Advance search

บ่าแจ้ภู, บ้านบ่าเกี๊ยะ

ชุมชนพหุวัฒนธรรม จัดการทรัพยากรเข้มแข็ง วิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ

หมู่ที่ 18
ป่าเกี๊ยะ
ท่าก๊อ
แม่สรวย
เชียงราย
อบต.ท่าก๊อ โทร. 0-5372-4217-8
สุวรรณี บุญยืนกุล
19 ต.ค. 2023
มานพ บุญยืนกุล
20 ต.ค. 2023
ปริญญ์ รุจิรัชกุล
16 ก.ค. 2024
บ้านป่าเกี๊ยะ
บ่าแจ้ภู, บ้านบ่าเกี๊ยะ


ชุมชนพหุวัฒนธรรม จัดการทรัพยากรเข้มแข็ง วิถีชีวิตผูกพันกับธรรมชาติ

ป่าเกี๊ยะ
หมู่ที่ 18
ท่าก๊อ
แม่สรวย
เชียงราย
57180
19.5211386401135
99.376018345356
องค์การบริหารส่วนตำบลท่าก๊อ

บ้านป่าเกี๊ยะ ก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. 2518 โดยนายอาจู เปียงแล อาบอแช อาบอแมะ ปอวี่ และนายจะต๋อ จะลา เป็นที่ย้ายมาตั้งถิ่นฐานแรก ๆ ซึ่งนายอาจู เปียงแล อาบ้อแชะ อาบ้อแมะ ย้ายมาจากบ้านห้วยน้ำขุ่น

ส่วนสาเหตุที่ย้ายมาจากบ้านห้วยน้ำขุ่นนั้น เนื่องจากบริเวณบ้านห้วยน้ำขุ่นมีผู้คนมาก และที่ทำกินก็มีไม่เพียงพอต่อการทำมาหากินของชาวบ้าน ทำให้เกิดความความขัดแย้งขึ้นกับคนจีนฮ้อ (เพราะเชื่อว่าอยู่กับคนจีนแล้วไม่ได้สัญชาติ)

ในช่วงระหว่างนั้นเกิดสงครามขึ้นระหว่าง จีนฮ่อ กับ ทางการไทย มีการเกณฑ์ให้ไปเป็นทหาร ทำให้เกิดความหวาดกลัวและความไม่ปลอดภัยกับชีวิตของชาวบ้าน ดังนั้น นายอาจู เปียงแล อาบ้อแช อาบ้อแมะ ทั้ง 3 คนจึงได้ย้ายจากบ้านห้วยน้ำขุ่นมาอาศัยอยู่ที่ใกล้ ๆ บ้านป่าเกี๊ยะ (อยู่ทางทิศตะวันตกของบ้านป่าเกี๊ยะประมาณ 1 กิโลเมตร)

จากนั้นเมื่อปี พ.ศ. 2518 จึงได้ย้ายจากบ้านเดิมมาอาศัยอยู่ที่บ้านป่าเกี๊ยะในปัจจุบัน โดยนายอาจู เปียงแล อาบอแช อาบอแมะ ปอวี่ และนายจะต๋อ จะลา มาอาศัยร่วม 5 ครอบครัว สาเหตุที่ย้ายมาอาศัยอยู่ที่บ้านป่าเกี๊ยะเนื่องจากบ้านป่าเกี๊ยะ ยังมีพื้นที่ทำให้เพียงพอต่อการทำมาหากิน เลี้ยงสัตว์ และที่สำคัญมีแม่น้ำสายหลักไหลผ่านหมู่บ้าน

จากนั้นปี พ.ศ. 2519 ผู้คนจากบ้านมะข้ามป้อมก็ได้ย้ายมาอาศัยอยู่ด้วยกันที่บ้านป่าเกี๊ยะทำให้จำนวนประชากรในชุมชนเพิ่มมากขึ้น

ปี พ.ศ. 2520 ผู้คนเริ่มทยอยอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ด้วยกันมากขึ้น โดย มาจาก บ้านมะข้ามป้อม บ้านป่ายาง บ้านห้วยน้ำริน

ปี พ.ศ. 2526-2527 ผู้คนได้อพยพเข้าอาศัยมากขึ้น ซึ่งมาจากบ้านป่ายาง บ้านดอยตุง ในขณะนั้นป่าเกี๊ยะมี 50 ครอบครัว (อ่าข่า 30 ครอบครัว ลาหู่ 20 ครอบครัว)

ปี พ.ศ. 2527-2529 ได้มีหน่วยงาน หรือองค์กรต่าง ๆ เข้ามาให้ความช่วยเหลือมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นศูนย์ประชาสงเคราะห์ชาวเขา เข้ามาให้ความช่วยเหลือ สำรวจประชากรในชุมชน มี กศน. ที่มาให้ความช่วยเหลือด้านการศึกษาและสร้างศูนย์ กศน. ในชุมชน นอกจากนั้นยังมีโครงการหลวงฯ เข้ามาส่งเสริมและพัฒนาอาชีพให้กับชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะ

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดกับ ชุมชนบ้านแม่ผักแหละ หมู่ที่ 11
  • ทิศตะวันตก ติดกับ บ้านดอยงาม หมู่ที่ 16
  • ทิศใต้ ติดกับ หมู่บ้านลอจอ หมู่ที่ 23
  • ทิศตะวันออก ติดกับ หมู่บ้านบาหรา หมู่ที่ 19

สภาพพื้นที่ทางกายภาพ มีภูเขา มีแม่น้ำ ต้นไม้ มีป่าอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของผลิตทางการเกษตร

พื้นที่สาธารณะ และสาธารณูปโภค ในชุมชนมีน้ำประปาหมู่บ้าน และร้านขายของชำชุมชน

สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม โบสถ์ ศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก ศูนย์ กศน. ศาลาหมู่บ้าน ที่สาธารณะ ป่าช้า

ทรัพยากรทางธรรมชาติ มีลำน้ำแม่ต๋ำไหลผ่าน

ประชากรมีจำนวนรวมทั้งหมด 315 คน แบ่งเป็นชาย 150 คน เป็นหญิง 165 คน 58 ครัวเรือน

ระบบเครือญาติ มีตระกูลดั้งเดิมที่อยู่ในชุมชน มีจำนวน 15 ตระกูล ประกอบด้วยดังนี้

1.Ghoeqzeeq guq วุ่ยยือกู่ 2 ครอบครัว
2.Mazev guq มาเยอะกู่ 9 ครอบครัว
3.Meqlaeq guq เม่อแลกู่ 7 ครอบครัว
4.Yaerbyan guq แยเปียงกู่ 7 ครอบครัว
5.Laerce guq และเฌอกู่ 5 ครอบครัว
6.Byanlaeq guq เปียงแหล่กู่ 3 ครอบครัว
7.Arnyi guq อาหงีกู่ 4 ครอบครัว
8.Byankang guq เปียงคึงกู่ 7 ครอบครัว
9.Ghoeqmaer guq โว้ยแม้กู๋ 1 ครอบครัว
10.Saepar guq แซพะกู่ 1 ครอบครัว
11.Ceigana guq เชกองกู่ 5 ครอบครัว
12.Arsanr guq อาซึงกู่ 4 ครอบครัว
13.Karlaq guq คะหล่ากู่ 1 ครอบครัว
14.Amawr guq อามอกู่ 1 ครอบครัว
15.Zaesawq guq แยส่อกู่ 1 ครอบครัว

 

ลาหู่, อ่าข่า

อาชีพหลักของสมาชิกในชุมชน คือ เกษตรกร และมีการรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจ ได้แก่ กลุ่มการท่องเที่ยว และกลุ่มโฮมสเตย์

สมาชิกในชุมชนส่วนใหญ่ที่ออกไปทำงานนอกชุมชนในเกาหลี ไต้หวัน ออสเตรเลีย อิสราเอล เชียงราย เชียงใหม่ และกรุงเทพฯ เป็นต้น

องค์กรที่เข้ามาทำงานในชุมชน

สมาคมศูนย์รวมการศึกษาและวัฒนธรรมของชาวไทยภูเขาในประเทศไทย

มีบุคลากร จำนวน 5 คน เริ่มเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2542 ภารกิจหลักของหน่วยงาน การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและที่ดินทำกิน สัญชาติไทย

สถาบันวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่สูง มีบุคลากร จำนวน 3 คน เริ่มเข้ามาเมื่อปี 2550 ภารกิจหลักของหน่วยงาน ชุมชนเศรษฐกิจพอเพียงชุมชนเข้มแข็ง

มูลนิธิไทยลาหู่ มีบุคลากร จำนวน 1 คน เริ่มเข้ามาเมื่อปี พ.ศ. 2552 ภารกิจหลักของหน่วยงาน ส่งเสริมวัฒนธรรมชนเผ่าเศรษฐกิจพอเพียงการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

โครงการหลวง มีบุคลากร จำนวน 1 คน เริ่มเข้ามาเมื่อ พ.ศ. 2540 ภารกิจหลักของหน่วยงาน ระบบน้ำการเกษตรส่งเสริมปลูกไม้ยืนต้น

