ชุมชนไตหย่าที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของไตหย่าไว้อย่างชัดเจน เป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกที่เข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไตหย่า และมีตัวแทนชาวไตหย่าออกไปร่วมกิจกรรมทางสังคมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เสมอ
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในช่วงปี พ.ศ. 2484 มีชาวไตหย่า ประมาณ 19 ครอบครัว ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าสักขวาง ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย) ได้หาที่อยู่ใหม่เนื่องจากที่อยู่เดิมมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ที่ทำกินไม่เพียงพอ จนได้มาพบพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านใสสะอาดจึงพากันออกจากบ้านป่าสักขวางมาตั้งรกรากในพื้นที่ใหม่และได้ตั้งชื่อว่าบ้านน้ำบ่อขาว ตามแหล่งน้ำใสสะอาดที่พบ
ชุมชนไตหย่าที่ยังคงรักษาอัตลักษณ์วัฒนธรรมของไตหย่าไว้อย่างชัดเจน เป็นที่รู้จักของบุคคลภายนอกที่เข้ามาศึกษาดูงานและเรียนรู้เกี่ยวกับวัฒนธรรมไตหย่า และมีตัวแทนชาวไตหย่าออกไปร่วมกิจกรรมทางสังคมกับหน่วยงานภายนอกทั้งภาครัฐและเอกชนอยู่เสมอ
ก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 คือในช่วงปี พ.ศ. 2484 มีชาวไตหย่า ประมาณ 19 ครอบครัว ที่อาศัยอยู่ในหมู่บ้านป่าสักขวาง ตำบลแม่คำ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย (ปัจจุบันขึ้นอยู่กับตำบลแม่ไร่ อำเภอแม่จัน จังหวัดเชียงราย) ได้หาที่อยู่ใหม่เนื่องจากที่อยู่เดิมมีจำนวนประชากรเพิ่มขึ้น ทำให้ที่ทำกินไม่เพียงพอ จนได้มาพบพื้นที่ที่มีน้ำไหลผ่านใสสะอาดจึงพากันออกจากบ้านป่าสักขวางมาตั้งรกรากในพื้นที่ใหม่และได้ตั้งชื่อว่าบ้านน้ำบ่อขาว จากการที่ชาวไตหย่าเชื่อถือในองค์พระผู้เป็นเจ้า เมื่อตั้งถิ่นฐานที่ใดก็จะมีการสร้างโบสถ์เพื่อใช้เป็นสถานที่นมัสการพระเจ้าขึ้นที่นั่น ชาวไตหย่าที่มาอยู่บ้านน้ำบ่อขาวจึงสร้างโบสถ์และตั้งเป็นหมวดคริสเตียน บ้านน้ำบ่อขาว
ต่อมาในปลายปี พ.ศ. 2485 ได้รับการสถาปนาเป็น คริสตจักรนทีธรรม ปัจจุบันนี้ ชุมชนน้ำบ่อขาวเป็นชุมชนที่มีสมาชิกส่วนใหญ่เป็นชาวไตหย่า ซึ่งนับได้ว่าเป็นชุมชนที่มีชาวไตหย่าอาศัยอยู่มากกว่าชุมชนไตหย่าอื่น ๆ ในประเทศไทย ปัจจุบันนี้ทางเทศบาลได้แบ่งหมู่บ้านออกเป็นหมวดหมู่ทำให้บ้านน้ำบ่อขาวกลายเป็นชุมชน 2 หมู่บ้านคือ ตั้งอยู่ระหว่างหมู่ 6 และ หมู่ 10 ขึ้นกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นคือเทศบาลตำบลห้วยไคร้ชาวไตหย่าที่เข้ามาอยู่ในหมู่บ้านน้ำบ่อขาวส่วนใหญ่ประกอบอาชีพทำนา ทำเสื่อกก รับจ้างทั่วไป
ในขณะนั้นที่ดินมีมากจึงมีการบุกเบิกที่ดินเพื่อขยายพื้นที่ทำกิน หรือบางครั้งก็ได้มาโดยการซื้อขายในราคาไม่แพงนัก ในชุมชนน้ำบ่อขาวในขณะนั้นมีชาวจีนยูนนาน (จีนฮ่อ) อาศัยอยู่ด้วย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ผู้หญิงชาวไตหย่าได้แต่งงานกับชายชาวจีนยูนนานซึ่งในเวลานั้นชาวจีนกลุ่มนี้มีบทบาททางสังคมค่อนข้างสูง และเป็นเหมือนชนชั้นที่มีฐานะทางเศรษฐกิจสูงกว่าคนกลุ่มอื่นในชุมชนด้วย
บ้านน้ำบ่อขาว เป็นชุมชนคริสเตียนอยู่ท่ามกลางชุมชนของพุทธศาสนิกชน ที่อยู่ร่วมกันอย่างพี่น้องมีความสมานฉันท์ มีการร่วมกิจกรรมประเพณีทางวัฒนธรรมร่วมกัน เป็นหมู่บ้านที่เป็นเส้นทางผ่านไปยังสถานที่ท่องเที่ยวสำคัญคือ พระตำหนักดอยตุง และ พระธาตุดอยตุง มีอาณาเขตติดต่อกับชุมชนใกล้เคียง ดังนี้
- ทิศเหนือ ติดกับ บ้านห้วยไคร้หมู่ที่ 2
- ทิศใต้ ติดกับ บ้านสันกอง อำเภอแม่จัน
- ทิศตะวันออก ติดกับ ถนนพหลโยธิน
- ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านศาลาเชิงดอย หมู่ที่ 6
แผนที่เดินดินแสดงที่ตั้งของครัวเรือนไตหย่าในหมู่บ้านน้ำบ่อขาว ตำบลห้วยไคร้ อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย ที่มีโบสถ์นทีธรรมอยู่เป็นศูนย์กลาง ส่วนสมาชิกที่อยู่นอกหมู่บ้านต่างอำเภอ ไม่ได้นำเสนอไว้ในแผนภาพนี้
บ้านน้ำบ่อขาวมีประชากรไตหย่าจำนวน 70 ครัวเรือน รวมจำนวน ประชากร 206 คน แยกเป็น ชาย 102 คน หญิง 104 คน ส่วนใหญ่มีความเกี่ยวข้องเป็นเครือญาติกัน ตั้งแต่บรรพบุรุษที่อพยพมาจากเมืองหย่า และการเกี่ยวดองกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นในการแต่งงาน จึงทำให้มีความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในชุมชน ส่งผลให้รุ่นลูก รุ่นหลาน ส่วนใหญ่ไม่สามารถพูดภาษาไตหย่าได้ เพราะในครอบครัวไม่ได้ใช้ภาษาไตหย่าเป็นภาษาหลัก แต่ใช้ภาษาพื้นเมืองในชีวิตประจำวันและใช้ภาษาไทยกลางในโรงเรียน ในการทำงาน
ไตหย่า, ไทยวน, ไทลื้อ, ไทใหญ่, อ่าข่า, จีนยูนนาน(จีนฮ่อ)ในชุมชนมีศูนย์กลางคือคริสตจักรนทีธรรมที่เป็นสถานที่ในการทำกิจกรรมต่าง ๆ เพื่อประโยชน์แก่สมาชิกทั้งด้านการดำเนินชีวิตและการพัฒนาฝ่ายจิตวิญญาณ ด้วยความผูกพันและการเกื้อกูลกันทำให้มีการรวมกลุ่มที่ทำงานมาอย่างต่อเนื่องและมีความมั่นคง ดังนี้
1.กลุ่มออมทรัพย์คริสตจักรนทีธรรม เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่วันที่ 4 มกราคม 2535 มีวัตถุประสงค์เพื่อให้สมาชิกมีการออมเงิน และนำเงินออมมาช่วยเหลือสมาชิกในการให้กู้ยืมในอัตราดอกเบี้ยที่ถูก นำดอกเบี้ยที่ได้มาจัดสรรเป็นเงินปันผลคืนให้แก่สมาชิก มีการจัดสรรเงินไว้เป็นสวัสดิการจำเป็น เช่น การรักษาพยาบาล การเสียชีวิต และทุนการศึกษาสำหรับเยาวชนที่เป็นสมาชิก
2.กลุ่มเกลือเสริมไอโอดีน เริ่มก่อตั้งมาตั้งแต่ปี 2540 จำนวนสมาชิก 71 คน ทุนเรือนหุ้น เป็นเงิน 21,300 บาท เป็นกิจกรรมเสริมอาชีพให้แก่สตรีในชุมชนที่ว่างจากการทำงานบ้าน ใช้เวลามาบรรจุเกลือจากถุงกระสอบใหญ่ลงถุงเล็กเพื่อจำหน่ายให้แก่ร้านค้าในชุมชนและหมู่บ้านใกล้เคียง เป็นการสร้างรายได้เสริมและมีผลกำไรที่นำมาจัดสรรเป็นเงินปันผลแก่สมาชิกทุกปี ในอัตราร้อยละไม่เกิน 20 บาทต่อหุ้น และจัดสรรเป็นเงินสนับสนุนพันธกิจของคริสตจักรนทีธรรมอีกทางหนึ่งด้วย
3.กลุ่มฌาปนกิจคริสตจักรนทีธรรม เป็นกลุ่มที่ตั้งขึ้นเพื่อช่วยเหลือกันในเวลาที่มีผู้เสียชีวิตเกิดขึ้นเพื่อแบ่งเบาภาระให้แก่สมาชิกในครอบครัว โดยมีการเก็บเงินครอบครัวละ 100 บาท เมื่อสมาชิกกลุ่มเสียชีวิตมีคณะกรรมการทำงานจิตอาสาในการเก็บเงินและดูแลการเงินให้แก่สมาชิก
4.กลุ่มอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมไตหย่า เป็นกลุ่มของสตรีที่ใช้เวลายามว่างมาร่วมกันจัดทำผลิตภัณฑ์ที่เป็นอัตลักษณ์ของชาติพันธุ์ไตหย่า ได้แก่ เสื้อผ้าไตหย่า ย่าม ผ้าปัก กระเป๋า ตุ๊กตาพวงกุญแจ ที่ติดเสื้อ เป็นต้น
ช่วงเวลา | กิจกรรม | วัตถุประสงค์ |
เสาร์แรกของเดือนกุมภาพันธ์ | วันถวายขอบพระคุณพระเจ้าหรือแต่เดิมเรียกวันกินข้าวใหม่ | เพื่อเฉลิมฉลองหลังการเก็บเกี่ยวและการขอบพระคุณพระเจ้าที่อวยพรชีวิตมาตลอดปีที่ผ่านไป |
มีนาคม-เมษายน จะมีการกำหนดวันตามปฏิทินศาสนา | เทศกาลวันอีสเตอร์ | เพื่อเฉลิมฉลองวันคืนพระชนม์ของพระเยซูคริสต์หลังจากถูกตรึงที่ไม้กางเขนเพื่อไถ่บาปมนุษยชาติ |
เมษายน | วันครอบครัวและ รดน้ำดำหัวผู้สูงอายุ | เพื่อให้ทุกครอบครัวได้ใช้เวลาร่วมกันและมีการรดน้ำดำหัวขอพรจากผู้สูงอายุ |
อาทิตย์ที่ 3 ของพฤษภาคม | วันขอพระพร | เพื่อขอพรสำหรับการเพาะปลูกการประกอบอาชีพและการศึกษาของบุตรหลานในภาคเรียนใหม่ |
กรกฎาคม | ถวายพระพรในหลวงรัชกาลที่ 10 | เพื่อขอพระเจ้าอวยพรในหลวงและพระราชวงค์ทุกพระองค์ |
สิงหาคม | วันแม่และถวายพระพรพระพันปีหลวง | เพื่อให้ลูก ๆ ได้ทำกิจกรรมดี ๆ ให้แก่แม่ มีการประกาศเกียรติคุณคุณแม่และขอพระเจ้าอวยพระพันปีหลวง และ พระราชวงค์ |
ตุลาคม | วันนวมินทรมหาราช ระลึกถึงวันสวรรคตของในหลวง รัชกาลที่ 9 | เพื่อแสดงควาจงรักภักดีและสำนึกในพรมหากรุณาธิคุณของในหลวง ร.9 |
