พระมุจลินท์ล้ำค่า งามสง่าพิพิธภัณฑ์ เก้าชั้นน้ำตก ผาน้ำโจ้กตระการตา สูงค่าผาผักหวาน
"หนองแวง" เป็นหนึ่งในชื่อชุมชนที่นิยมที่สุดในภาคตะวันออกเฉียงเหนือของประเทศไทย ส่วนมากมักเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีบึงน้ำ ซึ่งมักจะมีต้นธูปฤาษี หรือในภาษาอีสาน "ต้นแวง" ขึ้นอยู่เสมอ จึงมีข้อสรุปโดยทั่วไปว่า ชื่อหนองแวงนี้เป็นชื่อที่ตั้งเกี่ยวกับสภาพแวดล้อมของชุมชนโดยเป็นภาษาถิ่น
พระมุจลินท์ล้ำค่า งามสง่าพิพิธภัณฑ์ เก้าชั้นน้ำตก ผาน้ำโจ้กตระการตา สูงค่าผาผักหวาน
โซ่ทะวืง เป็นชื่อที่กลุ่มชาติพันธุ์ใช้เรียกตนเอง ชนกลุ่มนี้มีภาษาพูดที่อยู่ในสาขาเวียดติกในกลุ่มมอญ-เขมร ในตระกูลภาษาออสโตรเอเชียติก ซึ่งแตกต่างจากภาษาโส้ที่ใช้พูดกันอยู่ในอำเภอกุสุมาลย์ จังหวัดสกลนครและอำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร จึงได้กำหนดชื่อตามกลุ่มภาษาที่แตกต่างนี้ว่า “โซ่ทะวึง”
นักภาษาศาสตร์จึงกำหนดชื่อกลุ่มชาติพันธุ์ตามภาษาสามารถเขียนได้สองรูปแบบ คือ “โซ่ (ทะวึง)” หรือ “โซ่ทะวึง” คำว่า “ทะวึง” มีความหมายหลายประการ ความหมายแรก หมายถึง “ยุง” อีกความหมายหนึ่ง หมายถึงเขตแดนหรือบริเวณที่อยู่อาศัย
กลุ่มชาติพันธุ์โซ่ทะวึง อพยพเข้ามาในประเทศไทยประมาณ พ.ศ. 2385-2386 ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 3 และสมัยเจ้าอนุวงศ์แห่งเวียงจันทน์สันนิษฐานเดิมอาศัยอยู่บริเวณแขวงคำเกิด คำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
กระทั่งเกิดเหตุการณ์ความขัดแย้งเกี่ยวกับอุดมการณ์ทางการเมือง จึงเริ่มอพยพครั้งใหญ่เข้ามาในประเทศไทย
ในระยะแรก ชนกลุ่มนี้ได้ตั้งถิ่นฐานในบริเวณบ้านท่าขอนยาง ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในตำบลท่าขอนยาง อำเภอกันทรวิชัย จังหวัดมหาสารคาม
จากนั้นจึงมีการอพยพเคลื่อนย้ายมาอยู่อาศัยที่บ้านดงมูล บ้านดงบัง บ้านหนองไม้ตาย ปัจจุบันเป็นหมู่บ้านหนึ่งในอำเภอยางตลาด จังหวัดกาฬสินธุ์ และอพยพมาอยู่ที่บ้านหนองแวง เพราะเห็นว่าเป็นพื้นที่ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ สงบ เหมาะกับวิถีชีวิตของชาติพันธุ์
ปัจจุบันชาวโซ่ทะวึง อาศัยอยู่ในตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัดสกลนคร จำนวน 4 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านหนองแวง บ้านหนองม่วง บ้านหนองเจริญ และบ้านดงสร้างคำ
