ชุมชนพหุวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันมายาวนาน มีทั้งพุทธ มุสลิม คริสต์ และอูรักลาโว้ย
ชุมชนพหุวัฒนธรรม อยู่ร่วมกันมายาวนาน มีทั้งพุทธ มุสลิม คริสต์ และอูรักลาโว้ย
ชาวเลอูรักลาโว้ย ที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ที่เมืองไทรบุรี รัฐเคดาร์ ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย เป็นกลุ่มแรกที่อพยพมาอาศัยที่เกาะลันตา ในสมัยกรุงศรีอยุธยา (ศิริวรรณ ศิลาพัชรนันท์, ม.ป.ป., หน้า 169) แต่เป็นการอพยพมาตั้งถิ่นฐานที่ไม่ถาวรเพราะต้องย้ายถิ่นไปหากินตามเกาะต่าง ๆ เปลี่ยนไปตามฤดูกาล เมื่อหมดหน้ามรสุมก็กลับมายังที่อยู่เดิม การตั้งบ้านเรือนของชาวเลจึงตั้งอยู่ในสภาพภูมิศาสตร์ที่ใกล้ชายทะเล หมู่เกาะ หรืออ่าว เพราะสามารถหลบคลื่นลมได้ดีและยังเหมาะกับการประกอบอาชีพของชาวเลด้วย บรรพบุรุษชาวอูรักลาโว้ยได้เข้ามาตั้งหลักแหล่งบนเกาะลันตา และเรียกเกาะนี้ว่า ปูเลาตอข้า หรือปาตัยซาตั๊ก หมายถึง เกาะที่มีหาดทรายขาวทอดตัวยาว (แม้นวาด กุญชร ณ อยุธยา, 2550 หน้า 7) ปัจจุบันปาตัยซาตั้กของชาวเลอูรักลาโว้ย คือ เกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ สอดล้องกับที่ อาภรณ์ อุกฤษณ์ (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2532, หน้า 36-38) ได้กล่าวถึงการเข้ามาอยู่อาศัยของชาวเลเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ว่า ชาวเลเริ่มขึ้นบก มาสร้างบ้านเรือนด้านชายทะเลฝั่งตะวันออกและทางทิศเหนือของเกาะ เช่น บ้านเจ๊ะหลี บ้านบ่อแหน เป็นต้น
ต่อมาก็อพยพเคลื่อนย้ายไปตามริมอ่าวชายฝั่งทะเลตะวันออกทางใต้ของเกาะ จนมาถึงบ้านหัวแหลมกลาง และบ้านหัวแหลมสุด บริเวณอ่าวมาเละ และอ่าวคลองปอ เพราะไม่ชอบอยู่ร่วมกับผู้คนและสังคมที่ต่างวัฒนธรรม เช่น บ้านทุ่งหยีเพ็ง เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเลมาก่อน ต่อมามี โต๊ะหยีเพ็ง ซึ่งเป็นโจรมุสลิม หนีตำรวจเข้ามาอยู่อาศัยบริเวณนี้ และสร้างความเดือดร้อนให้กับชาวบ้านที่อยู่อาศัยมาก่อน ชาวเลจึงอพยพออกไปอยู่บ้านทุ่งส้าน ทุ่งโต๊ะเขียว และบ้านเจ๊ะหลี ก็เคยเป็นที่อยู่ของชาวเลมาก่อนเช่นกัน ต่อมามีชาวมุสลิมที่หนีการเกณฑ์ทหารจากสตูล ปลิส กลันตัน เข้ามาจับจองที่ดิน ทำให้ชาวเลต้องอพยพออกมา ส่วนบริเวณบ้านบ่อแหน ก็เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเลมาก่อน จากหลักฐานคือ สุสานเก่าแก่ของชาวเล ที่บ้านบ่อแหน และบริเวณใกล้เคียง ได้แก่ บ้านท่าทุ่งนาค คลองดาว และคลองทราย สำหรับที่บ้านบ่อแหน ยังมีศาลโต๊ะบาหลิว ซึ่งเป็นศาลบรรพบุรุษของชาวเลกลุ่มบ่อแหน และชาวเลที่อพยพไปทำมาหากินบริเวณบ้านในไร่ แหลมคอกวาง และบ้านคลองดาว ที่ต้องเดินทางมาสักการะเป็นประจำ ตลาดศรีรายาก็เคยเป็นที่อยู่อาศัยของชาวเลมาก่อน ก่อนที่ชาวมุสลิมและชาวจีนจะเข้ามาอาศัย จนเป็นเหตุให้ชาวเลต้องอพยพไปอยู่บริเวณบ้านหัวแหลมกลาง
ปี พ.ศ. 2512 สมเด็จพระศรีนครินทราบรมราชชนนี ได้จัดตั้งโรงเรียนสำหรับเด็กชาวเลโดยเฉพาะ และได้พระราชทานที่ดิน เพื่อให้ชาวเลมีที่อยู่เป็นหลักแหล่ง (เยาวลักษณ์ ศรีสุกใส, 2545, หน้า 37) ทั้งได้พระราชทานนามสกุล เช่น ทะเลลึก ช้างน้ำ หาญทะเล และประมงกิจ เป็นต้น ให้แก่ชาวเลอีกด้วย
ปี พ.ศ. 2516 พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ฯ ได้เสด็จเยี่ยมราษฎรอำเภอเกาะลันตา และมีพระราชดำรัสให้ประทานที่ดินให้ชาวเลมีกรรมสิทธิ์ และพระราชทานอนุญาตให้ชาวเลได้รับการยกเว้นการเข้ารับการคัดเลือกเข้าเป็นทหารเกณฑ์
ที่ตั้งแหล่งที่อยู่อาศัย
ปัจจุบันกลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดกระบี่ กระจายตัวอยู่ในพื้นที่ต่าง ๆ ดังนี้ ชุมชนโต๊ะบาหลิว, บ้านในไร่ หมู่ที่ 1 บ้านคลองดาว หมู่ที่ 3 ตำบลศาลาด่าน บ้านหัวแหลม หมู่ที่ 1 และ บ้านสังกาอู้ หมู่ที่ 7 ตำบลเกาะลันตาใหญ่ อำเภอเกาะลันตา, ชุมชนมูตู, ชุมชนบ้านกลาง, ชุมชนกลาโหม และชุมชนโต๊ะบุหรง หมู่ที่ 3, บ้านติงไหร หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง, บ้านแหลมตง หมู่ที่ 8 ตำบลอ่าวนาง อำเภอเมืองกระบี่
จำนวนประชากร
กลุ่มชาติพันธุ์ชาวเลจังหวัดกระบี่ ปี พ.ศ. 2564 มี 589 ครัวเรือน จำแนกเป็นชาย 1,177 คน หญิง 1,127 คน รวมเป็น 2,304 คน
ประวัติความเป็นมาของกลุ่มชาติพันธุ์
ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว เดิมอาศัยอยู่บริเวณบ้านบ่อแหน (ชาวเลอูรักลาโว้ย เรียกว่า ตูโป๊ะ ดะ บูแนน) มาตั้งแต่บรรพบุรุษ ต่อมามีนายทุนเข้ามาขอสัมปทานพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อตัดไม้โกงกางไปเผาถ่าน บ้านบ่อแหนเคยเป็นที่ทำไม้เผาถ่านที่ใหญ่แห่งหนึ่งในเกาะลันตา ทำให้มีผู้คนจากหลายพื้นที่อพยพเข้ามาเพื่อเป็นแรงงานรับจ้างและอาศัยอยู่ในพื้นที่บ้านบ่อแหนมากขึ้น พอหมดสัมปทานพื้นที่ป่าชายเลนชาวเลอูรักลาโว้ย จึงอพยพเคลื่อนย้ายออกมาอยู่ ณ สถานที่แห่งใหม่ เพราะความรักสงบ และไม่ชอบอยู่ร่วมกับคนต่างวัฒนธรรม ชุมชนโต๊ะบาหลิว จึงเป็นพื้นที่ที่ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านบ่อแหนเข้ามาตั้งหลักแหล่ง อีกทั้งบริเวณนี้ ยังเป็นพื้นที่ประกอบพิธีกรรมลอยเรือ และเป็นที่จอดเรือของชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านในไร่ และบ้านคลองดาว ชาวเลอูรักลาโว้ยจึงมาสร้างที่พักบริเวณรอบ ๆ ศาลเจ้าโต๊ะบาหลิวเพื่อเฝ้าเรือ
ปัจจุบันที่ดินบริเวณชุมชนโต๊ะบาหลิวอยู่ในเขตป่าชายเลน ชุมชนโต๊ะบาหลิว เป็นชุมชนริมน้ำ สันนิษฐานว่า ชาวเลอูรักลาโว้ยจากบ้านบ่อแหนเข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่นี้มากกว่า 80 ปี ชุมชนโต๊ะบาหลิว อยู่บริเวณริมทะเลด้านทิศตะวันตกของเกาะลันตาใหญ่ ซึ่งเป็นด้านตรงข้ามกับที่จอดเรือหลบพายุ ชาวเลอูรักลาโว้ยจำเป็นต้องตั้งบ้านเรือนอยู่ใกล้กับจุดที่ออกจับปลาได้ง่าย ชุมชนโต๊ะบาหลิวยังคงหลงเหลือรูปแบบของบ้านชาวเลดั้งเดิมไว้อย่างชัดเจน มีแนวป่าชายเลน ขนาบอยู่หลังหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงสร้างสะพานข้ามคลอง (ป่าชายเลน) เพื่อใช้ในการสัญจร
ชุมชนโต๊ะบาหลิว หมู่ที่ 1 ตำบลศาลาด่าน อำเภอเกาะลันตา จังหวัดกระบี่ ห่างจากที่ว่าการอำเภอประมาณ 400 เมตร มีคลองคั่นกลาง ชุมชนตั้งอยู่ใกล้ท่าเทียบเรือศาลาด่าน
พื้นที่ทางจิตวิญญาณ
พื้นที่ทางจิตวิญญาณของชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว ได้แก่ ศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว เป็นศูนย์กลางของชุมชนในการขอพรและประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ศาลแห่งนี้เป็นที่สิงสถิตของวิญญาณ 3 องค์ ซึ่งเดิมเป็นจอมปลวก 3 ยอด ต่อมาโต๊ะหมอในชุมชนฝันและบอกว่ายอดตรงกลาง คือโต๊ะบาหลิว ยอดซ้ายมือ คือ โต๊ะอาโฆะเบอราตัย เป็นผู้หญิง และยอดขวามือ คือ โต๊ะอีตับ เป็นผู้ชาย, โต๊ะบ่อคุรี, หลาโต๊ะเขียว (ตั้งอยู่ที่บ้านหลังแรกในชุมชนโต๊ะบาหลิว), โต๊ะมาลาดี, โต๊ะแหลมทึง, โต๊ะฮาบู, โต๊ะกาแมะจืองัน, ญีรัยจปาดั๊กดาลับ (สุสานบ้านในไร่), (ศาลโต๊ะบาหลิวเก่า)
ปัจจุบันอยู่ใน บ้านบ่อแหน จะเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมตั้งของเซ่นไหว้ช่วงพิธีลอยเรือ, ยีรัยจบูเนน (สุสานเก่าบ่อแหน), ยีรัยจปาดั๊กบลักบลัก (สุสานทุ่งนาก), ยีรัยจปาดั๊กซอย (สุสานหลังสอด) ปัจจุบันสุสานที่ฝังศพของชุมชนโต๊ะบาหลิวอยู่บริเวณคลองสองปาก บ้านในไร่ และบริเวณชุมชนบ้านโต๊ะบาหลิวยังเป็นสถานที่ประกอบพิธีกรรมลอยเรือประจำปีของชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านโต๊ะบาหลิว, ชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านในไร่และชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านคลองดาว
ชุมชนโต๊ะบาหลิว มีชาวอูรักลาโว้ยอาศัยอยู่ 88 ครัวเรือน จำแนกได้ดังนี้ ชาย 132 คน หญิง 129 คน รวมเป็น 261 คน
อูรักลาโวยจชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว ทำประมงในเขตเกาะห้า เกาะรอก หลังเกาะกระดาน เกาะไหง เกาะพีพี เกาะหมา เกาะจำ ในเขตจังหวัดกระบี่ และบริเวณกะหรังเทียม (หรือปะการังเทียมที่มีแท่งปูนสี่เหลี่ยมเป็นหลักเพื่อให้ปลาวางไข่) รวมถึงป่าชายเลนใกล้ที่อยู่อาศัย
ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว มีเรือประมงเป็นของตัวเอง เครื่องมือประมงที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ ไซปลา เป็นเครื่องมือประมงของชาวเลมาตั้งแต่อดีต เป็นอัตลักษณ์ของชาวเลอูรักลาโว้ย เป็นไซปลาที่มีขนาดใหญ่ ใช้วัสดุท้องถิ่นที่คงทน เช่น ไซปลาหมึก, อวนปู, อวนกุ้ง หรืออวนสามชั้น จะวางเฉพาะหน้ามรสุมประมาณ 6 เดือน ระหว่างเดือน 6-11, อวนปลา, อวนจับกุ้งเคย (อวนล้อม), ฉมวกแทงปลา, แห และเบ็ด ซึ่งเครื่องมือแต่ละชนิดสามารถใช้หมุนเวียนกันไปตลอดฤดูกาล ปัจจุบันชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิวประกอบอาชีพอื่น ๆ นอกเหนือจากอาชีพประมง ได้แก่ ค้าขาย เพาะปลูก รับจ้างทั่วไป เช่น แบกหาม คนงานจัดสวน ดายหญ้า ก่อสร้าง พนักงานเสิร์ฟ แม่บ้านในรีสอร์ทและโรงแรม เป็นต้น
