ชุมชนชาวอูรักลาโว้ยที่เคยอพยพมาจากชุมชนโต๊ะบุหรง และยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการรักษาโรคแบบพื้นบ้านที่ควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน
ชุมชนชาวอูรักลาโว้ยที่เคยอพยพมาจากชุมชนโต๊ะบุหรง และยังคงสืบทอดภูมิปัญญาการรักษาโรคแบบพื้นบ้านที่ควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน
ชาวอูรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหร เดิมเคยตั้งกระท่อมอาศัยอยู่บริเวณคอคอดของเกาะจำนุ้ย ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารญี่ปุ่นเข้ามาบริเวณนี้เพื่อจับผู้ชายไปเป็นเชลยและเกิดโรคระบาดขึ้น ชาวอูรักลาโว้ยจึงย้ายไปอยู่หมู่บ้านแห่งที่สองบริเวณที่เรียกว่า "วันไพร" หรือเขตผีพราย เพราะที่บริเวณนี้เคยเป็นที่ฝังศพเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ต่อมามีเด็กและผู้ใหญ่ชาวอูรักลาโว้ยเสียชีวิตกว่าสิบคนจากการกินไข่ปลาปักเป้าที่มีพิษ โต๊ะหมอ ชื่อ "วะกาว" จึงเสี่ยงทายโดยการดูเทียนแล้วให้ชาวบ้านย้ายไปอยู่ที่ "ลัก หง่าตอย" (หมายถึง บริเวณที่เกาะของนกอินทรีทะเล) ปัจจุบันคือบริเวณริมหาดใกล้ศาลโต๊ะบุหรง ต่อมา กำนันตำบลให้ชาวอูรักลาโว้ยบางส่วนย้ายไปอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ภาษาอูรักลาโว้ยเรียกว่า "เซอบือละ" (หมายถึง ด้านข้างเกาะ) โดยจัดให้มีเอกสารที่ดินหลังจากนั้นมีชาวเลบางส่วนขายที่ดินไปจึงย้ายกลับมาอยู่บริเวณบ้านกลางและบ้านเกาะจำอีกครั้ง ส่วนชาวเลอูรักลาโว้ยที่ชุมชนบ้านติงไหรอพยพมาจากชุมชนโต๊ะบุหรง
ชุมชนบ้านติงไหร หมู่ที่ 5 ตำบลเกาะศรีบอยา อำเภอเหนือคลอง จังหวัดกระบี่
พื้นที่ทำกิน
ชาวเลอุรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหร ทำประมงในเขต เกาะเหลากา เกาะยูง เกาะไผ่ เกาะคู่ เกาะลันตา เกาะเหลาหละ เกาะจำนุ้ย เกาะเหลาสี เกาะม่วง เกาะตูหลัง เกาะพีพี เกาะหมา เกาะบิหลัน เกาะซีม่า เกาะฮั่ง เกาะศรีบอยา อ่าวยาซ่า และบริเวณช่องเภา ในเขตจังหวัดกระบี่ รวมถึงป่าชายเลนใกล้ที่อยู่อาศัย
พื้นที่ทางจิตวิญญาณ
พื้นที่ทางจิตวิญญาณ ได้แก่ ศาลโต๊ะบุหรง (ลักหง่าตอย), ศาลโต๊ะอาดัม ที่เกาะเหลาสี (ปูเลาเบอซี),โต๊ะแซะ ควนเกาะปู, โต๊ะกราหมาดบูสาป ที่หลังเกาะ โต๊ะเล และพื้นที่ทะเลทั้งหมด, สุสานที่ฝังศพ เดิม ชาวเลบ้านติงไหร ฝังศพที่ท่าเรือคลองปีปี ปัจจุบันสุสานที่ฝังศพอยู่ใกล้โรงเรียนบ้านติงไหร
ชุมชนบ้านติงไหร มีชาวเลอูรักลาโว้ย อาศัยอยู่ 42 ครัวเรือน จำแนกได้ดังนี้ ชาย 99 คน หญิง 81 คน รวมเป็น 180 คน
อูรักลาโวยจชาวเลอูรักลาโว้ยบ้านติงไหร ประกอบอาชีพ ได้แก่ ตกเบ็ด หาหอย เก็บแมงกะพรุน เป็นอาหาร เก็บมะพร้าว เก็บยอดผัก ตามชายฝั่งสำหรับปรุงอาหาร เมื่อชาวเลขึ้นมาตั้งถิ่นฐานบนฝั่ง ก็เริ่มเรียนรู้การทำไร่ปลูกข้าว ปลูกผัก ผลไม้ ทำสวนยางพารา ฯลฯ แต่ก็ยังยึดอาชีพประมงเป็นหลัก