จากข้อมูลการสำรวจประชากร เมื่อ พ.ศ. 2556 ระบุว่า ชาวโซ่ทะวึงที่อาศัยอยู่ในประเทศไทยมีจำนวน 2,400 คน ในด้านสังคมด้านวัฒนธรรม และประเพณีของชาวโซ่ทะวึงนั้นได้รับอิทธิพลทางความเชื่อของพุทธศาสนาค่อนข้างมาก จึงสืบทอดประเพณีปฏิบัติตามแบบพุทธศาสนิกชนทั่วไป
ทั้งนี้ ยังคงมีร่องรอยของความเชื่อดั้งเดิม ผ่านประเพณีและพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับการบูชาและนับถือผีปู่ตาที่เป็นพิธีกรรมสำคัญของชุมชน ปัจจุบันประชากรของชาวโซ่ทะวึงมีจำนวนที่น้อยลงค่อนข้างมาก ซึ่งส่งผลต่อการสืบทอดวัฒนธรรมและภาษาที่มีความเสี่ยงต่อการสูญหาย
เนื่องจากคนรุ่นหลังไม่นิยมที่จะใช้ภาษาโซ่ทะวึงในการสื่อสาร ประกอบกับการส่งเสริมวัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ยังไม่แพร่หลาย ทำให้อัตลักษณ์วัฒนธรรมของกลุ่มชาติพันธุ์ถูกกลืนกลายไปกับวัฒนธรรมของชนกลุ่มอื่นๆ ที่อยู่ล้อมรอบ อาทิ ผู้ไท ญ้อ และลาว
อนึ่ง ตามคำบอกเล่าของผู้สูงอายุเล่าว่า ถิ่นฐานเดิมของพวกเขาเมื่อร้อยกว่าปีนั้นอยู่ที่หมู่บ้านทะวึง แขวงคำม่วน ประเทศลาว สาเหตุการอพยพมาจากการหนีภัยสงครามระหว่างฝรั่งเศสกับสยาม ทำให้ชาวโซ่ทะวึงได้พาลูกหลานหลบหนีเข้ามาอยู่ในประเทศไทยพร้อมกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่น
อย่างไรก็ตาม ตาวัน จันทร์โคตรแก้ว อายุ 86 ปี ชาวบ้านหนองแวงเล่าว่า ก่อนอพยพมา ชาวโซ่ ทะวึง มีภูมิลำเนาเดิมอยู่ที่บ้านค่างเหล็ก แขวงคำเกิดคำม่วน ในช่วงเรกของการอพยพได้ตั้งหลักแหล่งอยู่ที่บ้านหนองไม้ตาย อำเภอหนองกุงศรี จังหวัดกาฬสินธุ์ ก่อนที่สองพี่น้องต้นตระกูล จันทะดา จะพาชาวบ้านอพยพมาอยู่ที่บ้านหนองม่วง เมื่อ พ.ศ. 2461
จนเกิดเหตุการณ์โรคระบาดผู้คนส่วนหนึ่งจึงได้ย้ายครอบครัวหนีไปตั้งบ้านหนองม่วง ใน พ.ศ. 2480 หมู่บ้านหนองม่วงนี้เป็นพื้นที่ราบสูงมีป่าไม้รอบล้อม ชาวบ้านดำรงชีพด้วยการทำเกษตรและหาของป่า เนื่องด้วยบ้านหนองแวงเป็นหมู่บ้านขนาดใหญ่และจำนวนประชากรมากจึงได้แยกย่อยออกเป็นหมู่บ้านหนองเจริญ เมื่อ พ.ศ. 2525
ทั้งนี้ ประวัติศาสตร์ชุมชาวโซ่ทะวึงยังไม่เป็นที่สรุปแน่ชัด ปัจจุบันอยู่ในขั้นตอนการศึกษาเพิ่มเติม
พื้นที่ของชาติพันธุ์โซ่ทะวืงอยู่ในเขตปทุมวาปี อำเภอส่องดาว ครอบคลุม 3 หมู่บ้าน คือ บ้านหนองเจริญ บ้านหนองแวง และบ้านหนองม่วง
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ มีลักษณะเป็นทุ่งนา ป่าไม้ อุทยาน และลำธาร
พื้นที่สาธารณะ สระน้ำบ้านหนองเจริญ
สาธารณูปโภค มีไฟฟ้าและน้ำประปาใช้ในครัวเรือน สามารถเข้าถึงสัญญาณโทรศัพท์และอินเทอร์เน็ตได้
