ชุมชนชาวแพที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง
ชื่อชุมชนคงมีที่มาจากทำเลที่ตั้ง กล่าวคือ เป็นกลุ่มเรือนแพที่อยู่ในบริเวณลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง
ชุมชนชาวแพที่อยู่บริเวณลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง
กลุ่มเรือนแพในชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังนี้มีอายุการตั้งถิ่นฐานเริ่มแรกประมาณ 100 ปี จากที่มีการอพยพเข้ามาอยู่ในเรือนแพของชาวบ้านชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังเกิดขึ้นตั้งแต่ประมาณสมัยรัชกาลที่ 5 หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 (เยาวเรศ ภักดีจิตร และคณะ, 2560)
แต่เดิมเป็นเรือนหลังคามุงแฝก ได้มีการเปลี่ยนเป็นมุงสังกะสีทั้งหมดเมื่อประมาณ 30-40 ปีที่แล้ว ผู้ที่อาศัยในเรือนแพส่วนใหญ่เป็นคนไทยเชื้อสายจีน เพราะในอดีตเรือนแพมีหน้าที่คล้ายคลึงกับเรือนพักอาศัยที่สามารถเคลือนย้ายเพื่อการค้าได้ และผู้ที่ขึ้นล่องค้าขายในอดีตคือคนจีนที่มักจะแต่งงานกับคนไทยในที่ ๆ แพหรือเรือนของตนไปจอดพักอยู่ ซึ่งจะพบลูกหลานของชาวแพมีชีวิตต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน แต่บทบาทของเรือนแพในปัจจุบันกับเรือนแพในอดีตต่างกันอย่างมาก เนื่องจากในอดีตเมื่อมีการก่อตั้งบ้านเรือนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง ซึ่งมีทั้งหมู่บ้านบนฝั่งและเรือนแพที่สามารถเคลื่อนย้ายเพื่อการค้าขายได้สะดวก
แต่ในปัจจุบันนี้ทุกเรือนมีบ้านเลขที่ของตนเอง ซึ่งหมายถึงว่าจะไม่มีการเคลื่อนย้ายเช่นในอดีต ทำให้เห็นว่าในบริเวณลุ่มแม่น้ำสะแกกรังอำเภอเมืองนี้เป็นแหล่งที่ยังมีเรือนแพเกาะกลุ่มกันแบบหมู่บ้านที่เป็นกลุ่มก้อน ทุกเรือนแพอยู่ในการปกครองส่วนท้องถิ่นของเทศบาลเมือง และทางเทศบาลมีนโยบายควบคุมจำนวนแพไม่ให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากเกรงว่าจะเป็นตัวทำลายคุณภาพของสิ่งแวดล้อมและแม่น้ำ
สภาพพื้นที่ทางกายภาพ
ชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีลักษณะเป็นกลุ่มเรือนแพที่อยู่หนาแน่นในบริเวณย่านตลาดเทศบาล อำเภอเมือง และบริเวณหน้าวัดอุโบสถาราม (วัดโบสถ์) และกระจายตัวออกไปตามแม่น้ำสะแกกรังทั้งทางด้านทิศตะวันออกและตะวันตกของตลาดเทศบาล กลุ่มเรือนแพที่อยู่บริเวณด้านทิศตะวันตกของเทศบาลจะมีความหนาแน่นประมาณ 1-2 กิโลเมตร ทั้งสองฟากของแม่น้ำ ส่วนด้านทิศตะวันออกของตลาดเทศบาลจะมีเรือนแพเกาะกลุ่มกันยาวไปตามแม่น้ำทั้งสองฟากหนาแน่นบ้าง เบาบางบ้าง