ชุมชนไทเขินต้นแหนหลวงมีการอนุรักษ์สืบสานการแต่งกายด้วยชุดไทเขินทั้งผู้ชายและผู้หญิง พูดภาษาไทเขินในการสื่อสารกันในชุมชน ประกอบอาชีพทำเกษตรปลูกลำไยและพืชผักสวนครัว ดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ชื่อ "ต้นแหนหลวง" มาจากชื่อต้นไม้แหน ขนาดใหญ่ 8 คนโอบ ที่มีอยู่บริเวณวัดต้นแหนหลวงในอดีต ปัจจุบันมีการปลูกต้นไม้แหนไว้หน้าวัดต้นแหนหลวงเป็นสัญลักษณ์
ชุมชนไทเขินต้นแหนหลวงมีการอนุรักษ์สืบสานการแต่งกายด้วยชุดไทเขินทั้งผู้ชายและผู้หญิง พูดภาษาไทเขินในการสื่อสารกันในชุมชน ประกอบอาชีพทำเกษตรปลูกลำไยและพืชผักสวนครัว ดำรงชีวิตแบบเศรษฐกิจพอเพียง
ชุมชนไทเขิน บ้านต้นแหนหลวง หมู่ 1 ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ ก่อตั้งชุมชนเมื่อ พ.ศ. 2305 จากการศึกษาประวัติศาสตร์พบว่าไทเขินบ้านต้นแหนหลวงเป็นกลุ่มคนที่อพยพมาจากเชียงตุง รัฐฉาน ปัจจุบันอยู่ในเขตประเทศพม่า ได้มาตั้งถิ่นฐานในเมืองเชียงใหม่ โดยสันนิษฐานว่ามาตั้งแต่ก่อนสมัยพระเจ้ากาวิละในช่วงเริ่มแรก ก่อนอพยพเข้ามาตั้งถิ่นเป็นสำนวนมากขึ้นในสมัยพระเจ้ากาวิละ โดยเดินทางมาในรูปแบบการค้าขาย เป็นขบวนพ่อค้าวัวต่างม้าต่าง มีการบรรทุกสินค้าบนหลังวัวและม้า ไปค้าขายแลกเปลี่ยนในพื้นที่ชุมชนหรือเมืองต่าง ๆ โดยมีหลักฐานสำคัญคือ "ผางลาง" ซึ่งเป็นอุปกรณ์โลหะมีรูปร่างคล้ายกระดิ่งหรือระฆัง ใช้สำหรับคล้องวัว และคอม้าทำให้เกิดเสียงดังเมื่อวัวเดินหรือเคลื่อนไหว ทำให้ชาวบ้านในหมู่บ้านตามรายทางต่าง ๆ เมื่อได้ยินเสียงผางลาง เป็นสัญญาณให้รู้ว่ามีพ่อค้าวัวต่างม้าต่างเดินทางมาขายสินค้าในหมู่บ้านแล้ว ชาวบ้านต้นแหนหลวงมีบรรพบุรุษเป็นกลุ่มคนชาติพันธุ์ไทเขินหรือไทขึน ปัจจุบันในปี พ.ศ. 2567 ชุมชนบ้านต้นแหนหลวงมีอายุครบ 261 ปี
ชาวไทเขินเป็นกลุ่มคนที่รักความสงบ ทำงานช่างฝีมือ และทำอาชีพเกษตรกรรม เมื่ออพยพมาตั้งถิ่นฐานในเชียงใหม่จึงเลือกทำเลอยู่บริเวณแม่น้ำขาน ซึ่งเป็นพื้นที่มีความอุดมสมบูรณ์เหมาะสำหรับการประกอบอาชีพทำการเกษตรคือ ทำนา ทำสวน ต่อมาเมื่อตั้งชุมชนได้เข้มแข็ง จึงมีการสร้างวัดต้นแหนหลวงขึ้น ในปี พ.ศ. 2327 สำหรับชื่อหมู่บ้าน "ต้นแหนหลวง" มาจากชื่อต้นไม้แหนขนาดใหญ่เท่า 8 คนโอบ ที่มีอยู่บริเวณวัดต้นแหนหลวงในอดีต ปัจจุบันมีการปลูกต้นไม้แหนไว้หน้าวัดต้นแหนหลวงเป็นสัญลักษณ์
- ทิศเหนือ ติดกับ ชุมชนบ้านป่าสัก หมู่ 9 ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดกับ ชุมชนบ้านทุ่งแป้ง หมู่ 2 ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำขาน และบ้านต้นแหนน้อย หมู่ 7 ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตลาดสดต้นแหน หมู่ 1 ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่
สภาพพื้นที่