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่เกิดขึ้นในรอบปี  การเพาะปลูกในเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน และเก็บเกี่ยวในเดือนตุลา-พฤศจิกายน

กิจกรรมทางวัฒนธรรม

ลำดับ ชื่อกิจกรรม ช่วงระยะเวลา ความสำคัญและความหมาย
1 ตีลูกข่าง (คริสต์มาส) ธันวาคม เป็นพิธีส่งท้ายปีเก่า
2 เตรียมการเพาะปลูก มกราคม-มีนาคม เตรียมพื้นที่สำหรับเริ่มฤดูกาลเพาะปลูก
3

เทศกาลไข่แดง (ขุ่มซึขุ่มมี้อุ้มเออ Khmqxeevq Khmqmir mr-e)

เมษายน เป็นพิธีกรรมเลี้ยงเฉลิมฉลองพระเจ้า (อะพืออะพรี) เพื่อต้อนรับสิ่งใหม่ ๆ เนื่องจากในช่วงนี้หมดสิ้นสิ่งเก่า ๆ เช่น เผาไร่ สวน และมี
4

พิธีกรรมโล้ชิงช้า (แย้ขู่อ่าโพ่ว Yaerkuq Aqpoeq)

สิงหาคม เป็นพิธีกรรมเฉลิมฉลอง ซึ่งนำผลผลิตที่ได้จากไร่ เช่น ข้าวโพด แตง มาถวายพระเจ้า (เจ้าที่) โดยจือหม่าจะเป็นคนนำผลผลิตที่นำมาจากชุมชนขึ้นโล้ชิงช้า แล้วประกาศให้ทางเจ้าที่รับทราบและมาร่วมทานผลผลิตที่เก็บได้ เทศกาลนี้ใช้เวลา 4 วัน
5

พิธีกรรมกินข้าวใหม่ (แฉ้ซึ จ่าเออ Caerxeevq Dzaq-e)

ตุลาคม-พฤศจิกายน เป็นการนำข้าวใหม่ที่ได้จากการทำไร่ในรอบปีมาสู่ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนและมาเฉลิมฉลอง
6 วันขึ้นปีใหม่ มกราคม ปีใหม่และขอบคุณพระเจ้า ซึ่งพระเจ้าอวยพรเราตลอด 1 ปี

 

การเปลี่ยนแปลงทางธรรมชาติและภัยพิบัติในรอบปี

เกิดดินสไลด์ในฤดูฝน

ผลกระทบ/ปัญหาที่เกิดขึ้นในแต่ละช่วงเวลาในรอบปี

น้ำไม่พอใช้ในฤดูแล้ง และปัญหาน้ำไม่ไหลและน้ำสกปรกในฤดูฝนเพราะตะกอนต่าง ๆ

1.นายอาหยี หมื่อแล อายุ 75 ปี

เป็นผู้นำชุมชนรุ่นก่อน ผู้อาวุโสในชุมชน และผู้รู้สมุนไพร มีบทบาทสำคัญในการเป็นแกนนำรุ่นแรก ๆ ในชุมชนเพื่อติดต่อและทำงานร่วมกับหน่วยงานภาครัฐและหน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งเป็นผู้นำชุมชน ผู้รู้ภูมิปัญญาและวัฒนธรรม ผู้รู้สมุนไพร และหมอยาพื้นบ้าน

ทุนกายภาพ

มีภูเขา มีแม่น้ำ ต้นไม้ มีป่าอุดมสมบูรณ์ และความหลากหลายของผลิตทางการเกษตร

ทุนมนุษย์

ปราชญ์ชาวบ้าน คือ ผู้รู้สมุนไพร ผู้รู้การตั้งหมู่บ้าน ผู้รู้วัฒนธรรม เช่น อาหาร งานหัตถกรรม การเกษตร การดูแลรักษาป่า ผู้นำเข้มแข็ง และมีกลุ่มเยาวชนรุ่นใหม่ในชุมชน

ทุนวัฒนธรรม

ผู้รู้สมุนไพร การตีมีด ผ้าปักอ่าข่า การแสดงดั้งเดิม ลานการละเล่นชิงช้าอ่าข่า

ทุนเศรษฐกิจ

รายได้หลักจากการเกษตร การไปทำงานในต่างประเทศ กู้จากกองทุนหมู่บ้าน หน่วยงานรัฐ และหนี้นอกระบบ ใช้แรงงานคนในการทำการเกษตรเป็นหลัก แต่มีเครื่องทุ่นแรง เครื่องตัดผ้า เครื่องไถนา และเครื่องพ่นยา