ทรัพยากรทางธรรมชาติ ประกอบด้วย ดอกไม้ป่าพวกไลเคน ฟองหิน เอื้องคำหิน ม้าวิ่ง เขากวาง ดาวเรืองภู ต่างหูขาว เนียมดอกรูป หญ้าหัวเสือ หางเสือลาย แววมยุรา หญ้าข้าวก่ำ กระดุมเงิน สาหร่ายข้าวเหนียว และดุสิตา ที่ขึ้นแทรกอยู่บานลานหินปูนทราย ให้ได้ชื่นชมกันในช่วงปลายฝนต้นหนาวสัตว์ป่าที่พบ เห็น ได้แก่ เก้ง ลิงกัง กระต่ายป่า กระแต หนูหริ่ง ตุ่น เม่น พังพอน อีเห็น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกกระปูด นกตะขาบทุ่ง นกโพระดก นกขมิ้น นกปรอดก้นแดง นกแซงแซวสีเทา นกจาบดินอกลาย ตุ๊กแก จิ้งจกป่าสีจาง เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูเห่า งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ อึ่งอี๊ดหนังลาย อึ่งอี๊ดเทาจุดดำ เขียดท้ายทอยดำ เขียดหนอง คางคก กบหมื่น และปาดนิ้วแยกลาย
พื้นที่ของกิจกรรมทางสังคม ริมสระน้ำบ้านหนองเจริญ, โรงเรียนหนองม่วง, โรงเรียนหนองแวง, ศาลปู่ตา, วัดคีรีวิหาร, บ้านลุงสมปอง
โครงสร้างของเผ่าโซ่ได้มีการรวมหลอมรวมกับวัฒนธรรมในสถานการณ์ปัจจุบันทั้งสังคม การเมือง โดยส่วนใหญ่จะออกไปทำงานตามหัวเมืองใหญ่ ๆ มีตลาดสดเทศบาลส่องดาวร้านอาหารที่เปิดตามข้างทางที่ขับเคลื่อนทางเศรษฐกิจในระดับปานกลาง ส่วนมากเศรษฐกิจเผ่าโซ่จะมาจากคนที่ไปทำงานตามหัวเมือง และนำเงินมาใช้จ่ายในชุมชน และมีการเข้าถึงระบบสาธารณูปโภค สาธารณสุข การเลือกตั้งรัฐบาล การเลือกตั้งอบต. อบจ.
อาชีพหลักชาวโซ่ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกรชาวไร่ ชาวนา อาชีพเสริมถักสาร ทำเสื่อใบเตย การประกอบอาชีพนอกชุมชนมักเป็นกลุ่มวัยรุ่นหรือวัยทำงาน ส่วนใหญ่จะไปทำงานตามหัวเมืองใหญ่ทั่วประเทศไทย
เดือนมกราคม บุญเข้ากรรม (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
เมื่อพระสงฆ์ถือฮีตเข้ากรรม ญาติโยมทั้งหลายผู้ปรารถนาจะทำบุญแด่พระสงฆ์ผู้เข้ากรรม ก็จะมาถวายปัจจัยสี่ เช่น สร้างกุฎิให้พระสงฆ์เข้ากรรม ถวายภัตตาหารหรือตักน้ำให้พระสงฆ์ใช้ดื่ม อาบ เมื่อพระสงฆ์ออกจากกรรมแล้ว ญาติโยมก็จะถวายทานหรือฟังเทศน์ฟังธรรม รักษาศีล เจริญภาวนา ถือว่าได้กุศลผลบุญอย่างยิ่ง
เดือนกุมภาพันธ์ งานประเพณีไหว้ศาล ปู่-ตา (หลังศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ บ้านหนองแวง)
