หนองหาร คือแหล่งน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดสกลนคร เป็นสถานที่รองรับน้ำจากสายน้ำ 16 สาย ทำให้หนองหารมีความสำคัญทางด้านระบบนิเวศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ สามารถกล่าวได้ว่า หนองหารเปรียบเสมือน อู่ข้าว อู่น้ำ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนรอบหนองหาร
การเกิดหนองหาร ในด้านภูมิศาสตร์เชื่อกันว่า เกิดจากการกัดเซาะ การพังทลายของเกลือในชั้นใต้ดินเป็นบริเวณกว้างจนทำให้เป็นนครจมน้ำ
หนองหาร คือแหล่งน้ำจืดธรรมชาติขนาดใหญ่ที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ในจังหวัดสกลนคร เป็นสถานที่รองรับน้ำจากสายน้ำ 16 สาย ทำให้หนองหารมีความสำคัญทางด้านระบบนิเวศแบบพื้นที่ชุ่มน้ำ จึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรธรรมชาติ สามารถกล่าวได้ว่า หนองหารเปรียบเสมือน อู่ข้าว อู่น้ำ ที่มีความสำคัญต่อการดำรงชีวิตและเศรษฐกิจของชุมชนรอบหนองหาร
เมื่อประมาณ พ.ศ. 2446 ได้เปลี่ยนแปลงการปกครองจากระบบอาญาสี่เป็นระบบเทศาภิบาล ชาวเมืองสกลนครมีโอกาสได้รับเสด็จ สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ เสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรอีสาน พ.ศ. 2449 พระองค์ได้เสด็จมาที่เมืองสกลนคร และทรงบรรยายสภาพหนองหาร ไว้ว่า
"เวลาเช้า 4 โมง ลงเรือข้ามหนองหารไปขึ้นฝั่งเมืองสกลนคร หนองหารเมืองสกลนครนี้กว้างใหญ่ไพศาลมาก มีเขาภูพานอยู่ข้างด้านตะวันตกเป็นเทือกเขายาว ในหนองมีเกาะเรียกว่า ดอนตาคราม และดอนสวรรค์ เห็นฝูงม้าฝูงใหญ่ ๆ และฝูงโคกระบืออยู่ริมฝั่งเป็นแห่ง ๆ ไป เวลาเช้า 5 โมง 40 นาที ถึงฝั่งเมืองสกลนคร" (สมเด็จกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, 2538 : 113)
จากพระนิพนธ์ของสมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ พระองค์ท่านทรงบรรยายให้เห็นภาพของหนองหาร เป็นเส้นทางคมนาคมระหว่างหมู่บ้าน สถานที่เลี้ยงสัตว์ รวมไปถึงดอนตาคราม (ภาษาถิ่นเรียก ดอนสะคราม) และดอนสวรรค์ ดอนสวรรค์ คือ เกาะดอนที่ใหญ่ที่สุด ตั้งอยู่กลางหนองหาร เป็นแหล่งอาหารของชุมชนรอบหนองหารที่หาได้ตลอดทั้งปี คือ เห็ด หน่อไม้ และยังเป็นที่พักแรมของชาวประมงท้องถิ่นที่มาหาปลาในหนองหาร
หนองหาร จึงเปรียบเสมือนสายเลือดใหญ่ที่หล่อเลี้ยงชีวิตชาวเมืองสกลนคร นอกจากใช้น้ำในการอุปโภคบริโภคแล้ว ชุมชนในอดีตยังได้พึ่งพาหนองหารในการดำรงชีวิตในลักษณะต่าง ๆ อีกด้วย นอกจากใช้น้ำจากหนองหารในการอุปโภคและบริโภค รวมทั้งได้ผลิตผลเกลือแล้ว ปลายังเป็นอาหารที่สำคัญของชุมชนเมืองสกลนครในอดีตอีกด้วย การหาปลาสามารถทำได้ตลอดทั้งปี แต่ถ้าเข้าช่วงฤดูฝนปลาในแม่น้ำโขงขึ้นมาวางไข่ที่หนองหาร ทำให้ปริมาณปลามีจำนวนมาก การหาปลาของชุมชนรอบหนองหารทำกันเป็นกลุ่ม ๆ และเมื่อได้ปลา จะทำการแบ่งปันกัน