วัฒนธรรม
ประเพณี/เทศกาล ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว มีประเพณีที่สำคัญ คือ ประเพณีลอยเรือปลาจั๊ก และประเพณีเปอตัดญีรัย เป็นประเพณีสำคัญของชุมชน
ประเพณีลอยเรือ (อารีปาจั๊ก)
จัดในช่วงวันขึ้น 13 ค่ำ ถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 6 และเดือน 11 ตามปฏิทินจันทรคติ ระยะเวลาจัดงานเป็นเวลา 3 วัน โดยมีขั้นตอนพิธีกรรม สรุปได้ ดังนี้
วันขึ้น 13 ค่ำ ช่วงเช้ามืดโต๊ะหมอจะทำพิธีขอไม้ และกลุ่มผู้ชายชาวเลจะเข้าป่าเพื่อตัดไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด นำมาให้ช่างฝีมือประกอบเป็นลำเรือ เรียกว่า "ปลาจั๊ก" มีความยาวประมาณ 4 เมตร หรือมากกว่านั้น และช่วยกันต่อเป็นลำเรือปลาจั๊กให้แล้วเสร็จภายในก่อนเที่ยงของวันขึ้น 14 ค่ำ ฝ่ายหญิงมีหน้าที่เตรียมขนมในพิธีกรรมและของเซ่นไหว้บรรพบุรุษที่หลาดาโต๊ะและของเซ่นไหว้ใส่ในเรือปลาจั๊ก ในช่วงบ่าย ณ หลาดาโต๊ะ บ้านบ่อแหน โต๊ะหมอเป็นเจ้าพิธีในการบวงสรวงเซ่นไหว้หลาดาโต๊ะและบอกกล่าวเชิญบรรพบุรุษมาร่วมงานพิธีลอยเรือ
พิธีไหว้ดาโต๊ะและบอกกล่าววิญญาณบรรพบุรุษ ณ ศาลโต๊ะบาหลิวเครื่องบวงสรวงประกอบด้วย ขนม 7 สี สุกและดิบ ข้าวเหนียว 7 สี หมาก พลู ใบจาก ยาเส้น ไก่ย่าง ไข่ไก่ดิบ กำยาน ข้าวตอก เทียนไข เงิน ข้าวของเครื่องใช้สิ่งอื่น ๆ ตามความเชื่อ
วันที่ 2 วันขึ้น 14 ค่ำ กลุ่มผู้ชายชาวเลจะช่วยกันประกอบลำเรือปลาจั๊กให้แล้วเสร็จและช่วยกันตกแต่งประดับเรือให้สวยงามก่อนเที่ยง ช่วงบ่ายเวลาประมาณ 15.00 น. มีพิธีแห่ "เรือปลาจั๊ก"
โดยลูกหลานชาวเลจากทุกชุมชนจะมาร่วมในขบวนแห่เรือปลาจั๊กไปยัง บริเวณศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว ซึ่งเป็นสถานที่ประกอบพิธี ขบวนแห่เรือปลาจั๊ก มีการบรรเลงดนตรีพื้นบ้าน รำมะนา รองเง็ง หรือขบวนกลองยาว เพื่อสร้างความสนุกสนาม ความบันเทิง ตลอดระยะทางจนถึงสถานที่ประกอบพิธีลอยเรือ เมื่อถึงศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว จะนำเรือแห่รอบศาลโต๊ะบาหลิว 3 รอบ และวางเรือในตำแหน่งที่จัดเตรียมไว้
พิธีแห่เรือปลาจั๊กไปศาลเจ้าโต๊ะบาหลิว
จากนั้นชาวเลที่มาร่วมพิธีจะนำอาหารและสิ่งของเครื่องเซ่นไหว้ที่เตรียมไว้ เช่น ข้าวสาร ข้าวเปลือก ไม้ขีดไฟ กะปิ เกลือ น้ำดื่ม ผม เล็บ หมาก พลู ใบจาก เงิน ขนมเจ็ดสี สุก ดิบ และสิ่งของอื่นๆที่จำเป็นสำหรับการดำรงชีวิตที่พอหาได้และรูปฝากที่ทำจากไม้ระกำเป็นรูปคนเท่ากับจำนวนคนในครัวเรือน เพื่อเป็นตัวแทนรับความความทุกข์โศก โรคภัยของสมาชิกในครอบครัว รูปสัตว์ทะเลต่าง ๆ ที่บ่งบอกถึงความเป็นชาวประมง เป็นตัวแทนของสัตว์ต่าง ๆ ส่งคืนไปยังเจ้าของเดิม และเป็นการขอโทษ และไถ่บาปที่เคยฆ่ากินเป็นอาหาร ใส่ลงไปในเรือ "ปลาจั๊ก" ถือเป็นการสะเดาะเคราะห์ เพื่อให้ชีวิตสงบสุขปราศจากโรคภัยไข้เจ็บ
เวลาประมาณ 20.00 น. โต๊ะหมอประกอบพิธีกรรมเซ่นไหว้บอกกล่าวบรรพบุรุษด้วยบทเพลงรำมะนา และมีพิธีฉลองหรือสมโภชเรือก่อนลอยลงสู่ทะเล ชาวเลทั้งชายและหญิงร่วมร่ายรำรอบลำเรือตามจังหวะบรรเลงของดนตรีรำมะนาและรองเง็งหลังเที่ยงคืนวัน 14 ค่ำ น้ำทะเลจะขึ้นสูงสุด จะมีพิธี "เลบาเล" เป็นพิธีกวักน้ำจากเกลียวคลื่นสาดใส่กลุ่มชาวเลที่ร่ายรำบนฝั่งในพิธีฉลองเรือให้เปียกพื่อสร้างความสนุกสนาน และก่อนรุ่งสางของวันขึ้น 15 ค่ำ น้ำทะเลเริ่มลดลง เป็นการประกอบ "พิธีลอยเรือ" โดยโต๊ะหมอจะทำพิธีลอยเรือปลาจั๊ก และพิธี "สลาวะ" เพื่อนำสิ่งที่ไม่ดี สิ่งชั่วร้ายออกจากร่างกายและในชุมชนให้ไปกับเรือปลาจั๊ก กลุ่มผู้ชายชาวเลช่วยกันยกลำเรือขึ้นและจะมีบทเพลงรำมะนาเพลงประจำบอกกล่าว ว่าสว่างแล้วให้ผีบรรพบุรุษหรือสิ่งชั่วร้ายทั้งหลายให้ขึ้นเรือ ถึงเวลาออกเดินทาง และอวยพรให้เรือเดินทางโดยสวัสดิภาพ กลุ่มชาวเลจะมารวมตัวกันเพื่อร่วมพิธีลอยเรือและส่งเรือลอยสู่กลางทะเลลึกเป็นการส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับบ้านเดิม เมือง ฆูนุงณึไร ภูเขาต้นไทร ในรัฐไทรบุรี ประเทศสหพันธรัฐมาเลเซีย)
