ชุมชนชาวปกาเกอะญอ การอยู่ร่วมกันของคนกับป่า และประเพณีสำคัญที่ยึดโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การนับถือฤาษีที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชน ทำให้บ้านหม่องกั๊วะมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาธรรมชาติในฐานะกลุ่ม "ต้นทะเล"
หม่องกั๊วะ ว่ากันว่าเพี้ยนมาจากภาษามอญ คำว่า "มอมองคว่า" มีความหมาย คือ หน้าผาสองง่าม เนื่องจากในชุมชนแต่ก่อนมีชาวมอญมาอาศัยก่อนที่จะอพยพไป อีกทั้งยังมีภูเขายอดสูงที่มีลักษณะคล้ายกับง่ามไม้ จึงทำให้กลายมาเป็นที่มาของชื่อชุมชนดังกล่าว
ชุมชนชาวปกาเกอะญอ การอยู่ร่วมกันของคนกับป่า และประเพณีสำคัญที่ยึดโยงกับการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม การนับถือฤาษีที่เป็นสิ่งยึดเหนี่ยวจิตใจคนในชุมชน ทำให้บ้านหม่องกั๊วะมีบทบาทสำคัญในการดูแลรักษาธรรมชาติในฐานะกลุ่ม "ต้นทะเล"
แต่เดิมบ้านหม่องกั๊วะเป็นชุมชนของชาวมอญที่อพยพมาจากประเทศพม่า โดยมีเส้นทางการอพยพมายังบ้านเปิ่งเคลิ่งเป็นที่แรก แล้วจึงอพยพมาเรื่อย ๆ แล้วเมื่อมาถึงบ้านหม่องกั๊วะ จึงพักอาศัยอยู่ชั่วคราว กระทั่งการอพยพของชาวมอญไปสิ้นสุดที่บ้านแม่จันทะ ที่ซึ่งกษัตริย์ของชาวมอญเสียชีวิตลง นอกจากนั้นยังมีข้อมูลจากหนังสือของมูลนิธิศุภนิมิตรที่กล่าวถึงการอพยพว่า การอพยพของชาวมอญเกิดขึ้นในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 จึงทำให้หมู่บ้านถูกทิ้งร้าง แต่ต่อมามีชาวกะเหรี่ยงเข้ามาอยู่อาศัยแทน ซึ่งประกอบไปด้วยชาวกะเหรี่ยงเชื้อสายต่าง ๆ คือ กลุ่มบ้านหม่องกั๊วะ เป็น กระเหรี่ยงโผว/โป (กะเหรี่ยงน้ำ) กลุ่มบ้านมอทะ กลุ่มบ้านพอกะทะ กลุ่มบ้านยูไนท์ เป็นกลุ่มกะเหรี่ยงดอย และกลุ่มบ้านไกบอทะ เป็นชาวกะเหรี่ยงที่นับถือฤาษี โดยชาวบ้านจะเรียกกลุ่มบ้านเหล่านี้ว่า "บ้านหม่องกั๊วะ"
นอกจากนั้นยังมีเหตุการณ์ต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในหมู่บ้านดังนี้
ช่วงเวลา | เหตุการณ์ |
พ.ศ. 2480 | มีการจัดทำบัตรประชาชนให้กับชาวบ้านในชุมชน |
พ.ศ. 2490 | การก่อตั้งสำนักสงฆ์ในชุมชน ในช่วงที่อิทธิพลของคอมมิวนิสต์แพร่กระจายเข้ามาในหมู่บ้าน สำนักสงฆ์จึงถูกปิด |
พ.ศ. 2508 | เขตจังหวัดตาก อำเภอแม่สอด กลายเป็นพื้นที่เคลื่อนไหวของคอมมิวนิสต์ |
พ.ศ. 2518 | มีการจัดตั้งพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทยขึ้นที่บ้านหม่องกั๊วะ |
