วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ป่าไม้สมบูรณ์ น้ำตกสวยงาม ลาบสมุนไพรเลื่องชื่อ ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ รักสงบ แบ่งปันเกื้อกูล
หมู่บ้านห้วยชมภู ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ 2470 หรือ 2472 ตั้งแต่นั้นมามีผู้นำหมู่บ้าน 2 คน มีผู้ใหญ่บ้าน 7 ท่าน ต่อมาปัจจุบันเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านห้วยชมภู เป็นหมู่บ้านดอยชมภู โดยพระณรงค์ฤทธิ์ อินต๊ะมา เป็นผู้เปลี่ยนชื่อหมู่บ้าน
วิถีชีวิตที่เรียบง่าย ป่าไม้สมบูรณ์ น้ำตกสวยงาม ลาบสมุนไพรเลื่องชื่อ ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ รักสงบ แบ่งปันเกื้อกูล
ชาติพันธุ์บีซู เดิมทีมีหมู่บ้านที่เรียกว่าห้วยชมภู ก่อตั้งขึ้นเมื่อประมาณปี พ.ศ 2470 หรือ 2472 ซึ่งก่อนมาตั้งถิ่นฐานในประเทศไทยได้มีการอพยพย้ายถิ่นมาจากประเทศจีน และกระจายกันไปตั้งถิ่นฐานที่ประเทศจีน (สิบสองปันนา) พม่า ลาว ไทย
โดยสิ่งที่ได้นำมาด้วยพร้อมกับการโยกย้าย คือ ภาษา วิถีชีวิต อาหาร และขนบธรรมเนียมประเพณีดั้งเดิม และได้ทำสืบทอดกันมาอย่างยาวนานจนถึงปัจจุบัน
ในปัจจุบัน หลายสิ่งได้เริ่มสูญหายไปและใกล้จะสูญหายไป เช่น ภาษาและวัฒนธรรมซึ่งเกิดจากการที่ถูกสังคมที่แวดล้อมและสถานการณ์ในปัจจุบันกลืนกินชุนชนบีซูได้มาตั้งรกรากถิ่นฐานที่ทางภาคเหนือของประเทศไทยประมาณหนึ่งร้อยกว่าปี
ในอดีต มีเหตุการณ์สำคัญที่เคยเกิดขึ้นในชุมชนโดยเกิดเหตุติดเชื้อจากการบริโภคหมูที่มีเชื้อโรคระบาดล้มป่วยเกือบทั้งหมู่บ้าน คนในหมู่บ้านบางส่วนถูกจับกุมจำคุกฐานลอบตัดต้นไม้ในเขตป่าไม้ มีการขัดแย้งกับชาวต่างชาติพันธุ์ที่อยู่บริเวณใกล้กันเพราะเหตุลักขโมยสัตว์เลี้ยง และเหตุแผ่นดินไหวจนบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างเสียหาย
ลักษณะที่ตั้งหมู่บ้านเป็นพื้นที่ราบสูงแวดล้อมไปด้วยป่าไม้ภูเขาด้านหลังหมู่บ้านมีภูเขาที่เป็นต้นน้ำลำธารที่ไหลผ่านพื้นที่ทำกินของชาวบ้านบีซูมีลำห้วยอยู่ 2 สาย คือ สายน้ำด้านฝั่งซ้าย และด้านฝั่งขวา ซึ่งลำห้วยด้านฝั่งขวาจะมีน้ำตกที่มีชื่อเรียกว่าน้ำตกตาดเหมย และมีพื้นที่ติดกับหมู่บ้านอื่นดังนี้
- ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่บ้านสันอุดมและบ้านห้วยส้านพลับพลา (คนเมือง)
- ทิศตะวันตก ติดกับ ภูเขาแหล่งต้นน้ำ (ลีซู)
- ทิศเหนือ ติดกับ เขตแดนของชนเผ่าอาข่า
- ทิศใต้ ติดกับ เขตพื้นที่ทำกินและป่าไม้ของบ้านเหมืองลึกที่เป็นคนเมืองสภาพทางภูมิอากาศเป็นป่าดิบชื้นซึ่งพื้นที่ทั้งหมดของหมู่บ้านบีซูมีประมาณ 2,938.917 ไร่
ในปัจจุบัน (พ.ศ. 2566) ชาติพันธุ์บีซูนั้นมีการตั้งถิ่นฐานอยู่กันเป็นกลุ่มบ้านเรือนจะนิยมสร้างติดกันโดยมีเพียงรั้วกั้นอาณาเขตของแต่ละครัวเรือนซึ่งมีจุดประสงค์ในการช่วยการสอดส่องเป็นหูเป็นตาให้กับเพื่อนบ้างด้วยกันจากเหตุร้ายต่าง ๆ
จากการสำรวจข้อมูลครัวเรือนนั้นปัจจุบันมีอยู่ 3 หมู่บ้าน 154 ครัวเรือน 435 คน รายละเอียดตามตารางการสำรวจดังนี้
ระบบตระกูลเครือญาติ
คนบีซูจะมีการจัดระบบเครือญาติการสืบทอดมรดกและสายตระกูลที่เกี่ยวข้องกันตามการสืบทอดสายโลหิตผ่านสายตระกูลฝ่ายบิดา
ส่วนการแต่งงานมักจะแต่งข้ามตระกูลจะไม่นิยมแต่งงานในตระกูลเดียวกันที่ใกล้ชิดทางสายเลือดและพี่น้องร่วมสายเลือดเพื่อไม่ให้ผิดประเพณีและเป็นการป้องกันไม่ให้เด็กที่เกิดมามีรูปร่างหน้าตาที่ผิดปกติจาการสืบเชื้อสายเดียวกัน