24-25 ธันวาคม | วันคริสต์มาส | เพื่อเฉลิมฉลองวันคริสต์มาส วันที่องค์พระเยซูคริสต์มาบังเกิดเพื่อไถ่บาปมนุษย์ และอวยพรให้ของขวัญแก่กันและกัน |
31 ธันวาคม | วันส่งท้ายปีเก่า ต้อนรับปีใหม่ | เพื่อนมัสการพระเจ้าในการดูแลอารักขาชีวิตตลอดปี และ ขอรับการทรงนำในการดำเนินชีวิตในปีใหม่ |
ทุนชุมชนที่ปรากฏชัดเจน ได้แก่
ทุนกายภาพ จากการที่สภาพชุมชนมีโบสถ์เป็นศูนย์กลาง และบ้านเรือนของสมาชิกตั้งเรียงรายรอบโบสถ์ ทำให้ชุมชนมีการดูแลซึ่งกันและกัน มีความปลอดภัยในชุมชน มีความเอื้อเฟื้อเกื้อกูลกัน ที่ตั้งของชุมชนมีความอุดมสมบูรณ์ ไม่เคยประสบปัญหาอุทกภัย หรือภัยธรรมชาติที่รุนแรงให้เกิดความเสียหาย
ทุนมนุษย์ มีการสืบทอดความเชื่อทางศาสนาคริสต์ และวัฒนธรรมของชาติพันธุ์ไตหย่าจากรุ่นสู่รุ่น
ทุนวัฒนธรรม มีวัฒนธรรมไตหย่าที่โดดเด่นที่เดียวของประเทศไทยที่ยังคงเป็นแหล่งเรียนรู้และศึกษาดูงานจากหน่วยงานและผู้สนใจ
ทุนเศรษฐกิจ มีกลุ่มออมทรัพย์ที่ช่วยเหลือสมาชิกด้านการเงินในยามจำเป็น
ทุนสังคม มีภาคีเครือข่ายในชุมชนร่วมกับสมาชิกของหมู่บ้านแม้จะแตกต่างทางความเชื่อแต่มีความสามัคคีช่วยเหลือกัน ภาคีเครือข่ายภายนอกร่วมกับกลุ่มชาติพันธุ์ต่าง ๆ ในการร่วมกิจกรรมทางสังคม เช่น งานมหัศจรรย์ 10 ชาติพันธุ์แม่สาย และร่วมกับ 17 กลุ่มชาติพันธุ์ในเชียงราย ร่วมกันจัดกิจกรรมที่ข่วงวัฒนธรรมขององค์การบริหารส่วนจังหวัดเชียงรายในงานมหกรรมดอกไม้อาเซียนทุกปี
ชาวไตหย่า มีภาษาพูดเป็นของตัวเอง ที่ฟังแล้วจะคล้ายคลึงกับภาษาไทยลื้อหรือไทยยอง แต่จากการที่ไม่มีตัวอักษรในการจดบันทึก จึงทำให้ภาษามีการเปลี่ยนแปลงและสูญหายไปมาก
จากการศึกษาของ เรืองเดช ปันเขื่อนขัติย์ (2534 : 17-29) สรุปว่า ภาษาไตหย่า เป็นภาษาถิ่นหนึ่งของภาษาตระกูลไทย หรือตระกูลไต เช่นเดียวกับภาษาไทยกรุงเทพฯ และภาษาไทยถิ่นอื่น ๆ ระบบคำของภาษาไตหย่าจะมีลักษณะคล้าย ๆ กับภาษาไทยถิ่นต่าง ๆ จากการศึกษาถึงระบบคำของภาษาไตหย่าโดยอาศัยรูปคำต่าง ๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวันเป็นหลักแล้ว จะพบว่าเป็นภาษาคำโดด (monosyllabic language) เพราะมีระบบคำที่มีพยางค์เดียวใช้มากกว่าคำที่มีหลายพยางค์ จากการสรุปลักษณะทั่วไปของภาษาไตหย่าที่ศึกษาถึงระบบเสียง ระบบคำ และระบบประโยค ในภาษาพูด ไว้ดังนี้
- ภาษาไตหย่า เป็นภาษาคำโดด จึงมีคำโดดใช้ในชีวิตประจำวันมากกว่าคำหลายพยางค์
- ภาษาไตหย่า มีระบบเสียงรวมกันทั้งหมด 41 หน่วยเสียง คือหน่วยเสียงพยัญชนะ18 หน่วยเสียง หน่วยเสียงสระ 18 หน่วยเสียง และหน่วยเสียงวรรณยุกต์ 5 หน่วยเสียง
- ภาษาไตหย่า มีการแตกตัวของเสียงวรรณยุกต์เป็นสองทาง คือ ระหว่างอักษรสูงกับอักษรกลาง รวมกับอักษรต่ำ