พ.ศ. 2526 | หลังจากเหตุการณ์เริ่มสงบลง ทางการจึงส่งทหารเข้าไปดูแลพื้นที่ และมีการจัดทำบัตรประชาชนให้กับชาวบ้านใหม่อีกครั้ง |
พ.ศ. 2526 | มีการแพร่ระบาดของโรคที่มีความคล้ายคลึงกับมาลาเรีย ส่งผลให้เด็กในหมู่บ้านเสียชีวิตจำนวนมาก |
พ.ศ. 2530 | มีการจัดทำถนนหลวงหมายเลข 1288 บ้านอุ้มผาง-เปิ่งเคลิ้ง และมีการจัดตั้งสำนักสงฆ์หม่องกั๊วะพุทธยานในปีเดียวกัน |
พ.ศ. 2534 | จัดตั้งสถานบริการสาธารณสุข จากที่ดินของชาวบ้านและกรรมการหมู่บ้าน และมีการต่อเติมเรื่อยมา จนกระทั่งปี 2552 จึงจัดตั้งสถานบริการขึ้นมาใหม่ |
พ.ศ. 2535 | จัดตั้งแผงโซล่าเซลล์ชุมชน |
พ.ศ. 2537 | ตั้งแต่พื้นที่บ้านกุยเลอตอจนไปถึงบ้านหม่องกั๊วะ ถูกประกาศให้เป็นเขคพื้นที่รักษาพันธ์ุสัตว์ป่าอุ้มผาง |
พ.ศ. 2539 | โรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดน กองกำกับตำรวจตระเวนชายแดนที่ 34 ได้รับการอนุมัติให้เป็นโรงเรียนสาขาโรงเรียนตำรวจตะเวนชายแดนแม่กลองดี |
พ.ศ. 2544 | เริ่มมีการแจกจ่ายแผงโซล่าเซลล์ให้กับชาวบ้านจนแล้วเสร็จปี 2545 |
พ.ศ. 2547 | มูลนิธิสืบนาคะเสถียรลงพื้นที่ทำงานร่วมกับชุมชน โดยเริ่มที่ บ้านหม่องกั๊วะ มอทะ ไกบอทะ เป็นอันดับแรก |
พ.ศ. 2548 | จัดตั้งกลุ่ม "ต้นทะเล" อย่างเป็นทางการ |
พ.ศ. 2550 | มีการรวมตัวกันของกลุ่มอาสามัครสุขภาพชุมชน (ได้รับการสนับสนุนจากมูลนิธิสืบนาคะเสถียร) |
พ.ศ. 2553 | จัดตั้งโครงการโทรศัพท์สาธารณะชุมชน โดยกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ กิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ และบริษัท กสท โทรคมนาคม จำกัด (มหาชน) |
บ้านหม่องกั๊วะ ตั้งอยู่ในเขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าอุ้มผาง ส่งผลให้ลักษณะภูมิประเทศเป็นพื้นที่ราบสูง มีภูเขาสลับซับซ้อน ป่ามีความอุดมสมบูรณ์ตลอดทั้งปี มีลำห้วยไหลผ่าย 3 สายคือ ลำห้วยทีเป่อ (ตั้งอยู่ระหว่างบ้านมอทะและบ้านหม่องกั๊วะ) ลำห้วยมอล่าโกร และลำห้วยหม่องกั๊วะ (อยู่ระหว่างบ้านหม่องกั๊วะและบ้านไกรบอทะ) อีกทั้งมีระยะห่างจากตัวเมืองตากประมาณ 335 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอแม่สอด 164 กิโลเมตร และห่างจากอำเภออุ้งผาง 92 กิโลเมตร
อาณาเขตของหมู่บ้านยังติดกับพื้นที่อื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านมอทะ หมู่ 7 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านยูไนท์ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านปะหละทะ หมู่ที่ 1 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านไกบอทะ หมู่ที่ 7 ตำบลแม่จัน อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก
ลักษณะภูมิอากาศ
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่ ปลายเดือนพฤษภาคมถึงต้นเดือนพฤศจิกายน ในช่วงฤดฝน ทำให้การคมนาคมค่อนข้างลำบากเนื่องจากฝนตกหนัก
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่ เดือนพฤศจิกายนไปจนถึงกุมภาพันธ์ มีอุณหภูมิเฉลี่ยอยู่ประมาณ 12-15 องศาเซลเซียส
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่ ปลายเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงพฤศจิกายน โดยอากาศจะร้อนสุดในช่วงเดือนเมษายน มีอุณหภูมิโดยเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 34-37 องศาเซลเซียส
ระบบสาธารณูปโภคในชุมชน
- ระบบประปา ภายในหมู่บ้านมีการใช้ระบบประปาภูเขา โดยการต่อท่อจากลำห้วยไปเก็บน้ำไว้ในถัง แล้วจึงค่อยต่อท่อเพื่อส่งน้ำมายังบ้านที่พื้นที่ราบในแต่ละหลัง
- ระบบไฟฟ้า ชาวบ้านส่วนใหญ่ใช้ไฟฟ้าจากแผงโซล่าเซลล์ที่ได้รับแจก
ข้อมูลประชากรทะเบียนราษฏร อำเภออุ้งผาง ประชากรบ้านหม่องกั๊วะประจำเดือนมิถุนายน 2567 พบว่ามีประชากรโดยทั้งสิ้น 2,619 คน แบ่งเป็น ชาย 1,368 หญิง 1,251 คน ประชากรส่วนใหญ่ในหมู่บ้านมีเชื้อสายกะเหรี่ยงโผลว/โปว เป็นกลุ่มที่นับถือศาสนาพุทธและมีการนับถือผีร่วมด้วย
โดยชาวกะเหรี่ยงจะมีพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีความเกี่ยวข้องกับธรรมชาติ เช่น การไหว้ผี บูชาต้นไม้ แต่เดิมทีชาวกระเหรี่ยงมีการนับถือผีมาแต่ก่อน แต่เมื่ออิทธิพลทางศาสนาเข้ามาผ่านชาวมอญ ส่งผลให้ชาวกะเหรี่ยงต้องปรับตัวในการทำพิธีกรรม หรือการไหว้ต่าง ๆ ให้เข้ากับระบบความเชื่อใหม่
ปกาเกอะญอชาวบ้านในชุมชนประกอบอาชีพเกษตรกรรมเป็นส่วนใหญ่ โดยใช้วิธีการทำไร่หมุนเวียน คือ การเพราะปลูกแบบระยะสั้น แล้วหลังจากเสร็จสิ้นการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยว พื้นที่ดังกล่าวจะถูกทิ้งไว้เป็นเวลานานหลายปี เพื่อให้แร่ธาตุต่าง ๆ กลับมาสมบูรณ์ จึงค่อยกลับมาทำที่เดิม
พืชที่ชาวบ้านนิยมปลูกมีดังนี้
- ข้าว ข้าวของชาวบ้านมักจะมีคนจากภายนอกมารับซื้อ โดยช่วงของการเก็บเกี่ยวข้าวของชาวบ้านจะเริ่มต้นตั้งแต่เดือน พฤศจิกายน-ธันวาคม
- พริก
- ฟักและแตง ส่วนใหญ่ฟักและแตงชาวบ้านมักจะปลูกเพื่อใช้ในการบริโภค แต่บางครั้งก็มีการรับซื้อจากทางโรงเรียนตำรวจตระเวนชายแดน ในการนำไปใช้ในการประกอบอาหารกลางวัน
