Advance search

บ้านหนองกระดูกเนื้อ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

หมู่ที่ 6
บ้านหนองกระดูกเนื้อ
หนองนมวัว
ลาดยาว
นครสวรรค์
อบต.หนองนมวัว โทร. 0-5620-9029
ไอรินทร์-คำดี ขุนดารา
27 ต.ค. 2023
พรสุดา กุลนาดา
29 ก.ย. 2023
ศิวกร สุปรียสุนทร
8 ก.ค. 2024
บ้านหนองกระดูกเนื้อ

มีตำนานที่เล่าขานกันสืบต่อมาว่า ผู้เฒ่าผู้แก่เพิ่นเล่าว่า ในสมัยก่อนจะมีพ่อเฒ่าหลาย ๆ ตระกูลของแต่ละครอบครัวเพิ่นมาสำรวจบริเวณชุมชน มีตระกูลศรีตระลา ตระกูลภูมิอินทร์ ตระกูลยอดสุทธิ ตระกูลดะรงค์ ตระกูลบุญทิจำปา ได้เข้ามาแต่ยังไม่ได้ตั้งชื่อหมู่บ้าน เพิ่นก็มาเจอหนองน้ำขนาดใหญ่ (ซึ่งปัจจุบันอยู่ หมู่ 6) ที่มีกระดูกสัตว์ระเกะระกะเต็มหนองน้ำ ไม่ว่าจะเป็นกระดูกช้าง เก้ง หมูป่า ที่พรานมาชำแหละเอาเนื้อไปแต่กระดูกทิ้งไว้ พ่อเฒ่าเฮียม ศรีตระลา เข้าไปเห็น (เป็นผู้หนึ่งที่อพยพเข้ามาตั้งถิ่นบาน) ก็เลยเอ่ยปากออกมาว่า ข่อยจะขอตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่าบ้านหนองกระดูกเนื้อ


บ้านหนองกระดูกเนื้อ เป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมและประวัติศาสตร์

บ้านหนองกระดูกเนื้อ
หมู่ที่ 6
หนองนมวัว
ลาดยาว
นครสวรรค์
60150
15.7683
99.8641
องค์การบริหารส่วนตำบลหนองนมวัว

บ้านหนองกระดูกเนื้อ ตั้งอยู่ในตำบลหนองนมวัว อำเภอลาวยาว จังหวัดนครสวรรค์

อำเภอลาดยาวเดิมมีฐานะเป็นเพียงตำบลหนึ่งอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอโกรกพระ จังหวัดนครสวรรค์ ด้วยเหตุผลที่มีคนพลเมืองน้อย พื้นที่เป็นป่าดง สัตว์ร้าย มีไข้ป่าชุกชุม ผู้คนก็อยู่กันเป็นหย่อม ๆ กระจัดกระจายกันอยู่ไม่เป็นปึกแผ่นแน่นหนา ขุนลาดบริบาล (หลง หมู่พยัคฆ์) กำนันตำบลลาดยาว ได้ร่วมกับหลวงพ่อพวง เจ้าอาวาสวัดลาดยาว เป็นผู้ริเริ่มชักชวนชาวบ้านร่วมกันขุดเหมือง ฝาย คลองส่งน้ำเพื่อเก็บกักน้ำ บุกเบิกพื้นที่เป็นป่าเพื่อประโยชน์ในการเพาะปลูก ทำนา ทำไร่ พร้อมกับชักชวนให้ต่างท้องถิ่นเข้ามาหากินในท้องถิ่นนี้

ผลจากการบุกเบิกที่นา ที่ไร่ บำรุงและส่งเสริมการทำนาหาเลี้ยงชีพของราษฎรในฝาย การทำเหมืองฝายในตำบลลาดยาว ในสมัย พ.ศ. 2456 ยังเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีราษฎรไม่กี่ครัวเรือน แต่พื้นที่กว้างใหญ่ ล่วงมาระยะเวลาประมาณ 10 ปี ได้กลายเป็นหมู่บ้านใหญ่ขึ้น มีราษฎรถิ่นอื่นเข้ามาตั้งหลักปักฐานเป็นปึกแผ่นแน่นหนาหลายร้อยหลายพันหลังคาเรือน แต่เดิมต้องร้องขอให้มา เมื่อมาแล้วก็ต้องยกที่ดินทำนาให้บ้าง ปลูกบ้านเรือนบ้าง แต่ภายหลังหาที่ว่างให้ไม่ได้ ทำให้ป่าดงกลายเป็นที่นา ที่ไร่ ทำให้ที่รกร้างว่างเปล่ากลายเป็นพื้นที่ทำประโยชน์ จึงทำให้ตำบลลาดยาวเจริญขึ้นตามลำดับ

เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2465 ขุนลาดบริบาล (หลง หมู่พยัคฆ์) กำนันตำบลลาดยาว ได้เสนอความเห็นต่อ พระยาสุนทรพิพิธ ผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ และพลโทพระยาเทพหัสดินทร์ สมุหเทศาภิบาลนครสวรรค์ เพื่อพิจารณายกฐานะตำบลลาดยาว ขึ้นเป็นอำเภอลาดยาว

ในปี พ.ศ. 2469 ขุนลาดบริบาล ได้ยกที่ดินให้สร้างสถานที่ราชการ จำนวน 50 ไร่ และในปี พ.ศ. 2470 จึงได้มีการสร้างอาคารที่ว่าการอำเภอลาดยาว เป็นอาคารไม้สองชั้นโดยมีนายอำเภอลาดยาว คนแรก คือ ขุนเปล่ง ประศาสตร์

ในปี พ.ศ. 2534 ได้มีการปลูกสร้างที่ว่าการอำเภอลาดยาวขึ้นใหม่ เป็นอาคารตึก 3 ชั้น แทนอาคารไม้หลังเก่า บนพื้นที่เดิม

อำเภอลาดยาวนั้นมีประชากรประกอบด้วยหลายเชื้อชาติ เนื่องจากได้อพยพมาจากจังหวัดอุทัยธานี จังหวัดชัยนาท จังหวัดสุพรรณบุรี จังหวัดนครปฐม จังหวัดเพชรบูรณ์ จังหวัดเพชรบุรี เช่น ไทยจีน ชาวไทยเชื้อสายลาวครั่ง ลาวพวน ลาวโซ่ง (ไทดำ)

ด้วยความหลากหลายของเชื้อชาติและการอยู่อาศัยในท้องถิ่นที่แตกต่างกัน ทำให้การใช้ภาษาวัฒนธรรม ประเพณี ความเชื่อที่หลากหลาย การดำเนินชีวิตที่แตกต่างกันอย่างชัดเจน

ชาติพันธ์ุลาวครั่งในอำเภอลาดยาวมีหลายหมู่บ้านคือ หมู่บ้านหนองกระดูกเนื้อ หมู่บ้านโป่งยอ หมู่บ้านดอนโม่ หมู่บ้านหนองเดิ่น บ้านหนองนมวัว บ้านหนองตาเชียง บ้านดงหนองหลวง บ้านวังยิ้มแย้ม บ้านหนองหูช้าง บ้านนกคลาน บ้านห้วยร่วม บ้านยางโทน บ้านสร้อยละคร บ้านวังดินดาด บ้านเกาะเปา บ้านมาบแก บ้านทุ่งแม่น้ำน้อย บ้านคลองสาลี บ้านวังชมพู บ้านศาลเจ้าไก่ต่อ เป็นต้น

บ้านหนองกระดูกเนื้อ แยกการปกครองออกเป็น หมู่ 5 มีประชากรชาย จำนวน 273 คน หญิง จำนวน 293 คน และหมู่ 6 มีประชากรชาย จำนวน 206 คน หญิงจำนวน 184 คน รวมประชากรทั้ง 2 หมู่บ้านจำนวน 956 คน 

ลาวครั่ง

โครงสร้างชุมชนของบ้านหนองกระดูกเนื้อ แบ่งการปกครองภายในหมู่บ้านออกเป็น 10 กลุ่ม เพื่อดำเนินกิจกรรมร่วมกันในชุมชน มีกลุ่มอาชีพในชุมชน จำนวน 10 กลุ่มอาชีพ เช่น กลุ่มทอผ้า กลุ่มตีมีด กลุ่มจักสาน กลุ่มตะกร้าพลาสติก เป็นต้น

