Advance search

น่าเปะ, ยางแดง

หัตถกรรมจักสาน เกษตรพอเพียง ไร่หมุนเวียน พอเพียงนำวิถี ลือชื่อพริกกะเหรี่ยงแดง

ทบศอก
หมอกจำแป่
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
อบต.หมอกจำแป่ โทร. 0-5306-1531
สมาน คีรีประภาวัฒน์
2 ต.ค. 2023
สมาน คีรีประภาวัฒน์
22 ต.ค. 2023
ปริญญ์ รุจิรัชกุล
12 ก.ค. 2024
บ้านทบศอก
น่าเปะ, ยางแดง

มาจากชื่อดั้งเดิมของการตั้งถิ่นฐานครั้งแรกมาจากชื่อ บ้านนาป่าแปก การเรียกเพี้ยนสำเนียงจึงเรียกชื่อว่า บ้านน่าเปะ ส่วนคำว่า ยางแดง มาจากการเรียกชื่อของกลุ่มบุคคลภายนอก


หัตถกรรมจักสาน เกษตรพอเพียง ไร่หมุนเวียน พอเพียงนำวิถี ลือชื่อพริกกะเหรี่ยงแดง

ทบศอก
หมอกจำแป่
เมืองแม่ฮ่องสอน
แม่ฮ่องสอน
58000
19.4836221007391
97.9630574584007
องค์การบริหารส่วนตำบลหมอกจำแป่

ในปี พ.ศ. 2505 เดิมทีนั้นชุมชนดั้งเดิมอาศัยอยู่ในห้วยหมากขีประมาณ 10 ปี (ปัจจุบันเป็นพื้นที่ท้ายบ้านของบ้านห้วยขาน) นำโดยนายที จรรยาอร่ามกุล นายแหมะ คีรีอร่ามรัศมี นายเปอะ ไพรสีน้ำเงิน และนายเปอะ กิจยังดี

ในปี พ.ศ. 2515 อพยพไปยังบ้านปางตองตามการประกอบอาชีพเกษตรที่ต้องย้ายไปทำต่างพื้นที่ เมื่อมาอาศัยอยู่บ้านปางตองประมาณ 10 ปี จำนวน 8 หลังคาเรือน ประกอบอาชีพทำไร่และทำนา

ในปี พ.ศ. 2524 ได้อพยพมายังลงมาพื้นที่ราบบริเวณตีนดอยห่างจากบ้านห้วยขานประมาณ 2 กิโลเมตร และได้เป็นหย่อมบ้านของชุมชนบ้านห้วยขาน นำโดยผู้ใหญ่ จินตา เพชรพงศ์ ชุมอาศัยอยู่บริเวณหมู่บ้านแกแลเซ๊ (ปัจจุบันเป็นอ่างเก็บน้ำแม่สะงา) ประมาณ 4 ปี ได้มีบริษัทสัมปทานอ่างเก็บน้ำมาสำรวจพื้นที่เพื่อจัดทำโครงการพลังงานน้ำแม่สะงาทำให้ชุมชนต้องย้ายออกจากหมู่บ้านแกแลเซ๊ลงมาใกล้แม่น้ำแม่สะงา (ปัจจุบันเป็นพื้นที่โครงการพลังงานน้ำแม่สะงา) ทางทิศตะวันตก

ในช่วงปี พ.ศ. 2526-2530 ได้อพยพเข้ามาทางทิศตะวันออกนำโดยผู้นำชุมชนที่เห็นความสำคัญของการศึกษาและบุตรหลายที่มีความเสี่ยงในการข้ามสะพานแม่น้ำแม่สะงา และการคมนาคมที่ไม่สะดวกในการทำมาค้าขาย จึงได้อพยพออกจากพื้นที่เข้ามายังทิศตะวันออก

หลังจากนั้นได้มีประชากรหลายพื้นที่ได้อพยพเข้ามาสมทบเพิ่มมากขึ้นเช่น บ้านปางตอง บ้านห้วยโป่งอ่อน บ้านห้วยผึ้ง จึงได้เสนอขอจัดตั้งหมู่บ้านแยกจากชุมชนบ้านห้วยขาน

