Advance search

ชุมชนบางพระมีผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีชื่อเสียง คือ ตับจากมุงหลังคา ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น อาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นกอบกำมาอย่างยาวนาน

บางพระ
ปากแพรก
ปากพนัง
นครศรีธรรมราช
อบต.ปากแพรก โทร. 0-7546-6013
ธำรงค์ บริเวธานันท์
23 เม.ย. 2023
ธำรงค์ บริเวธานันท์
ธำรงค์ บริเวธานันท์
26 เม.ย. 2023
บางพระ

สันนิษฐานว่าเรียกขานตามชื่อวัด คือ วัดบางพระ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อชาวบ้านมาตั้งแต่แรกตั้งชุมชน


ชุมชนชนบท

ชุมชนบางพระมีผลิตภัณฑ์สินค้าที่มีชื่อเสียง คือ ตับจากมุงหลังคา ซึ่งเป็นสินค้าที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น อาชีพที่สร้างรายได้ให้กับคนในชุมชนเป็นกอบกำมาอย่างยาวนาน

บางพระ
ปากแพรก
ปากพนัง
นครศรีธรรมราช
80140
8.187449
100.1472
องค์การบริหารส่วนตำบลปากแพรก

ชาวบ้านบางพระในพื้นที่ริมแม่น้ำปากพนัง เดิมทีเคยอาศัยอยู่ที่บ้านหัวจากและบ้านนอกไร่ ซึ่งเป็นชื่อที่เรียกกันในหมู่คนท้องถิ่นเดิม สําหรับผู้คนที่อยู่ห่างออกไปในละแวกคลองหัวไทร คลองเชียร จะเรียกชื่อบ้านบางพระว่า “บางพระย่านม่วง” (คําว่า “ย่าน” หมายถึง แถว ถิ่น หรือบริเวณ) เนื่องจากในอดีตบริเวณนี้มีต้นมะม่วงใหญ่ขึ้นอยู่ หนาแน่นมองเห็นแต่ไกลเวลานั่งเรือผ่านจึงเรียกกันว่า "ย่านม่วง” ส่วนการเรียกชื่อชุมชนว่า บางพระ สันนิษฐานว่าเรียกขานตามชื่อวัด คือ วัดบางพระ ซึ่งเป็นสถานที่ที่มีความสำคัญต่อชาวบ้านมาตั้งแต่แรกตั้งชุมชน 

ลักษณะภูมิประเทศ

บ้านบางพระ หมู่ที่ 3 ตําบลปากแพรก อําเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ตั้งอยู่ทางทิศใต้ของอําเภอปากพนัง ห่างจากที่ว่าการอําเภอไปประมาณ 15 กิโลเมตร ลักษณะพื้นที่โดยทั่วไปเป็นที่ราบชายฝั่งทะเล พื้นที่ลาดเทจากตะวันตกไปทางตะวันออก มีแม่น้ำปากพนังไหลผ่าน ในอดีตแม่น้ำสายนี้เป็นเส้นทางการคมนาคมทางน้ำของประชาชน 2 จังหวัด ผ่านอําเภอหัวไทร จังหวัดนครศรีธรรมราช และอําเภอระโนด จังหวัดสงขลา ตําบลปากแพรกมีคลองธรรมชาติ 3 สาย คือ คลองบางดี คลองบางพระ และคลองบางไชยปก ไหลผ่านตอนกลางของตําบล พื้นที่ส่วนใหญ่เป็นนาข้าว ซึ่งมีทั้งนาข้าวที่ลุ่มและนาข้าวที่ดอน นาข้าวในบริเวณที่ลุ่มจะมีแหล่งน้ำที่เรียกว่า “มาบ” มาบแต่ละแห่งจะมีน้ำขังชื้นแฉะตลอดทั้งปี สภาพน้ำในมาบเป็นน้ำจืด มีความกร่อยบ้างในหน้าแล้ง หรือหากเป็นมาบที่อยู่ใกล้คลองใหญ่ สภาพดินในมาบจะเป็นดินเหนียวมีทั้งโคลนและเลนผสมกัน บริเวณมาบจะมีทั้งต้นจากและต้นไม้ชายเลน อาทิ ต้นจิกน้ำ ต้นคลัก ต้นเนียนเมา พลับพลึง ปรง คล้า กก และกระจูดขึ้นอยู่ทั่วไป มาบจึงเป็นที่อยู่อาศัย ของสัตว์นานาชนิด ทั้งสัตว์น้ํา สัตว์บก และสัตว์ปีก นอกจากนี้ พื้นที่บ้านบางพระยังมีตาน้ำผุดขนาดเท่ากําปั้นผุดขึ้นมาจากใต้ดิน 2-3 จุด บริเวณโดยรอบเป็นแอ่งน้ำ ส่วนจุดที่มีน้ำผุดนั้นอยู่ในป่าจาก ในหน้าแล้งจะมีเสียงดังปุด ๆ อยู่ตลอดเวลา ปัจจุบันตาน้ำผุดดังกล่าวถูกฝังกลบด้วยดินเลนจากบ่อกุ้งจนแทบไม่เหลือสภาพเดิม

สถานที่สำคัญ

วัดบางพระ ถือเป็นศาสนสถานถานที่ที่มีความสําคัญต่อชุมชนบ้านบางพระมาตั้งแต่แรกเริ่ม สถานที่ตั้งวัดนี้เดิมเป็นที่ว่างเปล่า ไม่มีผู้ถือกรรมสิทธิ์ แต่เชื่อกันว่ามีสิ่งศักดิ์สิทธิ์ คือ เทวดา และจระเข้ทวดสิงสถิตอยู่ที่ต้นไม้ใหญ่ เช่น ต้นมะม่วง ต้นสําโรง ซึ่งมีอยู่ที่เนินสูงใกล้ปากบาง เรียกกันว่า “บางทวด” มีเรื่องเล่าว่า ในครั้งนั้นมีพระธุดงค์มาเห็นสถานที่อันเงียบสงัดก็เข้าพักอาศัยปักกลดอยู่ที่ปากบางทวดนี้บ่อย ๆ พวกชาวบ้านเกิดศรัทธาจึงช่วยกันสร้างกุฏิถวายให้พระธุดงค์อยู่จําพรรษา ต่อมาก็สร้างศาลาถวาย ศาลานั้นอยู่ใกล้กับเนินปากบางทวด เรียกว่า “ศาลาหน้าทวด” ครั้นพระมาอาศัยอยู่ที่ปากบางนานเข้า ชาวบ้านจึงเรียกสถานที่นี้ว่า วัดบางพระ และเนื่องจากวัดนี้ตั้งอยู่ริมฝั่งย่านน้ำที่มีต้นมะม่วงขนาดใหญ่ จึงเรียกวัดนี้โดยมีสร้อยนามว่า “วัดบางพระ (ย่านม่วง)

วัดบางพระได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาเมื่อวันที่ 28 มกราคม พ.ศ. 2471 และได้ประกอบพิธีผูกพัทธสีมาครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2479 ต่อมาได้สร้างอุโบสถหลังใหม่ในที่วิสุงคามสีมาเดิม แล้วผูกพัทธสีมาครั้งที่ 2 เมื่อวันที่ 14 พฤษภาคม พ.ศ. 2521 วัดบางพระเป็นวัดที่สังกัดธรรมยุติกนิกาย อยู่ในปกครองของคณะสงฆ์ตําบลปากแพรก อําเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช ภาค 16

ในอดีตวัดบางพระเป็นวัดที่มีบทบาทและมีความสำคัญต่อการศึกษาของวงการสงฆ์อย่างมาก ในแต่ละปีจะมีพระสงฆ์จากวัดสังกัดธรรมยุตินิกายตลอดย่านนี้ อาทิ วัดโคกม่วง วัดสระเกษ วัดบางอุดม มาสอบนักธรรม มีทั้งนักธรรมชั้นตรี ชั้นโท และชั้นเอก ที่สนามสอบวัดบางพระซึ่งเป็นสนามสอบที่ใหญ่มาก ขณะนั้นมีโรงเรียนปริยัติธรรมอย่างเป็นกิจจะลักษณะ ต่อมาทางวัดได้มอบอาคารดังกล่าวให้เป็นโรงเรียนสําหรับเด็ก โดย สังกัดการศึกษาประชาบาล ปัจจุบันคือโรงเรียนวัดบางพระ สังกัดสํานักงานพื้นที่การศึกษาเขต 3 กระทรวงศึกษาธิการ

นอกจากนี้ วัดบางพระยังเป็นศูนย์กลางงานบุญประเพณีทางศาสนาที่สําคัญประจำปี ที่ชาวบ้านทั้งสองย่านน้ำปากพนังเฝ้ารอ คือ เทศกาลชักพระหรือลากพระ เรือนมพระจากวัดต่าง ๆ ในคลองหัวไทร ต่างมุ่งหน้ามาที่วัดบางพระผสมผสานกับเสียงกลองและเสียงตะโพนในจังหวะลีลาที่คนท้องถิ่นเรียกกันว่า “คุมพระ”

การเข้าร่วมกิจกรรมในวันสําคัญทางศาสนาของชาวบ้านบางพระนั้นเป็นไปอย่างเหนียวแน่น แม้แต่ในทุกวันพระจะมีชาวบ้านเข้าวัดกันอย่างหนาตา เนื่องจากวัดบางพระเป็นวัดเก่าแก่ และเป็นศูนย์รวมจิตใจของคนย่านนี้มาเป็นเวลานาน อนึ่ง วัดบางพระยังเป็นที่สถิตของ “พระสามร้อย” อันศักดิ์สิทธิ์ ทั้งยังเป็นต้นแบบของสํานักเรียนที่มีพระเณรเคร่งครัดในการศึกษาพระธรรมวินัยจนเป็นที่กล่าวขานกันมาช้านาน 

บ้านบางพระ ตำบลปากแพรก เป็นชุมชนขนาดเล็ก มีประชากรเพียง 189 คน โดยในหมู่บ้านมีวงศ์ตระกูลเก่าแก่ประจำชุมชนนับแต่อาศัยอยู่ที่บ้านหัวจากและบ้านนอกไร่ ได้แก่ ตระกูลแพรกทอง สืบกระพันธ์ ศรีภักดี นนทภักดิ์ บุญญานุพงศ์ สังข์มันต์ พะเนินศรี และชูสม โดยคนในตระกูลเหล่านี้ได้ขยายวงศ์วานเครือออกไปตั้งถิ่นฐานที่อยู่ทั้งในแถบลุ่มน้ำปากพนังและตามจังหวัดใกล้เคียง

ชาวบ้านบางพระส่วนใหญ่ยังคงประกอบอาชีพทํานาเป็นหลัก อาชีพรองลงมาคือทําน้ำตาลจาก (คนท้องถิ่นเรียกว่า “ทําตาล”) การเย็บจากตับหรือเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากป่าจาก และหาปลาในคลอง

การทำนา : การทํานาของชาวนาบ้านบางพระเรียกว่า นาหยาม หรือนาปี การทํานาหยามจะได้ผลดีเพียงใดนั้น ปัจจัยสําคัญขึ้นอยู่กับธรรมชาติในแต่ปี หากปีใดฝนดีมีน้ำบริบูรณ์ ข้าวจะสุกและพร้อมที่จะเก็บเกี่ยวได้ในราวปลายกุมภาพันธ์ไปจนถึงต้นเดือนเมษายน