หนองหารกับยุคแห่งการพัฒนา พ.ศ. 2475-2536
หนองหารเริ่มได้รับการพัฒนาจากภาครัฐช่วง พ.ศ. 2475 โดยกรมประมงเป็นหน่วยงานแรกที่มีความสำคัญในการพัฒนา สิ่งแรกที่ดำเนินการ คือ การสำรวจหนองหารและจัดทำโครงการปรับปรุงหนองหารให้เป็นที่บำรุงพันธุ์สัตว์น้ำในภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และ พ.ศ. 2476 ทำการศึกษาการสร้างประตูน้ำที่ปากลำน้ำก่ำเพื่อเก็บกักน้ำให้สูงขึ้นจากเดิม เพื่อเพิ่มเนื้อที่เพาะพันธุ์สัตว์น้ำและช่วยด้านการเกษตร หลังจากที่ทำการศึกษาเสร็จสิ้น และได้ทำการก่อสร้างประตูน้ำ ได้เริ่มก่อสร้างเมื่อ พ.ศ. 2484 ที่บริเวณชุมชนบ้านบึงศาลา ตำบลนาตงวัฒนา อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร ประตูน้ำแววพยัคฆ์คันสร้างแล้วเสร็จเมื่อ พ.ศ. 2496 ใช้ระยะเวลาก่อสร้าง 12 ปี สาเหตุที่ล่าช้าเป็นเพราะในช่วงระยะเวลาดังกล่าวเกิดสงครามโลกครั้งที่ 2 (สพสันติ์ เพชรคำ, 2555 : 17) และในปี พ.ศ. 2484 ทางรัฐบาลได้ประกาศพระราชกฤษฎีกา ให้หนองหารเป็นเขตพื้นที่หวงห้ามการใช้ที่ดิน ซึ่งการปักเขตหนองหารในครั้งนี้เป็นจุดเริ่มต้นให้เกิดกรณีพิพาทระหว่างชุมชนรอบหนองหารกับภาครัฐ ในการเรียกร้องที่ดินทำกินและสิทธิ์ในการครอบครองที่ดิน ซึ่งการปักเขตแนวหนองหาร
หนองหารได้เกิดการเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญจากการพัฒนาเป็นอย่างมากในช่วง พ.ศ. 2536 คือการสร้างประตูน้ำสุรัสวดี ซึ่งตั้งอยู่บริเวณใกล้เคียงกันกับประตูน้ำแววพยัคฆ์คัน โดยมีจุดประสงค์เพื่อกักเก็บน้ำให้อยู่ระดับน้ำที่ 157 เมตร รทก.(ระดับน้ำทะเลปานกลาง) สำหรับใช้ในภาคการเกษตร และแหล่งผลิตเป็นน้ำประปาสำหรับเมืองสกลนคร ผลกระทบที่เกิดขึ้น คือ ระบบนิเวศของหนองหารเปลี่ยนเพราะระบบน้ำขึ้น-น้ำลง ตามฤดูกาลได้เปลี่ยนเป็นน้ำท่วมขังตลอดปี สิ่งแรกที่พบ คือต้นไม้ใหญ่ที่เกาะดอนสวรรค์ เช่น ต้นยางนา เริ่มยืนต้นตายและคุณภาพน้ำหนองหารเริ่มเสื่อมโทรมลงเรื่อย ๆ เกิดสาหร่ายหางกระรอก ผักตบชวา จำนวนเกาะดอนบางส่วนถูกน้ำท่วมจมหาย และจำนวนตะกอนดินทับถมมากมายจนทำให้หนองหารมีสภาพตื้นเขิน หน่วยงานของรัฐทำได้เพียงขุดลอกเพื่อแก้ปัญหาบางส่วน จากปัญหานี้ส่งผลกระทบเรื่อยมาจนถึงปัจจุบัน เช่น เรื่องของปลาที่จำนวนลดน้อยลง ปลาบางชนิดได้สูญหายไปจากหนองหาร แต่ชาวประมงท้องถิ่นยังประกอบอาชีพหาปลาเพื่อหารายได้มาเลี้ยงครอบครัวเหมือนเดิม ซึ่งมีความแตกต่างไปจากเดิมที่ว่า เมื่อก่อนนั่นถ้าชาวประมงจับปลาตัวเล็กได้จะปล่อยคืน แต่ปัจจุบันชาวประมงจับปลาได้ขนาดตัวเท่าไรเอาหมดไม่ว่าจะตัวเล็กขนาดไหน บางครั้งถ้าไม่ได้ปลา ถึงขั้นไปลักขโมยปลาจากตาข่ายของชาวประมงคนอื่นที่ดักปลาไว้