ศาสนา และความเชื่อ 

ศาสนาพุทธ และความเชื่อเรื่องผีบรรพบุรุษ ส่วนมากจะไหว้หรือทำพิธีในช่วงสงกรานต์เพื่อรวมเครือญาติ สรงน้ำกระดูกญาติพี่น้องแล้วจนผึ่งหรือตากแดดจนกว่าจะแห้งค่อยเก็บกระดูกและเลี้ยงผีปู่ยาตายายที่วัดเลย

ประเพณี พิธีกรรม 

พิธีแฮกนา คือการนำอาหารคาวหวานใส่ตะกร้าหรือใส่ชะลอม ไปแขวนไว้ยังหัวไร่ปลายนาในยามที่ข้าวออกรวงทุกวันศุกร์ เพื่อบูชาแม่โพสพ 

พิธีสู่ขวัญข้าว เมื่อเกี่ยวข้าวเสร็จจะมีการมัดฟ่อนข้าว และจะเข็นขึ้นมาที่ลานข้าวโดยการลอมข้าวเป็นชั้นๆแล้วชาวลาวครั่งจะไปเรียกขวัญข้าวมาที่ลานข้าว จากนั้นก็จะเอาข้าวมาเหยียบข้าวโดยใช้ควายในการย่ำแล้วจึงฟัด/สีข้าวจนได้เมล็ดข้าวจึงนำข้าวไปเก็บไว้ในยุ้งฉางแล้วค่อยทำพิธีสู่ขวัญข้าว คือ การเรียกขวัญข้าวและเชิญทานมาที่หาบแล้วจะเดินเงียบไม่พูดไม่คุยกับใครแล้วเอามยังยุ้งข้าว ใช้คำอันเป็นมงคลอัญเชิญแม่โพสพขึ้นไปยังเล้าข้าวและสิ่งที่ต้องเตรียมคือ บายศรี ถาดข้าวปลาอาหาร ถาดขนมหวาน ถาดเครื่องแต่งกายจะมีผ้าซิ่นใหม่ เสื้อ ผ้าบิงใหม่ แป้งหวี กระจก สร้อย แหวน เป็นต้น

บุญคูณลานสู่ขวัญข้าว สถานที่จัดกิจกรรม คือ วัด โดยมีความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับอาชีพทำนา ช่วงเวลาจัดกิจกรรม เดือน 3 ขึ้น 3 ค่ำ

การละเล่นนางด้ง สถานที่จัดกิจกรรม คือ ลานกลางบ้าน ความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิต สะท้อนความเชื่อของคนในชุมชนและเพื่อการทำนายตามที่นางด้งได้ให้คำตอบมา จัดในเดือนเมษายน 

ทำบุญสารทลาว สถานที่จัดกิจกรรม คือ วัด โดยมีความสัมพันธ์และอิทธิพลที่มีต่อวิถีชีวิตที่เกี่ยวข้องกับการทำบุญอุทิศให้กับบรรพบุรุษ

การแสดง มหรสพ และการละเล่น 

รำแคน คือการใช่ท่ารำแบบง่ายๆตามจังหวะแคน ฟ้อนรำด้วยท่วงท่าที่สนุกสนาน ไม่ตายตัวแล้วแต่ลีลาของคนฟ้อน 

ฟ้อนตักอีแหลว ในสมัยก่อนนั้นเป็นการรำวง เกี้ยวของชายหนุ่มและหญิงสาว ในจังหวะช้าๆ ไปหาจังหวะที่ไวขึ้นและสนุกสนาน ส่วนฝ่ายชายจะใช้ลีลาท่าทางเช่นท่าขยี้แป้ง ปะแป้ง หวีผม กรีดผ้า ม้วนมือ เป่าคาถา เสกคาถาแล้วค่อยเกี้ยว มีท่าทางการจก ล้วง การหยั่งของฝ่ายชายว่าหญิงชอบยินยอมหรือไม่ (ท่าฟ้อนจากพ่อบัวลา หมื่นคำแสน) 