ทุนสังคม/การเมือง

การมีผู้มีส่วนร่วมในชุมชนที่เลือกตั้งตามความชอบส่วนบุคคล

ภาษาที่ใช้พูดในชุมชน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอ่าข่า และภาษาลาหู่

ภาษาหรือตัวอักษรที่ใช้เขียน ได้แก่ ภาษาไทย ภาษาอ่าข่า และภาษาลาหู่

สถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชน ผู้คนในชุมชนใช้ภาษาของตนเอง คือ ภาษาอ่าข่าและภาษาลาหู่ และใช้ภาษาไทยเป็นภาษากลางในการสื่อสาร


เคยมีการปกครองแบบชนเผ่าดั้งเดิมที่มีผู้นำชุมชน และมีกฏจารีตในการปกครองชุมชน และหลังจากได้มีการตั้งเป็นชุมชนทางการ ก็มีระบบการปกครองตามรูปแบบรัฐบาลควบคู่ไปกับการปกครองตามกฎจารีตท้องถิ่น


เป็นชุมชนที่ทำอาชีพเกษตรผสมผสาน และเลี้ยงสัตว์สำหรับครัวเรือนของตัวเอง แต่หลังจากนั้นก็มีการเปลี่ยนแปลงเป็นการทำเกษตรเชิงเดี่ยวเพิ่มมากขึ้น เช่น การปลูกข้าวโพด แต่หลังจากนั้นชาวบ้านได้มีการเรียนรู้ผลกระทบต่อสุขภาพและสิ่งแวดล้อมทำให้หันมาปลูกพืชยืนต้นอื่น ๆ เช่น ชา กาแฟ เชอรี่ กล้วย เพิ่มขึ้น


ชุมชนบ้านป่าเกี๊ยะ เป็นชุมชนที่ยังคงความเป็นดั้งเดิมการควบคุมการย้ายเข้ามาเป็นสมาชิกของชุมชน โดยยังมีจารีตที่ต้องขออนุญาตและได้รับการรับรองก่อนการย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในชุมชน ทำให้บ้านป่าเกี๊ยะ ไม่เกิดการขยายตัวของชุมชนมากหรือรวดเร็วเกินไป


คนส่วนใหญ่ใหญ่ในชุมชนได้รับสัญชาติไทย แต่ยังมีประชากรบางส่วนที่ยังคงอยู่ในกระบวนการพิสูจน์สัญชาติ


ชุมชนมีระบบประปาภูเขา แต่ก็ยังประสบปัญหาในเรื่องของความสะอาดของน้ำ และมีน้ำไม่เพียงพอในช่วงฤดูแล้ง


ที่ชุมชนยังไม่มีระบบสาธารณสุขในชุมชน ต้องเดินทางไปใช้ศูนย์บริการของตำบลและอำเภอซึ่งมีระยะทางที่ค่อนข้างห่างไกล


ทางชุมชนมีเพียงศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก และศูนย์ กศน. ทำให้เด็กและเยาวชนในชุมชนต้องเดินทางออกไปเรียนนอกชุมชน และต้องไปเรียนในหอประจำต่าง ๆ ทำให้เด็กและเยาวชน ขาดการเรียนรู้และความผูกพันกับวัฒนธรรมและวิถีชีวิตท้องถิ่น


ชุมชนมีการเปลี่ยนแปลงทางด้านวัฒนธรรมไปมากอยู่พอสมควรเนื่องจากปัจจัยหลาย ๆ อย่าง ไม่ว่าจะเป็นความเชื่อที่เปลี่ยนแปลงไป การศึกษา และปัจจัยทางเศรษฐกิจที่ทำให้วิถีชีวิตของคนในชุมชนเปลี่ยนแปลงไปและเริ่มสืบสานวัฒนธรรมดั้งเดิมกันน้อยลง


ชุมชนมีการจัดการทรัพยากรที่จัดการโดยชุมชน มีการกำหนดขอบเขตพื้นที่ทำกินของชาวบ้านและกันพื้นที่ป่าชุมชนออกไว้อย่างชัดเจน พร้อมทั้งมีกฎระเบียบชุมชนที่เข้มแข็งในการจัดการดูแล ซึ่งมีดังนี้