- หมากและมะพร้าว เป็นพืชผลทางการเกษตรที่พบได้น้อยในชุมชน แต่ก็มีพบอยู่บ้าง
อีกทั้งคนหนุ่มสาวในชุมชนจะออกไปประกอบอาชีพรับจ้างนอกหมู่บ้านเป็นส่วนใหญ่ นอกจากนั้นแล้ว ในชุมชนยังประกอบไปด้วยกลุ่มทางสังคมอื่น ๆ ที่มีทั้งการจัดตั้งโดยหน่วยงานภาครัฐและการจัดตั้งที่เกิดจากการรวมตัวกันเองของชาวบ้าน ดังนี้
กลุ่มที่ได้รับการส่งเสริมจากภาครัฐ
- โครงการแก้ไขปัญหาความยากจน (กข.คจ)
ก่อตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2538 มีหน้าที่หลักแก้ไขปัญหาความยากจนในชนบททั่วประเทศ และให้เงินทุนสนับสนุนแก่คนในชุมชนในการกู้ยืมไปเพื่อการประกอบอาชีพ โดยไม่มีดอกเบี้ย เพื่อยกระดับชีวิตของคนในชุมชนให้มากยิ่งขึ้น
- โครงการพัฒนาหมู่บ้านและชุมชน (SML)
มีหน้าที่ในการจัดสรรงบประมาณโดยตรง เพื่อให้ชาวบ้านในชุมชนนำไปใช้ในชีวิตประจำวัน เพื่อประกอบอาชีพที่มั่นคง โดยให้ประชาชนจัดการบริหารจัดการเอง นอกจากนั้นหมู่บ้านหม่องกั๊วะได้รับการจัดแจงให้เป็นหมู่บ้านขนาดกลาง (M) ทำให้ทางหมู่บ้านได้รับการจัดสรรงบประมาณ 400,000 บาท/ปี เพื่อใช้ในการการพัฒนาหมู่บ้าน เช่น การซ่อมแซมท่อประปา, หอกระจายข่าว หรือการซื้อวัวควายเพื่อแจกจ่ายชาวบ้าน
- กองทุนหมู่บ้าน
จัดตั้งเมื่อ ปี พ.ศ. 2546 ตามนโยบายของรัฐบาล เพื่อส่งเสริมการพึ่งพาตนเองของคนในชุมชน และเพื่อส่งเสริมการสร้างศักยภาพด้านเศรษฐกิจ สังคม และสำหรับเป็นแหล่งเงินทุนในหมู่บ้าน
- อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
บุคคลที่ได้รับการฝึกอบรมตามหลักสูตรกระทรวงสาธารณสุข โดยมีหน้าที่คือ เผยแพร่ความรู้ทางสาธารณสุขให้กับชุมชน ส่งเสริมสุขภาพ เฝ้าระวังการแพร่ระบาดและป้องกันโรค จัดกิจกรรมพัฒนาสุขภาพภาคประชาชน เป็นต้น
- คณะกรรมการร่วมรักษาผืนป่าตะวันตก เขตรักษาพันธ์ุสัตว์ป่าอุ้มผาง
โดยมีมูลนิธิสืบนาคะเสถียรในการริเริ่ม เนื่องจากหมู่บ้านหม่องกั๊วะตั้งอยู่ในเขตพื้นที่อุทยาน ทางมูลนิธิจึงได้ชักชวนชาวบ้านในการร่วมกันอนุรักษ์ธรรมชาติ เพื่อให้ชาวบ้านดำรงชีวิตร่วมกับป่าได้โดยไม่ต้องทำลายสิ่งแวดล้อม
กลุ่มทางธรรมชาติ
- กลุ่มคนต้นทะเล เป็นกลุ่มที่เกิดจากการรวมตัวกันของคนในชุมชน โดยมี นาย สมหมาย ทรัพย์รังสิกุล (อดีตผู้ใหญ่บ้านและผู้อาวุโส) เป็นแกนนำในการจัดตั้ง เพื่อที่จะต้องการฟื้นฟูวิถีชีวิตและวัฒนธรรมของคนในชุมชมให้สามารถอยู่ร่วมกับธรรมชาติได้ โดยมีชุมชนสมาชิกทั้งสิ้น 6 หมู่บ้าน ได้แก่ บ้านกุยเลอตอ, บ้านกุ๊ยตะ, บ้านกุ๊ยเคล็อะ, บ้านพอกะทะ, บ้านมอทะ และบ้านหม่องกั๊วะ
