ถ้ำเสรีไทย อนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเสรีไทย ที่เคลื่อนไหวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หมู่บ้านลาดกะเฌอได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยขุนพินิจ ผู้คนจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเทือกเขาภูพาน โดยมีผู้เฒ่าอุ่น เฒ่าหมู เฒ่าทุม นำช้างไปเลี้ยงที่เทือกเขาภูพาน ในขณะที่เลี้ยงอยู่นั้นได้มองเห็นกะเฌอมากมายอยู่ริมห้วยจึงได้พากันสันนิษฐานว่า กะเฌอ อาจเป็นของคนที่เคยอาศัยอยู่ก่อนแล้วทิ้งเอาไว้ จึงได้ตั้งชื่อและเรียกว่า บ้านลาดกะเฌอ
ถ้ำเสรีไทย อนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงวีรกรรมของเสรีไทย ที่เคลื่อนไหวในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2
หมู่บ้านลาดกะเฌอได้ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2460 โดยขุนพินิจ ผู้คนจำนวนมากอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศลาว มาตั้งถิ่นฐานอยู่บนเทือกเขาภูพาน โดยมีผู้เฒ่าอุ่น เฒ่าหมู เฒ่าทุม นำช้างไปเลี้ยงที่เทือกเขาภูพาน ในขณะที่เลี้ยงอยู่นั้นได้มองเห็นกะเฌอมากมายอยู่ริมห้วยจึงได้พากันสันนิษฐานว่า กะเฌอ อาจเป็นของคนที่เคยอาศัยอยู่ก่อนแล้วทิ้งเอาไว้ จึงได้ตั้งชื่อและเรียกว่า "บ้านลาดกะเฌอ"
เหตุการณ์ที่สำคัญที่เกิดขึ้นที่สำคัญในหน้าประวัติศาสตร์ไทย คือสงครามโลกครั้งที่ 2 พ.ศ. 2484-2488 พื้นที่แห่งนี้ได้กลายเป็นส่วนหนึ่งของขบวนการเสรีไทย ที่นำโดย นายเตียง ศิริขันธ์ ผู้แทนราษฎรจังหวัดสกลนครเป็นเสรีไทยที่มีผลงานโดดเด่นที่สุดผู้หนึ่งจนกระทั่งได้รับสมญานามว่า "ขุนพลภูพาน" นายเตียง ศิริขันธ์ (2452-2495) "ขุนพลภูพาน" ผู้นำเสรีไทยภาคอีสานชื่อรหัสว่า "พลูโต" นายเตียงเป็นอีกคนหนึ่งที่ได้ไปพบนายปรีดี พนมยงค์ ที่บ้านถนนสีลม ในตอนค่ำของวันที่ 8 ธันวาคม พ.ศ. 2484 หลังจากญี่ปุ่นบุกประเทศไทยและคณะรัฐมนตรีมีมติยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยไปโจมตีมลายูและพม่าเมืองขึ้นของอังกฤษ การประชุมในคืนนั้นทุกคนได้ตกลงร่วมมือกันจัดตั้ง "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ขึ้น และมอบให้นายปรีดี พนมยงค์เป็นหัวหน้า นายเตียง ศิริขันธ์รับมอบหมายจากนายปรีดี พนมยงค์หัวหน้าขบวนการเสรีไทยให้เป็นหัวหน้าใหญ่ของเสรีไทยทางภาคอีสาน ทํางานร่วมกับนายทองอินทร์ ภูริพัฒน์ นายจําลอง ดาวเรือง และนายถวิล อุดล โดยนายเตียงซึ่งใช้รหัสลับว่า "พลูโต" เป็นผู้ควบคุมปฏิบัติการทั้งหมด