ชุมชนที่พักอาศัยติดบริเวณลำน้ำชีมาตั้งแต่อดีต และมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับลำน้ำชี
ชื่อหมู่บ้านเดิมเป็น "บ้านวังหินเกิ้ง" ตามคำบอกเหล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ตอนที่นายศรีกุลมาที่บริเวณนี้ (พื้นที่บ้านเกิ้งใต้ในปัจจุบัน) ได้เจอหินที่มีรูปรางคล้ายพระจันทร์ ซึ่งคนอีสานจะเรียกพระจันทร์ว่า "เกิ้ง" และหินก้อนที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำก้อนดังกล่าวอยู่บริเวณที่แม่น้ำมีความลึกมาก ภาษาอีสานเรียกบริเวณที่มีความลึกว่า "วัง" หินที่นายศรีกุลเจอ จะมีลักษณะกลมและเรียบสวยคล้ายพระจันทร์ จากลักษณะเด่นของพื้นที่ดังกล่าวจึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้รับการเรียกขานชื่อว่า "บ้านวังหินเกิ้ง" ในปัจจุบันมีการเรียกชื่อหมู่บ้านเพี้ยนมาเป็น "บ้านเกิ้ง"
ชุมชนที่พักอาศัยติดบริเวณลำน้ำชีมาตั้งแต่อดีต และมีวิถีชีวิตเกี่ยวข้องกับลำน้ำชี
ประวัติการก่อตั้งของหมู่บ้านเกิ้งเหนือมีการเล่าขานสืบต่อกันมาอยู่สองเรื่องราว เรื่องหนึ่งเป็นคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชน อีกเรื่องเป็นข้อมูลซึ่ง อบต.บ้านเกิ้งได้จัดทำไว้เรื่องบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่คนหนึ่งในหมู่บ้านมีว่า บ้านเกิ้งเหนือเป็นหมู่บ้านที่มี นายศรีกุล ศรีสารคาม เป็นผู้ก่อตั้ง โดยกลุ่มของนายศรีกุล ได้เดินทางมาจากจังหวัดร้อยเอ็ดและตั้งถิ่นฐานบ้านเรือนอยู่ที่คุ้มบ้านจาน (จังหวัดมหาสารคาม ในปัจจุบัน) ต่อมาในตัวจังหวัดมีผู้คนอาศัยอยู่หนาแน่นขึ้นเรื่อย ๆ พื้นที่ในการครอบครองและพื้นที่สำหรับการทำมาหากินไม่เพียงพอต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ นายศรีกุลจึงย้ายออกมาตั้งบ้านเรือนอยู่ที่บ้านเกิ้งใต้ในปัจจุบัน ซึ่งบริเวณแห่งนี้มีที่ดินทำกินเหมาะสำหรับการประกอบอาชีพและทำการเกษตรเพียงพอกว่าในตัวจังหวัดมหาสารคาม
บ้านเกิ้งเหนือก่อตั้งหมู่บ้านเป็นระยะเวลา 100 กว่าปีมาแล้ว เดิมบ้านเกิ้งเหนือนั้นมีชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านวังหินเกิ้ง" ต่อมามีการเรียกชื่อของหมู่บ้านสั้นลงสันนิษฐานว่าเพื่อความสะดวกรวดเร็วในการเรียกชื่อหมู่บ้าน จนเหลือชื่อหมู่บ้านเพียงแค่ "บ้านเกิ้ง" เหตุที่ได้ชื่อหมู่บ้านเป็น "บ้านวังหินเกิ้ง" ตามคำบอกเหล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ ตอนที่นายศรีกุลมาที่บริเวณนี้ (พื้นที่บ้านเกิ้งใต้ในปัจจุบัน) ได้เจอหินที่มีรูปร่างคล้ายพระจันทร์ ซึ่งคนอีสานจะเรียกพระจันทร์ว่า "เกิ้ง" และหินก้อนที่โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำก้อนดังกล่าวอยู่บริเวณที่แม่น้ำมีความลึกมาก ภาษาอีสานเรียกบริเวณที่มีความลึกว่า "วัง" หินที่นายศรีกุลเจอ จะมีลักษณะกลมและเรียบสวยคล้ายพระจันทร์ จากลักษณะเด่นของพื้นที่ดังกล่าวจึงทำให้หมู่บ้านนี้ได้รับการเรียกขานชื่อว่า "บ้านวังหินเกิ้ง" ในปัจจุบันมีการเรียกชื่อหมู่บ้านเพี้ยนมาเป็น "บ้านเกิ้ง" ต่อจากนั้นเมื่อบ้านเกิ้งมีประชากรมากขึ้นจำนวนครัวเรือนมีการขยายตามสภาพสังคมและความเจริญ จึงได้มีการแยกหมู่บ้านและเรียกหมู่บ้านที่แยกออกจากกันว่า "บ้านเกิ้งเหนือ" และ "บ้านเกิ้งใต้" โดยที่บริเวณบ้านเกิ้งใต้เป็นบริเวณที่นายศรีกุลมาตั้งหมู่บ้านในช่วงแรก ปัจจุบันบ้านเกิ้งเหนือได้แยกหมู่บ้านออกไปอีกหนึ่งหมู่ จึงทำให้บ้านเกิ้งมีสายหมู่บ้านคือบ้านเกิ้งใต้หมู่ 5 บ้านเกิ้งเหนือ หมู่ 6 และบ้านโนนสวรรค์หมู่ 10 การแยกหมู่บ้านเป็นสามหมู่ดังกล่าวมีผลทำให้ง่ายต่อการปกครองและงบประมาณในการพัฒนาก็ความเหมาะสมมากกว่าที่เคยเป็น
สำหรับเรื่องราวการก่อตั้งหมู่บ้านอีกเรื่องหนึ่งเป็นข้อมูลที่ อบต.บ้านเกิ้งได้จัดทำไว้ซึ่งมีก็เรื่องราวดังนี้ ผู้ก่อตั้งคนแรก คือ ท้าวอุปฮาดและท้าวเมืองแสนได้นำพรรคพวกมาจากเมืองร้อยเอ็ดล่องเรือขึ้นมาตามลำน้ำชีได้พบกับที่อุดมสมบูรณ์ฝั่งแม่น้ำเหมาะแก่การตั้งหมู่บ้าน ขณะเดียวกันก็ได้พบกับหินก้อนหนึ่ง โผล่ขึ้นมาเหนือน้ำขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 8 ศอกมีลักษณะคล้ายอีเกิ้ง (พระจันทร์) ท้าวอุปฮาดและท้าวเมืองแสนจึงได้ตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "บ้านเกิ้ง" มีท้าวอุปฮาดเป็นผู้ปกครองดูแล ท้าวเมืองแสนเป็นผู้ช่วยทำการปกครองแบบพ่อปกครองลูก ได้สร้างวัดขึ้นมาวัดหนึ่งเรียกว่า "วัดเกิ้งเหนือ" (อยู่ทางด้านเหนือของกระแสน้ำทิศตะวันตก) พร้อมทั้งตั้งโรงเรียนในวัด เมื่อ พ.ศ. 2546 ครูผู้สอนเป็นพระภิกษุ ผู้เรียนต้องไปสมัครเป็นศิษย์วัด เมื่อมีความรู้อ่านออกเขียนได้จึงบรรพชาเป็นสามเณรหรืออุปสมบทเป็นพระภิกษุ และเมื่อพลเมืองของหมู่บ้านมากขึ้นจึงจัดตั้งเป็นอีกหมู่บ้านหนึ่งเรียกว่าบ้านเกิ้งใต้หมู่ที่ 5 พ.ศ. 2483 ได้ย้ายโรงเรียนจากวัดเกิ้งเหนือมาอยู่เป็นเอกเทศจนทุกวันนี้
เมื่อท้าวอุปฮาดถึงแก่กรรม ชาวบ้านได้พร้อมกันสร้างศาลขึ้นและเชิญดวงวิญญาณของท่านขึ้นสิงสถิตย์ เรียกว่าหอเจ้าปู่เหนืออยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านมีต้นยางใหญ่เป็นสัญลักษณ์
