ชุมชนท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมไทเขิน และงานศิลปะสร้างสรรค์ ที่ส่งเสริมเกื้อกูลเศรษฐกิจของชุมชนและจังหวัดได้เป็นอย่างดี
ครั้งเมื่อชาวไทเขินจากเชียงตุงได้อพยพมาตั้งชุมชนที่พื้นถิ่นนี้ เดิมมีต้นหม่อนขึ้นอยู่ทั่วบริเวณพื้นที่ ชาวบ้านจึงเรียกชื่อชุมชนนี้ว่า บ้านหม่อน ต่อมาเมื่อรัฐมีการจัดทำข้อมูลบ้านเมืองอย่างเป็นทางการ ชื่อบ้าน "หม่อน" ก็เริ่มกลายเสียงไปเป็นบ้าน "มอญ" โดยสันนิษฐานว่ามีการเขียนชื่อเรียกชุมชนในเอกสารราชการผิด เมื่อกาลเวลาผ่านไปชุมชนบ้านมอญเริ่มมีประชากรหนาแน่นขึ้น จึงมีการแยกมาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ เป็นบ้านมอญ หมู่ 2 หรือชุมชนบ้านสีมาราม โดยที่มาของชื่อสีมารามนั้น เมื่อ พ.ศ. 2532 พระครูวิสิฐธรรมการ และชาวบ้านได้สร้างวิหารใหม่ ได้ตั้งชื่อว่า "วัดสีมาราม" จนกลายเป็นชื่อชุมชนไทเขินสีมารามในปัจจุบัน ซึ่งประด้วยบ้านมอญเหนือ และบ้านมอญใต้
ชุมชนท่องเที่ยวเรียนรู้วิถีวัฒนธรรมไทเขิน และงานศิลปะสร้างสรรค์ ที่ส่งเสริมเกื้อกูลเศรษฐกิจของชุมชนและจังหวัดได้เป็นอย่างดี
ชุมชนไทเขินบ้านมอญสีมารามประกอบด้วย "บ้านมอญเหนือ" และ "บ้านมอญใต้" โดยความเป็นมาของไทเขิน "ขึน" มาจากชื่อแม่น้ำในเมืองเชียงตุง รัฐฉานประเทศเมียนม่า เป็นแม่น้ำที่ไหลขึ้นทางทิศเหนือ ภาษาพูดและภาษาเขียนคล้ายคลึงกับไทยองและไทลื้อ
ชาวไทเขินในล้านนา ถูกกวาดต้อนมาจากเชียงตุงตั้งแต่ พ.ศ. 2347 ในสมัยพระเจ้ากาวิละ เพื่อให้มาช่วยบูรณะเมืองเชียงใหม่ เรียกว่ายุค "เก็บผักใส่ซ้า เก็บผ้าใส่เมือง" โดยมีเจ้านายของไทเขินมาด้วยหลายพระองค์มาตั้งคุ้มหลวงอยู่บ้านนันทาราม อยู่ระหว่างกำแพงเมืองชั้นใน และกำแพงเมืองชั้นนอกตอนใต้ของเมืองเชียงใหม่ กลุ่มนี้เป็นช่างที่มีความเชี่ยวชาญในการทำเครื่องเขินส่วนอีกกลุ่มไปตั้งถิ่นฐานนอกเมือง ประกอบอาชีพเกษตรกรรมในเขตอำเภอสันทราย ดอยสะเก็ด สันป่าตอง และสันกำแพง
ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมาเมื่อชาวไทเขินส่วนหนึ่งที่สมัครใจจากหมู่บ้านต่าง ๆ ของเมืองเชียงตุง อพยพติดตามเจ้ามหาขนานลงมากับทัพเมืองเชียงใหม่ตั้งแต่บัดนั้นเป็นต้นมา ก็ได้รวมกลุ่มเครือญาติของตนเอง แยกย้ายกันไปจับจองหาที่อยู่ใหม่เป็นกลุ่ม ๆ ละหนึ่งหมู่บ้าน หรือหลาย ๆ กลุ่มรวมกันเป็นหนึ่งหมู่บ้านบ้าง กลุ่มใหญ่บ้างเล็กบ้างกระจายกันสร้างบ้านเรือน อยู่รอบ ๆ บริเวณกำแพงเมืองเชียงใหม่