นายเตียงได้จัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยหน่วยแรกขึ้นที่บ้านโนนหอม อยู่ห่างจากตัวจังหวัดสกลนครไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 15 กิโลเมตร ต่อมาได้จัดตั้งหน่วยอื่น ๆ ขึ้นที่บ้านเต่างอย บ้านโนนหอม และบ้านตาดภูวง ฯลฯ นอกจากนั้นนายเตียงยังร่วมกับนายจําลอง ดาวเรือง หัวหน้าหน่วยเสรีไทยจังหวัดมหาสารคาม จัดตั้งค่ายพลพรรคเสรีไทยขึ้นที่บริเวณป่าเชิงเทือกเขาภูพานใกล้ ๆ บ้านนาคู อําเภอกุฉินารายณ์ จังหวัดกาฬสินธุ์ ต่อมาได้สร้างสนามบินลับขึ้นที่บ้านนาคูเพื่อใช้สําหรับการขึ้นลงของเครื่องบินฝ่ายสัมพันธมิตร การจัดเสรีไทยดังกล่าวนี้ นายเตียง ศิริขันธ์ได้รับความร่วมมือเป็นอย่างดีจากชาวบ้าน กำนันผู้ใหญ่บ้านและครูประชาบาล ตลอดจนข้าราชการในพื้นที่ เมื่อสถานการณ์สงครามโลกสิ้นสุดลง สถานที่แห่งนี้จึงเป็นความทรงจำของประวัติศาสตร์ไทยอีกเรื่องหนึ่งที่ให้ชาวไทยได้ศึกษาเล่าเรียน
อาณาบริเวณกว้างขวางอยู่ตามแนวป่าและไหล่เขา มีอาณาเขตติดกับหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ อุทยานแห่งชาติภูพาน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านศรีวิชา
- ทิศใต้ ติดกับ อ่างเก็บน้ำลาดเกะเฌอ
- ทิศตะวันตก ติดกับ อำเภอภูพาน
จากการอพยพย้ายถิ่นฐานของผู้คนมาจากทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง ประเทศลาว บ้านลาดกะเฌอ จึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไทลาว และในปัจจุบันยังมีหลายกลุ่มชาติพันธุ์ที่ย้ายเข้ามาตั้งถิ่นฐานเพิ่มจำนวนมากขึ้น
ความเป็นอยู่ประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ทำไร่ ประกอบอาชีพรับจ้าง และอาชีพเสริมอื่น ๆ
ชาวบ้านลาดกะเฌอเป็นสังคมเกษตรกรรมชนบท ชาวบ้านไม่เอารัดเอาเปรียบกัน มีความห่วงหาอาทรซึ่งกันและกัน มีการนับถือกันระหว่างเครือญาติ ยึดมั่นในฮีตสิบสองคองสิบสี่ มีผู้สูงอายุเป็นแบบอย่างที่ดี นอกจากนี้ ชาวบ้านยังมีความเชื่อเรื่องพุทธศาสนามากพอ ๆ กับความเชื่อเรื่องผีสาง เทวดา และผีบรรพบุรุษ
ถ้ำเสรีไทย อนุสรณ์สถานที่ในอดีตเคยเป็นแหล่งสะสมอาวุธยุทธภัณฑ์ต่อสู้กับกองทัพญี่ปุ่นในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 ของขบวนการเสรีไทย ซึ่งมีนายเตียง ศิริขันธ์ เป็นหัวหน้าขบวนการสายสกลนคร มีเส้นทางเดินเป็นวงรอบรวมระยะทาง 5 กิโลเมตร ผ่านป่าเต็งรัง ป่าเบญจพรรณถ้ำเสรีไทย แล้วยังต่อไปชมดวงอาทิตย์ตกและจุดชมดวงอาทิตย์ขึ้น ทางช่วงสุดท้ายจะผ่านทุ่งกระเจียวที่จะออกดอกงามในช่วงเดือนสิงหาคม อยู่ห่างจากที่ทำการอุทยานแห่งชาติไปทางทิศเหนือ 4.5 กิโลเมตร แยกจากทางหลวงหมายเลข 213 ระหว่างหลักกิโลเมตรที่ 14-15 ไปทางทิศตะวันตก ประมาณ 2 กิโลเมตร
ขบวนการเสรีไทยเดิมทีไม่ได้มีชื่อเรียกขบวนการที่ชัดเจนและมีสมาชิกไม่ทราบจำนวนที่แน่นอน แต่เป็นขบวนการของประชาชนชาวไทยผู้รักชาติที่มีเป้าหมายชัดเจน คือต้องการรักษาเอกราชของชาติไทยไม่ให้ตกเป็นของต่างชาติในสงครามโลกครั้งที่สองไม่ว่าจะเป็นฝ่ายอักษะหรือฝ่ายสัมพันธมิตรก็ตาม โดยมีอุดมการณ์ที่จะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยเอาไว้ให้เป็นของคนไทย ต่อมาภายหลังจากมีความชัดเจนในเป้าหมายและรู้ตัวผู้เข้าร่วมแล้วจึงเอาชื่อ "เสรีไทย" จากชื่อขบวนการของอเมริกามาใช้ ในขณะที่เบื้องต้นขบวนการในประเทศไทยใช้ชื่อ ขบวนการต่อต้านญี่ปุ่น แต่ท้ายที่สุดขบวนการของผู้รักชาติดังกล่าวก็สามารถดำเนินการปกปักรักษาเอกราชของชาติเอาไว้ได้ตามเจตนารมณ์ ไม่ว่าขบวนการเสรีไทยจะมีข้อขัดแย้งหรือความไม่ชัดเจนอย่างไรก็ตาม แต่รูปธรรมที่ชัดเจนและไม่อาจปฏิเสธได้ต่อบทบาทของเสรีไทยนั้นคือ การต่อสู้จนได้เอกราชของชาติไทยกลับคืนมาหลังสงครามโลกครั้งที่สองจบลง
ขบวนการเสรีไทยได้ก่อกำเนิดขึ้นในวันแรกที่ญี่ปุ่นบุกประเทศไทย คือ วันที่ 8 ธันวาคม 2484 เมื่อญี่ปุ่นได้บุกโจมตีประเทศไทยแบบสายฟ้าแลบด้วยการยกพลขึ้นบกในเมืองชายทะเลอ่าวไทย โดยมีทหารและประชาชนในหลายจังหวัด เช่น ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สงขลาและปัตตานีได้ทำการต่อสู้อย่างกล้าหาญ จนกระทั่งรัฐบาลได้ประกาศให้หยุดยิงและเข้าร่วมเป็นมิตรในสงครามกับญี่ปุ่น จนส่งผลให้ไทยต้องพัวพันกับสงครามไปตลอดจนจบสงคราม
การยอมให้ญี่ปุ่นเดินทัพผ่านประเทศไทยของรัฐบาลนั้นในคณะรัฐมนตรีเองมีทั้งผู้เห็นด้วยและผู้คัดค้าน แต่ก็ยอมจำนนต่อเหตุการณ์ที่ญี่ปุ่นมีกำลังมากกว่าและหากสู้รบก็คงต้านไม่ได้แน่นอน แต่ในทางหนึ่งนายปรีดี พนมยงค์ ซึ่งอยู่ในคณะรัฐมนตรีด้วย และหลายคนที่ร่วมรัฐบาลอยู่เห็นว่า หากเข้าร่วมฝ่ายญี่ปุ่นแล้วอาจทำให้ต้องเสียเอกราชถ้าญี่ปุ่นแพ้สงคราม เนื่องจากก่อนหน้าสงครามโลกอุบัติไม่นานนั้น นายปรีดี ได้เดินทางไปแก้ไขสนธิสัญญาที่ไม่เป็นธรรมกับชาติมหาอำนาจขณะนั้นแล้วทราบดีว่าฝ่ายสัมพันธมิตรมีศักยภาพในการทำสงครามเหนือกว่า เพราะมีอุตสาหกรรมในประเทศที่ก้าวหน้ารองรับ โดยเฉพาะถ้าสหรัฐอเมริกาเข้าร่วมกับฝ่ายสัมพันธมิตรซึ่งอเมริกาก็แสดงออกให้เห็นมาตลอดว่าเป็นฝ่ายสัมพันธมิตร
