การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ ไร่หมุนเวียน นาขั้นบันได
บ้านแม่ลานคำ หรือ เรียกเป็นภาษาปกาเกอะญอว่า "แหม่ลาคี" เป็นที่กล่าวขานว่าเป็นป่าที่มีความอุดมสมบูรณ์ และมีสัตว์ป่าจำนวนมาก การทำมาหากินต้องต่อสู้กับสัตว์ป่าที่เข้ามากินพืชผักในไร่ ก่อนที่ผู้คนจะเข้ามาอาศัยอยู่ในเขตป่าแม่ลานคำเคยอยู่อาศัยร่วมกันที่บ้านแม่สาบ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ในเวลานั้นทั้งหมู่บ้านมีเพียง 7 หลังคาเรือนเท่านั้น
ต่อมามีชาวลื้อที่ย้ายมาจากเมืองเชียงตุง รัฐฉาน ประเทศพม่า ได้เข้ามาอยู่ร่วมกับชาวปกาเกอะญอในบริเวณบ้านแม่สาบ ทำให้ผู้คนเริ่มขยายพื้นที่อาศัยและพื้นที่ทำกินเมื่อมีคนเข้ามาอาศัยมากขึ้น ประกอบกับอุปนิสัยของชาวปกาเกอะญอเป็นผู้ที่รักสันโดษ เป็นอิสระและไม่ต้องการมีปัญหากับใครโดยเฉพาะในเรื่องพื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่ทำกิน จึงตัดสินใจย้ายเข้ามาที่บริเวณเขตป่าบ้านแม่ลานคำ
สันนิษฐานว่าบริเวณเขตป่าแม่ลานคำนั้น มีผู้คนอาศัยอยู่ก่อน ราว 800-900 ปีมาแล้วโดยสามารถดูได้จากซากชุมชน วัดร้าง สุสาน และการขุดลอกรอบภูเขาเพื่อเก็บสมบัติของชาวลัวะผู้มีฐานะ เป็นต้น ส่วนชาวปกาเกอะญอคาดว่าน่าจะเข้ามาอยู่ในพื้นที่นี้ราว 300-350 ปี
กลุ่มคนที่ย้ายเข้ามากลุ่มแรกคือ พือจ้อแหม่ พือหม่อจี้โหย่ว กับลูกหลาน มาครั้งแรกจำนวน 3 หลังด้วยกัน ต่อมามีคนย้ายเข้ามาสมทบและกระจัดกระจายกันตามพื้นที่เขตป่าแม่ลานคำ การอยู่อาศัยในพื้นที่บ้านแม่ลานคำได้มีการโยกย้ายถิ่นฐานอยู่หลายครั้งด้วยหลายสาเหตุ เช่น เมื่อคนในชุมชนล้มป่วยแล้วล้มตายเชื่อว่าพื้นที่นั้นเจ้าที่แรงต้องมีการย้ายถิ่นฐาน (การตายผิดธรรมชาติ) บางกลุ่มย้ายด้วยเหตุผลต้องการไปอยู่ใกล้กับพื้นที่ไร่นา เช่น กลุ่มที่ย้ายลงไปอยู่ที่บ้านสบลานปัจจุบันเพราะคนกลุ่มนี้มีการทำไร่และมีการบุกเบิกนาใกล้กับบริเวณหย่อมบ้านสบลานปัจจุบัน
การที่เขาอยู่ที่บ้านแม่ลานคำจึงห่างไกลจากพื้นที่ทำกินมากและปักหลักจนถึงทุกวันนี้ บางช่วงคนในชุมชนถูกสัตว์ป่ากัดตาย ช้างป่ามารบกวนข้าวของ บางกลุ่มจึงย้ายหนีเส้นทางการหากินของช้าง เช่น กลุ่มชาวบ้านห้วยหญ้าไทรมีการย้ายถิ่นฐานอยู่หลายครั้ง บางครั้งย้ายเพราะ "ฮีโข่" (ผู้นำตามประเพณี)เสียชีวิตลงเพราะตามความเชื่อไม่สามารถอยู่ต่อได้จนต้องย้ายออกไป 3-4 ปี ถึงจะย้ายกลับมายังที่เดิมได้ เพราะเมื่อ "ฮีโข่" เสียชีวิตการแต่งตั้ง "ฮีโข่" คนใหม่จะเกิดขึ้นได้ต้องรอเวลานานอย่างน้อย 3 ปี
มีช่วงหนึ่ง ราว 80 ปีที่ผ่านมา เกิดโรคฝีดาษระบาด ในชุมชนมีผู้คนล้มตายจำนวนมาก ผู้คนในชุมชนต้องทิ้งบ้านเรือน เพื่อหนีออกไปอาศัยให้ห่างจากพื้นที่หมู่บ้านเดิม บางคนหนีไปอยู่ใกล้ไร่นาราว 2-3 กิโลเมตร เมื่อเหตุการณ์ผ่านพ้นไป 5-6 ปี จึงย้ายกลับมาที่เดิม
แต่การโยกย้ายถิ่นทุกครั้งเป็นการโยกย้ายในเขตป่าบ้านแม่ลานคำทั้งสิ้น ยกเว้นกลุ่มที่ออกไปแต่งงานนอกชุมชนเท่านั้น พื้นที่ตั้งชุมชนบางแห่งมีการปักหลักอยู่นานมาก เช่น บริเวณตำแหน่งบ้านแม่ลานคำปัจจุบัน (แหม่ลาคาโกล๊) มีการย้ายออกถึง 4 ครั้ง แต่หมู่บ้านที่มีการอาศัยอยู่นานตามคำบอกเล่าของผู้เฒ่าผู้แก่ คือพื้นที่ "แดลอเคะโข่"
แดลอนี้เป็นแดลอที่มีการอาศัยอยู่นานถึง 40 ปี และในระยะ 50 ปีมานี้ไม่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นอีกเลย นอกจากนี้ชุมชนบ้านแม่ลานคำ ห้วยเหี๊ยะ บ้านใหม่ และสบลานก็อาศัยมานานกว่า 50 ปี ส่วนบ้านห้วยหญ้าไทรราว 70 ปีที่ไม่มีการเคลื่อนย้ายถิ่นฐานตามความเชื่อเนื่องจากชุมชนมีการปรับเปลี่ยนด้านความเชื่อและคำนึงถึงความมั่นคงทางด้านแหล่งที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันชุมชนแม่ลานคำมีด้วยกันทั้งหมด 5 หย่อมบ้าน ประกอบด้วยบ้านแม่ลานคำ บ้านห้วยเหี้ยะ บ้านใหม่ บ้านห้วยหญ้าไทร และบ้านสบลาน ปัจจุบันทุกหย่อมบ้านกลายเป็นหมู่บ้านถาวร การย้ายเข้าออกชุมชนอยู่ในรูปของการออกไปแต่งงานกับมีคนเข้ามาแต่งงานกับคนในชุมชน
บ้านแม่ลานคำตั้งอยู่หมู่ที่ 6 ตำบลสะเมิงใต้ อำเภอสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ ทางทิศเหนือและทิศตะวันตกของหมู่บ้านติดกับบ้านป่าคานอก