ในช่วงต่อมาชาวเลอูรักลาโว้ยเช่าซื้ออวน เรือหางยาวพร้อมเครื่องเรือจากนายทุน โดยมีเงื่อนไขว่าจะต้องจับกุ้ง หรือปลาส่งขายให้กับนายทุนเพื่อหักหนี้สิน หลังเหตุการณ์สึนามิ จึงได้รับเรือและเครื่องมือหากินเป็นของตนเอง เมื่อการท่องเที่ยวเริ่มเป็นที่นิยมมากขึ้น ชาวเลที่อยู่ใกล้แหล่งท่องเที่ยว ออกทะเลหาปลาไปขายร้านอาหาร
ประเพณี/เทศกาล ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหร ในปัจจุบัน ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม ประเพณีหลายอย่างขัดกับหลักศาสนา จึงมีบางครอบครัวเท่านั้นที่เข้าร่วมกับชุมชนอื่น ๆ ได้แก่
ประเพณีลอยเรือตูละบาลา
มีบางครอบครัวและบางคนในครอบครัว ไปร่วมตลอดพิธีกรรม แต่บางคนและบางครอบครัวไม่ได้ไปร่วมตลอดพิธีกรรม แต่จะไปเป็นบางพิธีกรรม เช่น ไปร่วมแสดงรองเง็ง ไปสะเดาะเคราะห์ เป็นต้น
ประเพณีแต่งงาน
ในอดีตหนุ่มสาวชาวเลจะแต่งงานอายุประมาณ 14-18 ปี และมีพิธีสู่ขอหมั้นหมาย โดยผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะไปขอถึง 3 ครั้ง ถ้าตอบรับก็จะไปขอหมั้น หรือ "ปากัยตูนัง" ก่อนแต่ง 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องอาสาทำงานบ้านผู้หญิง เช่น หาน้ำ ผ่าฟืนเป็นต้น วันแต่งงานขบวนแห่จะให้เจ้าบ่าวขี่คอเดินวนซ้ายรอบบ้านเจ้าสาว 3 รอบ ก่อนย่างเข้าประตูบ้านผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะถามว่า มีเรือไหม มีแหไหม มีฉมวกไหม เจ้าบ่าวตอบว่า "มี" ก็จะมีคนล้างเท้าให้ก่อนข้ามเข้าธรณีประตู เพื่อนเจ้าบ่าวจะนำเสื่อและหมอนไปวางในห้องเจ้าสาว เจ้าถามจะประแป้งให้แขกที่มาร่วมงาน วันรุ่งขึ้นพ่อแม่และญาติพี่น้องจะส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามเกาะต่าง ๆ โดยมีข้าวสาร น้ำจืด เครื่องมือจับปลาไปด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าฝ่ายชายจะสามารถเลี้ยงดูภรรยาได้ ขาไปผู้ชายจะเป็นคนกรรเชียงเรือโดยให้ผู้หญิงนั่งหัวเรือ ขากลับผู้หญิงจะเป็นฝ่ายกรรเชียงเรือให้ผู้ชายนั่งหัวเรือ เป็นที่เข้าใจได้ว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยาตามพฤตินัยแล้ว เมื่อแต่งแล้วฝ่ายชายจะต้องเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง (อาภรณ์ อุกฤษณ์, 2554, หน้า 199) ปัจจุบันชาวเลชุมชนบ้านติงไหร มีพิธีแต่งงานที่คล้ายกับคนไทยพื้นถิ่น เริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวชอบพอกัน ให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอ มีสินสอดของหมั้น มีงานเลี้ยงในหมู่ญาติและคนรู้จัก งานเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับฐานะของคู่บ่าวสาว