ส่วนชาวไทเขินที่เลือกทำเลที่ตั้งไปทางทิศตะวันออกของเมืองเชียงใหม่ห่างจากตัวเมือง ระยะทางประมาณ 5-30 กิโลเมตร แต่ก็ยังอยู่ในเขตนครเชียงใหม่หลายหมู่บ้าน อาทิ ในเขตอำเภอสันกำแพง ในปัจจุบันคือ ชุมชนบ้านมอญ ชื่อเดิม "หม่อน" เพราะมาตั้งถิ่นฐานที่ราบลุ่มระหว่าง น้ำแม่กวง กับน้ำแม่คาว เดิมมีต้นหม่อนขึ้นอยู่ทั่วไปจึงตั้งชื่อว่าบ้านหม่อน แต่ต่อมาก็เรียกกันว่าบ้านมอน เข้าใจว่าเมื่อทางการปกครองมาตั้งชื่อจึงเขียนว่า "บ้านมอญ" จนมาถึงปัจจุบัน ในอดีตนั้นมีจำนวน 10 หย่อมบ้าน ได้แก่ บ้านซาว บ้านหลวง บ้านหัวนา บ้านซาย บ้านยางนอก บ้านหนองทอง บ้านกลั่ง บ้านกล้วย บ้านป่าเป้า บ้านกู่ จำนวนหมู่บ้านที่กล่าวข้างต้น เป็นชื่อชุมชนหมู่บ้าน ดั้งเดิมที่อพยพมาจากเมืองเชียงตุง ดังกล่าวปัจจุบันก็คือบ้านมอญ หมู่ที่ 1 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เมื่อชุมชนบ้านมอญหมูที่ 1 หนาแน่นขึ้น จึงมีการแยกมาตั้งเป็นหมู่บ้านใหม่ บ้านมอญ หมู่ 2 โดยมีอุโบสถเป็นศูนย์กลาง เมื่อประกาศจัดตั้งหมู่บ้านใหม่เรียบร้อยทางวัดบ้านมอญจึงร่วมกันสร้างอุโบสถขึ้นใหม่ ขณะด้วยกันทางบ้านมอญ หมู่ 2 ก็ร่วมกันสร้างวิหารขึ้นใหม่ โดยการนำของท่านพระครูวิสิฐธรรมการ ตั้งชื่อว่า "วัดสีมาราม" เพื่อให้เกิดความสะดวกในการประกอบศาสนกิจของทั้ง 2 หมู่บ้าน อันเป็นบ้านพี่บ้านน้องกัน
- ทิศเหนือ ติดกับ ชุมชนบ้านมอญ หมู่ 1 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศใต้ ติดกับ ชุมชนบ้านสันกลางเหนือ หมู่ 4 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
- ทิศตะวันตก ติดกับ แม่น้ำคาว
- ทิศตะวันออก ติดกับ บ้านริมกวง หมู่ 7 ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
สภาพพื้นที่
ชุมชนบ้านมอญสีมารามเป็นพื้นที่ราบลุ่ม โดยทิศตะวันตกติดกับแม่น้ำคาว ส่วนทิศตะวันออกมีคลองน้ำ ซึ่งเป็นน้ำที่ไหลมาจากคลองขี้เหล็กทางทิศเหนือ มีวัดสีมารามตั้งอยู่ในเส้นทางถนนสายหลักของชุมชน ถนนในชุมชนค้อนคางแคบ บ้านเรือนและสถานที่ทางเศรษฐกิจของผู้คนในชุมชนมักกระจายตัวอยู่ในซอยของชุมชนเป็นส่วนใหญ่ ชุมชนสีมารามและชุมชนบ้านมอญถือเป็นชุมชนแหล่งท่องเที่ยว มีการสนับสนุนจากภาครัฐ มีวิสาหกิจชุมชนที่รองรับการท่องเที่ยววิถีชุมชนอยู่มาก เช่น โรงงานกาละแม, การทำเครื่องเงิน, การทำช่อตุง, การทำจิวเวลรี่ตุ้มหูลายจก, การทำประทีป, การสอนทำอาหารภาคเหนือต่าง ๆ
พื้นที่สาธารณะหรือพื้นที่กิจกรรมในชุมชนมีอยู่ห้าสถานที่หลัก คือ วัดสีมาราม, ศูนย์ฟื้นฟูผู้พิการเทศบาลตำบลสันกลาง ตั้งอยู่หลังวัดสีมาราม, วัดบ้านมอญ, ตลาดโหล่งฮิมคาว ตั้งอยู่ภายในชุมชนมอญใต้, ตลาดชุมชนไทเขิน ตั้งอยู่ติดกันกับตลาดโหล่งฮิมคาว, สวนสาธารณะโหล่งฮิมคาว ตั้งอยู่หลังตลาดโหล่งฮิมคาว
ปัจจุบันบ้านมอญใต้มีจำนวนครัวเรือนอยู่ประมาณ 600 กว่าหลังคาเรือน บ้านมอญเหนือ มีจำนวนครัวเรือนอยู่ประมาณ 400 กว่าหลังคาเรือน จำนวนประชากรทั้งหมดในชุมชนบ้านมอญสีมารามมีประมาณ 1,600 คน