บริเวณใกล้เคียงชุมชนไทเขินต้นแหนหลวง มีกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินป่าสัก ตำบลบ้านกลาง อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ และกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขินบ้านต้นแหนน้อย ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ด้วยเหตุที่บ้านต้นแหนหลวงอยู่ติดกับแม่น้ำคาว ช่วงฤดูฝนจึงเกิดน้ำท่วมเนื่องจากการระบายน้ำเขื่อนแม่ขาน
ปัจจุบันบ้านต้นแหนหลวงมีจำนวนครัวเรือนอยู่ 339 หลังคาเรือน จำนวนประชากรชาติพันธุ์ไทเขินต้นแหนหลวงมีโดยประมาณ 724 คน ชาย 329 คน หญิง 395 คน
บ้านไทเขินต้นแหนหลวงมีตระกูลไทเขินเก่าแก่ คือ สิงห์กัน, ใจวัง, จันทร์พง, จันทร์เขียว, สมมะณะ, สมพูคำ
ไทขึนคนในชุมชนไทเขินต้นแหนหลวงทำอาชีพเกษตรกรรม, รับจ้าง, รับราชการ, ทำงานหัตกรรมช่างฝีมือ
ชุมชนไทเขินต้นแหนหลวงมีกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านต้นแหนหลวง ซึ่งจัดตั้งขึ้นโดยแม่ครูศรีไพ จันทร์เขียว จุดประสงค์อนุรักษ์ส่งเสริมงามฝีมือในชุมชนให้ยั่งยืนและสามารถสร้างรายให้คนในชุมชน มีการรวมกลุ่มวิสาหกิจชุมชน การถักดายมงคล การทำโคมตุงล้านนา การทอผ้าลายไทเขิน และการรวมกลุ่มของสมาชิกชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มฌาปนกิจ กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
วิถีชีวิตของชาวไทเขินบ้านต้นแหนหลวง เป็นวิถีชีวิตที่มีการค้าขายและทำการเกษตรกรรมในยุคอดีต เนื่องจากพบหลักฐานเป็นซากเรือโบราณสำหรับบรรทุกสินค้าไปขาย ปัจจุบันชาวไทเขินบ้านต้นแหนหลวงประกอบอาชีพเกษตรทำนา ทำสวนลำไย รับจ้าง ค้าขาย และรับราชการ มีการดำเนินชีวิตแบบเรียบง่ายพึ่งพาอาศัยกันช่วยเหลือกัน
การแต่งกายของไทเขินต้นแหนหลวงมีอัตลักษณ์คือสวมเสื้อปั๊ดสีแดง ซึ้งสีแดงนั้นคล้ายกับสีของเครื่องเขิน
ผู้ชาย สวมเสื้อผ้าฝ้าย สีขาวนวล แขนยาว คอจีนผ่าหน้า ใส่กระดุมแบบจีน สวมกางเกงสะดอสีกรมท่า พาดผ้ากราบสีขาวตุ่น ที่ไหล่ด้านซ้าย สะพายย่ามสีแดง(ถุงเป๋อ) ด้านไหล่ขวา
ผู้หญิง สวมเสื้อปั๊ด โดยมีสาบเสื้อป้ายทับกัน ใช้ผ้าทำเป็นเชือกผูกแทนกระดุม ใช้ผ้าฝ้ายสีขาวโพกหัว และสวมผ้าซิ่นทอจากไหมหรือฝ้าย ตัวซิ่นเป็นลายริ้วขวางสอดดิ้นเงินดิ้นทอง ส่วนตีนซิ่นจะต่อด้วยผ้าสีเขียวเรียกว่า “ซิ่นตีนเขียว” เป็นเอกลักษณ์ไว้เหมือนเดิม
ด้านประเพณี ชาวไทเขินต้นแหนหลวงมีการอนุรักษ์สืบทอดประเพณีจนกลายเป็นวิถีชีวิตของชาวไทเขินเป็นประจำทุกปี เช่นประเพณีปีใหม่เมือง(สงกรานต์ล้านนา), ประเพณีเดือนยี่เป็ง(ลอยกระทง), ประเพณีเข้าพรรษา, ประเพณีออกพรรษา, ประเพณีตานก๋วยสลาก, ประเพณีตานต้นเงิน, ประเพณีสรงน้ำพระธาตุ, ประเพณีตานข้าวใหม่, ประเพณีแต่งงาน, ประเพณีขึ้นบ้านใหม่, ประเพณีทานผ้าป่า, ประเพณีทานกฐิน, ประเพณีงานศพ, ส่วนประเพณีปอยหลวง จะทำการฉลองเฉพาะการถวายทานสิ่งก่อสร้างศาสนสถานใหม่เท่านั้นจะมีขึ้นเป็นบ้างปี เช่นประเพณีปอยหลวงฉลองศาลาบาตร ปี 2565 เป็นต้น
ด้านอาหาร อาหารของชาวไทเขินต้นแหนหลวงยังมีการใช้ถั่วเน่าในการปรุงอาหาร อีกทั้งมีความหลากหลาย เช่น ไข่ป่าม, แกงอ๊อด, แกงเหมือนไก่, น้ำพริกถั่วเน่า, น้ำพริกปลา, ถั่วเน่าแข็บ, ตำสะเสิ้มบ่าก้วยลำคอ, ข้าวเอ็บหัวหงอก เป็นต้น
1.แม่ครู ศรีไพ จันทร์เขียว
อาศัยอยู่ หมู่ 1 บ้านต้นแหนหลวง ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ แม่ครูศรีไพเป็นหนึ่งในผู้นำชุมชนไทเขินต้นแหนหลวง เป็นเสาหลักด้านอนุรักษ์ส่งเสริมสืบสานพัฒนาวัฒนธรรมไทเขินในชุมชน โดยมีตำแหน่งเป็นประธานวัฒนธรรม หมู่บ้านต้นแหนหลวง, เป็นประธานกลุ่มปราชญ์ชาวบ้านต้นแหนหลวง เบอร์ติดต่อ โทร. 09-1853-5636
- แม่ครูศรีไพเป็นผู้จัดตั้งศูนย์การเรียนรู้วัฒนธรรมไทเขิน บ้านต้นแหนหลวง ปี พ.ศ. 2562
- จัดทำแหล่งเรียนรู้ด้านหัตถกรรมและวิถีชีวิตไทเขิน บ้านต้นแหนหลวง
- จัดตั้งองค์กร กลุ่มปราชญ์ชาวบ้านต้นแหนหลวง
- ครูต้นแบบ ปีการศึกษา 2553 จาก สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูเกียรติยศ ปีการศึกษา 2544 จาก สพฐ. กระทรวงศึกษาธิการ
- ครูดีเด่น ปีการศึกษา 2545 จากชมรมพัฒนาบุคลากรไทย
- ใบประกาศเกียรคุณ ปราชญ์แห่งครู ครูแห่งแผ่นดิน ประจำปี 2551 จากสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์
ประวัติการศึกษา
- ปริญญาตรี ศิลปะศาสตรบัณฑิต (ศศ.ษ) วิชาเอกประวัติศาสตร์ มหาวิทยาลัยพายัพ
- ปริญญาโท ศึกษาศาสตรมหาบัณฑิต (ศษ.ม.) วิชาเอกหลักสูตรและการสอน คณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
- ปริญญาเอก พุทธศาสตรดุษฏีบัณฑิต (พธ.ด.) วิชาเอกพระพุทธศาสนา มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย
เกียรติยศในวิชาชีพครู
- ได้รับพระราชทานเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย (สายที่ 1) ประถมาภรณ์มงกุฎไทย (ป.ม.) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2555 จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
- ได้รับพระราชทางเครื่องราชอิสริยาภรณ์ ชั้นสายสะพาย (สายที่ 2) ประถมาภรณ์ช้างเผือก (ป.ช.) เมื่อวันที่ 5 ธันวาคม 2528 จากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชมหาราช
2.นายเกียรติกุล ชมพูคำ
ผู้ใหญ่บ้านต้นแหนหลวง อาศัยอยู่หมู่ 1 ตำบลท่าวังพร้าว อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่ โทร. 09-3296-4296
ทุนวัฒนธรรม
ชุมชนต้นแหนหลวงถือเป็นหนึ่งชุมชนชาติพันธุ์ไทเขินที่มีความหลากหลายในการแสดงอัตลักษณ์ของชาวไทเขินโดนเด่นที่สุด อนุรักษ์ศิลปหัตถกรรมดั้งเดิมไว้ เช่น การถักด้ายมงคล, การตัดตุงทำโคมกระดาษลายไทเขิน, การทำผางประทีป, และการทอผ้าลายไทเขินซึ่งหาได้ยาก อีกทั้งยังมีนาฏกรรมประเพณี เช่น ตีกลองมองเซิง, ฟ้อนเจิง, ฟ้อนเล็บ
ทุนมนุษย์
- แม่ฟองนวล ถาวารี มีความรู้ด้านการทอผ้าไทเขิน
- แม่ครู ดร.ศรีไพ จันทร์เขียว มีความรู้ด้านการทำโคมล้านนาและผ้าตอกลาย
- แม่อรทัย ยินดีถิ่น มีความรู้ด้านถักด้ายมงคลผูกข้อมือ
- แม่สุณี จันทร์เขียว มีความรู้ด้านการทำตุงล้านนา
- แม่ลัดดา แก้วคำสี มีความรู้ด้านขนมไทเขิน
- แม่เสาร์คำ จ๋อมปัน ด้านอาหารไทเขิน
- นายสม ศรีวิชัย มีความรู้ด้านหัตถกรรมจักสาน
- นายสนั่น อรุณเดช มีความรู้ด้านหัตถกรรมจักสาน
ปัจจุบันชุมชนไทเขินบ้านต้นแหนหลวงมีการใช้ภาษาพูดเป็นสำเนียงไทเขินในการสื่อสารระหว่างกันภายในชุมชนอยู่ แต่ส่วนใหญ่ผู้ใช้สำเนียงไทเขินจะอยู่ในช่วงอายุ 30 ปีขึ้นไป เยาวชนคนรุ่นใหม่ยังพูดสำเนียงไทเขินได้บ้าง แต่ในวิถีชีวิตประจำวันนั้นใช้ภาษาสำเนียงไทเขินผสมกับสำเนียงภาษาคำเมือง ไม่มีการใช้ภาษาเขียนไทเขิน
ชุมชนต้นแหนหลวงปัจจุบันยังมีการดำเนินวิถีชีวิตตามลักษณ์ วัฒนธรรมประเพณีของไทเขิน เช่น บ้านเรือนที่อยู่อาศัยเฮือนโบราณไทเขิน อาหารเขิน ประเพณีสำคัญของไทเขิน คนในชุมชนยังใช้ภาษาพูดสำเนียงไทเขินในการติดต่อสื่อสารกัน อีกทั้งยังคงอนุรักษ์สืบสาน มรดกภูมิปัญญาตราบจนถึงปจจุบันจากรุ่นสู่รุ่นสืบไป
ในอนาคต แม่ครูศรีไพ จันทร์เขียว ตั้งใจจะใช้วัฒนธรรมนำเศรษฐกิจ สร้างผลิตภัณฑ์จากทุนในชุมชน และคาดหวังว่าในอนาคตชุมชนต้นแหนหลวงจะเป็นหนึ่งในชุมชนท่องเที่ยวเชิงวิถีชีวิตอีกแห่งของจังหวัดเชียงใหม่
ปัจจุบันแม่ครูศรีไพได้ดึงผู้เชี่ยวชาญในมหาวิทยาลัยเชียงใหม่มาทำวิจัยพัฒนาต่อยอดทุนทางวัฒนธรรมในชุมชน พร้อมกับนำเสนอโครงการเผยแพร่วัฒนธรรม และการศึกษาความเป็นมาของชาวไทเขิน
ในวัดต้นแหนหลวงมีพระพุทธรูปไม้แกะสลักเก่าแก่นามว่าพระพุทธรูปเจ้าสักคงตัน มีเรื่องเล่าว่าพระไม้แกะสลักในวัดป่าสัก ในวัดทุ่งเสี้ยว และในวัดต้นแหนหลวง เป็นพระที่แกะสลักมาจากต้นไม้ต้นเดียวกัน ส่วนพระไม้แกะสลักที่วัดต้นแหนหลวงทำมาจากส่วนยอดปลายของต้นไม้
งานวิจัยที่แม่ครูศรีไพ จันทร์เขียว ได้เก็บรวบรวมไว้
- การศึกษาโครงสร้างบทบาทหน้าที่และคุณค่าในพิธีกรรมของชาวไทเขินสันป่าตอง อาจารย์ ศุภลักษณ์ ใจวัง วิทยานิพนธ์เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาหลักสูตรศิลปศาสตร์มหาบัณฑิต มหาลัยราชภัฏเชียงใหม่ พ.ศ. 2558
- การศึกษาเปรียบเทียบงานศิลปกรรมในชุมชนไทเขินสันป่าตอง กรณีศึกษาวัดป่าสัก ตำบลบ้านกลาง เปรียบเทียบ วัดป่าลาน (ทุ่งเสี้ยว) ตำบลทุ่งต้อม อำเภอสันป่าตอง จังหวัดเชียงใหม่, นายธนภัทร ใจดุ้ย
- พิธีกรรมบำบัดโรคของชาวพุทธไทเขินลุ่มน้ำขาน พระปารวัตร ฐิตโสภโณ (ปัญญาเจริญ) วิทยานิพนธ์ การศึกษาตามหลักสูตรปริญญาพุทธศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชาพระพุทธศาสนา บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย พุทธศักราช 2558
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
พระครูปลัดอุทัย สีลาจาโร. (2550). สมเด็จอัครมหาราชา อาชญาธรรมพระเจ้า : บทบาทผู้นำคณะสงฆ์เชียงตุงกับการสืบสานวัฒนธรรม ใน สำนักวิชาการ มหาวิทยาลัยมหาจุฬาลงกรณราชวิทยาลัย วิทยาเขตเชียงใหม่ (บ.ก.), วิถีไทเขิน เชียงตุง. เชียงใหม่ : โครงการศูนย์ศึกษาพระพุทธศาสนาประเทศเพื่อนบ้าน