แต่มีต่อเนื่องไปตลอดจนถึงวัดภูมิธรรมโดยที่เรือนแพจะทิ้งช่วงห่าง ดังนั้นหากนั่งเรือจากตลาดเทศบาลไปทางทิศตะวันออกของตลาดเทศบาล ผ่านศาลากลางจังหวัดอุทัยธานี ศาลหลักเมือง สำนักงานโยธาจังหวัด สะพานพัฒนาภาคเหนือ โรงเรียนเทคนิคอุทัยธานี จนถึงโรงสีหน้าวัดภูมิธรรม จะพบชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังทั้งสองฟาก รวมระยะทางประมาณ 7-8 กิโลเมตร
ทรัพยากรทางธรรมชาติ
- แหล่งน้ำ แม่น้ำสะแกกรัง มีต้นกำเนิดมาจากเทือกเขาในจังหวัดกำแพงเพชร ไหลผ่านนครสวรรค์ลงมายังอุทัยธานี และบรรจบกับแม่น้ำเจ้าพระยาที่ตำบลท่าซุง อำเภอเมือง จังหวัดอุทัยธานี มีความยาวประมาณ 225 กิโลเมตร (สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน, 2564) เป็นเส้นเลือดสำคัญที่หล่อเลี้ยงชีวิตของคนอุทัยธานี ในอดีตเคยเป็นเส้นทางคมนาคมที่สำคัญ ทั้งเป็นเส้นทางสัญจรของชาวบ้าน และเป็นเส้นทางขนส่งสินค้านานาชนิด รวมถึงเป็นแหล่งทำการค้าที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของภาคกลาง (เยาวเรศ ภักดีจิตร และคณะ, 2560) ซึ่งถือเป็นแม่น้ำสายสำคัญต่อชาวบ้านชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังที่อาศัยอยู่ในบริเวณนี้ เนื่องจากมีวิถีชีวิตที่สัมพันธ์กับน้ำ เช่น การประกอบอาชีพ การดำรงชีพ การใช้อุปโภคบริโภค เป็นต้น
- สัตว์ แม่น้ำสะแกกรังเป็นแหล่งน้ำที่อุดมสมบูรณ์ทำให้ชาวบ้านมีการทำประมงน้ำจืดเกือบทุกครัวเรือน โดยการเลี้ยงปลาไว้ในกระชัง ซึ่งปลาที่นิยมเลี้ยงไว้ขายคือ ปลาแรด ปลายสวาย และปลาเทโพ
- พืช ด้วยสภาพพื้นที่ทำให้ชาวบ้านสามารถปลูกพืชได้ เช่น ผักบุ้ง ใบเตย ผักกาด ดอกจอก ฯลฯ ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อบริโภคกันเองภายในครัวเรือน และมีส่งไปขายที่ตลาดเทศบาลเป็นบางส่วน
จากข้อมูลการสำรวจของกรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย ปี 2565 ระบุจำนวนครัวเรือนและประชากรชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จำนวน 290 หลัง ประชากรรวมทั้งหมด 727 คน แบ่งเป็นประชากรชายได้ 361 คน แบ่งเป็นประชากรหญิงได้ 366 คน (สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง, 2565)
ปัจจุบันชาวบ้านลุ่มแม่น้ำสะแกกรังซึ่งส่วนใหญ่เป็นผู้รับมรดกตกทอดเรือนแพมาจากบรรพบุรุษ หากพื้นที่ที่จอดแพไม่ได้จอดหน้าที่ดินของตนเองริมฝั่งจะต้องเสียค่าเช่าที่จอดแพให้แก่เจ้าของที่ประมาณปีละ 100-400 บาท และหากบริเวณริมตลิ่งเจ้าของที่ไม่ได้ทำประโยชน์ใด ๆ ก็จะอนุเคราะห์ให้เจ้าของแพปลูกพืชผักสวนครัวริมตลิ่งได้
อาชีพหลัก ชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งส่วนใหญ่เป็นปลาแรด ปลาสวาย และปลาเทโพเป็นหลัก ปลาแรดจะใช้เวลาเลี้ยงประมาณ 14 เดือน ในขณะที่ปลาสวายและปลาเทโพใช้เวลาประมาณ 10 เดือน จึงจะนำมาขายได้ การเลี้ยงสาวใหญ่จะเลี้ยงครั้งละ 1500-3000 ตัว ซึ่งเป็นปลาคุณภาพดี เพราะกระชังจะมีน้ำไหลถ่ายเทได้ตลอดเวลาและขายได้ราคาดี เช่น ปลาแรด ที่เมื่อโตพอที่จะขายได้มีน้ำหนักประมาณ 1-1.5 กิโลกรัม ขายกิโลกรัมละ 50 บาท นับเป็นอาชีพที่ทำต่อเนื่องมาแต่ครั้งปู่ย่าตายาย
แต่บางเรือนมีที่ดินอยู่บริเวณฟากตะวันออกของเกาะเทโพจะมีการทำไร่ ทำสวน ผลไม้ที่นิยมปลูกคือ มะนาว ส้มโอ ฝรั่ง ขนุน กล้วน ชมพู่ เงาะ มังคุด มะยม มะพร้าว ฯลฯ โดยเฉพาะส้มโอจะนิยมปลูกกันมาก เพราะสามารถเก็บผลได้ปีละ 2 ครั้ง และมีพ่อค้ารับไปขายที่ตลาด นอกจากการทำสวนบนเกาะเทโพแล้ว ชาวบ้านชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังนิยมปลูกสวนครัวบนแพใกล้ ๆ เรือนตนเอง ที่นิยมปลูกคือ ผักบุ้ง ใบเตย ผักกาด ดอกจอก ฯลฯ ส่วนใหญ่ปลูกไว้เพื่อบริโภคกันเองภายในครัวเรือน และมีส่งไปขายที่ตลาดเทศบาลเป็นบางส่วน รวมถึงไว้ใช้สำหรับเลี้ยงปลาในกระชังด้วย ซึ่งเป็นการลงทุนที่ถูกที่สุดและผลที่ได้คือ ถึงแม้ปลาจะโตช้าแต่มีลักษณะที่ตัวยาวรีและรสชาติดี
อาชีพเสริม เป็นอาชีพที่มีความสัมพันธ์กับการเลี้ยงปลาในกระชังของชาวบ้านคือ การทำปลาย่าง แต่ไม่ใช่ปลาที่เลี้ยงเอง เป็นการนำปลาที่ส่งมาขายในตลาดเทศบาล เช่น ปลาแดง มาย่างโดยการต่อชานแพโล่ง ๆ ออกไปจากที่อยู่อาศัย ทำให้สามารถมีรายได้และสร้างอีกหนึ่งอาชีพของชาวบ้านชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังได้ นอกจากนี้ด้วยสภาพแวดล้อมดังกล่าวของชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรังมีอีกอาชีพที่น่าสนใจคือ อาชีพรับจ้างซักเสื้อผ้าให้ชาวแพ เป็นการซักด้วยเครื่องแต่ตากด้วยแดดลมธรรมชาติ จะเห็นว่าเป็นการดำรงชีวิตแบบชาวน้ำ ตามสภาพแวดล้อมที่อยู่อาศัยของตนเอง เช่นเดียวกับที่บรรพบุรุษเคยเป็นมา
ชาวบ้านชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จะเป็นที่อยู่อาศัยแบบเรือนแพเนื่องจากอยู่บริเวณแม่น้ำ เลยต้องมีการเสียค่าใช้จ่ายในการปรับปรุงบ้านตามราคาไผ่ในท้องตลาด และราคาค่าซ่อมแซมบ้านที่อยู่อาศัย โดยที่บนแพจะสร้างบ้านใช้เป็นที่อยู่อาศัย ส่วนใต้แพจะใช้เลี้ยงปลาในกระชัง ซึ่งตัวเรือนทำด้วยลูกบวบที่ใช้เป็นฐานในการสร้างและทำให้ลอยตัวอยู่บนผิวน้ำได้ ระยะเวลาในการเปลี่ยนประมาณ 3 ปีต่อครั้ง ส่วนวิถีชีวิตของชาวบ้านทุกครอบครัวจะมีเรือเป็นพาหนะในการเดินทาง ในบ้านจะแยกเป็น 2 ส่วน คือ ห้องนอนและห้องอเนกประสงค์ใช้เป็นครัว ไว้นั่งเล่น มีไฟฟ้าเข้าถึงและจ่ายค่าไฟตามอัตราที่กำหนดเหมือนกับคนบนบก จะมีการตักบาตรที่ลำน้ำสะแกกรังในตอนเช้าของทุกวัน ยกเว้นวันสำคัญทางพุทธศาสนา มีการประกอบพิธีกรรมที่เกี่ยวข้องกับชีวิตประจำวันโดยทั่วไปตามปกติ เช่น การบวช การแต่งงาน งานศพและการทำบุญตักบาตรในวันสำคัญทางพุทธศาสนา (เยาวเรศ ภักดีจิตร และคณะ, 2560) และการดำรงชีวิตแบบชาวน้ำคือ การใช้ชีวิตอยู่บนน้ำ และมีน้ำเข้ามาเกี่ยวข้อง เป็นการตั้งบ้านเรือนบนน้ำ ใช้น้ำในการอาบ มีการเลี้ยงปลาในกระชัง ปลูกพืชผักลอยน้ำ ทั้งหมดล้วนเป็นวิถีชีวิตของชาวบ้านชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จะเห็นว่าสภาพแวดล้อมทางกายภาพมีความสัมพันธ์กับวิถีชีวิตของคนในชุมชน
ทุนกายภาพ
- แม่น้ำ แม่น้ำสะแกกรังซึ่งมีความสำคัญต่อคนในชุมชนลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง เพราะมีการทำอาชีพเลี้ยงปลาในกระชังซึ่งเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน นอกจากนี้ยังเป็นที่อยู่อาศัยของช้าวบ้านอีกด้วย
- พันธุ์สัตว์ ปลาที่นิยมเลี้ยง เช่น ปลาแรด ปลาสวาย ปลาเทโพ เนื่องจากชาวบ้านทำกระชังที่มีน้ำไหลถ่ายเทได้ตลอดเวลา ทำให้ปลามีคุณภาพดี ไม่เหม็นกลิ่นโคลนเหมือนปลาที่ตกในแม่น้ำ และขายได้ราคาดี
ในอดีตสามารดื่มน้ำจากแม่น้ำได้ แต่ปัจจุบันใช้ได้แค่การอุปโภคไม่ว่าจะเป็นการซักผ้า อาบน้ำ ส่วนน้ำดื่มหรือใช้ทำกับข้าวต้องซื้อน้ำใช้
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (2564). “ชุมชนชาวแพสะแกกรัง” พิพิธภัณฑ์มีชีวิตที่ จ.อุทัยธานี. ค้นจาก https://web.codi.or.th/
สำนักบริหารการทะเบียน กรมการปกครอง. (2565). สถิติจำนวนประชากร ปี พ.ศ. 2565. ค้นจาก https://stat.bora.dopa.go.th/
เยาวเรศ ภักดีจิตร และคณะ. (2560). การมีส่วนร่วมของชุมชนในการสร้างหลักสูตรท้องถิ่นและพัฒนาฐานความรู้สู่ลุ่มแม่น้ำสะแกกรัง จังหวัดอุทัยธานี. วารสารวิชาการเครือข่ายบัณฑิตศึกษามหาวิทยาลัยราชภัฎภาคเหนือ, 7(13), จาก https://so02.tci-thaijo.org/
อรศิริ ปาณินท์. (2546). หมู่บ้านลอยน้ำของไทย. กรุงเทพฯ: เจ.พริ้น ท่าพระจันทร์. ค้นคืนเมื่อ 25 เมษายน 2566 , จาก ฐานข้อมูลงานวิจัย ศมส.: https://www.sac.or.th/databases/sac_research/
มิวเซียมไทยแลนด์. (2559). ชุมชนชาวแพสะแกกรัง ฤๅจะเลือนหายไปตามกาลเวลา - ชุมชนชาวแพแห่งสุดท้ายของประเทศไทย. ค้นจาก https://www.museumthailand.com/