ชุมชนตั้งระหว่าง 2 จังหวัด คั่นด้วยคลอง พื้นที่โดยส่วนใหญ่ทำการเกษตร ถือเป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ยังคงดำรงรักษาวิถีชีวิต และประเพณีมอญอย่างเคร่งครัด
มอญคลอง 14 เป็นชื่อเรียกตามตำแหน่งที่ตั้งอยู่ริมคลอง 14 ซึ่งเป็นคลองกั้นระหว่างจังหวัดกรุงเทพฯ กับฉะเชิงเทรา
ชุมชนตั้งระหว่าง 2 จังหวัด คั่นด้วยคลอง พื้นที่โดยส่วนใหญ่ทำการเกษตร ถือเป็นพื้นที่สีเขียวของกรุงเทพฯ ยังคงดำรงรักษาวิถีชีวิต และประเพณีมอญอย่างเคร่งครัด
ชาวมอญคลอง 14 เป็นชุมชนมอญที่อยู่ในเขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร ตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่กันตั้งแต่เมื่อใดนั้นไม่มีหลักฐานจดบันทึกเอาไว้ เป็นลายลักษณ์อักษร
แต่จากหลักฐานด้านโบราณสถาน โบราณวัตถุ และจากคำบอกเล่าของผู้สูงอายุภายในชุมชน แสดงให้เห็นว่าชุมชนมอญแห่งนี้ก่อตั้งขึ้นเมื่อรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว (รัชกาลที่ 5) กลุ่มชาวมอญคลอง 14 นั้นเป็นชุมชนที่ขยายตัวมาจากสมุทรสาคร ปทุมธานี นนทบุรี และพระประแดง
ทั้งนี้สืบเนื่องจากนโยบายการขุดคลองรังสิต และลำคลองสายต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 ราว พ.ศ. 2433 เพิ่มพื้นที่นาสำหรับผลผลิตข้าวเพื่อการค้าและส่งออก เช่นเดียวกับการขยายตัวของชาวมอญไปสู่พื้นที่ทำนาแห่งใหม่อย่างบางพลี บางบ่อ บางแก้ว บางบัวทอง ไทรน้อย และลาดกระบัง
โดยทางการได้ประกาศเชิญชวนให้ราษฎรมาบุกเบิกที่ทำมาหากินด้วยการงดเว้นการเก็บภาษีในระยะแรก และเก็บในอัตราลดหย่อนพิเศษกว่าที่เคยเก็บในพื้นที่ทำนาเดิมในระยะต่อมา ประกอบกับพื้นที่ทำนาของชาวมอญที่สมุทรสาคร พระประแดง นนทบุรี และที่อื่น ๆ ก็เริ่มแออัดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น
การบุกเบิกพื้นที่คลอง 14 สมัยทวดเป็นรุ่น ๆ มาบุกเบิกกับตา ตาชื่อนายทอเรียะ ม่วงประเสริฐ ชื่อไทยชื่อนายยุก ม่วงประเสริฐ มาจากวัดบางเดื่อ ปทุมธานี ล่องเรือมาตามลำคลองที่เกิดจากทางเดินของโขลงช้างตามธรรมชาติ จับจองนา 100 ไร่ จับจองอยู่เป็นหลายเดือนกว่าจะได้ ในตอนนั้นพื้นที่ตรงนี้เป็นป่าโปร่ง มีช้าง ไม่มีเสือ ตาเล่าว่าถางไปเรื่อย หิวขึ้นมาก็จะไปเอาไข่นกมาทำไข่หวาน มาต้มน้ำตาลกิน ถางไปเรื่อยไม่ได้กำหนดว่าคนละกี่ไร่ ที่บ้านจับจองได้ 150 ไร่ ชาวบ้านจับจองกันนับ 100 ไร่ ทางสายตระกูลเลี้ยงบำรุงจับจองที่ดินได้เยอะมาก นายเจิม คนเดียวก็ประมาณ 300 ไร่
การที่สามารถบุกเบิกที่ทำกินได้มากเพราะครอบครัวเขามีผู้ชายเยอะ ได้แก่ นายสุข นายกลอน นายลอน นายเจิมฯ บ้านไหนผู้ชายเยอะก็จะทำการบุกเบิกถางไร่ ถางป่าได้มาก ผนวกกับตระกูลเขามีวงในเป็นเชื้อสายเจ้า คือดองกัน
