Advance search

ชุมชนมอญลำกอไผ่, ชุมชนมอญวัดทิพพาวาส

ชุมชนชาวมอญในแถบชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เขตลาดกระบัง มีวัดทิพพาวาส เป็นศูนย์กลางของชุมชนซึ่งเป็นวัดมอญเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีมีอุโบสถไม้สักทอง และยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีมอญ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีตักบาตรพระร้อย ประเพณีการทำบุญกลุ่มเทศน์ ประเพณีการทิ้งบาตร ประเพณีเกี่ยวการบวช ประเพณีเกี่ยวกับความตาย วัฒนธรรมด้านอาหาร เช่นข้าวแช่ แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด แกงบอน ปลาร้ามอญ ขนมกาละแม ข้าวเหนียวแดง กระยาสารท 

หมู่ที่ 5, 6, 7 ถนนเลียบคลองลำกอไผ่
ลำปลาทิว
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
สำนักงานเขตลาดกระบัง โทร. 0-2326-9149
วารดา พุ่มผกา
14 ต.ค. 2023
ปริญญ์ รุจิรัชกุล
8 ก.ค. 2024
มอญลำปลาทิว
ชุมชนมอญลำกอไผ่, ชุมชนมอญวัดทิพพาวาส

คลองลำปลาทิว ในขณะนั้นคลองเต็มไปด้วยหญ้าและผักตบชวา ใช้แจวและพายไม่ได้ต้องถ่อเรืออย่างเดียว จึงได้มาถึงจุดหมายปลายทาง ที่คลองลำกอไผ่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง (เดิมชื่อตำบลลำปลาทิว อำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร) ในสมัยนั้นสองฝั่งคลองไม่มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นแม้แต่ต้นเดียว มีแต่ไม้ไผ่เพียงกอเดียวที่ยืนต้นตระหง่านอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า "ลำกอไผ่" ส่วนตำบลหรือแขวงลำปลาทิวนั้นเนื่องจากในสมัยนั้นคลองมีปลาชุกชุมมองเห็นเป็นทิวแถวมากกว่าสถานที่แห่งอื่น ส่วนชื่อชุมชนมอญวัดทิพพาวาส มาจากชื่อวัดประจำชุมชน 


ชุมชนชาวมอญในแถบชานเมืองฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯ เขตลาดกระบัง มีวัดทิพพาวาส เป็นศูนย์กลางของชุมชนซึ่งเป็นวัดมอญเก่าแก่อายุกว่า 100 ปีมีอุโบสถไม้สักทอง และยังรักษาวัฒนธรรมประเพณีมอญ เช่น ประเพณีสงกรานต์ ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง ประเพณีตักบาตรพระร้อย ประเพณีการทำบุญกลุ่มเทศน์ ประเพณีการทิ้งบาตร ประเพณีเกี่ยวการบวช ประเพณีเกี่ยวกับความตาย วัฒนธรรมด้านอาหาร เช่นข้าวแช่ แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด แกงบอน ปลาร้ามอญ ขนมกาละแม ข้าวเหนียวแดง กระยาสารท 

หมู่ที่ 5, 6, 7 ถนนเลียบคลองลำกอไผ่
ลำปลาทิว
ลาดกระบัง
กรุงเทพมหานคร
10520
13.7798
100.8018
กรุงเทพมหานคร

ชุมชนมอญที่ลาดกระบังนั้นเป็นกลุ่มชาวมอญที่ขยายตัวมาจากพระประแดง และสมุทรสาคร เนื่องจากนโยบายขุดคลองสายต่าง ๆ ในสมัยรัชกาลที่ 5 เพิ่มพื้นที่นาสำหรับผลผลิตข้าวเพื่อการค้าและส่งออก โดยการชักชวนให้ชาวบ้านมาบุกเบิกที่ทำมาหากินด้วยการงดเว้นการเก็บภาษีในระยะแรก และเก็บในอัตราลดหย่อนพิเศษกว่าพื้นที่ทำนาเก่า ๆ ในระยะต่อมา 

ประกอบกับพื้นที่ทำนาของชาวมอญพระประแดงก็เริ่มแออัดจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้น แม้ในระยะเริ่มแรกชาวมอญเหล่านั้นจะเดินทางไปทำนาเฉพาะช่วงฤดูทำนาเท่านั้น ปลูกกระท่อมเล็ก ๆ ไว้แค่เพียงพอกันแดดกันฝน พอหมดหน้านาก็กลับไปอยู่ที่พระประแดง 

แต่ต่อมาเมื่อถนนหนทางเจริญสะดวกสบายมากขึ้น ยิ่งเกิดวัดขึ้นในชุมชน จนสามารถใช้เป็นที่ทำบุญทำกุศลในเทศกาลต่าง ๆ ได้อย่างดีพร้อมแล้วด้วย ทำให้ชาวมอญเหล่านั้นพากันลงหลักปักฐานยังสถานที่ทำนา คือ ย่านลาดกระบังนั่นเอง 

ท่านพระครูสุกิจวิศาล เจ้าอาวาสวัดทิพพาวาสองค์ปัจจุบันได้เล่าถึงประวัติที่มาของวัดไว้ว่า ราวปี พ.ศ. 2423 ชาวมอญกลุ่มหนึ่งได้ชักชวนพากันมาจากแขวงท่าข้าม เขตบางขุนเทียน กรุงเทพมหานคร โดยทางเรือ ชาวมอญกลุ่มนี้มีสมิงภักดีณรงค์ (ต๊ะ) เป็นหัวหน้าและได้เป็นผู้นำในการจัดสร้างวัดเป็นครั้งแรก

โดยปรากฏหลักฐานในเอกสารสิทธิ์ คือ โฉนดที่ดินของวัด เมื่อ ร.ศ. 122 ตรงกับ พ.ศ. 2446 (ท่านสมิงภักดีณรงค์ หรือ ต๊ะ ผู้นี้เป็นโยมปู่ของท่านพระครูถาวรธรรมวงศ์ อดีตเจ้าอาวาสวัดทิพพาวาส) 

การย้ายถิ่นฐานทางเรือแต่แรกนั้นมาด้วยกัน 3 ครอบครัว คือตั้งบ้านเรือนอยู่ตามลำคลอง ได้แก่ บ้านเรือนที่ตั้งอยู่ต้นคลอง คือ ตระกูลสมใจ เป็นตระกูลของสมิงภักดีณรงค์ (ต๊ะ สมใจ) ครอบครัวที่ตั้งอยู่กลางคลอง ได้แก่ ตระกูล อมรปาน เป็นตระกูลของนายเทียน อมรปาน และครอบครัวที่ตั้งอยู่ปลายคลอง ได้แก่ตระกูลอู่อ้น เป็นตระกูลของนายริด อู่อ้น

การย้ายมาครั้งแรกนั้น ต้องล่องเรือมาตามคลองจนถึงปากคลองประเวศบุรีรมย์ และได้พักจอดเรือที่วัดมหาบุศย์ แขวงสวนหลวง จากนั้นจึงล่องเรือต่อไปทางทิศตะวันออก จนถึงสี่แยกหัวตะเข้ ในพื้นที่แขวงทับยาว เขตลาดกระบัง ก็ได้จอดเรือนอนพักเป็นคืนที่สอง 