บ้านเกิ้งเหนือมีประชากรทั้งสิ้น 847 คน เป็นชาย 407 คน หญิง 447 คน มีครัวเรือน ทั้งหมด 190 ครัวเรือน มีพื้นที่ทำกิน 1,700 ไร่ พื้นที่ตั้งบ้านเรือน 250 ไร่ ประชากรส่วนใหญ่ของบ้านเกิ้งเหนือจบการศึกษาระดับประถมศึกษา (ป.6) โรงเรียนที่สำคัญมีอยู่ทั้งสิ้น 2 โรงเรียน คือ โรงเรียนบ้านเกิ้งสามัคคีคุรุราษฎ์ซึ่งสอนระดับอนุบาล-ประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 และอีกหนึ่งโรงเรียนคือ โรงเรียนเกิ้งวิทยานุกุลสอนระดับมัธยมศึกษาปีที่ 1-6 ทั้ง 2 โรงเรียนนี้ตั้งอยู่ที่บ้านเกิ้งใต้หมู่ที่ 5
ภูมินิเวศน์ของบ้านเกิ้งเหนือเป็นหมู่บ้านที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดมหาสารคามมาทางทิศตะวันออกของจังหวัดประมาณ 6 กิโลเมตร พื้นที่ของหมู่บ้านอยู่ติดกับแม่น้ำชี ซึ่งมีกุดแก่งเป็นระยะ ๆ ในบริเวณรอบ ๆ และใกล้เคียงหมู่บ้านมีกุดมีเกิดจากแม่น้ำชีอยู่ทั้งสิ้น 2 กุดคือ กุดแดงและกุดหวาย ในปัจจุบันมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่กุดแดงเป็น "สถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช" เป็นแหล่งศึกษา อนุรักษ์พันธุ์ไม้และสัตว์ (ปลา) กุดแดงอยู่ในพื้นที่หมู่บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 10 และอีกหนึ่งกุดที่เกิดในบริเวณแม่น้ำชีคือ "กุดหวาย" (เรียกอีกหนึ่งว่า วังมัจฉา) กุดหวายแบ่งเป็นพื้นที่สาธารณะ (วัด) และพื้นที่ส่วนบุคคลมีโฉนดที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย กุดหมายเป็นสถานที่ผู้คนไปเที่ยวและพักผ่อนอยู่ไม่ขาด เนื่องจากบริเวณกุดหวายเองมีการจัดพื้นที่ให้เป็นแหล่งท่องเที่ยว โดยมีสิ่งดึงดูดที่สำคัญคือปลาหลากหลายพันธุ์ที่อยู่ในหมู่บ้านโขงกุดหมาย นอกจากสภาพภูมิประเทศที่เป็นกุดเป็นแก่งแล้ว ยังมีหนองน้ำที่ชาวบ้าน เรียกว่า กุดเช่น กันอีก 2 กุด คือ กุดขี้เป็ด และกุดอ้อ ทั้งสองกุดจะมีคลองก้านเหลืองซึ่งเป็นคลองธรรมชาติ เชื่อมต่อกันระหว่าง 2 กุดดังกล่าว แต่ด้วยขาดการดูแลกุดทั้ง 2 ไม่ว่าจะเป็นกุดอ้อหรือกุดขี้เป็ด รวมถึงคลองก้านเหลืองได้กลายเป็นแหล่งน้ำที่มีหญ้า จอก แหน ผักตบชวา ขึ้นปกคลุมหนา มีความตื้นเขิน สามารถใช้ประโยชน์ได้บ้างคือการสูบน้ำจากแหล่งน้ำดังกล่าวขึ้นมาเพื่อทำการเกษตรโดยเฉพาะอย่างยิ่งการทำนา ทั้งนาปีและนาปรัง
ในปี พ.ศ. 2530 มหาวิทยาศรีนครินทรวิโรฒวิทยาเขตมหาสารคาม ต่อมาคือมหาวิทยาลัยมหาสารคาม และจังหวัดมหาสารคามร่วมกันจัดทำโครงการสวนพฤกษชาติและศูนย์สารสนเทศพรรณไม้อีสานขึ้น มีวัตถุประสงค์ในการอนุรักษ์และขยายพันธุ์ไม้พื้นเมือง นอกจากนี้ยังได้จัดทำเอกสารเผยแพร่และฝึกอบรมเรื่องการอนุรักษ์ธรรมชาติให้กับประชาชนด้วย ในระยะเริ่มดำเนินการจัดการ จัดทำสวนพฤกษชาติได้รับความอนุเคราะห์จากตำบลเกิ้ง ให้ใช้ที่สาธารณประโยชน์กุดแดง บ้านเกิ้ง ตำบลเกิ้ง อำเภอเมืองจังหวัดมหาสารคาม ประมาณ 270 ไร่ เป็นแหล่งสะสมพรรณไม้โดยใช้ชื่อว่า “สวนพฤกษชาติและศูนย์สนเทศพรรณไม้อีสาน”
ต่อมาได้รับพระกรุณาจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงพระราชทานนามสวนแห่งนี้ว่า "สวนวลัยรุกขเวช" ในวันที่ 28 กันยายน 2531 จากความสำเร็จของโครงการนี้ทางจังหวัดมหาสารคามจึงได้ขอให้ทางมหาวิทยาลัยขยายพื้นที่โครงการโดยมอบพื้นที่สาธารณประโยชน์โคกดงเค็ง อำเภอนาดูน จังหวัดมหาสารคาม ประมาณ 650 ไร่ ให้ดำเนินการโดยได้รับทุนสนับสนุนจากโครงการอีสานเขียวเป็นเวลา 4 ปี ตั้งแต่ 2532-2535 รวมงบประมาณทั้งสิ้น 20,689,520 บาท ต่อมามหาวิทยาลัยได้ขอจัดตั้งโครงการให้เป็นหน่วยงานหนึ่งของมหาวิทยาลัย ซึ่งได้รรับพระกรุณาจากสมเด็จพระเจ้าลูกยาเธอเจ้าฟ้าจุฬาภรณวลัยลักษณ์ ทรงพระราชทานนามหน่วยงานนี้ว่า "สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช" เมื่อวันที่ 22 ลาคม 2535 และประกาศในราชกิจจานุเบกษา เมื่อวันที่ 7 กันยายน 2536
สภาพพื้นที่มีส่วนใหญ่ของบ้านเกิ้งเหนือถูกใช้เป็นพื้นที่การทำเกษตร (ทำนา) ทั้งการทำนาปีและนาปรัง และพื้นที่อีกส่วนหนึ่งติดริมแม่น้ำชีเป็นบริเวณที่อยู่อาศัยของชุมชน สำหรับพื้นที่การทำนาของบ้านเกิ้ง ผู้ที่มีที่นามากที่สุด มีที่นาประมาณ 20-30 ไร่ จำนวน 4-5 ราย มีที่นาน้อยที่สุดประมาณ 2 ไร่ ส่วนจำนวนที่นาเฉลี่ยที่มีการถือครอง 7-8 ไร่ บ้านเกิ้งสามารถเดินทางติดต่อกับจังหวัดมหาสารคามได้ทางรถยนต์ ห่างจากตัวจังหวัดประมาณ 6 กิโลเมตร ถนนดังกล่าวเป็นถนนลาดยางมีรถประจำทางสายมหาสารคาม-บ้านม่วงผ่านหมู่บ้าน ทุก 30 นาที จนถึงเวลาประมาณ 5 โมงเย็น
บ้านเกิ้งเป็นหมู่บ้านที่อยู่บริเวณทางน้ำไหลหากมีน้ำท่วม น้ำจะไหลมาจาก ต.แก่งเลิงจาน ผ่านจังหวัดมหาสารคาม เข้าสู่ตำบลเกิ้ง และตำบลลาดพัฒนาลงสู่แม่น้ำชีและหากน้ำระยะจากตำบลลาดพัฒนาสู่แม่น้ำชีไม่พ้น น้ำก็จะเอ่อขึ้นมาท่วมยังตำบลเกิ้งทิศทางการไหลของน้ำนั้นหากกล่าวถึงเพียงแหล่งน้ำในหมู่บ้าน น้ำจะไหลจากกุดอ้อซึ่งอยู่บริเวณพื้นที่ของบ้านโนนสวรรค์ ม. 10 ไปตามคลองก้านเหลือง สู่กุดขี้เป็ดและน้ำจากกุดอ้อน้อยจากตำบลบ้านลาดพัฒนาก็จะไหลลงกุดขี้เป็ดเช่นกัน หลังจากนั้นเมื่อน้ำสูงจนถึงระดับหนึ่งแล้วน้ำจากกุดขี้เป็ดก็จะไหลลงสู่ห้วยคะคางและลงสู่แม่น้ำชีต่อไป
แหล่งน้ำที่สำคัญของภูมินิเวศน์
