ชุมชนชาวไทยรามัญที่สามารถรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้อย่างเข้มข้นในด้านภาษา ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และเทศกาล จนปรากฏเห็นอย่างเด่นชัด เป็นที่รู้จักและจดจำได้ในวงกว้าง
บ้านนครชุมน์ เรียกเป็นภาษามอญว่า "กวานโหน่ก" ซึ่งมาจากคำว่า กวาน แปลว่า บ้านหรือหมู่บ้าน หรือบาง รวมกับคำว่า โหน่ก แปลว่า ใหญ่ ซึ่งคนสมัยก่อนได้เล่าต่อกันมาว่า หมู่บ้านนครชุมน์นี้เป็นหมู่บ้านที่มีคนมาอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากและมีพื้นที่กว้างใหญ่
ชุมชนชาวไทยรามัญที่สามารถรักษาอัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ได้อย่างเข้มข้นในด้านภาษา ศาสนา ความเชื่อ ประเพณี และเทศกาล จนปรากฏเห็นอย่างเด่นชัด เป็นที่รู้จักและจดจำได้ในวงกว้าง
ชุมชนมอญวัดใหญ่นครชุมน์เป็นชาวมอญที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากรัฐมอญในอดีต ถิ่นที่อยู่อาศัยเดิมในรัฐมอญนั้นไม่ปรากฏหลักฐานชัดเจน ส่วนใหญ่เป็นการอพยพผ่านมาทางด่านชายแดน จังหวัดกาญจนบุรี เป็นสำคัญ เนื่องจากผู้เฒ่าผู้แก่ส่วนใหญ่เล่าตรงกันว่าครอบครัวของตนนั้นอพยพมาพร้อมกับเจ้าเมืองมอญเจ็ดหัวเมืองที่อพยพเข้ามาในประเทศไทยสมัยต้นกรุงรัตนโกสินทร์ โดยเจ้าเมืองมอญทั้งเจ็ดนั้นเป็นผู้นำชาวมอญมาแต่เดิม
เมื่ออพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารพระมหากษัตริย์ในพระราชวงศ์จักรี ก็ได้รับราชการสนองพระเดชพระคุณเป็นเจ้าเมืองชายแดนในจังหวัดกาญจนบุรี 7 หัวเมือง ได้แก่ เมืองสิงห์ เมืองลุ่มสุ่ม เมืองท่าตะกั่ว เมืองไทรโยค เมืองท่าขนุน เมืองท่ากระดาน และเมืองทองผาภูมิ
โดยหลายครอบครัวในชุมชนได้เล่าว่าตนสืบเชื้อสายมาจาก พระเสลภูมิบดี หรือ พระเสลภูมาธิการ เจ้าเมืองทองผาภูมิ ซึ่งเป็นต้นตระกูลใหญ่ของสายสกุล เสลานนท์ เสลาคุณ เป็นต้น
ชุมชนมอญวัดใหญ่นครชุมน์อาจจะอพยพเข้ามาสมทบกับชุมชนมอญที่อพยพเข้ามาระลอกก่อน ๆ โดยเฉพาะในสมัยอยุธยา ที่มีหลักฐานว่าอพยพเข้ามาตั้งถิ่นฐานในฝั่งขวาของแม่น้ำแม่กลอง ตามที่จารึกในคัมภีร์ใบลาน เช่น ชุมชนมอญวัดม่วง และวัดมะขาม ต.บ้านม่วง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี แต่เดิมชุมชนฝั่งซ้ายของแม่น้ำแม่กลองอาจจะมีกลุ่มคนตั้งถิ่นฐานมาตั้งแต่ในอดีตหรือไม่ ไม่มีหลักฐานแน่ชัดอีกเช่นกัน
ทั้งนี้สันนิษฐานว่า ชื่อ นครชุม หรือ ลครชุม น่าจะเป็นชื่อเดิมของชุมชนที่พ้องกับชุมชนอื่น ๆ ในประเทศไทย เช่น บ้านนครชุม อ.เมือง จ.กำแพงเพชร ที่มีตำนานบอกเล่าเรื่องราวของชุมชนว่า เป็นสถานที่ที่พระบรมสารีริกธาตุของพระพุทธเจ้ามาประชุมกันตามพุทธตำนาน
กอปรกับโบราณสถาน "ปากี" ซึ่งมีลักษณะเป็นฐานอิฐมอญขนาดใหญ่ริมแม่น้ำแม่กลองที่น่าจะมีมาอยู่แล้วก่อนการก่อตั้งชุมชน โดยมีผู้สันนิษฐานไปหลายอย่าง เช่น เป็นฐานของเจดีย์สมัยโบราณที่สร้างไม่เสร็จ เป็นเชิงเทินป้อมป้องกันศึกพม่าในอดีต หรือเป็นฐานของเจดีย์มุเตาที่ชาวมอญอพยพในสมัยแรกพยายามจะสร้างเลียนแบบพระเจดีย์มุเตาองค์จริงในประเทศเมียนมา ไม่ว่าอย่างไรนั่นก็เป็นหลักฐานว่าเคยมีชุมชนอาศัยอยู่มาก่อนในบริเวณนี้
หลักฐานลายลักษณ์อักษรที่เก่าที่สุดของชุมชนคือ จดหมายเหตุการเสด็จประพาสต้นของพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2447
พระองค์ได้เสด็จพระราชดำเนินทางแม่น้ำแม่กลองใน อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี และได้ทรงแวะเยี่ยมวัดมอญ 2 แห่ง คือ วัดม่วง ใน ต.บ้านม่วง และวัดใหญ่นครชุมน์ นอกจากนี้ยังทรงปลูกต้นจันไว้ที่วัดใหญ่นครชุมน์ด้วยเพื่อเป็นที่ระลึก ต้นจันดังกล่าวนี้ยังคงอยู่มาจนถึงปัจจุบัน
แต่หากตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ชุมชนถือกำเนิดขึ้นราวรัชกาลที่ 2 เมื่อกลุ่มชาวมอญอพยพที่ติดตามพระเสลภูมิบดี หรือ พระเสลภูมาธิการ เจ้าเมืองทองผาภูมิ ได้โยกย้ายมาจากชายแดน จ.กาญจนบุรี (แสดงว่าบรรพบุรุษของชาวมอญในชุมชนน่าจะอพยพเข้ามาทางชายแดนกาญจนบุรีในช่วงระหว่างปลายกรุงศรีอยุธยามาจนถึงต้นกรุงรัตนโกสินทร์) และได้สร้างหรืออาจจะปฏิสังขรณ์วัดใหญ่นครชุมน์ขึ้น