แต่ถ้าข้ามรุ่นถัดไปและเกิดจากพ่อที่แต่งกับแม่ต่างตระกูลก็จะสามารถแต่งกันได้แม้ว่าจะสืบตระกูลเดียวกันโดยจะให้ฝ่ายหญิงทำพิธีบอกกล่าวคืนชื่อตระกูลแล้วไปขอชื่อตระกูลอื่นก่อนแต่งงาน
ซึ่งคนบีซูนั้นมีชื่อตระกูลตามสายบิดาดังนี้ ตระกูล ช่าล่า (เสือ) ตระกูล ล้างซ้าม (นาก) ตระกูล ต้องจีลีด (ชื่อผู้นำตระกูล) ตระกูล แซนก่านทา (ชื่อผู้นำตระกูล) จากการสำรวจจึงได้ข้อมูลตระกูลตามตารางดังนี้
บีซูชาวบีซูมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมืองทั้งอย่างเป็นทางการและไม่เป็นทางการ ได้แก่ กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มจิตอาสา กลุ่ม ชรบ. กลุ่ม อปพร. กลุ่มงานประปาหมู่บ้าน กลุ่มกองทุนหมู่บ้าน กลุ่มปลูกพืชไร่และพืชสวน กลุ่มสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมือง กลุ่มเลี้ยงไก่ไข่
ชาวบีซูส่วนใหญ่มีอาชีพทางด้านการเกษตรมากกว่าอาชีพอื่น เช่น การปลูกข้าวโพด ถั่วเหลือง มันสำปะหลัง ลำไย ข้าว ที่เป็นพืชเชิงเดี่ยวตามการเปลี่ยนแปลงระบบเศรษฐกิจ และสังคมในปัจจุบันโดยมีการค้าขายแลกเปลี่ยนสินค้าทางการเกษตรกับภายนอก
ส่วนอาชีพเสริมนั้นคือการหาของป่า ล่าสัตว์ หาปลา และปลูกผักสวนครัวเพื่อการบริโภค และจำหน่ายเมื่อมีผลิตผลจำนวนมากทั้งภายในและภายนอก
ส่วนการออกไปทำงานนอกชุมชนนั้นส่วนมากจะเป็นวัยทำงานที่ต้องการหาอาชีพที่ดีกว่า และเพื่อชีวิตความเป็นอยู่ที่ดีขึ้นของตนเองและครอบครัวแต่ไม่ค่อยมีการเข้ามาทำงานในชุมชนของคนต่างถิ่น
มีองค์กรภายนอกและหน่วยงานของรัฐที่เขามาทำงานในชุมชนในรูปแบบโครงการและงานวิจัยต่าง ๆ เช่นการส่งเสริมป้องกันไฟป่า ส่งเสริมทำฝายชะลอน้ำ ส่งเสริมหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียง ส่งเสริมด้านสุขภาพอนามัย ส่งเสริมเรื่องการจัดการขยะอีกทั้งมีการถ่ายทำวิถีชีวิตประเพณีจากองค์กรและช่องรายการต่าง ๆ
กิจกรรมทางเศรษฐกิจ
ชาวบีซูในรอบปีนั้นมีการทำการเกษตรเพาะปลูกแบบเชิงเดี่ยวหมุนเวียนเพื่อการเลี้ยงชีพตนและครอบครัว โดยพืชหลักที่เพาะปลูกเพื่อการค้าขายและบริโภคนั้น คือ การปลูกข้าวโพด การปลูกถั่วเหลือง การปลูกข้าว การปลูกมันสำปะหลัง และการปลูกยางพารา ส่วนรองลงมาคือการเลี้ยงสัตว์จำพวก วัว หมู ไก่บ้าน ไก่ไข่ ส่วนไม้ผลคือ ลำไย แต่ไม้ผลชนิดอื่นนั้นปลูกเพื่อบริโภคในครัวเรือน
กิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนา
กิจกรรมทางสังคมประเพณีวัฒนธรรมและศาสนาของชาวบีซูนั้นจะมีกิจกรรมในรอบปีหลายกิจกรรมเกิดขึ้นซึ่งเป็นประเพณีและวัฒนธรรมที่สืบทอดกันมาตามบรรพชน และการนับถือปฏิบัติตามประเพณีวัฒนธรรมบางส่วนจากสังคมและภูมิภาคใกล้เคียง เช่น วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา วันเพ็ญเดือนสิบสอง วันสงกรานต์และอื่น ๆ
ซึ่งประเพณีที่สืบทอดกันมาตั้งแต่บรรพชนในรอบปีนั้นจะมีตามรายละเอียด ดังนี้
ประเพณีเซ่นไหว้บรรพชน
ในครอบครัวของชาวบีซูจะมีการนับถือผีบรรพชนและไม่นับถือผีบรรพชนส่วนครอบครัวที่นับถือผีบรรพชนก็จะมีการทำหิ้งไหว้ที่ในบ้านเพื่อเป็นการกราบไหว้ผีสายตระกูลของตนเองที่สืบมาโดยแบ่งออกเป็น 2 ส่วนตามรายละเอียดข้างต้นนี้
หิ้งบูชาผีบรรพบุรุษ มักจะทำไว้ตรงห้องนอนพ่อแม่ของครอบครัวนั้น ๆ ซึ่งจะทำไม้แบ่งกั้นอนาเขตศักดิ์สิทธิ์ไม่ให้คนนอกเข้าไปในห้องนั้นถ้าใครเข้าไปจะถือว่าเป็นการละเมิดสิทธิ์และผิดประเพณีหรือผิดผีนั้นเอง
หิ้งบูชาผีเตาไฟ (ยู้มแปง) มักจะทำไว้ตรงห้องครัวที่มีเตาไฟดินสี่เหลี่ยมซึ่งเชื่อกันว่ามีผีเตาไฟที่ปกป้องรักษาคนในครัวเรือนนั้นจึงมีการกราบไหว้เคารพผีเตาไฟด้วย