รุ่งขึ้นจึงล่องเรือออกจากหัวตะเข้ไปตามลำคลองทิศเหนือจนถึง คลองลำปลาทิว ในขณะนั้นคลองเต็มไปด้วยหญ้าและผักตบชวา ใช้แจวและพายไม่ได้ต้องถ่อเรืออย่างเดียว จึงได้มาถึงจุดหมายปลายทาง ที่คลองลำกอไผ่ แขวงลำปลาทิว เขตลาดกระบัง (เดิมชื่อ ตำบลลำปลาทิว อำเภอลาดกระบัง จังหวัดพระนคร) ในสมัยนั้นสองฝั่งคลองไม่มีต้นไม้ใหญ่ยืนต้นแม้แต่ต้นเดียว มีแต่ไม้ไผ่เพียงกอเดียวที่ยืนต้นตระหง่านอยู่ ด้วยเหตุนี้จึงได้ชื่อว่า "ลำกอไผ่"

ส่วนตำบลหรือแขวงลำปลาทิวนั้นเนื่องจากในสมัยนั้นคลองมีปลาชุกชุมมองเห็นเป็นทิวแถวมากกว่าสถานที่แห่งอื่น และมีเรื่องเล่าว่า ถ้าจะแกงปลาหรือใช้ปลาเป็นอาหารในการบริโภคให้ตำน้ำพริกเตรียมไว้ก่อนได้ แล้วไปหามาหุงต้มได้เลย โดยไม่ต้องจับปลามาขังไว้ จึงเป็นที่มาของชื่อ ลำปลาทิว ซึ่งต่อมาทางฝ่ายราชการจึงได้นำชื่อมาตั้งเป็นชื่อตำบล หรือแขวง ดังที่ปรากฏใช้กันมาถึงปัจจุบัน

เมื่อชาวมอญได้เริ่มมาอยู่อาศัยก็เริ่มหักร้างถางพง เพราะสภาพพื้นที่ทั่วไปเป็นป่าละเมาะแล้วแต่ใครจะจับจองที่ตรงไหนก็ได้เพราะเป็นที่ดินรกร้างว่างเปล่าไม่มีใครมีสิทธิ์เป็นเจ้าของ ต่อมาจึงทำนาปลูกข้าว ประกอบอาชีพเกษตรกรรม และได้มีประชากรมาจากที่ต่าง ๆ เข้ามาตั้งรกรากยึดอาชีพทำนามากขึ้น

ในระยะเริ่มแรกที่ชาวมอญเข้ามาอยู่อาศัยในชุมชนแห่งนี้ยังไม่ได้สร้างวัดจึงได้ไปทำบุญการกุศลในวัดที่ใกล้เคียงในขณะนั้นคือ "วัดอู่ตะเภา" ซี่งอยู่ห่างออกไปจากชุมชนคลองลำกอไผ่ประมาณ 3 กิโลเมตร แต่ในสมัยนั้นการเดินทางไปวัดค่อนข้างลำบาก หน้าน้ำต้องไปทางเรือ พาย แจว ถ่อเรือกันไปลำคลองเต็มไปด้วยผักตบชวา หน้าแล้งก็ต้องเดินลัดทุ่งนาไป 

ด้วยเหตุนี้ชาวมอญลำกอไผ่ จึงได้ร่วมแรงร่วมใจกันสร้างวัดขึ้นมาโดยมีท่านสมิงภักดีณรงค์ ตะ สมใจ เป็นหัวหน้าได้เรียกชุมชนทั้งหมดมาปรึกษาหารือและได้ร่วมกันบริจาคสร้างวัดทิพพาวาส มีชื่อเดิมที่ปรากฏตามเอกสารของทางราชการและที่ประชาชนนิยมเรียกกันว่า วัดธิปะสะ วัดทิพพาวาส วัดทุ่งแสนแสบลำบึงใหญ่ วัดลำกอไผ่ และวัดต้นไทร 

เมื่อได้จัดสร้างวัดขึ้นแล้วจึงได้ขอพระราชทานวิสุงคามสีมาและได้รับพระราชทานเมื่อวันที่ 4 เมษายน พ.ศ. 2432 ในปีที่ได้รับวิสุงคามสีมานั้น วัดทิพพาวาสนี้มีชื่อเรียกตามเอกสารในใบประกาศพระราชทานวิสุงคามสีมานั้นว่า วัดทุ่งแสนแสบลำบึงใหญ่ แขวงกรุงเทพ ภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น "วัดทิพพาวาส"