ส่วนข้อมูลจากกรมการศาสนา กล่าวว่าวัดใหญ่นครชุมน์สร้างขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2295 ก่อนการเสียกรุงศรีอยุธยาเพียง 10 ปี และข้อมูลจากกรมศิลปากรกล่าวว่าวัดใหญ่นครชุมน์สร้างขึ้นในสมัยรัชกาลที่ 2 เช่นเดียวกับคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน
ชื่อชุมชนในภาษามอญ "กวานเจี้ยะโน่ก" หรือ "กวานโน่ก" ซึ่งแปลตามรูปศัพท์โดยตรงว่า "หมู่บ้าน-ใหญ่" อาจจะเป็นชื่อของชุมชนมาก่อน หรืออาจจะเป็นชื่อชุมชนที่เรียกตามชื่อวัดก็ได้ และเป็นไปในลักษณะเดียวกับชุมชนมอญใกล้เคียง เช่น บ้านมะขาม บ้านตาล บ้านหัวหิน ซึ่งมีอาณาเขตติดต่อกัน
ทั้งนี้มีผู้สันนิษฐานว่าอาจจะเป็นชื่อชุมชนแต่เดิมในเมืองมอญก่อนอพยพมา อันเป็นธรรมเนียมนิยมที่พบในชุมชนมอญอื่น ๆ ในประเทศไทยด้วยเช่นเดียวกัน อ.พระประแดง จ.สมุทรปราการ หรือ อ.สามโคก อ.เมือง จ.ปทุมธานี นอกจากนี้วัดใหญ่นครชุมน์ยังเป็นศูนย์กลางในการปฏิบัติศาสนกิจประจำเทศกาล ได้แก่ เข้าพรรษา ออกพรรษา ที่พระภิกษุสงฆ์ในวัดอื่น ๆ ในชุมชนมอญใกล้เคียงทั้งใน ต.นครชุมน์ ต.บ้านม่วง ต.คุ้งพะยอม อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี ต้องมาร่วมทำสังฆกรรมกัน อาจเป็นที่มาของการเรียกชื่อวัดว่า "เภี่ยโน่ก" หรือ "วัดใหญ่" ในภาษามอญ เช่นเดียวกับธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชนมอญใน อ.โพธาราม จ.ราชบุรี ที่พระภิกษุสงฆ์ต้องไปร่วมทำสังฆกรรมกันที่วัดคงคาราม ที่มีชื่อเรียกในภาษามอญว่า "เภี่ยะโต้" อันแปลว่า "วัดกลาง"
ในช่วงหลังเมื่อชุมชนมีความหนาแน่นมากขึ้น และอาชีพของผู้คนส่วนใหญ่คือการทำนา เมื่อประชากรเพิ่มขึ้น พื้นที่ทำนาเริ่มไม่เพียงพอ ประชากรส่วนหนึ่งจึงขยับขยายไปตั้งถิ่นฐานในพื้นที่ใกล้เคียง (ตามคำบอกเล่าของชาวชุมชน ในขณะนั้น พื้นที่โดยรอบห่างออกไปเป็นพื้นที่ป่ารกร้าง ผู้ที่ไปบุกเบิกแผ้วทางที่ดินสามารถจับจองที่ดินเป็นเจ้าของได้เลย) ได้แก่ บ้านเขาแจง ต.เขาขลุง อ.บ้านโป่ง จ.ราชบุรี บ้านหวายเหนียวและบ้านวังทอง อ.ท่ามะกา จ.กาญจนบุรี
ทั้งนี้ประชากรที่อพยพโยกย้ายไปยังพื้นที่ดังกล่าวยังคงรักษาอัตลักษณ์ความเป็นมอญไว้ได้พอสมควรและยังไปมาหาสู่ แต่งงานสร้างครอบครัว และร่วมกิจกรรมระหว่างกันกับบ้านวัดใหญ่นครชุมน์มาตลอดจนถึงในปัจจุบัน
บ้านนครชุมน์ มีลักษณะเป็นดอนน้ำท่วมไม่ถึง บางแห่งเป็นที่ลุ่มติดแม่น้ำ น้ำท่วมถึงในฤดูน้ำหลาก ทำให้บริเวณพื้นที่ส่วนใหญ่เหมาะแก่การทำการเกษตร โดยอยู่ห่างจากตัวอำเภอบ้านโป่งประมาณ 5 กิโลเมตร ห่างจากอำเภอเมืองราชบุรี 35 กิโลเมตร มีพื้นที่ 14.17 ตารางกิโลเมตร (9,962 ไร่) แบ่งการปกครองออกเป็น 3 หมู่ ได้แก่ หมู่ 4 หมู่ 5 และ หมู่ 6 โดยมีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ บ้านท่าอิฐ
- ทิศใต้ ติดต่อกับ บ้านหัวหินและตำบลคลองตาคต อำเภอโพธาราม
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ บ้านดงม่วงและตำบลสวนกล้วย อำเภอบ้านโป่ง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ริมน้ำแม่กลอง
การคมนาคม การเดินทางเข้าหมู่บ้านมีรถประจำทางท้องถิ่นเพียงสายเดียวซึ่งมีจำนวนเที่ยวเพียงแค่ 2-4 เที่ยวต่อวัน ที่เชื่อมต่อระหว่างตัวเมือง อ.บ้านโป่ง และตัวเมือง อ.โพธาราม ผู้คนส่วนใหญ่จึงเดินทางเข้าออกโดยใช้รถจักรยานยนต์และรถยนต์ส่วนบุคคล ในอดีตมีเรือประจำทางและเรือจ้างรายเที่ยวที่เชื่อมต่อไปยังตัวเมือง อ.บ้านโป่ง อีกด้วย แต่ปัจจุบันไม่มีให้บริการแล้ว
ทางถนน สามารถใช้เส้นทางถนนลาดยางจากอำเภอบ้านโป่ง ประมาณ 5 กิโลเมตร ใช้เส้นทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 (ถนนบ้านโป่ง-กาญจนบุรี) แยกจากถนนเพชรเกษมทางตอนเหนือ แยกจากถนนเพชรเกษมทางตอนเหนือของจังหวัดราชบุรีในเขตอำเภอบ้านโป่ง หลังจากนั้นใช้เส้นทางเลียบคลองประปาและถนนเลียบแม่น้ำแม่กลอง ผ่านบ้านสวนกล้วย บ้านท่าอิฐ เลียบริมแม่น้ำมาเรื่อย ๆ ถึงวัดใหญ่นครชุมน์
นอกจากนี้จากการสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองถึง 2 แห่งในเขตชุมชนในช่วง 30 ปีมานี้ ทำให้สามารถเดินทางข้ามไปยังทางหลวงชนบทหมายเลข 4005 บริเวณตำบลบ้านม่วง เพื่อเชื่อมต่อไปยังทางหลวงชนบทหมายเลข 3291 ตำบลคุ้งพะยอม เพื่อข้ามสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองไปบรรจบกับทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 323 (ถนนบ้านโป่ง-กาญจนบุรี) ได้อีกเช่นกัน แต่ก็มีผู้ใช้งานน้อยกว่ามาก เนื่องจากเป็นเส้นทางอ้อม และเปลี่ยวกว่า