ชาวบ้านจะรวมเงินกันซื้อหมูมาเลี้ยงถวายผีย่าปู่ และมีไก่ต้ม ขัน 5 หรือ ขัน 8 เหล้าขาว เป็นเครื่องประกอบพิธี โดยมี “ตุ๊เจ้า” หรือ “เฒ่าจ้ำ” เป็นผู้ประกอบพิธีกรรม ปัจจุบันนายรุณ จันทะดา เป็นตุ๊เจ้าของชุมชน ในวันเลี้ยงผีย่าปู่ ชาวบ้านจะทำพิธีไหว้และบอกกล่าว แล้วนำหมูมาเชือดที่ดอนย่าปู่ในตอนเช้ามืดและกว่าจะเชือดหมูเสร็จก็จะเป็นเวลาช่วงเช้าพอดี จากนั้นจึงมารวมกันรับประทานอาหารเช้าที่ศาลากลางบ้าน
เดือนมีนาคม งานบุญข้าวจี่ (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
นัดหมายทําบุญข้าวจี่ทุกครัวเรือนในหมู่บ้านจะจัดเตรียมข้าวจี่ตั้งแต่ตอนเช้ามืดของวันนั้นเพื่อให้ข้าวจี่สุกทันใส่บาตร นอกจาก ข้าวจี่แล้วก็จะนํา "ข้าวเขียบ" (ข้าวเกรียบ) ทั้งที่ยังไม่ย่างเพื่อให้พระเณรย่างกินเองและที่ย่างไฟจนโป่งพองใส่ถาดไปด้วย พร้อมจัดอาหารคาว ไปถวายพระที่วัด ข้าวจี่บางก้อนผู้เป็นเจ้าของได้ยัดไส้ด้วยน้ำอ้อย แล้วทาด้วยไข่ เพื่อให้เกิดรสหวานหอมชวน รับประทาน แล้วประธานในพิธีเป็นผู้อาราธนาศีล พระภิกษุให้ศีล ญาติโยมรับศีล แล้วกล่าวคําถวายข้าวจี่ จากนั้นก็จะนํา ข้าวจี่ใส่บาตรพระ ซึ่งตั้งเรียงไว้เป็นแถวเท่าจํานวนพระเณร พร้อมกับถวายปิ่นโต สํารับกับ ข้าวคาวหวาน เมื่อพระฉันจังหันเทศน์เสร็จแล้วก็ให้พร ญาติโยมรับ พรเป็นเสร็จพิธี
เดือนเมษายน งานพระเวสสันดรชาดก ตอนเเห่พระเวสเข้าเมือง (จากโรงเรียนบ้านหนองแวงประชาราษฏอำนวยไปวัดคีรีวีวิหาร)
วันงานบุญผะเหวด จะเริ่มงานกันตั้งแต่บ่ายเพื่อพระสงฆ์จะได้เทศน์จบทุกกัณฑ์ภายในหนึ่งวัน ชาวบ้านผู้ร่วมงานจะพร้อมกันแห่พระเวสเข้าเมือง ขณะที่แห่นั้นจะตีฆ้องตีกลองเป็นจังหวะไปด้วย ข้าวพันก้อนที่ถือมาแห่จะถูกนำไปบูชาไว้ตามต้นเสาธงทั้ง 8 ทิศ บูชาที่หอพระอุปคุตบ้างถือขึ้นบนศาลาการเปรียญเพื่อบูชากัณฑ์เทศน์แล้วก็แห่ข้าวพันก้อนจะแห่กัน 3 รอบแล้วจึงขึ้นไปที่ศาลาการเปรียญ เพื่อกล่าวคำบูชาข้าวพันก้อน ป่าวสัคเคชุมนุมเทวดา อาราธนาสังกาศเพื่อให้พระเทศน์สังกาสโดยใช้ทำนองสีทันดร เทศน์จบให้กล่าวประกาศอัญเชิญเทวดาและหว่านข้าวตอกดอกไม้รับเหล่าเทวดา จึงกล่าวคำอาราธนาผะเหวด พระสงฆ์ผู้รับผิดชอบการเทศน์ในแต่ละกัณฑ์ก็จะขึ้นธรรมาสน์และเทศน์ไปทีละกัณฑ์ตามลำดับ เริ่มจากกัณฑ์ทศพรไปจนถึงกัณฑ์นครซึ่งเป็นกัณฑ์สุดท้าย
เดือนพฤษภาคม งานบุญสงกรานต์ (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
การทำบุญตักบาตร, การรดน้ำดำหัวผู้ใหญ่, การสรงน้ำพระ, บังสุกุลอัฐิ, การก่อพระทราย
เดือนมิถุนายน บุญบั้งไฟ (วัดถ้ำพวง)
ฤดูทำนาจะนำบั้งไฟไปจุดถวายพญาแถนเพื่อขอขอฝนมาทำไร่ทำนา เป็นความเชื่อเพื่อขอฝน
เดือนกรกฎาคม พิธีไหว้ผีตาแฮก หรือผีประจำไร่นา (ทุ่งนาของตนเอง)