สำหรับพื้นที่นาของชาวบ้านบางพระนั้นมีอยู่ 2 ลักษณะ คือ นาที่ลุ่มและนาที่ดอน ข้าวที่ปลูกในบริเวณพื้นที่ลุ่ม หรือบริเวณมาบนี้จะเจริญเติบโตงอกงามดีกว่าข้าวที่ปลูกในที่ดอน พันธุ์ข้าวที่ชาวบ้านใช้ปลูกนั้นจะเป็นพันธุ์ข้าวหนัก (หมายถึงข้าวที่มีระยะการออกรวงช้า) เช่น ข้าวนางขาว ข้าวสีรัก ส่วนนาข้าวในบริเวณพื้นที่ดอน ส่วนใหญ่จะเป็นนาที่อยู่ไกลจากฝั่งแม่น้ำออกไป พันธุ์ข้าวที่ใช้ปลูกนั้นจะเป็นพันธุ์ข้าวเบา (ข้าวที่มีระยะออกรวงเร็ว) เช่น ข้าวช่อสะตอ ข้าวไอ้ด้วง

เครื่องมือที่ใช้ในการเก็บเกี่ยวยังใช้ “แกะ” เป็นหลัก การเก็บเกี่ยวข้าวด้วยแกะของชาวนาหยามในหัวเมืองภาคใต้นั้น อยู่บนพื้นฐานความเชื่อที่ว่าการใช้แกะทําให้แม่โพสพไม่ตกใจ จะได้ผลผลิตสูง

การทำน้ำตาลจาก : การทําตาลจากหรือที่เรียกสั้น ๆ ว่า "ทําตาล” ของชาวบ้านบางพระนั้น นับเป็นอาชีพที่เก่าแก่และมีความสําคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าการทํานา อีกทั้งรายได้ที่ได้จากการทำตาลยังเป็นรายได้หลักที่ช่วยหล่อเลี้ยงจุนเจือชีวิตชาวบ้านบางพระ ชุมชนบ้านบางพระในอดีตนั้นถือได้ว่าเป็นชุมชนที่มีการใช้ประโยชน์จากต้นจากครบทุกรูปแบบ แต่ในปัจจุบันชาวบ้านบางพระที่ยังคงทําตาลจากอย่างสม่ำเสมอเหลืออยู่ไม่กี่ครัวเรือนเท่านั้น

การเย็บตับจาก : ตับจากสําหรับมุงหลังคานับเป็นสินค้าสําคัญของชุมชนที่ส่งไปขายนอกชุมชนมาตั้งแต่อดีต แต่ปัจจุบันลักษณะบ้านเรือนเกิดความเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม ทําให้ความจําเป็นในการใช้ตับจากมุงหลังคาลดน้อยลง อย่างไรก็ตาม ยังมีสิ่งก่อสร้างบางประเภทที่ไม่ต้องการความคงทนถาวรมากนัก อาทิ กระท่อม สวนอาหาร ศาลาพักผ่อน ฟาร์ม ปศุสัตว์ ฯลฯ ซึ่งตับจากเป็นวัสดุที่สามารถตอบสนองงานในลักษณะดังกล่าวได้เป็นอย่างดี

น้ำส้มจาก : การทําน้ำส้มจาก ส่วนใหญ่มักจะทําควบคู่ไปกับการทําน้ำผึ้งจาก โดดยปกติชาวบ้านจะ สามารถผลิตน้ำส้มได้ประมาณวันละ 15 -20 ลิตร ขายส่งในราคาลิตรละ 5 บาท ขายปลีกลิตรละ 8 บาท แต่ส่วนใหญ่ชาวบ้านจะนิยมใส่แกลลอนขนาดบรรจุ 20 ลิตร ขายส่งแกลลอนละ 80 บาท