ทางรถไฟ สามารถเดินทางโดยรถไฟ จากสถานีรถไฟธนบุรี บางกอกน้อย เดินทางมายังสถานีรถไฟนครชุมน์ ซึ่งตั้งอยู่บริเวณด้านหลังของหมู่บ้านใกล้ทุ่งนาท้ายชุมชน
สภาพบ้านเรือนและที่อยู่อาศัย การตั้งบ้านเรือนแบ่งพื้นที่แยกชัดเจนระหว่างพื้นที่ทำกินซึ่งอยู่ไปทางท้ายหมู่บ้านและบ้านเรือนที่อยู่ส่วนด้านหน้า ซึ่งส่วนใหญ่เป็นบ้านยกใต้ถุนสูง มีทั้งแบบก่ออิฐถือปูนชั้นเดียวและสองชั้น บ้านที่มีสองชั้นมักปูด้วยไม้เนื่องจากสัมพันธ์กับความเชื่อเรื่องการนับถือผีบรรพบุรุษ โดยตามวัฒนธรรมชาวมอญนั้นนิยมปลูกเรือนที่มีใต้ถุนสูงโล่ง ภายในบ้านมีห้องผีบรรพบุรุษ ภายในห้องผีมีเสาเอกของเรือนมอญเรียกว่า เสาผีบรรพบุรุษ
พื้นที่ภายในชุมชนสามารถแบ่งแยกย่อยได้เป็นหมู่บ้านย่อย ๆ เรียกเป็นภาษามอญว่า "อุม" แปลว่า หมู่ หรือ กลุ่ม หมู่ที่อยู่ใกล้วัดที่สุด เรียกว่า "อุมเต้อ" หรือ หมู่เนินดิน หรือจะแปลว่าหมู่จอมปลวกก็ได้ เพราะบริเวณที่ดินดังกล่าว มีลักษณะเป็นที่สูงคล้ายเนินเขา เวลาฤดูน้ำหลาก คนนครชุมน์จะต้อนวัวควายหนีน้ำอยู่รวมกันตรงบริเวณนี้ และอยู่ใกล้ศาลปู่ตาประจำชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้จอมปลวกใหญ่ ปัจจุบันคือที่ตั้งบ้านเรือนของหมู่ที่ 5 และ หมู่ที่ 6 บางส่วน
หมู่ที่ตั้งอยู่ริมฝั่งน้ำหรือบริเวณใกล้แม่น้ำแม่กลอง ว่า "อุมบี" หรือ "หมู่แม่น้ำ" สมัยก่อนจะมีกิจกรรมร่วมกันที่หมู่นี้เป็นส่วนใหญ่ เช่น การทำบุญเลี้ยงผีปู่ตาประจำปี การเซ่นสังเวยผีประจำชุมชนประจำปี เพราะมีพื้นที่ริมแม่น้ำซึ่งในสมัยก่อนเป็นหาดทรายที่ทอดตัวยาวเลียบแม่น้ำแม่กลอง ทว่าในปัจจุบันหาดทรายดังกล่าวหายไปแล้วเนื่องจากเรือสัมปทานทรายดูดทรายไปใช้ทำถนน
หาดทรายดังกล่าวนี้ในอดีตชาวบ้านใช้เป็นพื้นที่สาธารณประโยชน์ อาทิ ในช่วงเทศกาลสงกรานต์ ใช้บริเวณนี้เล่นสาดน้ำ ใช้เป็นเส้นทางในการทำบุญส่งข้าวแช่ ใช้เป็นท่าเรือเพื่อข้ามไปยังวัดม่วงและวัดมะขามฝั่งตรงข้ามบ้านนครชุมน์ นอกจากนี้แล้วยังใช้เป็นที่การเพาะปลูกถั่วงอก ใช้เป็นจุดหนึ่งในการแห่นาคในงานบวช ตลอดจนเป็นบริเวณที่ชาวบ้านใช้เป็นท่าน้ำเพื่อตักในไปใช้ในครัวเรือน โดยเฉพาะยามจัดงานบุญต่าง ๆ ดังนั้นแล้วชาวบ้านจึงให้มีพิธีทำบุญแม่น้ำสืบต่อมาจนถึงปัจจุบัน
ชาวมอญนครชุมน์เรียกหมู่บ้านชั้นในไปทางทุ่งนาท้ายหมู่บ้าน และอยู่ใกล้ ๆ กับทางไปสถานีรถไฟ ว่า "อุมเว่" หรือ "หมู่ทุ่งนา" ซึ่งเป็นส่วนที่มีบ้านเรือนเบาบางเพราะส่วนใหญ่เป็นที่ตั้งของเรือกสวนไร่นามากกว่า สมาชิกในชุมชนต่างก็มีพื้นที่ทำกินใกล้หมู่นี้จึงมีการทำบุญทุ่งนาเพื่อเป็นการขอขมาและขอบคุณพื้นที่ทำกินดังกล่าวเป็นประจำทุกปี
การเรียกชื่อหมู่บ้านตามที่ตั้ง ยังสามารถเรียกได้อีกสองลักษณะ คือ ลักษณะแรกเรียกตามลักษณะทางกายภาพที่ตั้งเป็นอาณาเขตกว้าง ๆ คือ เรียกกลุ่มคนที่ตั้งบ้านเรือนจากทางทิศใต้ศาลเจ้าพ่อช้างพัน (ศาลปู่ตาประจำชุมชน "ฮ้อยปะจุ๊" ) ไปทางสถานีอนามัยนครชุมน์ลงไปว่า "หมู่ล่าง" (อุมหะโม) และตามกลุ่มชาติพันธุ์เชื้อสายจีนที่มาอาศัยบริเวณริมแม่น้ำแม่กลองเป็นลักษณะที่สองว่า "อุมอะเจิ่จ" ซึ่งแปลว่า "หมู่คนจีน" กลุ่มคนไทยเชื้อสายจีนนี้ประกอบอาชีพค้าขาย ซักรีด เสริมสวย ขายอาหาร โรงสีข้าว สำหรับโรงสีข้าวนั้นมีทั้งคนไทยเชื้อสายจีนและเชื้อสายมอญเป็นเจ้าของด้วยเช่นเดียวกัน
การเรียกขานกลุ่มคนที่แยกออกเป็นหมู่ หรือ อุม ยังคงปรากฏใช้ในคำสนทนาประจำวันของชาวมอญนครชุมน์อยู่จนถึงปัจจุบันนี้ โดยสมาชิกในชุมชนทั้งที่มีเชื้อสายมอญหรือกลุ่มชาติพันธ์ุอื่น ต่างก็รับรู้และเข้าใจในคำเรียกขานนี้เช่นเดียวกัน
การแบ่งหมู่ด้วยคำเรียกขานดังที่กล่าวมาข้างต้นนั้นเป็นไปตามความเข้าใจของคนในชุมชนที่อาศัยในบ้านวัดใหญ่นครชุมน์เรียกกัน หากคนในชุมชนอื่นนอกหมู่บ้านซึ่งเป็นชาวมอญหมู่บ้านใกล้เคียง เช่น บ้านท่าอิฐ บ้านม่วง บ้านหัวหิน จะเรียกชื่อบ้านเป็นภาษามอญว่า "กวานโหน่ก" ซึ่งหมายถึง หมู่บ้านนครชุมน์ทั้งสามหมู่รวมกัน และต่อท้ายว่า หมู่ 4 หมู่ 5 และ หมู่ 6
สถานที่สำคัญของชุมชน