นอกจากเรื่องจำนวนปลาที่ลดน้อยลงยังมีปัญหาอื่นตามมา คือ วัชพืช (สนุ่น) และตะกอนดินที่ทับถมเป็นเวลานานหลาย ๆ ปี ส่งผลให้พื้นที่ในการรับน้ำของหนองหารมีลักษณะตื้นเขิน รวมถึงผักตบชวาที่กีดขวางทางสัญจรทางน้ำบางพื้นที่ เช่น ที่บริเวณบ้านน้ำพุ และชุมชนห้วยโมง อีกปัจจัยที่ทำให้หนองหารมีสภาพน้ำที่เสื่อมคุณภาพ คือ การปล่อยน้ำเสียจากในตัวเมืองลงสู่หนองหาร ถึงแม้ว่ามีบ่อบำบัดน้ำเสีย แต่ไม่เพียงพอต่อการบำบัดน้ำเสีย
หนองหาร พื้นที่ประมาณ 77,016 ไร่ หรือ ประมาณ 123 ตารางกิโลเมตร ภายในพื้นที่ของหนองหารมีเกาะดอนมากถึง 52 เกาะ โดยเกาะดอนที่มีขนาดใหญ่มากที่สุด คือ เกาะดอนสวรรค์ มีจำนวนพื้นที่ทั้งหมด 639 ไร่ มีอาณาเขตติดต่อกับ 10 ตำบล ในเขตอำเภอเมืองสกลนครและอำเภอโพนนาแก้ว
อาณาเขตติดต่อ
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลท่าเเร่ อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
- ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลงิ้งด่อน ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ตำบลบ้านแป้น ตำบลนาแก้ว ตำบลนาตงวัฒนา ตำบลโพนนาแก้ว อำเภอเมืองสกลนคร อำเภอโพนนาแก้ว จังหวัดสกลนคร
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลธาตุเชิงชุม ตำบลนาเวง ตำบลเชียงเครือ ตำบลฮางโฮง อำเภอเมืองสกลนคร จังหวัดสกลนคร
หนองหาร เป็นพื้นที่สาธารณะที่ผู้คนรอบหนองหารสามารถเข้ามาหาอยู่หากินในสถานที่แห่งนี้ เช่น จับสัตว์น้ำ หาของป่า เเละบางพื้นที่เป็นสถานที่เลี้ยงสัตว์ของผู้คนที่อาศัยอยู่รอบหนองหาร ซึ่งผู้คนที่หาอยู่หากิน ณ สถานที่แห่งนี้มีความผูกพันธ์แบบ "เสี่ยว"
ดำรงราชานุภาพ,สมเด็จฯ กรมพระยา. (2538). เสด็จไปตรวจราชการมณฑลนครราชสีมาและมณฑลอุดรอีสาน ร.ศ. 125 (พ.ศ. 2449). กรุงเทพฯ : วัชรินทร์การพิมพ์.
เติม วิพาคย์พจนกิจ. (2546). ประวัติศาสตร์อีสาน. กรุงเทพฯ : โรงพิมพ์มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์.ฉบับพิมพ์ครั้งที่4
สพสันติ์ เพชรคำ. (2555). ถอดบทเรียนหนองหาร. สกลนคร : พรศิริการพิมพ์
สพสันติ์ เพชรคำ. (2560). ประวัติศาสตร์ท้องถิ่น. เชียงใหม่ : วนิดาการพิมพ์
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2524). ตำนานพงศาวดารเมืองสกลนคร ฉบับพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ พรหมสาขา ณ สกลนคร). สกลนคร : สโมสรไลออนส์ สกลนคร
สุรัตน์ วรางค์รัตน์. (2538). สิ่งแวดล้อมศิลปกรรม จังหวัดสกลนคร. สกลนคร : หน่วยอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมศิลปกรรมจังหวัดสกลนคร