ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่มีวิถีแบบสังคมชาวนา ในภาคเกษตรกรรม
คำว่า “เหล่า” ในภาษาถิ่นหมายถึง “ป่า” โดยบริเวณที่ตั้งของชุมชนบ้านเหล่าในอดีตนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าธรรมชาติ อันเป็นผืนเดียวต่อกับเทือกเขาภูพาน ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปจากชุมชนที่ตั้งชุมชนด้านทิศใต้ราว 6 กิโลเมตร ประกอบกับที่ตั้งของชุมชนมีต้นไผ่ขึ้นอยู่เยอะ การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านเหล่าในระยะแรกเรียกว่า “บ้านเหล่า”
ผู้คนในชุมชนส่วนใหญ่มีวิถีแบบสังคมชาวนา ในภาคเกษตรกรรม
คำว่า “เหล่า” ในภาษาถิ่นหมายถึง “ป่า” โดยบริเวณที่ตั้งของชุมชนบ้านเหล่าในอดีตนั้นมีความอุดมสมบูรณ์ของผืนป่าธรรมชาติ อันเป็นผืนเดียวต่อกับเทือกเขาภูพาน ซึ่งตั้งอยู่ห่างไปจากชุมชนที่ตั้งชุมชนด้านทิศใต้ราว 6 กิโลเมตร ประกอบกับที่ตั้งของชุมชนมีต้นไผ่ขึ้นอยู่เยอะ การตั้งถิ่นฐานของชาวบ้านเหล่าในระยะแรกเรียกว่า “บ้านเหล่า” ตามสภาพความสมบูรณ์ของป่าไม้ในสมัยนั้น
บ้านเหล่าในปัจจุบันได้แยกตัวออกมาจาก “บ้านโพนค้ออุ่มไผ่” ซึ่งปรากฏจากคำบอกเล่าสืบต่อกันมาว่า เดิมมีถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดงกึม แขวงเมืองสุวรรณเขต ครั้นต่อมามีพระภิกษุรูปหนึ่ง ออกจาริกธุดงค์จากวัดบ้านดงกึม ข้ามน้ำโขงบำเพ็ญสมณธรรมตามวิสัย จนมาถึงบริเวณพื้นที่ราบลุ่มแห่งหนึ่งอันมีอาณาเขตติดกับบ้านหนองเฮียนอุปฮาด เห็นว่ามีสถานที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะต่อการตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนได้ ครั้นพระภิกษุรูปนี้เดินทางกลับถึงบ้านดงกึม ได้เล่าเรื่องราวความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่ให้ชาวบ้านดงกึมได้รับฟัง
ครั้นความทราบถึงอาญาพระพล อาญาพระเทพ เกิดความสนใจได้รวบรวมสมัครพรรคพวกได้ประมาณ 8 ครัวเรือน เดินทางข้ามน้ำโขงมาบ้านหนองเฮียนอุปฮาดตามคำแนะนำของพระภิกษุรูปนั้นโดยหยุดพักเพื่อค้นหาทำเลที่เหมาะสมพอที่จะตั้งบ้านเรือนได้ ครั้งนั้นพบกับลำห้วยแห่งหนึ่งชื่อว่า “ลำน้ำห้วยทราย” เห็นว่ามีความสมบูรณ์ บริบูรณ์ดี มีต้นไผ่ขึ้นชุกชุมมาก จึงตกลงตั้งบ้านเรือนขึ้นในบริเวณนั้น อาญาพล ตั้งบ้านเรือนขึ้นที่ “ดอนตากล้า” ส่วนอาญาพระเทพ ตั้งบ้านเรือนขึ้นที่ “ดงมุ่น” ริมห้วยทราย เรียกนามหมู่บ้านว่า “บ้านอุ่มไผ่นาทาม”
อย่างไรก็ตาม เมื่อมีการตั้งบ้านอุ่มไผ่นาทามขึ้นแล้ว ยังได้รับความลำบากเนื่องจากเมื่อถึงฤดูฝนน้ำหลากท่วมทุกปี ทำให้การทำมาหากิน การอยู่อาศัย การสัญจรไปมาลำบาก ผู้นำทั้งสองได้พร้อมใจกันเลือกทำเลที่ตั้งชุมชนใหม่และมีความเหมาะสมกว่าเดิม โดยพบที่เนินแห่งหนึ่งมีต้นค้อขึ้นอยู่มาก พิจารณาเห็นว่ามีความเหมาะสมสำหรับที่จะตั้งบ้านเรือนได้ จึงได้พากันไปตั้งบ้านเรือนขึ้นบริเวณแห่งนั้น เมื่อ พ.ศ. 2340 เรียกนามชุมชนว่า “บ้านโพนค้ออุ่มไผ่” ทำราชการขึ้นกับเมืองสกลนคร
ต่อมาเมื่อประชาชนเพิ่มมากขึ้น การทำไร่ก็ขยายออกไปเรื่อย ๆ จนมีอาณาเขตกว้างขวางและห่างออกไปจากบ้านเดิม เป็นเหตุให้ลำบากต่อการดูและพืชไร่ของตน เมื่อเป็นดังนั้นต่างคนก็ต่างไปตั้งบ้านเรือนตามไร่ของตนเอง ซึ่งยังเป็นป่าเป็นดงอยู่ จนเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ด้านทิศตะวันออกของชุมชนเดิม จึงเกิดเป็นชุมชนบ้านเหล่าขึ้น นำโดยครอบครัวของนายทิดขัน นางจันที และท้าวนาง ต่อมาจึงเรียกนามชุมชนว่า “บ้านเหล่าโพนค้อ” ภายหลังแยกออกเป็นบ้านโพนค้อ หมู่ 1 และบ้านเหล่า หมู่ 5 ในปัจจุบัน
บ้านเหล่า ตั้งอยู่ในบริเวณพื้นที่ราบลุ่มด้านทิศตะวันออกเฉียงใต้ของตัวเมืองสกลนคร ประมาณ 33 กิโลเมตร ห่างจากตัวอำเภอโคกศรีสุพรรณ 11 กิโลเมตร โดยมีอาณาเขตติดต่อกับหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านหนองเฮียน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านโพนไฮ
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยยาง
- ทิศตะวันตก ติดกับบ้านโพนค้อ
ชาวบ้านเหล่า ประกอบอาชีพหลัก คือ การทำไร่ ทำสวน และการหาของป่า
ชาวบ้านเหล่า เป็นสังคมเกษตรกรรม ชาวบ้านมีความกลมเกลียวสามัคคี มีความห่วงหาอาทร มีการนับถือกันระหว่างเครือญาติ ยึดมั่นในฮีตสิบสองคองสิบสี่ นอกจากนี้ชาวบ้านเหล่ามีความเชื่อเรื่องพุทธศาสนา
สำเนียงพูดของชาวบ้านเหล่า เป็นสำเนียงคล้ายกับภาษาไทญ้อ
พจนวราภรณ์ เขจรเนตร. (2563). ประวัติศาสตร์และศิลปะสถาปัตยกรรม “วัดศรีแก้วเหล่าอุดม”. สกลนคร