ดังนั้นเมื่อมีการกระทำผิดหรือสิ่งไม่ดีของคนในครอบครัวนั้นผีบรรพบุรุษและผีเตาไฟก็จะไม่พอใจ และมักจะลงโทษคนในครอบครัวนั้นให้เจ็บป่วยแบบเรื้อรังแม้จะทำการรักษาโดยวิธีแพทย์แบบปัจจุบันก็ไม่หาย
เมื่อเป็นเช่นนี้คนในครอบครัวก็จะไปหาผู้ทำนายประจำหมู่บ้านเพื่อหาสาเหตุและเมื่อพบว่าผีบรรพบุรุษไม่พอใจทำให้เกิดเหตุเช่นนี้ก็จะทำการรักษาโดยการนำหมูหนึ่งตัวมาเพื่อฆ่าเซ่นไหว้ซึ่งจะมีชาวบ้านมาร่วมช่วยงานด้วยพอหลังจากพิธีเซ่นไหว้เสร็จสิ้นลงอีกไม่กี่วันผู้ที่ป่วยก็จะมีอาการดีขึ้นและหายจากการเจ็บป่วยทันที
ประเพณีการเกิด
เมื่อผู้หญิงปวดท้องจะคลอดก็จะเอาผ้าขาวม้าหรือผ้ามาทำเป็นเชือกมัดไว้ที่คานหลังคาบ้านโดยมีคนทำคลอดที่เป็นคนแก่ที่ชำนาญการทำคลอดจะเป็นหญิงหรือชายก็ได้
เมื่อทำคลอดเสร็จแล้วคนทำคลอดก็จะเอาผิวไม้ไผ่ที่มีความคมมาตัดสายสะดือของทารกจากนั้นก็เอารกเด็กห่อในใบไม้เปาแล้วเอาไปผสมกับขี้เถ้านำไปฝังที่ใต้บันไดบ้านแล้วเอาน้ำอุ่นที่ต้มเตรียมไว้แล้วนั้นมาอาบให้กับเด็ก
จากนั้นก็เอาเด็กใส่กระด้งยกไปที่หน้าบันไดบ้านแล้วพูดว่า “เด็กคนนี้ถ้าเป็นของพ่อเกิดแม่เกิดให้มารับไปแต่ถ้าเลย 3 วัน 7 วันแล้วเด็กคนนี้ก็จะเป็นของเราอย่าเอาไป” แล้วให้แม่เด็กอาบน้ำอุ่นอยู่ไฟแล้วเอาข้าวเหนียวมาผสมกับน้ำอุ่นให้แม่เด็กกินเพื่อแก้ความอ่อนเพลียจากการคลอดบุตรและจะกินแบบนั้นไปทุกมื้ออาหาร
ตอนอยู่ไฟแม่เด็กจะไม่ออกจากบ้านและจะก่อไฟในเตาไว้ให้ความอบอุ่นอยู่ตลอดเวลาเมื่อคลอดได้ 3 วันแล้วเริ่มให้แม่กินอาหารที่ไม่เป็นของแสลงเพื่อผลิตน้ำนมให้แก่เด็กอาหารที่ให้กิน คือ ปลากั้ง หรือ ปลาช่อน 1 ตัว หวายป่า 1 ต้น หัวปลี 1 ลูก และใบมะเดื่อมาแกงรวมกันใส่พริก 1 เม็ดใส่เกลือลงไปด้วยกินทั้งพ่อ แม่ และเด็ก
พิธีการกินอาหารอย่างอื่นที่ไม่ใช่ของแสลงในตอนแรกพืชผักที่กินได้ คือ ใบที่ไม่มีขน ดอกจะต้องเป็นดอกที่เป็นสีขาวเท่านั้น ของที่มีกลิ่นฉุนนั้นจะไม่ให้กิน กินถั่วมันได้ ส่วนเนื้อก็จะเป็นปลาช่อน ปลากั้งแห้งเท่านั้น
ในตอนอยู่ไฟพ่อของเด็กก็จะเป็นคนซักผ้าทั้งหมดให้และจะเอาไพลมาหั่นเป็นวงกลมแล้วร้อยเป็นสร้อยคอมาสวมให้กับแม่เด็กเพื่อลดกลิ่นคาวและป้องกันผีเมื่อครบ 15 วันแล้วก็จะออกไปอาบน้ำที่ลำธารโดยจะเอาไม้ไผ่ที่สานแล้วเรียกว่า ตะแหลว ไปพร้อมกับผ้าเก้าที่เผาไฟที่มีแต่ควันและมีดถือไปด้วยจะอาบแบบนี้จนครบ 1 เดือน
เมื่อครบ 1 เดือนแล้วก็จะออกจากการอยู่ไฟจะทำพิธีผูกขวัญโดยต้มไก่ 1 ตัวทำการให้พรมัดมือให้กับเด็กและแม่จากนั้นแม่เด็กก็จะสามารถไปไหนได้ตามปกติ
ประเพณีบูชาบุตรคนแรก
เมื่อคนท้องลูกคนแรกจะต้องทำการบอกกล่าวและทำการเซ่นไหว้ถวายให้กับผีเสื้อบ้าน โดยก่อนวันถวาย 1 วัน คนในบ้านจะต้องไปตัดไม้อ้อ แล้วเอามาตัดเป็นท่อน ๆ ตามปล้องตามจำนวนครัวเรือนที่มีอยู่ในหมู่บ้าน จำนวนครัวเรือนละ 2 ปล้อง
ปล้องแรกบรรจุทรายจนเต็ม และปล้องที่ 2 ใส่น้ำให้เต็ม พอถึงตอนกลางคืนเวลาประมาณ 20.00-21.00น. ก็จะเอาปล้องที่ใส่ทรายออกมาโปรยที่หน้าบ้านและเอาปล้องที่ใส่น้ำไปเทที่หน้าบ้านทุกครัวเรือน เมื่อโปรยทรายและเทน้ำเสร็จก็จะบีบปล้องไม้อ้อจนแตกทิ้งไว้หน้าบ้านของทุกครัวเรือน
เมื่อวันรุ่งขึ้นชาวบ้านและคนในครอบครัวของคนที่ตั้งท้องก็จะไปกันที่หอศาลผีเสื้อบ้านแต่คนท้องจะไม่ไปร่วมด้วย ในการประกอบพิธีกรรมนี้ครอบครัวคนที่ตั้งครรภ์ก็จะเตรียมหมู 1 ตัว พร้อมเครื่องปรุง และผลไม้ ขนม ของหวาน ข้าวต้มมัดไป
เมื่อไปถึงผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะนำผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวาน ถวายก่อนและบอกกล่าวกับผีเสื้อบ้านว่า ‘วันนี้เป็นวันดีมีหมูมาถวายจึงขอพรให้คนที่ท้องนั้นมีความสุขมีลูกก็ขอให้ลูกคลอดออกมาครบ 32 ประการขอให้ได้เด็กที่เลี้ยงง่ายมีสุขภาพร่างกายที่แข็งแรง และตอนคลอดก็ขอให้คลอดลูกออกมาด้วยความปลอดภัย’
หลังจากนั้นก็ทำการฆ่าหมูช่วยกันชำแหละ แล้วนำเนื้อหมูไปลาบและแกง เมื่อแกงหมูสุกและลาบหมูเสร็จแล้วก็จะนำไปถวายที่หิ้งบูชาผีเสื้อบ้าน แล้วยกผลไม้ ข้าวต้มมัด และของหวานที่ได้ถวายก่อนหน้านี้ออกเพื่อแจกจ่ายให้ชาวบ้านร่วมกันรับประทานเป็นของว่าง
เมื่อถวายอาหารได้สักพักผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะขออนุญาตผีเสื้อบ้านเอาอาหารที่ถวายนั้นมาให้ชาวบ้านที่เข้าร่วมพิธีร่วมกันกินด้วยกันเป็นมื้อเที่ยงและเมื่อกินเสร็จแล้วก็จะช่วยกันทำความสะอาดเก็บข้าวของ
ผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะทำการบอกกล่าวขอพรให้กับตนเองและผู้เข้าร่วมพิธีเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรมเซ่นไหว้บุตรคนแรก
ประเพณีเซ่นไหว้บูชาผีเสื้อบ้าน (แด่ย่า แต่ง หรือ อางจาว ไว้)
ผีเสื้อบ้านของชาวบีซู คือ วิญญาณระดับสูงที่มีอำนาจในการกระทำให้เกิดสิ่งดีหรือสิ่งร้ายขึ้นมาได้ซึ่งผีเสื้อบ้านนี้จะทำหน้าที่ปกปักรักษาคุ้มครองผู้คนในหมู่บ้านบีซูให้อยู่อย่างเป็นสุขพืชผลสัตว์เลี้ยงอุดมสมบูรณ์
ผีเสื้อบ้านนี้จะมีบริวารและม้าขาวที่จะคอยรับใช้อยู่ดังนั้นในการประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชาผีเสื้อบ้านของชาวบีซูจะทำการประกอบพิธีเซ่นไหว้บูชาอยู่ 3 ครั้งคือเดือน 4 8 และ 12
ในรอบปี เมื่อใกล้ถึงวันประกอบพิธีเซ่นไหว้ผู้นำทางจิตวิญญาณ (ปู้ต้าง) ที่ผีเสื้อบ้านก็จะเป็นคนดำเนินการเลือกตามลำดับว่าครอบครัวใดจะได้เอาไก่เป็นมาถวาย
อีกหนึ่งครอบครัวที่จะได้เอาเหล้ามาถวายจากนั้นผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะเป็นคนกำหนดวันเวลาและประชาสัมพันธ์ให้ชาวบ้านรับรู้ทั่วถึงกันและในวันประกอบพิธีชาวบ้านจะหยุดทํางานกันทุกครัวเรือน
ดังนั้นเมื่อถึงวันประกอบพิธีในช่วงเช้าชาวบ้านก็จะนำของถวายเช่น ไก่ สุราขาว ข้าวต้มมัด ผลไม้ ของหวาน กรวยดอกไม้ (ส่วนใหญ่จะเป็นดอกไม้สีขาว) ธูป เทียน พริกหนุ่ม พริกแห้ง กระเทียม หอมแดง ขิงข่า ตะไคร้ เกลือ และอื่น ๆ ที่จำเป็นในการประกอบอาหาร
เครื่องเซ่นไหว้และพิธีการไปรวมกันไว้ที่ที่บ้านของผู้นำทางจิตวิญญาณหรือที่เรียกว่า ปู้ต้างจากนั้นตอนสาย ๆ หลังจากทานมื้อเช้าแล้ว ผู้นำทางจิตวิญญาณและตัวแทนของครอบครัวที่ถูกเลือกก็จะนำเอาสิ่งของต่าง ๆ ที่ใช้ในพิธีกรรมที่ชาวบ้านนำมาถวายรวมกันไปที่ศาลผีเสื้อบ้าน
พิธีเซ่นไหว้บูชาผีเสื้อบ้านครั้งที่ 1 (เดือน 4 ของบีซูจะช้ากว่าเดือนทางการไป 1 เดือน)
พิธีเซ่นไหว้บูชาในเดือน 4 จะมีตัวแทนจาก 5 ครอบครัวที่ถูกเลือกนำไก่ไปถวาย 5 คน คนละ 1 ตัว และตัวแทนจากครอบครัวที่ 6 อีกคนหนึ่งจะนำสุราขาว 1 ขวดไปถวาย
เมื่อไปถึงบริเวณศาลผีเสื้อบ้านผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะบอกกล่าวผีเสื้อบ้านให้รับรู้ก่อนหลังจากนั้นก็จะนำดอกไม้ ธูป เทียน ผลไม้ ข้าวต้มมัด ของหวาน ถวายเป็นสิ่งแรกก่อน
หลังจากนั้นก็จะทำการฆ่าไก่เพื่อนำไปต้ม และเมื่อไก่สุกแล้วไก่ที่จะถวายผีเสื้อบ้านที่ทำเครื่องหมายโดยการเอาตอกมัดตอนต้มก็จะแยกออกจากไก่เซ่นไหว้ที่เป็นของบริวารของผีเสื้อบ้าน