การหาปลา : การหาปลาของชาวบ้านบางพระจะอยู่ในพื้นที่แม่น้ำปากพนัง ซึ่งชาวบ้านมีองค์ความรู้เกี่ยวกับการทํามาหากินในคลอง และถ่ายทอดกันมาอย่างต่อเนื่องจนกลายเป็นวิถีชีวิต โดยชาวบ้านจะรู้ว่าในแต่ละฤดูกาลนั้นมีสัตว์น้ำชนิดใดชุกชุม และจะจัดการด้วยเครื่องมือชนิดใดจึงจะได้สัตว์น้ำมา 

ฤดูกาลทำมาหากินในลำน้ำปากพนังของชาวบ้านบางพระ

ฤดูกาลการทำมาหากินวิธีจับสัตว์น้ำ
ปลายเดือนมกราคมถึงกุมภาพันธ์ประมงในคลองควบคู่กับการทำตาลจากราวเบ็ดกุ้งแม่น้ำ (ใช้มะพร้าวห้าวเป็นเหยื่อ) วางอวนกุ้ง อวนปลา ทอดแห ปักเบ็ด ราวเบ็ด วางไซกุ้ง-ปู ปักร้ว ลอยหลอมปลาแมว
เดือนมีนาคมถึงพฤษภาคมประมงในคลองควบคู่กับการทำตาลจากวางไซปู-กุ้ง ปักแร้ว วางอวน ทอดแห ราวเบ็ด รุนกุ้งสารส้มโอ (สำหรับทำกะปิ)
เดือนมิถุนายนถึงกรกฎาคมประมงในคลองงมปลากระบอก ราวกุ้งแม่น้ำ วางอวนกุ้ง ปลา ทอดแห
เดือนกันยายนถึงธันวาคม

ระยะหัว-ปลายของการทำนาหยาม, ประมงในคลอง

วางไซใหญ่ ดักโพงพาง ราวกุ้งแม่น้ำ ทอดแห วางข้อง ปักเบ็ด ราวเบ็ด

วิถีชีวิตของชาวบ้านบางพระนับตั้งแต่อดีตมา ล้วนดํารงอยู่ด้วยภูมิปัญญาที่สอดคล้องและกลมกลืนกับธรรมชาติ ในพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนังมีสภาพน้ำถึง 4 ลักษณะ คือ น้ำเค็ม น้ำกร่อย น้ำจืด และน้ำเปรี้ยว ชาวบ้านที่อาศัยอยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำปากพนังก็จะประกอบอาชีพตามฐานทรัพยากรแต่ละสภาพน้ำ บ้านบางพระมีลักษณะเป็นน้ำกร่อยและน้ำจืด เขตน้ำกร่อยชาวบ้านมีอาชีพทําน้ำตาลจากและทําประมงพื้นบ้านควบคู่กันไป ในส่วนของเขตพื้นที่น้ำจืดจะมีการทํานาเพียงปีละครั้งเท่านั้นเรียกว่า “นาหยาม” หรือ “นาปี” โดยอาศัยน้ำฝนตกฝนตามฤดูกาล ด้วยเหตุนี้ วิถีชีวิตของชาวบ้านบางพระจึงมีความผูกพันกับระบบนิเวศที่หลากหลายภายในพื้นที่ชุมชน ก่อให้เกิดภูมิปัญญาในการดำรงชีวิตจากบรรพบุรุษสืบทอดส่งต่อมายังลูกหลานภายใต้ฐานทรัพยากรที่มีอยู่ จนกลายเป็นวัฒนธรรมเฉพาะของชุมชนบางพระ รวมถึงชุมชนแถบลุ่มแม่น้ำปากพนัง 

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ภูมิปัญญาการจัดการป่าจาก

ชุมชนชาวป่าจากบ้านบางพระได้สืบทอดภูมิปัญญาในการใช้ประโยชน์จากต้นจาก มาอย่างยาวนานควบคู่ไปกับการจัดการทรัพยากรป่าจากอย่างเข้าใจในธรรมชาติตลอดมา อาทิ การตัดแต่งต้นจาก และการคัดเลือกพันธุ์จาก

