ชุมชนบ้านเวินบึก ประเพณีและพิธีกรรมในวิถีชีวิตเกี่ยวพันความเชื่อท้องถิ่นและวิญญาณบรรพบุรุษ นับถือผีเจ้าหอปู่ตาหรือที่เรียกว่า อะแย๊ะจำนัก
ชุมชนบ้านเวินบึก ประเพณีและพิธีกรรมในวิถีชีวิตเกี่ยวพันความเชื่อท้องถิ่นและวิญญาณบรรพบุรุษ นับถือผีเจ้าหอปู่ตาหรือที่เรียกว่า อะแย๊ะจำนัก
ประวัติความเป็นมาของบ้านเวินบึก ก่อตั้งขึ้นราวปี พ.ศ. 2457 ชาวบ้านส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ข่าหรือบรู ที่ได้อพยพมาจากประเทศลาวและมาตั้งถิ่นฐานอยูริมแม่น้ำโขง ทางทิศตะวันออกของอำเภอโขงเจียม เนื่องจากหนีภัยความไม่สงบของสงครามในประเทศ เมื่อคราวสงครามโลกครั้งที่สองทำให้ชาวบรูอพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย
บ้านเวินบึกก่อตั้งประมาณ พ.ศ. 2457 ประชาชนในหมู่บ้านเป็นชนกลุ่มน้อยเผ่าข่าหรือเผ่าบรู อพยพมาจากประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวมาตั้งถิ่นฐาน อยู่ริมแม่น้ำโขงทางทิศตะวันออกของอำเภอโขงเจียมในสมัยอำมาตย์เอก หลวงแก้ว กาญจนเขตต์ เป็นนายอำเภอ นายลี พึ่งป่า ดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านคนแรก และชาวบรูเริ่มมีนามสกุลใช้ในสมัยรองอำมาตย์เอกหลวงแก้ว กาญจนเขตต์ เพื่อประโยชน์ในด้านการปกครอง จึงได้ทำการเปลี่ยนนามสกุลให้กับชาวบรูเพื่อที่จะขึ้นสถานะเป็นคนไทยและใช้ประโยชน์ในด้านการปกครอง
บ้านเวินบึกตั้งอยู่หมู่ที่ 8 ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี ลักษณะของหมู่บ้านเป็นภูเขาเตี้ย ๆ สลับกับร่องน้ำที่ไหลลงแม่น้ำโขง คือ ร่องหิน ร่องน้อย ห้วยยาง ร่องเดื่อ ชาวบ้าน เรียกว่า ฮ่องน้ำไหล บริเวณหมู่บ้านทางทิศเหนืออยู่ติดแม่น้ำโขง บ้านเวินบึกมีเนื้อที่ทั้งหมด 36,400 ไร่ และมีที่ดินสำหรับทำการเกษตร 270 ไร่ มีทรัพยากรที่อุดสมบูรณ์ทั้งภูเขา แม่น้ำ ป่าไม้เป็นป่าเบญจพรรณ มีพรรณไม้หลากหลายชนิด เช่น ไม้เต็งไม้รัง ไม้ประดู่ ไม้พยุง นอกจากนี้ชาวบ้านยังนำไม้ไผ่เฮียะมาสานกระเบียน กระติ๊บข้าว และยังเก็บดอกหญ้ามาทำไม้กวาดมาขายเป็นอาชีพเสริม
ลักษณะอากาศในหมู่บ้านเวินบึก โดยทั่วไปมี 3 ฤดู ในฤดูฝนมีฝนตกชุกลมกรรโชกแรง เนื่องจากภูเขาในทิศเหนือของหมู่บ้านในเขตประเทศลาว เมื่อมีลมปะทะภูเขาแล้วลงสู่แม่น้ำโขง ทำให้ปริมาณน้ำในแม่น้ำโขงสูงขึ้น จึงมีความอันตรายมากในฤดูฝน ฤดูหนาวอากาศหนาวเย็นมีหมอกปกคลุม ฤดูร้อนมีอากาศที่ร้อนจัด
การคมนาคมของหมู่บ้านมี 2 ทางคือ ทางบกและทางน้ำ ส่วนมากเมื่อมีธุระติดต่อราชการหรือเดินทางมาที่อำเภอจะโดยสารทางเรือเพราะสะดวก ส่วนทางบกโดยสารทางรถยนต์และรถรับส่งประจำทาง
ประชากรในหมู่บ้านเวินบึก มี 142 ครัวเรือนและมีประชากรทั้งหมด 656 คนส่วนใหญ่เป็นกลุ่มชาติพันธุ์บรู ที่อพยพหนีภัยสงครามมาจากประเทศลาว ชาวบรูมีความกตัญญูต่อพ่อแม่เป็นคุณธรรมที่สำคัญและสืบทอดกันมาปลูกฝังในครอบครัว ที่เมื่อแต่งงานและแยกตัวออกจากที่บ้านไปแล้ว จะกลับมาอยู่ในบ้านของพ่อแม่อีกไม่ได้ ต้องให้อยู่บริเวณใกล้ ๆ บ้านเท่านั้น ถ้าต้องการกลับเข้ามาอยู่ใหม่ต้องมีการเสียผี เช่น หมู ไก่ ข้อห้ามเรื่องการแต่งงานของชาวบรู คือห้ามแต่งงานกับคนที่อยู่ในตระกูลเดียวกัน จะต้องแต่งกับตระกลูอื่นหรือหมู่บ้านอื่นเท่านั้น