ไก่ที่ต้มถวายนั้นต้องมีครบสมบูรณ์ทั้งตัวแม้แต่หนังไก่ก็ไม่ให้หลุดออกมาในช่วงที่ทำการต้มนั้นเครื่องปรุงทุกอย่างจำพวก พริก ตะไคร้ข่า ขิง กระเทียม หอมแดง จะไม่ตำในครก ต้องหั่นหรือทุบใส่เท่านั้น ห้ามไม่ให้ชิมรสชาติแต่อย่างใดเพราะจะถือว่าการชิมนั้นเป็นการกินก่อนถวายไก่ต้มให้กับผีเสื้อบ้าน
เมื่อไก่ต้มใกล้สุก ผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะบอกกล่าวผีเสื้อบ้าน แล้วขออนุญาตยกผลไม้ ข้าวต้ม ของหวานที่ได้ถวายไว้ก่อนหน้านี้มาให้กับชาวบ้านที่ถูกเลือกให้มาร่วมงานพิธีได้กินกัน
เมื่อไก่ต้มสุก ก็จะยกไก่ต้มไปถวายแล้วรอสักพักใหญ่ แล้วผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะบอกกล่าวและเสี่ยงทายเก็บเมล็ดข้าวเพื่อดูว่าผีเสื้อบ้านรับของถวายและกินเสร็จแล้วเมื่อเก็บเมล็ดข้าวออกมาแล้วนับดูแล้วเป็นจำนวนคี่ ถือว่ายังกินไม่เสร็จแต่เมื่อรออีกสักพักแล้วจับเมล็ดข้าวดูถ้าเก็บได้จำนวนคู่ก็หมายความว่าผีเสื้อบ้านได้รับและกินเสร็จสิ้นแล้ว
จากนั้นผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะบอกกล่าวขออนุญาตยกลงมาให้ชาวบ้านได้รับประทานเป็นมื้อเที่ยงด้วยกัน ส่วนที่เหลือก็จะยกให้ผู้นำทางจิตวิญญาณนำเอากลับไปที่บ้าน
จากนั้นเมื่อเสร็จสิ้นพิธีกรรมต่างๆและกินเสร็จแล้วก็จะช่วยกันทำความสะอาดเก็บข้าวของและผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะทำการบอกกล่าวขอพรให้กับตนเองและผู้เข้าร่วมพิธีเป็นอันเสร็จสิ้นพิธีกรรมเซ่นไหว้ผีเสื้อบ้าน
พิธีเซ่นไหว้บูชาผีเสื้อบ้านและซามาล้าแกนครั้งที่ 2 (เดือน 8 ของบีซูจะช้ากว่าเดือนทางการไป 1 เดือน)
พิธีเซ่นไหว้บูชาในเดือน 8 (ระหว่างเดือนพฤษภาคมถึงเดือนมิถุนายน) มีขั้นตอนเหมือนกับการไหว้ผีเสื้อบ้านในเดือน 4 แต่ต่างกันตรงที่ในเดือน 8 จะมีการเซ่นไหว้บูชาอยู่ 2 แห่ง แห่งแรกคือที่หอศาลผีเสื้อบ้าน จะมีผู้ไปร่วมพิธี 10 คน โดยให้ 9 คนจากครอบครัวที่ถูกเลือกนำไก่มาถวายคนละ 1 ตัว ส่วนอีกคนจะเป็นผู้นำสุราขาวไปถวาย 1 ขวด
แห่งที่ 2 คือ หอศาล ซามาล้าแกน จะเป็นผู้ที่ปกปักดูแลคุ้มครองประตูสี่ทิศของหมู่บ้านซึ่งหอศาลแห่งนี้จะตั้งอยู่ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านและรายละเอียดของพิธีกรรมนี้จะเป็นในส่วนของหอผีซามาล้าแกน
ดังนั้นเมื่อถึงวันประกอบพิธีเซ่นไหว้ในส่วนของผู้นำทางจิตวิญญาณอีกคนที่เรียกว่า อุ่ม ก็จะขอแบ่งไก่จากผู้นำทางจิตวิญญาณที่มีชื่อว่า ปู้ต้าง จำนวน 4 ตัว และให้ชาวบ้านประมาณ 3-4 คน มาช่วยกันประกอบอาหารต้มไก่ 4 ตัว
เมื่อทำอาหารหรือต้มไก่สุกแล้วผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะยกไก่ต้มถวายพร้อมกับจุดธูปเทียนบอกกล่าวผีซามาล้าแกนให้มารับของเซ่นไหว้หลังจากนั้นเมื่อรอจนธูปเทียนไหม้หมดแล้วผู้นำทางจิตวิญญาณก็จะบอกกล่าวขออนุญาตนำของเซ่นไหว้ลงและแบ่งให้กับผู้ที่ถูกเลือกให้มาร่วมงานพร้อมกับขอพรก่อนกลับเป็นอันเสร็จพิธีกรรม
การสร้างประตูไม้ไว้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้านนั้นเพื่อป้องกันภูตผีปีศาจมารบกวนโดยผีที่ปกปักรักษาคุ้มครองที่มีชื่อเรียกว่า “ซามาล้าแกน” ในสมัยก่อนชุมชุนของคนที่ยังไม่หนาแน่น คนที่ปลูกบ้านก็มักจะปลูกในประตูไม้ทั้ง 4 ทิศของหมู่บ้านแต่ในปัจจุบันเมื่อผู้คนเพิ่มจำนวนมากขึ้นแต่พื้นที่มีจำกัดบ้านหลายหลังจึงต้องมาปลูกนอกเขตประตู แต่ยังคงรักษาพื้นที่บริเวณประตูทั้งสี่ทิศเอาไว้และมีพิธีทำความสะอาด ซ่อมแซม ปรับปรุงประตูทุกเดือน 4 ของปี
พิธีเซ่นไหว้บูชาผีเสื้อบ้านและซามาล้าแกนครั้งที่ 3 (เดือน 12 ของบีซูจะช้ากว่าเดือนทางการไป 1 เดือน)