- วัดใหญ่นครชุมน์ หรือ วัดใหญ่ (เภี่ยโน่ก) เป็นศูนย์กลางของการประกอบพิธีกรรมทางศาสนาทั้งในชุมชนเอง และระหว่างชุมชนมอญใกล้เคียง
- สำนักปฏิบัติธรรมศานตินันทวัน เป็นที่พึ่งของสตรีทั้งหลายและเป็นสถานที่ปฏิบัติธรรมในพระพุทธศาสนาตามแนวทางท่าน ก.เขาสวนหลวง
- ศาลเจ้าพ่อช้างพัน (ฮ้อยปะจุ๊เจิญงิ่ม) สมาชิกในชุมชนเชื่อถือในความศักดิ์สิทธิ์ที่ดลบันดาลให้ผู้ที่มาบนบานสานกล่าวประสบผลสำเร็จ นอกจากนี้ศาลเจ้าพ่อช้างพันยังมีความสำคัญอย่างยิ่งสำหรับพิธีกรรมบวชนาคมอญ
- ศาลเจ้าที่หมู่ 5 (ปะจุ๊เกาะเกริง หรือ ศาลเจ้าพ่อเกาะคลอง) เป็นศาลเจ้าที่คนในชุมชนหมู่ 5 ให้ความเคารพ เมื่อมีงานต่าง ๆ เช่น งานบวชนาค
บ้านวัดใหญ่นครชุมน์มีประชากรประมาณ 950 คน ตามทะเบียนราษฎร์ หรือประมาณ 200 ครัวเรือน
ส่วนใหญ่สมาชิกภายในชุมชนเป็นผู้สืบทอดเชื้อสายมาจากชาวมอญที่อพยพมารุ่นแรก ๆ และอาจมีการแต่งงานข้ามไปมากับชุมชนมอญใกล้เคียงใน อ.บ้านโป่ง และ อ.โพธาราม ไปจนถึง จ.กาญจนบุรี หรือแม้แต่ชุมชนมอญจากท้องถิ่นที่ห่างออกไป เช่น จ.ปทุมธานี จ.สมุทรปราการ
มีการแต่งงานกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นบ้างเป็นจำนวนไม่มาก ได้แก่ จีน ไทย ลาว ชาวตะวันตก ฯลฯ และย้ายเข้ามาอยู่ในชุมชนในภายหลัง และกลุ่มเขยหรือสะใภ้จากกลุ่มชาติพันธุ์อื่นมีแนวโน้มที่จะโอบรับเอาอัตลักษณ์ความเป็นมอญในชุมชนวัดใหญ่นครชุมน์ได้อย่างมีนัยยะสำคัญ
ส่วนบุคคลภายนอกชุมชนที่ไม่ใช่ชาติพันธุ์มอญและเข้ามาตั้งถิ่นฐานภายในชุมชนแทบไม่พบเนื่องจากชาวมอญวัดใหญ่นครชุมน์ยึดถือการไม่ขายที่ดินให้บุคคลภายนอกชุมชนเลย
สายตระกูลดั้งเดิมคือกลุ่มบรรพบุรุษชาวมอญที่อพยพติดตามพระเสลภูมิบดี หรือพระเสลภูมาธิการ เจ้าเมืองทองผาภูมิเข้ามาตั้งถิ่นฐานในชุมชน นามสกุลที่ถือได้ว่าเป็นสายตระกูลดั้งเดิมของชุมชนได้แก่ เสลานนท์ เสลาคุณ บุญนพ เกตุเจริญ ง่วนหอม เกาหอม กาวหอม ดอกไม้หอม จับจุ จิวเครือ โดดเครือ ทุเครือ เป็นต้น
ด้วยการนับถือผีบรรพบุรุษที่สืบทองตำแหน่งต้นผี (หัวหน้าสายตระกูล) จากลูกชายคนโต ทำให้ลูกชายคนโตมักได้รับการมอบมรดกจากพ่อแม่เป็นส่วนใหญ่ อย่างไรก็ดีพี่น้องคนอื่น ๆ ก็มักตั้งบ้านเรือนอยู่ในบริเวณใกล้เคียง ตามธรรมเนียมเดิมเมื่อสร้างบ้านเรือนติดกันจะไม่สร้างแนวรั้วหรือกำแพงถาวรกั้นกลาง แต่จะเดินไปมาระหว่างเขตบ้านกันได้
ทั้งนี้ การแต่งงานระหว่างฝ่ายชายและหญิงที่มาจากผีบรรพบุรุษสายตระกูลเดียวกันถือเป็นเรื่องต้องห้ามเป็นอย่างยิ่ง เอื้อต่อการแต่งงานข้ามชุมชนไปยังชุมชนมอญใกล้เคียงได้เพราะสะดวกกว่า ทำให้เกิดเครือข่ายเครือญาติขนาดใหญ่พัวพันในกลุ่มชาวมอญทั้งใน อ.บ้านโป่ง ไปจนถึง อ.โพธาราม ด้วย
มอญในอดีตประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกร ทำนาข้าว ซึ่งมีการใช้แรงงานภายในครอบครัวเป็นหลัก เนื่องจากคนมอญบ้านวัดใหญ่นครชุมน์มีความสัมพันธ์กันในลักษณะเครือญาติ ทำให้มีแรงงานและได้ผลผลิตทางเกษตรจำนวนมาก ปัจจุบันคนในหมู่บ้านยังมีการประกอบอาชีพอื่น ๆ อีก เช่น ทำสวนผลไม้และทำไร่ ค้าขาย อุตสาหกรรมในครัวเรือน เช่น ทำอาหาร ทำขนมขายตามสั่ง รับจ้างทั่วไป ซ่อมรถและอุปกรณ์อื่น ๆ พนักงานห้างร้านและโรงงาน ข้าราชการ เนื่องจากได้รับการศึกษาที่สูงขึ้น ประกอบกับการเดินทางคมนาคมสะดวกเป็นผลให้แรงงานภาคการเกษตรลดน้อยลงไป เกษตรกรส่วนใหญ่จึงต้องพึ่งพิงแรงงานภายนอกครอบครัวจากการจ้างงานเป็นครั้งคราวไป นอกจากนั้นยังมีการส่งบุตรหลานไปศึกษายังท้องถิ่นอื่น เช่น อ.เมือง จ.ราชบุรี, จ.กรุงเทพมหานคร, จ.นครปฐม, จ.กาญจนบุรี เมื่อศึกษาจบก็ตั้งถิ่นฐานอยู่ ณ ท้องถิ่นนั้น ๆ ไม่ค่อยกลับคืนมาในชุมชน
อย่างไรก็ตาม มีกลุ่มประชากรรุ่นอายุ 60 ปีขึ้นไปที่เคยเดินทางไปทำงานในท้องถิ่นอื่น ๆ ภายในประเทศไทยและภายนอกประเทศไทยได้เดินทางกลับมาอาศัยอยู่ในชุมชนหลังเกษียณอายุเป็นจำนวนมากขึ้นหลัง พ.ศ. 2550 เป็นต้นมา
เคยมีการรวมกลุ่มการประกอบอาชีพบางชนิด ได้แก่ การผลิต คัดแยก ข้าวโพดฝักอ่อนซึ่งเป็นที่นิยมมากในช่วงตั้งแต่ พ.ศ. 2535 แต่ปัจจุบัน ไม่หลงเหลือแล้ว แต่ปัจจุบันมีการจำหน่ายสินค้ากลุ่มอาหารสำเร็จรูปพร้อมรับประทานในช่วงเย็นบริเวณหน้าวัดใหญ่นครชุมน์ ริมถนนเลียบแม่น้ำแม่กลอง ในลักษณะของตลาดนัดชุมชน แต่ยังไม่คึกคักมากเท่าไรนัก มีผู้ประกอบการประมาณ 5-10 รายเท่านั้น