สภาพป่าเป็นดิบเขา มีป่าไม้อุดมสมบูรณ์ อากาศชุ่มเย็นกว่าป่าทางทิศตะวันออก และทางทิศใต้ของหมู่บ้านติดกับบ้านแม่ขนิน ต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นไม้เนื้ออ่อน และมีไม้เนื้อแข็งอยู่บ้างเช่น ไม้แดง ต้นดอกรัก ไม้ประดู่ ไม้ตะเคียน ฯลฯ
ด้วยพื้นที่ป่าแม่ลานคำยังเป็นป่าสภาพที่สมบูรณ์มากในช่วงฤดูแล้งของทุกปี (ราวเดือนปลายเดือนกุมภาพันธ์-เมษายน) จะมีผึ้งหลวงเข้ามาทำรังตามกิ่งต้นไม้ขนาดใหญ่ โดยเฉพาะต้นยาง ต้นโพธิ์ มะเดื่อ เป็นต้น ส่วนป่าทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านติดกับลำน้ำแม่ขาน ลักษณะป่าและสภาพอากาศเป็นป่าเต็งรัง ต้นไม้มีการผลัดใบในช่วงฤดูแล้ง ป่าโปร่งเหมาะสำหรับการเลี้ยงสัตว์ เก็บเห็ด หน่อไม้ และต้นไม้ส่วนใหญ่เป็นต้นยางและไม้เนื้อแข็งมากกว่า
ชุมชนบ้านแม่ลานคำประกอบด้วย 5 หย่อมบ้าน จำนวน 154 หลังคาเรือน และมีประชากร รวมทั้งหมด 620 คน ดังตาราง
หย่อมบ้าน | ชาย (คน) | หญิง (คน) | รวม (คน) |
บ้านแม่ลานคำ | 48 | 36 | 84 |
บ้านห้วยเหี๊ยะ | 50 | 45 | 95 |
บ้านใหม่ | 97 | 81 | 178 |
บ้านห้วยหญ้าไทร | 90 | 83 | 173 |
บ้านสบลาน | 55 | 43 | 98 |
รวม | 340 | 280 | 620 |
- การที่สัดส่วนประชากรบ้านแม่ลานคำมีจำนวนผู้ชายมากกว่าจำนวนผู้หญิงถึง 60 คน ในที่นี้ไม่ได้หมายถึงว่าชุมชนหรือสังคมบ้านแม่ลานคำมีความเชื่อหรือมีค่านิยมในการมีลูกชายกว่าลูกผู้หญิงแต่อย่างไร แต่เป็นไปตามธรรมชาติการเกิดประชากรของชุมชนบ้านแม่ลานคำ
- โดยพื้นฐานชุมชนไม่มีการแบ่งแยกความต้องการลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิงอย่างใดอย่างหนึ่ง การได้ลูกผู้ชายหรือลูกผู้หญิงในสังคมปกาเกอะญอถือเป็นการดีทั้งหมด และในความพอดีของแต่ละครัวเรือนควรมีทั้งลูกผู้หญิงและลูกผู้ชายจะเป็นการดีที่สุด
ระบบความสัมพันธ์ทางสังคม
ความสัมพันธ์ระดับครัวเรือน และเครือญาติ
ชุมชนบ้านแม่ลานคำยังคงความสัมพันธ์ทางครอบครัวและเครือญาติที่เข้มแข็ง ในอดีตความสัมพันธ์ในระดับนี้มีพิธีกรรมหนึ่งที่เป็นตัวเชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างครอบครัวกับเครือญาติอย่างแนบแน่น คือพิธีกรรมที่เรียกว่า "บก๊ะ" เป็นพิธีกรรมนับถือผีบรรพบุรุษของครัวเรือน และนับตามสายตระกูลแม่ ทุกคนต้องตามแม่ไปร่วมพิธี "บก๊ะ"
เมื่อถึงช่วงเวลาการทำพิธี "บก๊ะ" การใช้วาจาต้องสำรวม แต่งกายต้องสุภาพ และในช่วงทำพิธีกรรมต้องไม่มีอะไรผิดพลาดหรือมีข้อติดขัดใด ๆ หากมีการกล่าววาจาที่เป็นการลบหลู่พิธีกรรมหรือ ผีบรรพบุรุษ อาจส่งผลต่อความสมบูรณ์ของพิธีกรรม เพราะฉะนั้นพิธี "บก๊ะ" จึงเป็นตัวเชื่อม และตอกย้ำการปฏิบัติการตามความเชื่อ
ในตัวพิธีกรรม "บก๊ะ" และเป็นการลำดับความเป็นพ่อแม่ ลงสู่ พี่น้อง ลูก หลาน เหลน โหลน ตามลำดับ ในมุมมองของคนสมัยใหม่ “บก๊ะ” เป็นพิธีกรรมที่มีระเบียบกฎเกณฑ์ที่เคร่งครัดหากปฏิบัติการดีผีบรรพบุรุษคุ้มครอง หากมีการปฏิบัติการที่ผิดพลาดก็จะมีโทษมหันต์เช่นกัน โดยเฉพาะช่วงเวลาที่มีความจำเป็นที่ต้องประกอบพิธี “บก๊ะ” ทุกคนที่อยู่ในเครือญาติต้องอยู่ทำพิธีอย่างพร้อมเพรียงกัน
อย่างไรก็ตามในปัจจุบันเมื่อบริบททางสังคม วัฒนธรรม เศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงไป การร่วมพิธีกรรมดั้งเดิมจึงไม่สอดคล้องต่อวิถีชีวิตที่ลูกหลานที่ต้องออกไปเรียน ทำงานนอกชุมชนอยู่ห่างไกลจึงเป็นการไม่สะดวกในทุกโอกาส หลายครอบครัวมีการปรับเปลี่ยนรูปแบบความเชื่อทางศาสนา เช่น นับถือศาสนาพุทธ และตัดพิธีกรรม "บก๊ะ" ซึ่งเป็นพิธีสูงสุดในการนับถือผีบรรพบุรุษออก
ถึงแม้รูปแบบพิธีกรรมได้ถูกตัดออกไป แต่ผู้คนในชุมชนยังให้ความสำคัญกับความสัมพันธ์ทางครอบครัวและเครือญาติ ในรูปแบบการพบปะกันในงานบุญ ช่วงเวลาผูกข้อมือปีใหม่ การช่วยเหลืองานกันในหมู่เครือญาติ เป็นต้น
ในขณะที่ระบบทางสังคมได้บังคับบุคคลให้เห็นความสำคัญของระบบความสัมพันธ์ทางครอบครัวและเครือญาติหากบุคคลใดมีการห่างเหินจากครอบครัวและเครือญาติ จะถูกข้อครหานินทาจากญาติพี่น้อง เมื่อมีการปล่อยปละละเลยบุคคลเหล่านั้นกลายเป็นผู้ถูกโดดเดี่ยวจากครอบครัวและเครือญาติโดยปริยาย
ความสัมพันธ์ระดับชุมชน
ทุกคนในชุมชนมีความสัมพันธ์กันหมด การปฏิสัมพันธ์และการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชนด้วยกันจึงมีความจำเป็นมาก หากครอบครัวใดที่มีความสัมพันธ์ที่ดีกับคนในชุมชน เวลามีกิจกรรมต่าง ๆ เช่น งานแต่งงาน การแลกเปลี่ยนแรงงานในการทำไร่ ทำนา หรือการสร้างบ้าน จะได้รับความร่วมมือจากคนในชุมชนอย่างดี
หากครอบครัวใดมีความสัมพันธ์ที่ไม่ดีกับคนอื่น เวลามีงานจะถูกปฏิเสธความร่วมมือจากผู้คนในชุมชนด้วยเช่นกัน การรู้จักช่วยเหลือกัน การมีน้ำใจต่อกัน การเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่และรู้จักแบ่งปันสิ่งของหรือ อาหารที่มีอยู่ในไร่นา สวน อุปกรณ์ และเครื่องมือการเกษตรสามารถยืมกันได้ ลักษณะการจ้างงานมีน้อยมาก ส่วนมากอยู่ในรูปของการแลกเปลี่ยนแรงงานมากกว่า
สังคมชุมชนบ้านแม่ลานคำเป็นสังคมแบบพึ่งพาอาศัย เอื้ออาทรต่อกัน ทุกคนในชุมชนถือว่าเกี่ยวข้องกันหมด ความเกี่ยวข้องอาจอยู่ในรูปของความเป็นพี่น้อง ญาติสนิททางฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ความเป็นเพื่อนบ้าน หรือความสัมพันธ์เชิงการทำกิจกรรมร่วมกัน เช่น มีพื้นที่ทำกินใกล้กัน เลี้ยงวัวควายในพื้นที่เดียวกัน หรืออยู่ในสถานการณ์คล้ายกัน เป็นต้น
ความสัมพันธ์ระหว่างชุมชนอื่น และสังคมภายนอก
อยู่ในรูปแบบความสัมพันธ์ที่หลากหลายเช่นกัน ความสัมพันธ์กับชุมชนใกล้เคียงในอดีตเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนแรงงานข้ามหมู่บ้าน มีโอกาสได้ร้องบทเพลงในงานศพร่วมกันในวัยหนุ่มสาว หรือการออกมาทำงานในช่วงที่มีการสัมปทานป่า ชักลากไม้ร่วมกันในเขตพื้นที่ภาคเหนือของประเทศไทย เช่น เชียงใหม่ แม่ฮ่องสอน พะเยา ลำพูน ลำปาง เป็นต้น
เมื่อเสร็จสิ้นภารกิจผู้ที่เคยใช้ชีวิตร่วมกัน มีการถามไถ่กัน มีการให้ของฝาก ในยามที่ลูกหลานแต่งงานมีการส่งข่าวบอกกล่าวกันให้มาร่วมงานแต่งงาน
การดูแลแขกบ้านแขกเมืองที่มาเยือนชุมชนเป็นหน้าที่ของทุกคน และเป็นการรักษาชื่อเสียงของหมู่บ้าน หลายหมู่บ้านได้ชื่อว่าเป็นผู้ที่ต้อนรับแขกผู้มาเยือนดี และถือว่าเป็นหน้าเป็นตาให้กับหมู่บ้าน ระบบสังคมสอนให้คนต้อนรับแขกผู้มาเยือน โดยความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกเริ่มจากการที่ชาวพื้นราบขึ้นมารับจ้างสร้างบ้าน เลื่อยไม้ เบิกนาให้กับชาวแม่ลานคำ
เนื่องจาก 40-50 ปีก่อน ทักษะการสร้างบ้านสมัยใหม่ การเลื่อยไม้ การเบิกนา ชาวบ้านแม่ลานคำมีความจำเป็นต้องเรียนรู้จากชาวพื้นราบในระยะแรกเพราะต้องอาศัยทักษะที่สูงกว่าโดยเฉพาะระบบเหมืองฝาย การแลกเปลี่ยนสินค้า เช่น มะพร้าว ปลาทู น้ำอ้อย น้ำตาล แลกข้าว เป็นต้น รวมถึงการขึ้นมาหาซื้อข้าว พริก หมู ไก่ วัว ควาย ของชาวพื้นราบมีมาตั้งแต่ในอดีต
ในขณะที่ชาวแม่ลานคำเมื่อเสร็จสิ้นฤดูกาลทำนาหรือว่างเว้นจากการทำงาน ก็มักจะลงมาช่วยทำงานกับชาวพื้นราบเป็นรูปแบบของการพึ่งพากันมาโดยตลอดมา การคบหากันเป็นในรูปของญาติพี่น้อง เพื่อนสนิท หรือที่เรียกว่าเป็น "เสี่ยว" กัน ไปมาหาสู่กัน บางคนมีประวัติศาสตร์ความเป็น "เสี่ยว" กันมาอย่างยาวนานตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย และทุกวันนี้ยังมีความสัมพันธ์กันดีจนถึงช่วงลูกหลาน
ความสัมพันธ์กับสังคมภายนอกของคนรุ่นใหม่ อยู่ในรูปแบบของการเรียนรู้ การทำงานและทำกิจกรรมร่วมกัน ในการค้าขายร่วมกันต้องอาศัยความสัมพันธ์ที่ดีต่อกัน มีการสื่อสาร ติดต่อประสานงานผ่านเครื่องมือสื่อสารและโลกโซเชียลตามยุคสมัย ความสัมพันธ์กับกลุ่มเพื่อน นักวิชาการ และนักกิจกรรมทางสังคมทั้งในประเทศและต่างประเทศ ขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์กันในรูปแบบต่าง ๆ ที่สำคัญเพื่อกระจายความเข้าใจไปสู่กับสังคมภายนอกให้รู้จักชุมชนแม่ลานคำในฐานะชุมชนที่อยู่กับป่าทั้งฝ่ายบุคคล นักพัฒนา กลุ่มคนที่เข้ามาสัมผัสกับชุมชน
ดังนั้น ชุมชนแม่ลานคำจึงมีการปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอกในรูปแบบที่หลากหลาย เช่น การทำงานร่วมกันกับบุคคลอื่นทั้งในระดับพื้นที่และนอกพื้นที่ การเข้ามาศึกษาดูงาน ผ่านกิจกรรมทำบุญ งานพัฒนา การเข้ามาแต่งงาน การเยี่ยมเพื่อน เป็นต้น
ระบบการเรียนรู้ของเด็กและเยาวชนชุมชนบ้านแม่ลานคำ
สามารถแบ่งช่วงเวลาออกเป็น 2 ช่วงเวลาดังนี้
