เกษตรนำพาวิถี ประเพณีคู่ชุมชน สามัคคีบ้านเห่ปู่แล
มาจากการตั้งชื่อตามพื้นที่ชุมชนมีบึงในลักษณะเป็นหนองที่มีโป่งที่เป็นแร่ธาตุอยู่เป็นบริเวณกว้าง ชุมชนจึงได้เรียกชื่อตามลักษณะที่ปรากฏต่อ ๆ กันมา
เกษตรนำพาวิถี ประเพณีคู่ชุมชน สามัคคีบ้านเห่ปู่แล
ในปี พ.ศ. 2340 ชุมชนบ้านห้วยโป่งอ่อนก่อตั้งตามบรรพบุรุษราว 200 กว่าปีที่แล้ว เดิมทีอาศัยอยู่ทางทิศตะวันตก อาศัยอยู่ประมาณ 8 หลังคาเรือน โดยมีผู้บุกเบิกก่อตั้งชุมชนประกอบด้วย นายกือ นายมี นายซุ เป็นผู้นำรุ่นแรกในการนำกิจกรรมประเพณีต่าง ๆ ให้แก่ชุมชน
จากนั้นจึงได้อพยพย้ายลงมาใกล้แหล่งน้ำ โดยปัจจัยในการย้ายถิ่นฐานเกิดจากการย้ายตามการทำเกษตรและการเสี่ยงทายกระดูกไก่ ว่าการย้ายออกจากพื้นที่จะประสบปัญหาหรือไม่ เมื่อดูกระดูกไก่และการเสี่ยงทายดี ก็จะทำการย้ายปักหลักลงมาอยู่ในพื้นที่ใกล้แหล่งน้ำและการคมนาคม การค้าขายมีความสะดวกมากขึ้น
ปี พ.ศ. 2524 ได้ก่อตั้งชุมชนโดยใช้ชื่อว่าบ้านห้วยโป่งแม่สะงา เป็นหย่อมบ้านของบ้านแม่สะงา
ปี พ.ศ. 2530 ได้มีการเลือกตั้งผู้ใหญ่บ้านคนแรกชื่อ นายแหม่ ไพรพงศ์พร ปกครองหมู่บ้านได้ 10 ปี
ปี พ.ศ. 2540 นายสุวัฒน์ พงษ์ธรรมชาติ ปกครองหมู่บ้านได้ 1 ปี
ปี พ.ศ. 2541 นายเอกชัย พัฒนาผาเจริญ ปกครองหมู่บ้านได้ 1 ปี
ปี พ.ศ. 2542 นายแหมะ ไพรพงศ์พร ปกครองหมู่บ้านได้ 8 ปี
ปี พ.ศ. 2545 ได้มีการจัดตั้งหน่วยงานมาลาเรียโดยมี นายศุภชัย ไพรพงศ์พร เพื่อช่วยเหลือชุมชนในด้านการรักษาโรคมาลาเรีย
ปี พ.ศ. 2550 ถึงปัจจุบัน นายอำนาจ มีเมืองงาม ปกครองหมู่บ้านได้ 16 ปี
ชุมชนบ้านห้วยโป่งอ่อน หมู่ที่ 7 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน
อาณาเขต
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านหมอกจำแป่
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยมะเขือส้ม
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านสบสอย
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านไม้สะเป่
ชุมชนบ้านห้วยโป่งอ่อน แวดล้อมด้วยภูเขาสลับซับซ้อน สภาพอาคารบ้านเรือนมั่นคงแข็งแรง ไม่มีเอกสารสิทธิ์ที่ดินทำกิน มีสถานศึกษาในชุมชน คือโรงเรียนบ้านห้วยโป่งอ่อน เปิดสอนระดับป.1 - ป.6 สังกัดเขตพื้นที่การศึกษาแม่ฮ่องสอน และมีศูนย์พัฒนาเด็กเล็กสังกัดองค์การบริหารส่วนตำบลหมอกจำแป่
การคมนาคม การเดินทางเข้ามาในชุมชนมีถนนคอนกรีตและถนนลาดยาง สามารถเดินทางได้ด้วยรถยนต์และรถมอเตอร์ไซค์
พื้นที่สาธารณะ ได้แก่ สำนักสงฆ์ 1 แห่ง สาธารณูปโภคเพียงพอใช้น้ำระบบประปาภูเขา มีระบบการไฟฟ้าทุกครัวเรือน สภาพแวดล้อมป่าเขียวขจี มีแหล่งน้ำไหลผ่านชุมชน มีพื้นที่ป่าชุมชน ป่าต้นน้ำ เขตอภัยทาน มีพื้นที่จิตวิญญาณทางวัฒนธรรมที่ยังคงความเชื่อดั้งเดิมไว้โดยมีกลุ่มนักปราชญ์ที่คงไว้การปฏิบัติในชุมชนจากรุ่นสู่รุ่น มีการจัดกิจกรรมประเพณีปอยต้นธี ช่วงเดือน เมษายน กิจกรรมประเพณีปอยข้าวต้ม ในช่วงเดือนกันยายน ประเพณีกิจกรรมต้นทีรวงข้าว ในช่วงเดือนตุลาคม ประเพณีกิจกรรมบวชป่าต้นน้ำในช่วงเดือนพฤศจิกายนทุก ๆ ปี
ชุมชนบ้านห้วยโป่งอ่อน ประกอบด้วย 118 ครัวเรือน ประชากร 450 คน แยกเป็นชาย 227 และหญิง 223 คน
กะแยการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม และการเมือง
ในทางเศรษฐกิจในชุมชนบ้านห้วยโป่งอ่อน มีการรวมกลุ่มกันเฉพาะวัฒนธรรมของชุมชนในช่วงเดือนมีนาคมและเดือนกันยายนของทุกปี เพื่อเป็นการพบปะเยี่ยมเยียนในความเป็นกลุ่มชาติกะแยด้วยกัน
อาชีพและการรวมกลุ่มประกอบอาชีพในชุมชน
อาชีพหลักของชุมชน คือ การทำเกษตรไร่หมุนเวียน ทำนา
อาชีพเสริมรับจ้างทั่วไปหลังจากว่างเว้นจากการทำเกษตร เช่น รับจ้างเกี่ยวข้าว ปลูกกระเทียม ปลูกถั่วเป็นต้น
เครือข่ายการค้าขาย/แลกเปลี่ยนภายใน-ภายนอกชุมชน
ในชุมชนมีร้านค้าในชุมชนจำนวน 4 ร้าน
การออกไปทำงานนอกชุมชน การเข้ามาทำงานในชุมชนของคนต่างถิ่น
การออกไปทำงานของคนในชุมชนส่วนใหญ่เป็นงานข้าราชการ ทหาร อาสาสมัครรักษาดินแดนและรับจ้างประจำ ที่ไม่ไกลจากตัวเมืองแม่ฮ่องสอนประมาณ 25 กิโลเมตร ส่วนใหญ่ชุมชนจะออกไปทำงานนอกชุมชนมากกว่าจะมีคนนอกชุมชนเข้ามารับจ้างในชุมชนด้วยเศรษฐกิจที่ไม่ดี มีรายได้น้อย
องค์กรภายนอกที่เข้ามาทำงานในชุมชน
ในชุมชนมีหน่วยงานที่เข้ามาในชุมชน มีข้าราชการครู และหน่วยงานป่าไม้ ที่เข้ามาประจำอยู่เหนือหมู่บ้าน
ปฏิทินการเพาะปลูก
- มกราคม เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
- กุมภาพันธ์ เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
- มีนาคม เตรียมพื้นที่เพาะปลูก
- เมษายน เผาพื้นที่เกษตร/เก็บเกี่ยวกระเทียม
- พฤษภาคม เตรียมพื้นที่เพาะปลูก หว่านงา
- มิถุนายน ปลูกข้าวพื้นที่เกษตร/ดำนา
- กรกฎาคม กำจัดวัชพืช
- สิงหาคม กำจัดวัชพืช
- กันยายน เก็บเกี่ยวงา
- ตุลาคม เกี่ยวข้าว/เกี่ยวข้าวนา
- พฤศจิกายน ขนถ่ายผลผลิตเกษตรข้าว/ปลูกกระเทียม
กิจกรรมทางสังคม วัฒนธรรม และศาสนาของกลุ่มต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในรอบปี
ชุมชนมีการจัดกิจกรรมประเพณีอย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เช่น ปอยต้นธี และปอยข้าวต้มหัวแหลม พิธีกรรมเก่เกเร๊ดา ต้นธีรวงข้าว เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภัยพิบัติในรอบปี
การเปลี่ยนแปลงในด้านลม ฟ้า พายุ ที่จะเกิดขึ้นในช่วงเดือนกรกฎาคม - สิงหาคม ที่ฝนตกหนัก มีพายุ ทำให้ดินถล่ม ลมพัดบ้านเรือนเสียหาย
ปอยต้นธี
ประกอบพิธี ณ ลานต้นที
เริ่มจากตัดต้นธีจากต้นไม้สเป่ แล้วแบกเข้ามาในชุมชน ทำการประดับแต่งต้นธี ทำการทำนายกระดูกไก่ ว่าการทำต้นธีปีนี้จะมีปัญหาหรือไม่ ปราชญ์ชุมชนจะทำการตกแต่งและช่วยกันสร้างรูปจำลอง เช่น นก ไก่ หรือ รวงข้าว เพื่อให้ปกป้องคุ้มครองสิ่งมีชีวิตในชุมชน
ผู้ทำพิธีเป็นตัวแทนสื่อสารในการบูชาต้นธีรวมไปถึงการถวายเซ่นไหว้ และกล่าวคำขอขมาและขอสอบถามเกี่ยวกับชุมชน ความเป็นอยู่การเกษตร การงาน ว่าจะประสบความสำเร็จหรือไม่
ปอยข้าวต้มหัวแหลม
การห่อใบข้าวต้มหัวแหลมจะใช้ใบต้นไม่กวาดมาห่อลักษณะหัวแหลม ใส่ข้าวพอดีกำมือเข้าไป แล้วนำมาประกบเข้าด้วยกันอย่างน้อย 3 ชิ้น มัดด้วยตอกให้แน่น แล้วนำไปต้มในหม้อประมาณ 30 นาที
การห่อข้าวต้มหัวแหลมจะทำกันทุกครัวเรือนเพื่อเตรียมรับแขกในวันที่ 2 เมื่อมีแขกต่างหมู่บ้านมาเยี่ยมเยียน จะแกะออกให้ทานกันและใช้เป็นของฝากให้กับแขกนำกลับบ้านด้วยคู่กับเหล้าหวาน 1 ขวด
การทำเหล้าหวานจะหมักด้วยผงหัวเชื้อ 3 วันลงในข้าวที่ต้มสุกประมาณ 3 ลิตรแล้วผึ่งลมไว้ จากนั้นนำไปใส่ลงในถังหรือหม้อปิดให้มิดชิด ครบ 3 วันจะมีกลิ่นคล้ายไวน์ออกมา ก็จะนำไปต้มเพื่อลดค่าแอลกอฮอล์ แล้วนำไปบรรจุใส่ขวดไว้บริการแขกต่อไป พิธีนี้เป็นสัญลักษณ์แห่งความสามัคคีของกลุ่มชาติพันธ์ุในอดีตที่เคยร่วมสู้รบด้วยกันมา ทำให้ชุมชนได้ห่อข้าวต้มหัวแหลมเพื่อเป็นการระลึกถึงเหตุการณ์ในอดีต และภาคความเป็นพี่น้องร่วมสาบานในการช่วยเหลือกัน
บวชป่าต้นน้ำ (เก่เกเร๊ดา)
ประกอบพิธี ณ บริเวณท้ายหมู่บ้านข้างลำห้วย
ประกอบพิธีประมาณเดือนมกราคม เพื่อขอน้ำ ขอขมาเรื่องที่ดินทำกิน โดยใช้หมู 1 ตัว ไก่ 7 ตัว เมื่อทำพิธีเสร็จจึงจะสามารถทำการแผ้วถางในพื้นที่เกษตรได้ รายละเอียดการทำพิธีต้องขมาเรื่องสัตว์ป่า ที่ดินทำกิน ความเป็นอยู่ของชุมชน การล่าสัตว์ การปลูกข้าว ชุมชนจะประสบปัญหาในการทำมาหากินรวมไปถึงการล่าสัตว์หรือไม่
พิธีกรรมนี้มีผลต่อชีวิตของคนในชุมชนในเรื่องผลผลิตการทำเกษตร ความเชื่อเรื่องชีวิตของคนในชุมชนจะประสบปัญหาในเรื่องที่ดินทำกิน เรื่องการล่าสัตว์ จำเป็นต้องทำพิธีกรรมขอขมาก่อนการทำเกษตรในแต่ละปี รวมไปถึงการให้ความเคารพหรือการเชื่อฟังของคนแต่ละคนถ้าให้ความเคารพจะพบสันติสุขในชีวิต แต่คนที่ไม่เชื่อฟังจะประสบปัญหาไม่ดีตามมา
ปอยต้นทีรวงข้าว
ประกอบพิธี ณ บริเวณลานต้นที
ปราชญ์ชุมชนจะเป็นคนทำพิธีโดยใช้ต้นคาแทนต้นรวงข้าว จะมีการทำหิ้งข้าง ๆ ต้นธีใหญ่ จะมีการใส่ผลผลิตจากเกษตร เช่น เมล็ดข้าว เมล็ดถั่ว เมล็ดแตง รวมไปถึงชิ้นส่วนเนื้อหมู ไก่ กล้วย เพื่อขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์ปกป้องดูแลผลผลิตให้มีความสมบูรณ์ไม่มีศัตรูพืชมาทำลายผลผลิต