เนื่องจากชื่อเสียงของชุมชนที่รู้จักกันดี ทำให้หน่วยงานภายนอกเข้ามาร่วมจัดกิจกรรม และศึกษาสังคมวัฒนธรรมชุมชนจำนวนหนึ่ง เช่น สภาวัฒนธรรม จ.ราชบุรี สถานีโทรทัศน์ ThaiPBS มหาวิทยาลัยศิลปากร มหาวิทยาลัยราชภัฏพระนคร เป็นต้น
บ้านนครชุมน์มีการจัดตั้งกลุ่มองค์กร ดังนี้
- กลุ่มแม่บ้านนครชุมน์ เป็นการรวมตัวของสตรีในหมู่บ้านเพื่อพัฒนาอาชีพในชุมชน
- กลุ่มเกษตรทำนานครชุมน์ เป็นการรวมตัวของกลุ่มผู้ทำอาชีพเกษตรกรในชุมชน
กิจกรรมในรอบปีของชาวมอญวัดใหญ่นครชุมน์
กิจกรรมทางศาสนาพุทธ
เดือน 5 บุญสงกรานต์
ชาวมอญในชุมชนจะตระเตรียมเครื่องใช้และอาหารสำหรับวันสงกรานต์ ผู้หญิงจะทำกับข้าวเตรียมไว้สำหรับพิธีส่งข้าวแช่ หรือ "เปิงด๊าจ" (ภาษามอญแปลว่า ข้าวน้ำ) ที่นอกจากจะรับประทานในครัวเรือนแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่าคือการนำข้าวแช่ไปถวายที่วัดจำนวนหลาย ๆ วัดแต่ตามความสามารถ และให้แก่ญาติมิตรทั้งในและนอกชุมชน
การส่งข้าวแช่นี้นิยมส่งกันเป็นเวลา 2 วัน (13-14 เมษายน) ส่วนฝ่ายชายช่วยกันสร้างบ้านสงกรานต์ หรือ "ฮ้อยซังกราน" ในภาษามอญ เป็นศาลที่ใช้บูชาเทวดาประจำเทศกาลสงกรานต์ไว้ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของบ้าน ผูกผ้าสีขาวรอบ นำดอกไม้มาประดับและกางร่มให้บ้านสงกรานต์
ในวันแรกของเทศกาล สมาชิกในชุมชนจะตื่นตั้งแต่เช้ามืดเพื่อทำข้าวแช่ หลังจากนั้นสมาชิกทุกคนนำดอกไม้ธูปเทียนไปบูชาที่บ้านสงกรานต์ แล้วสมาชิกในครอบครัวก็จะแยกย้ายกันไปส่งข้าวแช่ที่วัดใหญ่นครชุมน์เป็นวัดแรก ตามด้วยวัดในละแวกใกล้เคียง หลังจากนั้นจึงมารับประทานข้าวแช่ร่วมกันที่บ้าน
ในวันที่ 13 ช่วงเช้าทางวัดจะจัดขบวนนางสงกรานต์อย่างสวยงาม มีขบวนแห่ปลา มีการปล่อยปลาทำทานในวันสงกรานต์ ส่วนในวันที่ 14 นั้น ชาวมอญนครชุมน์ถือว่าเป็นวันที่ยังสามารถส่งข้าวแช่ได้อีก 1 วัน แต่ไม่คึกคักเท่าวันที่ 13 หลังจากส่งข้าวแช่เสร็จแล้วจะมีการไปทำบุญตักบาตรที่วัดต่อจากนั้นเป็นเวลา 3 วัน
ในช่วงเทศกาลสงกรานต์มีการละเล่นเข้าทรงผีต่าง ๆ เช่น ผีข้อง ผีกระด้ง เพื่อเป็นการทำนายทายทักเกี่ยวกับการเพาะปลูกในปีนั้น ๆ
เดือน 8 หล่อเทียนพรรษา, บุญสลากภัต, อาสาฬหบูชาและเข้าพรรษา
งานบุญช่วงเทศกาลเข้าพรรษา จัดงาน 3 วัน คือ วันก่อนวันอาสาฬหบูชา (ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 8) ตอนเช้าร่วมกันตักบาตรทำบุญที่วัด หลังจากตักบาตรเสร็จจึงหล่อเทียน
วันอาสาฬหบูชา ตอนเช้าทำบุญตักบาตร ส่วนช่วงสายจนถึงเพลร่วมกันทำบุญสลากภัต
วันเข้าพรรษา แรม 1 ค่ำ เดือน 8 วันนี้จะไม่มีการตักบาตรเช้าที่วัด แต่จะร่วมกันถวายภัตตาหารเพล (ถวายสำรับภัตตาหารให้พระสงฆ์โดยไม่เลือก) ในพิธีนี้พระสงฆ์จากวัดมอญอื่น ๆ โดยรอบวัดใหญ่นครชุมน์อีก 8 วัดจะมาร่วมพิธีทั้งหมดที่หอฉันวัดใหญ่นครชุมน์
เดือน 8 ทุคคตะทาน (เฉพาะปีที่มีเดือน 8 สองครั้ง)
พิธีนี้มักกระทำทุก 4 ปี วัดเป็นผู้กำหนดวันจัดพิธีขึ้นในช่วงเดือนสิบถึงสิบเอ็ด ชาวมอญเชื่อว่าพิธีทุคคตะทานมีประวัติมาตั้งแต่สมัยพุทธกาล
พิธีนี้ถูกจัดขึ้นเพื่อให้คนจนมีโอกาสทำบุญ แต่ปัจจุบันเป็นพิธีเพื่อให้ชาวบ้านทุกคนมีโอกาสนิมนต์พระไปฉันภัตตาหารที่บ้าน
เมื่อวัดประกาศจัดงาน ชาวบ้านที่ต้องการนิมนต์พระไปที่บ้านก็จะเขียนชื่อตนเองใส่กระดาษแล้วนำไปที่วัด เมื่อทราบจำนวนแน่ชัดพระจะติดต่อไปยังวัดใกล้เคียง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวัดมอญมาร่วมในวันประกอบพิธี
เมื่อถึงวันงานพระสงฆ์แต่ละรูปจะจับสลากชื่อผู้ที่ลงชื่อไว้ เมื่อเป็นชื่อใครคนนั้นก็จะทำการนิมนต์พระรูปนั้นไปที่บ้านของตนเพื่อเลี้ยงภัตตาหารเช้า และถวายไทยธรรมอื่น ๆ รวมทั้งปิ่นโตใส่สำรับภัตตาหารเพลถวายให้พระสงฆ์อีกด้วย
เดือน 10 ตักบาตรน้ำผึ้ง
เมื่อถึงวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 มีการตักบาตรน้ำผึ้งและน้ำตาลทราย คือ การนำน้ำผึ้งพร้อมทั้งอาหารและข้าวต้มมัดไต้หรือข้าวต้มลูกโยนไปใส่บาตร ปัจจุบันนิยมใช้ขนมแห้ง ๆ ที่เก็บไว้ได้หลายวันโดยเฉพาะขนมที่ทำจากข้าวเหนียว