ประชากรที่มีเชื้อสายไทเขินมีอยู่ประมาณ 600 คน แบ่งเป็นประชากรชายที่มีเชื้อสายไทเขินมีอยู่ประมาณ 250 คน ประชากรหญิงที่มีเชื้อสายไทเขินมีอยู่ประมาณ 350 คน
ชุมชนไทเขินบ้านมอญสีมารามเป็นชุมชนที่มีคนต่างพื้นที่ทยอยเข้ามาตั้งถิ่นฐานอยู่อาศัยประมาณ 40 ปีก่อน อาจารย์ ชัชวาล ทองดีเลิศ ในย้ายถิ่นฐานจากสมุทรปราการ เข้ามาอยู่ในชุมชนสีมาราม เมื่อริเริ่มตลาดโหล่งฮิมคาว ก็มีคนต่างถิ่นย้ายมาตั้งกิจการร้านค้ามากขึ้นเรื่อย ๆ
ไทขึนการรวมกลุ่มของสมาชิกชุมชน กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มฌาปนกิจ กลุ่มแม่บ้าน และกลุ่มอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.)
บ้านไทเขินบ้านมอญสีมารามเป็นชุมชนท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม คนส่วนใหญ่ทำอาชีพธุรกิจส่วนตัว ค้าขาย เกษตรกร มีวิสาหกิจชุมชน โรงงานทำกาละแมพรรณี มีตลาดโหล่งฮิมคาวที่รวบรวมอาหารการของกินพื้นเมืองของภาคเหนือ และงานสร้างสรรค์ศิลปะของคนในชุมชน เช่น ผ้ามัดย้อมคราม ดอกไม้ประดิษฐ์ด้วยผ้าใยบัว ช่อตุงของภาคเหนือ ตุ่มหูลายจกที่นำผ้าลายจกมาทำเป็น จิวเวลรี่ ทั้งนี้ยังมีตลาดชุมชนที่ตั้งอยู่ใกล้เคียงกับตลาดโหล่งฮิมคาว ตลาดทั้งสองแห่งเปิดทุกวันเสาร์และวันอาทิตย์ ชุมชนรับจัดโปรแกรมกิจกรรมในการมาเยี่ยมชมเรียนรู้ชุมชนให้กับนักท่องเที่ยว ชุมชนไทเขินบ้านมอญสีมารามยังมีกิจกรรมกาดต่อนยอน ซึ่งจะจัดเป็นรอบ ๆ ตามแต่ละช่วงของเดือนหรือฤดูกาล
คนในชุมชนไทเขินบ้านมอญสีมารามสมัยก่อนทำอาชีพเกษตรกรเป็นส่วนใหญ่ แต่เนื่องด้วยปัจจุบันได้ผลิดอกออกผลเป็นชุมชนการท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม ในรูปแบบเศรษกิจชุมชน วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในชุมชนยังคงรักษาวัฒนธรรมประเพณีพื้นถิ่นล้านนา เช่น ยี่เป็ง ปีใหม่ วันสำคัญทางศาสนา สืบมาเช่นเดียวกับคนเมืองในภาคเหนือทุกประการ และคนในชุมชนยังคงพยายามรักษาเอกลักษณ์ความเป็นชาวไทเขินไว้ ผ่านเครื่องแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ
1.พ่อครูวิลาศ ใหม่แก้ว
อาศัยอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ครูช่างฝีมีทำเครื่องเงิน ท่านเดียวในชุมชน ได้เรียนรู้และเคยทำงานเป็นช่างทำเครื่องเงินในร้านเชียงใหม่เครื่องเงินล้านนา มีประสบการณ์มานานกว่า 40 ปี เป็นเครื่องเงินโบราณศิลปะล้านนาแท้ หาชมได้ยากในปัจจุบัน สำหรับผู้สนใจศึกษาเรียนรู้วิธีการทำเครื่องเงิน สามารถติดต่อเรียนได้ที่บ้านมอญ
เบอร์ติดต่อ โทร. 06-4962-5787 อัตราค่าบริการ 500 ต่อท่าน สามารถรองรับได้ 10 ท่านต่อรอบ
2.พ่อครูคำปัน อินสาม
อาศัยอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อคำปันเป็นครูสอนดนตรีล้านนา คณะของพ่อคำปันมีสมาชิกทั้งหมด 5 คน เป็นลูกหลานของชาวไทเขินแท้ พ่อคำปันมีใจรักในเสียงดนตรีพื้นเมืองและพยายามอนุรักษ์ความเป็นเอกลักษณ์นี้ไว้ วงของพ่อคำปันมีเครื่องดนตรีประกอบ ได้แก่ กลองยาว กะหลดปก ฆ้องห้า ฆ้องอุ้ย ซว่า (ฉิงฉับสไตล์ไทเขิน) ซึ่งผู้เรียนสามารถเลือกเรียนได้ตามความชอบ ทักษะที่ได้ขึ้นอยู่กับความสามารถและพื้นฐานของผู้เรียน
เบอร์ติดต่อ โทร. 08-9553-8204 เรียนแบบทางการอัตราค่าบริการ 200 ต่อท่าน สามารถรองรับได้ 15 ท่านต่อรอบ
3.แม่ครูอัญชุลี จักรผัน อาศัยอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ ครูสอนฟ้อนไทเขิน จบการศึกษาด้านนาฏศิลป์โดยตรง และกลับมาบ้านเกิดตั้งใจเป็นครูเพื่อสอนเด็ก ๆ รุ่นหลังสืบสานเอกลักษณ์ฟ้อนไทเขินนี้ไว้ เครื่องแต่งกาย และท่วงท่าต่าง ๆ ที่แสดงออกขณะฟ้อนรำนั้นมีความหมายสะท้อนถึงวิถีชีวิต วัฒนธรรม และประเพณี
เบอร์ติดต่อ โทร. 08-1706-7448 สนใจโปรแกรมกิจกรรม การแนะนำวิทยากร เตรียมอุปกรณ์ และให้ความรู้ภาษาฟ้อนไทเขิน ฝึกฟ้อนไทเขินขั้นพื้นฐาน หากสนใจเรียนรู้เพิ่มเติมสามารถสอบถามจากวิทยากรได้
4.พ่อครูอินทร์จันทร์ อภิวงค์ อาศัยอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อครูอินทร์จันทร์เป็นนักเล่าเรื่อง ปราชญ์ชาวบ้านมอญแต่กำเนิด มีความผูกพันกับบ้านมอญ เป็นผู้ใหญ่ที่ชาวบ้านต่างให้ความเคารพ เป็นผู้ที่มีรู้ประวัติความเป็นมาของบ้านมอญมากที่สุด จึงทำหน้าที่บ้านนักเล่าเรื่องประจำหมู่บ้าน ที่เรือนโบราณในวัดสีมารามที่บ้านมอญแห่งนี้
เบอร์ติดต่อ โทร. 08-3207-1472
5.พ่อครูสุพรรณ ปัญญาคำ อาศัยอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านมอญ ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ พ่อสุพรรณ ปัญญาคำ ทำประทีปมาแล้วกว่า 30 ปี ตั้งใจทำเพื่อสืบสานประเพณีโบราณไว้ให้คนรุ่นหลังได้เห็นกันต่อไป พ่อสุพรรณยังเป็นผู้อาวุโสในชุมชน ที่ได้รับความเคารพนับถือเป็นอย่างมาก
เบอร์ติดต่อ โทร. 08-8547-9509
6.อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ อาศัยอยู่ หมู่ 2 บ้านมอญ ตำบลออนกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ เป็นหนึ่งในผู้ริเริ่มก่อตั้งตลาดโหล่งฮิมคาวจนกลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่ส่งเสริมเศษฐกิจในชุมชนได้อย่างเป็นอย่างดี โดยโหล่งอิมคาว คือถนนที่จัดแสดงงานสินค้าและอาหารพื้นเมืองให้ผู้มาเยือนได้เลือกชม ตลาดที่ถูกสร้างขึ้นเพื่อให้นักท่องเที่ยวในเชิงศิลปวัฒนธรรมล้านนาผสมผสานกับแฟชั่นสมัยใหม่ หากมาเดินเที่ยวแล้วหวั่นจะพลาดจุดสำคัญต่าง ๆ ของตลาด อาจารย์ชัชวาลย์ ทองดีเลิศ จึงเริ่มมีแนวคิดการพาเดินแอ่วกาด เพื่อให้บริการแก่นักท่องเที่ยว