1.แม่น้ำชี ในอดีตแม่น้ำชีถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินชีวิตไม่ว่าจะเป็นน้ำเพื่อการอุปโภคหรือการบริโภค เมื่อเข้าสู่ฤดูแล้งน้ำในแม่น้ำชีจะลดลงจนเห็นหาดทรายและชาวบ้านก็จะไปทำการเกษตรอยู่บริเวณหาดทรายดังกล่าว ไม่ว่าจะเป็นการปลูกพืชผักสวนครัว พริก ถั่ว ข้าวโพด แตง หรือการลงมาอาบน้ำ นำวัวควายลงมากินน้ำ มาเล่นกีฬาบริเวณหาดทราย เป็นแหล่งพบปะสังสรรค์กันในระหว่างคนในชุมชน แต่ปัจจุบันภาพดังกล่าวไม่มีให้เห็นเช่นนั้นแล้ว เนื่องจากมีการสร้างเขื่อน ฝายต่าง ๆ เพื่อกั้นน้ำสำหรับทำการเกษตร อุปโภคบริโภคในฤดูแล้ง ทำให้ลำน้ำชีมีน้ำตลอดปี และมีการผันน้ำขึ้นไปใช้ในการทำนาทั้งนาปีและนาปรัง โดยใช้เครื่องสูบน้ำไฟฟ้าสูบน้ำขึ้นมาแล้วส่งไปยังพื้นที่การเกษตรผ่านทางคลองชลประทาน การใช้ประโยชน์จากแม่น้ำชีในปัจจุบันมีข้อจำกัดอยู่บ้างเนื่องจากปัจจุบันแม่น้ำชีอยู่ในสภาพที่น่าเป็นห่วง เนื่องจากสถานที่ต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นครัวเรือนทั่วไป โรงงานอุตสาหกรรม ชุมชนเมืองต่างก็มีการปล่อยน้ำเสียลงสู่แม่น้ำอยู่เรื่อย ๆ ส่งผลให้สภาพน้ำกลายเป็นน้ำเสีย ใช้ประโยชน์ได้ไม่เต็มที่ ซึ่งก็มีตัวอย่างผลกระทบของแม่น้ำซึ่งอยู่ในสภาพดังกล่าวให้เห็นอยู่บ่อย ๆ ทั้งชาวบ้านบางคนที่ใช้น้ำดิบจากแม่น้ำชี อาบก็จะมีอาการผื่นคัน หรืออีกประเด็นหนึ่งที่น่าสังเกตคือ คนในชุมชนจะไม่มีใครที่ลงไปใช้น้ำชี อาบน้ำซักผ้า ล้างถ้วยชามเหมือนในอดีตเลย เพราะส่วนหนึ่งก็มาจากสภาพแม่น้ำชีในปัจจุบันนั่นเอง
2.กุดแดง เป็นบริเวณที่ชาวบ้านเรียกว่า "ชีหลง" ซึ่งเป็นบริเวณที่เคยมีทางน้ำของลำน้ำชีผ่านเข้ามาแต่ในปัจจุบันบริเวณดังกล่าวไม่ได้เชื่อมต่อกับแม่น้ำชีแล้วกุดแดงอยู่ทางด้านทิศตะวันตกของหมู่บ้านเกิ้งเหนือ พื้นที่ดังกล่าวอยู่ในบริเวณของหมู่บ้านโนนสวรรค์ หมู่ที่ 10 ในอดีตกุดแดงเป็นบริเวณที่มีการจับจองโดยไม่มีโฉนดที่ดินชาวบ้านเกิ้งได้ปลูกพืชผักสวนครัว ปลูกถั่ว ข้าวโพด ปอ แตง ในบริเวณดังกล่าว แต่ในปัจจุบัน 2531 มหาวิทยาลัยมหาสารคามได้เข้ามาปรับปรุงพื้นที่กุดแดงให้เป็น "สถานีปฏิบัติการบ้านเกิ้ง สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช มหาวิทยาลัยมหาสารคาม" เพื่อเป็นสถานที่สำหรับศึกษาพันธุ์ไม้ รักษาอนุรักษ์พันธุ์สัตว์น้ำและเป็นสวนสาธารณะสำหรับประชาชนทั่วไปได้เข้ามาพักผ่อนหย่อนใจ เหตุที่เกิดแห้งนี้ได้ชื่อว่า “กุดแดง” กุดแดงหรือสวยวลัยรุกขเวชมีเนื้อที่ทั้งหมด 186 ไร่ 1 งาน 32 ตารางวา ในส่วนของพื้นที่ด้านในมีเนื้อที่ 94 ไร่ มีต้นยางนาเป็นไม้ยืนต้นที่มีจำนวนมากที่สุด ชาวบ้านที่มีบ้านเรือนอยู่ให้กับกุดแดงจะใช้น้ำจากกุดแดงเพื่อปลูกแตง ฟัก และรดพืชผักสวนครัว ในแต่ละวันก็จะมีชาวบ้านมาหาปลาในกุดแดง ทั้งการตกปลาโดยใช้เบ็ดฝรั่ง ใส่มอง (ตาข่าย) ลอบดักปลา เป็นต้น เมื่อถึงหน้าฝนฤดูน้ำหลาก น้ำจากแม่น้ำชีจะท่วมเข้ามาในกุดแดง ซึ่งน้ำจากแม่น้ำชีก็ได้เข้ามาท่วมในกุดแดงนี้ทุกปีจนชาวบ้านถือเป็นเรื่องปกติเพราะกุดแดงเป็นพื้นที่เชื่อมต่อกับแม่น้ำชี และเป็นพื้นที่ต่ำจึงทำให้น้ำท่วมถึงได้
3.กุดหวาย มีลักษณะเป็นชีหลง เช่นเดียวกันกับกุดแดง แต่กรณีของกุดแดงจะมีความพิเศษและแตกต่างจากกุดแดงคือ กุดหวายมีทั้งพื้นที่สาธารณะซึ่งเป็นวัดและพื้นที่ส่วนบุคคลมีโฉนดที่ดินถูกต้องตามกฎหมาย พื้นที่สาธารณะมีเนื้อที่ทั้งหมด 13 ไร่ 3 งาน 13 วา ในส่วนของพื้นที่ส่วนบุคคลมีผู้ถือครองที่ดินอยู่ประมาณ 3-4 เจ้าด้วยกัน พื้นที่ดังกล่าวใช้เป็นที่ทำการเกษตรปลูกข้าวโพด พริก ถั่ว แตง อยู่ตลอดซึ่งก็ได้ผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนปลูกพืชแต่ละชนิดในแต่ฤดูกาลที่เหมาะสม เหตุที่กุดแห่งนี้มีชื่อว่ากุดหวายก็เนื่องมาจากพื้นที่บริเวณกุดและโดยรอบหมู่บ้านโขงกุดหวายซึ่งเป็นที่ต้องของกุดหวาย มีหวายขึ้นเป็นจำนวนมาก ซึ่งถือเป็นลักษณะเด่น กุดแห่งนี้จึงถูกเรียกว่ากุดหวาย ในปี พ.ศ. 2537 ศูนย์เกษตรเคลื่อนที่ : กรมชลประทานกระทรวงเกษตรและ สหกรณ์ ได้เข้ามาทำการขุดลอกกุดหวายเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นกว่าเดิม เมื่อขุดลอกเสร็จ น้ำจากแม่น้ำชีก็ได้เอ่อล้นเข้ามายังกุดหวาย มีปลาจากแม่น้ำชีเข้ามาพร้อมกับน้ำและก็ได้มาวางไข่และขยายพันธุ์มากจึงทำให้ชาวบ้านได้หันมาหาปลาในบริเวณนี้กันมากขึ้น เมื่อปลาเริ่มโตจนมีขนาดใหญ่ขึ้นมาพอสมควร จึงได้มีการประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำห้ามจับปลาทุกชนิดที่อยู่ในบริเวณกุดหวาย แต่สามารถใช้น้ำเพื่อการอุปโภคและบริโภคได้ กุดหวาย หรืออุทยานวังมัจฉาได้ประกาศเป็นพื้นที่อนุรักษ์สัตว์น้ำใน พ.ศ. 2538 หลังจากที่ได้ประกาศให้กุดหวายเป็นพื้นที่อนุรักษ์พันธุ์ปลา ปลาก็ได้ขยายพันธุ์กันมากขึ้นทั้งปลาที่อยู่ในพื้นเองและคาดว่าน่าจะมีผู้นำปลาจากแหล่งอื่นมาปล่อยเพิ่มเติมด้วย ในปี พ.ศ. 2544 มีการปรับปรุงกุดหวายให้เป็นที่น่าสนใจและดึงดูดนักท่องเที่ยวมากขึ้น โดยมีการสร้างศาลาริมน้ำและโป๊ะลอยน้ำเพื่อให้อาหารปลาที่อยู่ในกุดหวาย การดูแลกุดหวายในส่วนของพื้นที่สาธารณะนั้นมีชาวบ้านโขงกุดหวายที่ร่วมกลุ่มกันผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันมาดูแลทั้งขายอาหาร ขนม อาหารปลา โดยจะมีเงินปันผลให้กับสมาชิกที่เข้าร่วมกลุ่ม ในทุก 6 เดือน