ช่วงที่ 1.) ช่วงก่อนปี 2520 หรือช่วงที่ยังไม่มีโรงเรียนในระบบ การเรียนรู้ในช่วงนี้เป็นการเรียนรู้ทางด้านทักษะชีวิตเพื่อใช้ในการดำเนินชีวิตประจำวันซึ่งเป็นการเรียนรู้จากพ่อแม่ ผู้ใหญ่ ผู้อาวุโส ผ่านกิจวัตรประจำวันของครัวเรือน และชุมชน มีผู้ใหญ่และผู้อาวุโสอยู่ในบทบาทของผู้ถ่ายทอดความรู้ เป็นต้นแบบของผู้จรรโลงทางจิตใจ อบรมทางคุณธรรมจริยธรรม เป็นแบบอย่างที่ดี ดูแลปกป้องเด็กและเยาวชนให้เติบโตเป็นผู้ใหญ่ของชุมชนอย่างสมบูรณ์แบบมีความพร้อมทั้งร่างกายและจิตใจ
ส่วนเด็กและเยาวชนอยู่ในบทบาทผู้เรียนรู้และรับการถ่ายทอดจากผู้ใหญ่ ผู้รู้ผู้อาวุโส เช่น เด็กผู้ชายเรียนรู้ทักษะชีวิตเกี่ยวกับงานของผู้ชาย เช่น จักสาน สร้างบ้าน ล้อมรั้ว เตรียมอุปกรณ์การเกษตร เลี้ยงควาย ทำงานนอกบ้าน การเป็นลูกผู้ชายที่ดีของครอบครัว
ส่วนเด็กและเยาวชนผู้หญิงเรียนรู้เกี่ยวกับงานครัว ตำข้าว หุงข้าว ตักน้ำ เรียนรู้หัตถกรรมทอผ้าเย็บผ้าและการเป็นลูกสาวที่ดีของครอบครัว เป็นต้น การเรียนรู้ทักษะชีวิตได้เรียนรู้และปฏิบัติตั้งแต่เยาว์วัยจนถึงเติบโตเป็นผู้ใหญ่ และท้ายที่ได้ขึ้นมาทำหน้าที่แทนผู้ใหญ่ในอนาคต
ช่วงที่ 2.) ทางราชการได้เข้ามาตั้งโรงเรียนที่บ้านแม่ลานคำในปี 2520 ซึ่งเป็นไปตามความต้องการของพ่อแม่ผู้ปกครองที่ต้องการให้บุตรหลานได้เรียนหนังสือเหมือนกับเด็กและเยาวชนในพื้นที่อื่น ๆ ที่ก่อตั้งโรงเรียนมาก่อนโดยเฉพาะชุมชนพื้นราบในเขตพื้นที่อำเภอสะเมิง
ในการจัดการเรียนการสอนระยะแรกมีครูเข้ามาทำการสอนที่โรงเรียนแม่ลานคำ จำนวน 1 คน การจัดการเรียนการสอนเน้นให้เด็กและเยาวชนให้สามารถอ่าน เขียนภาษาไทย และรู้จักคณิตศาสตร์ขั้นพื้นฐาน มีนักเรียนรุ่นแรกราว 2 คน แล้วค่อยๆขยายสถานะจากโรงเรียนขนาดเล็กพัฒนาสู่โรงเรียนขนาดกลาง
ปัจจุบันโรงเรียนบ้านแม่ลานคำเปิดทำการสอนตั้งแต่ระดับชั้นอนุบาลจนถึงระดับมัธยมศึกษาปีที่ 3 โดยเป็นโรงเรียนขยายโอกาสที่รองรับนักเรียนจากเขตพื้นที่กลุ่มหมู่บ้านแม่ลานคำ บ้านป่าคานอก และพื้นที่ใกล้เคียงอย่างเช่น บ้านขุนวิน เด็กและเยาวชนส่วนมากจบระดับการศึกษาขั้นต่ำในระดับชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 3 เมื่อจบออกไปแล้ว ได้ออกไปเรียนต่อในระดับที่สูงขึ้น ทั้งตัวอำเภอสะเมิง ตัวเมืองเชียงใหม่ จนจบระดับมหาวิทยาลัย
หลายคนได้ทำงานตามหน่วยงานต่าง ๆ เช่น ครู พยาบาล เจ้าหน้าที่อำเภอ เจ้าหน้าที่เทศบาล ฯลฯ อีกส่วนหนึ่งหันกลับมามีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนโดยตรง เช่น ทำหน้าที่เป็นผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกเทศบาล เป็นคณะกรรมการหมู่บ้าน
ส่วนผู้ที่ทำงานตามหน่วยงานหรือบริษัทก็มีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนทางทางตรงและทางอ้อมเช่นกัน ผลจากการได้รับการศึกษาโดยรวมทำให้คุณภาพชีวิตของคนในชุมชนแม่ลานคำได้รับการพัฒนาในทางที่ดีขึ้น
หน่วยงานในพื้นที่
- บริษัทสัมปทานป่าบริษัทอังกฤษ (2448) มีการในเขตพื้นที่ป่าแม่ลานคำ สบลาน ริมน้ำแม่ขาน ห้วยเคาะเขตสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ไม้ที่สัมปทานชุมชนในเขตภาคเหนือที่มีช้างได้เข้ามารับจ้างชักลากไม้ และส่วนหนึ่งเข้ามาเป็นแรงงานในการตัดท่อนซุง
- รัฐเก็บภาษีคน ภาษีช้าง (2451) รัฐเข้ามาเก็บภาษีที่เรียกว่าภาษี 4 บาท เพื่อเก็บภาษีคน ภาษีช้าง ยุคนี้คนหนีกลัวเจ้าหน้าที่รัฐ เนื่องจากไม่มีเงินจ่าย เพราะเงินจำนวน 4 บาทถือว่าเป็นเงินที่มากในยุคสมัยนั้น การเดินทางไกลสามารถยืมบัตรภาษีคนได้เนื่องจากยุคนั้นบัตรดังกล่าวยังไม่มีรูปติด จึงเป็นการง่ายที่สามารถยืมใช้กันได้และสาเหตุนั้นเองจึงทำให้ชาวบ้านส่วนหนึ่งหนีเข้าไปอยู่ในป่าลึกและอยู่แบบหลบๆซ่อนๆ ไม่กล้าติดต่อกับทางราชการในช่วงแรกๆ และการเดินทางติดต่อราชการ เช่น การถ่ายบัตรประชาชน แจ้งเกิด แจ้งตาย และการแจ้งความ ฯลฯ ก่อนปี 2505 ต้องเข้ามาที่อำเภอแม่ริม จังหวัดเชียงใหม่ เนื่องจากช่วงเวลานั้นเขตพื้นที่อำเภอสะเมิงปัจจุบันอยู่ในเขตการปกครองของอำเภอแม่ริม
- กระทรวงมหาดไทย (2485) เข้ามาสำรวจสำมะโนครัวประชากรในพื้นที่อำเภอสะเมิง และชุมชนบ้านแม่ลานคำ และในปีเดียวกันนี้หน่วยงานรัฐมีการเรียกเก็บภาษีบำรุงท้องที่จากชาวชุมชนเรียกว่า "ภบท5 และ ภบท6" และมีการเก็บภาษีต่อเนื่องจนถึง ปี 2527 และได้มีการยกเลิกไปในที่สุดเนื่องจากรัฐให้เหตุผลว่าชุมชนเหล่านี้อาศัยในพื้นที่เขตป่าอนุรักษ์ เช่น ป่าสงวนแห่งชาติ ป่าตามมติคณะรัฐมนตรีว่าด้วยการจำแนกคุณภาพลุ่มน้ำปี 2528 เป็นต้น