พิธีเซ่นไหว้ผีเสื้อบ้านในครั้งนี้จะตรงกับเดือน 12 ของบีซู (พฤศจิกายน) ซึ่งขั้นตอนก็เหมือน การไหว้ในเดือน 4 มีจะมีตัวแทนจาก 5 ครอบครัวที่ถูกเลือกนำไก่ไปถวาย 5 คน คนละ 1 ตัว และตัวแทนจากครอบครัวที่ 6 อีกคนหนึ่งจะนำสุราขาว 1 ขวดไปถวายครั้งนี้จะเป็นพิธีสำคัญที่ทุกครอบครัวจะต้องมีส่วนร่วมและเข้าร่วมพิธีกรรมซึ่งการถูกเลือกให้เอาไก่ และเหล้าไปถวายนั้นจะทำหมุนเวียนกันไปเรื่อย ๆ จนครบทุกครอบครัวในหมู่บ้าน
รายละเอียดของพิธีกรรมนี้ ทั้งการเตรียมอาหาร และขั้นตอนในการไหว้บอกกล่าว ขอพรผีเสื้อบ้านจะเหมือนกันกับการไหว้ผีเสื้อบ้านครั้งที่ 1
การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภัยพิบัติในรอบปี
ในรอบปีที่ผ่านมามีการเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภัยธรรมชาติ ดังนี้
ปัญหาไฟป่า
มักจะเกิดขึ้นเป็นประจำเมื่อเข้าสู่ฤดูแล้ง ช่วงเดือนมีนาคมถึงกลางเดือนพฤษภาคม โดยสาเหตุเกิดมาจากภาวะโลกร้อนเกิดการเสียดสีของไม้แห้งก่อให้เกิดไฟไหม้ป่า
รวมถึงจากการกระทำของมนุษย์ เช่น การหาของป่าและด้วยความคึกคะนองจนก่อให้เกิดผลและความเสียหายของป่าไม้ธรรมชาติเป็นบริเวณกว้างเสียหายต่อป่าไม้แหล่งต้นน้ำใช้สอยของชุมชนทั้งระบบประปาและระบบการเกษตร
ปัญหาภัยแล้ง
เมื่อเข้าสู่ช่วงฤดูร้อนชุมชนบีซูก็ได้รับผลกระทบจากภัยแล้งเกิดภาวะแหล่งน้ำลำธารตื้นเขินและแหล่งน้ำระบบประปามีน้ำที่แห้งลงแต่ก็ยังมีพอสำหรับการอุปโภคบริโภคและการเกษตรส่วนในอนาคตอาจจะเกิดวิกฤตภัยแล้งที่รุนแรงก็ได้ซึ่งจะเป็นสิ่งที่คนในชุมชนจะต้องช่วยกันป้องกันและแก้ไขกันต่อไป
ปัญหาน้ำหลาก
เมื่อเข้าสู้ฤดูฝนในช่วงเดือนสิงหาคมถึงเดือนกันยายนก็มักจะเกิดน้ำป่าใหลหลากพื้นที่นาและการเกษตรที่อยู่ติดกับลำธารถูกน้ำหลากกัดเซาะตลิ่งและท่วมพื้นที่ทางการเกษตรอีกทั้งยังก่อให้เกิดเส้นทางแม่น้ำที่เปลี่ยนแปลงไปจากเดิมซึ่งทางชุมชนก็ได้ขอความช่วยเหลือจากหน่วยงานของรัฐมาช่วยในการขุดลอกลำธารเพื่อป้องกันภัยน้ำหลากและเปลี่ยนทิศทางน้ำ
ปัญหาแมลงศัตรูพืช
เมื่อเกิดการเปลี่ยนแปลงของสภาพอากาศและสิ่งแวดล้อมชุมชนเผ่าพื้นเมืองบีซูก็ได้รับผลกระทบจากภัยแมลงศัตรูพืชที่ก่อปัญหาทำลายพืชผลทางการเกษตรจนเสียหายสิ่งที่ชาวบ้านทำได้ก็คือการนำผลิตภัณฑ์เคมีกำจัดแมลงศัตรูพืชมาใช้เพื่อกำจัดพวกแมลงแต่สิ่งที่ตามมาคือสารเคมีตกค้างในผลผลิตทางการเกษตรและตกค้างในร่างกายส่งผลกระทบต่อสุขภาพร่างกายของคนในชุมชนในระยะยาวซึ่งนี่จะเป็นปัญหาที่ต้องแก้ไขกันต่อไป
ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันมีปราชญ์ที่มีความชำนาญหลายแขนง ทั้งด้านการทำคลอด ด้านสมันไพร ด้านงานฝีมือและจักสาน ด้านพิธีกรรม แต่ในปัจจุบันปราชญ์ที่ชำนาญได้เสียชีวิตไปโดยไม่มีการสืบทอดจากคนรุ่นหลังจะเหลือแต่ปราชญ์ทางด้านงานฝีมือจักสานและสมุนไพรที่ยังหลงเหลืออยู่ดังนั้นทางชุมชนบีซูจึงนำเอาประวัติชีวิตของปราชญ์ชาวบ้านที่ยังคงหลงเหลืออยู่บางส่วนมาเขียนบันทึกไว้
นายอุ่นเรือน วงค์ภักดิ์ดี
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2498 อาศัยอยู่หมู่ 7 ต.โป่งแพร่ อ.แม่ลาว จ.เชียงราย
ท่านเป็นบุคคลหนึ่งที่มีใจในการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมของชนเผ่าของตนเอง อีกทั้งยังมีความรอบรู้ชำนาญในเรื่องราวประวัติชนเผ่าบีซู มีความรอบรู้เรื่องการจักสานงานฝีมือจากไผ่ การทำไม้กวาดดอกหญ้า สมุนไพรต่าง ๆ