ในชุมชนประกอบไปด้วยประเพณีต่าง ๆ ที่จัดขึ้นในแต่ละเดือนดังนี้
- พิธีอ้อบือซาโคะ/ทำบุญข้าวใหม่
เป็นพิธีที่มักจัดขึ้นหลังจากเก็บเกี่ยวข้าวเสร็จแล้วในเดือนมกราคม โดยชาวบ้านจะนำเอาข้าวเปลือกมารวมกันที่สำนักสงฆ์ (ปัจจุบันพิธีดังกล่าว ค่อย ๆ ลดลงไปเนื่องชาวบ้านเริ่มมียุ้งข้าวเป็นของตนเอง และการกินข้าวใหม่ส่วนใหญ่จึงถูกเปลี่ยนเป็นการกินที่บ้านของแต่ละคนมากยิ่งขึ้น)
- ประเพณีปีใหม่กะเหรี่ยง
ตรงกับช่วงประเพณีสงการณ์ของไทย โดยในช่วงของปีใหม่กะเหรี่ยง บ้านหม่องกั๊วะจะมีการรวมตัวกันเพื่อทำบุญ และมีการเล่นน้ำสงการนต์
- ประเพณีเบอะกะบอ/บูกะบอ
คล้ายกับงานบุญประเพณีประจำหมู่บ้าน โดยชาวบ้านในชุมชนจะนำเอา กล้วย ฟัก ข้าว มารวมกันที่บริเวณวัด ทั้งหมด 3 วัน 3 คืน
- ประเพณีกี้จือลอซู/ทำบุญผูกข้อมือ
การผูกข้อมือเรียกขวัญของชาวกะเหรี่ยง เป็นการขอให้ลูกหลานอยู่ดีมีสุข มีความเจริญรุ่งเรือง ปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ มีอายุยืนยาว โดยเชื่อกันว่าเป็นมงคลที่สูงที่สุด มักจะจัดขึ้นในช่วงเดือนตุลาคม
- พิธีทำบุญสงเคราะห์บ้าน/การไหว้ผีของแต่ละบ้าน
จะมีการทำบุญดังกล่าวในช่วงก่อนปีใหม่ (ของกะเหรี่ยง) คือในช่วงเดือนมีนาคมและเมษายน มักจะทำจัดการทำบุญในช่วงที่มีคนในบ้านเจ็บป่วย
ผู้นำชุมชน
- นาย อุทัย เยี่ยมยอดพนา ตำแหน่ง ผู้ใหญ่บ้าน (คนปัจจุบัน)
ผู้นำทางธรรมชาติ
- นาย สมหมาย ทรัพย์รังสิกุล
- นาย เจริญชัย ชัยพฤกษ์คีรี
- นาย พินิจ ดรรชนีนามชัย
ทุนวัฒนธรรม
- องค์ฤาษี/พืออิสิ
เป็นผู้นำสูงสุดทางจิตวิญญาณและเป็นผู้นำทางความเชื่อของคนในชุมชนของคนปกาเกอะญอ โดยฤาษีมีบทบาทเป็นที่ปรึกษาทั้งทางโลกและทางธรรม เนื่องจากเชื่อกันว่าเป็นการกลับชาติมาเกิดของฤาษีองค์ก่อน ๆ อีกทั้งการมีองค์ฤาษีอยู่ในพื้นที่ใด พื้นที่นั้นถือว่าเป็นพื้นที่ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีสันติ และได้รับการเคารพนับถือ เพราะถือว่าองค์ฤาษี เป็น "ตนบุญ" และเป็นมรดกของศรัทธาที่คนในชุมชนให้ความสำคัญเป็นอันดับแรก ถึงแม้ว่าจะเริ่มมีการนับถือศาสนาพุทธและคริสต์ก็ตาม
2. ประเพณีไหว้เจดีย์/ประเพณีมาบุ๊โค๊ะ