บางคู่ก็มีการกินเลี้ยงที่บ้าน มีพิธีรดน้ำให้พร โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ทำพิธี และญาติผู้ใหญ่ ชุดแต่งงานของคู่บ่าวสาวก็เป็นไปตามสมัยนิยม ช่วงอายุของการแต่งงานจะอยู่ที่ยี่สิบปีขึ้นไป จะมีการแต่งงานงานระหว่างกลุ่มชาวเลด้วยกันเองและต่างกลุ่ม หลังจากแต่งงานแล้วการที่จะอยู่บ้านของฝ่ายไหนก็ขึ้นอยู่กับความสะดวกและสถานที่ทำงานของฝ่ายนั้น
ประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรต
ชาวอูรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหรบางครอบครัว เดินทางไปทำบุญสารทเดือนสิบ ในตัวเมืองกระบี่ เหนือคลอง และวัดปกาสัย ทุกปี ค้างแรมนอนที่ตลาดนัดเหนือคลอง โรงนัดเหนือคลอง พรุดินนา และวัดปกาสัย โดยเดินทางไปล่วงหน้า 2-3 วัน ชาวเลจะนำของทะเล เช่น ปลาเค็ม ปลาเบนย่าง ปะการัง กัลปังหา เปลือกหอย กำไลกระ ไปแลกกับเสื้อผ้า อาหาร ขนมลาอับน้ำตาล ของใช้จำเป็นกับคนเมือง และร่วมพิธีชิงเปรต เพื่อเก็บขนมพอง ขนมลา ข้าวปลาอาหาร และเงินที่ชาวพุทธนำไปตั้งไหว้เปรต แล้วนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่า ลูกหลานต้องไปรับบุญเพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษไม่อดอยาก
พิธีกรรมของชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหร ได้แก่
การเกิด
ในอดีตเมื่อผู้หญิงชาวเลตั้งครรภ์และถึงกำหนดคลอด "โต๊ะบิดัด" หรือหมอตำแยจะทำคลอดให้ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้ว จะใช้ไม้ไผ่เหลาให้บางตัดสายสะดือ อาบน้ำเย็นก่อนจึงอาบน้ำอุ่น และให้เด็กทารกดื่มน้ำผึ้งจนครบ 3 วัน เพื่อให้เด็กถ่ายของเสียออก จึงให้ดื่มนมแม่ หลังคลอด 3 วัน จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายและเลี้ยงฉลอง หรือ "ทำนูหรี" โต๊ะบิดัดจะช่วยดูแลแม่และลูกในช่วงที่แม่อยู่ไฟ 7-9 หรือ 15 วัน เมื่อครบ 44 วัน พ่อแม่จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายอีกครั้ง ปัจจุบันการคลอดจะใช้วิทยาการแพทย์สมัยใหม่แทนที่การคลอดแบบในอดีต
พิธีศพ
เมื่อมีสมาชิกในชุมชนเสียชีวิต ชาวเลชุมชนบ้านติงไหรจะมีพิธีศพแบบอิสลาม หลังจากฝังศพเสร็จแล้ว ไม่ว่าศพนั้นจะเป็นผู้หญิงหรือผู้ชาย จะมีการเฝ้าศพ (อยู่เป็นเพื่อนคนตาย) ที่สุสานเป็นเวลา 3 วัน 3 คืน หรือ วัน 7 คืน โดยผู้ชายจะเป็นคนไปเฝ้าที่สุสาน หลังจากนั้นก็จะมีพิธีทำบุญ (ทำนูหรี) ที่บ้านผู้เสียชีวิตตอนครบ 3 วัน, 7 วัน, 14 วัน, 21 วัน, 40 วัน และ 100 วัน ตามลำดับ
พิธีแก้บน (แก้เหลย)