ประมาณ 5-6 ปีที่แล้ว พื้นที่ของ "วัดพิทักษ์สามัคคีโพธิ์ศรี" ซึ่งเป็นพื้นที่สาธารณะในกุดหวาย ยังคงเป็นที่พักสงฆ์ของหมู่บ้านโขงกุดหวาย ได้มีการพัฒนาและปรับปรุงมาเรื่อย ๆ จนก่อตั้งวัดได้ในเวลาต่อมา กุดหวายหรืออุทยานวังมัจฉานอกจากจะมีประโยชน์ในเรื่องการพักผ่อนหย่อนใจ เป็นสถานที่ท่องเที่ยวของชุมชนและประชาชนทั่วไป ซึ่งก็มีผู้มาเที่ยวชม พักผ่อนอยู่ไม่ขาด กุดหวายยังมีประโยชน์ในด้านการเกษตร เพราะผู้ที่มีที่ดินในบริเวณกุดหวายก็ได้ใช้น้ำในกุดหวายเพื่อทำการเกษตรและใช้ในครัวเรือน ซึ่งก็มีชาวบ้านประมาณ 3-4 ครัวเรือนที่มีที่ดินในบริเวณดังกล่าว อีกอย่างหนึ่งซึ่งกุดหวายมีลักษณะที่แตกต่างจากกุดแดงคือ กุดหวายจะมีประตูกั้นน้ำเพื่อรักษาระดับน้ำให้พอเหมาะหากถึงฤดูฝนน้ำเยอะก็จะมีการเปิดประตูเอาน้ำจากแม่น้ำชีเข้ามาจนเพียงพอแล้วจึงจะปิดประตูเพื่อไม่ให้น้ำในกุดหวายล้นเอ่อมากเกินไป ซึ่งนี้ก็เป็นจุดเด่นของกุดหวายที่แตกต่างไปจากกุดแดงอีกประการหนึ่ง
4.กุดอ้อ มีเนื้อที่ทั้งหมดประมาณ 20 ไร่ อยู่ทางด้านทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านเกิ้งเหนือ กุดอ้อเป็นหนองน้ำธรรมชาติและได้มีการขุดลอกในปี พ.ศ. 2534 โดยกรมพัฒนาที่ดิน บริเวณหนองน้ำแห่งนี้มีต้นอ้อเยอะจึงถูกเรียกว่ากุดอ้อ ปัจจุบันสภาพของกุดอ้อนั้นมีสภาพตื้นเขิน เต็มไปด้วยจอกแหน ผักตบชวาและหญ้าพันธุ์ต่าง ๆ ปกคลุมอยู่มากมาย ทำให้ไม่สามารถใช้ประโยชน์ได้อย่างเต็มที่ มีเพียงเจ้าของที่ดินประมาณ 8 รายที่อยู่รอบ ๆ กุดอ้อเท่านั้น สูบน้ำขึ้นไปเพื่อใช้ประโยชน์ในการทำเกษตร ทั้งทำนาปีและการทำนาปรัง น้ำที่อยู่ในกุดอ้อเป็นที่มาจากฝนที่ตกลงมาในช่วงหน้าฝนเป็นหลัก น้ำในกุดอ้อนี้ด้วยเหตุผลที่ว่ามีผู้ใช้น้อยรายจึงทำให้ปริมาณน้ำที่มีเพียงพอต่อความต้องการแต่หากน้ำขาดแคลนจริง ๆ ชาวบ้านก็อาศัยน้ำจากสระน้ำที่ตัวเองขุดไว้ (ส่างปลา) เป็นแหล่งน้ำเสริมเมื่อขาดแคลน บริเวณกุดอ้อนั้นมีชาวบ้านมาสร้างบ้านเรือนอยู่ 2 หลังคา และบ้าน 2 หลังดังกล่าวก็ยังใช้น้ำจากกุดเพื่อการอุปโภคในครัวเรือนด้วยไม่ว่าจะเป็นอาบน้ำ ซักผ้า ล้างถ้วย ล้างจานเป็นต้น กุดอ้ออยู่ในพื้นที่ของหมู่ที่ 10 ผู้ที่ได้ประโยชน์จากกุดอ้อก็มีทั้งชาวบ้านโนนสวรรค์และชาวบ้านเกิ้งซึ่งประโยชน์หลักคือการใช้น้ำเพื่อการทำนาบริเวณกุดอ้อมีไม้ปลูกรอบกุดคือต้นยูคาลิปตัส เป็นไม้ที่ชาวบ้านช่วยกันปลูกในช่วงการขุดลอกกุดอ้อซึ่งก็มีการตัดขายบ้างแล้ว
5.กุดขี้เป็ด เป็นหนองน้ำธรรมชาติที่อยู่ในพื้นที่ของบ้านเกิ้งใต้ และบ้านหนองนาแซง ตำบลลาดพัฒนา กุดขี้เป็ดได้รับการขุดลอกใหม่ในปี พ.ศ. 2541 โดยกรมชลประทาน กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในอดีตกุดขี้เป็ดเป็นบริเวณที่มีนกเป็ดน้ำ มาอาศัยอยู่มากทำให้ชาวบ้านต่างเรียกชื่อกุดหรือหนองน้ำแห่งนี้ว่ากุดขี้เป็ด ซึ่งก็ได้ซื้อมาเพราะมีนกเป็ดน้ำอาศัยอยู่นั่นเอง ในสภาพปัจจุบันกุดขี้เป็ดมีลักษณะไม่แตกต่าง ไปจากกุดอ้อเท่าไหร่นักคือมีลักษณะตื้นเขิน หญ้าขึ้นรก ปกคลุมไปด้วยต้นธูปฤาษี รวมทั้งจอกแหนและผักตบชวา โดยรอบกุดขี้เป็ดมีพื้นที่การทำนาอยู่มากซึ่งส่วนหนึ่งหากคลองชลประทานจากตำบลลาดพัฒนามาไม่ถึงชาวบ้านที่ทำนาในบริเวณดังกล่าวจะใช้น้ำจากกุดขี้เป็ดเป็นแหล่งน้ำเสริมเพิ่มจากน้ำฝนที่ตกลงมา แต่จะว่าไปแล้วกุดขี้เป็ดมีสภาพตื้นเขินเก็บน้ำได้น้อยเกษตรกรอาศัยน้ำจากกุดขี้เป็ดซึ่งเป็นน้ำจากรอยรถแมคโครที่ขุดดินขึ้นมาจากกุดขี้เป็ดในการทำถนนรอบนั่นเอง รอยขุดนั้นมีความลึกและยาวพอสมควรเก็บน้ำได้ในปริมาณหนึ่ง ซึ่งก็เพียงพอบ้างไม่เพียงพอบ้าง หน้าฝนอาจจะดีหน่อยน้ำเยอะแต่เมื่อถึงฤดูกาลที่ทำนาปรังหรือเมื่อถึงหน้าแล้งน้ำก็จะลดน้อยลงส่งผลกระทบต่อเกษตรกรที่มีพื้นที่เกษตรอยู่ในบริเวณดังกล่าว ปัจจุบัน อบต. เกิ้งได้เข้ามาขุดลอกกุดขี้เป็ดแต่ขุดลอกไม่ถึง 1 ใน 10 ของพื้นที่ทั้งหมดเพื่อเป็นการเลี้ยงปลาและชาวบ้านที่อยู่ในละแวกนั้นก็ไม่เห็นประโยชน์ที่เกิดขึ้น บริเวณพื้นที่ทั้งหมดของกุดขี้เป็ดเป็นพื้นที่คาบเกี่ยวระหว่าง 2 หมู่บ้านคือบ้านเกิ้งใต้ ตำบลเกิ้ง และบ้านหนองนาแซง ตำบลลาดพัฒนา เนื่องจากเป็นพื้นที่ของสองชุมชนและเพื่อความสะดวกในการคมนาคมข้ามไปมาจึงได้มีการแบ่งกุดขี้เป็ดออกเป็นสองด้านคือ ความรับผิดชอบของ อบต. เกิ้ง และความรับผิดชอบของ อบต. ลาดพัฒนา แต่ที่เห็นความแตกต่างคือฝั่งทางด้านความรับผิดชอบของ อบต. ลาดพัฒนา จะมีน้ำเยอะกว่า สะอาดกว่าไม่มีหญ้า จอกแหนปกคลุมเหมือนกับฝั่งบ้านเกิ้งใต้ จากการสอบถามชาวบ้านนั้นซึ่งมีพื้นที่การเกษตรอยู่ทางด้านบ้านเกิ้งใต้ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า พื้นที่กุดขี้เป็ดทางด้านบ้านหนองนาแซงสะอาด มีน้ำใช้ตลอดปีมีการเลี้ยงปลา ชาวบ้านสามารถหาไปหาปลาได้ ที่สุดชาวบ้านที่ให้ข้อมูลก็อยากให้กุดขี้เป็ดในฝั่งของตนเองมีลักษณะเหมือนกับบ้านหนองนาแซง เพราะจะสามารถใช้ประโยชน์ได้มากขึ้นมากกว่าเดิม
