ร่ำรวยวัฒนธรรมประเพณี ธรรมชาติสวยงาม ใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยว อากาศเย็นสบายตลอดปี
ร่ำรวยวัฒนธรรมประเพณี ธรรมชาติสวยงาม ใกล้เคียงแหล่งท่องเที่ยว อากาศเย็นสบายตลอดปี
สมาชิกในชุมชนเป็นผู้อพยพมาจากบ้านน้ำริน ปัจจุบันไม่มีสภาพเป็นหมู่บ้านแล้ว ซึ่งเป็นหมู่บ้านชายแดนติดประเทศเมียนมา รัฐคะยา และรัฐฉาน
ชาวปะโอบ้านห้วยมะเขือส้มเคยตั้งรกรากอยู่บ้านนาป่าแปก (ม.4 ต.หมอกจำแป่ อ.เมืองแม่ฮ่องสอน) ระยะเวลาสั้น ๆ เพราะถูกขับไล่ ผู้นำสมัยนั้น นายปาง บุญศกร จึงพาลูกบ้านทั้งหมดไปหาที่พำนักใหม่ จึงพากันไปสำรวจพื้นที่ติดชายแดนและรวมตัวกันตั้งชุมชนอยู่ที่แห่งใหม่และตั้งชื่อชื่อชุมชนนั้นว่า บ้านน้ำริน หรือในภาษาปะโอว่า โด่งถี่ตะมอง
ต่อมาปี พ.ศ. 2533 มีการสู้รบกันตามตะเข็บชายแดนจึงพาอพยพมาที่บ้านห้วยมะเขือส้ม แต่อยู่ได้เพียงระยะเวลาสั้น ๆ ผู้นำชุมชนสมัยนั้นพาเจ้าหน้าที่ทหารตำรวจมาขับไล่ จึงพากันกลับไปอยู่บ้านน้ำรินอย่างเดิมและอาศัยอยู่แถวนั้นอยู่หลายปี กระทั่งพากันมาอยู่ที่บ้านห้วยมะเขือส้มเหมือนเดิมจนถึงปัจจุบัน
บ้านห้วยมะเขือส้ม เมื่อมาจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอน ตามถนนสาย 1095 แยกเข้าที่บ้านกุงไม้สัก ตามถนนสาย 1219 ประมาณ 44 กิโลเมตร ไปทางปางอุ๋ง (ปางตอง 2)
อาณาเขต
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยโป่งอ่อน ม.7 ต.หมอกจำแป่
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านนาป่าแปก ม.4 ต.หมอกจำแป่
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านนาป่าแปก ม.4 ต.หมอกจำแป่ และโครงการตามพระราชดำริปางตอง (โครงการหลวงปางตอง) และเขตการปกครองบ้านห้วยขาน ม.3 ต.หมอกจำแป่
พื้นที่สาธารณะ ประมาณ 20 ไร่ มีวัดประจำหมู่บ้าน มีโรงเรียนประจำหมู่บ้าน
สาธารณูปโภค ในชุมชนมีระบบประปาชุมชน (ประปาภูเขา)
สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ มีป่าไม้ที่อุดมสมบูรณ์ มีที่ราบเชิงเขาเล็กน้อยและภูเขาที่สลับซับซ้อน มีป่าชุมชน ป่าสงวน และพื้นที่ป่าอุทยานโดยรอบชุมชน มีลำน้ำน้ำห้วยมะเขือส้ม และมีอ่างกักเก็บน้ำเพื่อการเกษตรของชุมชน
สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ อยู่ใกล้และเป็นทางแหล่งท่องเที่ยวบ้านปางอุ๋ง สามารถพัฒนาเป็นหมู่บ้านท่องเที่ยวได้ เพราะมีความหลากหลายของพี่น้องชาติพันธุ์ และวัฒนธรรมที่สวยงาม มีสภาพอากาศที่เย็นตลอดปี
สังคม เป็นสังคมพหุวัฒนธรรม (ปะโอ + ไทใหญ่ + ม้ง + กะแย + กะยัน)
วัฒนธรรม มีวิถีความเชื่อและการปฏิบัติที่แนบอิงกับพระพุทธศาสนา
ทรัพยากรทางธรรมชาติ มีภูเขาที่สลับซับซ้อนน่าค้นหา มีป่าไม้ที่สมบูรณ์ แบ่งเป็นป่าชุมชน ป่าสงวน เขตป่าอุทยาน มีแหล่งน้ำโดยรอบชุมชนและสามารถใช้ประโยชน์จากแหล่งน้ำได้เต็มที่
พื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และเทศกาลต่าง ๆ ชาวปะโอบ้านห้วยมะเขือส้ม ยังสามารถสืบสานวัฒนธรรมประเพณีที่สืบทอดมาจากบรรพชนได้ดี เช่น งานขึ้นปีใหม่ (แด่น ห้า หล่า) หรือประเพณีสงกรานต์ที่ลูกหลานจะต้องกลับมาหาพ่อแม่ญาติพี่น้อง ประเพณีเข้าพรรษา (วา โช หล่า) และประเพณีแห่โคมไฟประทีปในช่วงออกพรรษา เพื่อเป็นบูชาต้อนพระพุทธเจ้าที่เสด็จกลับจากสวรรค์ชั้นดาวดึงส์