ในปี พ.ศ. 2530 นายเผ่ จรรยากิตติผล ได้ขอจัดตั้งชุมชนบ้านทบศอกแยกจากชุมชนบ้านห้วยขาน เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2530 ได้รับความไว้วางใจจากชุมชนนายเผ่ จรรยากิตติผล รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้านคนแรก

ในปี พ.ศ. 2538 ได้มีการทำถนนทางขึ้นไปบ้านรักไทย จากนั้นเกิดน้ำป่าไหลหลาก ดินถล่ม เข้ามาในชุมชนสร้างความเสียหายและความตื่นตระหนกซึ่งสาเหตุเกิดจากการไถถนนปรับพื้นที่ทำให้ดินร่วนซุยเจอกับฝนตกหนักจึงเกิดดินถล่มเข้ามาในชุมชน

ในปี พ.ศ. 2551 เกิดน้ำป่าไหลหลาก ปิดถนนทางเข้าหมู่บ้านทำให้การสัญจรทางถนนเสียหาย

ในปี พ.ศ. 2562 นายเผ่ จรรยากิตติผล ได้เกษียณอายุราชการในการปกครองชุมชน

ในปี พ.ศ. 2566 นายสมาน คีรีประภาวัฒน์ ได้รับเลือกตั้งเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้ 3 ปี 8 เดือน

ในปี พ.ศ. 2566 นางสาวสุประวีน ไพรสีน้ำเงิน ได้รับการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนปัจจุบัน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ บ้านนาป่าแปก
  • ทิศใต้ ติดกับ บ้านห้วยขาน
  • ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านนาปลาจาด
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านห้วยมะเขือส้ม

ขนาดพื้นที่ชุมชน 190 ไร่

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ สภาพภูมิอากาศส่วนใหญ่เป็นภูเขาสลับทับซ้อน เรามีป่าไม้น้อยใหญ่ทำให้ฝนตกชุมในฤดูฝน อากาศจะร้อนในช่วงเดือนมีนาคม ถึงเดือนเมษายนเพราะเป็นพื้นที่หุบเขา

พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภคในชุมชน ชุมชนบ้านทบศอก มีไฟฟ้าใช้ทุกหลังคาเรือน มีน้ำประปาภูเขาไว้ใช้ในครัวเรือน

การคมนาคม ถนนลาดคอนกรีต การเดินทางเข้าสู่ตัวเมืองด้วยระยะทาง 26 กิโลเมตร มีถนนลาดยางมะตอยตลอดสาย มีอาคารอเนกประสงค์ มีพื้นที่ครุภัณฑ์เก่าที่ใช้เป็นพื้นที่สาธารณะในการประชุม ทำกิจกรรมร่วมกับองค์กรเครือข่ายนอกชุมชน

สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ชุมชนแวดล้อมด้วยป่าไม้ที่มีความอุดมสมบูรณ์ มีป่าชุมชนที่บริหารจัดการด้วยระเบียบของชุมชน มีต้นไม้หลากหลายชนิด เช่น ต้นเต็งรัง ต้นสัก และต้นไผ่ ที่สามารถนำมาใช้ในครัวเรือนด้านจักสาน

สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม

ลานวัฒนธรรมในชุมชน พื้นที่ไร่หมุนเวียนบ้านห้วยหม้อ

ทรัพยากรทางธรรมชาติ เศรษฐกิจชุมชน บ้านทบศอก 70% ประกอบอาชีพหลักคือเกษตรกรรม ได้แก่การทำนาทำสวนราหมุนเวียน และเลี้ยงสัตว์ ชุมชนมีพืชเศรษฐกิจที่ส่งออกที่สำคัญคือกระเทียม พริกกะเหรี่ยง และชุมชนมีอาชีพอื่น ๆ คือ ค้าขาย รับจ้าง รับราชการ และรายได้จากการหาของป่าคือน้ำผึ้ง และสัตว์ป่า

พื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และเทศกาลต่าง ๆ

ชุมชนมีพื้นที่จิตวิญญาณในการประกอบพิธีกรรมคือลานต้นธี ที่ใช้เป็นลานแห่งความเชื่อในการทำพิธีกรรม เช่น ปอยต้นธี พิธีกรรมต้นธีรวงข้าว

