หน้าบ้านสะอาด อากาศแจ่มใส กิ๋นผักปลอดภัย ม๋วนใจ๋ตี้สันทางหลวง
อดีตมีชื่อว่าบ้านสันขยีคลาย มาเป็นสันคายี เนื่องจากบริเวณนี้มีต้นคาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เดิมมีผู้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ 7 หลังคาเรือน ต่อจากนั้นมาก็มีผู้คนอพยพย้ายตามมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2468 ได้มีการแต่งตั้งผู้นำขี้นมาปกครองหมู่บ้าน โดยมีนายอูน วิเตกาศ เป็นผู้นำคนแรกและตั้งชื่อหมู่บ้านใหม่ว่า "บ้านสันทางหลวง" ดังปัจจุบัน
หน้าบ้านสะอาด อากาศแจ่มใส กิ๋นผักปลอดภัย ม๋วนใจ๋ตี้สันทางหลวง
คนยองเป็นกลุ่มคนที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ใน "เมืองยอง" ซึ่งตั้งอยู่ปลายสุดของรัฐฉานด้านตะวันออก ห่างจากดินแดนแม่สายไปทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือราว 157 กิโลเมตร ปัจจุบันเป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดเชียงตุง ประเทศพม่า
คนในเมืองยองมีเชื้อสายทางชาติพันธ์ุไทลื้อที่มาจากเมืองเชียงรุ่ง สิบสองปันนา หากแต่เรียกตัวเองว่า "ไตเมิงยอง" ซึ่งเป็นการแสดงออกถึงการจัดจำแนกตัวตนในถิ่นฐานบ้านเกิด ประเพณีและพิธีกรรมต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการนับถือศาสนาต่างยึดมั่นในพระพุทธศาสนาแบบจารีตล้านนาหรือพุทธศาสนานิกายเถรวาท เป็นสายใยที่ทำให้ ไทลื้อ และไทยวนครอบคลุมทั่วทั้งบริเวณแม่น้ำคงคา แม่น้ำโขงตอนกลาง แม่น้ำกก และแม่น้ำปิงตอนบน
มีข้อสันนิษฐานว่าเมืองยองถูกสร้างขึ้นราว ๆ พุทธศตวรรษที่ 19 สมัยพระเจ้าสุนันทะการสถาปนาอำนาจของไทลื้อเชียงรุ่งในเมืองยอง ในอดีตเป็นอิสระปกครองตนเองมีเจ้าหลวงเมืองยองเป็นผู้ปกครอง
ด้วยสภาพภูมิประเทศที่เป็นพื้นที่ราบล้อมรอบด้วยภูเขาคล้ายเมืองเชียงใหม่ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่ในเส้นทางการค้าทั้งทางบกและทางน้ำ จึงไม่สามารถขยายตัวและพัฒนาเป็นเมืองที่เข้มแข็งและมั่นคงพอที่จะสถาปนาตนเองเป็นศูนย์กลางอำนาจได้
ต่อมาเกิดจุดเปลี่ยนที่สำคัญจากการเสื่อมอำนาจของพม่า ดินแดนล้านนาเกิดฟื้นฟูหัวเมือง ช่วงเวลานั้นเต็มไปด้วยสงครามการกวาดต้อนผู้คน โดยเฉพาะการรื้อฟื้นเมืองเชียงใหม่และลำพูนของพระเจ้ากาวิละ ที่กำหนดนโยบายที่นำไปสู่การอพยพชาวยองจากเมืองยองมาเมืองลำพูน ในปี พ.ศ. 2348
เมื่อวันเวลาผ่านไป คนยองที่ย้ายไปเมืองลำพูน ได้รวมตัวกันเพื่อที่จะกลับมายังถิ่นฐานเดิมส่วนใหญ่แล้วเป็นชาวบ้าน บ้านทาหมูเปิ้ง บ้านป่าตั๋น บ้านเหมืองลึก บ้านธิ บ้านทาปลาดุก บ้านเหมืองจี้ และหมู่บ้านใกล้เคียง ในจังหวัดลำพูนพากันเดินกลับเพื่อที่จะกลับไปยังสิบสองปันนาถิ่นฐานเดิม
แต่เมื่อมาถึงยังบริเวณเวียงหนองล่ม ซึ่งเรียกว่าตำบลจันจว้าในปัจจุบัน จึงหยุดพักการเดินทางประกอบกับบริเวณนี้มีสภาพพื้นที่อุดมสมบูรณ์เหมาะแก่การเพาะปลูก จึงตัดสินใจตั้งถิ่นฐานอยู่ที่นี่ และสร้างเมืองกันขึ้นมาใหม่
โดยหมู่บ้านสันทางหลวง อดีตมีชื่อว่าบ้านสันขยีคลาย มาเป็นสันคายี เนื่องจากบริเวณนี้ มีต้นคาอยู่เป็นจำนวนมาก แต่เดิมมีผู้ย้ายมาตั้งถิ่นฐานอยู่ 7 หลังคาเรือน ต่อจากนั้นมาก็มีผู้คนอพยพย้ายตามมาเรื่อย ๆ จนกลายมาเป็นหมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2468 ได้มีการแต่งตั้งผู้นำขี้นมาปกครองหมู่บ้าน โดยมีนายอูน วิเตกาศ ได้มาเป็นผู้นำคนแรก และได้ตั้งชื่อหมู่บ้านว่า บ้านสันทางหลวงเหมือนดังปัจจุบัน
บ้านสันทางหลวง ตั้งอยู่ที่ หมู่ที่ 12 ต.จันจว้าใต้ อ.แม่จัน จ.เชียงราย 57270
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับบ้านป่ากุ๊ก
- ทิศตะวันออก ติดกับบ้านป่าบงหลวง
- ทิศใต้ ติดกับบ้านสันหลวงเหนือ
- ทิศตะวันตก ติดกับบ้านแม่คำฝั่งมิ่น
เนื่องจากบริเวณนี้มีทางเข้ามายังตัวหมู่บ้านเป็นสันขนาดใหญ่ กว้างขวาง และมีเส้นทางที่สะดวกสบาย กว้างขวาง เมื่อผู้คนย้ายถิ่นฐานเข้ามาอย่างต่อเนื่องจากที่รกร้างและป่า
ได้มีการสร้างวัด โรงเรียน ขึ้นมาในหมู่บ้าน เพื่อให้ได้ศึกษาเล่าเรียน แต่ปัจจุบันโรงเรียนได้ยุบไป และตัวอาคารกลายมาเป็นศูนย์การเรียนรู้ และอาคารอเนกประสงค์แทนที่รกร้างก็กลายมาเป็นที่นาและไร่สวน ดังที่เห็นในปัจจุบัน
- ด้านสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาอำเภอแม่จัน มีน้ำใช้โดยระบบประปาหมู่บ้าน
- ด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลจันจว้าใต้
- บ้านสันทางหลวง หมู่ที่ 12 มีสมาชิกตามทะเบียนราษฎร์ 128 ครัวเรือน
- ประชากรทั้งหมดจำนวน 469 คน แบ่งเป็นชาย 245 คน และหญิง 224 คน
บ้านสันทางหลวงได้พัฒนาอย่างต่อเนื่อง พร้อมยกระดับให้เกิดความเข้มแข็ง เพื่อให้มีความเป็นเอกภาพในการดำเนินงานและการบริหารจัดการ จึงได้มีการจดทะเบียนวิสาหกิจชุมชน ได้แก่
- กลุ่มทำปุ๋ย
- กลุ่มปลูกผักอินทรีย์
- กลุ่มทอผ้า
- กลุ่มปักผ้า
- กลุ่มการแสดง
- กลุ่มออมทรัพย์
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
การจัดกิจกรรมเนื่องในวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา อาทิ วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหาบูชา วันเข้าพรรษา วันธรรมสวนะ กิจกรรมสวดมนต์ข้ามปี
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
บ้านสันทางหลวงเป็นแหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรม และยังมีจุดเด่นเกี่ยวกับวิถีชาวไทยอง ที่มีเอกลักษณ์โดดเด่นรวมถึงเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ในประเทศไทยอีกกลุ่มหนึ่งที่มีประวัติเก่าแก่
ด้วยความโดดเด่นด้านประวัติศาสตร์ และวัฒนธรรมประเพณีคนยองที่มีเอกลักษณ์ ปัจจุบันได้รับการส่งเสริมเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงเกษตรกับวิถีชุมชน โดยชุมชนเป็นผู้บริหารจัดการการท่องเที่ยวเอง
บ้านสันทางหลวงยังยึดวิถีดังกล่าวไว้เพราะชาวบ้านมีรายได้ นอกจากมีอาชีพทำนา ทำงานจักสาน ยังมีรายได้เพิ่มขึ้นจากการท่องเที่ยว ทั้งการนำเที่ยว การเปิดบ้านให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาพัก บ้านสันทางหลวงมีบ้านพักแบบโฮมสเตย์ไว้บริการนักท่องเที่ยว
นอกจากนี้ยังมีกิจกรรมต่าง ๆ ที่แสดงถึงวิถีคนยองให้นักท่องเที่ยวได้เข้ามาสัมผัสและเรียนรู้ เช่น เมนูอาหารคนยอง การฟ้อนรำสไตล์ยอง บ้านสันทางหลวงพยายามอนุรักษ์เรื่องราวที่สะท้อนและแสดงความเป็นตัวตนคนยองเอาไว้ให้มากที่สุด
1.นางสังเวียน ปรารมภ์
ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้าน หมู่ 12 บ้านสันทางหลวง
เป็นผู้มีความรู้ มีประสบการณ์ และมีบทบาทสำคัญในการบริหารและจัดการการท่องเที่ยวโดยชุมชน ความเชี่ยวชาญภูมิปัญญาด้านปรัชญา ศาสนา และประเพณี (การจัดทำเครื่องสักการะ การจัดงานต้อนรับอาหารแบบขันโตกอาหารชาติพันธุ์ไทยอง)
จุดเด่น คือ การฟื้นฟูวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ของไทยอง เช่น อาหาร การแต่งกาย ภาษาพูด ส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ไทยองจนไปสู่หมู่บ้านท่องเที่ยวชุมชน การจัดทำเครื่องสักการะ เช่น ตุงล้านนา โคมล้านนา การตัดลายล้านนา เครื่องสูง (เครื่องสูง หมายถึง เครื่องสักการะของคนล้านนาจะใช้ในพิธีต่าง ๆ เช่น งานบุญ งานศพ ประกอบด้วย สุ่มหมาก สุ่มพลู สุ่มช่อ เป็นต้น)
ผลงานโดดเด่นของครูสังเวียน เป็นผู้รักด้านวัฒนธรรมประเพณีของชาติพันธุ์ไทยอง อย่างเช่น อาหาร การแต่งกาย ภาษาพูด และส่งเสริมวัฒนธรรมประเพณี วิถีชีวิต ความเป็นอยู่ของชาติพันธุ์ของไทยอง มีบุคลิกชอบจิตอาสา จนได้รับเลือกเป็นผู้ใหญ่บ้าน
รวบรวมชาวบ้านเป็นสมาชิกศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธุ์เพ็ญศิริ เป็นโครงการพระราชดำริในสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาสยามบรมราชกุมารี ทำงานจนกระทั่งสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เสด็จพระราชดำเนินมาที่หมู่บ้านสันทางหลวง
หลังจากนั้นหมู่บ้านสันทางหลวงได้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ และหมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การใช้ชีวิตอย่างมีความสุข จะต้องพอใจในสิ่งที่มี มีความเอื้อเฟื้อเผื่อแผ่แบ่งปันกัน ทำให้อยู่อย่างพอเพียงได้ สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี มีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินบ้านสันทางหลวง เกิดการท่องเที่ยวชุมชน
มีการพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นดังนี้
- หมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบ เรื่องการปลูกผักปลอดสารพิษ ทำปุ๋ยหมัก ปุ๋ยอินทรีย์
- หมู่บ้านท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม การเที่ยววิถีไทย วิถียอง : ใช้ชีวิตอย่างไร กินอยู่อย่างไร และผลงานที่เป็นที่ยอมรับ อาทิ การจัดสร้างองค์พระธาตุมณีศรีไตรยองที่วัดในชุมชน จัดตั้งกลุ่มอาชีพต่าง ๆ ในระดับท้องถิ่น เป็นผู้ใหญ่บ้านหญิงคนแรกของเทศบาลตำบลจันจว้า อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย และในระดับอำเภอ คือ การพัฒนาหมู่บ้านให้เป็นหมู่บ้านเศรษฐกิจพอเพียงต้นแบบของ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย
ทุนมนุษย์
ชุมชนบ้านสันทางหลวงมีผู้นำ กลุ่มแกนนำ และชุมชนร่วมมือกันอย่างเข้มแข็ง ในขณะเดียวกันก็มีการสร้างเครือข่าย ที่มีทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน สถาบันการศึกษา ธ.ก.ส. ที่ร่วมขับเคลื่อน โดยหน่วยงานเหล่านี้ได้มีการบูรณาการการดำเนินการร่วมกัน มีเป้าหมายเดียวกันในการพัฒนาชุมชนให้เป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรมตามวิถีคนไทยยอง
ชาวชุมชนบ้านสันทางหลวงใช้ภาษายองเป็นภาษาพูดในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
บ้านสันทางหลวงดำเนินการพัฒนาสอดคล้องกับบริบทชุมชนอย่างแท้จริง โดยมีรูปแบบการพัฒนาที่ต่อยอดจากทุนเดิมที่มีอยู่และสามารถตอบโจทย์ชีวิตความเป็นอยู่แบบไทยยอง จนเป็นที่รู้จักในชื่อ "วิถีไทย วิถียอง" เป็นหมู่บ้านแห่งการเรียนรู้ และสร้างรายได้ให้กับคนในชุมชน
- ปัจจุบันประชาการในหมู่บ้านสันทางหลวง มีการสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง โดยเฉพาะภาษาพูด "ภาษายอง" สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักของการเรียนรู้ ทั้งยังมีเครือข่ายส่งเสริมการพูดภาษายอง ในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง
- บ้านสันทางหลวงมีการปลูกผักสวนครัวไว้กิน และแบ่งปันเพื่อนบ้านตามวิถีวัฒนธรรมไทยองที่สืบทอดการมา การใช้ชีวิตเรียบง่าย อยู่อย่างพอเพียง ซึ่งเป็นวัฒนธรรมที่โดดเด่นในการดำรงชีวิตของชาวไทยยอง และยังคงรักษาขนบธรรมเนียมประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ของตนเองไว้อย่างครบถ้วน ทั้งภาษาพูด วัฒนธรรมการแต่งกาย วัฒนธรรมการกิน และการนับถือบรรพบุรุษ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ยอง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
คณะทำงานชุมชนบ้านสันทางหลวง ตำบลจันจว้าใต้ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย, สัมภาษณ์, 22 ตุลาคม