Advance search

เมิงงอบ

ผ้าลายน้ำไหลเลื่องชื่อ วัฒนธรรมไตลื้อจากยูนนาน รสหวานส้มสีทอง สวยผุดผ่องสาวเมืองงอบ

หมู่ที่ 1, 5, 8, 9, 10 ถนน น่าน - ปอน (101)
งอบ
งอบ
ทุ่งช้าง
น่าน
ทต.งอบ โทร. 0-5469-3061
วิทูร อินยา, ศรีแพร อินยา
25 ธ.ค. 2023
อนุชิต ไชยถา
15 ก.พ. 2024
ปริญญ์ รุจิรัชกุล
15 ก.ค. 2024
บ้านงอบ
เมิงงอบ

สันนิษฐานว่า ชื่อ "งอบ" เป็นชื่อเมืองเก่าที่บรรพบุรุษได้อพยพมา ปรากฏคำว่า "งอบ" ในคัมภีร์ใบลานที่ครูบาอินต๊ะวิชัยเจ้าอาวาสวัดศรีดอนชัย จารึกไว้เมื่อปีจุลศักราช 1185 (พ.ศ.2365)


ผ้าลายน้ำไหลเลื่องชื่อ วัฒนธรรมไตลื้อจากยูนนาน รสหวานส้มสีทอง สวยผุดผ่องสาวเมืองงอบ

งอบ
หมู่ที่ 1, 5, 8, 9, 10 ถนน น่าน - ปอน (101)
งอบ
ทุ่งช้าง
น่าน
55130
19.48633
100.89296
เทศบาลตำบลงอบ

บ้านงอบเป็นชุมชนเชื้อสายไตลื้อ อพยพมาจากสิบสองปันนา มณฑลยูนนาน สาธารณรัฐประชาชนจีน

ลื้อ เป็นกลุ่มชาติพันธุ์ไท กลุ่มหนึ่ง เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ในดินแดนสิบสองปันนา ในเขตมณฑลยูนนาน ตอนใต้ของประเทศจีน และกระจายอยู่ในรัฐฉาน สหภาพเมียนมาร์ ตลอดจนภาคเหนือของสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ต่อมาได้มีชาวไตลื้อบางส่วนโยกย้ายเข้าสู่ภาคเหนือของประเทศไทย บางส่วนก็อพยพไปอยู่ที่ประเทศสหรัฐอเมริกา แคนาดา ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย

จากหลักฐานทางประวัติศาสตร์พบว่า ชาวไตลื้อสิบสองปันนา มีความสัมพันธ์ใกล้ชิดกับดินแดนล้านนามาแต่อดีต แม้แต่พญามังราย ปฐมกษัตริย์ผู้สร้างเมืองเชียงใหม่ ก็มีพระมารดา คือนางเทพคำขยาย เป็นธิดาของเจ้าเมืองเชียงรุ่งแห่งสิบสองปันนา ชาวไตลื้ออพยพเข้ามาสู่หัวเมืองต่าง ๆ ในล้านนา ด้วยเหตุผลทางการเมืองระหว่างรัฐในยุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บข้าใส่เมือง" อาณาจักรสิบสองปันนาในอดีต มีการปกครองในระบบปันนา คือใช้พื้นที่นาเป็นตัวแบ่งเขตพื้นที่ปกครอง ชาวไตลื้อเรียก ปัน หรือ ปั่น ซึ่งหมายถึง เขตหนึ่ง หรือ กองหนึ่ง

ในสมัยนั้นมีการแบ่งพื้นที่นาออกเป็น 12 เขต จึงเรียกว่า สิบสองปันนา มีเมืองเชียงรุ่ง เป็นเมืองหลวง โดยมีเจ้าแผ่นดินเป็นประมุข เรียกว่าเจ้าแสนหวีฟ้า มีเจ้าแสนหวีฟ้าปกครองแผ่นดินติดต่อกันถึง 41 พระองค์ รวม 790 ปี

เริ่มจากพญาเจื๋องหาญ เป็นปฐมกษัตริย์เมือปี พ.ศ. 1703 จนถึงเจ้าแผ่นดินองค์สุดท้ายคือ เจ้าหม่อมคำลือ ถูกจีนยึดและผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน เมื่อปี พ.ศ. 2493 ต่อมาการเมืองภายในอ่อนแอ ขาดความสามัคคี อาณาจักรที่เคยรุ่งเรืองก็ล่มสลาย ดินแดนถูกแบ่งแยก บางส่วนถูกผนวกเป็นส่วนหนึ่งของประเทศจีน เมียนมา ลาว อินเดีย และเวียดนาม ผู้คนอพยพแตกหนีเพื่อหาความเป็นอิสระ สงบ บางส่วนถูกจับเป็นเชลย บางส่วนก็อพยพไปอยู่ต่างประเทศ