พิธีกรรมที่มีความสำคัญที่สุดในรอบปี เป็นการขอบคุณทุกสรรพสิ่งและจักรวาล ภายในพิธีกรรมผู้ที่นับถือฤาษีทุกคนต้องเข้าร่วมทั้งหมด 7 วัน 7 คืน โดยปราศจากแอลกอฮอล์ การฆ่าสัตว์ ของทุกอย่างที่นำมาถวายจะเป็นการนำธัญญาหารแทนเนื้อสัตว์ รูปแบบการสร้างเจดีย์ของชาวกะเหรี่ยงที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม แบ่งออกมาเป็น 3 แบบดังนี้ เจดีย์ทราย เจดีย์ข้าว เจดีย์ดิน โดยแต่ละแบบจะสะท้อนถึงสถานการณ์โลกในปีนั้น ๆ ในแต่ละปีจะมีผู้แทนฤาษีเป็นผู้กำหนดว่าต้องการสร้างเจดีย์แบบไหน การสร้างเจดีย์แต่ละครั้งจะสร้างด้วยเสาไม้ไผ่ขนาดใหญ่
นอกจากนั้นยังมีส่วนประกอบอื่น ๆ คือ เสาไม้ไผ่ (ตะเดอ), ชั้นไม้ไผ่ (ตะ-หมุ) และ ต้นไม้สองง่าม (กอลาตะเปอะ) โดยองค์ประกอบแต่ละอย่างจะมีหน้าที่แตกต่างกันไป เช่น เสาไม้ไผ่ที่มีดอกไม้ประดับ มีหน้าที่บูชาเทวดา หรือต้นไม้ 2 ง่าม ที่เป็นตัวแทนของบนและน้ำ เป็นต้น ในพิธีกรรมจะจัดขึ้นบริเวณเนินกว้างของชุมชน ก่อนเข้าพิธีต้องการพรมน้ำมนต์ และเมื่อถึงช่วงจุดเทียน จะมีผู้แทนฤาษีและชายถือพรหมจรรย์ในการจุดเทียนขี้ผึ้งสักการะ (ส่วนฝ่ายหญิงจะมีแค่การไหว้และจุดเทียนในที่เฉพาะเท่านั้น) จากนั้นผู้ทำพิธีจะทำการเทน้ำออกจากกระบอกลงดินเพื่อทำการอธิษฐาน ขอพรจากเทวดา และขานรับเป็นภาษากะเหรี่ยงพร้อมกัน แล้วจึงเคลื่อนขวนรอบสักการะไปจนครบ 12 ตะ-หมุ (ชั้นไม้ไผ่) จึงถือว่าเป็นการเสร็จสิ้น และจะมีการทำซ้ำจนครบ 7 วัน
3. ประเพณีเรียกแขกกินข้าว
เป็นวิถีของชาวบ้านรูปแบบหนึ่ง ในการเรียกแขกมากินข้าวที่บ้าน เนื่องจากชาวบ้านมีความเชื่อกันว่า หากเรียกแขกมากินข้าวได้มาก พืชผลทางการเกษตรที่ปลูกไว้ก็จะอุดมสมบูรณ์ไปด้วย อีกทั้งยังมีความเชื่อที่ว่าด้วย การเรียกแขกกินข้าวยังเป็นการทำบุญรูปแบบหนึ่ง ที่มีค่ามากกว่าการทำบุญด้วยเงินทอง หากทำบุญด้วยข้าวก็จะอดข้าว อีกทั้งยังเป็นการสร้างสัมพันธ์กับผู้มาเยือน โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับกลุ่มภาคีนอกชุมชน ซึ่งเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ที่ดีแก่กัน
4. การแต่งกาย
ชาวปกาเกอะญอมีการแต่งกายที่มีความเป็นเอกลักษณ์และเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมีความภาคภูมิใจ วิธีการทำชุดของคนในชุมชนยังคงใช้วิธีการทอผ้าด้วยตนเอง มีการแต่งกายเพื่อแยก ชาย หญิง และสถานะอย่างชัดเจน เช่น ผู้หญิงที่ยังไม่แต่งงานจะใส่ชุด "เซวา" เพื่อบ่งบอกถึงความบริสุทธิ์ ความเป็นสาวโสด ส่วนหญิงที่แต่งงานแล้วจะใส่เสื้อ "เซซู" เพื่อเป็นสัญลักษณ์ที่บอกว่า "ผู้นี้พร้อมที่จะอดทนเพื่อคนที่ตนเองรัก" และจะมีซิ่นสีแดงที่เรียกว่า "หนี่" ส่วนฝ่ายชายจะใส่เสื้อที่เรียกว่า "เซกอ" เพื่อบ่งบอกถึงความเป็นชาย และใส่โสร่งสีแดงร่วมด้วย แต่หากผู้ชายคนไหนที่ยังโสดจะสวมเสื้อ "เชกอพะทอ" ในการประกอบพิธีตามความเชื่อของฤาษี