การตัดแต่งต้นจาก : หลังจากฤดูเก็บเกี่ยวเสร็จสิ้นลงประมาณเดือนเมษายนและพฤษภาคม เป็นช่วงที่ผู้ประกอบอาชีพทําตาลจากจะต้องพักแปลง และส่วนใหญ่ก็จะทําการตัดแต่งใบกันในช่วงนี้ โดยตัดเฉพาะใบที่แก่จัดให้เหลือไว้ประมาณ 4-5 ใบรวมทั้งยอด ใบจากที่ตัดนี้ก็จะนําไปเย็บเป็นจากตับมุงหลังคาต่อไป ถ้าต้นจากสําหรับทําตาลก็จะตัดเฉพาะใบแก่หรือใบเหลืองที่อยู่นอกกอ ทั้งนี้ เพื่อให้ใบจากได้สังเคราะห์แสงอย่างทั่วถึงทําให้ต้นจากเจริญเติบโตอย่างสมบูรณ์ ในการตัดนั้นควรตัดให้เหลือก้านใบไว้ประมาณ 1 เมตร เพราะส่วนโคนของทางจากที่เรียกว่าพอนจากนั้นเป็นส่วนที่อวบน้ำ หากตัดทางจากลึกมากเกินไปหรือตัดจนถึงโคนต้น จะทําให้ผลผลิตน้ําหวานลดน้อยลง

การตัดแต่งจากอีกรูปแบบหนึ่ง คือ “การตัดสาง” หรือที่เรียกว่าการ “ฆ่าจาก” เมื่อต้นจากมีการแตกกอจนหนาแน่นทําให้รับแสงแดดได้น้อย ให้ผลผลิตไม่ดี จึงจําเป็นต้องตัดต้นจากทิ้งบ้าง หากตัดทิ้งทั้งกอหรือยกระวาง ชาวบ้านเรียกว่า “ฆ่าทั้งไฟ” โดยเว้นระยะห่างประมาณ 5-6 เมตร เพื่อให้ต้นจากมีน้ำเลี้ยงดีและไม่แย่งอาหารกันจนเกินไป

การคัดเลือกพันธุ์จาก : สําหรับต้นจากพันธุ์ดีนั้น ชาวบ้านเรียกว่า “จากพันธุ์ย้อย” ซึ่งจะต้องมีลักษณะใบถี่และอ้วนสมบูรณ์ (มีหูจากอยู่ในระดับต่ํา) โคนก้านใบมีขนาดใหญ่ มีงวงตาลยาว (ประมาณ 1 เมตร)ช่อดอกหรือนกจากมีขนาดใหญ่ ลูกจากมีปลายบ้าน และทั้งทะลายต้องไม่มีผลลีบ และกรณีที่ปาดตาลแล้ว จะต้องมีหยดน้ำหวานที่ใหญ่และออกถี่

ภูมิปัญญาการทำเหล้าพื้นบ้าน

ในอดีตเหล้าพื้นบ้านหรือเหล้าเถื่อนได้ชื่อว่าเป็นของดีบ้านบางพระ เนื่องจากหมู่บ้านมีวัตถุดิบสำหรับหมักเหล้าที่อุดมสมบูรณ์ คือ น้ำตาลจากหรือน้ำผึ้งจาก แต่เนื่องจากภาครัฐมีมาตรการจับกุมที่เข้มงวดขึ้น ทําให้การผลิตเหล้าพื้นบ้านลดน้อยลงไป ส่งผลให้ความนิยมในการดื่มเหล้าพื้นบ้านลดลงไปด้วย ในขณะเดียวกันก็เป็นการเปิดทางให้ประชาชนหันมาดื่มเหล้าโรงของรัฐบาลแทน ปรากฏการณ์ดังกล่าวส่งผลให้ภูมิปัญญาพื้นบ้านที่สั่งสมมานานค่อย ๆ เลือนหายไปจากชุมชนอย่างน่าเสียดาย สำหรับกรรมวิธีการทำเหล้าของชาวบ้านบางพระ สามารถอธิบายให้เข้าใจพิสังเขปได้ ดังนี้

วัสดุและขั้นตอนการทําเหล้าพื้นบ้าน (ในกรณีใช้น้ำผึ้งจากปริมาณ 1 ปี๊บ)

  • น้ำผึ้งจากชนิดข้น 1 ปี๊บ ผสมกับน้ำสะอาด 2 ปี๊บ เทใส่โอ่งมังกร
  • เครื่องปรุง ได้แก่ พริกขี้หนูแห้ง พริกไทย (อย่างละ 1 ขีด) เคี่ยม ดีปลีเชือก ชะเอม กานพลู ลูกจัน นำมาโขลกให้แหลก แล้วหมักลงในโอ่ง
  • ใส่แป้งข้าวหมาก 1-2 ลูก ปิดฝาไว้เป็นเวลา 3-4
  • เมื่อน้ำส่าที่หมักไว้ไม่มีเชือกหรือฟองเกิดขึ้น ภาษาชาวบ้านเรียกว่า “น้ำตาย” หมายถึง ไม่เกิดปฏิกิริยาทางเคมีแล้ว จึงนําน้ำส่าไปต้มหรือกลั่นตามกระบวน การต่อไป

ขั้นตอนการต้มเหล้า

เริ่มจากการตักน้ำส่าเหล้าที่หมักไว้จนได้ที่แล้วใส่ในกระทะใบใหญ่ (ขนาดบรรจุ 3 ปี๊บ) แล้ววางแกนไม้ไผ่ทรงกรวยพร้อมกับสอดใบจากทําเป็นกระเปาะให้อยู่ในแนวตั้ง ทดลองวางกระทะใบเล็กบนกรวย เพื่อที่จะผูกจานแมวให้ห่างจากก้นกระทะใบเล็กประมาณ 3 นิ้ว โดยในกระใบเล็กต้องใส่น้ำให้เกือบเต็ม ในขณะที่น้ำส่ากําลังเดือด ไอน้ำก็จะขึ้นไปกระทบกับความเย็นของกระทะใบเล็ก หากน้ำที่อยู่ในกระทะใบเล็กมีความร้อนมาก ก็ต้องเปลี่ยนน้ำใหม่ เรียกว่าผ่านไป “หนึ่งน้ำ” โดยปกติจะต้องเปลี่ยนน้ำประมาณ 7-8 ครั้ง และสูงสุดถึง 11 ครั้ง สําหรับการทดสอบความแรงของเหล้า ทําได้ด้วยการชิม และอีกวิธีหนึ่งคือ การ เอาน้ำเหล้าที่กลั่นล่าสุดสาดเข้าไปในกองไฟไฟ หากยังมีไฟลุกแสดงว่าน้ำส่ายังไม่จืด สามารถเติมน้ำแล้วต้มได้ต่อไปจนกระทั้งเหล้าจืด 

ภาษาพูด : ภาษาไทยถิ่นใต้ และภาษาไทยกลาง

ภาษาเขียน : ไทย


วัฒนธรรมและวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนบ้านบางพระที่สัมพันธ์อยู่กับป่าจากอย่างใกล้ชิดได้เกิดความเปลี่ยนแปลงครั้งสําคัญอันเนื่องมาจากปรากฏการณ์ทางสังคมของลุ่มน้ำปากพนัง 2 ประการ ประการแรก คือ การขยายตัวของพื้นที่นากุ้งเมื่อปี พ.ศ.2532 อันส่งผลก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินเพื่อการเลี้ยงกุ้งขนานใหญ่ และประการที่สอง การดําเนินการก่อสร้างโครงการพัฒนาพื้นที่ลุ่มน้ำปากพนัง โครงการได้ก่อสร้างระบบประตูน้ำกั้นลําน้ำแยกน้ำจืดและน้ำเค็มออกจากกันอย่างชัดเจน ซึ่งส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศสามน้ำอันเป็นฐานทรัพยากรที่สําคัญของชาวบ้านบางพระ ในฐานะชุมชนหนึ่งในลุ่มน้ำปากพนัง