เบอร์ติดต่อ โทร. 08-1530-8512
7.นายอุทัย แสนวาศพิทักษ์ ผู้นำชุมชนไทเขินสีมาราม อาศัยอยู่ หมู่ที่ 2 บ้านไทเขินสีมาราม ตำบลสันกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่
เบอร์ติดต่อ โทร. 09-4714-8699
บ้านไทเขินสีมารามตั้งอยู่ใกล้กับอำเภอเมืองเชียงใหม่ อยู่ไม่ไกลจากถนนเส้นหลัก ประชากรส่วนใหญ่ที่อยู่ในชุมชนมีเชื้อสายของชาวไทเขิน และคนในชุมชนยังคงพยายามรักษาเอกลักษณ์ความเป็นชาวไทเขินไว้ ผ่านเครื่องแต่งกาย อาหาร วัฒนธรรม และประเพณีต่าง ๆ เสน่ห์ความน่าดึงดูดของชุมชนไทเขินสีมารามไม่ได้มีแต่เพียงอัตลักษณ์ของไทเขินเท่านั้น
แต่รวมถึงความหลากหลายของผู้คนจากต่างถิ่น ที่เข้ามาส่งเสริมวิถีชุมชนให้มีพลังศักยภาพ และความสามารถในการขับเครื่องเศรษฐกิจของชุมชน อีกทั้งผู้นำชุมชนมีความเข้มแข็ง รวมถึงชาวบ้านในชุมชนมีความสามัคคีให้ความรวมมือกับกิจกรรมต่าง ๆ ในชุมชนอย่างเต็มที่
ด้านอาหาร ชาวไทเขินบ้านมอญสีมารามมีอาหารประจำถิ่นที่โดนเด่น เช่น ไก่ซ่ำพริก, ข้าวเงี้ยว (น้ำตาอิฮวก), น้ำพริกหนุ่มปลาอินทรี, มอบปู๋, น้ำพริกข่าหมูอบ, แกงหลามบอน, ไส้อั่วจิ๋ว, ขนมแตง, ขนมต้าง (มาต้าง)
คนในชุมชนไทเขินสีมารามปัจจุบันพูดภาษาเหนือสำเนียงคนเมือง (คำเมือง) เป็นส่วนใหญ่ ผู้เฒ่าผู้แก่ในชุมชนอาจพูดภาษาเหนือสำเนียงไทเขินได้บ้าง แต่ในวิถีชีวิตประจำวัน เวลาส่วนใหญ่ก็จะพูดภาษาเหนือสำเนียงคนเมือง คนอายุน้อยกว่า 40 ปี พูดสำเนียงไทเขินได้เป็นบางคำ
ปัจจุบันชุมชนไทเขินบ้านมอญสีมารามได้จัดงานสานสัมพันธ์วัฒนธรรม 4 ไต คือ ไตเขิน-ไตลื้อ-ไตยอง-ไตใหญ่ ณ เรือนโบราณวัดสีมาราม ตำบลออนกลาง อำเภอสันกำแพง จังหวัดเชียงใหม่ วันที่ 2-3 ธันวาคม 2566 งานนี้จัดร่วมกับสภาวัฒนธรรมตำบลสันกลาง และเทศบาลตำบลออนกลาง ในงานมีกิจกรรม Work shop ขายอาหาร กาดหมั้วของกินชาติพันธ์ุ อาหารพื้นเมือง นิทรรศการมีชีวิต "อัตลักษณ์ไทเขิน" เวทีเสวนาวิถีไทเขินกับโลกปัจจุบัน กิจกรรมแสดงดนตรีพื้นเมือง งานสานสัมพันธ์วัฒนธรรม 4 ไตเริ่มจัดในชุมชนไทเขินบ้านมอญสีมารามครั้งในปี 2566 นี้ ด้วยการสนับสนุนจากภาครัฐ คาดว่าชุมชนจะงานสานสัมพันธ์วัฒนธรรม 4 ไต ทุกปี
หนึ่งในแลนมาร์คของวัดบ้านมอญคือ ต้นโพธิ์แฝดศักดิ์สิทธิ์ มีอายุราว 400 ปี เชื่อว่าใครที่มาขอพรแล้วเดินลอดใต้ต้นโพธิ์ แล้วสามารถรับใบโพธิ์ที่ร่วงลงมา พรที่ขอจะเป็นจริง จนได้ชื่อว่าเป็นจุด Unseen ของเชียงใหม่
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ไทเขิน ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.
ชุมชนท่องเที่ยวไทเขินสีมาราม. Facebook. https://www.facebook.com/SrimaramBaanmon/
โหล่งฮิมคาว. Facebook. https://www.facebook.com/LoangHimKao/