เป็นความเชื่อโบราณเพื่อเซ่นไหว้ผีก่อนทำนาของตนเอง เป็นความเชื่อเพื่อให้ข้าวอุดมสมบูรณ์ ได้ผลผลิตมาก
เดือนสิงหาคม บุญเข้าพรรษา (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
มีการทําบุญตักบาตร ถวายผ้าอาบน้ำฝน สบง จีวรและ เทียนพรรษา หากแต่ในภาคอีสานจะจัดขบวนแห่เทียน อย่างยิ่งใหญ่ และมักมีการประกวดความสวยงามของเทียนจากแต่ละหมู่บ้าน ซึ่งตกแต่ง สลักเสลาเทียนเป็นลวดลาย เรื่องราวทางพุทธศาสนาอย่างสวยงาม เมื่อแห่เทียนมาถึงวัดชาวบ้านจะรับศีล รับพรฟังธรรม ตอนค่ำจะเวียนเทียน รอบพระอุโบสถ
เดือนกันยายน บุญข้าวประดับดิน (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ รวมไปถึงสัมภเวสี เปรต สัตว์นรก ทำบุญข้าวประดับดิน โดยการใช้ใบตองห่ออาหารคาวหวาน ข้าวเหนียวนึ่งสุก ผลไม้ หมาก พลู เมี่ยง และบุหรี่ ทำเป็นห่อเล็ก ๆ (เรียกว่ายายห่อข้าวน้อย) แล้วนำไปวางบริเวณรอบกำแพงวัด รอบฐานเจดีย์ หรือรอบโบสถ์ ตลอดจนใต้โคนต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้ส่งไปถึงผู้ล่วงลับและสัมภเวสี
เดือนตุลาคม บุญข้าวสาก (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
เป็นการทำบุญเพื่ออุทิศส่วนกุศลให้กับผู้ล่วงลับ รวมไปถึงสัมภเวสี เปรต สัตว์นรก ทำบุญข้าวประดับดิน โดยการใช้ใบตองห่ออาหารคาวหวาน ข้าวเหนียวนึ่งสุก ผลไม้ หมาก พลู เมี่ยง และบุหรี่ ทำเป็นห่อเล็กๆ (เรียกว่ายายห่อข้าวน้อย) แล้วนำไปวางบริเวณรอบกำแพงวัด รอบฐานเจดีย์ หรือรอบโบสถ์ ตลอดจนใต้โคนต้นไม้ใหญ่ เพื่อให้การทำบุญครั้งนี้ส่งไปถึงผู้ล่วงลับและสัมภเวสี
เดือนพฤศจิกายน บุญออกพรรษา (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
เพื่อเปิดโอกาสให้ภิกษุสงฆ์ว่ากล่าวตักเตือนกันได้ และเพื่อพระภิกษุสงฆ์จะได้จาริกไปในที่ต่าง ๆ เพื่อเที่ยวสั่งสอนศีลธรรมและธรรมะแก่ประชาชน หรือ เพื่อแสวงหาความสงบวิเวกในการปฏิบัติธรรม โดยไม่ต้องกลับมาค้างแรมที่วัดและให้ภิกษุหาผ้านุ่งห่มใหม่มาผลัดเปลี่ยน
เดือนธันวาคม บุญกฐิน (วัดคีรีวีวิหารหรือวัดใกล้บ้าน)
เพื่อให้ภิกษุสงฆ์มีโอกาสได้ผลัดเปลี่ยนไตรจีวรใหม่ เนื่องจากของเก่าใช้นุ่งห่มมาตลอดระยะเวลาสามเดือนที่เข้าพรรษาย่อมเก่า ความเชื่อว่าถ้าผู้ใดได้ทําบุญกฐิน แล้วตายไปจะไม่ตกนรก มีแต่จะได้รับผลบุญที่ตนเองกระทําเอาไว้เก็บกินในชาติหน้า การทําบุญกฐินจึงจัดเป็นงานสําคัญ ผู้ที่จะทําบุญกฐินจึงบอกกล่าว ลูกหลาน ญาติมิตรของตนให้โดยพร้อมหน้า
1.นายมีชัย เกตุนันท์