คนที่มีความเชื่อจะนำผลผลิตมาร่วมบูชา พร้อมทั้งเข้ามาขอขมาและขอการปกป้อง คนใดที่มีความเชื่อจะได้รับผลของความเชื่อ ทำให้การทำเกษตรมีความสบายใจและมีความหวังว่าจะได้ผลผลิตที่ดีเกิดขึ้นแก่ตนเอง
1.นายงะ นันทกุลวิริยวง
ที่อยู่ หมู่ 7 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000
บทบาทและความสำคัญในชุมชน การทำพิธีบวชป่าต้นน้ำ การทำพิธีปอยต้นธี
นายงะเป็นคนบ้านห้วยโป่งอ่อนโดยกำเนิด เป็นคนพูดน้อย ชอบช่วยเหลือคนอื่น มีภูมิปัญญาด้านพิธีกรรม สามารถถ่ายทอดความรู้ให้ผู้อื่นได้ดี ปัจจุบันมีหน้าที่ดูแลงานพิธีกรรมด้านปอยข้าวต้มหัวแหลม
2.นายแน
เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2502
ที่อยู่ หมู่ที่ 7 ตำบลหมอกจำแป่ อำเภอเมือง จังหวัดแม่ฮ่องสอน 58000
บทบาทและความสำคัญในชุมชน พิธีกรรมปอยข้าวต้มหัวแหลม พิธีบวชป่าต้นน้ำ
นายแนเข้ามาอยู่ในชุมชนประมาณ 30 ปี อพยพมาจากรัฐคะยาห์ มีความรู้ความสารถในการทำพิธีกรรมด้านการเสี่ยงทาย ปอยข้าวต้ม
ทุนกายภาพ
แม่น้ำห้วยโป่งอ่อน ไม้สัก ไม้แดง กล้วยไม้ หมูป่า กวาง ลิง
ทุนมนุษย์
บ้านห้วยโป่งอ่อนมีปราชญ์ชุมชน 2 คน ที่มีความชำนาญในการทำพิธีกรรม มีผู้นำชุมชนปกครองโดยทีมกรมการปกครอง และทีมบริหาร
ทุนวัฒนธรรม
มีพื้นที่ลานวัฒนธรรมประเพณี และพื้นที่อาคารอเนกประสงค์เพื่อใช้ในกิจกรรมต่าง ๆ ของชุมชน
ทุนเศรษฐกิจ
ชุมชนมีแหล่งกู้ยิมเงินจากภาครัฐ ได้แก่ กองทุนหมู่บ้าน กองทุนแก้ไขความยากจน และกองทุนแม่ของแผ่นดิน
ทุนสังคม/การเมือง
มีกรมส่งเสริมการเรียนรู้ (สกร.) ในตำบลหมอกจำแป่ ชมรมผู้สูงอายุตำบลหมอกจำแป่ สภ.หมอกจำแป่ ที่เป็นภาคีเครือข่ายในการขับเคลื่อนกิจกรรมของชุมชนร่วมกัน
บ้านห้วยโป่งอ่อนใช้ภาษากะแยในการสื่อสาร ไม่มีตัวอักษร หรือภาษาเขียน
ชุมชนยังมีกลุ่มคนต่างด้าวและไม่มีสถานะทางทะเบียน ทำให้หลายครัวเรือนไม่มีสิทธิในด้านที่ดินทำกิน ด้านการเข้าถึงสุขภาพ รวมไปถึงด้านการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น ทำให้ชุมชนยังคงต้องการภาครัฐเข้ามาดูแลรวมไปถึงสิทธิในด้านสาธารณูปโภค ไฟฟ้า ถนน ที่ยังไม่ทั่วถึงโดยเฉพาะทางเข้าพื้นที่เกษตร
ในด้านการศึกษา ชุมชนมีโรงเรียนของภาครัฐที่เปิดสอนในระดับประถมศึกษา มีครูข้าราชการในพื้นที่ทำให้มีความเจริญด้านการพัฒนามากขึ้น
ถ้ำปลา น้ำตกผาเสื่อ
กรมป่าไม้
ป่าชุมชน
โรงเรียน โครงการพลังงานน้ำแม่สะงา
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์กะแย ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.