ผู้เฒ่าผู้แก่เล่าสืบ ๆ ต่อกันมาว่า ชาวบ้านงอบมาจากเมืองสิง เมืองนัง (ปัจจุบันยู่ในแขวงหลวงน้ำทา สปป.ลาว ติดกับเมืองล้าของจีน แต่ก็ยังไม่พบหลักฐานแน่ชัด) เมื่ออพยพมาครั้งแรกได้มาตั้งถิ่นฐานอยู่บริเวณน้ำน่าน ปัจจุบันเรียกว่า "บ้านเก่า" มีซากบ้านเรือน และวัดร้างเหลืออยู่ ต่อมาคงจะถูกน้ำท่วมบ่อย ๆ จึงได้อพยพย้ายมาทางทิศตะวันออก ห่างจากบ้านเก่าประมาณ 3 กิโลเมตร แยกเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มใหญ่มาอยู่ที่บ้านงอบในปัจจุบัน กลุ่มเล็กไปตั้งบ้านเรือนอยู่ทางทิศใต้ ห่างจากบ้านงอบใหม่ 2 กิโลเมตร คือ บ้านทุ่งสุนในปัจจุบัน

ตำบลงอบ อยู่ห่างจากตัวอำเภอทุ่งช้าง 10 กิโลเมตร อยู่ห่างจากตัวจังหวัดน่าน 100 กิโลเมตร

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ เขตตำบลปอน
  • ทิศใต้ ติดกับ เขตตำบลและ
  • ทิศตะวันออก ติดกับ อำเภอเฉลิมพระเกียรติ
  • ทิศตะวันตก ติดกับ เขตประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว

ข้อมูลประชากรไตลื้อในตำบลบ้านงอบ (ข้อมูลเดือนพฤศจิกายน 2566)

หมู่ที่ ชื่อหมู่บ้าน ชาติพันธุ์ จำนวนหลังคา จำนวนประชากรชาย จำนวนประชากรหญิง รวม
1 บ้านงอบศาลา ไตลื้อ 200 241 242 483
4 บ้านทุ่งสน ไตลื้อ 190 231 255 486
5 บ้านงอบเหนือ ไตลื้อ 210 258 239 497
8 บ้านงอบใต้ ไตลื้อ 166 155 145 300
9 บ้านงอบกลาง ไตลื้อ 136 141 177 318
10 บ้านใต้ร่มโพธิ์ทอง ไตลื้อ 150 189 187 376
    รวม 1,052 1,215 1,245 2,460

 

ข้อมูลเครือญาติของคนในชุมชนบ้านงอบ มีคนใช้นามสกุลหลักในหมู่บ้าน ดังนี้

ลำดับที่ นามสกุล คิดเป็นร้อยละ
1 อินทะรังษี 40
2 คำรังษี 20
3 เทพจันตา 20
4 ร่อนทอง 5
5 สิทธิยศ 4
6 งามธุระ 3
7 วันชนะ 1
8 อื่น ๆ 7
ไทลื้อ

คนในชุมชนบ้านงอบ มีการรวมกลุ่มแบบไม่เป็นทางการ ทำกิจกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน เช่น กลุ่มแม่บ้าน กลุ่มพ่อบ้าน กลุ่ม อสม. กลุ่มสวนยางพารา กลุ่มออกกำลังกาย (แอโรบิก) ชมรมกำนันผู้ใหญ่บ้าน ชมรมข้าราชการบำนาญ ชมรมผู้สูงอายุ ชมรมคนฮักดนตรี เป็นต้น

ในรอบปี ชุมชนมีวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม และวิถีชีวิตทางเศรษฐกิจร่วมกัน ดังนี้

