีกจุดหนึ่งของการมาเยือนชุมชนบ้านท่าข้ามควายที่ไม่ควรพลาด เกาะตะบันเป็นแหล่งชมค้างคาวแม่ไก่ที่อยู่อาศัยกันเป็นจำนวนมาก ทั้งยังเป็นแหล่งชุมชนสุสานหอย ซากฟอสซิลสัตว์ดึกดำบรรพ์ ซึ่งเป็นซากหอยที่ทับถมกันมาเป็นระยะเวลายาวนาน เป็นแหล่งฐานข้อมูลทางธรณีวิทยาที่สำคัญของจังหวัดสตูล
9.ผลิตภัณฑ์ชุมชน ชุมชนบ้านท่าข้ามควายมีการสร้างสรรค์พัฒนาและตต่อยอดภูมิปัญญาเพื่อทำเป็นผลิตภัณฑ์สำหรับต้อนรับนักท่องเที่ยว และสร้างเสริมระบบเศรษฐกิจชุมชน โดยผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตรของชุมชนได้รับการขึ้นทะเบียน OTOP กับสำนักงานพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ยังมีผลิตภัณฑ์จากพื้นที่ชุมชนใกล้เคียง ซึ่งมีความหลากหลายของสินค้าชุมชน จากภูมิปัญญาท้องถิ่น และการประยุกต์สร้างสรรค์ ตัวอย่างเช่น
- ผลิตภัณฑ์อาหารทะเลแปรรูป เช่น หอยเดือน ปลาแห้ง กุ้งแห้ง กะปิ ฯลฯ
- น้ำสมุนไพร เช่น ตะไคร้ กระเจี๊ยบ อัญชัน มะนาว ฯลฯ
- ขนมกะหรี่ปั๊บหลากหลายไส้ เช่น ไส้ถั่ว ไส้เผือก ไส้สับปะรด
- ขนมโรตีกรอบจากกลุ่มแม่บ้าน
- น้ำพริกพื้นบ้านจากวัตถุดิบในชุมชน ได้แก่ มะขามอ่อน ตะไคร้ ใบมะกรูด ปลาแห้ง กุ้งแห้ง ฯลฯ
- ผลิตภัณฑ์ไข่เค็มจากศูนย์การเรียนรู้ชุมชน
- กะโป๊ะทอดกรอบ ผลิตภัณฑ์แปรรูปจากอาหารทะเล
- ลูกประคบสมุนไพร การบริการนวดแผนไทยสำหรับนักท่องเที่ยว
- ของฝากของที่ระลึกต่าง ๆ เช่น พวงกุญแจ เสื้อ กระเป๋า ผลิตภัณฑ์งานฝีมือ งานประดิษฐ์จากวัสดุเหลือใช้ ฯลฯ
ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้
ภาษาเขียน : ภาษาไทย
โครงการ Fisherman’s Village Resort. (2567). ท่องเที่ยวกับบ้านท่าข้ามควาย จ.สตูล. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2567, จาก https://www4.fisheries.go.th/local/
วิสูตร ประกอบ. (2564). การสื่อสารเพื่อการท่องเที่ยวชุมชนบ้านท่าข้ามควาย จังหวัดสตูล. วิทยานิพนธ์นวัตกรรมการสื่อสารทางการเมืองและการปกครองท้องถิ่น, มหาวิทยาลัยสุโขทัยธรรมาธิราช.
องค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษ เพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน (องค์การมหาชน). (2564). “บ้านท่าข้ามควาย” จ.สตูล กับเรื่องเล่ากว่าจะเป็นชุมชนเข้มแข็งและพอเพียง. สืบค้นเมื่อ 30 มิถุนายน 2567, จาก https://www.dasta.or.th/