ในอดีตใช้การสัญจรทางน้ำเป็นหลัก ปัจจุบันเปลี่ยนแปลงเป็นชุมชนเมือง เพราะอยู่ใกล้เคียงย่านนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง มีอาณาเขตติดต่อกับเขตหนองจอก และเขตมีนบุรี มีลำคลองลำกอไผ่ เป็นลำคลองหลักที่สามารถเชื่อมต่อไปยังคลองแสนแสบ และคลองประเวศบุรีรัมย์ ชุมชนเริ่มมีความแออัดจากการเพิ่มขึ้นของหมู่บ้านจัดสรร สภาพแวดล้อมมีการเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมมาก และมักเกิดน้ำท่วมขังทุก ๆ ปี พื้นที่สีเขียวลดลง สภาพคลองมีน้ำเน่าเสียจากโรงงาน และจากหมู่บ้านจัดสรร

ในปัจจุบันชุมชนมีสภาพอาคารบ้านเรือนที่มีความมั่นคง แข็งแรง ประชากรที่มีดินมีเอกสารสิทธิ์ของตนเองมีจำนวนน้อยราย เจ้าของที่ดินส่วนใหญ่เป็นบุคคลอื่น ส่วนเจ้าของที่ดินในชุมชนมักขายให้กับเอกชนเพื่อเป็นที่ปลูกสร้างหมู่บ้านจัดสรร และอาคารอสังหาริมทรัพย์ต่าง ๆ เช่น โกดังให้เช่า มีสถานศึกษาในชุมชน คือ โรงเรียนวัดทิพพาวาส เปิดสอนระดับ อนุบาล ถึงมัธยมศึกษาปีที่ 3 สังกัดกรุงเทพมหานคร 

การเดินทางมายังชุมชน มีถนนฉลองกรุง และถนนเลียบคลองลำกอไผ่ โดยสามารถเดินทางได้ทั้งรถยนต์ส่วนบุคคล รถโดยสารประจำทาง รถสองแถวเล็ก และรถรับจ้างทั่วไป จึงมักเกิดการคมนาคมติดขัดจากรถจำนวนมากที่ผ่านวัดและชุมชนเพื่อไปยังนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง

ด้านสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน โดยการไฟฟ้านครหลวง มีน้ำใช้โดยระบบประปา 

ด้านสาธารณสุข มีศูนย์บริการสาธารณสุข 46 สาขาลำปลาทิว ตั้งอยู่ใกล้กับโรงเรียนวัดทิพพาวาส

เดิมประชากรของชุมชนมอญลำกอไผ่มีเชื้อสายมอญที่อพยพมาจากเคลื่อนย้ายมาจากพระประแดง มีการสืบทอดและมีสายตระกูลสืบต่อกันมา ต่อมามีการแต่งงานกับมอญน้ำเค็มจากสมุทรสาคร และมีเครือญาติกับมอญชุมนอื่น ๆ เช่น ชุมชนมอญลาดกระบัง วัดสุทธาโภชน์ มอญคลอง 14 เขตหนองจอก มอญสามวา วัดแป้นทอง มอญบางกระดี่ เขตบางขุนเทียน เป็นต้น 

ปัจจุบันเมื่อชุมชนมีความเปลี่ยนแปลงทางสังคมด้วยมีการเคลื่อนย้ายของคนจากหลากหลายภาคส่วนเข้ามาทำงานในนิคมอุตสาหกรรมจึงเกิดการแต่งงานกับคนต่างจังหวัด และคนเชื้อชาติอื่นเพิ่มมากขึ้น จึงกลืนกลายไปเสียส่วนใหญ่

