ชุมชนชาวอิ้วเมี่ยน เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องเงิน ลายปักอิ้วเมี่ยน และผ้าย้อมครามที่โดดเด่น
ห้วยชมภูนั้นมาจากภาษาอิ้วเมี่ยน ซึ่งเรียกว่า "ห้วยจงปู๊" และภาษาจีนเรียกว่า ห้วยจงเป้า แปลว่า อัญมณี
ชุมชนชาวอิ้วเมี่ยน เชี่ยวชาญด้านการทำเครื่องเงิน ลายปักอิ้วเมี่ยน และผ้าย้อมครามที่โดดเด่น
ในปี พ.ศ. 2438 ทางหน่วยงานราชการเชียงรายได้เข้ามาสำรวจหมู่บ้าน เพราะเห็นว่าเป็นหมู่บ้านของชาวเมี่ยนที่อยู่มานานแล้ว
สมัยนั้นมีประมาณ 40 ครัวเรือน ประชากร 120 กว่าคน มีผู้นำคนแรกชื่อ "องกุ้น แซ่ลิ้ว" หลังจากนั้นลูกชายชื่ออ่งฮิน แซ่ลิ้ว ได้ขึ้นมาเป็นผู้นำต่อ
ในปี พ.ศ. 2514 มีการขอแยกตำบลแม่กรณ์ ออกมาเป็นตำบลห้วยชมภู มีทั้งหมด 5 หมู่บ้าน เป็นหมู่บ้านอิ้วเมี่ยน 3 หมู่บ้าน ในปีเดียวกันห้วยชมภูขอแบ่งเขตการปกครองใหม่ โดยมีหมู่บ้านทั้งหมด 6 หมู่ ดังนี้ หมู่ที่ 1 และหมู่ 2 เป็นหมู่บ้านเผ่าลีซู หมู่ที่ 3, 4, 5 และ 6 เป็นหมู่บ้านเผ่าอิ้วเมี่ยน
ชื่อหมู่บ้านจึงใช้ชื่อห้วยชมภูตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา และใช้เป็นชื่อตำบลด้วย ประชากรที่เข้ามาอยู่ที่บ้านห้วยชมภู มาจากสองสายหลัก คือ สายที่หนึ่งมาจากอำเภอเชียงของ จ.เชียงราย และสายที่สองมาจากอำเภอฝาง (อ่างขาง) จังหวัดเชียงใหม่ มีทั้งหมด 5 ตระกูล ได้แก่ตระกูลลิ้ว, จ๋าว, พ่าน, เติ๋นและปู๋ง
ลักษณะทางกายภาพ หมู่บ้านห้วยชมภูตั้งอยู่บนภูเขา เป็นที่สูง
- ชุมชนมีการช่วยเหลือเกื้อกูลกัน เช่น ทำพิธีกรรมร่วมกัน มีการเกี่ยวดองกันระหว่างสายตระกูลต่างๆ ผ่านการแต่งงาน นอกจากนี้ก็มีการแลกเปลี่ยนแรงงานกัน
- การสืบทอดมรดกและสืบทอดสายตระกูลจะส่งผ่านทางลูกผู้ชาย
- ในชุมชนมีกลุ่มวิสาหกิจเลี้ยงสุกร, ทำการเกษตร ทำสวนชา สวนลิ้นจี่ สวนกาแฟ
- บางส่วนออกไปรับจ้างต่างประเทศ เช่น ไต้หวัน เกาหลี และอิสราเอล
ชุมชนยังมีการสืบทอดประเพณีที่สำคัญ เช่น ประเพณีปีใหม่ สารทจีน การอยู่กรรม (วันหยุดตามความเชื่อ) เช่น กรรมเสือ, กรรมลม กรรมนก กรรมงู กรรมน้ำป่าไหลหลาก กรรมผีฟ้า, กรรมเซ็งเม้ง, กรรมเจ้าที่, กรรมแมลงบุ้ง นอกจากนี้ก็มีงานแต่งงาน งานบวช งานกงเต็กดั้งเดิม
ทุนมนุษย์
- ในชุมชนมีบุคคลที่มีความเชี่ยวชาญหลายด้าน เช่น การทำเครื่องเงิน ซึ่งสามารถยกระดับเป็นธุรกิจได้ บางส่วนเชี่ยวชาญการทำการเกษตร เช่น ทำสวนลิ้นจี่ สวนผลไม้ ฯลฯ
ทุนวัฒนธรรม
- ลายปักของเมี่ยนถือว่าเป็นเอกลักษณ์ที่โดดเด่น มีการปักผ้าเอาไปขายเป็นรายได้เสริม ทำกระเป๋า เสื้อผ้าทั้งแบบดั้งเดิมและแบบประยุกต์ นอกจากนี้เทคนิคการย้อมผ้าครามก็เป็นทุนที่น่าสนใจ
- ในชุมชนปัจจุบันใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร
- ภาษาจีนโบราณยังมีการใช้อยู่ โดยเฉพาะการบันทึกวันเดือนปีเกิดของบรรพบุรุษ และลูกหลานของแต่ละตระกูล รวมทั้งคัดลอกตำราที่จำเป็นต่าง ๆ เช่น ตำราการประกอบพิธีสวดเล็ก พิธีสวดใหญ่ พิธีบวช กงเต็ก เป็นต้น
- ในหมู่บ้านไม่มีปัญหาเรื่องสัญชาติ ทุกคนมีบัตรประชาชนสามารถเลือกตั้งได้ตามกฎหมาย มีการเลือกตั้งสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบล สมาชิกรัฐสภา ผู้ใหญ่บ้าน
วัฒนธรรมการแต่งกายของชาวอิ้วเมี่ยน
- ผู้หญิงการแต่งกายจะใช้ผ้าพันหัวยาว 6 เมตร ปักเป็นลายที่ส่วนหัวของผ้าทั้งสองด้าน เสื้อจะเป็นเสื้อแขนยาวประดับด้วยไหมพรมสีแดงตรงด้านหน้า กางเกงจะปักลายเต็มพื้นที่ด้านหน้าของผ้า ซึ่งมีหลายลวดลาย นอกจากนี้ก็มีเครื่องประดับเงินทั้งด้านหน้าและด้านหลัง รวมทั้งตุ้มหูด้วย ซึ่งมีราคาค่อนข้างสูง
- ผู้ชายจะใส่เสื้อคอจีน ติดกระดุมเงิน ปักลายเล็กน้อยตามความเหมาะสม
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์อิ้วเมี่ยน ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ: ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.