สมัยก่อนไม่ได้กำหนดว่าคนละเท่าไหร่ แต่ต้องเสียค่าเสนา ถ้าไม่เสียจะโดนเกาะ หรือต้องเสียค่าปรับ การจับจองที่นาจำนวนมากตั้งแต่บุกเบิกนี้แสดงให้เห็นว่าวิถีชีวิตของชาวนาที่นี่เริ่มต้นก็เข้าสู่การผลิตเพื่อขายแล้ว
ชุมชนมอญคลอง 14 ตั้งอยู่บนพื้นที่รอยต่อทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของแขวงหนอกจอก เขตหนองจอก จังหวัดกรุงเทพมหานคร และมีขอบเขตพื้นที่บางส่วนตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกของตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา ชุมชนมอญคลองสิบสี่ ประกอบด้วย หมู่ที่ 11 แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร หมู่ที่ 4 แขวงหนองจอก เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร หมู่ที่ 3, 4, 5 ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ แขวงคลองสิบสอง เขตหนองจอก
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลกระทุ่มราย และตำบลศาลาแดง
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลดอนฉิมพลี
- ทิศตะวันตก ติดกับ หมู่ 9 แขวงคลอง 12 เขตหนองจอก
ลักษณะทางกายภาพ เป็นที่ราบลุ่ม มีการขุดคลอง 14 ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของที่ราบ แม่น้ำบางปะกง ความสูงของพื้นที่อยู่ระหว่าง 3-4 เมตร เหนือระดับทะเลปานกลาง คลอง 14 จะเชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ เป็นเส้นทางหลักในการคมนาคมของชุมชนมอญคลอง 14 ในอดีต โดยเฉพาะการเดินทางโดยทางเรือ
สาธารณูปโภค ชุมชนมอญคลอง 14 ในอดีตใช้ตะเกียงลาน ตะเกียงโป๊ะ ตะเกียงรั้ว ตะเกียงเจ้าพายุ ใช้ตอนนวดข้าวให้แสงสว่างเวลากลางคืน เริ่มมีไฟฟ้าใช้เมื่อ พ.ศ. 2523 และใช้น้ำจากคลองและบึงต่อมาจึงเริ่มเปลี่ยนมาใช้น้ำประปาแทน ในชุมชนมีร้านค้าขายของชำอยู่ 2-3 ร้าน และ มีตลาดนัดวัดจันทร์เช้า – อังคารเย็น ที่วัดใหม่เจริญราษฎร์ จุดศูนย์กลางคมนาคมที่สำคัญของชาวมอญคลอง 14 ทั้งในอดีตจนถึงปัจจุบัน คือตลาดหนองจอกเป็นสถานที่สำหรับซื้อสินค้า ซื้อเครื่องมือทางการเกษตร จุดต่อรถเพื่อเดินทางออกไปสถานที่อื่นๆ เช่น มีนบุรี หรือเข้ากรุงเทพฯ
แหล่งน้ำธรรมชาติ และลำคลองสำคัญในพื้นที่ ชุมชนมอญคลอง 14 มีคลองสำคัญในพื้นที่ ดังนี้ คลองลำบุหรี่พวง คลองสิบสอง คลองบึงปรง คลองบึงน้ำรักษ์ และคลองสิบสี่ซึ่งเป็นแนวแบ่งเขตการปกครองระหว่างกรุงเทพมหานครกับจังหวัดฉะเชิงเทราและการใช้น้ำจากบึงน้ำธรรมชาติ ที่เกิดจากโขลงช้างเดิน เช่น บึงยายบุญ (บึงน้ำรักษ์) บึงตาลอย บึงตาเจิม บึงตาแรม บึงฝรั่ง ชาวบ้านใช้น้ำจากลำคลองและบึงต่างๆ เพื่อการเกษตรทำนา ทำสวน ลำคลองจึงไม่ได้ใช้ในการคมนาคมอีกต่อไป