ที่ กิจกรรม เดือน วัน/เวลา สถานที่
1 ทำบุญตักบาตรวันขึ้นปีใหม่ มกราคม 1 มกราคม วัดศรีดอนชัย
2 ทำบุญตักบาตร วันมาฆบูชา กุมภาพันธ์ ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วัดศรีดอนชัย
3 พิธีสรงน้ำพระธาตุศรีดอนชัย มีนาคม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 5 วัดศรีดอนชัย
4 ตานธรรม (เทศมหาชาติ) มีนาคม ตามวันกำหนด วัดศรีดอนชัย
5 เทศกาลปีใหม่เมือง (วันสงกรานต์) เมษายน วันที่ 13-17 เมษายน วัดศรีดอนชัย
6 ดำหัวผู้อาวุโส/ผู้สูงอายุ เมษายน ตามมติผู้นำชุมชน เทศบาลตำบลงอบ
7 บรรพชา-อุปสมบทภาคฤดูร้อน เมษายน ทางวัดกำหนด  
8 ทำบุญตักบาตรวันวิสาขบูชา พฤษภาคม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 6 วัดศรีดอนชัย
9 เลี้ยงผีเมือง (เทวดาเมือง) มิถุนายน ภายในเดือน 8 ที่หอดง (ศาล)
10 ถวายเทียนพรรษา วันอาสาฬหบูชา กรกฎาคม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 10 วัดศรีดอนชัย
11 กิจกรรมวันแม่แห่งชาติ สิงหาคม 12 สิงหาคม วัด/โรงเรียน/เทศบาล
12 ทานสลากภัตต์ ตุลาคม ก่อนออกพรรษา วัดศรีดอนชัย
13 ทอดกฐิน พฤศจิกายน หลังออกพรรษา วัดศรีดอนชัย
14 จุดสีสายสเดาะเคราห์/ลอยกระทง พฤศจิกายน ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 12 วัดศรีดอนชัย
15 งานประเพณีตานข้าวใหม่ ธันวาคม ขึ้น 15 ค่ำ เดือน 3 วัดศรีดอนชัย
16 งานสืบสานวัฒนธรรมไตลื้อและชนเผ่า ธันวาคม วันที่ 30 ธันวาคม ลานหน้าพิพิธภัณฑ์

 

งานประเพณีทานสลากภัต

ทำทุกปี ก่อนจะถึงวันออกพรรษา ชาวบ้านจะทำก๋วยสลากใส่เครื่องอุปโภคบริโภค ปัจจัย และใบสลาก (ใบลาน) เขียนอุทิศไปถึงบรรพบุรุษที่ล่วงลับไป หรืออุทิศเพื่อเป็นปัจจัยในภายหน้า เมื่อถึงพิธีถวายทาน ก็จะนำใบลานมารวมกันแล้วมีการโยนใบลาน(กวน)ให้ผสมกัน แล้วมาแบ่งมัดเพื่อมอบให้กับ พระ ใครได้ใบลานมัดได้ก็จะไปตามหาเจ้าของศรัทธาเพื่อทำพิธีถวายทาน

งานเลี้ยงผีเมืองที่ดงหอ

ดงหอ หมายถึง ที่อยู่ของผีเมือง ประจำบ้านงอบ คำว่า "ดง" หมายถึง "ป่า" ส่วนคำหว่า "หอ" หมายถึง "บ้าน" ถ้าเป็นภาคกลางก็คงจะเรียก "ศาลเจ้าพ่อ" นั่นเอง ดงหอ อยู่ทิศตะวันออกของหมู่บ้าน อยู่ริมฝั่งน้ำงอบ ใกล้กับอ่างเก็บน้ำงอบ ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 800 เมตร ชาวบ้านงอบ ได้สร้างเรือนไม้ พื้นคอนกรีต ให้เป็นที่สถิตของเจ้าพ่อ และเป็นสถานที่ทำพิธีเลี้ยงประจำปีทุกปี ดงหอ มีพื้นที่ประมาณ 3-4 ไร่ ปัจจุบันได้ปลูกต้นไม้สักมีความร่มรื่นดี เจ้าพ่อที่ประทับดงหอ ชาวบ้านงอบถือว่าเป็นผีบรรพบุรุษของชาวไตลื้อ ทุกปีชาวไตลื้อบ้านงอบ ทุกหลังคาจะต้องมีส่วนร่วม ในการเลี้ยง โดยการทำสลวย ใส่ดอกไม้ (สีขาว) เทียน ไปร่วม นอกจากนั้นค่าใช้จ่ายในการเลี้ยง ก็มีการเก็บเงินทุกหลังคา พิธีเลี้ยงจะทำในเดือน 8 เท่านั้น (ประมาณเดือนมิถุนายน)