6.ฮ่องก้านเหลือง (ร่องน้ำก้านเหลือง) เป็นร่องน้ำที่เชื่อมต่อกันระหว่างกุดขี้เป็ดกับกุดอ้อ น้ำจากกุดอ้อจะไหลผ่านร่องน้ำก้านเหลืองลงสู่กุดขี้เป็ด ในร่องน้ำก้านเหลืองจะมีน้ำอยู่ตลอดปีแต่จะมีในปริมาณไม่มาก ใน พ.ศ. 2537 ร่องน้ำก้านเหลืองได้รับการขุดลอกจากกรมพัฒนาที่ดินเพื่อให้ใช้ประโยชน์ได้มากขึ้น แต่สภาพในปัจจุบันของร่องน้ำก้านเหลืองนั้นมีหญ้า จอกแหน ผักตบชวาปกคลุมอยู่เกือบตลอดสาย ทั้งนี้น้ำในร่องน้ำก้านเหลือง ซึ่งบางช่วงก็มีมาก บางช่วงก็มีน้อยนั้น เกษตรกรได้เอาเครื่องสูบน้ำมาสูบเพื่อทำนาในกรณีที่ฝนตกช้าหรือน้ำฝนไม่เพียงพอ
เป็นที่น่าสังเกตแหล่งน้ำในภูมินิเวศน์บ้านเกิ้งจะถูกใช้ในการทำการเกษตรเป็นเสียส่วนใหญ่ทั้งนี้ก็เนื่องมาจากว่าพื้นที่บริเวณนี้ถูกใช้เป็นพื้นที่เกษตรสำหรับการทำนาปี และนาปรังเกือบ 90% และอีก 10% ที่เหลือใช้เป็นพื้นที่สำหรับอยู่อาศัย แสดงให้เห็นถึงความอุดมสมบูรณ์ของพื้นที่มีน้ำในการทำนาปีรวมถึงนาปรัง ซึ่งก็มาจากฝนที่ตกลงมาในปริมาณเหมาะสม การมีน้ำเก็บในกุดหรือบึงอย่างเพียงพอ และที่สำคัญก็คือ น้ำจากแม่น้ำชีใช้เครื่องสูบน้ำพลังงานไฟฟ้าสูบขึ้นมาเพื่อใช้ในการเกษตร ส่งผ่านคลองชลประทานไปยังพื้นที่การเกษตรซึ่งก็ทำให้คนในชุมชนประกอบอาชีพทำนาเป็นหลักเนื่องจากมีทรัพยากรน้ำที่จำเป็นต้องใช้อย่างเพียงพอ
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทยเมื่อ ปี 2558 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนบ้านเกิ้งเหนือ จำนวน 220 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 819 คน บ้านเกิ้งใต้จำนวน 211 หลังคาเรือน ประชากรทั้งหมด 572 คน คนในชุมชนส่วนใหญ่อยู่กันแบบครอบครัว
ในภูมินิเวศน์บ้านเกิ้งมีการใช้น้ำในการประกอบอาชีพอยู่ไม่กี่อย่างคือ การทำนา การเลี้ยงปลาในกระชัง รวมถึงการดูดทรายเพื่อการค้าของบริษัทเอกชนและการทำร้านอาหารริมฝั่งแม่น้ำชี
การทำเกษตรกรรม ในชุมชนบ้านเกิ้งและบ้านใกล้เคียงเป็นพื้นที่มีการทำนาทั้งนาปีและนาปรัง สำหรับการทำนาปีนั้นชาวบ้านจะอาศัยน้ำฝนและน้ำจากแหล่งน้ำในชุมชนเป็นเหล็กส่วนการทำนาปรังนั้นจะอาศัยน้ำจากแหล่งน้ำที่มีในชุมชนเพียงอย่างเดียว แหล่งน้ำที่สำคัญในการทำนาของชุมชนคือ แม่น้ำชี ในปี พ.ศ. 2523 หน่วยงานของภาครัฐได้นำเครื่องสูบน้ำเข้ามาเพื่อช่วยเหลือเรื่องการขาดแคลนน้ำในการทำเกษตรของชาวนา ซึ่งก่อนหน้านั้นก็ได้มีการนำคลองชลประทาน เพื่อส่งน้ำไปยังพื้นที่การเกษตร และในปี พ.ศ. 2540 เครื่องสูบน้ำเครื่องที่สอง ซึ่งมีกำลังแรงกวาเครื่องแรกก็มาถึง และผลทำให้การส่งน้ำไปได้ไกลและเพียงพอต่อความต้องการของชาวนาในระดับหนึ่ง คลองชลประทานที่รับน้ำจากเครื่องสูบน้ำมีทั้งหมด 3 สาย สายหลักนั้นมีแนวคลองคู่ขนานไปกับถนนพนังกั้นน้ำ และอีกสองสายก็มีแนวคลองยาวไปทางด้านทิศใต้และทิศตะวันออกเฉียงใต้ของชุมชน การใช้น้ำจากเครื่องสูบน้ำของชุมชนนั้นจะมีสหกรณ์ผู้ใช้น้ำเป็นผู้ดูแลบริหารงาน โดยมีประธานและกรรมการเป็นคนในชุมชนเอง อัตราการใช้น้ำนั้น สหกรณ์จะคิดอัตราการสูบน้ำนั้นชั่วโมงละ 70 บาท และผู้ขอต้องรวมกลุ่มมาจะขอเพียงรายใดรายหนึ่งไม่ได้ นอกจากการใช้น้ำในแม่น้ำชีแล้วในพื้นที่ที่คลองชลประทานไปไม่ถึงเกษตรกรก็จะใช้น้ำจากกุดหนอง ที่อยู่ใกล้กับพื้นที่เกษตรกรรมของตนเองไม่ว่าจะเป็นกุดอ้อ กุดขี้เป็ด ฮ่องก้านเหลือง รวมถึงถึงการขุดบ่อส่วนตัวขนาดเล็ก-ใหญ่เพื่อเก็บน้ำไว้สำหรับการอุปโภคและการทำการเกษตรกรรมอาทิการทำนาและรดผักสวนครัวเล็ก ๆ น้อย
การเลี้ยงปลาในกระชังและร้านอาหารริมฝั่งแม่น้ำชี
การเลี้ยงปลากระชังในช่วงแรกเป็นการเข้ามาส่งเสริมจากบริษัท CP โดยนำพันธ์ุปลาและอาหารปลามาขายให้ เมื่อปลาโตได้ขนาดที่ตลาดต้องการแล้ว CP ก็จะเข้ามารับซื้อบ้านเกิ้งและหมู่บ้านใกล้เคียงจะเลี้ยงปลาในกระชังกันมาก ใน พ.ศ. 2544 แต่เมื่อเลี้ยงไปได้ 1 ปี ก็มีเหตุทำให้ต้องหยุดเลี้ยงเนื่องจากว่าปลาตายเยอะ ปลาราคาตก อาหารปลาเน่า ไม่มีคนมารับซื้อ ทำให้ผู้เลี้ยงขาดทุนไปตาม ๆ กัน ในปัจจุบันพื้นที่บ้านเกิ้งมีผู้เลี้ยงปลากระชังอยู่หนึ่งรายโดยเลี้ยงปลานิลประมาณ 6-8 บ่อ ส่วนพื้นที่ใกล้เคียงคือบ้านโนนตูมมีเลี้ยงอีกหนึ่งรายประมาณ 20-30 บ่อ พื้นที่การเลี้ยงปลากระชังส่วนใหญ่จะเลี้ยงในแม่น้ำชีบริเวณหมู่บ้านดินดำ บ้านวังยาวและบ้านโนนตูม การเลี้ยงปลาในปัจจุบันไม่ได้มีการสนับสนุนจากหน่วยงานบริษัทเอกชนหรือหน่วยงานของรัฐทั้งนั้น เป็นการเลี้ยงที่ต้องช่วยเหลือตนเอง จากการสัมภาษณ์และพูดคุยกับเจ้าของกระชังเลี้ยงปลาในบ้านโนนตูม ได้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า ปลาที่เลี้ยงเกือบทั้งหมดจะเป็นปลานิลทุนจากการเลี้ยงก็ได้จากการกู้เงินกองทุนหมู่บ้าน ระยะเวลาการเลี้ยงปลานิลจนถึงขายได้ใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 4 เดือน โดยจะขายให้กับพ่อค้าที่มารับซื้อประจำ นอกจากนั้นก็ยังมีร้านอาหารที่มารับซื้อไปบ้าง สถานที่ที่พ่อค้ามารับซื้อและนำไปขายคือพื้นที่อำเภอบ้านไผ่ จังหวัดขอนแก่น โดยจะมาเหมาบ่อกับเจ้าของกระชังในราคา กก. ประมาณ 40-50 บาท และจะนำไปขายปลีกในราคา 50-55 บาท ต่อกิโลกรัม