การคมนาคม เส้นทางรถประจำทางเข้าสู่ชุมชนมอญคลอง 14 ไม่มีรถประจำทางผ่านต้องใช้รถส่วนบุคคล หรือใช้รถซาเล้งเช่าไป-กลับระหว่างชุมชนกับตลาดหนองจอก ค่ารถซาเล้งเหมา 60-80 บาทต่อ 1 เที่ยว เส้นทางรถยนต์ส่วนบุคคล เป็นเส้นทางคมนาคมหลักทางบก มีถนนตัดผ่านทั้งฝั่งกรุงเทพมหานคร และฝั่งฉะเชิงเทรา
- เส้นทางเรือ การคมนาคมของชาวมอญคลอง 14 ในอดีตใช้เรือกันทุกครัวเรือนมีเรือหลายประเภท เช่น เรือมาศ เรืออีเป็ด เรืออีแปะ มีเรือสองตอนสั้น และเรือหางยาวโดยสารเที่ยวละ 5 บาท
- เรือสองตอนโดยสารจะใช้เวลา เร็วกว่าเกือบ ชั่วโมง ไป-กลับ 20 บาท เรือวิ่งจากตลาดหนองจอก ใช้เส้นทางคลองแสนแสบเข้าคลอง 14 ไปสิ้นสุด ตลาดคลอง 16 ฉะเชิงเทรา และมีเรือตลาด 16 วิ่งปลายทางสุเหร่าคลอง 14
- เรือสองตอนของมุสลิมทางคลอง 6 วา วิ่งไปถึงประตูน้ำ กรุงเทพ นอกจากนี้มีเรือเอี้ยมจุ๊น เรือแจว เรือพาย เรือเครื่อง เรือขายสินค้า จากปทุมธานี (กวานฮะตาว) ขายหม้อ ขายโอ่ง ขายไห ขายครก เรือขายสินค้าจากมหาชัย จะขายปูเค็ม เกลือ ไม้แสมทำฟืน จาก ไม้รวก ไม้ถ่อ
- เรือขายสินค้าเหล่านี้ถ้าสนิทกับบ้านไหน ก็จะจอดเรือนอนค้างที่หน้าบ้านเจ้าของบ้านก็จะนำอาหารไปแลกเปลี่ยนกับสินค้าในเรือ การวิ่งรับจ้างทางเรือเลิกเมื่อ ประมาณปี 2539- 2540 เพราะมีถนนเลียบคลอง 13 ฝั่งตะวันตก-ตะวันออกตัดผ่านถนนทางเข้าวัดใหม่เจริญราษฎร์ ปัจจุบันนี้ชาวบ้านไม่ได้ใช้เรือในการคมนาคม มีเพียงบางบ้านที่เก็บเรือไว้เป็นที่ระลึกถึงวิถีการใช้ชีวิตตามลำคลองในอดีต
- สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม คือ วัดใหม่เจริญราษฏร์ ตั้งอยู่เลขที่ 22 ถนนวัดใหม่เจริญราษฎร์ หมู่ที่ 11 แขวงคลอง 12 เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร สังกัดคณะสงฆ์มหานิกาย พื้นที่ตั้งวัดอยู่บนที่ราบลุ่ม ภายในวัดประกอบไปด้วย กุฏิสงฆ์ ศาลาการเปรียญ หอสวดมนต์
ชุมชนมอญคลอง 14 ประกอบด้วยหมู่ 3, 4, 5 ตำบลบึงน้ำรักษ์ อำเภอบางน้ำเปรี้ยว จังหวัดฉะเชิงเทรา มีบ้านเรือนประมาณ 106 หลังคาเรือน ประชากรประมาณ 1,000 กว่าคน มีเชื้อมอญ 70% อายุเฉลี่ย 65 ปี ขึ้นไปประมาณ 70 คน
ส่วนในหมู่ 4 แขวงหนองจอก และ หมู่ 11 แขวงคลอง 12 เขตหนองจอก กรุงเทพมหานคร มีประชากรประมาณ 475 คน ประชากรไม่ใช่มอญแท้ทั้งหมด มีชุมชนของชาวมุสลิมรวมอยู่ด้วย
ในอดีตมีการแต่งงานในชุมชนเดียวกันก่อนเพราะชาวมอญต้องดูเผ่าพันธุ์ พ่อแม่ว่าเป็นใคร ไม่ได้เป็นญาติพี่น้องกัน ชาวมอญจะยึดถือคติเรื่องไม่ให้แต่งงานกันในหมู่ญาติพี่น้อง จะต้องมีการสืบสายตระกูลจนแน่ใจจึงตกลงแต่งงานได้