การจัดงานสืบสานวัฒนธรรมไตลื้อและชนเผ่า

ในสมัยก่อนจะจัดช่วงวันสงกรานต์หรือวันปีใหม่เมือง ต่อมาได้ย้ายมาจัดในวันที่ 30 ธันวาคมของทุกปี เพื่อไม่ให้ตรงกับเทศกาลสงกรานต์ ในบางปีก็มีการเชิญพี่น้องไตลื้อจากต่างจังหวัด / ต่างอำเภอมาร่วมด้วย ประเพณีจิเตียน สีสาย / เสดาะเคราะห์ ชุมชนบ้านงอบจะมีพิธีตานก๋องหลัว / จิเตียน สีสาย /เสดาะเคราะห์ ในวันขึ้น 15 ค่ำเดือน 3 ทุกปี (ตรงกับวันลอยกระทง) ที่วัดศรีดอนชัย

วิถีชีวิตทางเศรษฐกิจ

ปัจจุบันชาวไตลื้อบ้านงอบ ยังคงทำนา ทำไร่ ทำสวน สมัยก่อนมีชื่อเสียงในเรื่องส้มสีทอง ปัจจุบันชาวบ้านเปลี่ยนไปปลูกเงาะ ลองกอง ทุเรียน ทำสวนยางพารา และค้าขายตามชายแดนไทย-ลาว โดยเฉพาะการทำสวนยางพารา เป็นอาชีพที่มีรายได้สูงและมั่นคง

1.นายวิทูร อินยา

เกิดปี พ.ศ. 2490

ที่อยู่ หมู่ 5 (บ้านงอบเหนือ) ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน 55130 

สามารถอ่าน-เขียนภาษาล้านนา(ตั๋วเมือง) ภาษาไตลื้อสิบสองปันนาทั้งแบบเก่า และแบบใหม่ได้ สามารถเล่นดนตรีพื้นเมืองล้านนาได้ และเปิดบ้านเป็นศูนย์การเรียนรู้ด้านดนตรี พื้นเมือง (เรียนฟรี) มีนักเรียนจากโรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 (บ้านงอบ) มาเรียน ทุกวันจันทร์และทุกวันพฤหัสบดี เวลา 15.00- 16.00 น.

ได้รับการคัดเลือกให้เป็น "คนดีศรีเมืองน่าน" ประจำปี 2551 จาก จังหวัดน่าน

ได้รับการคัดเลือกให้เป็น "ผู้ทำคุณประโยชน์ด้านศาสนา ศิลปะและวัฒนธรรม จังหวัดจังหวัดน่าน" ประจำปี 2552 จากผู้ว่าราชการจังหวัดน่าน

ได้รับเกียรติบัตร "ผู้มีคุณูปการต่องานวัฒนธรรมของชาติ" ในระหว่างดำรง ตำแหน่งรองประธานสภาวัฒนธรรมอำเภอทุ่งช้าง จากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม

ได้รับเกียรติบัตร "ผู้ทำคุณประโยชน์ต่อกระทรวงวัฒนธรรม" ระดับจังหวัดด้าน วัฒนธรรม ประจำปี พ.ศ. 2552 จากปลัดกระทรวงวัฒนธรรม

2.พระครูสุกิตติธำรง (กลาง)

เกิดปี พ.ศ. 2525

ที่อยู่ วัดศรีดอนชัย ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน

สามารถอ่าน-เขียนภาษาพื้นเมืองล้านนาได้ เป็นผู้สืบค้นประวัติศาสตร์ไตลื้อ และประวัติวัดศรีดอนชัยจากคัมภีร์ใบลาน และเป็นกรรมการจัดทำสื่อวีดีทัศน์ประวัติบ้านงอบและวัดศรีดอนชัย เพื่อเป็นสื่อการเรียนการสอนแก่นักเรียน

เป็นครูสอนวิชาพระพุทธศาสนาวันอาทิตย์วัดศรีดอนชัย และสอนวิชาศีลธรรม ที่โรงเรียนไทยรัฐวิทยา 98 (บ้านงอบ)

3.นายสุรินทร์ คำรังษี (ขวา)

เกิดปี พ.ศ. 2484

ที่อยู่ หมู่ที่ 5 (บ้านงอบเหนือ) ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน

สามารถอ่าน-เขียนภาษาล้านนา (ตั๋วเมือง) ได้ เป็นมัคนายกวัดศรีดอนชัย ตั้งแต่ปี พ.ศ. 2540 จนถึงปัจจุบัน

เป็นหมอสู่ขวัญคน สู่ขวัญข้าว ส่งสะตวง สะเดาะเคราะห์ ทำพิธีมงคล-อวมงคลในหมู่บ้าน ตำบล อำเภอ และจังหวัด 