สำหรับร้านอาหารที่อยู่บริเวณฝั่งแม่น้ำชี ในบ้านเกิ้งเหนือเองนั้นไม่มีแต่จะมีในพื้นที่ใกล้เคียง ประมาณ 2-3 ร้าน โดยร้านอาหารอาโก หนึ่งในร้านอาหารทั้งหมด บ้านโนนตูม มีพัฒนาการมาจากเคยเป็นผู้เลี้ยงปลาในกระชังมาก่อน เมื่อเลี้ยงปลาไปได้สักระยะก็นำปลาที่เลี้ยงมาเผาและทำอาหารขายจนขยายมาเป็นร้านอาหารที่มีคนนิยมมากินมาเที่ยวอย่างในทุกวันนี้ ปัจจุบันร้านอาหารอาโกไม่ได้เลี้ยงปลาในกระชังแล้วแต่ขายกิจการให้กับญาติพี่น้องไปดำเนินการต่อและก็ยังเป็นลูกค้าปลากระชังซึ่งก็ได้รับซื้อปลากระชังในปริมาณมากครั้งละ 1 ตัน เพื่อนำมาประกอบอาหารขายในร้านของตนเอง
การดูดทรายในลำน้ำชี
เจ้าของกิจการเป็นคนที่มาจากพื้นที่อื่นไม่ได้เป็นคนในพื้นที่บ้านเกิ้ง ปัจจุบันท่าทรายดังกล่าวอยู่บริเวณในพื้นที่ของบ้านโนนตูมในอดีตท่าทรายดังกล่าวเคยมาตั้งน่าอุดที่บ้านเกิ้งถึง 2 จุด ด้วยกันแต่ได้รับการต่อต้านจึงต้องย้ายกลับไปยังบ้านโนนตูมเช่นเม การดูดทรายเพื่อขาย เจ้าของท่าจะซื้อที่ดินมีอยู่ฝั่งตรงข้ามกับบ้านโนนตูมไปเป็นส่วนตัวในจำนวนมาก และจะดูดทรายในบริเวณพื้นที่ของตนเอง แต่จะนำทรายที่ดูดได้ข้ามฝั่งมาส่งยังฝั่งของหมู่บ้านโนนตูมซึ่งถือเป็นท่าส่งทรายของบริษัทนี้ จากการสอบถามและพูดคุยปัญหาที่มาจากการดูดทรายมีผลกระทบต่อชุมชนเช่นตลิ่งแม่น้ำทรุด มีน้ำมันไหลลงแม่น้ำ ก่อให้เกิดความรำคาญและเสียงดัง นอกจากนี้ยังทำให้น้ำขุดน้ำเสียอีกด้วย ท่าทรายแห่งนี้ดำเนินการมาได้กว่า ๆปีแล้ว ซึ่งก็สร้างปัญหาและเกิดความขัดแย้งกันกับชุมชนอยู่เป็นระยะ
สำหรับทรัพยากรอื่น ๆ ในชุมชน เช่นป่าไม้ซึ่งในอดีตป่าบริเวณนี้มีมากพอสมควรไม่ว่าจะเป็นริมฝั่งแม่น้ำชีหรือพื้นที่การเกษตรแต่ปัจจุบันได้กายเป็นพื้นที่การเกษตรและพื้นที่การอยู่อาศัยไปหมดแล้ว ต้นไม่ที่เหลืออยู่ส่วนใหญ่จะอยู่ตามคันนาและบ้านที่อยู่ตามหัวไร่ปลายนาที่ได้ปลูกเพิ่มและรักษาไม้เดิมเอาไว้ ไม้ปลูกส่วนมาจะเป็นมะม่วง ส่วนไม้ธรรมชาติที่เดิมมีอยู่แล้วคือต้นถ่ม ขี้เหล็กต้นแก เป็นต้น
ภูมิปัญญาท้องถิ่นและวัฒนธรรมประเพณีที่เกี่ยวข้องกับการจัดการน้ำ
ส่างปลา เป็นบ่อที่ขุดไว้ใช้ประโยชน์ในหลายลักษณะทั้งการดักปลา เลี้ยงปลา เก็บน้ำไว้ใช้ในการทำนาหรือการใช้รดผักสวนครัวที่ปลูกไว้สำหรับบริโภคในครัวเรือนในกรณีของส่างปลานั้นจะแบ่งออกเป็น 2 ลักษณะคือส่างปลาที่มีขนาดใหญ่โดยจะใช้เครื่องจักรในการขุด ขนาดของบ่อนั้นจะอยู่ระหว่าง 1 งาน - 1 ไร่ ประโยชน์เพื่อการกักเก็บน้ำไว้ใช้น้ำที่เก็บอยู่ในบ่อชนิดนี้มาจากน้ำฝนตามธรรมชาติรวมทั้งน้ำจากคลองชลประทาน นอกจากนี้แล้วบ่อมีใช้เครื่องจักรขุดขนาดใหญ่ยังใช้เลี้ยงปลา น้ำในบ่อก็ผันไปใช้ในการเกษตร และใช้ในครัวเรือนหากมีผู้ที่มีอยู่บริเวณหัวไร่ปลายนาก็สามารถใช้ประโยชน์จากบ่อน้ำนี้ในการอุปโภคได้ ส่างปลาอีกลักษณะหนึ่งเป็นบ่อน้ำขนาดเล็กมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 5-10 เมตร โดยทั่วไปสางปลา ชนิดนี้จะอยู่เป็นส่วนหนึ่งของที่นา ซึ่งก็สามารถดักปลา เลี้ยงปลา หรือกักเก็บน้ำไว้ใช้ในกิจกรรมเล็ก ๆ น้อย ๆได้อีกด้วย ส่างปลา ทั้งสองลักษณะเป็นระบบคิดของชาวบ้านในการกักเก็บน้ำหากเกิดการขาดแคลนน้ำ หรือการนำน้ำไปใช้ประโยชน์ในลักษณะอื่น ซึ่งไม่จำเป็นต้องรอฝนฟ้าตามธรรมชาติหรือเครื่องสูบน้ำที่จะนำน้ำจากแม่น้ำชีขึ้นมาใช้ส่งผ่านคลองชลประทานนอกจากประโยชน์จากการใช้น้ำโดยตรงในด้านเกษตรกรรม ทางอ้อมก็ยังสามารถเลี้ยงปลา ดักปลา หรือใช้น้ำเพื่ออุปโภคภายในครัวเรือน ซึ่งในพื้นที่การเกษตรนั้น ก็มีชาวบ้านที่ออกไปสร้างบ้านเรือนอยู่กันเกือบสิบครัวเรือน ซึ่งก็ได้น้ำจากบ่อดังกล่าวที่ขุดขึ้นสำหรับการใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ
เครื่องมือหาปลาชนิดต่าง ๆ บ้านเกิ้งเหนือเป็นหมู่บ้านที่ตั้งอยู่ริมฝั่งแม่น้ำชีจึงมีวิถีชีวิตร่วมกับแม่น้ำชีมากมาย ทั้งการใช้น้ำเพื่อการเกษตร ใช้ในครัวเรือน รวมถึงการหาปลาในลำน้ำ ซึ่งมีการคิดประดิษฐ์อุปกรณ์การจับปลาหาปลาโดยใช้วัสดุอุปกรณ์จากธรรมชาติเป็นหลักไม่จำเป็น ลอย ไซ เป็นต้น เหล่านี้ก็ได้ใช้ไม้ไผ่ในการสานหรือทำขึ้นมา แต่ในปัจจุบันมีการเปลี่ยนแปลงอุปกรณ์การทำเครื่องมือหาปลา จากไม้ไผ่เป็นตาข่ายหรือเชือกไนล่อนสานแทน (ดางเขียว) ประเด็นที่น่าคิดเกี่ยวกับการทำอุปกรณ์การหาปลาและวิธีการหาปลา คือ หากสภาพของแม่น้ำชียังมีสภาพอย่างทุกวันนี้ซึ่งมีแนวโน้มส่อไปในทางลบไม่ว่าจะเป็นน้ำท่วม น้ำแล้ง หรือที่สำคัญน้ำเสียก็อาจจะทำอาชีพการหาปลา การทำประมงในแม่น้ำชี รวมถึงอุปกรณ์หาปลานั้นถูกลบเลือนและหายไปในที่สุด ในสภาพปัจจุบันภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือภูมิปัญญาชุมชนที่มีอยู่มากมายเหล้านี้มีโอกาสสูญหาย เพราะเหตุจากแม่น้ำชีกลายเป็นคลองระบายน้ำเสียขนาดใหญ่ ที่ไม่มีปลาในแม่น้ำให้ชาวประมงได้ประกอบอาชีพเหมือนเก่าก่อน
สำหรับเรื่องของวัฒนธรรมประเพณีของชุมชนบ้านเกิ้งนั้นตามคำบอกเล่าบอกผู้นำทางศาสนาและทางโลกซึ่งได้บอกเล่าเกี่ยวกับฮีต 12 คอง 14 นั้น ประเพณีทั้ง 12 เดือน ของอีสานนั้นยังมีการปฏิบัติสืบต่อกันมาเหมือนเดิมมีเพียงบุญบั้งไฟเท่านั้นที่ไม่มีการจัดและก็ไม่มีการจัดมานานแล้ว เนื่องจากจ้ำคนก่อน ๆ และเล่าสืบต่อกันมาว่า ปู่ตาไม่ชอบ ถ้าหากขัดขืนฝืนจัดงานบุญบั้งไฟ ปู่ตาก็จะดลบันดาลให้มีคนตายในหมู่บ้าน จึงทำให้ไม่มีบุญบั้งไฟในชุมชนนี้ ส่วนบุญเดือนอื่น ๆ ที่มีกิจกรรมเกี่ยวกับการจัดการน้ำหรือมีความสัมพันธ์กับแหล่งน้ำในชุมชนมีดังนี้