การแต่งงานแบบมีเถ้าแก่ชักนำมาจากชุมชนมอญอื่น เช่นจาก พระประแดง ปทุมธานี สมุทรสาคร คนที่เป็นเถ้าแก่ ต้องเป็นที่ยอมรับนับถือของชุมชน ถ้าเถ้าแก่ไม่เป็นที่ยอมรับก็จะไม่ให้แต่ง ต่อมาเมื่อเริ่มมีการเปลี่ยนแปลงคนในชุมชนออกไปทำงานบริษัทมากขึ้นจึงมีการแต่งงานกับคนนอกชุมชน เช่นคนอีสานประมาณ 20 % และคนมุสลิมบ้าง
สายตระกูลของชาวมอญคลอง 14 ส่วนใหญ่มีการเชื่อมโยงเครือญาติมาจาก สมุทรสาคร พระประแดง ปทุมธานี นนทบุรี นครปฐม ลาดกระบัง โดยนามสกุลมักปรากฏชื่อตำบล อำเภอ หรือสถานที่อยู่อาศัย เช่น แว้บ้านแพ้ว มาจาก อำเภอบ้านแพ้ว จังหวัดสมุทรสาคร
มีการไปมาหาสู่กันอยู่เสมอ เมื่อมีกิจกรรม หรืองานสำคัญ เช่น งานบวช งานแต่ง หรืองานศพ ก็จะเดินทางไปร่วมงาน โดยเฉพาะในเทศกาลสงกรานต์ ชาวมอญคลอง 14 จะกลับไปเยี่ยมญาติพี่น้อง และทำบุญให้กับอัฐิบรรพบุรุษที่บรรจุไว้ในโกศตามวัดต่าง ๆ จากการสอบถาม พบว่า มีสายตระกูลสืบมาจากสมุทรสาครมีจำนวนมากที่สุด โดยแบ่งตามที่มา ได้ดังนี้
นามสกุล | ที่มา |
แว้บ้านแพ้ว, ศรีปาน, เจริญปาละ, พหลธรรมสาร, สุวรรณะ, ชื่นมีศรี, ทองกำพร้า, อุ่นยนต์, ทองมีศรี, บางแสงอ่อน, เลี้ยงบำรุง, ขันทอง , เมรี , เปลื้องทุกข์ | สมุทรสาคร |
แม้นสมุทร, ม่วงประเสริฐ, แก้วสว่าง ,เกนโรจน์ | ปทุมธานี |
พุ่มมณี (เดิมพุ่มแก้ว), สายจำปา, ชาวนา | พระประแดง |
ชาวชุมชนมอญคลอง 14 มีการผสมผสานของชาวมอญจากหลายพื้นที่เช่น ชุมชนมอญพระประแดง ชุมชนมอญสมุทรสาคร ชุมชนมอญปทุม ชุมชนมอญนนทบุรี ซึ่งได้เคลื่อนย้ายครัวมอญมาปักหลักตั้งถิ่นฐานจนกลายเป็นชุมชนมอญขนาดใหญ่ มีการติดต่อไปมาหาสู่กันอย่างสม่ำเสมอแสดงถึงความสัมพันธ์ในระดับเครือญาติที่ใกล้ชิดผ่านการแต่งงาน และยังมีการปฏิบัติสืบทอดวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิตจากบรรพบุรุษอันเป็นอัตลักษณ์ที่เข้มแข็งมาจนถึงปัจจุบัน
มอญอาจารย์ทวี แก่นดำ ได้ชักชวนคนชุมชนได้รวมกลุ่มกันตั้ง "ชมรมไทยรามัญคลอง 14" ขึ้นเมื่อปี 2548 มีวัตถุประสงค์เพื่ออนุรักษ์วัฒนธรรม สืบสาน วัฒนธรรมประเพณีมอญไม่ให้สูญหายไป และร่วมเป็นเครือข่ายของชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพและสมาคมไทยรามัญในการเผยแพร่ศิลปวัฒนธรรมมอญ
ชมรมไทยรามัญคลอง 14 รับเป็นเจ้าภาพจัดงานวันชาติมอญที่วัดใหม่เจริญราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2552 และได้รื้อฟื้นประเพณีวัฒนธรรมมอญกลับมาสู่ชุมชน เช่น ประเพณีแห่ธงตะขาบ การเล่นสะบ้าหนุ่มสาว นอกจากนี้ยังได้เป็นผู้ริเริ่มจัดตั้งพิพิธภัณฑ์มรดกวัฒนธรรมภูมิปัญญาไทยรามัญ (มอญ) คลอง 14 ในโรงเรียนวัดใหม่เจริญราษฎร์ เมื่อปี พ.ศ. 2549 อีกด้วย