- โรงไม้เชียงใหม่ (2501) มีการสัมปทานป่าโดยโรงไม้เชียงใหม่ และเป็นการสัมปทานไม้เนื้อแข็ง เช่น ไม้จำปี ไม้แดง ไม้ประดู่ ไม้ชิงชัง ตะเคียน เป็นต้น
- กระทรวงมหาดไทยได้เข้ามาก่อตั้งที่ทำการอำเภอสะเมิง (2501) มีการก่อสร้างที่ทำการอำเภอสะเมิง และเปิดบริการประชาชนในปี 2505
- กรมป่าไม้ (2516) ได้ประกาศป่าสงวนแห่งชาติเขตป่าสะเมิงดำเนินการติดป้ายเขตป่าสงวนแห่งชาติเพื่อรักษาป่าในเขตป่าสะเมิง
- โรงเรียนบ้านแม่ลานคำ (2520) จัดตั้งโรงเรียนบ้านแม่ลานคำ ในระยะแรกมีครูเพียง 1 คน การสอนเน้นการอ่านออกเขียนภาษาไทย และบวกลบ คณิตศาสตร์ได้ตามความจำเป็นในยุคสมัยนั้น
- โครงการพัฒนาไทย-นอรเวย์ (2524) เข้ามาส่งเสริมอาชีพด้านการทอผ้า การใช้ปุ๋ยในแปลงเกษตร (ใช้ปุ๋ยครั้งแรก) ปลูกไม้ผล และพืชเมืองหนาว เช่น มะม่วง ลิ้นจี่ ลำไย กาแฟ เป็นต้น จัดตั้งธนาคารข้าวช่วงแรกมีกรรมการดูแลระบบการกู้ยืมข้าวและมีการนำข้าวมาคืนเพื่อให้ปริมาณข้าวในกองทุนข้าวเพิ่มขึ้น
- สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย (IMPECT) ปี 2536 เข้ามาดำเนินการส่งเสริมการเลี้ยงวัวและกองทุนบุกเบิกนาในชุมชนบ้านแม่ลานคำเพื่อสร้างอาชีพให้กับชุมชน และมีข้าวพอกินตลอดปี กิจกรรมบวชป่าต้นน้ำ ทำแนวกันไฟ รวมถึงการติดตามสถานการณ์ทั้งในพื้นที่และนโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชุมชน ส่งเสริมเด็กและเยาวชนด้านทุนการศึกษาเพื่อเยาวชนเป็นคนสอนวัฒนธรรม เป็นสื่อกลางในการนำเสนอข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้องเกี่ยวกับชาติพันธุ์ตนเอง กับสังคมภายนอก และมีส่วนร่วมในการพัฒนาชุมชนของตนเองทั้งทางตรงและทางอ้อม
- เครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ (2537) ชาวแม่ลานคำได้รวมตัวกับชุมชนที่ได้รับผลกระทบจากนโยบายอพยพคนออกจากป่าในนามเครือข่ายเกษตรกรภาคเหนือ หรือ (คกน.) โดยเรียกร้องให้รัฐบาลหยุดนโยบายไล่คนออกจากป่าพร้อมทั้งพิสูจน์ตนเองว่าคนกับป่าสามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน โดยเฉพาะการเรียกร้องพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน พื้นที่ป่าชุมชนตามพื้นที่เดิมที่บรรพบุรุษเคยอยู่อาศัย และทำกินมาก่อน นำเสนอร่างพระราชบัญญัติป่าชุมชนฉบับประชาชน
- มูลนิธิพัฒนาภาคเหนือ (2537) ได้เข้ามาส่งเสริมด้านการจัดการสิ่งแวดล้อมด้านการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมเช่น การจำแนกเขตป่า การทำแนวกันไฟ อนุรักษ์สัตว์น้ำ การรังวัดที่ดิน การเสริมสร้างองค์กรชุมชน การพิสูจน์สิทธิ์ในการอยู่กับป่าร่วมกับชุมชนท้องถิ่น หน่วยงานในพื้นที่ที่เกี่ยวข้องทั้งในระดับพื้นที่และนโยบาย ฯลฯ
- สมาคมปกาเกอะญอเพื่อการพัฒนาอย่างยั่งยืน (สปพย.) ปี 2553 การรณรงค์สร้างความเข้าใจติดตามสถานการณ์และกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับมติคณะรัฐมนตรีวันที่ 3 สิงหาคม 2553ว่าด้วยการฟื้นฟูวิถีชีวิตชาวกะเหรี่ยงใน 5 ประเด็น คือ อัตลักษณ์ทางชาติพันธุ์ ไร่หมุนเวียน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติ การศึกษาและสถานะบุคคล
- สถานปฏิบัติธรรมบ้านแม่ลานคำ (2555) ดำเนินการด้านการเผยแพร่พระพุทธศาสนา และสถานปฏิบัติธรรมกลางป่า เน้นการเรียนรู้และอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างเกื้อกูลและยั่งยืนแบบวิถีคน ปกาเกอะญอ ส่งเสริมการศึกษาให้เด็กผู้ชายสามารถบวชเรียนได้ในเครือข่ายวัดในพื้นที่จังหวัดเชียงใหม่ การประสานศรัทธาผู้สนับสนุนการจัดกิจกรรมวันเด็ก แจกผ้าห่ม เสื้อผ้ากันหนาว ให้ทุนการศึกษานักเรียน
ชุมชนบ้านแม่ลานคำเป็นชุมชนที่อาศัยอยู่กับป่ามาอย่างยาวนาน จึงมีวิถีชีวิตในการพึ่งพาป่าและธรรมชาติ โดยมีการประกอบอาชีพที่มีความสอดคล้องกับสภาพพื้นที่ทางกายภาพตามการอยู่อาศัย ดังนี้
การทำ “คึ-ฉื่ย” (ไร่หมุนเวียน)
เป็นระบบการผลิตหลักของชาวแม่ลานคำที่มีการปฏิบัติการมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษเป็นต้นมา การปลูกข้าวและพืชผักล้วนปลูกในไร่หมุนเวียน สภาพการทำไร่หมุนเวียน ในระยะ 50 ปีที่ผ่านมา สามารถหมุนเวียนพื้นที่ 7-10 ปี