1.บุญเบิกบ้านหรือบุญชำฮะ เป็นบุญที่ต้องมีการทำก่อน ถึงฤดูกาลทำนาซึ่งเป็นการเลี้ยงปู่ตาไปในทีเดียว กันเลย ในการทำบุญนี้จะมีการก่อกองทราย (ตบปันทาย)โดยจะก่อกองทรายกันที่ดอนปู่ตา ใกล้กับกุดแดงและอีกสถานที่หนึ่งคือในวัด และมีการเจริญพุทธมนต์ถวายภัตตาหารแก่พระภิกษุสงฆ์ ซึ่งบุญนี้จะนิมนต์พระสงฆ์ไปสวดที่กุดแดง 1 วัน วัดบ้านเกิ้งเหนืออีก 3 วัน และ 3วันสุดท้ายจะไปที่ศาลากลางบ้าน ในบุญดังกล่าวจะมีการเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน การเลี้ยงปู่ตานี้เรียกอีกอย่างหนึ่งว่า "บุญเลี้ยงลง" และจะมีการเสี่ยงทายความอุดมสมบูรณ์เรื่องน้ำในบุญนี้ด้วย โดยจะทำนายผ่านคางไก่ต้ม คือหากไก่ต้มมีคางที่เหยียดยาวตรงแสดงว่าน้ำมากจนท่วม ส่วนถ้าคางไก่หดแสดงว่าฝนจะแล้ง แต่ถ้าคางไก่โค้งงามเหมือนเคียวเกี่ยวข้าวนั้นแสดงว่าน้ำท่าจะอุดมสมบูรณ์ไม่ท่วมไม่แล้ง
2.บุญออกพรรษา เป็นประเพณีที่สำคัญของหมู่บ้าน ภายหลังจากการอยู่จำพรรษาตลอดเวลา 3 เดือน ในวันออกพรรษาชาวบ้านจะทำเรือซึ่งตกแต่งอย่างสวยงาม ประดับด้วย ธูปเทียน ตะเกียงไต้สำหรับจุดไฟให้สว่าง เมื่อถึงเวลาค่ำก็จะมีการปล่อยเรือไฟไปตามลำน้ำ ซึ่งถือเป็นการบูชารอยพระพุทธบาท เรือที่ทำขึ้นเป็นเรือที่ทำจากไม้บ้าง ต้นกล้วยบ้าง ซึ่งวัสดุเหล่านี้สามารถย่อยสลายและนำไปใช้ต่อได้ ในบุญออกพรรษานี้จะมีจ้ำเป็นผู้นำในการทำพิธีและหมู่บ้านทุกหมู่บ้านที่อยู่ติดกับแม่น้ำชีก็จะร่วมกันทำเรือไฟปล่อยมาตามลำน้ำชี ซึ่งก็จะรวมถึงบ้านเกิ้งเหนือด้วยเช่นกัน
3.บุญกฐิน ของบ้านเกิ้งนั้นจะมีลักษณะคล้ายกับบุญกฐินในหมู่บ้านอื่น ๆ แต่จะพิเศษกว่าก็คือ จะมีแข่งเรือกันระหว่าง 3 หมู่บ้าน คือ บ้านโนนสวรรค์ บ้านเกิ้งเหนือและบ้านเกิ้งใต้ เพื่อเสี่ยงดูฝนว่าจะมีปริมาณมากน้อยเพียงใด วิธีการเสี่ยงก็จะเป็นการตกลงกันระหว่างจ้ำทั้ง 3 หมู่บ้านว่า อันดับหนึ่งเป็นหมู่บ้านไหนและอะไรจะตามมา (น้ำท่วม, ฝนแล้ง, น้ำพอดี) ซึ่งก็จะมีการเสี่ยงทายในทุก ๆ ปี หากปีไหนไม่มีกฐินจากที่อื่นมาเข้าวัด ชาวบ้านก็จะตั้งกองกฐินกันเอง เรียกได้ว่าบ้านเกิ้งเหนือจะต้องมีการทอดกฐินในทุกปี
4.การลอยกระทง บ้านเกิ้งเหนือจะมีจ้ำนำกล่าวก่อนพิธีลอยกระทงจะเริ่ม โดยชาวบ้านเกิ้งเหนือจะนำกระทงที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมาลอยที่แม่น้ำชี เศษวัสดุต่าง ๆ กระทงที่ลอยไปเหล่านี้ก็จะไปติดอยู่ที่ฝาย บ้านสดัมศรี ในอำเภอ กมลาไสย และก็จะมีการเก็บทำความสะอาดต่อไป
1.นายชัชวาล บะวิชัย
เป็นอดีตนายกองค์การบริหารส่วนตำบลเกิ้ง มีนโยบายที่ทำใช้ชุมชนมีรายได้จากการสร้างห้างสรรพสินบิ๊กซี สามารถต่อรองให้การสร้างห้างสรรพสินค้าต่าง ๆ ในเขตพื้นที่ตำบลเกิ้งให้มีเงื่อนไขโดยให้รับคนในเขตตำบลเกิ้งเข้าทำงานในห้างสรรพสินค้าด้วย
2.นายทนงศักดิ์ อัญปัญญา
เป็นกะจ้ำหรือเรียกอีกอย่างหนึ่งว่าผู้นำในการเลี้ยงผีปู่ตา ตลอดจนเป็นผู้นำในการทำพิธีกรรมทางศาสนาในหมู่บ้าน ซึ่งมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละชุมชน
วัดป่าเกาะเกิ้ง ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม หนึ่งในสิ่งที่ประทับใจเมื่อแรกเห็นคือ "สะพานไม้" ที่มีขนาดใหญ่และแข็งแรง กระทั่งสามารถนำรถยนต์สี่ล้อข้ามได้สบาย วัดป่าเกาะเกิ้งอยู่ท่ามกลางบรรยากาศที่เงียบสงบ ของเกาะกลางน้ำที่ชาวบ้านเรียก "ชีหลง" มีสำนักสงฆ์ซึ่งมีขนาดเล็กอยู่ภายในบริเวณป่าใหญ่ที่มีอาณาบริเวณรวมแล้วราว 180 ไร่
เดิมพื้นที่แห่งนี้ชาวบ้านในบริเวณตำบลเกิ้ง เข้าใจกันในนามป่าช้า มีไว้ฝังศพและเผาศพเมื่อครั้งอดีต แต่คำบอกเล่าของพระอาจารย์พระกมล อัตตทโม กลับมองว่า "พื้นที่ดังกล่าวหาได้เป็นป่าช้าดังที่ชาวบ้านเข้าใจไม่ เพราะมีพระธุดงค์เวียนวนมาจำพรรษาอยู่ตลอด ไม่สามารถเรียกป่าช้าได้" หลังจากที่ชาวบ้านเลิกประกอบพิธีศพบนผืนป่าแห่งนี้ ช่วงเวลาหนึ่งป่าที่ว่าก็กลายเป็นที่สาธารณประโยชน์ของชาวบ้านที่ใช้ทำมาหากิน ตลอดจนการบุกรุกที่มากจนเกินไป เมื่อปี 2548 จึงมีการจัดตั้งขึ้นเป็นศูนย์ปฏิบัติธรรม ทำให้ป่าแห่งนี้เป็นเขตอภัยทาน ไม่มีการบุกรุก พร้อมทั้งมีคติความเชื่อร่วมกันว่าต้นไม้ทุกต้นนั้นมีเทวดาสิงสถิตอยู่หากผู้ใดตัดต้นไม้นั้นถือว่าเป็นบาป ความเชื่อนั้นทำให้ชาวบ้านไม่กล้าที่จะทำลายป่าอีก ถือเป็นวิธีจัดการทรัพยากรธรรมชาติที่ใช้วิธีการธรรมดาอย่างเรื่องความเชื่อมาเป็นตัวกลาง ทำให้มนุษย์และธรรมชาติกลับมาผูกพันกันอีกครั้งในรูปแบบของการ "อนุรักษ์"
ทิ้งท้ายด้วยว่าวัดป่าแห่งนี้ที่ชาวบ้านเรียกกันติดปาก ยังมีการอนุรักษ์ประเพณีเก่า ๆ ที่หาดูยากอย่าง "จุลกฐิน" ที่เป็นการทำกฐินแบบโบราณ กล่าวคือต้องเตรียมของและพิธีกรรมทุกอย่างให้เสร็จภายใน 24 ชั่วโมง อีกทั้งยังมีการกวนข้าวทิพย์โดยสาวพรหมจารีย์อีกด้วย
สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช แหล่งศึกษา อนุรักษ์พันธุ์ไม้และสัตว์ (ปลา)
แหล่งน้ำสำคัญ แม่น้ำชี กุดแดง กุดหวาย กุดอ้อ กุดขี้เป็ด ฮ่องก้านเหลือง