ฝ่ายชายเวลาไปจีบสาวส่วนมากจะไปเป็นอาทิตย์เป็นเดือน จะไปกัน 3-4 คน มีกลอง มีแคน และจะร้องกันไปตามหมู่บ้านใกล้เคียงโดยการใช้เวลาตอนกลางคืนในการละเล่น เมื่อชอบพอบ้านไหนก็จะอยู่ในหมู่บ้านนานเป็นพิเศษ 

ฝ่ายหญิงก็จะมีผู้หญิงหลายคน จะเป็นคนกันเพื่อผู้ชายไม่ให้ฝ่ายชายมาจีบเพื่อนสาวได้ โดยการปกป้องฝ่ายชาย เช่น ตีมือ ปัดมือ หมุนมือ และท่าเอียงอาย เป็นต้น (นายคำดี ขุนดารา)

1.นายชุมพร ชิเนนทร อายุ 83 ปี หมู่ 5 บ้านหนองกระดูกเนื้อ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ บรรพบุรุษอพยพมาจาก จ.อุทัยธานี สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ ด้านการจักรสาน/การดนตรีการเป่าแคน

2.นางไอรินทร์ ขุนดารา อายุ 67 ปี หมู่ 5บ้านหนองกระดูกเนื้อ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ บรรพบุรุษอพยพมาจากบ้านโคกหม้อ จ.อุทัยธานี สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ ด้านวิถีชีวิต และตำนานผ้าลาวครั่งบ้านหนองกระดูกเนื้อ 

3.นายสปอต สายหลง อายุ 66 ปี หมู่ 5 บ้านหนองกระดูกเนื้อ ตำบลหนองนมวัว อำเภอลาดยาว จังหวัดนครสวรรค์ บรรพบุรุษอพยพมาจากอ.ปักธงชัย จ.นครราชสีมา สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ ด้านการตีมีด

4.นางสาวประนีต อ่อนตา อายุ 64 ปี หมู่ 5บ้านหนองกระดูกเนื้อ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ บรรพบุรุษอพยพมาจาก จ.อุทัยธานี สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ ด้านการทอผ้า การมัดย้อม/การพิมพ์ผ้าด้วยใบไม้

5.นายคำดี ขุนดารา อายุ 52 ปี 19 หมู่ 5 บ้านหนองกระดูกเนื้อ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ บรรพบุรุษอพยพมาจาก จ.อุทัยธานี สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ ด้านทำทง/ทุง/งานบายศรีลาวโบราณ/ตำนานผ้าโบราณของกระดูกเนื้อ ประเพณีแห่ดอกไม้บูชาพระรัตนตรัยและการ ฟ้อนตักอีแหลว

6.นางสนอง ไชยเลิศ อายุ 79 ปี 7 หมู่ 6 บ้านหนองกระดูกเนื้อ ต.หนองนมวัว อ.ลาดยาว จ.นครสวรรค์ บรรพบุรุษอพยพมาจาก อ.หนองขาหยางจ.อุทัยธานี สาขาภูมิปัญญาท้องถิ่นที่เกี่ยวกับ ด้านขนมไทย/บายศรีสู่ขวัญลาว/การเรียกขวัญข้าว

ทุนมนุษย์

1.นายชุมพร ชิเนนทร ด้านการจักสาน/การดนตรีการเป่าแคน

2.นางไอรินทร์ ขุนดารา ด้านวิถีชีวิต และตำนานผ้าลาวครั่งบ้านหนองกระดูกเนื้อ 

3.นายสปอต สายหลง ด้านการตีมีด

4.นางสาวประนีต อ่อนตา ด้านการทอผ้า การมัดย้อม/การพิมพ์ผ้าด้วยใบไม้

5.นายคำดี ขุนดารา ด้านทำทง/ทุง/งานบายศรีลาวโบราณ/ตำนานผ้าโบราณของกระดูกเนื้อ ประเพณีแห่ดอกไม้บูชาพระรัตนตรัยและการ ฟ้อนตักอีแหลว