ชาวเลอูรักลาโว้ยจะมีการแก้บน เพราะได้บนบานศาลกล่าวกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ตนเคารพนับถือว่าให้ตนเองและครอบครัวหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบผลสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง ถ้าเป็นไปตามที่ได้ขอหรือบนบานไว้ ก็ต้องมาแก้บน เช่น จัดให้มีการบรรเลงรำมะนา หรือถวายอาหารคาวหวาน เป็นต้น ก็ต้องทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้ การแก้บนด้วยการบรรเลงรำมะนานั้นมักจะเป็นการแก้บนใหญ่ หมายถึง การบนบานศาลกล่าวในเรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องความเป็นความตาย เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ ถูกรางวัลสลากกินแบ่งรัฐบาล เป็นต้น
คติ ความเชื่อ ตำนาน
ตำนานโต๊ะบุหรง คำว่า "บุหรง" เป็นคำภาษามลายู แปลว่านก หรือภาษาอูรักลาโว้ยจะออกเสียงว่า "บูรก" เชื่อกันว่า "โต๊ะบุหรง" เป็นวิญญาณบรรพบุรุษที่มีคาถาสามารถจะหยุดลมและพายุฝนได้ และเคยมาปรากฏตัวในร่างของนกเพื่อมาช่วยชาวอูรักลาโว้ยที่เผชิญคลื่นลมให้พ้นจากอันตราย โต๊ะหมอว่าเล่า เมื่อคนที่เผชิญกับพายุคลื่นลมแรงกลางทะเล เมื่อกลับมาถึงบ้าน ต้องทำพิธีแก้บนโดยการรำผ้าเจ็ดสี ซึ่งหมายถึงการแก้บนใหญ่, ตำนานกำเนิดชาวเล, ตำนานคลื่นเจ็ดลูกหรือ "รูมัก ตูโยะ"
ความเชื่อเกี่ยวกับโต๊ะเล (สิ่งศักดิ์สิทธิ์ที่อยู่ในทะเล) เนื่องด้วยชาวเลอูรักลาโว้ยมีวิถีชีวิตและความเชื่อดั้งเดิมในเรื่องวิญญาณที่ปกป้องดูแลบริเวณโดยรอบ มีความเชื่อว่าถ้าใครทำให้แหล่งน้ำจืดสกปรกจะมีอาการเจ็บป่วย
ผู้หญิงชาวเลอูรักลาโว้ยเมื่อตั้งครรภ์จะต้องปฏิบัติตนตามความเชื่อและข้อห้ามที่สืบทอดกันมา เช่น ห้ามอาบน้ำกลางคืน ห้ามลงไปเดินเล่นนอกบ้านหลังพระอาทิตย์ตกดินเพราะผีตายายจะติดตามตัวมา ระหว่างที่ตั้งครรภ์ 3-7 เดือน ห้ามฆ่าหรือทุบตีสัตว์ทุกชนิด ห้ามนั่งบนธรณีประตู ห้ามข้ามเชือกผูกหัวเรือ จะทำให้คลอดยาก เป็นต้น
ข้อห้ามสำหรับเด็ก เด็กห้ามกินไข่จนกว่าจะคลานได้ และห้ามกินปลาจนกว่าจะพูดคำว่าปลา หรือ "อีกัด" ได้
ความเชื่อและข้อห้ามขณะสามีออกทะเล ภรรยาที่อยู่ที่บ้านห้ามขยับที่นอนสามี ห้ามเย็บผ้า ห้ามสระผม ห้ามนอนกลางวัน และห้ามกวาดขยะใต้ถุนบ้าน เพราะเชื่อว่าสามีจะประสบอุบัติเหตุ
ความเชื่อเรื่องการออกไปหาปลาเมื่อลงจากบ้านไปทะเล หากมีคนนั่งขวางบันได เชื่อว่าเป็นการขวางลาภ จับปลาไม่ได้
ข้อห้ามอื่น ๆ เช่น ห้ามนั่งบนหินถ่วงไซ หรือหินลับมีด เพราะเชื่อว่า ก้นจะหนักหรือขี้เกียจทำงาน เป็นต้น
ศิลปะการแสดง
รองเง็ง
เป็นการร้องและรำที่คล้ายคลึงกับการเล่นรำมะนา บทเพลงจะขับเป็นภาษามลายูกลาง เรียกว่า ขับแขก จะเริ่มต้นด้วยเพลงลาฆูดูวอ จะเล่นเพลงอื่น ๆ ไปตามลำดับ และยังมี รองเง็งแก้บน เป็นการร่ายรำเฉพาะแก้บนหรืองานพิธีต่าง ๆ ซึ่งมีการถ่ายทอดโดยความใกล้ชิดของผู้สอนกับสมาชิกภายในครอบครัวหรือเครือญาติ ลักณะการถ่ายทอดจะเป็นการถ่ายทอดจากผู้ใหญ่สู่เด็กรุ่นใหม่ซึ่งเป็นญาติ เป็นลูกหลาน โดยการสอนท่ารำ เพลงต่าง ๆ โดยการขับสด ร้องสด รำสด ผู้เรียนบางคนจะอาศัยอยู่กับคนสอนเนื่องจากถือว่าเป็นญาติผู้ใหญ่