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2514 อาศัยอยู่ หมู่ 9 ตำบลปทุมวาปี อำเภอส่องดาว จังหวัด สกลนคร
บทบาท เป็นผู้ใหญ่บ้านหนองเจริญ เป็นประธานคณะกรรมการโรงเรียนบ้านหนองแวงประชาราษฏ์อำนวย มีความชำนาญด้านการประชาสัมพันธ์ ทำความเข้าใจกับชาวบ้าน ดูแลชาวบ้านได้
ทุนกายภาพ
ทรัพยากรธรรมชาติที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาภูพาน
แหล่งน้ำธรรมชาติ ประกอบด้วย ลำน้ำ ลำห้วย บึง หนอง รวมทั้งยังมีทรัพยากรป่าไม้ในเขตป่าสงวน และเขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กที่อุดมสมบูรณ์เช่น พืชพื้นล่าง พวกหวาย ปาล์ม สมุนไพรต่าง ๆ
ดอกไม้ป่าพวกไลเคน ฟองหิน เอื้องคำหิน ม้าวิ่ง เขากวาง ดาวเรืองภู ต่างหูขาว เนียมดอกรูป หญ้าหัวเสือ หางเสือลาย แววมยุรา หญ้าข้าวก่ำ กระดุมเงิน สาหร่ายข้าวเหนียว และดุสิตา ที่ขึ้นแทรกอยู่บานลานหินปูนทราให้ได้ชื่นชมกันในช่วงปลายฝนต้นหนาว
สัตว์ป่าที่พบ เห็น ได้แก่ เก้ง ลิงกัง กระต่ายป่า กระแต หนูหริ่ง ตุ่น เม่น พังพอน อีเห็น เหยี่ยวรุ้ง นกเขาเปล้า นกกระปูด นกตะขาบทุ่ง นกโพระดก นกขมิ้น นกปรอดก้นแดง นกแซงแซวสีเทา นกจาบดินอกลาย ตุ๊กแก จิ้งจกป่าสีจาง เต่าเหลือง งูทางมะพร้าว งูเห่า งูจงอาง งูเขียวหางไหม้ อึ่งอี๊ดหนังลาย อึ่งอี๊ดเทาจุดดำ เขียดท้ายทอยดำ เขียดหนอง คางคก กบหมื่น และปาดนิ้วแยกลาย เป็นต้นซึ่งส่วนใหญ่ประชากรมีความรู้ความเข้าใจในการดำรงชีพให้อยู่คู่กัน
ทุนมนุษย์
มีปราชญ์ชาวบ้านมีผู้ใหญ่บ้านเป็นและนายก อบต. เป็นผู้นำ มีหมอเป่า หมอสู่ หมองู หมอทำขวัญ แต่เยาวชนในชุมชนไม่ค่อยมีเนื่องจากออกไปทำงานและเรียนหนังสือ
ทุนวัฒนธรรม
มีความถนัดในด้านการสานเสื่อใบเตย ซึ่งมีกรรมวิธีในการทำยากกว่าเสื่อชนิดอื่น เนื่องจากใบเตย มีหนามแหลมคม จึงจำเป็นต้องใช้ความระมัดระวังในการทำ มีผู้มีความรู้ด้านการรักษาโรค ทั้งหมอพื้นบ้านประเภทรักษาโรคด้วยสมุนไพร หมอเป่าเพื่อการรักษา หมอฝังเข็ม หมอตำแย หมอนวดเพื่อการรักษา หมอสู่ขวัญ และหมองู เป็นต้น นอกจากนี้ยังมีวิถีชีวิตความเป็นอยู่อย่างพอเพียง เรียบง่ายและไม่มักใหญ่ใฝ่สูง
ทุนเศรษฐกิจ
มีธนาคารพาณิชย์เข้าถึงและอุปกรณ์การผลิตต่าง ๆ ครบครัน
ทุนสังคม/การเมือง