งานสำคัญของชาวปะโอคืองาน ปอย แด่น ซี หล่า โบ่ย เป็นงานเพื่อรำลึกถึง ขุนสุริยะจันตา บรรพชนผู้รวบรวมชาวปะโอเป็นปึกแผ่น
บ้านห้วยมะเขือส้ม ประกอบด้วย 73 ครัวเรือน ประชากร 390 คน แบ่งเป็นชาย 185 คน หญิง 205 คน
ระบบเครือญาติ
ระบบเครือญาติของชาวปะโอ เป็นลักษณะครอบครัวกึ่งขยาย คือ ปู่ ย่า หรือตา ยาย จะอยู่รวมกับลูกหลาน และเมื่อมีลูกที่พร้อมมีครอบครัวจะจัดให้มีการแต่งงานอยู่กับครอบครัวสักระยะแล้วจึงแยกครัวไปสร้างครอบครัวใหม่ ตามฤกษ์ที่ได้เลือกไว้แล้ว
การลำดับญาติ (ภาษาปะโอจะขึ้นต้นการเรียกพ่อแม่ โดยขึ้นด้วย แม่ก่อน พ่อตามที่หลัง เช่นคนไทยเรียกพ่อแม่ แต่ชาวปะโอจะเรียกกลับกัน เป็นแม่พ่อ หรือ แม่ ผ่า ในภาษาปะโอ ย่า และ ยาย (เม่อ พร่า) คือ แม่ ของพ่อหรือแม่ ปู่ และ ตา (ผ่า พร่า) คือ พ่อของแม่ หรือพ่อ ป้า (เม่อ ต่าน) พี่สาวของพ่อหรือพี่สาวของแม่
**เม่อ ต่าน หรือ ผ่า ต่าน ในภาษาปะโอนั้นในอีกความหมายคือการเรียกพี่เขย หรือพี่สะใภ้ ลุง (ผ่า ต่าน) พี่ชายของแม่ หรือพ่อ**
พ่อ แม่ (เม่อ ผ่า) น้า อา (ชาย) เม่อ หน่าง น้องสาวของพ่อ หรือแม่ ผ่า หน่าง) คือ น้องชายของพ่อหรือแม่ ลูก (โป่) หลาน (ลี) ลูกของลูก เหลน (ลัง) ลูกของหลาน
กะยัน, กะแย, ไทใหญ่, ปะโอ, ม้งไม่มีการรวมตัวทางเศรษฐกิจ/การเมือง มีเพียงการรวมตัวทางสังคมและวัฒนธรรมเพื่อการรักษาไว้ซึ่งแบบแผนประเพณีที่สืบสานกันมา โดยร่วมมือกับองค์กรเครือข่าย เช่น สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดแม่ฮ่องสอน สำนักงาน พม.จ.แม่ฮ่องสอน ศูนย์พัฒนาการเมืองภาคพลเมือง สถาบันพระปกเกล้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อาชีพหลักของชาวปะโอ คือ เกษตรกร ทำไร่ ทำนา และสวน ผู้คนในชุมชนที่อายุไม่มากส่วนใหญ่ไปทำงานในต่างจังหวัด ในเมืองใหญ่ เช่น เชียงใหม่ กรุงเทพฯ
1.นายปาง บุญศกร
เกิดปี พ.ศ. 2488
ที่อยู่ หมู่ 5 ต.หมอกจำแป่ อ.เมือง จ.แม่ฮ่องสอน
เป็นอดีตผู้นำชุมชน เป็นผู้รู้ในพิธีกรรมของชาวปะโอ รวมทั้งพิธีกรรมทางศาสนา มีความรอบรู้ในเรื่องวัฒนธรรมประเพณีของชาวปะโอ เป็นผู้มีความเชี่ยวชาญตำราพรหมชาติและวิชาโหราศาสตร์แบบฉบับของชาวปะโอ
- ชาวปะโอในประเทศไทยยังใช้ภาษาปะโอในการสื่อสารได้ ภาษาปะโอเป็นกลุ่มภาษา จีน-ทิเบต กลุ่มภาษาย่อย ทิเบต-พม่า
- ชาวปะโอรุ่นใหม่ในประเทศไทยจะใช้ภาษาไทยสำหรับการเขียนหรือสื่อสาร คนที่สามารถใช้ภาษาปะโอเพื่อการสื่อสารนั้นมีผู้สามารถเขียน อ่านเหลือจำนวนไม่มาก
- กลุ่มเด็กรุ่นใหม่มีปัญหาการสื่อสารด้วยภาษาปะโอ โดยเฉพาะเด็กที่เกิดต่างจังหวัดแล้วกลับมาอยู่ในชุมชนร่วมกับปู่ย่าตายาย และกลุ่มเด็กรุ่นที่ยังสามารถสื่อสารภาษาปะโอได้นั้นมีปัญหาเรื่องการเข้าใจความหมายของภาษาที่ไม่ชัดเจนทั้งหมด เลยใช้ภาษาไทยกลางปะปนในการสื่อสาร
- ปัจจุบันมีหนังสือตำราเรียนภาษาปะโอ และนิตยสารที่เป็นภาษาปะโอรวมถึงตำรายาสมุนไพร และชาวปะโอจะมีการบันทึกการเกิดลงในใบลาน ภาษาปะโอเรียกว่า ชาตา หรือชาตะ ถ้าเปรียบเทียบยุคสมัยใหม่ก็เปรียบได้กับสูติบัตรนั่นเอง และยังมีตำราโบราณที่บันทึกในกระดาษสา (กระดาษทำมือ) ทาปกหรือขอบหนังสือตำราด้วยยางรักสีดำ เพื่อรักษาสภาพของกระดาษให้คงทนต่อความชื้นได้
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ปะโอ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.