ตลอดเวลาที่ผ่านมาได้ทำหน้าที่และการงานต่าง ๆ ในครอบครัวและหมู่บ้านมาด้วยดี ซึ่งประวัติที่ผ่านมาตั้งแต่เล็กจนโตนั้น นายอุ่นเรือน วงค์ภักดิ์ดี ได้บรรพชาเป็นสามเณรประจำอยู่ที่วัดดอยชมภูในช่วงวัยรุ่น
จากนั้นก็ได้ลาบวชมาใช้ชีวิตตามปกติของชาวบ้านทั่วไป ต่อมาก็ได้แต่งงานสร้างครอบครัวและมีการสร้างบ้านใหม่เป็นของตนเอง จากนั้นก็ได้รับคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งเป็นกรรมการทรงคุณวุฒิสภาตำบล และต่อมาก็ได้รับการคัดเลือกเป็นผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้านเพื่อเก็บเกี่ยวประสบการด้านการปกครอง
หลังจากนั้นจึงได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน เมื่อทำงานจนครบวาระ ก็ได้ออกไปทำงานที่กรุงเทพฯ จากนั้นก็มีโอกาสได้ไปทำงานต่อที่ประเทศมาเลเซียระยะหนึ่ง หลังจากที่กลับมาจากทำงานต่างประเทศมาอยู่ที่บ้านได้สักระยะหนึ่ง ก็ได้รับการคัดเลือกให้มาดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลโป่งแพร่
นายอุ่นเรือนได้รับการคัดเลือกให้ดำรงตำแหน่งนี้ติดต่อกันถึงสองสมัย จนในที่สุดเมื่อครบวาระ ก็ได้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้ใหญ่บ้านอีกครั้งจนครบวาระ
ทุนกายภาพ
หมู่บ้านบีซูนั้นมีภูเขาป่าไม้ที่ยังอุดมสมบูรณ์แบบป่าดิบชื้น มีน้ำตกในเขตพื้นที่ป่าของหมู่บ้านมีแม่ลำธารที่ไหลมาจากน้ำตกเป็นที่พักผ่อนและหล่อเลี้ยงชาวบ้านบีซูและละแวกใกล้เคียงที่ลำธารไหลผ่าน
มีการปลูกพืชผักสวนครัว พันธุ์ไม้ผลต่าง ๆ และยังมีการเลี้ยงไก่บ้านเพื่อการบริโภคในครัวเรือน
ทุนมนุษย์
หมู่บ้านบีซูยังมีปราชญ์ชาวบ้านที่ยังคงหลงเหลืออยู่ เช่น ผู้เชี่ยวชาญทางด้านจักสานและงานฝีมือ ด้านพิธีกรรมทางศาสนา ด้านผู้นำทางจิตวิญญาณ ด้านยาสมุนไพร ด้านผู้อาวุโสที่มีความรู้ความจำในเรื่องราวประวัติชาวบีซู นิทาน ตระกูลต่าง ๆ ของบีซู ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน สมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล ผู้เชี่ยวชาญวิจัยด้านโครงสร้างภาษาบีซูและการเขียนการอ่านภาษาบีซูที่ถูกต้องตามมาตรฐานของราชบัณฑิตยสภา
อีกทั้งการเก็บรวบรวมคำศัพท์ภาษาบีซูไว้ กลุ่ม ชรบ. กลุ่มแม่บ้าน คณะกรรมการสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย กรรมการประปาหมู่บ้าน ปราชญ์ด้านการแสดงร่ายรำและการประดิษประดอยแขนงต่าง ๆ กลุ่มผู้สูงอายุ ส่วนกลุ่มเยาวชนนั้นยังไม่มีการจัดตั้งแต่จะมีการจัดตั้งต่อไปเพื่อชุมชนที่เข้มแข็งในอนาคต
ทุนวัฒนธรรม
มีการอนุรักษ์ประเพณีวัฒนธรรมไว้ เช่น กิจกรรมทางศาสนา การเลี้ยงผีเสื้อบ้านที่ศาลผีเสื้อบ้านประจำหมู่บ้าน การบูชาขอพรต่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์เสาหลักหมู่บ้านบริเวณกลางหมู่บ้าน พิธีกรรมบุตรคนแรก พิธีกรรมสู่ขวัญ พิธีกรรมเลี้ยงผีป่าปีเร่ร่อนเมื่อเจ็บป่วย การรดน้ำขอพรผู้อาวุโสในหมู่บ้าน ซึ่งกิจกรรมเหล่านี้ยังเป็นทุนที่มีอยู่และทำสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบันโดยการดำเนินพิธีกรรมของปราชญ์ที่เป็นผู้นำทางจิตวิญญาณ มัคนายก ผู้อาวุโส พระสงฆ์
ทุนเศรษฐกิจ
ชาวบ้านบีซูจะมีทุนทางการเงินที่เข้าถึงได้เช่น กองทุนกู้ยืมเพื่อการศึกษา กองทุนหมู่บ้านเพื่ออาชีพการงาน ธนาคารต่าง ๆ สหกรณ์เครดิตยูเนี่ยน ซึ่งรายได้ของชาวบ้านทางการเงินนั้นส่วนมากได้มาจากทางการเกษตรและอื่น ๆ รองลงมาและมีทุนทางด้านอุปกรณ์ในการเกษตรและการทำงานตามอาชีพของตนและมีเครื่องทุ่นแรงในการทำการเกษตรเป็นต้น
ทุนสังคม/การเมือง