กฎระเบียบทั่วไป

  1. ทุกครอบครัวต้องร่วมกันทำแนวกันไฟทุกปี (ยกเว้น คนที่ไม่สบายและคนที่ไม่อยู่ในหมู่บ้าน) หากผู้ใดไม่ปฏิบัติตามจะถูกปรับเป็นเงินตามค่าแรงงาน ณ เวลานั้น ๆ
  2. เมื่อเกิดเหตุไฟไหม้ทุกครั้ง คนในชุมชนต้องช่วยกันดับไฟทุกคน
  3. ห้ามผู้ใดตัดไม้ขายให้แก่บุคคลภายนอก หากผู้ใดฝ่าปีนจะถูกปรับเป็นเงิน 5,000-10,000 บาท พร้อมกับยึดไม้ไว้เป็นของกลาง หากตกลงกันในชุมชนไม่ได้ จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
  4. ชุมชนจะต้องกำหนดพื้นที่ป่าให้ชัดเจนและพร้อมกับติดป้ายในการจัดการแนวเขตป่าของชุมชน
  5. สามารถหาของป่าเพื่อบริโภคได้ แต่ให้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
  6. ห้ามบุคคลภายนอกเข้ามาตัดหรือเอาไม้ภายในเขตป่าชุมชน หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 5,000-10,000 บาท พร้อมกับยึดไม้ไว้เป็นของกลาง หากตกลงกันในชุมชนไม่ได้จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย
  7. ห้ามผู้ใดใช้วัสดุอุปกรณ์ใดที่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศในสัตว์นํ้า หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท
  8. บุคคลใดทำให้เกิดไฟไหม้ป่า หรือในสวนในไร่ของผู้อื่นโดยเจตนา หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และชดใช้ตามความเสียหายที่เกิดขึ้น (ถ้ากรณีเผาไร่ต้องทำแนวกันไฟให้กว้างพอสมควร)
  9. ทุกคนจะต้องปฏิบัติตามกฎระเบียบ ข้อบังคับว่าด้วยการจัดการทรัพยากรธรรมชาติของหมู่บ้านตามที่ได้จัดตั้งไว้
  10. ห้ามนำไม้ออกจากพื้นที่กลุ่มอนุรักษ์โดยเด็ดขาด จะถูกปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และยึดไม้ไว้เป็นของกลาง (ถ้าตกลงกันในหมู่บ้านไม่ได้จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย)

กฏระเบียบในเขตป่าอนุรักษ์

  1. ห้ามตัดไม้ เผาป่า และทำการเกษตรใด ๆ ในพื้นที่ป่าอนุรักษ์ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และยึดพื้นที่คืน
  2. สามารถหาของป่าเพื่อบริโภคได้ แต่ให้ใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด
  3. ห้ามจับสัตว์นํ้าในพื้นที่เขตอนุรักษ์ หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท
  4. กฎระเบียบในเขตป่าใช้สอย
  5. ห้ามทำการเกษตรใด ๆ ในพื้นที่ป่าใช้สอย หากผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และยึดพื้นที่คืน
  6. บุคคลใดที่มีความต้องการจะใช้ไม้เพื่อทำประโยชน์ส่วนตัว ให้แจ้งคณะกรรมการทราบก่อน
  7. ห้ามผู้ใดตัดไม้ขายให้แก่บุคคลภายนอก หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับเป็นเงิน 5,000-10,000 บาท พร้อมกับยึดไม้ไว้เป็นของกลาง หากตกลงกันในชุมชนไมได้จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย

กฎระเบียบการใช้พื้นที่ทำกิน

  1. ทุกครอบครัวจะต้องแสดงจำนวนการใช้ที่ดิน ของแต่ละครัวเรือนต่อสาธารณะชนรับทราบ
  2. ห้ามผู้ใดทำการขยายพื้นที่ทำกินเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืน จะถูกปรับตั้งแต่ 1,000-5,000 บาท และยึดพื้นที่คืน (ถ้าตกลงกันในหมู่บ้านไม่ได้ จะส่งดำเนินคดีตามกฎหมาย)
  3. ห้ามขายพื้นที่ทำกินให้แก่บุคคลภายนอกเด็ดขาด หากผู้ใดฝ่าฝืนจะถูกปรับ 500 บาท และยึดพื้นที่คืน

ป่าสงวนแห่งชาติแม่ลาว (ฝั่งซ้าย)
  • เป็นชุมชนที่มีการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมที่เป็นระบบ มีส่วนร่วมจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง และเป็นที่ยอมรับของหน่วยงานในระดับพื้นที่ เคยได้รับรางวัลการจัดการทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมดีเด่นในระดับอำเภอ ในจังหวัดเชียงราย
  • ได้รับรางวัลการแก้ไขปัญหายาเสพติดดีเด่น ระดับที่ 3 ใน 8 จังหวัดภาคเหนือ
  • กลุ่มเยาวชนและสตรีมีความเข้มแข็ง

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์อาข่า ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อบต.ท่าก๊อ โทร. 0-5372-4217-8