รำมะนา
เป็นการแสดงพื้นบ้าน ใช้เล่นในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น พิธีลอยเรือ แต่งเปลว พิธีแก้บน เครื่องดนตรีที่ใช้ในดนตรีรำมะนามีชนิดเดียวคือ กลอง การบรรเลงดนตรีรำมะนา จะไม่มีพิธีการในการบรรเลงมากนัก โดยจะเริ่มด้วยเพลงแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้มากินของเซ่นไหว้ และบรรเลงต่ออีก 6 เพลง เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวอูรักลาโว้ย ดนตรีรำมะนาในพิธีมีเพลงทั้งหมด ๗ เพลง ลักษณะของบทเพลงมีคนร้องนำหนึ่งคนซึ่งร้องนำก่อนในแต่ละวรรคเพลง โดยคนร้องที่เหลือเป็นลูกคู่รับ คำร้องของลูกคู่รับมีลักษณะคล้ายกับคำร้องนำ ร้องสลับกันไปมาจนจบเพลง เทคนิคการขับร้องหลายลักษณะเช่น การลักจังหวะ การโยกเสียง การผ่านเสียง การช้อนเสียง การสะบัดเสียง การโปรย และการเน้นเสียง คำร้องของเพลงใช้ภาษาของชาวอูรักลาโว้ย
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาของชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหร ที่ใช้ในการประกอบอาชีพ ได้แก่ การทำบูบูอีกัด (ไซปลา), การทำบูบูนุยฮ (ไซปลาหมึก), การทำปูกัยจ ฮูรัก(อวนกุ้ง), การดูกระแสน้ำ, ดูทิศทางลม, การโคจรของดวงจันทร์และดวงดาว, ภูมิปัญญาด้านหัตถกรรม เช่น การต่อเรือปลาจั๊ก การจักสานฝาบ้าน สานเสื่อ, เย็บจากมุงหลังคาบ้าน การจักสานตะกร้า กันหม้อ (ที่รองหม้อ), จงนั่ง ทำจากเตยดิน เป็นที่ใส่ของ เช่น ใส่หมากพลู ส่รวงข้าว ใส่ข้าวห่อในเรือ สมุกไว้ใส่ยา เป็นต้น
ภูมิปัญญาด้านการถนอมอาหาร เช่น ทำปลาย่าง, ทำปลาเค็ม (ปลาแห้ง), การทำจาวหลู (เคยเค็ม) การทำกะปิ เป็นต้น
การละเล่น
เด็กผู้หญิงชาวเลชุมชนบ้านติงไหร มีการละเล่น เช่น เล่นข้าวหุงเลียง, ปิดตาลักซ่อน, หมากขุม, มอญซ่อนผ้า, เล่นพ่อแม่ลูก, เล่นเตย เป็นต้น ส่วนเด็กผู้ชายจะเล่น ปลากัด, ว่ายน้ำ, หาปลาหัวกัว, ตกปลาตามหัวสะพาน ตามโขดหิน, ขว้างกระป๋อง, เล่นซ่อนแอบ, เล่นตำรวจจับผู้ร้าย, เล่นยิงปืน เป็นต้นส่วนเด็กชาวเลในปัจจุบันมีการละเล่นตามสมัยนิยมเหมือนคนทั่วไป เช่น เล่นขายข้าวแกง ร้องเพลงเต้นรำ เล่นตุ๊กตา ส่วนเด็กผู้ชายจะ เล่นน้ำ ขี่คอกระโดด เล่นยิงปืน ตกเบ็ด เป็นต้น
การรักษาโรค
ชาวเลอูรักลาโว้ยมีความเชื่อว่าการเจ็บป่วย เกิดจากสิ่งเหนือธรรมชาติหรือผีบรรพบุรุษ ถ้าเจ็บไข้เพียงเล็กน้อยก็จะรักษาเองด้วยสมุนไพร หรือให้โต๊ะหมอรักษา และทำน้ำมนต์ ปัจจุบันชาวเลเข้าถึงการรักษาโรคแผนปัจจุบันมากขึ้น แต่การรักษาโรคแบบพื้นบ้านก็ยังคงมีใช้ควบคู่ไปกับการรักษาแผนปัจจุบัน เช่น เมื่อมีการเจ็บป่วย โต๊ะหมอจะดูเทียนเป็นลำดับแรก เพื่อปัดเป่าสิ่งไม่ดี แล้วก็ดูเทียนต่อว่าจะรักษาด้วยวิธีไหน การรักษาด้วยสมุนไพร เช่น โรคไข้ผู้ใหญ่ ข้าวสารคั่ว น้ำ รากหญ้าคา เปลือกขนุนเปียก นำมาคั่วรวมกัน นำมาละลายน้ำ ดื่มเช้าและเย็น ช่วยลดความร้อน เป็นต้น