หลังจากตักบาตรแล้วจะมีการทำบุญถวายกัณฑ์เทศน์เพื่ออุทิศให้กับบรรพบุรุษผู้วายชนม์ มีผักผลไม้ทั้งลูก เช่น มะพร้าว ฟักเขียว ฟักทอง ฯลฯ เป็นของถวายที่สำคัญ นอกจากนี้ยังมีการลอยแพหยวกกล้วยที่ใส่อาหารเครื่องเซ่นสังเวยเพื่อให้ผีบรรพบุรุษและผีทั่วไปในชุมชนด้วย โดยจะนำไปลอยที่ท่าน้ำหน้าวัดใหญ่นครชุมน์
เดือน 11 ออกพรรษา
ตอนเช้าของวันออกพรรษา ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 11 หลังจากประกอบพิธีทำบุญตอนเช้า พระสงฆ์จากวัดมอญต่าง ๆ จำนวน 9 วัดที่เป็นวัดมอญในลุ่มแม่น้ำแม่กลอง อ.บ้านโป่ง จะมาพร้อมกันที่วัดใหญ่นครชุมน์เพื่อร่วมพิธีตักบาตรแถว คือ ให้พระสงฆ์ถือบาตรพร้อมกับสะพายย่ามเดินไปจนถึงสุดเขตของบริเวณวัด เพื่อให้ชาวบ้านทำบุญตักบาตร
เมื่อเสร็จจากการบิณฑบาต พระสงฆ์จะเข้าไปประกอบพิธีที่ศาลาการเปรียญ ก่อนที่ชาวบ้านจะประเคนอาหาร สวดมนต์ ช่วยกันเก็บดอกบัวชนิดต่าง ๆ ให้ครบพันดอกเพื่อนำมาบูชากัณฑ์เทศน์
ชาวบ้านจะช่วยกันตกแต่งศาลาการเปรียญให้สวยงามด้วยพวงมะโหดและผ้าเทศน์มหาชาติเพื่อจัดพิธีเทศน์มหาชาติในช่วงบ่ายและเย็น ซึ่งมักเป็นการเทศน์คาถาพัน หรือพระมาลัย นอกจากนี้ในวันออกพรรษายังมีการแข่งเรือยาวในแม่น้ำแม่กลองอีกด้วยซึ่งเป็นกิจกรรมใหญ่ที่เป็นที่รู้จักกันดีใน จ.ราชบุรี
เดือน 3 ประเพณีจองโอะห์ต่าน หรือ เผาฟืนทาน
ในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 หรือวันมาฆบูชา มีประเพณีส่งฟืนทานหรือที่ชาวมอญเรียกว่า "ประเพณีจองโอะห์ต่าน (เผาฟืนทาน)" ก่อนวันมาฆบูชา 1-2 วันจะมีการเตรียมโอะห์ต่าน
แต่ละบ้านจะช่วยกันตัดไม้กระถินที่มีขนาดพองาม ปอกเปลือกและลอกให้เกลี้ยง แล้วทาด้วยน้ำมันมะพร้าวผสมผงขมิ้นเพื่อเพิ่มสีสันให้สวยงาม บ้างก็ทาปูนแดงหลังจากนั้นจึงนำไปผึ่งแดด ก่อนนำมามัดรวมกันมัดละ 5-10 ท่อนตกแต่งด้วยดอกไม้ตามฤดูกาล ซึ่งหากเป็นสมัยก่อนนิยมใช้ดอกของต้นยางป่า พร้อมด้วยธูปเทียนเป็นเครื่องบูชา
ในวันก่อนวันมาฆบูชา ขึ้น 14 ค่ำ เดือน 3 ชาวบ้านพากันหลามข้าวหลามเพื่อใช้เป็นอาหารในการประกอบพิธีวันมาฆบูชา ตอนเย็นร่วมกันแบกโอะห์ต่านร่วมทำบุญกันที่วัด ชาวบ้านร่วมเดินบูชาโอะห์ต่าน 3 รอบ ก่อนนำวางพิงหลักไว้แล้วพนมมือไหว้บูชาเป็นอันจบพิธีช่วงวันสุกดิบ
หลังจากนั้นช่วงเวลาเช้ามืดชาวบ้านช่วยกันเผาโอะห์ต่านจนไฟลุกสว่าง พร้อมกันนั้นจัดเตรียมถวายอาหารแด่พระสงฆ์ เมื่อเปลวไฟใกล้มอดนิมนต์พระสงฆ์ลงจากวัดมานั่งอาสนะรอบกองไฟ
ตัวแทนชาวบ้านอาราธนาขอศีล ถวายข้าวต้มและข้าวหลาม เมื่อฉันอาหารเสร็จพระสงฆ์ให้พรชาวบ้านก่อนกลับขึ้นวัด จากนั้นชาวบ้านรับประทานอาหารร่วมกันแผ่ส่วนบุญส่วนกุศลให้ผู้ที่ล่วงลับไปแล้ว
นอกจากนี้ยังมีการจัดงานบวชนาคในช่วงก่อนเข้าพรรษา ซึ่งในชุมชนนครชุมน์นิยมจัดงานสองวัน คือวันก่อนวันบวช เรียกว่า วันสุกดิบใหญ่ และวันบวช สำหรับวันสุกดิบน้อยหรือวันก่อนวันบวช 2 วันนั้น เป็นวันเตรียมงานของเจ้าภาพ มักมีกิจกรรมทำขนมจีนซึ่งถือเป็นเรื่องรื่นเริงสนุกสนานของสมาชิกในชุมชนเป็นอย่างยิ่ง
กิจกรรมความเชื่อเกี่ยวกับผี
การเลี้ยงผีบรรพบุรุษ
ชาวมอญนครชุมน์ให้ความสำคัญกับพิธีนี้เป็นอย่างมาก โดยส่วนใหญ่ทำปีละ 3-4 ครั้ง ตามแต่ที่เคยปฏิบัติสืบต่อกันมา จัดพิธีขึ้นในเดือนคู่ นิยมเลี้ยงระหว่างเดือน 4 หรือเดือน 6 แต่ต้องไม่ตรงกับวันพระหรือวันเสาร์ หากเคยประกอบพิธีในเดือนใดก็จะทำในเดือนนั้นตลอด ซึ่งส่วนใหญ่ผู้นำประกอบพิธี หรือ "โต้ง" ซึ่งเป็นผู้หญิงเท่านั้นเป็นผู้กำหนดวันประกอบพิธี ยกเว้นหากมีเหตุผู้หญิงในตระกูลตั้งครรภ์หรือมีคนในตระกูลเสียชีวิต จะห้ามตระกูลนั้นจัดพิธีเลี้ยงผีโดยเด็ดขาดและต้องให้ผ่านไปครบปีก่อนถึงจะประกอบพิธีได้
พิธีรำผี
เป็นพิธีเกี่ยวกับการขอขมาลาโทษกับผีบรรพบุรุษหลังเกิดเหตุการณ์ไม่ดีขึ้นกับคนในตระกูล หรือทำผิดข้อห้ามของตระกูลหรือที่เรียกว่า "ผิดผี" เช่น การเจ็บป่วยโดยไม่ทราบสาเหตุ หญิงตั้งครรภ์พิงเสาบ้านหรือในพิธีเลี้ยงผีเมื่อโต้ง (ผู้นำประกอบพิธี) มีการตรวจพบว่าผ้าผีในหีบมีตำหนิ เช่น มีรอยขาด รอยเปื้อนคล้ายเลือดหรือมีเศษหญ้า เจ้าบ้านจึงต้องจัดพิธีรำผีเพื่อเป็นการขอขมาและทำให้ผีประจำตระกูลพอใจ
การรับผี