โดยการใช้พื้นที่ในการทำไร่หมุนเวียนในอดีตมีการใช้มากกว่า ประมาณครอบครัวละ 5-8 ถัง เพราะผลผลิตสูญหายไปกับสัตว์ป่า เช่น นก หนู ลิง เข้ามารบกวนข้าวและพืชผักจำนวนมาก จึงทำให้ผลผลิตในไร่หมุนเวียนสามารถเก็บเกี่ยวได้น้อย
หลังจากปี 2535 เป็นต้นมา รอบการหมุนเวียนของไร่หมุนเวียนอยู่ที่ 6-8 ปี และการใช้พื้นที่สำหรับการทำไร่ลดลงไปมาก เนื่องจากมีทางเลือกในการประกอบอาชีพอื่นๆ และพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิมที่สามารถทดน้ำเข้ามาได้ นี้นาขั้นบันไดจำนวนหนึ่งยังได้แปลงสภาพไป
เนื่องจากชุมชนเข้าใจว่านาขั้นบันไดจะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐและมีความมั่นคงกว่า ดังนั้น พื้นที่ที่สามารถทดน้ำเข้ามาได้จึงเป็นพื้นที่เพียงส่วนน้อยเพราะพื้นที่ไร่หมุนเวียนส่วนใหญ่เป็นพื้นที่ลาดชัน
อย่างไรก็ตามไร่หมุนเวียนยังเป็นแหล่งผลิตข้าวและพืชผักหลักของชุมชน และชุมชนยังยืนยันว่าระบบการผลิตแบบไร่หมุนเวียนเป็นการรักษาคุณภาพดินโดยกระบวนการทางธรรมชาติที่มีความสมบูรณ์ที่สุด
นาขั้นบันได (ฉิ)
นอกจากทำไร่หมุนเวียนแล้ว ชุมชนมีการทำนาขั้นบันไดเสริม จากการบอกเล่าของผู้อาวุโสในชุมชนเล่าว่า ในยุคที่พวกเขายังเป็นเด็กได้เห็นปู่ ย่า ตา ยาย พ่อแม่ ทำไร่หมุนเวียนปลูกข้าวและพืชผัก เลี้ยงชีพ และปู่ ย่า ตา ยาย เล่าให้เขาฟังว่าในพื้นที่แม่ลานคำ มีนาเก่าแก่อยู่เพียง 3 แปลงเท่านั้น และ 3 แปลงนี้เป็นนาดั้งเดิม มีอายุมากกว่า 100 ปี
ส่วนพื้นที่นาอื่น ๆ พึ่งเกิดราว 80-90 ปีมานี้ ส่วนหนึ่งมาจากพื้นที่ไร่หมุนเวียนเดิมที่สามารถทดน้ำเข้ามาได้ เพราะช่วงหลัง หน่วยงานรัฐเข้ามาติดป้ายบอกเขตป่าสงวนแห่งชาติตามเขตป่าแม่ลานคำ และป่าพื้นที่ใกล้เคียง และคนส่วนหนึ่งเชื่อว่านาน่าจะได้รับการยอมรับจากหน่วยงานรัฐมากกว่าไร่หมุนเวียน
อย่างไรก็ตามสามารถแปลงสภาพพื้นที่เป็นนาขั้นบันไดทำได้เพียงส่วนน้อยเท่านั้นหรือเพียง1 ใน 4 ของพื้นที่การทำไร่หมุนเวียนทั้งหมดของชุมชนบ้านแม่ลานคำโดยเฉพาะพื้นที่ที่สามารถทดน้ำเข้ามาได้เท่านั้น
ปัจจุบันชาวแม่ลานคำประมาณ 90 เปอร์เซ็นต์มีนาขั้นบันได แต่ขึ้นอยู่กับว่าแต่ละครอบครัวมีพื้นที่นามากหรือน้อย เพราะลักษณะพื้นที่ของแต่ละครอบครัวไม่เท่ากัน ส่วนมากเป็นพื้นที่ลาดชัน อยู่บนไหล่เขาไม่สามารถบุกเบิกเป็นนาขั้นบันไดได้มาก
ทุกวันนี้ถึงแม้คนส่วนใหญ่ในชุมชนจะมีนาแต่ทุกครัวเรือนยังต้องทำไร่หมุนเวียนเพราะอาศัยเพียงนาอย่างเดียวอาจได้ข้าวไม่พอกินตลอดปี และอีกอย่างหนึ่งนาสามารถปลูกได้แค่เพียงข้าวอย่างเดียวเท่านั้น
การเลี้ยงสัตว์
การดำรงชีวิตของชาวปกาเกอะญอแม่ลานคำได้มีการเลี้ยงสัตว์ควบคู่ไปกับระบบการผลิตอื่น ๆ ตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมา เช่น หมู ไก่ เป็นหลัก ด้วยความเชื่อที่ว่าการที่คนที่อาศัยกันเป็นครอบครัว หรือความเป็นบ้านอย่างน้อยต้องมีสัตว์เลี้ยง 2 อย่างนี้ เพราะถือว่าเป็นความสมบูรณ์ของบ้านที่เรียกเป็นภาษาปกาเกอะญอว่า “เท๊าะโข่ทิ ชอโข่ทิ”
แม่หมูหลักและแม่ไก่หลัก 2 ตัวนี้จะไม่มีการฆ่าหรือประกอบพิธีกรรมใดๆ ส่วนลูกๆของแม่ไก่กับแม่หมูหลัก สามารถใช้ในการประกอบพิธีกรรมทั้งในครัวเรือนเช่น พิธีกรรมการเลี้ยงผีบ้านผีเรือน (พิธีเอาะแค) มัดมือสู่ขวัญ เลี้ยงผีไร่ ผีนา ใช้ทำพิธีกรรมระดับบุคคล ครัวเรือน ชุมชนได้ และทุกครอบครัวมีการเลี้ยงหมูไว้สำหรับเตรียมงานแต่งงานให้กับลูกหลานเพราะการแต่งงานแต่ละครั้งอย่างน้อยต้องมีหมู 1-2 ตัว บางครอบครัวใช้ถึง 4-5 ตัวแล้วแต่ว่าขนาดของหมูใหญ่หรือเล็ก และฐานะทางครอบครัว
แม่ไก่หลักหรือแม่หมูหลัก จะถูกใช้ก็ต่อเมื่อในกรณีที่มีการรื้อบ้าน เมื่อมีการขึ้นบ้านใหม่ต้องหาสัตว์เลี้ยงใหม่ หรือเปลี่ยนไปนับถือศาสนาความเชื่อของครอบครัวใหม่เพราะต้องตัดพิธีกรรมความเชื่อเดิมก่อนถึงจะไปนับถือศาสนาใหม่ได้ เพราะฉะนั้นสัตว์เลี้ยงอย่างหมูกับไก่จะถูกใช้ในการประกอบพิธีกรรม ใช้ในการบริโภคในครัวเรือนเป็นหลัก และมีการขายเป็นรายได้บ้างในกรณีที่มีคนมาขอซื้อหรือในยามจำเป็นที่ต้องใช้เงินเท่านั้น
การเลี้ยงสัตว์อย่างหมาหรือแมว เป็นการเลี้ยงเพื่อใช้งาน เช่น เฝ้าบ้าน ล่าสัตว์ จับหนูไม่ให้มากินข้าวของในบ้าน เลี้ยงเพื่อความเพลิดเพลิน หรือบางครอบครัวเลี้ยงสุนัขเพื่อเป็นการเสริมบารมี การมีหมาก็ได้รับการยำเกรงจากผู้ที่จะเข้ามาทำลายข้าวของ หรือ มีการเปรียบเปรยความจน หรือ ถ่อมตัวของคน ปกาเกอะญอว่า “จนถึงขั้นไม่มีแม้แต่หมาสักตัว”