5. การไว้มวยผม
เป็นการแสดงออกทางอัตลักษณ์งของผู้ชายที่นับถือฤาษีในชุมชน การไว้มวยผมมีนัยสำคัญในเชิงสัญลักษณ์อย่างหนึ่ง คือ ผู้ชายที่นับถือฤาษี ทรงผมยาวมัดมวย "ต้องเป็นผู้ชายที่คิดการณ์ไกล ต้องคิดเผื่อผู้อื่นอยู่เสมอ" อีกทั้งยังมีความหมายที่ชี้ให้เห็นถึงการใช้ทรัพยากรอย่างมีคุณค่า และอนุรักษ์ผืนป่า ซึ่งเป็นความภูมิใจอย่างหนึ่งของชุมชนที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง และมีการสืบทอดมาอย่างยาวนาน
6. การทอผ้า
ในชุมชนยังคงมีการทอผ้าใช้กันเอง เนื่องจาก การทอผ้ายังคงมีความสำคัญในพิธีกรรมต่าง ๆ หรือในกระทั่งชีวิตประจำวันของคนในชุมชน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการแต่งกายชุดปกาเกอะญอของคนในชุมชน ซึ่งในบางครั้งหากไม่มีการทอผ้า ชาวบ้านก็จำเป็นต้องหาซื้อจากภายนอก แต่จะไม่สามารถกำหนดลวดลายของผ้าได้ อีกทั้งในชุมชนยังมีการถ่ายทอดความรู้ในการทอผ้าจากแม่สู่ลูก เพราะเชื่อว่า ลูกผู้หญิงหากยังทอผ้าไม่เป็นก็ยังแต่งงานไม่ได้
7. การจักสาน
เป็นภูมิปัญญารูปแบบหนึ่งของชาวปกาเกอะญอ ในการสานภาชนะสำหรับการใช้ในชีวิตประจำวัน ถึงแม้จะมีการนำเครื่องใช้ที่เป็นพลาสติกมาใช้บ้างก็ตาม เช่น กระด้ง กระบุง เป็นต้น อีกทั้งการจักรสานยังมีบทบาทสำคัญต่อคนในชุมชน โดยเฉพาะผู้ชาย ในชุมชนมีค่านิยมที่ว่า หากผู้ชายคนใดจักสานไม่เป็น ก็ไม่ควรที่จะแต่งงาน โดยการจักรสานเป็นตัวชี้วัดความสามารถอย่างหนึ่งของผู้ชายในชุมชน ซึ่งมีด้วยกัน 13 ลาย อีกทั้งงานจักรสานยังมีความสำคัญต่อประเพณีที่เกิดขึ้นในชุมชน เช่น พิธีมาบุ๊โคะ (ไหว้เจดีย์) เนื่องจากจุดที่ใช้ในการไหว้จำเป็นต้องตกแต่งด้วยเครื่องจักสาน
ทุนทางธรรมชาติ
- ป่าต้นน้ำ/ป่าอนุรักษ์
เป็นพื้นที่หวงห้ามของคนในชุมชนตั้งแต่อดีต โดยตามความเชื่อของชาวบ้าน พื้นที่ดังกล่าวเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของ "ทีเก่อจ่า" (เทพเจ้าห่งน้ำ) ซึ่งมีหน้าที่ในการดูแลต้นน้ำ แต่หากมีการละเมิดกฎในชุมชน เช่น การตัดต้นไม้ในพื้นที่ต้นน้ำ การปัสสาวะในพื้นที่หวงห้าม โดยไม่ขออนุญาตเทพแห่งน้ำ จะส่งผลให้เทพลงโทษให้เกิดการเจ็บป่วย หรือน้ำจะไม่ถูกปล่อยไปยังคลองน้ำและปลายน้ำ จนอาจทำให้ลำห้วยแห้ง ซึ่งหากละเมิดล้วต้องไปทำการขอขมา อีกทั้งในพื้นที่ต้นน้ำ คนในชุมชนจะมีการบอกต่อกันมาจนกลายเป็นการรับรู้ร่วมกัน และยึดถือจนกลายเป็นการสร้างจิตสำนึกร่วมกันในที่สุด
2. ป่าชุมชน