การสืบทอดผีบรรพบรุษ โดยการสืบทอดมีเฉพาะบุตรชายคนโตของตระกูลในแต่ละรุ่น เรียกว่า "ต้นผี" เป็นผู้สืบทอดหรือเป็นผู้รับผี แต่หากไม่มีลูกชายคนโตจะให้น้องชายคนถัดไป หรือถ้าไม่มีลูกชายเลยก็จะให้ลูกชายคนโตของน้องชายพ่อเป็นคนรับแทนในลำดับถัดไป
หากสายตระกูลใดไม่มีลูกชายก็ถือว่าหมดผีตระกูล ถึงกับต้องถอนเสาเอกหรือเสาผีไปถวายวัด แล้วแต่วัดจะนำไปใช้ในกิจใด "ต้นผี" มีบทบาทต้องประกอบพิธีเกี่ยวกับผีบ้านทุกอย่าง เช่น พิธีเลี้ยงผีและรำผี นอกจากนั้นยังทำหน้าที่ดูแลปกครองกลุ่มเครือญาติในสายตระกูลเดียวกันไม่ให้ฝ่าฝืนข้อห้ามข้อปฏิบัติ
1.พระครูนครเขมกิจ (พระอาจารย์เทียน ญาณสัมปันโน)
เจ้าอาวาสรูปปัจจุบันของวัดใหญ่นครชุมน์ เป็นลูกหลานในชุมชน และบวชเรียนที่วัดใหญ่นครชุมน์มาตลอดจนถึงปัจจุบัน เป็นผู้ให้การสนับสนุนงานกิจกรรมของชุมชนมาตลอดทั้งด้านวัฒนธรรม ธรรมเนียมประเพณี ภาษา และอื่น ๆ ปัจจุบันดำรงตำแหน่งเจ้าคณะตำบลนครชุมน์-บ้านม่วง อีกตำแหน่งหนี่งด้วย
2.นายคมสรร จับจุ
ปราชญ์ชาวบ้านคนสำคัญ อาศัยอยู่ ณ หมู่ที่ 5 ต.นครชุมน์ เคยบวชเรียนเป็นพระภิกษุที่วัดใหญ่นครชุมน์เป็นเวลาหลายพรรษา มีความรู้ความสนใจด้านประวัติศาสตร์ ภาษา วัฒนธรรมและอาหารของมอญในชุมชนบ้านวัดใหญ่นครชุมน์ มีความสามารถในการนำเสนอเรื่องราวของชุมชนเข้าสู่เครือข่ายภายนอกชุมชนได้อย่างดี มีทักษะในการสื่อสารและติดต่อสร้างความสัมพันธ์กับชุมชนมอญอื่น ๆ ในประเทศไทย รวมถึงภาคประชาชนและภาครัฐอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องในวงกว้าง ปัจจุบันเป็นประธานกลุ่มอนุรักษ์วัฒนธรรมมอญนครชุมน์ ซึ่งก่อตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2553
ในชุมชนมีการใช้ภาษามอญถิ่นไทยควบคู่ไปกับภาษาไทยภาคกลาง โดยผู้ที่พูดภาษามอญได้อย่างคล่องแคล่วเป็นภาษาแม่ คือ กลุ่มผู้ที่มีอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป แต่ก็สามารถพูดภาษาไทยมาตรฐานได้อย่างคล่องแคล่วเช่นกัน
ส่วนผู้ที่มีอายุช่วง 40-60 ปี สามารถเข้าใจภาษามอญได้ในระดับที่แตกต่างกัน แต่อาจจะไม่ใช้ภาษามอญในการพูดในชีวิตประจำวันมากนัก ใช้ภาษาไทยมาตรฐานในการสื่อสารเป็นหลัก
ส่วนผู้ที่มีอายุต่ำกว่า 40 ปี สามารถเข้าใจภาษามอญได้เป็นคำ หรือเป็นวลีเท่านั้น และใช้ภาษาไทยมาตรฐานเป็นหลักมากกว่า ทั้งนี้สัดส่วนการใช้ภาษามอญในแต่ละครอบครัวขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น มีผู้พูดภาษาอื่นในครอบครัวด้วยหรือไม่ หรือ สมาชิกในครอบครัวมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกมากเพียงใด นอกจากนี้มีผู้ที่ใช้ภาษาอื่นบ้างเล็กน้อย เช่น ภาษาลาว ภาษาอังกฤษ ซึ่งเป็นผู้ที่อพยพมาจากชุมชนภายนอก
ภาษามอญในชุมชนเป็นภาษาพูดเป็นหลัก โดยอาจใช้ภาษามอญเพียงอย่างเดียวในการสื่อสารหรือปะปนกับภาษาไทยเป็นคำ ๆ หรือสลับเป็นประโยคบ้างตามความคุ้นเคยของผู้พูด ผู้ที่ใช้ภาษาเขียนได้มักเป็นเพศชายรุ่นอายุมากกว่า 60 ปีขึ้นไป ที่ได้รับการศึกษาจากวัดตามแบบดั้งเดิมในอดีต และมีสมาชิกในชุมชนที่มีอายุน้อยกว่านั้นที่ศึกษาภาษาเขียนผู้สูงอายุในชุมชน หรือจากการศึกษาด้วยตัวเอง
ภาษามอญที่เป็นภาษาพูดพบใช้ในทุกสถานการณ์ ตั้งแต่ในชีวิตประจำวันไปจนถึงสถานการณ์ที่เป็นทางการ แต่จะจำกัดเฉพาะการสื่อสารกับสมาชิกในชุมชนเดียวกันเท่านั้น เมื่อสื่อสารกับคนภายนอกชุมชนจะใช้ภาษาไทยเพียงอย่างเดียว ส่วนภาษาเขียนพบใช้ในจารึกใบลาน และสมุดไทยที่ส่วนใหญ่ถูกเก็บไว้ในวัด หรือบ้านเรือนของผู้ที่สามารถอ่านออกเขียนได้ นอกจากนั้นยังพบภาษาเขียนจารึกตามถาวรวัตถุและสถานที่ภายในชุมชน เช่น ศาลาชุมชน อุโบสถ วิหาร ศาลาการเปรียญ เป็นต้น
ส่วนผู้พูดที่ใช้ภาษาอื่นนอกจากภาษามอญและภาษาไทย มักจับกลุ่มกันเป็นกลุ่มเล็กๆ ในบรรดาผู้ที่ใช้ภาษาเดียวกัน เช่น ภาษาลาว ภาษาอังกฤษ และอาจจะใช้สื่อสารกับชาวไทยรามัญในชุมชนที่สามารถเข้าใจภาษานั้นๆ ในระดับที่สื่อสารกันได้ แต่ก็ไม่ใช่สถานการณ์ที่พบบ่อย
นอกจากภาษาที่ใช้ในการสื่อสารทั่วไปแล้ว ยังมีการใช้ภาษาบาลีสำเนียงมอญในการทำกิจกรรมทางพุทธศาสนาในทุกกิจกรรม เช่น ทำวัตรเช้า-เย็น อาราธนาศีล อาราธนธรรม บทสวดพระปริตร ชัยมงคลคาถา สวดพระพุทธมนต์ในงานศพ ฯลฯ ที่ท้องถิ่นร่วมกับทางวัดพยายามอนุรักษ์ไว้