ชุมชนมอญคลอง 14 เดิมอาชีพหลักเริ่มทำนาแบบไม่มีเครื่องจักร ใช้แรงงานคนและสัตว์เป็นส่วนใหญ่ ใช้ระหัดชกมวย ทำนาเฉพาะในฤดูฝนหลังสงกรานต์เดือน 6 เริ่มไถดะ ไถแปร และหว่านข้าว
พันธุ์ข้าวที่เพาะปลูกจะเป็นข้าวหนักพันธุ์ข้าวที่ใช้ ได้แก่ สำรวง เศรษฐี ทองมาเอง เหลืองควายล้า เหลืองเตี้ย เม็ดเล็ก พันธุ์พวกนี้เป็นพันธุ์โบราณปัจจุบันนี้ไม่มีแล้ว เวลาพ่อค้ามาซื้อจะไม่มีปัญหาในการคัดพันธุ์เพราะเป็นข้าวนาปีและชาวเม็ดยาวเหมือนกัน สามารถหุงกินได้เลย ใช้เวลาเพาะปลูกประมาณ 4-5 เดือน ถึงเก็บเกี่ยว เริ่มใช้เครื่องจักรทำนาเมื่อประมาณปี พ.ศ. 2511-2513 มีเครื่องไถนา เครื่องทุบนา และเริ่มมีเกษตรตำบลให้คำแนะนำเพื่อ เพื่อทำนาปีละ 2 ครั้ง
ชาวมอญคลอง 14 ยึดอาชีพทำนาถึงปัจจุบัน ร้อยละ 80-90 คนที่ทำรุ่นพ่อแม่ที่อายุ 50 ขึ้นไป รุ่นลูกทำน้อยมาก เพราะมีการส่งเสริมให้เรียนหนังสือ โดยเริ่มเรียนระดับประถมที่วัดใหม่เจริญราษฎร์ ชั้นป. 1-4 และไปเรียนต่อที่โรงเรียนวัดหนองจอก (ร.ร.ภักดี นรเศรษฐ์) เมื่อจบแล้วก็ไปเรียนต่อในสายครูเสียส่วนใหญ่ ดังนั้นในชุมชนยังยึดอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ทำนา ทำสวน ส่วนอาชีพรองธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย พนักงานบริษัท ข้าราชการ
การนับถือผี ชาวมอญคลอง14 ยังมีการนับถือผีประจำตระกูลตามความเชื่อ ได้แก่ ผีงู และผีเต่า ผีผมยาว ความเชื่อเกี่ยวกับผีงู เช่น ผู้ที่นับถือผีงูไม่ตีงู หากเจอซากใส่กระบุงมาฝัง และสามารถรักษาคนที่ถูกงูกัดให้หายได้ ยกเว้นคนที่ถูกงูกัดตีงูก็จะไม่รักษาให้ มีพิธีการไหว้ผีประจำตระกูลปีละครั้ง ช่วงหลังสงกรานต์เดือน 6 โดยมีเครื่องเซ่นไหว้ เช่น ไก่ เหล้า นำวางที่เสาผี หรือขึ้นหิ้งถวายผีบรรพบุรุษ บ้านผู้นับถือผีจะมีกระบุงผูกไว้ที่เสาเอกภายในบ้าน ในกระบุงจะมีแหวน มีผ้า เมื่อมีการรำผีจะนำผ้าออกมาใส่รำ ผู้ที่สืบทอดผี คือลูกชายคนโต จะทำหน้าที่สำรวจผ้าว่าชำรุด ก็ต้องคอยดูแลเปลี่ยนใหม่
ส่วนผู้ที่นับถือผีเต่า เมื่อเจอเต่าจะพูดว่าเหม็น โดยไม่จับฆ่า ถ้าไม่พูดว่าเหม็นต้องจับเต่าฆ่าทำอาหารมีชิ้นส่วนของเต่า แล้วขึ้นหิ้งไหว้บรรพบุรุษ เมื่อเวลาจัดงานบุญต่าง ๆ เช่น งานแต่ง งานบวช ลูกหลานจะต้องจัดสำรับอาหาร จุดธูป บอกกล่าวบรรพบุรุษ ให้รับรู้ด้วย ในกรณีหากมีงานศพ และไม่ได้จัดพิธีเผาศพ ก็ต้องบอกกล่าวบรรพบุรุษ เช่นเดียวกัน