ชาติพันธุ์บีซูมีการติดต่อกับสังคมภายนอกและมีส่วนกับทางราชการและองค์กรอิสระ ที่สำคัญชาวบีซูมีโครงสร้างทุนทางสังคม เช่น ระบบการปกครองแบบท้องถิ่นที่มีสมาชิกองค์การบริหารส่วนตำบลที่เลือกมาจากชาวบ้านให้เป็นตัวแทนแก้ไขปัญหาต่าง ๆ ในหมู่บ้าน
มีผู้ใหญ่บ้านและผู้ช่วยที่ขับเคลื่อนหมู่บ้านเพื่อการพัฒนาที่ดีต่อไป มีสมาชิกสภาชนเผ่าพื้นเมืองแห่งประเทศไทย มีกรรมการที่ทำงานร่วมกับวัฒนธรรมจังหวัดขับเคลื่อนเผยแพร่ประเพณีและวัฒนธรรมชนเผ่าในงานต่าง ๆ ของจังหวัดที่เกี่ยวข้อง
ชาวบีซูมีภาษาพูดเป็นของตนเองที่ใช้พูดคุยสื่อสารกันในกลุ่มมาอย่างยาวนาน ซึ่งในปัจจุบันได้มีการพัฒนาภาษาด้านการสะกดการเขียนอ่านที่ผ่านมาตรฐานจากราชบัณฑิตยสภา โดยมีการใช้อักษรไทยในการเขียน
ส่วนบีซูในประเทศพม่านั้นใช้อักษรโรมันในการเขียนอ่านแต่ที่ลาวยังไม่มีการจัดทำระบบการเขียนเป็นของตนเอง
ในปัจจุบัน สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชนนั้นเริ่มถูกกลืนจากภาษาอื่นที่ใกล้เคียง เช่น ภาษาเหนือไทยวน ภาษาไทยซึ่งจะส่งผลกระทบต่อการสูญหายของภาษาต่อไปในอนาคตจึงจำเป็นที่ต้องจัดทำเก็บรวบรวมคำศัพท์ นิทาน หนังสือ สื่อการสอนต่าง ๆ ทั้งรูปแบบอักษรและเสียงไว้เพื่อผู้ที่สนใจศึกษาในอนาคต
ในส่วนของวัตถุทางวัฒนธรรมนั้นยังมีเก็บหลงเหลืออยู่ เช่น ใบลานคัมภีร์และพระพุทธรูปเก่าแก่ซึ่งจะเป็นสิ่งที่ทางหมู่บ้านจะต้องช่วยกันรวบรวมเก็บไว้อย่างเป็นระบบถูกต้องให้คงอยู่ต่อไป
ประชากรของชาวบีซูนั้นค่อนข้างจะขยายเติบโตช้า ด้วยเหตุที่ว่าไม่ค่อยมีการแต่งงานกันในกลุ่มชนเผ่าเดียวกันมักจะแต่งงานกับคนภายนอก และไปอยู่ที่อื่นซึ่งอาจมีผลต่อจำนวนประชากรที่เหมาะสมในอนาคต
ความสัมพันธ์ของชาวบีซูในชุมชนนั้นได้ลดลงเรื่อย ๆ ตามกาลเวลาเพราะขาดการปลูกฝังจากพ่อแม่ที่จะสร้างความสัมพันธ์ต่อกันในชุมชนเนื่องจากไม่มีเวลาจากการทำงานอีกทั้งความสามัคคีในชุมชนที่ลดน้อยลงแบ่งฝ่ายพรรคพวกกัน สาเหตุมาจากความขัดแย้งกันของตระกูลต่าง ๆ ที่ต้องแข่งขันกันทีจะเลือกคนของตระกูลตัวเองมาเป็นตัวแทนของหมู่บ้าน
ด้านสิทธิพลเมืองและสถานะบุคคลนั้นมีการได้รับสิทธิอย่างทั่วถึงตามปกติ ระบบสาธารณูปโภคอยู่ในระดับที่พอใช้ มีระบบประปาที่ผ่านการกรองโดยการสนับสนุนจากหน่วยงานภาครัฐและมีการเข้าถึงทางด้านการศึกษาอย่างทั่วถึง
พื้นที่ทำกินพื้นที่ทำประโยชน์นั้นชาวบีซูยังมีปัญหาทางด้านกรรมสิทธิ์ที่ไม่ได้ครอบครองเป็นของตนเองมีส่วนน้อยที่มีโฉนดที่ดินที่ถูกต้อง
ชาวบีซูในปัจจุบันนี้มีการวิ่งตามระบบเศรษฐกิจภายนอกและแข่งขันกันในด้านเศรษฐกิจอย่างมากเพราะต้อนดิ้นรนทำมาหากินหาเงินเพื่อปากท้องและครอบครัวจนก่อให้เกิดปัญหาต่าง ๆ เช่น ครอบครัวไม่มีเวลาให้ต่อกันต่างคนต่างทำหน้าที่จนระบบครอบครัวอ่อนแอสุขภาพร่างกายย่ำแย่จากการทำงานหนักไม่มีการพักผ่อนที่เหมาะสมและร่างกายได้รับสารพิษจากสารเคมีทางการเกษตรต่าง ๆ แม้ว่าการเข้าถึงระบบสาธารณสุขตามสถานีอนามัยและโรงพยาบาลของชาวบีซูนั้นจะสะดวกก็ตาม อีกทั้งในสังคมบีซูบางส่วนนั้นมีปัญหาทางด้านสุขภาพหลายอย่าง เช่น ผู้ป่วยเรื้อรังเบาหวานความดัน ผู้ติดสุราและอื่น ๆ
ปัญหาการติดโทรศัพท์มือถือ และการติดเกมของวัยรุ่น
คนรุ่นใหม่จะไม่ค่อยสนใจวัฒนธรรมประเพณี
การจัดการระบบสิ่งแวดล้อมในหมู่บ้านได้ไม่ดีพอ เช่น การจัดการขยะในครัวเรือนต่าง ๆ อย่างเป็นระบบ
ลุ่มน้ำกก
ป่าแม่ลาว (ฝั่งขวา)
หน่วยจัดการต้นน้ำแม่ส้าน
พื้นที่ ส.ป.ก.
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์บีซู ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.