เนื่องจากสภาพพื้นที่บ้านเกิ้งนั้นอยู่ติดกับลำน้ำชี ซึ่งสถานการณ์ที่ทำให้เกิดผลกระทบ และทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในพื้นส่วนมากจะมาจากน้ำซึ่งจะกล่าวดังนี้
น้ำท่วม นับเริ่มตั้งแต่ตั้งหมู่บ้านมาเหตุการณ์น้ำท่วมที่ทำให้ทรัพย์สิน พื้นที่การเกษตรเสียหายอย่างหนัก คือ พ.ศ. 2521 ครั้งนั้นมีน้ำจากแม่น้ำชีเอ่อล้นตลิ่งขึ้นมาท่วมบริเวณที่อยู่อาศัยและอีกด้านก็มีน้ำไหลมาหนุนซึ่งทิศทางการไหลของน้ำนั้นไหลมาจาทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาจาก ต.แก่งเลิงจาน เข้าสู่จังหวัดมหาสารคามและผ่านตำบลเกิ้ง ตำบลลาดพัฒนา ลงสู่แม่ชีต่อไป ความรุนแรงของเหตุการณ์น้ำท่วมปีดังกล่าวยังมีผลทำให้ถนนพนังกั้นน้ำขาดเป็นระยะ ๆ ผู้คนต้องอพยพไปอยู่ตามที่สูง เช่น ต.เขวา ในตัวจังหวัดมหาสารคาม หรือแม้กระทั่งหลังคาบ้านตัวเอง เหตุการณ์ครั้งนั้นก็ได้มีหน่วยงานราชการนำข้าวสารอาหารแห้งมาแจกจ่ายให้แก่ผู้ป่วยประสบภัยเป็นการช่วยเหลือเบื้องต้น
หลังจาก พ.ศ. 2521 มาก็มีน้ำท่วมอยู่เรื่อย ๆ ทั้ง พ.ศ. 2523, 2525, 2545 เป็นต้นแต่ไม่รุนแรงมากนัก น้ำจากแม่น้ำชีได้เอ่อล้นขึ้นมาท่วมบริเวณที่อยู่อาศัยแต่ไม่ได้ล้นท่วมถนนพนังกั้นน้ำไปยังพื้นการเกษตร น้ำท่วมในยุคหลัง ๆ ชาวบ้านได้ใช้กระสอบทรายมากั้นน้ำบริเวณถนนพนังกั้นน้ำอีกทีเพื่อไม่ให้น้ำท่วมเข้าไปในพื้นที่นาของชุมชน จากเหตุการณ์น้ำท่วมหลาย ๆ ครั้งทั้งรุนแรงและไม่รุนแรง ชาวบ้านส่วนหนึ่งมองว่า มีผลมาจากการสร้างเขื่อนและฝ่ายในแม่น้ำชีทำให้ระบบนิเวศน์ธรรมชาติเสียสมดุล ในครั้งเก่าก่อนแม่น้ำชีมีน้ำไหลเป็นไปตามฤดูกาล หน้าฝนน้ำมาก หน้าแล้งน้ำน้อย ไหลเป็นไปเช่นนี้ แต่พอมีการสร้างเขื่อนและฝายกั้นน้ำทำให้มีน้ำชีมีน้ำอยู่ตลอด พอน้ำมามากก็ระบายน้ำออกจากเขื่อนและฝายไม่ทันมีผลทำให้น้ำท่วม นอกจากนั้นเมื่อไม่มีการระบายของน้ำก็ส่งผลทำให้น้ำเสีย ปลาตายไม่ขยายพันธุ์ และปัญหาอื่น ๆ อีกมากมายที่จ่อคิวรอสร้างปัญหาให้กับชุมชนซึ่งมีวิถีชีวิตอยู่กับแม่น้ำชี ไม่ว่าจะตื่นขึ้นจนกระทั่งถึงนอนหลับ
มลภาวะทางน้ำ (น้ำเสีย) เรื่องของน้ำเสียจะเน้นไปที่แม่น้ำชีเพราะเป็นแหล่งน้ำที่เห็นการเปลี่ยนอย่างชัดเจนในเรื่องการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพน้ำ การบริโภคอุปโภคตั้งแต่ยุคอดีตจนถึงปัจจุบัน ในอดีตชาวบ้านบ้านเกิ้งเหนือมีแม่น้ำชีเป็นแหล่งหล่อเลี้ยงชีวิตก็ว่าได้เพราะแม่น้ำชีให้คุณประโยชน์ทั้งทางด้านการดำรงชีวิตในแต่ละวัน ก็ (ส่างน้ำจั้น) อาบ ล้างถ้วยชาม ซักผ้า รวมทั้งการปกครองอาชีพ ปลูกพืชผักสวนครัว ทำนาปีและนาปรังเป็นต้นเหล่านี้คือคุณประโยชน์ของน้ำชีที่มีแก่มนุษย์ แต่ปัจจุบันคุณประโยชน์ที่ได้กล่าวมาข้างต้นหรือไม่ถึงครึ่งเนื้อจากสภาพของน้ำในแม่น้ำชีนั้นไม่สามารถทำอย่างอื่นได้หากไม่นำไปผ่านขั้นตอนต่าง ๆ ก่อนใช้ ซึ่งก็หมายถึงการใช้ลำน้ำชีนั้นกลายสภาพเป็นน้ำเสีย หากไม่มีการระบายน้ำในแม่น้ำเป็นประจำ ซึ่งก็เป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีการระบายน้ำ เพราะในลำน้ำชีมีทั้งเขื่อนและฝายกั้นน้ำ ซึ่งเป็นไปไม่ได้ที่จะให้มีการระบายน้ำ เพราะในลำน้ำชีมีทั้งเขื่อนและฝายกั้นน้ำซึ่งเป็นโครงการพัฒนาของภาครัฐ มีผลกระทบสร้างความเดือดร้อนแก่ชุมชนริมฝั่งแม่น้ำ
สำหรับบริเวณภูมินิเวศน์ของบ้านเกิ้งได้รับผลกระทบจากการปล่อยน้ำเสียลงแม่น้ำของเทศบาลเมืองมหาสารคามที่ปล่อยน้ำเสียลงห้วยคะคางและห้วยคะคางก็ถึงแม่น้ำชี นอกจากนี้ยังมีชุมชนอื่น ๆ มีอยู่ต้นแม่น้ำก็ได้ปล่อยน้ำจากการอุปโภคบริโภคลงแม่น้ำชีเช่นกัน ตัวอย่างที่ชี้ให้เห็นถึงผลกระทบของน้ำในแม่น้ำและส่งผลต่อการดำเนินชีวิตคนริมฝั่ง เช่น ชาวประมงมีหาปลากินเป็นประจำในปัจจุบันตามง่ามมือง่ามเท้าจะมีอาการเปือยเป็นแผล เพราะถูกน้ำกัด และอุปกรณ์การหาปลาเช่นเบ็ดที่ใส่ไว้ในแม่น้ำ หัวเป็ดที่เป็นอะลูมิเนียมเคลือบ อะลูมิเนียมดังกล่าวจะลอกออกภายใน 1 อาทิตย์ ซึ่งก็แสดงให้เห็นว่าสภาพของน้ำในแม่น้ำชีมีความเป็นกรดเค็มหรือมีสารพิษเจือปนอยู่มากพอที่จะทำให้มือและเท้าเปื่อยเป็นแผลและหัวเป็ดนั้นลอกหรือโคนกัดภายใน 1 อาทิตย์ แทนที่จะสามารถใช้ประโยชน์ได้นานกว่านั้นเหมือนที่เคยเป็นในอดีต หากคุณภาพของน้ำในแม่น้ำชียังเป็นเช่นนี้ เชื่อว่าวิถีชีวิตของชุมชนหลาย ๆ อย่างจะหาบและถูกลืมเลือนไป ไม่ว่าจะเป็นวิธีการหาปลา หรือการทำอุปกรณ์การหาปลาชนิดต่างๆ ก็จะหายไปเช่นกัน ซึ่งเหล่านี้ถือเป็นภูมิปัญญาของท้องถิ่นซึ่งควรได้รับการสืบทอด และรักษาไว้อย่างดี นอกจากนี้หากไม่มีมาตรการแก้ไขที่เหมาะสมไม่เฉพาะคุณประโยชน์การหาปลาเพื่อกินและขายเท่านั้นที่จะหมดลง แม้แต่น้ำเพื่อการเกษตรอาจจะไม่สามารถนำขึ้นมาใช้ได้
ปรีชา จันทราช. (2542). พิธีกรรมขึ้นเฮือนใหม่ของชาวบ้าน : ศึกษาเฉพาะกรณีชาวบ้านเกิ้ง ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิตสาขาไทยคดี, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
Field - feel. (2562). วัดป่าเกาะเกิ้ง ตำบลเกิ้ง อำเภอเมือง จังหวัดมหาสารคาม. ค้นคืนเมื่อ 13 เมษายน 2566, https://www.facebook.com/FieldfeelbyV/photos/
สถาบันวิจัยวลัยรุกขเวช. (2566). รายงานประจำปี 2566. มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.