ท่ามกลางสภาพความเสื่อมโทรมด้านสิ่งแวดล้อม การดิ้นรนปรับตัวเพื่ออยู่รอดของชุมชนบางพระก็เป็นไปอย่างหลากหลาย ผู้คนจํานวนหนึ่งอพยพออกไปอยู่จังหวัดอื่นหรือออกไปทํางานต่างถิ่น คนอีกส่วนหนึ่งที่ยังคงอยู่ในชุมชน ก็พยายามปรับใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในการดํารงชีพ นับตั้งแต่การเลี้ยงปลาในบ่อกุ้งเก่า การถมบ่อกุ้งเพื่อปลูกข้าวและพืชผักต่าง ๆ บางรายก็กลับไปที่ฐานทรัพยากรดั้งเดิม คือการทําน้ำตาลจาก สําหรับป่าจากพืชพันธุ์ธรรมชาติที่ในอดีต ไม่เคยต้องดูแลมากนัก แต่ในปัจจุบันผู้ทําน้ำผึ้งจากบางรายก็ต้องหันมาใส่ปุ๋ยบํารุงต้นจากกัน

ผลกระทบอันเนื่องมาจากการเปลี่ยนแปลงทางด้านสิ่งแวดล้อมของบ้านบางพระนั้น ยังโยงใยไปถึงความสัมพันธ์ทางสังคมของผู้คนในชุมชนบ้านบางพระด้วย ทั้งระดับครัวเรือน และระดับชุมชน ความสัมพันธ์ของคู่สามีภรรยาเริ่มเปลี่ยนแปลง จากที่เคยช่วยเหลือเกื้อกูลกันในการทํามาหากิน โดยเฉพาะในกระบวนการทําน้ำผึ้งจาก การตัด ใบจาก รานใบจาก ตัดคล้าเพื่อเตรียมการเย็บจาก การเคี่ยวตาล การหาฝืน การจัดการกับผลผลิต ล้วนไม่สามารถทําโดยคน ๆ เดียวได้ เมื่อชุมชนไม่ได้ประกอบอาชีพจากป่าจาก กิจกรรมของคู่สามีภรรยาจึงเป็นไปในลักษณะต่างคนต่างทํางานของตน พื้นที่ของการช่วยเหลือกันอย่างใกล้ชิดลดน้อยลง ทั้งในระดับครัวเรือนและชุมชน ส่วนพื้นที่ทางสังคมที่เคยเอื้อให้คนทํางาน ร่วมกันก็หายไป เช่น การทําขนมลา การต้มเหล้าพื้นบ้าน การวัดหนองหลังฤดูเก็บเกี่ยว และการ หาปลาด้วยโมง เป็นต้น (สันติ อิศรพันธุ์, 2550: 101-102)

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

วสันต์พรรษ จำเริญนุสิต. (2563). จังหวัดนครศรีธรรมราช จัดกิจกรรมจิตอาสาพัฒนา "หิ้วปิ่นโตเข้าวัด พัฒนาคุณธรรม" ณ วัดบางพระ อำเภอปากพนัง. [ออนไลน์]ค้นคืนเมื่อ 26 เมษายน 2566, จาก  https://thainews.prd.go.th

สันติ อิศรพันธุ์. (2550). วัฒนธรรมป่าจาก ชุมชนลุ่มน้ำปากพนัง: กรณีศึกษาบ้านบางพระ ตำบลปากแพรก อำเภอปากพนัง จังหวัดนครศรีธรรมราช. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาชนบทศึกษาและการพัฒนา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.

อบต.ปากแพรก โทร. 0-7546-6013