ในค่ำวันเดียวกันนั้นจึงปรากฏคนไทยผู้รักชาติจำนวนหนึ่งได้เข้าพบนายปรีดี พนมยงค์ ในฐานะผู้ที่เคยยืนยันความเห็นในการรักษาความเป็นกลางของประเทศไว้ให้ได้มากที่สุด และเป็นผู้ที่พอจะมีบารมีทางการเมืองทัดเทียมกับจอมพล ป. จึงตกเป็นเป้าหมายของผู้มีความต้องการก่อตั้งขบวนต่อต้านญี่ปุ่นให้เป็นผู้นำ ดังที่นายปรีดีเล่าว่า
"เมื่อข้าพเจ้ากลับถึงบ้านแล้วก็พบเพื่อนหลายคนที่มาคอยอยู่ อาทิ หลวงบรรณกรโกวิท (เปาว์ จักกะพาก) นายสงวน ตุลารักษ์ นายจำกัด พลางกูร นายวิจิตร ลุลิตานนท์ นายเตียง ศิริขันธ์ นายถวิล อุดล ม.ล. กรี เดชาติวงศ์ (หลวงเดชาติวงศ์วราวัฒน์) เพื่อนที่มาพบนั้นก็ได้ชี้แจงถึงความรู้สึกของตนเอง และของราษฎรส่วนมากที่ได้ประสบเห็นภาพกองทหารญี่ปุ่นซึ่งเป็นทหารต่างด้าวได้เข้ามารุกรานประเทศไทย…"
เพื่อนที่ร่วมปรึกษาหารือขณะนั้น เห็นว่าราษฎรไม่อาจหวังพึ่งรัฐบาล ว่าจะรักษาเอกราชและอธิปไตยของชาติไทยให้สมบูรณ์อยู่ได้ คือ จะต้องยอมตามคำเรียกร้องของญี่ปุ่นมากยิ่งขึ้น จนกระทั่งนำประเทศชาติเข้าผูกพันกับญี่ปุ่นอย่างเต็มตัว
เมื่อได้ปรึกษาหารือกันพอสมควรแล้ว ผู้ที่มาประชุมวันนั้นได้ตกลงพลีชีพเพื่อชาติ เพื่อกอบกู้เอกราชอธิปไตยสมบูรณ์ของชาติไทย เพื่อการนั้นจึงตกลงจัดตั้ง "องค์การต่อต้านญี่ปุ่น" ประกอบด้วยคนไทยที่รักชาติทุกชนชั้น วรรณะ ทั้งที่อยู่ในประเทศไทยและที่อยู่ในต่างประเทศ ที่ประชุมได้มอบภาระให้ข้าพเจ้าเป็นหัวหน้าและกำหนดแผนการปฏิบัติต่อไป"
ถือได้ว่า "ขบวนการเสรีไทย" อันเป็นชื่อที่เรียกกันภายหลังจากได้รวมกันกับขบวนการต่อต้านจากนอกประเทศในสหรัฐอเมริกาและอังกฤษแล้วนั้น นับเป็นขบวนการปกปักรักษาเอกราชของชาติจากผู้รุกรานได้เกิดขึ้นวันเดียวกับการเข้าร่วมกับฝ่ายญี่ปุ่น และเป็นเจตจำนงของคนไทยโดยแท้จริงที่ต้องการต่อต้านญี่ปุ่นผู้รุกรานที่อาจนำไทยไปสู่การเป็นประเทศผู้แพ้สงคราม ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่เสี่ยงและต้องอาศัยความกล้าหาญอย่างมาก นอกจากจะเสี่ยงต่อข้อหากบฏในราชอาณาจักรที่ต่อต้านรัฐบาลเพราะขณะนั้นรัฐบาลจอมพล ป. เข้มแข็งอย่างมาก ขณะเดียวกันก็ไม่สามารถแน่ใจได้ว่าฝ่ายไหนจะเป็นผู้ชนะสงคราม
สำเนียงคล้ายกับภาษาไทลาว และภาษาไทญ้อ ปะปนกันไป
thatsanee. (2555). ประวัติบ้านลาดกะเฌอ. ศูนย์ข้อมูลกลางทางวัฒนธรรม กระทรวงวัฒนธรรม. http://www.m-culture.in.th/
สถาบันปรีดี พนมยงค์. (2563). “ขุนพลภูพาน ขุมกำลังเสรีไทยอีสาน” - เตียง ศิริขันธ์. สถาบันปรีดี พนมยงค์. https://pridi.or.th/th/
นายธีระพงษ์ ม่อมพะเนาว์ (ชาวบ้าน), สัมภาษณ์
นายประมัย ม่อมพะเนาว์ (ผู้เฒ่าในหมู่บ้าน), สัมภาษณ์
นายสำราญฤทธิ์ โหดไธสง (ผู้ใหญ่บ้าน), สัมภาษณ์