  • ประชากรบ้านทบศอกมีประชากรทั้งหมดจำนวน 389 คน
  • แบ่งเป็น ชาย 190 คน หญิง 199 คน
  • 98 ครัวเรือนตามหลังคาบ้าน หรือ 107 ครัวเรือนตามทะเบียนบ้านที่อำเภอเมืองแม่ฮ่องสอน
  • ประชากรในชุมชนเป็นชนเผ่ากะแยหรือกะเหรี่ยงแดง
กะแย

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง

  • กลุ่มวิสาหกิจสร้างป่าสร้างรายได้ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2562 โดยกษมา ถาวร เป็นผู้เข้ามาช่วยให้คนในชุมชนมีการบริหารจัดการเรื่องการสร้างรายได้จากป่า ด้วยการใช้ใบไม้มาทำเป็นจาน ด้วยเครื่องอัดขึ้นรูปจาน ทำให้ชุมชนสนใจจึงได้รวมตัวกันจัดตั้งกลุ่มขึ้นมาเพื่อสร้างรายได้แก่ชุมชนและช่วยลดโลกร้อนรวมไปถึงการป้องกันไฟป่าที่หน่วยงานให้ความสำคัญกลุ่มของชุมชนมากขึ้น
  • กลุ่มแม่บ้านเกษตรกรบ้านทบศอก ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2565 มาจากชุมชนอยากสร้างรายได้ด้วยผลผลิตในชุมชนอาทิ พริก กล้วย แตง ถั่ว เพื่อช่วยกันสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนและสร้างพลังในการตั้งกลุ่มเกษตรกรในชุมชน
  • กลุ่มแปรรูปผลผลิตด้วยรูปแบบกสิกรรม ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2564 มาจากการแปรรูปด้วยนวัตกรรม การหมัก การดอง และการส่งเสริมให้ชุมชนเรียนรู้การทำงานเกษตรครบวงจรในชุมชน

อาชีพและการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในชุมชน

  • อาชีพหลัก คือ ทำไร่หมุนเวียน
  • อาชีพเสริม คือ รับจ้างตามฤดูกาล

เครือข่ายการค้าขาย/แลกเปลี่ยนภายใน-ภายนอกชุมชน

  • มีร้านค้าในชุมชนจำนวน 5 ร้าน

การออกไปทำงานนอกชุมชน

  • ชุมชนมีน้อยที่ประกอบอาชีพครู ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดน เนื่องจากชุมชนในอดีตเข้าไม่ถึงระบบการศึกษาทำให้ปัจจุบันจึงเห็นชุมชนทำอาชีพเกษตรมากกว่างานอื่น ๆ

การเข้ามาทำงานในชุมชนของคนต่างถิ่น

  • โรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแม่สะงามีบุคลากรต่างพื้นที่ที่เข้ามาทำงานบรรจุข้าราชการและอัตราจ้างทั่วไป และมีเจ้าหน้าที่อุทยานน้ำตกผาเสื่อที่คอยบริการนักท่องเที่ยวในช่วงการท่องเที่ยว

กิจกรรมทางเศรษฐกิจ (กิจกรรมในการประกอบอาชีพต่าง ๆ )

ปฏิทินการเพาะปลูก

  • มกราคม ถางพื้นที่เพาะปลูก
  • กุมภาพันธ์ ถางพื้นที่เพาะปลูก
  • มีนาคม ชิงเผาพื้นที่เกษตร
  • เมษายน เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
  • พฤษภาคม ปลูกข้าว
  • มิถุนายน ปลูกข้าว/หว่านข้าวนา
  • กรกฎาคม ถางหญ้า/ปลูกข้าวนา
  • สิงหาคม ถางหญ้า
  • กันยายน ถางหญ้า
  • ตุลาคม เกี่ยวข้าวไร่หมุนเวียน
  • พฤศจิกายน เกี่ยวข้าวไร่หมุนเวียน
  • ธันวาคม ขนถ่ายผลผลิต

กิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาของกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี

  • เมษายน ปอยต้นธี
  • กันยายน ปอยข้าวต้ม
  • ตุลาคม ต้นธีเล็ก
  • ธันวาคม ทำบุญผู้ล่วงลับ/ทำบุญหมู่บ้าน/คริสต์มาส