วันที่ 3 วันขึ้น 15 ค่ำ ช่วงบ่ายจะมีพิธี "ปราดั๊ก" กลุ่มชาวเลผู้ชายจะไปตัดไม้ปังแหร และใบกะพ้อมาผูกปลายไม้เพื่อทำเป็นไม้ปราดั๊ก มีรูปร่างคล้ายไม้กางเขน หรือเรียกว่า "ไม้กันผี" จำนวน 7 น้ำมนต์
พิธีแห่ไม้ปราดั๊ก
กลางคืน โต๊ะหมอเริ่มพิธีกรรมปัดรังควาน และขับเพลงรำมะนา 7 เพลง เพื่อบอกกล่าวรำพันถึงความทุกข์โศกและเหตุร้ายต่าง ๆ ที่กลุ่มของตนประสบอยู่ ขอให้สิ่งศักดิ์สิทธิ์รับรู้และให้การช่วยเหลือ ปกป้องคุ้มครองและบันดาลให้คนและหมู่คณะอยู่ด้วยกันอย่างสงบสุข มีการร้องรำทำเพลงวนไปรอบเสาทั้ง 7 ต้น ที่ปักไว้เพื่อป้องกันเสนียดและความชั่วร้ายมาสู่ชีวิตและในหมู่บ้าน จนถึงช่วงน้ำค่อย ๆ ลงเป็นเวลาใกล้สว่าง ก็จะนำน้ำที่ใส่คุรีหรือตุ่มเตรียมไว้มาวางใกล้ไม้ "ปราดั๊ก" และนำชุดเครื่องเซ่นไหว้ให้โต๊ะหมอทำพิธีปลุกเสกและทำน้ำมนต์เพื่อนำไปชำระสิ่งไม่ดีออกจากร่างกาย เพื่อความเป็นสิริมงคลแก่ทุกคนในครอบครัว หลังจากนั้นซาวเลจะเอาไม้กันผีทั้ง 7 ต้น ไปปักรอบหมู่บ้านเพื่อป้องกันสิ่งชั่วร้ายหรือโรคภัยไข้เจ็บและอันตรายต่าง ๆ โต๊ะหมอผู้ประกอบพิธีกรรมลอยเรือชุมชนโต๊ะบาหลิวคือ นายมะอิเด็น ช้างน้ำ
การลอยเรือปลาจั๊ก นอกจากเป็นการสะเดาะเคราะห์แล้ว ยังเป็นการเสี่ยงทายทำนายโชคชะตา ในการทำมาหากินประกอบอาชีพทางทะเลของชาวเลในช่วงฤดูกาลใหม่ให้มีความสะดวกปราศจากอุปสรรคต่าง ๆ
องค์ประกอบในประเพณีลอยเรือในอดีต ประกอบด้วยพิธีกรรม ได้แก่ พิธีขอไม้ พิธีรับไม้ พิธีแห่ไม้ พิธีต่อเรือ พิธีแห่เรือ พิธีลอยเรือ พิธีเซ่นไหว้บอกล่าวหลาดาโต๊ะ (ศาลบรรพบุรุษ) พิธีไหว้รำมะนา พิธีแห่ไม้ปลาดั๊ก พิธีทำน้ำมนต์ อาบน้ำมนต์ เป็นต้นปัจจุบันการจัดงานและพิธีกรรมในประเพณีลอยเรือจะเปลี่ยนแปลงไปตามค่านิยม และสภาพแวดล้อมทางสังคม และเศรษฐกิจ พิธีลอยเรือทำให้ญาติพี่น้องชาวเลที่อยู่ต่างถิ่นได้กลับมาพบปะกัน ปัจจุบันสมาชิกในครอบครัวชาวเลจะไม่มาเข้าร่วมพิธีทุกคนเหมือนสมัยก่อน เพราะต้องทำงานเลี้ยงชีพ ตามสถานประกอบการเอกชน จึงไม่สามารถหยุดงานได้ ส่วนพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีขอไม้ รับไม้ แห่ไม้รอบศาลก่อนต่อเรือ ปัจจุบันจะลดจำนวนเรือ และมีสมาชิกไม่กิ่คนไปรับไม้มาเตรียมไว้สำหรับให้ช่างมาต่อเรือ เพื่อความสะดวกรวดเร็ว กิจกรรมเฉลิมฉลองเรือ จะใช้เครื่องเสียงดนตรีสมัยนิยม เช่นเพลงรำวง เพลงลูกทุ่ง เข้ามาสร้างสีสัน ความบันเทิง ให้กลุ่มเยาวชน และคนที่เข้าร่วมพิธี ทำให้บทเพลงรำมะนาที่ขับร้องด้วยเสียงธรรมชาติและเป็นภาษามาเลย์ทีถ่ายทอดมาจากบรรพบุรุษในพิธีกรรมจึงมีแต่ผู้สูงอายุและผู้ประกอบพิธีกรรมเท่านั้น ซึ่งอาจเสี่ยงต่อการสูญหายเพราะหมดความนิยมประเพณีเปอตัดญีรัย (ประเพณีการแต่งเปรว)
เป็นการทำความสะอาด บูรณะซ่อมแซมเปรวหรือสุสานที่ฝังศพ และหลุมศพของแต่ละครอบครัวแต่ละสายสกุล พิธีจัดในวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี หลังจากที่ครอบครัวทำความสะอาดสุสานและหลุมฝังศพเสร็จแล้ว โต๊ะหมอจะเป็นผู้ประกอบพิธีบูชาบรรพบุรุษด้วยการนำเครื่องเซ่นไหว้ และอาหาร ที่สมาชิกนำมาร่วมประกอบพิธี เมื่อเสร็จพิธีจะมีการรับประทานอาหารร่วมกัน ร่วมสนุกด้วยการร้องรำทำเพลงจากวงรำมะนา ซึ่งชาวเลเชื่อว่าบรรพบุรุษจะมาร่วมสนุกกับลูกหลานด้วย
ประเพณีสารทเดือนสิบ
ในอดีตชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิวจะนำของทะเล เช่น ปลาเค็ม ปลาย่าง ปะการัง กัลปังหา เปลือกหอย และกำไลกระ (กระดองเต่า) ไปแลกเปลี่ยนกับเสื้อผ้า อาหาร ในวันสารทไทยหรือสารทเดือน 10 ของชาวไทยพุทธ และร่วมประเพณีชิงเปรตที่วัดในอำเภอคลองท่อม วัดในอำเภอเหนือคลอง และวัดในอำเภอเมือง เพื่อเก็บขนมพอง ลา ข้าวปลา อาหาร และเงิน เพราะชาวเลเชื่อว่าต้องไปรับบุญเพื่อไม่ให้วิญญาณบรรพบุรุษอดอยาก โดยจะเดินทางไปก่อนล่วงหน้าวันสารทเดือนสิบ 2-3 วัน ปัจจุบันการแลกเปลี่ยนอาหารทะเลและของทะเลลดน้อยลงเปลี่ยนเป็นระบบซื้อขาย
ประเพณีแต่งงาน