6.นางสนอง ไชยเลิศ ด้านขนมไทย/บายศรีสู่ขวัญลาว/การเรียกขวัญข้าว

ทุนวัฒนธรรม

อาหารและยารักษาโรค

อาหารส่วนใหญ่จะมีตามฤดูกาล จะทานข้าวเจ้าเปิบข้าวด้วยมือจะทานข้าวพร้อมกันทั้งครอบครัวพี่น้องเพื่อพูดคุยในเรื่องการทำมาหากิน ส่วนมากจะมีปลาร้า กะปิ

น้ำปลาที่ทำขึ้นมาเอง อาหารส่วนใหญ่จะหาได้ง่ายเช่นแกงเปอะ/โซเล่ไก่/แกงพลำ/แกงบอน/ลาบเถา/แกงขี้เหล็กและแจ่วบองเป็นต้นส่วนขนมคือขนมอีแปะ/บวดมัน/นึ่งกอยใส่ฟักทอง/ข้าวเหนียวเปียก เป็นต้น 

ยารักษาโรค ส่วนใหญ่ใช้ยาสมุนไพรหรือเรียกว่ายาหม้อใหญ่ หม้อน้อยยาแก้ไข้ทับฤดู และยาตีทับหมากัด (ส่วนใหญ่จะมีคาถากำกับ)

ยาแปกหม้อใหญ่ มีส่วนประกอบดังนี้

1.หัวยาข้าวเย็นใต้ 2.หัวยาข้าวเย็นเหนือ 3.จันแดง 4.จันขาว 5.แก่นสน 6.ต้นเมียดหอม 7.ต้นเมียดแอ่ 8.ต้นกล้วยเต่าป่า 9.เครือผักสาบ(อีนูน) 10.ก่อแฟกหอม 11.ต้นเมียดโคน 12. เปลีอกลิ้นไม้ นำเอามารวมกันและนำไปต้มใช้ดื่มแทนน้ำจนยาจะจืด ยาชนิดนี้แก้เป็นลม หน้ามืด จะใช้ดื่มทุกวัน (ตำรายาจากโซ้นแอ๊ด ระวังภัย อายุ 94 ปี)

ยาแก้ไข้ทับฤดู/หรือฤดูทับไข้ มีส่วนประกอบดังนี้ 

1.หัวยาข้าวเย็นใต้ 2.หัวยาข้าวเย็นเหนือ 3.เครือจาน 4.แก่นข้าวโพด 5.จันแดง 6.จันขาว นำเอามารวมกันและนำไปต้มใช้ดื่มแทนน้ำจนยาจะจืด ยาชนิดนี้แก้การเป็นไข้ ตัวร้อน ในช่วงมีประจำเดือน จะใช้ดื่มทุกวัน (ตำรายาจากโซ้นแอ๊ด ระวังภัย อายุ 94 ปี) 

ยาแก้ซาง มีส่วนประกอบดังนี้ 

1.ต้นชุมเห็ด 2.อ้อยแดง 3.กระเพาแดง 4.กระเพาขาว 5.งวงตาล 6. น้ำตาลอ้อย นำเอามารวมกันและนำไปต้มใช้ดื่มแทนน้ำจนยาจะจืด ยาชนิดนี้แก้คนที่ผอม พุงโต ก้นปอด ทานข้าวได้แต่ไม่อ้วน ตัวเหลือง จะใช้ดื่มทุกวัน (ตำรายาจากโซ้นแอ๊ด ระวังภัย อายุ 94 ปี)

เสื้อผ้าและการแต่งกาย 

ผู้ชาย การแต่งกายส่วนใหญ่ไม่ค่อยสวมเสื้อเวลาทำงาน กางเกงจะใส่กางเกงหูรูดเป็นกางเกงใน สวมทับถ้วยโสร่งหรือ กางเกงขาก๊วย แต่จะมีผ้าขาวม้าคาดเอวเสมอ/ แต่ถ้าไปงานบุญหรืองานสำคัญผู้ชายจะใส่เสื้อแขนสั้น/ ยาวทรงกระบอก คอกลม ใส่โสร่งฝ้ายหรือไหม/ แต่บางครั้งจะใช้ผ้าวา (ผ้าสีผืน) นุ่งโจงกระเบนผ้ามัดเอว 