มอญ

ผู้คนในชุมชนมอญลำกอไผ่ มีการรวมกลุ่มตามลักษณะเครือญาติพี่น้อง เดิมประกอบอาชีพเกษตรกรรมทำนา แต่ในปัจจุบันเหลือเพียงส่วนน้อย ประชากรในปัจจุบันมีการแต่งงานกับคนต่างถิ่น เช่นภาคอีสาน และภาคอื่น ๆ และผู้คนที่เคลื่อนย้ายเข้าทำงานในเขตนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบัง จึงมีอาชีพ อื่น ๆ เช่น รับจ้าง ธุรกิจส่วนตัว รับราชการ ค้าขาย เป็นต้น   

ตัวอย่างการรวมกลุ่มกันในการทำบุญกลุ่มเทศน์ในช่วงเข้าพรรษา โดยจะแบ่งตามสายตระกูล หรือนามสกุล เช่น สมใจ, ปุยอรุณ, ไกรทอง, พิกุลทอง, เปิ้นมั่นคง, วันเจียม, สัมฤทธิ์, อ่อนน้อม, อมรปาน, หรินทรัตน์,หงส์ปาน, อู่อ้น, โชติช่วง, ดิษาภิรมย์, สุขโต, พุ่มผกา, เฟื่องฟู เป็นต้น

กลุ่มเป็นทางการ ประกอบด้วย ศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนทิพพาวาส เพื่อสนับสนุนการศึกษาของเด็ก ๆ ในชุมชน เพื่อให้เด็ก ๆ ได้เรียนรู้ และเสริมพัฒนาการ จนสามารถนำไปต่อยอดได้ในอนาคต

กลุ่มไม่เป็นทางการ ประกอบด้วย ชุมชนทิพพาวาสมีการตั้งแฟนเพจเฟซบุ๊ก (Facebook) เพื่อประชาสัมพันธ์ข่าวสารต่าง ๆ เนื้อหาเน้นไปทางด้านศาสนา และข่าวสารชุมชนทั่วไป ชื่อกลุ่ม วัดทิพพาวาส ชุมชนมอญลำกอไผ่

นอกจากนั้นคนมอญในชุมชนยังเป็นสมาชิกของกลุ่มชุมชนมอญอื่น ๆ เช่น ชมรมเยาวชนมอญกรุงเทพ, กลุ่มสมาคมไทยรามัญ เป็นต้น

ปฏิทินประเพณีของชาวมอญลำปลาทิว ดังตาราง

Screenshot%202567-07-08%20at%2010_58_02%E2%80%AFAM_668b6442c793f.png

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ในอดีตชาวมอญลำกอไผ่มีการทำเกษตรกรรมเป็นอาชีพหลัก และใช้พื้นที่เลียบคลองเป็นที่หาปลาไว้ขาย เนื่องจากในสมัยก่อนคลองน้ำแห่งนี้เป็นที่ชุกชุมของปลา แต่ในปัจจุบันชาวชุมชนวัดทิพพาวาสได้เปลี่ยนจากการทำอาชีพทำนา มาเป็นการปลูกพืชหมุนเวียน ทำสวน ค้าขาย รับจ้าง และประกอบธุรกิจส่วนตัว แต่ยังคงเหลือบางครัวเรือนที่ยังคงประกอบอาชีพทำนาไว้เป็นรายได้ให้กับครอบครัว

1.พระครูสุกิจวิศาล (เคลือบ ธมฺมเตโช) เจ้าอาวาสวัดทิพพาวาส ที่ปรึกษาเจ้าคณะแขวงลำปลาทิว ธ.