บรูโครงสร้างการปกครองของบ้านเวินบึกเป็นการปกครองเหมือนหมู่บ้านทั่วไป ตามหลักเกณฑ์ของทางกระทรวงมหาดไทย มีคณะกรรมการหมู่บ้าน ประกอบไปด้วย ผู้ใหญ่บ้าน ผู้ช่วยผู้ใหญ่บ้าน และกรรมการแต่ละฝ่าย ได้แก่ ฝ่ายปกครอง ฝ่ายกิจการคลัง ฝ่ายพัฒนาอาชีพ ฝ่ายกิจกรรมการศึกษา และฝ่ายเลขานุการ ซึ่งกรรมการแต่ละฝ่ายมาจากการเสนอชื่อของชาวบ้านและให้ผู้ใหญ่บ้านพิจารณาในการแต่งตั้งแต่ละฝ่าย ตามความสามารถและความเหมาะสมของงานโดยจะมีวาระ 4 ปี จึงจะมีการพิจารณาแต่งตั้งใหม่ ซึ่งในอดีตการปกครองบ้านเวินบึกมีสายตระกูลใหญ่ 2 ตระกูล คือ กลุ่มตระกูลลือคำหาญ กับกลุ่มตระกูลแสนชัย ที่เป็นตระกูลดั้งเดิมตั้งแต่สมัยที่ยังอยู่ที่ประเทศลาว เมื่อเข้ามาอยู่ที่ประเทศไทยชาวบรูยังมีความเชื่อและยึดมั่นกับสายตระกูลเดิม โดยเฉพาะ นายสี พึ่งป่า ซึ่งเป็นผู้นำคนสำคัญในการอพยพเข้ามาที่บ้านเวินบึกครั้งแรก รวมทั้งผู้นำคนสำคัญอีกหลายคนได้แก่ นายนาค พึ่งคง นายกิ๊ก พึ่งป่า ได้รับเลือกตั้งให้เป็นผู้ใหญ่บ้านเวินบึก
นอกจากการจัดการปกครองในรูปแบบของคณะกรรมการหมู่บ้านแล้วยังมีการจัดตั้งกลุ่มออกเป็น 5 คุ้ม เพื่อพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ คือ ประชาพัฒนา รวมเผ่าไทย นเรศวรมหาราช ตะวันสีทอง ประชาสามัคคี ซึ่งแต่ละคุ้มจะมีประมาณ 15-20 ครัวเรือนและจะมีหัวหน้าคุ้มดูแลรับผิดชอบ เมื่อมีโครงการพัฒนาจากราชการหรือเอกชน ที่เข้ามาดำเนินกิจกรรมในหมู่บ้านก็จะสามารถติดต่อประสานงานกับผู้ใหญ่บ้านและหัวหน้าคุ้ม เพื่อความสะดวกต่อการดำเนินงาน
ทางด้านอาชีพในอดีตชาวบ้านเวินบึกทำไร่และการเลี้ยงสัตว์ เช่น ปลูกข้าว ไร่ข้าวโพดและมันสำปะหลัง ส่วนสัตว์นิยมเลี้ยงวัว ควายและไก่ แต่ในปัจจุบันนอกจากการทำเกษตรกรรมแล้ว ยังมีอาชีพจักสาน ซึ่งวัสดุที่ใช้ทำหาได้มาจากไม้ไผ่ที่ชาวบรูบ้านเวินบึกนิยมมาจักสานเรียกว่า ไม้เฮียะ ไม้ชนิดนี้ขึ้นอยู่ตามริมฝั่งแม่น้ำโขง การจักสานมีหลายประเภท เช่น หวด กระติบข้าว หมวก เป็นต้น โดยจัดทำตามความต้องการของลูกค้า ชาวบรูมีความรู้และชำนาญเรื่องจักสาน นอกจากนี้ชาวบ้านบางส่วนยังมีอาชีพประมงจับปลาในแม่น้ำโขงมาจำหน่ายเป็นรายได้เสริม
ชาวบรูบ้านเวินบึกส่วนใหญ่นับถือศาสนาพุทธ เหมือนกับชาวอีสานทั่วไป แต่ก็ยังมีการนับถือผีควบคู่ไปกับการนับถือพุทธศาสนา ผีที่ชาวบรูบ้านเวินบึกนับถือคือผีประจำเผ่า ผีบรรพบุรุษ เรียกว่า ผีไถ้ในการนับถือผีต่าง ๆ เหล่านี้มีการนับถือมาตั้งแต่บรรพบุรุษที่อาศัยอยู่ในประเทศลาว เมื่ออพยพเข้ามาอยู่ในประเทศไทย ได้นำผีประจำเผ่าเข้ามาด้วยเรียกผีประจำเผ่า ผีเจียว เมื่ออพยพเข้ามาแล้วได้อัญเชิญมาตั้งอยู่ที่หมู่บ้าน เรียกว่าผีอะแย้ะจำนักหรือเรียกว่าเจ้าหอปู่ตาจนถึงปัจจุบัน ความเชื่อเกี่ยวกับผีหรือสิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่ชาวบรูนับถือมีดังนี้