ทุนสังคมประชาชนชนเผ่าโซ่ในปัจจุบันนั้นเป็นสัญชาติไทยมีการเข้าถึงของรัฐบาลเกือบทุกอย่าง มีการเสียภาษีตามประมวลกฎหมายรัษฎากร มีการเข้าถึงของระบบการรักษาสุขภาพจากกระทรวงสาธารณสุข ทั้งโรงพยาบาล ศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ มีโรงเรียนตั้งแต่อนุบาล ถึงมัธยมปลาย และการมีส่วนร่วมทางการเมืองของชนเผ่าโซ่มีเข้าสู่ชนเผ่าเกือบทุกอย่างเช่น การเลือกตั้งรัฐบาล การเลือกนายก อบต. การเลือก สจ. ฯลฯ คุณค่าและความหมายที่มีต่อชุมชนของเผ่าโซ่ ทะวืง นั้นคือ ภาษาและทุนวัฒนธรรมหรือภูมิปัญญาท้องถิ่นในสถานการณ์ปัจจุบันค่อนข้างที่จะหายสาบสูญไปบ้างอย่าง ซึ่งเหล่านี้มีคุณค่าและความหมายของชนเผ่า การสืบทอดและความยั่งยืนในการใช้งานใช้ประโยชน์ค่อนข้างที่จะไม่มีผู้สืบทอดและความยั่งยืนในอนาคต
ชาวโซ่ทะวืงใช้ภาษาอีสานดั้งเดิมเป็นภาษาพูด และใช้อักษรไทยในการเขียน การสื่อสารภายในชุมชนใช้ภาษาอีสานกันส่วนใหญ่ส่วนน้อยใช้ภาษาโซ่ (ทะวืง) (สำเนียงออกภาษาโซ่)
มีความหลอมรวมกับวิถีชีวิตของคนพื้นเมือง มีการเลือกตั้งรัฐบาล อบต., อบจ. ตามกฎหมายรัฐธรรมนูญ ส่วนการมีส่วนร่วมของรัฐบาลขึ้นอยู่กับท้องถิ่นและมีความอิสระในความคิดของการเลือกตั้ง การปกครองมีผู้นำชุมชนปกครอง เช่นผู้ใหญ่บ้าน อบต. ผู้นำชนเผ่าค่อยดูแล
มีความเจริญด้านค้าขายมีร้านขายของชำในชุมชน มีร้านอาหารข้างทาง มีร้านสะดวกซื้อที่เข้าถึงและมีตลาดสดเทศบาลส่องดาวคอยขับเคลื่อนเศรษฐกิจระดับปานกลาง
อยู่กันแบบพี่น้องครอบครัว ส่วนใหญ่ไปทำงานต่างเมืองทำให้ส่วนใหญ่ไม่ค่อยเห็นความสำคัญกับวัฒนธรรมประเพณี คาดการณ์ว่าภายใน 10 ปี ถ้าไม่มีการอนุรักษ์จะมีบางสิ่งค่อย ๆ หายไป
ชาวโซ่ทะวืงได้รับสถานะพลเมืองเป็นบุคคลสัญชาติไทยทุกครัวเรือน
ทุกหมู่บ้านสามารถเข้าถึงไฟฟ้า น้ำประปา สัญญาณโทรศัพท์ และอินเตอร์เน็ตได้
ภายในชุมชนโรงพยาบาลอำเภอส่องดาว และมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล มีลงพื้นที่ของโรงพยาบาลเข้าถึงทุกครัวเรือนเป็นประจำ
ภายในชุมชนมีโรงเรียนบ้านแวงประชาราษฏร์อำนวย และโรงเรียนบ้านหนองม่วง ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กบ้านหนองม่วงและบ้านหนองแวง โดยทั้งหมดขึ้นทะเบียนกับกระทรวงศึกษาธิการ
ชาวโซ่ทะวืงยังถือวัฒนธรรมจากเดิมอยู่ ยึดวิถีฮีตสิบสองคองสิบสี่ไม่มีเปลี่ยนแปลง การไหว้ผี ไหว้ปู่ยา
เขตอุทยานแห่งชาติภูผาเหล็กเป็นแหล่งอุดมสมบูรณ์ไม่มีการไปตัดไม้ทำลายป่า ชาวบ้านยังอนุรักษ์รักษาและเป็นท่องเที่ยวอยู่จนถึงปัจจุบัน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์โซ่ ทะวืง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
คนไกล วงนอก. (2565). “หนองแวง” ชื่อบ้านนามเมืองสุดฮิตในภาคอีสาน มาจากไหน?. ศิลปะวัฒนธรรม, 2566(1), จาก http://s://www.silpa-mag.com/