ในรอบปีชุมชนมักประสบภัยธรรมชาติ น้ำป่าไหลหลาก เนื่องจากชุมชนอยู่ใต้ตีนดอย ทำให้ฝนตกชุกมีน้ำป่าไหลหลากลงมาในพื้นที่ชุมชน ในเดือนสิงหาคม-ตุลาคม ฝนตกชุก

ผลกระทบ/ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาในรอบปี

  • ผลกระทบทำให้ชุมชนตื่นตระหนกและมีชีวิตไม่ปลอดภัย รวมไปถึงโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานน้ำแม่สะงาที่เสียงดังรบกวนชุมชนทุก ๆ ปี

พิธีต้นธีรวงข้าว (อิลูโบ๊แปล)

ประกอบพิธี ณ ลานต้นที เริ่มโดยตัดแต่งต้นธีต้นเล็ก 1 ต้น โดยใช้รวงข้าวที่กำลังออกรวงบูชาบนต้นธีเล็ก หมู 2 ตัว

พิธีนี้เป็นสื่อในการสอบถามในเรื่องการปลูกข้าวปีนี้จะมีความอุดมสมบูรณ์หรือประสบปัญหาในการเพาะปลูกหรือไม่

พิธีต้นธี

ประกอบพิธี ณ ลานต้นที ใช้เวลา 3 วัน

วันแรกจะไปตัดต้นธี ซึ่งชาวบ้านจะร่วมแรงร่วมใจไปตัดต้นไม่สะเป่ ยาวประมาณ 8 เมตร แล้วช่วยกันแบกเข้าหมู่บ้าน ปราชญ์ชุมชนจะทำการตกแต่งประดาต้นธี ในวันที่ 2 ช่วยกันสร้างสัญลักษณ์ที่เป็นตัวแทนสื่อความอุดมสมบูรณ์และการให้ความเคารพต่อธรรมชาติ ทาต้นธีด้วยปูนขาว ตกแต่งให้สวยงาม และร่วมต้อนรับแขกต่างหมู่บ้านที่มาพบปะเยี่ยมเยียนเที่ยวงานปอยต้น

พิธีนี้เป็นการบูชาและอธิษฐานต่อขอให้ปีนี้ได้ข้าวดี มีฝนฟ้าอากาศตกตามฤดูกาล ช่วยดูแลชุมชนไม่ให้เกิดปัญหาทั้งสุขภาพกายและใจ การใช้ชีวิตอย่างสงบสุข ขอการคุ้มครองให้เจอแต่เรื่องดีในตนเองและในชุมชน

บวชป่าต้นน้ำ (เก่เกเร๊ดา)

ประกอบพิธี ณ ลานบริเวณข้างลำห้วย ประกอบพิธีประมาณเดือนมกราคม เพื่อขอน้ำ ขอขมาเรื่องที่ดินทำกิน โดยใช้หมู 1 ตัว ไก่ 7 ตัว เมื่อทำพิธีเสร็จจึงจะสามารถทำการแผ้วถางในพื้นที่เกษตรได้

พิธีนี้มีผลต่อชีวิตของคนในชุมชนในเรื่องผลผลิตการทำเกษตร ความเชื่อเรื่องชีวิตของคนในชุมชนจะประสบปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องการล่าสัตว์ จำเป็นต้องทำพิธีกรรมขอขมาก่อนการทำเกษตรในแต่ละปี รวมไปถึงการให้ความเคารพหรือการเชื่อฟังของคนแต่ละคน ถ้าให้ความเคารพจะพบสันติสุขในชีวิต แต่คนที่ไม่เชื่อฟังจะประสบปัญหาไม่ดีตามมา

1.นายเผ่ จรรยากิตติผล

อาศัยอยู่ที่ หมู่ 8

บทบาทสำคัญ งานจักสาน การเสี่ยงทายกระดูกไก่ ทำบุญหมู่บ้าน

เคยดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านสมรสกับนางจันเพ็ญ จรรยากิตติผล มีบุตรด้วยกัน 3 คน เป็นผู้ริเริ่มก่อตั้งหมู่บ้านทบศอกในปี พ.ศ. 2530 เมื่อวันที่ 7 เมษายน 2530 ปัจจุบันเกษียณอายุ มีความรู้ด้านจักสาน เช่น กระด้ง แปม และขันโตก เสื่อ ปัจจุบันได้ถ่ายทอดให้แก่ผู้อื่นเพื่อจะได้นำความรู้จากตนถือปฏิบัติต่อ ๆ กัน

