บ้านโนนเรือ ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณ 260 ปีที่ผ่านมา โดยแยกหมู่บ้านมาจากบ้านตอเรือ ม.5 คำว่า "โนนเรือ" มีความหมายตามลักษณะทางภูมิศาสตร์ ซึ่งพื้นที่ของหมู่บ้านเป็นเนินสูงกว่าพื้นที่ทั่วไป และมีห้วยอยู่ติดกับบ้านตอเรือ นิยมใช้เรือในการประกอบอาชีพประมงน้ำจืด เวลาที่ไม่ใช้เรือก็มักจะผูกเรือไว้ที่เนินริมห้วยชาวบ้านทั่วไปเรียก "โนน" และมักจอดเรือไว้บริเวณนี้จึงเรียกกันว่า "โนนเรือ" จึงเป็นที่มาของชื่อหมู่บ้านจนถึงปัจจุบัน
การผลิตผ้าย้อมครามธรรมชาติ
บ้านโนนเรือ สันนิษฐานว่าได้มีการก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 เมื่อครั้งขึ้นไปปราบเจ้าอนุวงศ์ ซึ่งเหตุการณ์ในครั้งนั้นได้กวาดต้อนผู้คนข้ามมาจากเมืองเวียงจันทน์ เข้ามายังดินแดนในภาคอีสานเเละในจังหวัดสกลนคร กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทหรือภูไทสกลนครส่วนใหญ่ตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่เป็นหลักแหล่งกระจายอยู่ตามหมู่บ้านบริเวณเชิงเขาภูพาน โดยเฉพาะบริเวณพื้นที่อำเภอวาริชภูมิและอำเภอพรรณานิคม แต่มีบางส่วนตั้งถิ่นฐานอาศัยอยู่ในแถบอำเภอพังโคน อำเภอวานรนิวาส อำเภอบ้านม่วงและอำเภอคำตากล้า โดยพบว่า มีการตั้งถิ่นฐานอยู่ในแอ่งสกลนครหลายครั้งด้วยกัน สำหรับกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทในเขตจังหวัดสกลนคร ผู้ไทวัง ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบอำเภอพรรณานิคม ส่วนผู้ไทบ้านโนนเรือแยกหมู่บ้านมาจากบ้านต่อเรือ มาตั้งถิ่นฐานเพื่อแสวงหาทรัพยากรธรรมชาติเพื่อหล่อเลี้ยงตนเอง ในลักษณะสังคมชาวนา ทอผ้า เลี้ยงสัตว์ ซึ่งการใช้ชีวิตของผู้ไทเป็นไปในลักษณะที่เรียบง่าย มีความเชื่อในการบูชาผีบรรพบุรุษ สำหรับสิ่งที่เป็นมรดกทางวัฒนธรรมที่สืบสานถ่ายทอดกันมาจากในอดีตเรื่อยมาจนถึงปัจจุบันคือ ภูมิปัญญาด้านการทอผ้าย้อมคราม
บ้านโนนเรือ เป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่ได้จัดแบ่งเป็นคุ้ม มีถนนในหมู่บ้าน 6 สาย มีคลองน้ำล้อมรอบหมู่บ้านมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านและสถานที่ต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านพอกน้อย
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านต่อเรือ
- ทิศใต้ ติดกับ อุทยานแห่งชาติภูพาน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านหนองไผ่
ปัจจุบันบ้านโนนเรือมี 210 หลังคาเรือน มีจำนวนประชากร 981 คน เป็นชาย 520 คน หญิง 461 คน เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท
ผู้ไทชาวบ้านโนนเรือประกอบอาชีพหลัก คือ การทำนา เกษตรกรรม และมีอาชีพสำคัญคือ การทอผ้าย้อมครามธรรมชาติ โดยอาชีพรองดังกล่าวทำให้บ้านโนนเรือมีชื่อเสียงมากด้านการทอผ้าย้อมครามธรรมชาติ จนเป็นที่รู้จักแก่คนทั้งในและต่างประเทศ