- ภาษาไตหย่าไม่มีหน่วยเสียง / b d r และ eh / (บ ด ร และ ช) ในภาษาไตหย่าเหมือนกับภาษาไทยกลาง จะใช้หน่วยเสียง ว แทน บ หน่วยเสียง ล แทน ด หน่วยเสียง ฮ แทน ร และ หน่วยเสียง จ แทน ช
- ภาษาไตหย่ามีคำยืมมาจากภาษาอื่นน้อยมาก คำที่ยืมมาใช้ส่วนใหญ่ยืมมาจากภาษาจีนฮ่อ
- ภาษาไตหย่า มีจำนวนคำที่ใช้ในชีวิตประจำวันน้อยกว่าภาษาไทยถิ่นอื่น ๆ ที่มีการพัฒนาและได้รับอิทธิพลจากภาษาอื่นหลายภาษา
- ภาษาไตหย่าไม่มีการทำคำกริยาให้เป็นคำนามเหมือนกับภาษาไทยกลาง
- ไม่มีเสียงควบกล้ำใช้ในภาษาไตหย่า คำทุกคำจะมีหน่วยเสียงเดียวเป็นพยัญชนะต้นคำ
- ไม่มีสระประสมใช้ในภาษาไตหย่า กล่าวคือ สระเอีย เอือ อัว ที่มีในภาษาไทยถิ่นอื่น ภาษาไตหย่าจะใช้สระเดี่ยว คือ สระ เอ เออ และ โอ ตามลำดับ
- เสียงวรรณยุกต์ตรี (high tone) ของภาษาไตหย่าจะมีเสียงต่ำกว่าระดับเสียงภาษาไทยกลาง และภาษาไทยล้านนามาก
- ภาษาไตหย่ามีคำคุณศัพท์เปรียบเทียบขั้นกว่า และขั้นสูงสุดใช้ดังนี้คือ ใช้คำว่า หลาย แทนคำว่า กว่า และ หลายเปิ้น แทนคำว่า ที่สุด
- มีคำอุปสรรคเติมหน้าคำอยู่บ้าง แต่ไม่มากนัก เช่น อา เป็นต้น
- มีคำสรรพนามใช้อย่างจำกัดเพียง 7 คำ คือ บุรุษที่ 1 เฮา เกา บุรุษที่ 2 เมอ สู บุรุษที่ 3 มัน เขา เปิ้น นอกจากนั้นใช้คำเครือญาติเป็นคำสรรพนาม
- หน่วยเสียง ง จะไม่เกิดขึ้นต้นคำของภาษาไตหย่า ในกรณีที่ภาษาไทยมีเสียง ง ต้นคำ จะแทนด้วยหน่วยเสียง ญ เช่น งาม (ญาม) งู (ญิว) เป็นต้น
ในส่วนของภาษาเขียน ชาวไตหย่าเป็นชนกลุ่มไตที่มีแต่ภาษาพูดไม่มีภาษาเขียน แม้ว่ามิชชันนารีซึ่งได้เข้าไปเผยแพร่ศาสนาคริสต์ในหยวนเกียงจะพยายามประดิษฐ์อักษรสำหรับชาวไตหย่าขึ้นมาใช้ก็ตาม แต่ก็ไม่สำเร็จ ดังนั้นการเขียนของชาวไตหย่า จึงใช้อักษรของจีนเขียนตามภาษาพูด (กาญจนา เงารังษี, 2526 : 37)
สถานการณ์ การเปลี่ยนแปลงที่เป็นสิ่งสำคัญให้เกิดการตระหนักของกลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่าคือการผสมกลมกลืนกับวัฒนธรรมอื่นในเด็กรุ่นใหม่ จนละเลยไม่สนใจวัฒนธรรมของบรรพบุรุษตนเอง โดยเฉพาะด้านภาษาที่เริ่มมีผู้ใช้หรือพูดภาษาไตหย่าน้อยลง จึงเป็นสิ่งจำเป็นและขอความร่วมมือในทุกครอบครัวที่จะร่วมกันฟื้นฟูอัตลักษณ์ของตน ด้วยการถ่ายทอดวัฒนธรรมที่มีอยู่ไม่ว่าด้านการแต่งกายไตหย่าในโอกาสวันสำคัญ การทำอาหารทานในครอบครัว การฝึกพูดภาษาไตหย่า และการกลับไปเยือนแผ่นดินของบรรพบุรุษเพื่อสร้างจิตสำนึกและการหวนคืนสู่รากเหง้าของตน
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไตหย่า ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.