ทุนวัฒนธรรม

บ้านงอบยังมีการสืบสานวัฒนธรรมและประเพณีแบบดั้งเดิมในรูปแบบการประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ในรอบปีอย่างสม่ำเสมอ รวมถึงมีการอนุรักษ์ภูมิปัญญาของชุมชนในพิพิธภัณฑ์ ที่ถือว่าเป็นการสร้างและรักษาองค์ความรู้ด้านวัฒนธรรมชาติพันธุ์

ทุนมนุษย์

ชุมชนมีปราชญ์ชาวบ้านที่มีความรู้ความสามารถในด้านต่าง ๆ ทั้งดนตรี ภาษา การนำประกอบพิธีกรรม รวมไปถึงการจัดตั้งกลุ่มองค์กรในชุมชนเพื่อความมั่นคงในอาชีพและการดำรงไว้ซึ่งภูมิปัญญาท้องถิ่น

ทุนเศรษฐกิจ

พื้นที่ของบ้านงอบนั้นสามารถปลูกพืชต่าง ๆ ได้อย่างหลากหลาย ซึ่งทำให้เกษตรกรรมเป็นอาชีพหลักของชาวบ้าน ปลูกได้ตั้งแต่ผลไม้ต่าง ๆ ส้ม เงาะ ทุเรียน ลองกอง จนไปถึงยางพารา

ชุมชนไตลื้อบ้านงอบ ยังคงใช้ภาษาไตลื้อสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน ประมาณร้อยละ 70 แต่ภาษาเขียนเกือบจะไม่มีแล้ว เพราะไปเรียนภาษาไทยกลางตั้งแต่เด็ก และขาดผู้ที่มีความรู้ในการถ่ายทอด


อาชีพหลักของชาวไตลื้อบ้านงอบ คือ เกษตรกรรม แต่ภายในชุมชนมีพื้นที่ที่จำกัด ส่วนมากเป็นภูเขาสูง และเป็นพื้นที่ที่ซ้อนทับกับเขตอุทยานป่าสงวนแห่งชาติ ซึ่งไม่สามารถออกเอกสารสิทธิ์ หรือทำการเกษตรในพื้นที่ได้ ซึ่งการประกาศเขตเหล่านี้ของรัฐไทยนั้นเกิดขึ้นหลังการใช้ประโยชน์พื้นที่ของชาวไทลื้อเป็นเวลานานมาก การเกษตรที่เคยทำในพื้นที่จึงเกิดปัญหาขึ้น


ภาษาไตลื้อมีการใช้งานที่น้อยลงเรื่อย ๆ จนมีความเสี่ยงในการเลือนหายไป เนื่องจากปฏิสัมพันธ์ที่เกิดขึ้นกับสังคมภายนอกที่ทำให้ภาษาถิ่นถูกกลืนกลาย ประกอบกับสื่อในปัจจุบันที่นำเสนอในภาษากลางเป็นหลัก เช่นกัน การแต่งกายประจำชาติพันธุ์ของชาวไตลื้อที่หาชมได้เฉพาะในเทศกาล ซึ่งโรงเรียนไทยรัฐวิทยาสนับสนุนให้มีการแต่งกายชุดไตลื้อในทุกวันศุกร์


แหล่งน้ำรอบ ๆ ชุมชนนั้นแห้งขอด ไม่มีเขื่อนสำรองน้ำ ไม่มีอ่างเก็บน้ำ และระบบชลประทาน


ดอยภูคา ป่าผาแดง
ป่าน้ำยาว ป่าน้ำสวด
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไตลื้อ ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2498). ไทยสิบสองปันนา. พระนคร : รับพิมพ์

บุญช่วย ศรีสวัสดิ์. (2498). ลื้อ คนไทยในประเทศจีน. พระนคร : รับพิมพ์

ประชัน รักพงษ์. (ม.ป.ป.). การอพยพและการตั้งถิ่นฐานของไทลื้อในภาคเหนือของประเทศไทย. มหาวิทยาลัยราชภัฏเชียงใหม่

ประวัติมหาดไทยภูมิภาค จังหวัดน่าน. อ่างทอง : วรศิลป์การพิมพ์

คัมภีร์ใบลานในโบสถ์วัดศรีดอนชัย ตำบลงอบ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน

จารึกในฐานพระพุทธรูปไม้ ในโบสถ์วัดศรีดอนชัย ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน

สมุดบันทึกหมายเหตุรายวัน โรงเรียนบ้านงอบ ต.งอบ อ.ทุ่งช้าง จ.น่าน

ทต.งอบ โทร. 0-5469-3061