ผู้หญิง นุ่งด้วยผ้าซิ่นมัดหมี่ ไม่มีตีน สวมเสื้อคอกลม แขนกระบอกสีน้ำเงินไปทำงาน หรือบางครั้งจะนุงโจงกระเบนสีผืน (ผ้าเตียว) แต่ถ้ามีงานบุญจะใส่เสื้อคอกลมแขนกระบอก สีขาวหรือสีน้ำเงินใส่ผ้าซิ่นมีตีน/หรือไม่มีก็ได้ส่วนมากจะมีผ้าบิง (ผ้าสไบสีขาว) แต่ถ้าหยุดอยู่บ้านจะใส่เสื้อคอกระเช้าหรือเสื้อแขนกิ๊น (เพราะอากาศร้อน)

การใช้ภาษาเพื่อการสื่อสารของลาวครั่งบ้านหนองกระดูกเนื้อ ใช้ภาษาลาวครั่งสื่อสารกันส่วนมาก ในชุมชนยังมีผู้สูงอายุ ภูมิปัญญาด้านการพูดพญา (คำกลอน) ที่เกี่ยวข้องการคติการดำเนินชีวิต การจีบสาว หรือภาษาที่ใช้ในการละเล่น การร้องเพลงเชิญประกอบการละเล่น เช่น นางด้ง นางกวัก ภาษาที่ใช้ในการประกอบพิธีกรรม เป็นต้น


บ้านหนองกระดูกเนื้อ เมื่อมีการจัดกิจกรรมในหมู่บ้านมากขึ้นทุกเดือน กิจกรรมได้รับการเผยแพร่ทางสื่อต่าง ๆ ทำให้ลาวครั่งบ้านหนองกระดูกเนื้อได้รับความสนใจจากหน่วยงานทั้งภาครัฐ สถาบันการศึกษา นักท่องเที่ยวสนใจ ต้องการเข้ามาศึกษา เยี่ยมชมวิถีชีวิตของลาวครั่ง ทำให้คนในชุมชนตื่นตัวและมีส่วนร่วมในกิจกรรมอย่างต่อเนื่อง คนทุกเพศทุกวัยมีส่วนร่วมในกิจกรรมทางวัฒนธรรมประเพณี หน่วยงานภาครัฐให้ความสนใจและมีโครงการสนับสนุนวัฒนธรรมประเพณี เช่น OTOP นวัตวิถี นอกจากนี้ยังมีหน่วยงานที่เข้ามาศึกษาศูนย์วัฒนธรรม คนต่างพื้นที่เข้ามาในหมู่บ้านมากขึ้น กลุ่มอาชีพต่าง ๆ สามารถจำหน่ายผลิตภัณฑ์ได้ส่งเสริมรายได้ของคนในหมู่บ้าน

ส่งผลให้คนในชุมชนรู้สึกห่วงแหนในวัฒนธรรมและภาคภูมิใจในวัฒนธรรมของลาวครั่งมากขึ้น เตรียมความพร้อมเพื่อส่งต่อให้รุ่นลูกหลานได้สืบทอดวัฒนธรรมต่อไป

กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ลาวครั่ง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อัญชลี วงษ์วัฒนา (บ.ก.). (2560). ประวัติและวัฒนธรรมลาว บรรพบุรุษไทครั่ง. https://www.santo-kp.go.th/pdf/culture.pdf

พระพุฒินันทน์ รังสิโย. (2562). การวิเคราะห์อัตลักษณ์ของชุมชนลาวครั่งตามหลักพระพุทธศาสนาในจังหวัดนครปฐม. วิทยานิพนธ์ปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย.

เก็บ จันทา, สัมภาษณ์, 2566

คำดี ขุนดารา, สัมภาษณ์, 2566

คำพัน ศรีหาโคตร, สัมภาษณ์, 2566

ชุมพร ชิเนนทร, สัมภาษณ์, 2566

ณัฐชากร พิมพา, สัมภาษณ์, 2566

ประนีต อ่อนตา, สัมภาษณ์, 2566

สนอง, สัมภาษณ์, 2566

สปอต สายหลง, สัมภาษณ์, 2566

ไอรินทร์ ขุนดารา, สัมภาษณ์, 2566

อบต.หนองนมวัว โทร. 0-5620-9029