ชุมชนชนบทที่มีความโดดเด่นในเรื่องการจักสานกระติบข้าวเพื่อจำหน่าย
ในพื้นที่ชุมชนมีต้นไม้ขนาดใหญ่มีหนามชื่อต้นลุมพุก จึงตั้งชื่อบ้านตามชื่อต้นไม้ว่า "ลุมพุก"
ชุมชนชนบทที่มีความโดดเด่นในเรื่องการจักสานกระติบข้าวเพื่อจำหน่าย
คนกลุ่มแรกที่อพยพเข้ามาตั้งรกรากแต่เดิมเป็นชาวบ้านเหมือดแอ้ ตำบลท่าเพลิง อำเภอโพนทอง จังหวัดร้อยเอ็ดและชาวบ้านติ้ว บ้านหม้อ อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม สาเหตุของการอพยพย้ายถิ่นฐานนั้นเพราะหมู่บ้านเดิมมีภูมิอากาศแห้งแล้งไม่อุดมสมบูรณ์ ซึ่งสภาพทั่วไปของชุมชนเป็นป่ารกเป็นทุ่งหญ้าผู้คนที่อพยพเข้ามาต้องถากถางป่าเพื่อตั้งที่อยู่อาศัยและทำกินได้ ชุมชนบ้านลุมพุกอยู่กันอย่างเป็นพี่น้องและเป็นระบบเครือญาติ เคารพผู้อาวุโส มีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน พื้นที่ชุมชนมีแหล่งน้ำสำคัญ 3 แห่ง ที่สามารถใช้ได้ตลอดทั้งปี เพื่อทำการเกษตรตลอดฤดูกาลโดยเฉพาะการทำนา ชุมชนมีอาชีพเสริมในช่วงว่างเว้นจากการทำนา คือ การสานกระติบข้าวเพื่อจำหน่าย
ชุมชนบ้านลุมพุก ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม ตั้งอยู่ทางทิศตะวันออกของอำเภอกันทรวิชัย ทางเข้าชุมชนต้องเดินทางผ่านถนนมหาสารคาม-กาฬสินธุ์ (ถนนถีนานนท์) ทางเข้าหมู่บ้านจะอยู่ขวามือและระยะทางจากถนนถึงหมู่บ้านประมาณ 1 กิโลเมตร พื้นที่โดยรอบเป็นท้องนา
ประชากรบ้านลุมพุกเป็นกลุ่มที่อพยพมาจากชุมชนอื่นในพื้นที่ภาคอีสานและอยู่กันเป็นระบบเครือญาติ ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มคนในวัฒนธรรมลาว (อีสาน)
กลุ่มจักสานไม้ไผ่บ้านลุมพุก ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
กลุ่มวิสาหกิจชุมชนสานกระติบข้าวบ้านลุมพุก หมู่ที่ 5 จดทะเบียนเมื่อวันที่ 18 เมษายน 2549 มีการผลิตงานจักสานไม้ไผ่ ประเภท กระติบข้าว หวดนึ่งข้าวเหนียวเพื่อจำหน่ายทั้งภายในและภายนอกชุมชน ซึ่งถือว่าเป็น "ต้นทุนทางภูมิปัญญา" ทำให้คนในชุมชนมีผลิตภัณฑ์ที่สามารถผลิตขึ้นใช้เอง และผลิตเพื่อการจำหน่ายเป็นรายได้ในครัวเรือน ในรูปแบบของ กระติบข้าว ดังนั้นผู้วิจัยต้องการต่อยอดในส่วนของการพัฒนาผลิตภัณฑ์จักสานไม้ไผ่ให้มีความหลากหลายมากขึ้น จะช่วยให้คนในชุมชน มีผลิตภัณฑ์รูปแบบใหม่บนฐานวัฒนธรรมเดิม เช่น กระเป๋าสะพาย กระเป๋าถือ กระเป๋าเป้โคมไฟที่เข้ากับยุคสมัยใหม่ จึงจำเป็นต้องนำเทคโนโลยีและองค์ความรู้ใหม่มาใช้ในกระบวนการผลิตและพัฒนารูปแบบผลิตภัณฑ์งานจักสานไม้ไผ่ เป็นการยกระดับการพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่มีความสอดคล้องกับวิถีชีวิตในปัจจุบัน มีคุณลักษณะที่เป็นที่ต้องการของผู้บริโภคเพื่อการตลาดที่เน้นคุณค่า ความสวยงาม และประโยชน์ใช้สอยที่สามารถเพิ่มช่องทางการจำหน่าย เพิ่มรายได้ และพัฒนาคุณภาพชีวิตให้ดีขึ้น
ชุมชนทำนาเป็นหลักในช่วงหน้านาและประกอบอาชีพสานกระติบข้าวเป็นอาชีพหลักตลอดทั้งปี ชุมชนรักษาฮีตคองตามรูปแบบของคนอีสานคือมีประเพณีตามฮีต 12
- เดือนมกราคม การทำบุญสู่ขวัญข้าว การทำบุญปีใหม่
- เดือนกุมภาพันธ์ ข้าวจี่
- เดือนมีนาคม ประเพณีบุญผะเหวด
- เดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์
- เดือนพฤษภาคม บุญบั้งไฟ
- เดือนมิถุนายน บุญเลี้ยงบ้าน
- เดือนกรกฎาคม วันอาสาฬหบูชาและวันเข้าพรรษา
- เดือนสิงหาคม บุญข้าวประดับดิน
- เดือนกันยายน บุญข้าวสาก
- เดือนตุลาคม บุญออกพรรษา
- เดือนพฤศจิกายน บุญกฐิน บุญลอยกระทง
- เดือนธันวาคม เทศกาลปีใหม่
เครื่องจักสานกระติบข้าวเป็นอาชีพเสริมที่สร้างรายได้ให้กับชุมชน โดยคนในชุมชนมีการตั้งกลุ่มจักสานขึ้นเพื่อเป็นองค์กรที่ส่งเสริมให้คนในชุมชนเกิดรายได้จากภูมิปัญญาของท้องถิ่น ในแต่ละเดือนกลุ่มจักสานจะมียอดสั่งซื้อหลายชิ้นอีกทั้งยังมีพ่อค้าในพื้นที่ใกล้เคียงเข้ามาซื้อกระติบข้าวเหนียวเพื่อนำไปขายเร่ในพื้นที่อื่น ๆ
ประชากรส่วนใหญ่ใช้ภาษาอีสานในการสื่อสารในชีวิตประจำวันและใช้ภาษาไทยเป็นภาษาราชการ
ศศิตา เชื้อสวย. (2545). การจัดทำแพนแม่บทชุมชนบ้านลุมพุก หมู่ที่ 5 ตำบลโคกพระ อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม
มหาวิทยาลัยมหาสารคาม. (2566). โครงการวิจัยเรื่อง การอยู่ร่วมกันในเมืองประวัติศาสตร์ทวารวดีอย่างมีอนาคต ณ กันทรวิชัย. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม