พิพิธภัณฑ์มีชีวิต แหล่งหัตถกรรมผ้าฝ้าย วิถีวัฒนธรรมยองดั้งเดิม
ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้านนั้น มีหนองน้ำที่มีน้ำไหลออกมาจากตาน้ำตลอดทั้งปี ชาวบ้านจึงเรียกกันว่า "หนองออกฮู" หรือ "หนองออกรู" ซึ่งเป็นต้นกำเนิดลำน้ำเหมืองกลาง
มีตำนานเล่ากันว่าหนองน้ำนี้ มีเงือก (พญานาค) ตัวหนึ่งตัวเท่าคน มักผุดขึ้นและคอยฉุดวัวของชาวบ้านลงไป ด้วยเหตุนี้จึงเป็นจุดกำเนิดของชื่อ "บ้านบวกเงือก" (บวกแปลว่า หนอง) หรือ "บ้านหนองเงือก" ในปัจจุบัน
พิพิธภัณฑ์มีชีวิต แหล่งหัตถกรรมผ้าฝ้าย วิถีวัฒนธรรมยองดั้งเดิม
ชาวหนองเงือกมีบรรพบุรุษเป็นชาวยองจากแคว้นสิบสองปันนา อพยพมาตั้งถิ่นฐานในที่ราบลุ่มแม่น้ำทา อำเภอป่าซางในช่วงปี พ.ศ. 2348-2356 ตรงกับสมัยพระเจ้ากาวิละ
ชาวยองที่อพยพมาเริ่มแรกมีประมาณ 5 ครอบครัว เข้ามาอาศัยบริเวณรอบ ๆ บ้านหนองเงือกในปัจจุบัน โดยมีหนองน้ำอยู่ทางด้านตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งมีตาน้ำที่เป็นต้นกำเนิดของลำน้ำเหมืองกลางมีเรื่องเล่าขานกันต่อมาว่ามีพญานาค (ภาษาถิ่นเรียกว่า เงือก) ขนาดโตเท่าต้นตาลปรากฏกายขึ้นมาที่หนองน้ำนี้
คนในหมู่บ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านนี้ว่า "หมู่บ้านหนองเงือก" จุดกำเนิดของงานหัตถกรรมผ้าทอของบ้านหนองเงือกเกิดขึ้นพร้อมกับการตั้งหลักปักฐานของบรรพบุรุษ 5 ครอบครัว โดยงานหัตถกรรมในช่วงแรกจะเป็นการทอผ้าฝ้ายเพื่อใช้เองภายในครอบครัว
เนื่องจากในสมัยก่อนเครื่องใช้และเครื่องนุ่งห่มหาซื้อได้ยาก บุรุษชาวยองจะใช้เวลาว่างจากการทำนาและการปลูกพืช เพื่อปลูกฝ้าย ส่วนหญิงสาวจะนำฝ้ายมาทอมือด้วยกี่แบบโบราณ เครื่องนุ่งห่มที่ทอจะมีตั้งแต่ เสื้อผ้า ผ้าห่ม ไปจนถึง ผ้าเช็ดตัว
ส่วนเครื่องใช้ที่ทอ ก็คือ ตุง หรือ ธงโดยตุงสามารถสะท้อนถึงภูมิปัญญา วัฒนธรรม คติความเชื่อทางล้านนา และพุทธศาสนา ได้อย่างชัดเจน เนื่องจากตุงถือเป็นสัญลักษณ์ของชาวยองในการแสดงถิ่นฐาน และมากกว่านั้นชาวยองมีความเชื่อว่าในช่วงที่มีชีวิตหากได้ทอตุงถวายวัด เมื่อเสียชีวิตไปจะได้เกาะชายตุงขึ้นสวรรค์
โดยลวดลายของผ้าฝ้ายทอมือในช่วงแรกนี้จะเป็นลวดลายแบบโบราณ เช่น ลายขัดกันพื้นฐานสองตะกอ ลายเกล็ดเต่าแบบโบราณ ลายดี และลายดอกแก้ว ในช่วงก่อนที่ความเจริญรุ่งเรืองจะเข้ามา คุณยายศรี ขาวดา ซึ่งเป็นช่างทอผ้าอยู่ที่บ้านหนองเงือกได้เล่าว่า สมัยสาว ๆ ต้องเดินทางโดยใช้เกวียนรวมถึงต้องเดินเท้าพร้อมกับหาบกระบุงเพื่อไปรับจ้างทอผ้าฝ้ายกับพ่อค้าในตลาดป่าซางโดยคุณยายศรีนำฝ้ายจากพ่อค้าใส่กระบุงขนกลับมาที่บ้านหนองเงือก เพื่อทอเป็นผ้าผืน