วัฒนธรรมประเพณี ความเชื่อ ชาวมอญเป็นชนชาติที่ยึดถือและปฏิบัติตามคติความเชื่อ และความศรัทธาในพระพุทธศาสนา วิถีของชาวมอญแต่ละชุมชนมีความเชื่อและข้อปฏิบัติตามประเพณีต่าง ๆ ส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกันอาจจจะมีข้อปฏิบัติแตกต่างปลีกย่อยไปบ้าง ชาวมอญคลอง 14 มีคติความเชื่อและขนบธรรมเนียมประเพณีที่ปฏิบัติสืบทอดกันมาเหมือนกับชาวมอญทั่วไป นับตั้งแต่เกิดจนกระทั่งตาย ได้แก่ ประเพณีเกี่ยวกับการบวช การแต่งงาน ประเพณีงานทำศพ ประเพณีในวันสำคัญทางศาสนา ประเพณีเนื่องในเทศกาล และประเพณีความเชื่อเกี่ยวกับผีบรรพบุรุษ ผีบ้านผีเรือน (กะโลกฮ๊อย) ผีประจำตระกูลซึ่งมีนับญาติกันทางฝ่ายชาย ชาวมอญคลอง 14 นับถือ ผีงู ผีเต่า ผีไก่ ผีข้าวเหนียว ผีผมยาว แต่ปัจจุบันได้กลืนกลายไม่ได้มีการยึดถือและปฏิบัติตามธรรมเนียมเท่าไหร่ ยังพบเพียงบางบ้านที่กระบุงผ้าผีบรรพบุรุษ เช่น บ้านนาย ฤทธิ์ เจริญปาละ และสายตระกูลวันเจียม มีข้อห้ามเกี่ยวกับการนับถือผี เช่น ผีงูจะไม่ตีงู ผีผมยาวห้ามตัดผม ต้องร้องบอกว่า ไฟไหม้ (ซกตาว) แล้วขโมยอุ้มไปตัด โดยให้ญาติ หรือใครอุ้มไปก็ได้ ผีเต่า เจอเต่าให้พูดว่า ซะอุย (เหม็นเน่า) ถ้าไม่พูดต้องจับมาทำอาหารโดย ต้ม เผา ยำ แกง แล้วให้เอาส่วนหัว ชิ้นเนื้อ ข้าวสวย 1 ปั้นใส่ถ้วย น้ำ 1 แก้ว วางขึ้นหิ้งปะโหน่ก (บรรพบุรุษ) และเชิญประโหน่ก มารับของเซ่นไหว้ การรำผี ไปทำที่บ้านเกิด เช่น ที่สมุทรสาคร พระประแดง การผิดผี เช่นคนท้องมาผิงเสา หรือ มานอนมาในบ้าน มีเพื่อนที่เป็นสามีภรรยากัน มานอนในบ้านไม่ได้ ต้องนอนนอกบ้าน
ประเพณีเกี่ยวกับศาสนา ชุมชนมอญคลอง 14 ให้ความสำคัญกับการทำบุญตามประเพณีในรอบปีโดยเฉพาะประเพณีที่เกี่ยวกับพระพุทธศาสนา ซึ่งประเพณีส่วนใหญ่มีความคล้ายคลึงกับธรรมเนียมไทย โดยการไปวัด ตักบาตร ถือศีล บริจาคทาน ในงานวิจัยนี้จึงขอกล่าวเฉพาะประเพณีมอญบางประเพณีที่ยังปฏิบัติเฉพาะในชุมชนมอญคลอง 14 ที่มีความแตกต่างจากประเพณีไทยโดยทั่วไป ดังต่อไปนี้ 1) ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง 2) ประเพณีออกพรรษา ล้างเท้าพระ 3) ประเพณีทิ้งบาตร (เทาะว์ฮะเปี่ยง) ถือว่าเป็น 1 ใน 13 ธุดงควัตร
เดือน | รายละเอียดเกี่ยวกับประเพณี 12 เดือน |
เดือนอ้าย หรือ เดือน 1 | ช่วงเดือนธันวาคม ไม่มีกิจกรรมอะไรเป็นพิเศษ |
เดือนยี่ หรือ เดือน 2 | ช่วงเดือนมกราคม เป็นช่วงที่ข้าวในนาเริ่มออกรวง จะมีการทำขวัญแม่โพสพ โดยใช้ผลไม้รสเปรี้ยวใส่กระเช้านำไปบูชาแม่โพสพพร้อมกับตกแต่งด้วยธงทิวที่ทำจากกิ่งไม้ไผ่ในทุ่งนา |
เดือน 3 | ช่วงเดือนกุมภาพันธ์ มีการทำบุญวันมาฆะบูชาวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 และช่วงกลางเดือน 3 จะเผาข้าวหลามเพื่อถวายพระ เมื่อชาวบ้านทำนาเก็บเกี่ยวเสร็จก็จะเตรียมไปงานนมัสการรอยพระพุทธบาทที่จังหวัดสระบุรี |
เดือน 4 | ช่วงเดือนมีนาคม จะมีประเพณีวันตรุษ ตรงกับวันแรม 15 ค่ำเดือน 4 วันตรุษถือเป็นวันสิ้นปี ชาวบ้านจะทำข้าวเหนียวแดง ข้าวเหนียวแก้วไปทำบุญใส่บาตรที่วัด และเริ่มตั้งบ่อนสะบ้า |