ในอดีตหนุ่มสาวชาวเลอูรักลาโว้ยจะแต่งงานอายุประมาณ 14-18 ปี และมีพิธีสู่ขอหมั้นหมาย โดยผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะไปขอถึง 3 ครั้ง ถ้าตอบรับก็จะไปขอหมั้น หรือ "ปากัยตูนัง" ก่อนแต่ง 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องอาสาทำงานบ้านผู้หญิง เช่น หาน้ำ ผ่าฟืนเป็นต้น วันแต่งงานขบวนแห่จะให้เจ้าบ่าวขี่คอเดินวนซ้ายรอบบ้านเจ้าสาว 3 รอบ ก่อนย่างเข้าประตูบ้านผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะถามว่า มีเรือไหม มีแหไหม มีฉมวกไหม เจ้าบ่าวตอบว่า "มี" ก็จะมีคนล้างเท้าให้ก่อนข้ามเข้าธรณีประตู เพื่อนเจ้าบ่าวจะนำเสื่อและหมอนไปวางในห้องเจ้าสาว เจ้าสาวจะประแป้งให้แขกที่มาร่วมงาน วันรุ่งขึ้นพ่อแม่และญาติพี่น้องจะส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามเกาะต่าง ๆ โดยมีข้าวสาร น้ำจืด เครื่องมือจับปลาไปด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าฝ่ายชายจะสามารถเลี้ยงดูภรรยาได้ขาไปผู้ชายจะเป็นคนกรรเชียงเรือโดยให้ผู้หญิงนั่งหัวเรือ ขากลับผู้หญิงจะเป็นฝ่ายกรรเชียงเรือให้ผู้ชายนั่งหัวเรือ เป็นที่เข้าได้ได่ว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยาตามพฤตินัยแล้ว เมื่อแต่งแล้วฝ่ายชายจะต้องเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, หน้า 199) ปัจจุบันชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิวและบ้านในไร่ มีพิธีแต่งงานที่คล้ายกับคนไทยพื้นถิ่น เริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวชอบพอกัน ให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอ มีสินสอดของหมั้น มีงานเลี้ยงในหมู่ญาติและคนรู้จัก งานเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับฐานะของคู่บ่าวสาว บางคู่ก็มีการกินเลี้ยงที่บ้าน อาหารในงานเลี้ยง เช่นปลาทอด น้ำชุบหยำ แกงไก่ แกงหมู เป็นต้น จะมีพิธีรดน้ำให้พร โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ทำพิธี และญาติผู้ใหญ่ ชุดแต่งงานของคู่บ่าวสาวก็เป็นไปตามสมัยนิยม ช่วงอายุของการแต่งงานประมาณยี่สิบปีขึ้นไป จะมีการแต่งงานระหว่างกลุ่มชาวเลด้วยกันเองและต่างกลุ่ม หลังจากแต่งงานแล้วจะอยู่บ้านของฝ่ายไหนก็ขึ้นอยู่กับสะดวกและสถานที่ทำงานของฝ่ายนั้น
พิธีกรรม ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว มีพิธีกรรมที่ปฏิบัติกันในชุมชน ดังนี้
พิธีศพ
เมื่อมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิต จะก่อกองไฟไว้หน้าบ้านผู้ตาย และจัดวางอาหารไว้หน้ากองไฟตลอก 3 วัน 3 คืน ถ้าเสียชีวิตในช่วงเช้าจะฝังศพตอนเย็น ถ้าเสียชีวิตหลังเที่ยงวัน จะทำพิธีฝังในวันรุ่งขึ้น ผู้ชายจะช่วยกันทำโลง และมีการอาบน้ำศพ โดยโต๊ะหมอจะอาบให้เป็นคนแรก ต่อด้วยญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน หลังจากนั้นจะแต่งตัวให้ผู้ตายและทาน้ำมันหอมก่อนบรรจุลงในโลงศพที่ปูด้วยเสื่อ และใช้ผ้าขาวยาว 9 ศอก คลุมบนศพ นำข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายใส่ไปในโลงศพด้วย แล้วแห่ศพไปฝังยังสุสาน เมื่อโต๊ะหมอทำพิธี ญาติพี่น้องจะช่วยกันกลบหลุมศพ และปลูกมะพร้าวที่มีหน่อไว้ปลายเท้าศพ หลังจากนั้นอีก 3 วัน จะเลี้ยงอาหาร ดับกองไฟ และทำบุญผู้ตายอีกครั้ง ในพิธีแต่งเปรว (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, หน้า 201)
พิธีทำบุญบ้าน
ในช่วงเดือน 4 ข้างขึ้น ทุกบ้านจะทำบุญบ้านเพื่อความเป็นสิริมงคล อาหารในพิธีกรรม ได้แก่ ข้าวเจ้า, ข้าวหนียวเหลือง, ข้าวเหนียวขาว, ข้าวเหนียวดำ, อาหารที่บรรพบุรุษชอบ, หมากพลู, ข้าวตอก, น้ำตาลทรายขาว, เทียน, กำยาน, ใบจาก, ยาเส้น จัดกับข้าว 3 ชุด วางตรงลานบ้าน โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมให้
พิธีไหว้หัวเรือ หรือการทำนูหรีเรือ
พิธีนี้ทำตอนนำเรือเข้ามาซ่อมแซม เมื่อเรือชำรุด เช่น ทาสีใหม่ ตอกหมันเรือ ก่อนซ่อมแซมเรือจะมีการทำนูหรีเลี้ยงคน โดยมีความเชื่อว่าถ้ามีคนมาร่วมงานบุญนูหรีมาก ก็จะทำให้ตอนออกไปหาสัตว์น้ำจะได้มากเช่นกัน อาหารที่จัด เลี้ยงได้แก่ ข้าว หมี่ผัด เหนียวเหลือง ไก่ต้ม โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ประกอบพิธีกรรมให้
พิธีปูยาเกาะ (พิธีปูย่าปูเลา)
เป็นพิธีบวงสรวงเกาะและโต๊ะที่อยู่ประจำเกาะ ชาวเลอูรักลาโว้ยทุกชุมชนในเกาะลันตาจะมาร่วมพิธี และยังมีชาวเลอูรักลาโว้ยจากเกาะจำ อำเภอเหนือคลอง และบ้านราไวย์ จังหวัดภูเก็ต มาร่วมพิธีนี้ด้วย ช่วงเวลาที่ประกอบพิธีระหว่างเดือนหกถึงเดือนสิบเอ็ด สถานที่ประกอบพิธีกรรม คือ แหลมมาลาตี ปากคลองศาลาด่าน เวลาในการประกอบพิธีกรรมจะเป็นช่วงเช้าหรือเย็นก็ได้ ถ้าทำพิธีในช่วงน้ำทะเลกำลังขึ้นจะดีมาก ในการประกอบพิธีกรรม (พ.