ส่วนแมวเลี้ยงเพื่อจับหนู ชาวปกาเกอะญอนั้นไม่รับประทานทั้งสุนัข และแมว เพราะถือว่าเป็นสัตว์ชั้นสูง สุนัขเปรียบเสมือนสัตว์ที่ต้านทานพิษภัย สิ่งชั่วร้ายที่จะเข้ามาโดนเจ้าของบ้าน การที่หมาป่วยหรือตายไปเชื่อว่าเป็นการเจ็บป่วย หรือตายแทนเจ้าของ ส่วนถ้าแมวตายต้องมีการจัดงานศพ ร้องเพลงศพให้ก่อนที่จะนำไปเผาหรือฝังดิน
การเลี้ยงสัตว์ประเภท วัว ควาย ในอดีตเลี้ยงเพื่อใช้แรงงาน ปัจจุบันเลี้ยงเพื่อการขายเป็นรายได้ และให้เป็นมรดกตกทอดให้แก่บุตรหลาน สัตว์เลี้ยง 2 ประเภทนี้ถือเป็นทรัพย์สินที่มันคงสามารถออกลูกหลานต่อไปได้ การมีวัวควายถือเป็นการมีเงินทุนสำรองของบ้านนั้น ๆ
การทำสวน
การทำสวนของชาวบ้านแม่ลานคำเป็นการทำสวนขนาดเล็กเน้นการบริโภคในครัวเรือนมากกว่าการผลิตเพื่อการขายสามารถแยกออกมาได้ 2 ลักษณะ ได้แก่
การปลูกพืชผักสวนครัว ส่วนใหญ่เป็นสวนที่อยู่ติดกับบ้าน และเป็นพืชผักที่มีการใช้ในชีวิตประจำวันเพื่อเป็นการลดค่าใช้จ่ายจากภายนอกของครัวเรือน
การทำสวนไม้ยืนต้น ส่วนมากปลูกติดกับบ้าน หรือสวนริมบ้าน อาจมีบางครอบครัวที่ทำสวนที่แยกพื้นที่ออกไปจากชุมชน ในปัจจุบันมีการใช้พื้นที่บริเวณหัวไร่ปลายนาทำสวนปลูกไม้ผลมากขึ้น พืชที่สำคัญทางเศรษฐกิจที่เป็นรายได้และมีชื่อเสียงของบ้านแม่ลานคำคือ มะแขว่น ซึ่งเป็นเครื่องเทศที่ได้รับความนิยมจากผู้คนทั่วไป ชุมชนบ้านแม่ลานคำแทบทุกครัวเรือนมีต้นมะแขว่น มีทั้งที่นำมาปลูกในสวน และอีกรูปแบบหนึ่งคือการจับจองจากต้นที่ขึ้นเองตามธรรมชาติ มีการจับจองเป็นกรรมสิทธิ์ของครอบครัวพร้อมทั้งสามารถสืบทอดยังบุตรหลาน เป็นมรดกของแต่ละครอบครัว มีการเคารพสิทธิซึ่งกันและกันตามธรรมเนียมปฏิบัติของชุมชน
การเก็บของป่า
การดำเนินชีวิตยังมีการพึ่งพาพืชผัก ผลไม้จากป่าเป็นจำนวนมากตั้งแต่ในอดีตมาซึ่งสัมพันธ์กับวิถีคน วิถีป่าเกื้อกูลกัน การเก็บของป่าของชาวแม่ลานคำเป็นการเก็บเพื่อยังชีพเป็นหลัก ส่วนใหญ่เป็นพืช ผัก ผลไม้ที่ขึ้นตามฤดูกาล
การเก็บของป่าเพื่อรายได้ในเขตป่าแม่ลานคำมีเพียงน้ำผึ้ง ที่มีการเก็บกันตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษมาซึ่งเป็นไปตามลักษณะพื้นที่ที่มีผึ้งป่าขึ้นตามป่าธรรมชาติในช่วงระหว่างเดือนมีนาคม-พฤษภาคมทุกปี และ ชาธรรมชาติที่เป็นรายได้ให้แก่ชุมชนในช่วงฤดูแล้ง
นอกนั้นเป็นการเก็บสมุนไพรสำหรับการรักษาโรคทั้งคนและสัตว์เลี้ยง การนำเปลือก ใบ ดอก ผล ต้นไม้มาย้อมสีธรรมชาติ การรักษาให้พืชผัก ผลไม้ให้คงอยู่ในป่าตลอดไปคือการรู้จักใช้ การรู้จักรักษา และสำคัญที่สุดคือการรักษาไฟป่า
1.นายอูรา พัลลภประยูร ผู้เชี่ยวชาญด้านสมุนไพร
2.นางวันเพ็ญ ประยูรพิทักษ์ ผู้เชี่ยวชาญเมล็ดพันธุ์พืช ไร่หมุนเวียน
ธนาคารข้าว ก่อตั้งเมื่อปี 2524 โดยโครงการไทย นอร์เวย์เป็นโครงการที่แก้ไขปัญหาการขาดแคลนข้าว ในระยะแรกทุกหย่อมบ้านได้รับงบประมาณสนับสนุนธนาคารข้าว แต่ในหลายหย่อมบ้านไม่สามารถดำเนินการต่อได้ด้วยเหตุปัจจัยที่แตกต่างกัน เช่น ในช่วงแรกคนที่ยืมไปไม่สามารถนำข้าวมาคืนได้บ้าง มีการเปลี่ยนแปลงคณะกรรมการและไม่มีข้อมูลบัญชีที่ชัดเจน หลายหย่อมบ้านข้าวพอกินและไม่มีใครมากู้ยืมข้าวจากธนาคารข้าว เป็นต้น ปัจจุบันเหลือเพียงหย่อมบ้านใหม่บ้านเดียวที่สามารถดำเนินการต่อได้ และมีกองทุนเพิ่มพูนขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งมาจากการขายข้าวออกไปจากธนาคารข้าว และรับซื้อข้าวใหม่มาจากชุมชน
กองทุนหมู่บ้าน หรือ กองทุนเงินล้าน ก่อตั้งเมื่อปี 2544 เป็นกองทุนพัฒนาเศรษฐกิจชุมชน สามารถกู้เพื่อการลงทุนด้านการเกษตร ซื้อรถไถ กู้เพื่อการศึกษาบุตรหลาน ดำเนินปล่อยกู้ยืมเงินในทุก ๆ ปี และถือเป็นกองทุนหมุนเวียนที่มีคณะกรรมการกองทุนบริหารชุดใหญ่ ปัจจุบันมีนายสุนทร ตูลู เป็นประธานกองทุน
กองทุนแก้ไขปัญหาความยากจน (กขคจ.) หรือ เรียกว่ากอง “ทุนสองแสนแปด” เป็นกองทุนที่ริเริ่มตั้งแต่ปี 2540 เป็นกองทุนเพื่อสร้างอาชีพ สร้างรายได้ให้กับราษฎร สำหรับชุมชนแม่ลานคำใช้ในการซื้อ วัว มาเลี้ยงและบุกเบิกนา ประธานกองทุน คือ นายนะพอ โชคส่งเสริม (ตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านชุมชนบ้านแม่ลานคำ) และอยู่ในช่วงการเตรียมการแต่งคณะกรรมการชุดใหม่เนื่องจากว่าชุดปัจจุบันมีการทำหน้าที่ต่อเนื่องกันมานานแล้ว