- ผีจำนักหรืออะแย้ะจำนัก ชาวบรูมีความเชื่อว่าเป็นวิญญาณของปู่ ย่า ตา ยาย จะมีการเรียกชื่อที่หลากหลาย เช่น เจ้าหอ เจ้าหอปู่จา และอะแย้ะจำนัก ผีจำนักถือเป็นผีประจำเผ่า ชาวบรูเชื่อว่าสามารถดลบันดาลในสิ่งที่ให้คุณและให้โทษ นอกจากนี้ยังมีการประกอบพิธีกรรมที่เรียกว่าการเลี้ยงผีบ้าน ปีละสองครั้ง จะทำในช่วงเดือนหนึ่งถึงเดือนสาม โดยมีความเชื่อว่าเมื่อมีการเลี้ยงบ้าน ผลผลิตทางเกษตรก็มีความอุดมสมบรูณ์และให้ผลผลิตที่มาก ครั้งที่สองจะเลี้ยงในช่วงเดือนหก หลังจากเลี้ยงบ้านเสร็จห้ามถางป่า ห้ามเกี่ยวหญ้า แต่จะใช้วิธีการลับหรือถอนได้ ถ้าหากไม่ปฏิบัติตามก็จะนับว่าเป็นการผิดผี ผู้ที่ละเมิดไม่ทำตามจะถูกลงโทษในลักษณะต่าง ๆ เช่น ไม่สบาย หน้าที่การงานไม่ราบรื่น การเลี้ยงเมื่อเกิดทำการผิดผีเกิดขึ้นในหมู่บ้านการเสียผี ก็จะเสียตามการกระทำผิดที่เกิดขึ้น การผิดผีของชาวบรูจะเลี้ยงผีตั้งแต่ไก่หนึ่งตัวขึ้นไปจนถึง ความหนึ่งตัว ดอกไม้ เหล้า
- ผีบรรพบุรุษ มีความเชื่อว่าจะคุ้มครองดูแลคนในครอบครัวให้มีความสุข ความเจริญ โดยจะมีการสร้างเป็นหอเล็ก ๆ ไว้ในคุ้ม การเลี้ยงผีบรรพบุรุษจะทำหลังจากการเลี้ยงบ้านหรือเลี้ยงผีจำนัก
- ผีไถ้ คล้ายผีฟ้าในอีสาน ที่มีหน้าที่รักษาผู้ที่มีอาการเจ็บป่วยแล้วรักษาไม่หาย ผู้ที่เป็นร่างทรงผีไถ้มักจะได้รับการสืบทอดจากบรรพบุรุษ เรียกว่า ครูบาผีไถ้ประจำฮีตของชาวบรู โดยมีขันธ์ห้า คือ ดอกไม้ขาวห้าคู่ เทียนห้าคู่ ค่ารักษา เป็นเงิน 1 บาท 4 สตางค์ นอกจากนี้ยังมีการเลี้ยงผีไถ้ในเดือนสิบสองและเดือนหก ปัจจุบันมีผู้นับถือผีไถ้น้อยลง เนื่องจากการเข้ามาของการแพทย์ปัจจุบันและการเดินทางก็สะดวกมากกว่าอดีต
บ้านเวินบึกมีภาษาที่ใช้พูดกัน 3 ภาษา ภาษาบรู ภาษาไทยอีสาน และภาษาไทยกลาง ภาษาบรูจะมีเฉพาะภาษาพูด ไม่มีภาษาเขียน ส่วนใหญ่จะใช้พูดกับชาวบรู แต่เมื่อมีการเปลี่ยนในชุมชนก็มีการติดต่อกับคนนอกหมู่บ้านมากขึ้นมีการรับเอาวัฒนธรรมมาปรับเปลี่ยนการติดต่อกับคนภายนอกโดยใช้ภาษาไทยอีสานในการสื่อสาร
ยุพา อุทามนตรี. (2539). ประเพณี พิธีกรรรมของชาวบรูบ้านเวินบึก ตำบลโขงเจียม อำเภอโขงเจียม จังหวัดอุบลราชธานี. วิทยานิพนธ์ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาไทยคดีศึกษา, มหาวิทยาลัยมหาสารคาม.
ยุทธนา กนกนาก. (2553). รูปแบบการพัฒนาครอบครัวเป็นสุขจากอัตลักษณ์กลุ่มชาติพันธุ์ : กรณีศึกษากลุ่มชาติพันธุ์บรูในประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว. วิทยานิพนธ์ปรัชญาดุษฎีบัณฑิต สาขายุทธศาสตร์การพัฒนาภูมิภาค, มหาวิทยาลัยราชภัฏสุรินทร์.
เพจชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถีบ้านเวินบึก. (2562, 5 เมษายน). Facebook : https://www.facebook.com/