2.นายวันชัย คีรีอร่ามรัศมี

อาศัยอยู่ที่ หมู่ 8

บทบาทสำคัญ ผู้นำงานพิธีกรรมบวชป่าต้นน้ำ (เก่เกเร๊ดา)

เคยดำรงตำแหน่งสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบล (ส.อบต.) สมรสกับนางจินดา ไพรสีน้ำเงิน มีบุตรด้วยกัน 2 คน เป็นผู้มีความรู้ในการทำพิธีกรรมบวชป่าต้นน้ำ ปัจจุบันยังคงทำหน้าที่พิธีกรรมของชุมชนเพราะเป็นสิ่งสำคัญที่ยึดถือปฏบัติจากรุ่นสู่รุ่นในชุมชน

ทุนกายภาพ

ภูเขาต้นไทร มีต้นไทรอายุหลายร้อยปี ภูเขาแหลมลักษณะแหลมเป็นแนวเขตระหว่างนาปลาจาด-ทบศอก ภูเขาสลับซับซ้อน พริก ถั่ว แตง ฟักเขียว ข้าว

ทุนมนุษย์

มีปราชญ์ชุมชนที่มีความรู้ความสามารถในการทำพิธีกรรมตามประเพณีของหมู่บ้าน มีความสามัคคีของผู้คนในชุมชน และร่วมกันสืบสานวัฒนธรรมของชุมชนได้ดี

ทุนวัฒนธรรม

มีสถานที่ดำเนินกิจกรรมพิธีกรรม เช่น อาคารอเนกประสงค์ ลานพิธีกรรรม ลานต้นธี ป่าต้นน้ำ ป่าช้า

ทุนเศรษฐกิจ

มีกองทุนเงินล้าน กองทุนแม่ของแผ่นดิน กองทุนเงินแก้ไขความยากจน (กขคจ.) เป็นต้น

ไม่มีภาษาเขียน ปัจจุบันภาษากะแยเสี่ยงต่อการเลือนหาย เนื่องจากคนรุ่นใหม่เน้นพูดภาษาไทยกลางเป็นหลัก


ภายในชุมชนปกครองกันแบบประชาธิปไตย มีความเป็นพี่เป็นน้องกัน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ ช่วยเหลือกัน


ชุมชนพบกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำ แต่ชุมชนยังรวมกลุ่มผลผลิตเพื่อช่วยเหลือและผลักดันให้ชุมชนหาทางออกในการสร้างรายได้ร่วมกัน


ประชากรชาวกะแยยังรวมกลุ่มกันอยู่ ไม่ค่อยมีการกระจายตัวไปยังที่อื่น ๆ


การเข้าไม่ถึงสิทธิขั้นพื้นฐาน ชุมชนขาดโอกาสทางการศึกษา และพบกับปัญหาการพิสูจน์สถานะพลเมือง


มีระบบประปาภูเขาทำให้มีน้ำอุปโภคและบริโภคเพียงพอ มีไฟฟ้าเข้าถึงทุกครัวเรือน


ภายในชุมชนมีโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพประจำตำบล (รพ.สต.) อาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) และอาสาสมัครพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (อพม.)


ประชากรในชุมชนมีการศึกษาตั้งแต่ระดับประถมศึกษา-ปริญญาตรี


ภายในชุมชนยังมีการจัดงานพิธีกรรมตามประเพณีของชาวกะแยเป็นประจำทุกปี


มีการอนุรักษ์พื้นที่ป่าต้นน้ำ และป่าชุมชน


น้ำตกผาเสื่อ
สำนักงานน้ำตกผาเสื่อ โครงการพลังงานน้ำแม่สะงา
โรงเรียนเก่า 2 แห่ง
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อบต.หมอกจำแป่ โทร. 0-5306-1531