อาจอนุโลมให้ใช้ภาษาบาลีสำเนียงไทยในโอกาสที่มีคนภายนอกชุมชนมาร่วมกิจกรรมเฉพาะพิธีสำคัญๆ เช่น เข้าพรรษา สงกรานต์ ออกพรรษา ฯลฯ ที่มีไม่บ่อยนัก การใช้ภาษาบาลีสำเนียงมอญมีความเข้มข้นมากจนเป็นที่รู้จักดีในวงกว้างไปจนถึงชุมชนมอญอื่นๆ ในประเทศไทย แม้แต่สมาชิกในชุมชนที่สื่อสารด้วยภาษามอญได้ไม่คล่องแคล่วนัก ก็ยังสามารถใช้ภาษาบาลีสำเนียงมอญในการร่วมกิจกรรมทางพุทธศาสนาได้คล่องแคล่วเป็นอย่างดี
ชุมชนมอญวัดใหญ่นครชุมน์เปิดให้มีตลาดนัดชุมชนตอนบ่ายวันอังคารและวันพฤหัสบดี บริเวณหน้าวิหารปากี ประมาณเกือบสิบปีมาแล้ว แต่การค้าขายยังไม่ค่อยคึกคักมาก ผู้ค้าส่วนใหญ่มาจากภายนอกชุมชนและมีประมาณ 5-10 ราย เท่านั้น เชื่อว่าตลาดแห่งนี้ไม่สามารถแข่งขันในเชิงธุรกิจกับตลาดนัดชุมชนวัดม่วง ต.บ้านม่วง ที่มีทุกบ่ายวันอาทิตย์ วันพุธ และวันศุกร์ได้ เพราะมีขนาดการค้าขายที่ใหญ่กว่าหลายเท่า และมีความคึกคักมากโดยเฉพาะในวันอาทิตย์
ชุมชนมอญวัดใหญ่นครชุมน์เป็นชุมชนที่มีความเข้มข้นของความเป็นมอญสูง เนื่องจากมีการรับเอาวัฒนธรรมภายนอกเข้ามาน้อย ผู้คนที่อาศัยอยู่ภายในชุมชนก็ล้วนแต่เป็นเครือญาติสืบเชื้อสายมาจากกลุ่มชาวมอญอพยพรุ่นแรก ๆ ในชุมชน จึงไม่ค่อยมีองค์กรทางสังคม/วัฒนธรรม/เศรษฐกิจที่ร่วมสมัยกับชุมชนภายนอกยุคปัจจุบันมากนัก
แต่เป็นจุดอ่อนด้วยเช่นกัน ทำให้สมาชิกรุ่นใหม่ ๆ ในชุมชนที่แสวงหาความก้าวหน้าในชีวิตต้องเดินทางโยกย้ายถิ่นออกไปอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะหลังจากโรงเรียนวัดใหญ่ (บุญเอี่ยมอนุเคราะห์) ซึ่งเป็นโรงเรียนประชาบาลที่เปิดสอนระดับก่อนประถมศึกษา และประถมศึกษา 1-6 ได้ปิดตัวลงถาวรเมื่อปี พ.ศ. 2554 ก็ยิ่งทำให้ชุมชนต้องเผชิญความท้าทายด้านการศึกษาครั้งใหญ่
สถานการณ์นี้มีความเกี่ยวพันอย่างแนบแน่นกับการลดลงของจำนวนเด็กเกิดใหม่ ซึ่งทำให้จำนวนนักเรียนลดลงอย่างมากจนต้องปิดโรงเรียนลง และทำให้ชุมชนขาดคนรุ่นใหม่เข้าสืบทอดกิจกรรมในทุก ๆ มิติของชุมชน ทั้งคนรุ่นใหม่เองก็มีปฏิสัมพันธ์กับโลกภายนอกอย่างเข้มข้นมากขึ้น
ความท้าทายใหม่ ๆ ที่กำลังเกิดขึ้นในชุมชนคือ จำนวนสมาชิกในครัวเรือนลดลงจนหลายครอบครัวเหลือเพียงแค่ผู้สูงอายุ เริ่มมีบ้านเรือนจำนวนหนึ่งที่ไม่มีผู้อยู่อาศัยมานานนับสิบปี และมีความเป็นไปได้สูงที่ทายาทจะนำที่ดินออกขายให้แก่บุคคลภายนอกชุมชน จากที่เป็นสิ่งที่แทบไม่เกิดขึ้นเลยในอดีต สถานการณ์นี้น่ากังวลต่อการสืบทอดวิถีชีวิตแบบมอญวัดใหญ่นครชุมน์อย่างยิ่ง
นอกจากนั้น การสร้างสะพานข้ามแม่น้ำแม่กลองแห่งใหม่หน้าวัดใหญ่นครชุมน์เพื่อข้ามไปวัดมะขาม ต.บ้านม่วง ที่มีขนาดใหญ่กว่าสะพานข้ามแม่น้ำแห่งเดิมในชุมชนที่ตั้งอยู่บริเวณสถานีอนามัยนครชุมน์ ข้ามไปยังวัดม่วง ต.บ้านม่วง ซึ่งเปิดโอกาสให้เกิดการสัญจรระหว่างชุมชนสองฝั่งแม่น้ำที่สะดวกมากขึ้น รวมไปถึงมีผู้คนจากท้องถิ่นใกล้เคียงเดินทางผ่านเข้ามามากขึ้น
ทำให้สมาชิกภายในชุมชนมีทางเลือกมากขึ้นในการที่ไม่จำเป็นต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสมาชิกภายในชุมชนเท่านั้น ร้านค้าภายในชุมชนมีธุรกิจที่ซบเซาลง เพราะมีร้านค้า รวมถึงตลาดชุมชนใกล้เคียงที่สะดวกกว่า และน่าสนใจกว่า รวมไปถึงการเดินทางไปศึกษาหรือทำงานภายนอกชุมชนอีกด้วย
ปัจจุบันชุมชนมีไฟฟ้าเข้าถึงทุกหลังคาเรือน มีสายโทรศัพท์เข้าถึง และมีประปาหมู่บ้านที่สะดวกพอสมควร การดูแลสาธารณูปโภคจัดการโดย อบต.นครชุมน์ ที่มีผู้บริหารจำนวนหนึ่งมาจากชุมชนบ้านวัดใหญ่นครชุมน์ ทำให้ชาวชุมชนสามารถติดต่อกับ อบต.ได้ไม่ยากจนเกินไป อีกทั้ง อบต. ก็ให้ความช่วยเหลือ สนับสนุนกิจกรรมสำคัญ ๆ ของวัดใหญ่นครชุมน์ด้วยดีเสมอมา
จากการประสานงานของปราชญ์ชุมชนคนสำคัญอย่างนายคมสรร จับจุ และคณะ ทำให้มีองค์กรภายนอก เช่น สภาวัฒนธรรม จ.ราชบุรี เข้ามาร่วมส่งเสริมกิจกรรมด้านวัฒนธรรมรวมไปถึงการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมเป็นครั้งคราว กิจกรรมที่จัดขึ้นประจำคือ งานแสดงอาหารมอญเชิงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยงของชุมชน "กินอยู่ดูมอญนครชุมน์ (เจี๊ยะ โม่ง โร่ง โม่น เดิงราชบุรี)" ที่จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 7 แล้วในปี พ.ศ. 2566
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).