ศ. 2564) โต๊ะหมอ คือ นายมะดีเอ็น ช้างน้ำ และรองโต๊ะหมอ คือ นายสัน ช้างน้ำ ทำหน้าที่เชิญโต๊ะต่าง ๆ ที่อยู่ในเกาะหรือในสถานที่ที่เคยทำพิธี ให้มารับของเซ่นไหว้ อาหารในพิธีกรรม มีดังนี้ ข้าวเหนียวขาวและข้าวเหนียวเหลือง, ไก่ย่างหรือต้มทั้งตัว, กุ้งหอยปูปลา (ถ้ามี), ผลไม้, น้ำ น้ำหวานและเหล้า (ถ้ามี), หมาก, พลู, ข้าวตอก, กำยาน, เทียนขี้ผึ้ง,ใบจาก, ยาเส้น, ผ้าแดง, มันจันทร์, แป้ง, น้ำ,ธูป, กระดาษเงินกระดาษทอง และมีปาญีเป็นไม้ผูกผ้าไว้ตรงปลายไม้ แทนสัญลักษณ์ของสถานที่ที่นับถือ ไม้นี้เชื่อกันว่าจะมีโชคลาภ โต๊ะหมอจะขอให้สัตว์น้ำมีความอุดมสมบูรณ์ ขอให้ทุกคนและครอบครัวมีสุขภาพแข็งแรงปลอดภัยจากอันตรายต่าง ๆ หลังโต๊ะหมอบอกกล่าวเสร็จ ก็จะให้ผู้เข้าร่วมพิธีตั้งหมากพลูและบอกกล่าวขอพรกับโต๊ะให้ตนเองและครอบครัว บางครอบครัวก็ไปแก้บนเพราะสำเร็จผลตามที่ได้บนบานไว้ จากนั้นก็นำของที่นำมาเซ่นไหว้แบ่งส่งลงทะเลบางส่วน ส่วนปาญีหลังเสร็จพิธีก็ปักไว้ที่ ณ สถานที่ทำพิธี
พิธีแก้บน (แก้เหลย)
ชาวเลอูรักลาโว้ยจะมีการแก้บน เนื่องจากได้บนบานศาลกล่าวกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ตนเคารพนับถือว่าให้ตนเองและครอบครัวหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบผลสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นไปตามที่ได้ขอหรือบนบานไว้ ก็ต้องแก้บน เช่น บนว่าถ้าหายป่วยจะจัดให้มีการแสดงรำมะนา หรือถวายอาหารคาวหวาน ก็ต้องมาทำตามที่ได้ให้พันธะสัญญาไว้
คติ ความเชื่อ ตำนาน
ความเชื่อ เรื่อง "โต๊ะ" หรือ "ดาโต๊ะ" ซึ่งเป็นวิญญาณบรรพบุรุษ แฝงตัวอยู่ร่างต่าง ๆ ของสัตว์ เช่น เสือ ปลา นก งู จอมปลวก ก้อนหิน หรือสถานที่ เป็นต้น, ความเชื่อเรื่องโต๊ะแหลมทึง, โต๊ะบ่อคุรี, โต๊ะมาลาดี, โต๊ะฮาบู, โต๊ะกาแมะจืองัน, ความเชื่อเรื่อง "เครื่องรางของขลัง" โต๊ะหมอจะใช้เศษผ้าควั่นเป็นเกลียว ทำเป็นตะกรุด แล้วเชิญวิญญาณบรรพบุรุษมาช่วยปลุกเสก โต๊ะหมอจะเป็นผู้ผูกให้ โดยผู้ชายจะผูกไว้ที่โคนแขนขวา ผู้หญิงจะผูกไว้ที่โคนแขนซ้าย ผูกไว้เป็นเวลา 7 วัน จึงจะตัดตะกรุดที่ผูกไว้ได้, ความเชื่อเรื่องห้ามคนท้องนั่งขวางประตู เพราะจะทำให้คลอดยาก, ความเชื่อเรื่องให้คนท้องกลัดเข็มกลัด เพื่อป้องกันภูติผีปีศาจ และป้องกันเด็กหลุดออก, ความเชื่อเรื่องตัดไม้ระกำหรือไม้ตีนเป็ดเพื่อใช้ในพิธีลอยเรือ ห้ามลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามพูดจาไม่ดี, ความเชื่อเรื่องฟ้าแดง ในเวลาห้าหรือหกโมงเย็น ถ้าเกิดฟ้าเป็นสีแดงหรือสีส้มโดยไม่มีฝนตั้งเค้า ให้รีบเข้าบ้านเพราะจะเกิดสิ่งไม่ดี, ความเชื่อเรื่องห้ามคนท้องนั่งขวางประตูในเวลาฟ้าแดง และเวลาทั่วไป เพราะจะทำให้คลอดยาก, ความเชื่อเรื่องให้คนท้องกลัดเข็มกลัดไว้ที่เสื้อบริเวณเหนือสะดือ กลัดไว้จนคลอด เพื่อป้องกันภูติผีปีศาจ และป้องกันการแท้งลูก, ความเชื่อการวางอวน ตอนซื้ออวนมาใหม่ ต้องเอามารมควันกำยานแล้วอธิษฐานกับเจ้าทะเล เจ้าบาดาล เจ้าสมุทร เจ้าแม่คงคา ลูกหลานจะเอาเครื่องมือนี้ลงทะเลแล้ว ขอให้ได้สัตว์น้ำมาก ๆ แล้วจะถวายเนื้อ หรือแล้วแต่จะบนบานไว้, ความเชื่อเรื่องตัดไม้ระกำหรือไม้ตีนเป็ดเพื่อใช้ในพิธีลอยเรือ ห้ามลบหลู่สิ่งศักดิ์สิทธิ์ ห้ามพูดจาไม่ดี, ความเชื่อเรื่องพลิกแผ่นดิน ต้องขุดดินใต้ถุนบ้าน เอามาประมาณ 3 กำมือ ตอนขุดอย่าให้หน้าดินพลิก ต้องให้หน้าดินอยู่ด้านบนเสมอ แล้วเอาดินให้โต๊ะหมอทำพิธี โต๊ะหมอจะพลิกหน้าดินเอาไว้ล่าง แล้วนำไปวางไว้ที่เดิม ทำในกรณีเกิดเรื่องไม่ดีในครอบครัว ถูกไสยศาสตร์ อยู่ไม่เป็นสุข เจ็บไข้ได้ป่วย หรือเกิดอุบัติเหตุบ่อยครั้ง
ตำนาน เช่น กำเนิดอูรักลาโว้ย, โต๊ะลาแกกึตัมบาตู, อูรักลาโว้ยเข้าแขก, โต๊ะบูมั้ย, คำสาปเกอเดอมัย, โต๊ะเบอแล็บบึรายุค, โต๊ะบุหรง, โต๊ะบาหลิว, โต๊ะแซะ, โต๊ะบิกง, โต๊ะดุหยง (ปลาพยูน), ตะปอคุลี (บ่อคุลี),ปาโวฮญาญี, อูมะฮ จูโญฮ (คลื่นเจ็ดลูก) (อาภรณ์ อุกฤษณ์ 2563, หน้า 5-29)
ศิลปะการแสดง
รองเง็ง
เป็นศิลปะการแสดงพื้นบ้านที่มีทั้งการขับร้องและท่ารำที่ใช้การเคลื่อนไหวทั้งลำตัว มือและเท้าไปตามจังหวะของบทเพลง โดยมีพ่อเพลงและแม่เพลง ขับโต้ตอบกันที่บอกกล่าวถึงความรักระหว่างหนุ่มสาว หรือธรรมชาติสภาพแวดล้อมรอบๆ ตัว บทขับร้องเพลงจะเป็นภาษามาลายูกลาง จะเริ่มต้นด้วยเพลงลาฆูดัว (ลาฆูดูวอ) ลาฆูมะอินัง ลาฆูบูหรงปูเต๊ะ เป็นเพลงไว้ครู เครื่องดนตรีวงรองเง็ง ประกอบด้วย ไวโอลิน (ซอ) รำมะนา1 คู่ และฆ้อง โอกาสในการแสดงจะแสดงในงานรื่นเริง เทศกาลประเพณี งานประเพณีลอยเรือของชาวเล เป็นต้น
นักดนตรี และผู้แสดงรองเง็งส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ ไม่สามารถรับงานแสดงนอกพื้นทีได้ แต่ยังเล่นในพิธีกรรมสำคัญในชุมชน ปัจจุบันการสืบทอดแสดงรำรองเง็งของชาวเลอูรักลาโว้ยจะมีการรำประกอบเพลงด้วยชุดแผ่นเสียงเนื่องจากไม่มีนักดนตรีและนักร้องขับรองเง็งเป็นวงคณะได้ เยาวชนลูกหลานไม่ให้ความสนใจในการสืบทอด
รำมะนา
รำมะนาเป็นการแสดงพื้นบ้านของชาวเลกลุ่มอูรักลาโว้ย ที่มีทั้งบทการขับร้องและท่ารำที่แสดงตามจังหวะเสียงดนต รีโดยนางรำจะแสดงและร่ายรำเป็นวงล้อมรอบนักดนตรีหลังจากจบการบรรเลงเพลงรำมะนา 3 เพลง ไปแล้ว บทขับร้องเพลงรำมะนา มีทั้งหมด 7 เพลง เป็นภาษามาเลย์กลาง ที่กล่าวถึงบอกกล่าวอัญเชิญบรรพบุรุษมารับของบูชาเซ่นไหว้ และเรื่องราววิถีการดำเนินชีวิตของชาวเล โดยมีพ่อเพลงเป็นผู้ขับร้องนำและลูกคู่รับสลับกันไปมา เพลงที่ใช้ในการแสดง ได้แก่ เพลงลงปง เพลงลาเอลา และเพลงโลยโลยอีนัง (บวยจ เดะ ลากู ซูกา บวยจ, 2559 หน้า 72-75)
วงรำมะนาจะบรรเลงในพิธีกรรมอันศักดิ์สิทธิ์ เช่น พิธีลอยเรือชาวเลในเดือน 6 และ เดือน 11 พิธีแต่งเปรว และการแก้บน (แก้เหลย) เครื่องดนตรีวงรำมะนาประกอบด้วย กลองรำมะนา 5-7 ตัว ฆ้อง กลับ ฉิ่งหรือฉาบ
ปัจจุบันการครูเพลงรำมะนา หรือนักร้องนำ ที่ขับบทเพลงรำมะนาได้จะเป็นผู้อาวุโสหรือโต๊ะหมอประกอบพิธีกรรมเท่านั้น เนื่องจากเป็นภาษามาเลย์กลางที่เข้าใจได้อยากและลูกหลานไม่เรียนรู้สืบทอด
1.นางบีด๊ะ ช้างน้ำ
แม่เพลงรำมะนา ครูเพลงรำมะนา นักร้องนำที่ขับบทเพลงรำมะนาได้ เป็นผู้อาวุโสหรือโต๊ะหมอประกอบพิธีกรรมเท่านั้น และเนื่องจากเป็นภาษามาเลย์กลางที่เข้าใจได้อยากและลูกหลานไม่เรียนรู้สืบทอด
ทุนกายภาพ
ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว สร้างบ้านอยู่ริมทะเลด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของเกาะลันตาใหญ่ เป็นด้านตรงข้ามกับที่จอดเรือหลบพายุ มีป่าชายเลนขนาบอยู่หลังหมู่บ้าน มีสะพานคอนกรีตข้ามคลองเข้าไปในชุมชน บ้านหันหน้าออกทะเล เป็นลักษณะบ้านแบบดั้งเดิมของชาวเล ชายหาดหน้าหมู่บ้านเป็นดินเลนปนทราย ถัดออกไปเป็นที่จอดเรือ ปัจจุบันบ้านเรือนได้ซ่อมแซมใหม่ ฝาบ้านเปลี่ยนเป็นฝาขัดแตะ ผ้ายาง หรือสังกะสี หลังคามุงสังกะสี โครงหลังคาทำด้วยไม้ที่หาได้ในพื้นที่ มีเสาบ้านสร้างด้วยไม้ยื่นลงไปในทะเล พื้นบ้านยกสูงเหนือน้ำระดับเดียวกับถนนหน้าบ้าน ส่วนพื้นบ้านปูด้วยเศษไม้กระดาน
ทุนวัฒนธรรม
การแต่งกาย
ในอดีตชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว แต่งกายด้วยเสื้อผ้าไม่มากชิ้น ผู้ชายนุ่งผ้าขาวม้าผืนเดียว หรือกางเกงชาวเลมีผ้าขาวม้าคาดเอว ไม่สวมเสื้อ ผู้หญิงอยู่บ้านจะนุ่งผ้ากระโจมอก ไม่สวมเสื้อ ถ้าออกไปข้างนอกจะสวมเสื้อและนุ่งผ้าปาเต๊ะสีสด ๆ ปัจจุบันชาวเลอูรักลาโว้ยส่วนใหญ่แต่งกายตามสมัยนิยม ผู้ชายใส่เสื้อยืด กางเกงยีนส์ ผู้หญิงใส่เสื้อผ้าตามแฟชั่น สีสดใส แต่งหน้า ย้อมสีผม และใส่ เครื่องประดับ ส่วนชาวเลสูงวัยผู้ชายอยู่บ้านจะนุ่งผ้าขาวม้าหรือกางเกงชาวเล ไม่สวมเสื้อ ส่วนผู้หญิงสูงวัยอยู่บ้านจะนุ่งผ้าปาเต๊กระโจมอก ไม่สวมเสื้อ หรือสวมเสื้อคอกระเช้า หลวม ๆ สบาย ๆ
การรักษาโรค
ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว เชื่อว่าการเจ็บป่วย เกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีบรรพบุรุษ ถ้าเจ็บไข้เพียงเล็กน้อยก็จะรักษาเองด้วยสมุนไพร หรือให้โต๊ะหมอรักษา และทำน้ำมนต์ หรือรักษาด้วยการขับไล่ หรือเชิญให้ผีออกไปด้วยวิธีร่ายเวทมนตร์ เป่าคาถาอาคม หรือดูเทียน เพื่อดูอาการของโรคต่าง ๆ โต๊ะหมอสามารถติดต่อกับบรรพบุรุษและรู้สาเหตุของอาการ รู้วิธีการรักษาให้หายจากโรค ซึ่งมีตัวยารักษาโดยเฉพาะ ปัจจุบันชาวเลอูรักลาโว้ยเข้าถึงการรักษาโรคแผนปัจจุบันมากขึ้น แต่การรักษาโรคแบบพื้นบ้านก็ยังคงมีควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน การรักษาโรคโดยใช้สมุนไพร เช่น เมาหอยตาชัย รักษาโดย เด็ดใบอ่อนผักบุ้งทะเลมาเคี้ยวกิน, โรคตาแดงใช้น้ำล้างครกและสากให้หมดรอยเครื่องแกงน้ำแรก นำน้ำมาล้างครกและสากเป็นครั้งที่สอง นำน้ำนั้นสองสามหยดมาหยอดตา หยอดเพียงครั้งเดียว ไม่นานโรคตาแดงจะหาย, อาการไอ มะนาวอ่อนผ่าซีกทาปูนบาง ๆ แล้วกิน อาการจะทุเลาลง, เด็กอ่อนเป็นไข้หวัด ใบมะขาม และหอมต้มรวมกัน พอเดือดยกลงตั้งไว้ให้เย็น แล้วอาบให้เด็ก อาการตัวร้อนของเด็กจะลดลง เป็นต้น
อาหาร
ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว มีอาหารทะเลประเภท กุ้ง หอย ปลา ปู กั้ง ปลาหมีก และเพรียงทะเล เป็นอาหารหลัก นำมาต้ม ย่าง เผา หรือกินสด ๆ เช่น หอยติเตบ (หอยนางรมตัวเล็ก), แกงมันปลา (กูลัย มียะอีกัด), ต้มมันปลาแกแดด (เรอมุ้ย มียะอีกัด), น้ำพริกคั่ว (นาชุ รือนัก), ต้มหอยแครงบิด (ซีโป้ยจ รือมุ้ย), ต้มส้มหนอหยา (โวยวาย), ยำหอยติบ, ยำหอยลิ่น, ต้มกะทิหอยตาวัว, ยำหอยติเตบ, ปูต้ม, น้ำชุบ, ปลาทอด, แกงไก่ เป็นต้น
ภูมิปัญญาท้องถิ่น ภูมิปัญญาของชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ การทำบูบูอีกัด (ไซปลา), การทำบูบูนุยฮ (ไซปลาหมึก), การทำปูกัยจ ฮูรัก (อวนกุ้ง), ภูมิปัญญาดูกระแสน้ำ, การดูทิศทางลม, การรู้เรื่องการโคจรของดวงจันทร์และดวงดาว และภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม ได้แก่ การต่อเรือปลาจั๊ก การจักสานฝาบ้าน การจักสานตะกร้า
ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม เช่น การต่อเรือปลาจั๊ก การจักสานฝาบ้าน เย็บจากมุงหลังคาบ้าน เป็นต้น ภูมิปัญญาการถนอมอาหาร เช่น การทำปลาเค็ม, การทำน้ำพริกคั่ว เป็นต้น
ภาษาของชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิวที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน มีคำศัพท์ที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่มแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ แบ่งได้เป็นหมวด ได้แก่
หมวดเครื่องใช้ในบ้าน
- งารอยจ หมายถึง ที่ขูดมะพร้าว
- กือเบอ หมายถึง ผ้าห่ม
- กูติก หมายถึง กรรไกร
หมวดคำกริยา
- นาแงะฮ หมายถึง ร้องไห้
- เกอละฮ หมายถึง หัวเราะ
- ลัยจ หมายถึง มอง
หมวดสัตว์
- เกอตับ หมายถึง ปู
- อีตี หมายถึง เป็ด
- กูดา หมายถึง ม้า
หมวดร่างกาย
- กีกี หมายถึง ฟัน
- กากี หมายถึง เท้า
- กือนิง หมายถึง หน้าผาก
หมวดสี
- จัยจ ลาแงะ หมายถึง สีฟ้า
- จัยจ ฮีตับ หมายถึง สีดำ
- จัยจ เตะ หมายถึง สีขาว
หมวดจำนวนนับ
- ซา หมายถึง หนึ่ง
- ดูวา หมายถึง สอง
- ตีกา หมายถึง สาม
- ปัยจ หมายถึง สี่
- ลีมา หมายถึง ห้า
- นัม หมายถึง หก
- จูโญะฮ หมายถึง เจ็ด
- ลาปัด หมายถึง แปด
- ซามีลัด หมายถึง เก้า
- ซาปูโละฮ หมายถึง สิบ
ที่ดินที่อยู่อาศัยชุมชนโต๊ะบาหลิว ปัจจุบันสร้างอยู่ในเขตป่าชายเลน, บ้านมีสภาพที่ไม่มั่นคงไม่แข็งแรง, ห้องน้ำห้องสุขาไม่ถูกสุขลักษณะ, สภาพแวดล้อมและความเป็นอยู่แออัด
ด้านสาธารณูปโภคของชุมชนโต๊ะบาหลิว น้ำประปาเข้าไม่ถึง ต้องซื้อน้ำจืดเพื่ออุปโภคและบริโภคในราคาแพง, กระแสไฟฟ้าไม่เพียงพอ ทำให้ต้องจ่ายค่าไฟฟ้าในราคาที่แพงกว่าปกติ ต้องเฉลี่ยจ่ายค่าไฟฟ้าร่วมกันในชุมชน
ปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการศึกษาเรียนรู้ที่จะสนับสนุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และสนับสนุนอาชีพที่ต่อยอดจากความรู้และทักษะที่มีอยู่
พื้นที่ทางจิตวิญญาณ สุสานคลองสองปาก หมู่ที่ 1 ตำบลศาลาด่าน เป็นที่ฝังศพและประกอบพิธีกรรมของชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิว เป็นที่ดินของ นายบูเด็น คบคน ประเภท นส3. 1 ไร่ 1 งาน 30 ตารางวา ได้บริจาคให้เป็นสุสานชาวเลประเภท นสล. แต่มีเอกชนมาอ้างสิทธิ และพื้นที่สุสานบ้านบ่อแหน หมู่ที่ 5 ตำบลศาลาด่าน ซึ่งเป็นที่ฝังศพของบรรพบุรุษชาวเลในพื้นที่อำเภอเกาะลันตา ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่ของเอกชนเป็นผู้ถือครอง เพราะมีเอกสารสิทธิ์ที่ดิน ทำให้ไม่สามารถเข้าไปประกอบพิธีกรรมได้
ปัญหาการขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น ศิลปะการแสดง, การสืบทอดภาษาอูรักลาโว้ย เป็นต้น
การละเล่น ในอดีตเด็กผู้หญิงชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนโต๊ะบาหลิวและบ้านในไร่ มีการละเล่น หมากหยอดหลุม, หมากเก็บ, กระโดดยาง เด็กผู้ชาย เล่นซ่อนแอบ, เล่นตำรวจจับผู้ร้าย, เล่นยิง ปัจจุบันมีการละเล่นตามสมัยนิยมเหมือนคนทั่วไป เช่น เล่นขายข้าวแกง, ขายก๋วยเตี๋ยว, ร้องเพลงเต้นรำ, เล่นเป็นครูสอนเด็ก, เล่นตุ๊กตา ส่วนเด็กผู้ชาย เล่นว่ายน้ำ, ขี่คอกระโดด, เล่นยิงปืน และตกเบ็ด เป็นต้น
การทำมาหากินและการเข้าถึงทรัพยากร เพราะถูกจับจอง ครอบครอง และประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์.อูรักลาโว้ย ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.