เมื่อถึงเวลาที่นัดหมายก็จะนำผ้าฝ้ายที่ทอเสร็จแล้วเป็นผืนกลับไปส่งให้พ่อค้าในตลาดป่าซาง ผ้าที่เป็นที่นิยมในสมัยนั้น ได้แก่ ผ้าถุง และผ้าผืนที่ใช้ตัดเย็บเสื้อผ้า ลวดลายของผ้าถุงและผ้าผืนยังคงเป็นลวดลายดั้งเดิมตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษ
ต่อมาในปี พ.ศ. 2500 เข้าสู่ยุคที่อำเภอป่าซางมีชื่อเสียงในการทอผ้า ด้วยในสมัยก่อนหากคนจากทางใต้จะเดินทางมาเชียงใหม่จะต้องใช้ถนนซึ่งผ่านอำเภอป่าซางจึงทำให้ป่าซางเจริญรุ่งเรืองอย่างรวดเร็ว มีโรงงานทอผ้าเกิดขึ้นเป็นจำนวนมาก งานหัตถกรรมผ้าทอของป่าซางมีชื่อเสียงเป็นที่รู้จัก ใครก็ตามที่เดินทางมาเชียงใหม่จะต้องแวะซื้องานหัตถกรรมผ้าทอติดไม้ติดมือไปด้วย ความรุ่งเรืองของป่าซางทำให้หมู่บ้านหนองเงือกเป็นหนึ่งหมู่บ้านที่มีการขยายตัวของการทอผ้า มีการรับฝ้ายจากอำเภอป่าซางมาทอภายในหมู่บ้าน
ในช่วงเวลานี้ หญิงสาวในหมู่บ้านหนองเงือกที่มีความสามารถในการทอผ้า จะทอฝ้ายด้วยมือโดยใช้กี่ทอแบบโบราณในบริเวณใต้ถุนบ้านเพื่อส่งไปยังอำเภอป่าซาง ลวดลายของฝ้ายทอมือยังคงอัตลักษณ์เดิมจากบรรพบุรุษ ด้วยความใส่ใจที่มีในทุก ๆ ขั้นตอน และใจรักในงานทอผ้า ฝ้ายทอมือของหนองเงือกจึงมีความงดงาม เนื้อผ้ามีมิติ มีความเรียบความนูน ดูมีชีวิตชีวา
ในยุคนี้ ผ้าฝ้ายทอมือจะมีทั้งแบบผืนที่ใช้ในการตัดเย็บเสื้อผ้า ผ้าถุง และผลิตภัณฑ์จากผ้าฝ้าย รวมไปถึงของที่ระลึก ต่อมาได้มีการตัดถนนสายใหม่ไปยังเชียงใหม่โดยไม่ผ่านอำเภอป่าซางอีกต่อไป ทำให้ป่าซางเข้าสู่ยุคซบเซา
ช่วงเดียวกันนี้ก็เป็นช่วงเริ่มต้นของนิคมอุตสาหกรรมลำพูน ทำให้ชาวหนองเงือกบางส่วนหันไปทำงานโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม และมีเพียงบางส่วนที่ยังคงสืบสานงานฝ้ายทอมือ ทำให้งานหัตถกรรมที่เกิดจากภูมิปัญญาดั้งเดิมเริ่มสูญหายไป ชาวหนองเงือกเริ่มตระหนักถึงการอนุรักษ์ภูมิปัญญาฝ้ายทอมือ
ในช่วงดังกล่าวสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) (พอช.) ได้เข้ามาเห็นความโดดเด่นของฝีมือฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือก จึงสนับสนุนให้มีการรวมกลุ่มเป็นกลุ่มวิสาหกิจชุมชนฝ้ายทอมือหนองเงือก มีนางชื่นชม สุขร่องช้าง เป็นประธานกลุ่มคนแรกและเป็นมาจนถึงปัจจุบัน เพื่อที่จะรวบรวมชาวหนองเงือกที่มีฝีมือในการทอผ้ากลับสู่หมู่บ้านจะได้คงไว้ซึ่งทักษะการทอมือแบบโบราณและลวดลายผ้าที่สั่งสมกันมาเป็นเวลาหลายร้อยปีให้สืบทอดต่อไปยังรุ่นลูกรุ่นหลาน
ในปัจจุบันบ้านหนองเงือกได้รับคัดเลือกเป็นแกนนำหลักของเครือข่ายกลุ่มผ้าทอของจังหวัดลำพูนร่วมกับบ้านดอนหลวง ฝ้ายทอมือของหมู่บ้านหนองเหงือกยังคงเอกลักษณ์ดั้งเดิม ชาวหนองเงือกได้สืบสานการทอผ้าฝ้ายและกรรมวิธีจากบรรพบุรุษ
มากไปกว่านั้นชาวหนองเงือกมีความคิดสร้างสรรค์ในการนำลวดลายดั้งเดิมมาประยุกต์ให้ทันยุคทันสมัยโดยการเพิ่มความสลับซับซ้อนและเล่นสีสันในลวดลาย เช่น ลายเกล็ดเต่าลูกอม ลายเกล็ดเต่าหมู่ ลายเกล็ดเต่าจิ๋ว ลายเกล็ดเต่าตา ลายดอกช้าง ลายดอกนก ลายดอกบัวเครือ ลายดอกขอลายไทย เป็นต้น ลวดลายของฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือกจึงหลากหลายและทันสมัยอยู่
ลักษณะทางกายภาพของบ้านหนองเงือกเป็นพื้นที่ราบลุ่ม มีลำเหมืองแยกจากน้ำทา เหมาะกับการประกอบอาชีพเกษตรกรรม
มีพื้นที่โดยประมาณ 2.5 ตารางกิโลเมตร
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านดอน
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านดอนน้อย
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านหนองผำ
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านป่าบุก
ด้านสาธารณูปโภค มีไฟฟ้าใช้ทุกครัวเรือน โดยการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคสาขาอำเภอป่าซาง มีน้ำใช้โดยระบบประปาหมู่บ้าน
ด้านสาธารณสุข มีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลบ้านดอนหลวง
บ้านหนองเงือก หมู่ที่ 5 มีประชากรทั้งหมดจำนวน 1,378 คน แบ่งเป็นชาย 515 คน และหญิง 863 คน ตามทะเบียนราษฎร์
ยองผู้คนในชุมชนบ้านหนองเงือก มีการจัดตั้งกลุ่มอาชีพอย่างหลากหลาย ดังนี้ กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือก กลุ่มการแปรรูปผลิตภัณฑ์ผ้าฝ้าย กลุ่มจักสาน กลุ่มรองเท้าจากยางรถยนต์ (รองเท้าจาวยอง) ร้านค้าชุมชน
ตัวอย่างการรวมกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือกที่สืบสานภูมิปัญญาการตำหูกมากว่า 100 ปี สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น เริ่มตั้งแต่ปลูกฝ้าย ทำเป็นเส้น ย้อมสีจากพืชในพื้นที่ ทอมือเป็นผืนผ้า
ที่นี่ถือเป็นที่เดียวในประเทศที่มีตำนานการตำหูกแบบคู่รัก หรือตำนานกี่ทอแบบคู่รัก เป็นกุศโลบายสำคัญในการเชื่อมสายใยรักของครอบครัวให้แนบแน่นผ่านการทอผ้าผ้า แต่ละผืนผ่านการทอมือด้วยความพิถีพิถันรังสรรค์บรรจงทอเส้นต่อเส้นของคู่รักคนยองบ้านหนองเงือก จนเป็นผืนผ้าขนาดหน้ากว้างสองเท่าต่างจากผ้าทอแหล่งอื่น
ขั้นตอนการผลิตผ้าฝ้ายทอมือ ตั้งแต่การเก็บดอกฝ้าย อีดฝ้าย ปลดฝ้ายหรือตีฝ้าย, กี๊ดฝ้าย ฯลฯ ไปจนถึงการทอผ้า ซึ่งมีทั้งหมด 12 ขั้นตอน
วิถีชีวิตทางวัฒนธรรม
- ประเพณีสรงน้ำพระธาตุวัดหนองเงือก จัดขึ้นประจำทุกปี
- ประเพณียี่เป็งหรือลอยกระทง แต่ละหมู่บ้านจะร่วมกันก่อเจดีย์ทรายหน้าวัดเพื่อถวายเป็นพุทธบูชา
- ประเพณีสลากภัต เป็นการทำบุญเพื่อเป็นการรำลึกถึงญาติพี่น้อง หรือบุคคลที่ล่วงลับไปแล้ว
วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ
บ้านหนองเงือกเป็นแหล่งท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม มีจุดเด่นเกี่ยวกับ "ผ้าฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือก" มีตำนานการตำหูกหรือทอผ้าแบบครบวงจรร่วม 100 ปี สืบทอดภูมิปัญญาจากรุ่นสู่รุ่น เอกลักษณ์ของกลุ่มผ้าฝ้ายทอมือบ้านหนองเงือก คือการย้อมฝ้ายด้วยสีธรรมชาติ