ชาวบ้านโนนเรือเป็นสังคมเกษตรกรรมชนบท ชาวบ้านไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีความห่วงหาอาทรซึ่งกันและกัน มีการนับถือกันระหว่างเครือญาติ ยึดมั่นในฮีตสิบสองคองสิบสี่ มีผู้สูงอายุเป็นแบบอย่างที่ดี
ในปี 2535 สำนักพัฒนาชุมชนจังหวัดสกลนคร ได้เข้ามาส่งเสริมการรวมกลุ่มในชุมชน โดยนางหนูพร ทองไชย ได้ชักชวนสตรีในหมู่บ้านให้มารวมกลุ่มกัน เพื่อร่วมกันฟื้นฟูการทอผ้าจากการย้อมครามอันเป็นภูมิปัญญาดั้งเดิมของชุมชน ในปี 2541 ทางกลุ่มได้รับการสนับสนุนมากขึ้น ทั้งในเรื่องเงินทุน วัสดุอุปกรณ์ และการอบรมเพิ่มทักษะให้กับสมาชิกจากองค์กรพัฒนาเอกชน จนทำให้กลุ่มเติบโตขึ้นมีสมาชิกถึง 20 คน ในปี 2544 กลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านโนนเรือ ได้เข้าร่วมโครงการหนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ (โอทอป) ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าโอทอป ระดับ 3 ดาว และปี 2552 ได้รับการคัดสรรเป็นสินค้าระดับ 4 ดาว ในปี 2559-2561 กรมการพัฒนาชุมชน (พช.) ได้สนับสนุนเงินทุนจำนวน 50,000 บาท ให้กับทางกลุ่มทอผ้าย้อมครามบ้านโนนเรือ ส่งผลให้เกิดการขยายสมาชิกเพิ่มขึ้นจนในปัจจุบันมีสมาชิกทั้งหมด 43 คน ที่ทำงานอยู่ในกระบวนการผลิตผ้าทอย้อมครามที่มีทั้ง คนปลูกต้นคราม คนรับจ้างมัดฝ้าย คนทอผ้า คนปั่นชายผ้า คนผลิตเครื่องประดับจากผ้าคราม และในช่วงระยะปีนี้เป็นช่วงที่ทางกลุ่มมีรายได้เพิ่มจากการทอผ้า จนทำให้สมาชิกมีรายได้เพิ่มขึ้นถึงเดือนละ 10,000-30,000 บาทต่อเดือน ในปี 2562-2564 เศรษฐกิจชะลอตัวลง รวมถึงเกิดสถานการณ์การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรน่า 19 ทำให้ทางกลุ่มต้องชะลอกระบวนการผลิต ส่งผลให้รายได้ลดลง และยังถูกกดราคาจากพ่อค้าคนกลางที่เข้ามาซื้อสินค้าของกลุ่มอีกด้วย
ในปัจจุบันสินค้าภายใต้กลุ่มวิสาหกิจชุมชนผ้าย้อมครามโนนเรือ ม.13 คือ ผ้าทอคลุมไหล่ย้อมคราม ผ้าทอพันคอย้อมคราม เครื่องประดับจากผ้าคราม กระเป๋าเป้ กระเป๋าใส่เงิน เสื้อ หมวก ซึ่งมีลวดลายที่หลากหลายให้เลือกซื้อ โดยเฉพาะลายน้ำไหล ลายมัดหมี่ เป็นที่นิยมของลูกค้า ที่เข้าเลือกซื้อสินค้าที่กลุ่มหรือซื้อสินค้าตามบูทที่ทางกลุ่มไปออกร้านกับหน่วยงานราชการ อย่างไรก็ตามสินค้าของกลุ่มนั้นจะผ่านการย้อมสีครามที่ทำให้สีติดทนนาน มีกลิ่นครามแท้ ผ้านุ่ม ใส่แล้วไม่รู้สึกระคายผิวอีกด้วย
กลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไทหรือภูไท จัดอยู่ในกลุ่มภาษาไท-กะได (Tai Kadai Languages Family)
พจนวราภรณ์ ขจรเนตรวณิชกุล. (2561). คนสกลนคร ชาติพันธุ์ในชั้นประวัติศาสตร์. สกลนคร : สมศักดิ์การพิมพ์ กรุ๊ป สกลนคร
สกลนคร. (2554). ประวัติบ้านโนนเรือ. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. http://www.m-culture.in.th/