2.นางสำราญ ลักษณะ ปราชญ์ชาวบ้านในด้านองค์ความรู้เกี่ยวกับมอญต่าง ๆ ภาษามอญ

3.นางสาวทองหล่อ สุขโต ปราชญ์ชาวบ้าน ด้านอาหารมอญ เช่น ข้าวแช่ หมี่กรอบ 

4.นายสมคิด ทองเจริญ ปราชญ์ชางบ้านในด้านองค์ความรู้มอญ พิธีกรรมทางศาสนา ภาษามอญ

5.นางสงวน อิ่มพงษ์ ด้านวัฒนธรรมมอญ ภาษามอญ

ทุนวัฒนธรรม

วัฒนธรรมด้านอาหาร

  • ข้าวแช่มอญ เป็นอาหารในวัฒนธรรมมอญที่มักทำในเทศกาลสงกรานต์เพื่อบูชาเทวดา ส่งไปทำบุญที่วัด และแจกจ่ายให้ญาติพี่น้อง 
  • อาหารมอญ โดยทั่วไปคนมอญมักจะรับประทานอาหารที่ปรุงด้วยวัตถุดิบง่าย ๆ นิยมปลูกพืชผักไว้กินเอง เช่น แกงกระเจี๊ยบ แกงมะตาด แกงบอน แกงขี้เหล็ก ปลาร้าหลน ขนมจีน น้ำยา ผัดหมี่ กาละแม 

วัฒนธรรมด้านประเพณี

  • ประเพณีตักบาตรน้ำผึ้ง เป็นประเพณีที่จัดขึ้นในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 โดยชาวบ้านจะนำน้ำผึ้ง น้ำตาลทรายไปตักบาตรถวายพระสงฆ์ที่วัด 

การใช้ภาษามอญจะมีเฉพาะพระสงฆ์ที่สวดทำนองมอญ และผู้สูงอายุจำนวนน้อยมากที่พูดมอญได้ ส่วนใหญ่คนรุ่นใหม่จะพูดมอญไม่ได้  


เนื่องจากการก่อตั้งนิคมอุตสาหกรรมลาดกระบังที่อยู่ในใกล้เคียงกับชุมชน ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านสิ่งแวดล้อม เศรษฐกิจ มีคนต่างที่ต่างถิ่นหลั่งไหลเข้ามาทำงานในระบบอุตสาหกรรม 

ชาวมอญที่อาชีพเกษตรกรรมในรุ่นพ่อแม่ เมื่อถึงรุ่นลูกหลานก็เริ่มเปลี่ยนไปทำงานในโรงงานอุตสาหกรรม เป็นลูกจ้าง และประกอบอาชีพค้าขาย

ในชุมชนมีสร้างตลาดสดและร้านค้าสะดวกซื้อต่าง ๆ เกิดขึ้นมาก นอกจากนี้ การเปิดสนามบินสุวรรณภูมิ ทำให้มีการขายที่ดินเพื่อสร้างหมู่บ้านจัดสรร ทำให้ผู้คนขยายตัวออกมาจากในเมือง มาอยู่อาศัยในเขตลาดกระบังเพิ่มมากขึ้น


เนื่องจากชุมชนมอญลำกอไผ่มีความเปลี่ยนแปลงในด้านบริบททางสังคมและสิ่งแวดล้อมจากสังคมชนบทไปสู่สังคมเมือง การเกิดโรคระบาด น้ำท่วม ทำให้คนมอญดั้งเดิมซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุก็เริ่มทยอยหมดไป

ส่วนรุ่นลูกหลานก็แต่งงานไปกับคนภาคอื่น ๆ ทำให้กลืนกลายวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบสมัยใหม่ไปมาก คนรุ่นใหม่จึงไม่ได้สืบทอดวิถีวัฒนธรรมของมอญ วัฒนธรรมประเพณีมอญดั้งเดิมก็เริ่มสูญหายไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มอญ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

วัดทิพพาวาส ชุมชนมอญลำกอไผ่. (2566, 14 ตุลาคม). ประวัติความเป็นมาของมอญวัดทิพพาวาส. Facebook https://www.facebook.com/

สำนักงานเขตลาดกระบัง โทร. 0-2326-9149