บ้านหนองเงือกยังเป็นสถานที่ท่องเที่ยวและแหล่งเรียนรู้ศึกษาดูงานให้กับผู้ที่สนใจ มีสถานที่ท่องเที่ยวดังนี้
- กลุ่มผ้าฝ้ายทอมือ บ้านหนองเงือก
- บ้านเกิบจาวยอง
- กระเป๋านกฮูก
- วัดหนองเงือก
- พิพิธภัณฑ์ไทยองบ้านหนองเงือก
- พระธาตุกู่น้อย
- หนองออกรู หนองน้ำศักดิ์สิทธิ์
- ตลาดเช้า ตลาดสินค้าหนองเงือก
- โฮมสเตย์บ้านหนองเงือก
1.นายไพรัช นันพนัก
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2496
ภูมิลำเนา หมู่ที่ 5 บ้านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
ผู้ก่อตั้ง "เกิบจาวยองจากยางรถยนต์" การนำยางรถยนต์ใช้แล้ว (Reuse) เป็นรองเท้า (เกิบ) จาวยอง
2.แม่หลวงมาลี กันทาทรัพย์ (นามสกุลเดิม ไชยวงษา)
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2502
ภูมิลำเนา หมู่ที่ 5 บ่านหนองเงือก ตำบลแม่แรง อำเภอป่าซาง จังหวัดลำพูน
วิสาหกิจชุมชนกลุ่มแปรรูปผ้าฝ้ายทอมือ-ผ้าฝ้ายนาโนบ้านหนองเงือก
3.นายมงคล มูลชีพ
ปราชญ์ชาวบ้าน ผู้แทนองค์กรท้องถิ่น ผู้นำพิธีกรรมทางศาสนา ประเพณีงานบุญต่าง ๆ และมีความรู้ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นหมู่บ้าน
ทุนวัฒนธรรม
บ้านหนองเงือก ต.แม่แรง อ.ป่าซาง จ.ลำพูน เป็นแหล่งหัตถกรรมผ้าฝ้ายสำคัญของภาคเหนือ มีเอกลักษณ์และคุณภาพซึ่งชุมชนสร้างขึ้นมาเอง ทำให้หมู่บ้านมีความโดดเด่นรวมทั้งวัฒนธรรมพื้นบ้านยังคงรักษาไว้ โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชาวยองตั้งแต่การแต่งกายด้วยชุดพื้นบ้านชาวยอง ภาษาพูด รวมถึงมีการสืบสานการทอผ้าฝ้ายตั้งแต่การปั่นกรอด้าย การย้อมผ้า การทอผ้า จนถึงตัดเย็บเสื้อผ้า เป็นพิพิธภัณฑ์ที่มีชีวิต
ชาวชุมชนบ้านหนองเงือก ใช้ภาษายอง เป็นภาษาพูดในการติดต่อสื่อสารระหว่างกัน
ปัจจุบันประชาการในหมู่บ้านหนองเงือก มีการสืบทอดวัฒนธรรมทางภาษาอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง โดยเฉพาะภาษาพูด "ภาษายอง" สถาบันครอบครัวเป็นสถาบันหลักของการเรียนรู้ ทั้งยังมีเครือข่ายส่งเสริมการพูดภาษายองในหมู่บ้านและหมู่บ้านใกล้เคียง
บ้านหนองเงือก เป็นแหล่งเรียนรู้ภูมิปัญญาผ้าฝ้ายทอมือและวัฒนธรรมชาวยอง หรือภาษาถิ่นเรียกว่า "จาวยอง" ผู้คนยังนับถือศาสนาพุทธอย่างเหนียวแน่น ทำกิจกรรมตามประเพณีด้านศาสนาและมีประเพณีที่สำคัญ คือ รดน้ำดำหัว แสดงความกตัญญูต่อผู้ใหญ่ มีพิพิธภัณฑ์คัมภีร์ใบลาน แหล่งรวบรวมคัมภีร์ใบลาน พับสา "คะตึก" (หอธัมม์หรือหอพระไตรปิฎก) ที่เก่าแก่
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ยอง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.