พื้นที่หากินของชาวบ้านและเป็นป่าเศรษฐกิจของชุมชนที่ชาวบ้านใช้เป็นแหล่งรายได้ เช่น การเก็บสมุนไพร การหาของป่า พืชพันธ์ต่าง ๆ หรือการหาไม้มาสร้างบ้าน อีกทั้งในชุมชนยังมีการจัดการทรัพยากระหว่างวิถีชีวิตของคนในชุมชน และกฎระเบียบใหม่ (หน่วยงานภาคนอก)
3. ต้นบุก
ในชุมชนมต้นบุกซึ่งเป็นพืชที่มีความต้องการในตลาดยังต้องการ ส่งผลให้พืชชนิดดังกล่าวเป็นทรัพยากรที่สำคัญในชุมชน โดยการเก็บเกี่ยวบุกไม่จำเป็นต้องขุดมาขายเสียหมด เพียงแต่ขุดมาเพียงแค่บางส่วนแล้วจึงปล่อยที่เหลือเจริญเติบโต
ภาษาที่พูด : ปกาเกอะญอ
ภาษาเขียน : อักษรโรมัน อักษรไทย
รายได้และหนี้สิน
รายได้โดยส่วนใหญ่ของชาวบ้านมาจากการประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยจะมีเพียงแค่ในช่วงฤดูฝนที่สามารถทำการเพาะปลูกได้ ส่งผลให้รายได้ของชาวบ้าน จึงมีความไม่แน่นอน คือ ประมาณ 5,000-7,000 บาท ส่งผลให้ชาวบ้านจึงทำการกู้ยืมเพื่อมาใช้ในการทำเกษตร ประกอบอาชีพอื่น ๆ จากหน่วยงานของรัฐบาล
ศิรินญา ฉายากุล. (2557). บทบาทของกลุ่มต้นทะเลต่อชุมชนบ้านหม่องกั๊วะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก. สารนิพนธ์ประกาศนียบัณฑิต (บัณฑิตอาสาสมัคร), มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
สุวิชาน พัฒนาไพรวัลย์. (2561). รูปแบบเขตสังคมและวัฒนธรรมพิเศษ ชุมชนปกาเกอะญอฤาษีคนต้นทะเล บ้านมอทะ-หม่องก๊วะ ตำบลแม่จัน อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก. วารสารวิจิตศิลป์, 9(1), 195-257.
Let's Go : Thailand. (2566). ครั้งหนึ่งที่เคยไปเยือน อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก หมู่บ้านหม่อทะหม่องกั๊วะ. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2567, จาก : https://www.facebook.com/
Let's Go : Thailand. (2564). มาบุ๊โคะ คำอธิษฐานที่ขอให้มวลมนุษย์โลก อยู่เย็นเป็นสุข. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2567, จาก : https://www.facebook.com/
ศูนย์มานุษยวิทยาสิริธร. (2564). บ้านมอทะ-หม่องกั๊วะ. คลังข้อมูลชุมชน. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2567, จาก : https://communityarchive.sac.or.th/
กลุ่มงานวิชาการ สำนักพื้นที่อนุรักษ์ที่ 14 (ตาก) ส่วนสิ่งแวดล้อมป่าไม้ สำนักวิจัยการวิจัยและอนุรักษ์ป่าไม้และพันธ์ุพืช. (2557) บ้านหม่องกั๊วะ อำเภออุ้งผาง จังหวัดตาก. สืบค้นเมื่อ 2 กรกฎาคม 2567, จาก : http://reddplus.dnp.go.th/?p=1502