เดือน 5 | ช่วงเดือนเมษายน เทศกาลสงกรานต์ มีกิจกรรมและประเพณีย่อยมากมาย ตั้งแต่การเตรียมอาหารในงานสงกรานต์ เช่น กะละแม ข้าวแช่ ประเพณีแห่หงส์ ธงตะขาบ สรงน้ำพระ ขนดินเข้าวัด ประเพณีการเล่นสะบ้า การเข้าผี แห่ธงตะขาบ แห่นก แห่ปลา |
เดือน 6 | ช่วงเดือนพฤษภาคม ประเพณีการทำบุญสลากภัต เป็นการทำบุญด้วยผลไม้ และประเพณีบวงสรวงศาลเจ้าพ่อองค์แก้ว สิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชน 15 ค่ำเดือน 6 |
เดือน 7 | เดือน 7 ช่วงเดือนมิถุนายนไม่มีเทศกาลใดเป็นพิเศษ เริ่มมีการบวชพระ |
เดือน 8 | เดือน 8 ช่วงเดือนกรกฎาคม ทำบุญเทศกาลเข้าพรรษา ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 ชาวมอญจะไปทำบุญถือศีลปฏิบัติธรรมที่วัด มีกิจกรรมทำบุญตักบาตร การรับเป็นเจ้าภาพกัณฑ์เทศน์ทุกวันพระตลอดช่วงเข้าพรรษาประเพณีทิ้งบาตร (เทาะฮะเปรียง) พระสงฆ์จะนำบาตรไปส่งยังบ้านญาติโยม เพื่อให้ใส่อาหารคาวหวานลงในบาตร จากนั้นจึงนำไปถวายพระที่วัด |
เดือน 9 | ช่วงเดือนสิงหาคมไม่มีเทศกาลใดเป็นพิเศษ |
เดือน 10 | ช่วงเดือนกันยายน ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 10 เป็นการทำบุญโดยการนำน้ำผึ้งและข้าวต้มมัดไปถวายพระสงฆ์ |
เดือน 11 | เดือน 11 ช่วงเดือนตุลาคม เป็นเทศกาลออกพรรษา เริ่มตั้งแต่วันขึ้น 14 ค่ำ 15 ค่ำ เดือน 11 จนถึงวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ชาวมอญจะมีการทำบุญตักบาตร และมีประเพณีตักบาตรดอกไม้ ประเพณีล้างเท้าพระ และประเพณีทอดกฐินระหว่างวันแรม 1 ค่ำเดือน 11 ถึง วันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 รวมเวลา 1 เดือน |
เดือน 12 | ช่วงเดือนพฤศจิกายน ประเพณีลอยกระทง ตรงกับวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 12 |
ประเพณีเกี่ยวกับเทศกาล มีดังนี้ 1) ประเพณีแห่ธงตะขาบ 2) ประเพณีการรำบวงสรวงเจ้าพ่อองค์แก้ว คือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ประจำชุมชนมอญคลอง 14 ชาวบ้านเล่าตำนานของเจ้าพ่อองค์แก้วว่าว่า สมัยทวด ชื่อนายเกลิง และนางล็อต ม่วงประเสริฐ มาถากถางจับจองที่ดิน
บริเวณชุมชนยังเป็นเป็นป่ารกชัฏ เป็น โคกเนิน รกร้าง ก็ได้มีเจ้าพ่อมาประทับทรง โดยบอกว่าชื่อเจ้าพ่อองค์แก้ว เป็นเจ้าที่เจ้าที่ คอยปกปกรักษาที่ดินบริเวณนั้น และสั่งให้สร้างเสากลางแจ้ง โดยห้ามปลูกสร้างอาคาร ห้ามมุงหลังคา