กองทุนตลาดลอยฟ้า เริ่มตั้งแต่ปี 2560 เป็นกองทุนประชารัฐมีขนาดเงินทุน 500,000บาท อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 5 บาทต่อปี โครงการนี้ผู้กู้สามารถปุ๋ย ข้าว อาหาร เสื้อผ้า เครื่องตัดหญ้าได้ ประธานกองทุนคือนายนันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุล (ตำแหน่งผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านแม่ลานคำ)
กองทุน 9101 เป็นโครงการส่งเสริมอาชีพ (โครงการแรกของรัชกาลที่ 10) กิจกรรมภายใต้โครงการนี้มาจากประชาคมหมู่บ้าน มี 3 กิจกรรมหลักคือ การทำปุ๋ยหมัก ทอผ้า และกล้วยฉาบของกลุ่มสตรีแม่บ้าน โครงการนี้กำลังดำเนินการอยู่ โดยมีนายนันทวัฒน์ เที่ยงตรงสกุลเป็นประธานกองทุน
กองทุนทอผ้าหมู่ที่ 6 เป็นโครงการที่ได้รับงบประมาณสนับสนุนจากเทศบาลตำบลสะเมิงใต้ เป็นกิจกรรมทอผ้า เมื่อทอเสร็จแล้ว สมาชิกกลุ่มมีการรวบรวมผลิตภัณฑ์ผ้าทอส่งให้กับเจ้าหน้าที่เทศบาลผู้รับผิดชอบ ตั้งราคา และวางขายตามงานต่าง ๆ เช่น งานของดีอำเภอสะเมิง งานสตรอว์เบอร์รีประจำปี งานกาชาดจังหวัด หรือ ส่งต่อไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง และกองทุนนี้มีนางกรรณิกา นุดีประธานกลุ่ม ทำหน้าที่ประสานงานกลุ่มและประสานเจ้าหน้าที่เทศบาล
กลุ่มเยาวชน
ก่อตั้งเมื่อปี 2535 ในระยะเริ่มแรกเรียกว่า กลุ่มหนุ่มสาว โดยมีภารกิจหลักคือสร้างสรรค์กิจกรรมในชุมชน เช่น เป็นกำลังหลักในงานแต่งงาน งานทำบุญวัด งานศพ รวมถึงการดูแลความปลอดภัยของชุมชนในยามที่คนแปลกหน้าเข้ามาในชุมชน มีกระแสยาเสพติดเข้าหมู่บ้าน งานดับไฟป่า งานกีฬา การดูแลคนเจ็บป่วย เป็นต้น
ในยุคปัจจุบันคนจะรู้จักในนามกลุ่มเยาวชน มีการปรับเปลี่ยนกันเป็นประธานกลุ่มและคัดเลือกจากคนที่มีลักษณะความเป็นผู้นำ มีเสียสละ ประธานกลุ่มคนปัจจุบันคือ นายสุพรรณ ประกายนรินทร์
ในช่วงหลัง ๆ มานี้การรวมตัวกันของเยาวชนในรูปแบบหลวม ๆ แต่เมื่อมีสถานการณ์ หรือ งานสำคัญ จะมีการประสานงานมายังประธานเยาวชน และเป็นผู้ประสานงานกับเยาวชนคนอื่น ๆ
กลุ่มแม่บ้าน ก่อตั้งเมื่อปี 2536 มีภารกิจหลักด้านกิจกรรมพัฒนาแม่บ้าน เช่น ร่วมงานฝึกอบรมกับหน่วยงานทางราชการ องค์กรพัฒนาเอกชน ต้อนรับแขกผู้ใหญ่ เตรียมและจัดทำอาหารในงานแต่งงาน งานวัด ดูแลรักษาอุปกรณ์เครื่องครัวของหมู่บ้าน กลุ่มแม่บ้านบ้านแม่ลานคำมีกลุ่มแม่บ้านที่ทำงานอย่างต่อเนื่องและทำงานประสานงานกันอย่างเข้มแข็งมีคณะกรรมการอยู่ 2 ระดับ คือระดับหย่อมบ้าน และระดับหมู่ที่ 16 ถ้าเป็นงานระดับหย่อมบ้าน กลุ่มแม่บ้านระดับหย่อมบ้านเป็นผู้ดำเนินการหลัก และถ้าเป็นงานขนาดใหญ่ คณะกรรมการกลุ่มแม่บ้านทั้ง 5 หย่อมบ้านจะทำงานร่วมกัน เช่น งานบวชป่า งานแนวกันไฟงานบุญตามเทศกาลสำคัญ เป็นต้น ปัจจุบันมี นางสาวเครือวัลย์ ประยูรปรีชา เป็นประธานแม่บ้าน
คณะกรรมการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแม่ลานคำ ก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อปี 2537 โดยคัดเลือกมาจากหย่อมบ้านละ 2 คน รวมทั้งหมด 10 คน มีหน้าที่รับผิดชอบด้านการดูแลจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในชุมชน เช่น การพิจารณาด้านการใช้ทรัพยากร (การสร้างบ้าน) ร่วมทำแผนที่จำแนกเขตป่าของแต่ละหย่อมบ้าน (ป่าใช้สอย ป่าพิธีกรรม ป่าหวงห้ามตามความเชื่อ ป่าอนุรักษ์ เขตพื้นที่อยู่อาศัย พื้นที่ทำกิน) ทำแนวกันไฟเพื่อป้องกันไฟป่า (เลี้ยงแนวกันไฟ) บวชป่าเพื่อคืนพื้นที่ป่าให้กับสิ่งเจ้าป่า ทำพิธีเลี้ยงผีน้ำเพื่ออนุรักษ์สัตว์น้ำ จัดเวรยามสำรวจแนวกันไฟในช่วงฤดูแล้ง รายงานสถานการณ์ด้านสิ่งแวดล้อมในการประชุมประจำเดือน ร่วมพิจารณาข้อพิพาทด้านการใช้ทรัพยากร ร่วมติดตามสถานการณ์นโยบายที่ส่งผลกระทบต่อชุมชนทั้งในระดับพื้นที่และนโยบาย เป็นต้น ปัจจุบันมี นายทิพอ ประกายนรินทร์ เป็นประธาน
ใช้ภาษาปกาเกอะญอเป็นหลักในการสื่อสาร มีบางคนที่สามารถอ่าน เขียนภาษาปกาเอะญอได้
เขตป่าสงวนแห่งชาติสะเมิง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ปกาเกอะญอ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.