อาหาร
ชาวเลอูรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหร จะมีอาหารทะเลเป็นอาหารหลัก ประเภท กุ้ง หอย ปลา ปู กั้ง ปลาหมีก และเพรียงทะเล นำมาต้ม ย่าง เผา หรือกินสด ๆ เช่น หอยติเตบ (หอยนางรมตัวเล็ก) หอยตาชัยผัดกระเทียมพริกไทย, ข้าวยำ, แกงกะทิหอยใส่มะพร้าวคั่ว, ปลาจ้องม้องต้มส้ม, ปลาหมึกผัดดำ, หมึกต้มตะไคร้,หมึกต้มส้ม, ปลากระเบนย่าง, ยำหอยยักษ์, ยำเห็ดหลุบ, แกงกะทิเห็ดหลุบ เป็นต้น
ภาษาชาวเลอุรักลาโว้ยชุมชนบ้านติงไหรที่ใช้สื่อสารในชีวิตประจำวัน มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน มีคำศัพท์น้อย จะมีคำศัพท์ที่เข้าใจกันเฉพาะกลุ่มแสดงถึงอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์ ได้แก่ คำที่ใช้เรียกชื่อสถานที่ต่าง ๆ เช่น ปูเลา เตอละ หมายถึง เกาะสิงโต, บูเฮอ กูไย่ หมายถึง เนินทรายที่หาหอย, ปูเลา ซูไง บาย่า หมายถึง เกาะศรีบอยา เป็นต้น
ที่อยู่อาศัยส่วนใหญ่จะเป็นพื้นที่ป่าชายเลน ไม่มีเอกสารยืนยันเป็นลายลักษณ์อักษรในการให้ใช้พื้นที่ของป่าชายเลน บางครอบครัวอยู่บนพื้นที่ของสำนักงานที่ดิน เนื่องจากไม่มีเอกสารสิทธิแต่มี ภ.ท.บ.5 ภาษีบำรุงท้องที่ หรือภาษีดอกหญ้า ซึ่ง ภ.ท.บ.5 เป็นเพียงเอกสารที่รับรองการเสียภาษีของผู้ที่ครอบครองที่ดินดังกล่าวให้กับหน่วยงานท้องถิ่นซึ่งในที่นี้คือ องค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.)
สาธารณูปโภคพื้นฐาน เช่น ประปาหมู่บ้าน ไฟฟ้า ถนนเข้าชุมชน การพัฒนายังไม่ทั่วถึงบ้านทุกหลัง ยังมีบ้านบางหลังต้องพ่วงไฟฟ้ากับบ้านที่มีหม้อไฟฟ้า และอีกหลายหลังที่พ่วงไฟฟ้าบ้านอื่นเนื่องจากยังไม่มีบ้านเลขที่ ซึ่งการขอบ้านเลขที่นั้นบ้านแต่ละหลังที่สร้างจะต้องมีห้องน้ำ บ้านชาวเลอูรักลาโว้ยหลายหลังยังไม่มีห้องน้ำ และการขอบ้านเลขที่ในพื้นที่ของรัฐ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ (บ้านที่ตั้งบนพื้นที่ป่าชายเลน ต้องมีหนังสือรับรองการใช้พื้นที่
ปัญหาเกี่ยวเนื่องกับการศึกษาเรียนรู้ที่จะสนับสนุนการศึกษาในระดับที่สูงขึ้น และสนับสนุนอาชีพที่ต่อยอดจากความรู้และทักษะที่มีอยู่
การขาดความมั่นใจและภูมิใจในวิถีวัฒนธรรมดั้งเดิม เช่น ศิลปะการแสดง การสืบทอดภาษาอูรักลาโว้ย เป็นต้น
การทำมาหากินและการเข้าถึงทรัพยากร เพราะถูกจับจอง ครอบครอง และประกาศเป็นพื้นที่คุ้มครอง
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์.อูรักลาโว้ย ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.