เมื่อตั้งเป็นชุมชนชาวบ้านได้ตั้งเสา เพื่อเป็นสถานที่ประทับของเจ้าพ่อองค์แก้วที่ชาวมอญคลอง 14 ให้ความเคารพนับถือ เป็นขวัญ กำลังใจ และเป็นที่ยึดเหนี่ยวจิตใจของคนในชุมชน ทุก ๆ ปีมีพิธีไหว้เจ้าพ่อองค์แก้ว กำหนดไว้วันศุกร์ท้ายสงกรานต์ช่วงเดือน 6 ถ้าหากวันศุกร์นั้นตรงกับวันพระก็จะเลื่อนออกไป พิธีไหว้เจ้าพ่อองค์แก้ว ชาวบ้านจะนำข้าวปลา อาหาร ขนม ผลไม้ พวงมาลัยดอกไม้ มาเซ่นไหว้ที่เสาเจ้าพ่อองค์แก้ว และมีการรำกลองยาวถวายเจ้าพ่อเพื่อความเป็นสิริมงคล
ประเพณีเกี่ยวกับวงจรชีวิต มีดังนี้ 1) ประเพณีบวชนาคมอญ 2) ประเพณีแต่งงาน 3) ประเพณีงานศพ
ทุนกายภาพ ชุมชนมอญคลอง 14 ตั้งอยู่ริมคลองที่กั้นระหว่างกรุงเทพฯ และฉะเชิงเทรา ส่วนมากยังเป็นพื้นที่นา เรียกได้ว่าเป็นพื้นที่สีเขียวของทั้งกรุงเทพและฉะเชิงเทรา
ทุนมนุษย์ ภายในชุมชนมีผู้ที่เชี่ยวชาญในแขนงของตนเองหลายด้าน ดังนี้
- นายทวี แก่นดำ ประวัติชุมชน ภาษา ประเพณี พิธีกรรม
- ผู้ใหญ่เสงี่ยม เลี้ยงบำรุง อาหารมอญ
- นางมาลี พหลธรรมสาร อาหารมอญ
- นางสาวสำราญ อุ่นยนต์ อาหารมอญ งานฝีมือ
- นายสุข ศรศิลป์ ประวัติชุมชน
- นายณฎล ศรศิลป์ พิธีกรรม งานฝีมือ
ทุนวัฒนธรรม การแต่งกายของชาวมอญคลอง 14 แต่งกายตามสมัยนิยมแบบชาวไทยทั่วไป แต่จะพบว่า มีการแต่งกายลักษณะพิเศษ เฉพาะในช่วงเวลาสำคัญ เช่นการไปวัด ทำบุญ หรือร่วมงานประเพณีตามเทศกาลต่าง ๆ ซึ่งผู้หญิงมอญจะใส่เสื้อประเภทเสื้อลูกไม้ หรือเสื้อผ้าแบบอื่น ๆ แขนสั้น หรือ แขนยาว ลักษณะพอดีตัว สวมผ้าถุงยาวกรอมเท้า และห่มผ้าสไบ สีสดใส ผู้หญิงจะนิยมไว้ผมยาว และเกล้ามวย ประดับตกแต่งด้วยดอกไม้และเครื่องประดับอื่น ๆ ส่วนผู้ชายสวมเสื้อตามสมัยแขนสั้นหรือ แขนยาวก็ได้ และนิยมนุ่งโสร่ง หรือ นุ่งผ้าลอยชาย (ทิ้งชาย) พาดผ้าขาวม้า หรือ ผ้าสไบบนบ่า
เดิมชาวมอญคลอง 14 เมื่อมาตั้งถิ่นฐานก็จะอยู่รวมกันเป็นกลุ่ม ในชุมชนมีวัดประจำหมู่บ้านที่ใช้เป็นสถานที่ประกอบพิธีทางศาสนาและให้การศึกษาแก่ลูกหลานชาวมอญ ภาษาที่ใช้กันในหมู่บ้านตลอดจนในวัดทั้งบทวดและบทเทศน์จะเป็นภาษามอญ ในหมู่บ้านจะพูดแต่ภาษามอญจนกระทั่งข้าโรงเรียนจึงเริ่มพูดภาษาไทยบ้างเพราะต้องใช้หนังสือไทย
แต่ในปัจจุบันนี้การใช้ภาษามอญของชาวมอญคลอง 14 น้อยลงมาก โดยจะพบเพียงผู้สูงอายุที่ยังสามารถพูดภาษามอญสื่อสารกันได้ ลูกหลานคนมอญที่เป็นคนรุ่นใหม่จะพูดมอญไม่ได้เลย และเมื่อมีการแต่งงานไปกับคนไทย และคนในวัฒนธรรมอื่นๆ จึงทำให้กลืนกลายไปหมด และเป็นที่น่าเสียดายว่า ชาวมอญที่เขียนและอ่าน หรือพูดภาษามอญนั้นนับวันจะน้อยลงไปทุกที
เกิดความท้าทายในด้านภาษาของชาวมอญที่ถูกกลืนกลายไปกับวัฒนธรรมอื่น ๆ เมื่อคนมอญรุ่นใหม่ออกไปใช้ชีวิตหรือแต่งงานกับคนนอกชุมชนมอญ เหลือแต่เพียงผู้สูงอายุในชุมชนที่เป็นประชากรส่วนใหญ่ที่สื่อสารภาษามอญได้
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.