กุมภวาปีเมืองน้ำตาล อุทยานวานร ดอนแก้วพุทธสถาน หนองหานสายธารแห่งชีวิต ธรรมชาติวิจิตรทะเลบัวแดง
กุมภวาปีเมืองน้ำตาล อุทยานวานร ดอนแก้วพุทธสถาน หนองหานสายธารแห่งชีวิต ธรรมชาติวิจิตรทะเลบัวแดง
ในปี พ.ศ. 2400 ตอนต้นรัชกาลที่ 4 หรือประมาณ 166 ปีผ่านมาแล้ว ชนเผ่าภูไทกลุ่มนี้ได้อพยพมาจากบ้านกะตาก เมืองภูวานากะแด้ง (ภูวานากะแด้งเป็นเมืองหลวงเก่าปัจจุบันอยู่ในแขวงคำม่วน สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตั้งแต่ดั่งเดิมมานั้นบริเวณแห่งนี้มีชนเผ่าภูไทอาศัยอยู่มาก) โดยพากันข้ามแม่น้ำของหรือแม่น้ำโขงในปัจจุบัน แล้วลัดเลาะรอนแรมมาตามแนวเทือกเขาภูพาน มุ่งหน้าทางทิศตะวันตกสู่ที่ราบลุ่มที่เป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ (ปัจจุบัน คือ หนองหารหลวง สกลนคร) โดยผู้คนที่อพยพมาได้แยกย้ายกันเลือกตั้งถิ่นฐานตามพื้นที่ที่มีความเหมาะสม ถือความอุดมสมบูรณ์ของแหล่งน้ำเป็นสำคัญ บางกลุ่มก็อาศัยปักหลักอยู่ใกล้กับแหล่งน้ำมากเพื่อความสะดวกในการทำมาหากิน แต่บางกลุ่มก็อาศัยอยู่ตามโคกตามดอนหรือเป็นโนน (เป็นเนิน) โดยพากันตั้งหมู่บ้านเล็ก ๆ อยู่ทางตอนต้นที่ราบลุ่มของหนองหารใกล้กับเชิงเขาภูพาน (ซึ่งปัจจุบันก็เป็นพื้นที่หนึ่งในเขตตำบลโนนหอม) เพราะเห็นว่าบริเวณนี้มีหนองน้ำ มีโนน (เนิน) อีกทั้งบางแห่งก็เป็นป่าสลับกับทาม (ที่ลุ่ม ชื้นแฉะ มีน้ำขังได้ง่ายเมื่อฝนตก) เหมาะเป็นอย่างยิ่งต่อการที่จะทำไร่ไถ่นาหรือปลูกพืชพันธุ์ธัญญาหารอื่น ๆ เพื่อการเลี้ยงชีพ และบรรพบุรุษของชนเผ่าภูไทหรือบ้านโนนหอม ได้ตั้งถิ่นฐานเป็นบ้านเล็ก ๆ กระจายอยู่ตามท้องทุ่งนาริมป่าบุ่งป่าทามและมีชื่อเรียกต่าง ๆ กันดังนี้
1) บ้านทุ่งนาพ่อซม เป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ มีประมาณ 7 หลังคาเรือน มีท้าวหอมเป็นผู้นำ และมีท้าวเซียงมีเป็นผู้ช่วยเหตุที่เลือกที่แห่งนี้เพราะเป็นแหล่งที่มีความอุดมสมบูรณ์ อยู่ใกล้กับหนองน้ำขนาดใหญ่ (หนองฮากในปัจจุบัน) และอีกอย่างหนึ่งบริเวณนี้เป็นป่าสลับกับที่ว่างเมื่อขุดดินถางป่า ถางดอนอีกเล็กน้อยก็สามารถทำไร่ทำนาหาเลี้ยงชีพได้
ในปัจจุบันทุ่งนาพ่อซมมีต้นไฮ (ต้นไทร) ขนาดใหญ่ขึ้นอยู่กลางทุ่งสังเกตเห็นได้ง่าย นอกจากนั้นมีต้นตาลขึ้นเป็นแห่ง ๆ มีต้นมะม่วงและต้นมะขามเก่าแก่ที่ขนาดโตมาก เชื่อกันว่าต้นตาล ต้นมะม่วงและต้นมะขามขนาดใหญ่เหล่านี้ ท้าวหอมกับญาติพี่น้องได้พากันปลูกเอาไว้ ทุ่งนาพ่อซมอยู่ห่างจากบ้านโนนหอมปัจจุบันออกไปทางทิศใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร
2) บ้านทุ่งนาโพธิ์ ตั้งเป็นหมู่บ้าน 9 หลังคาเรือน โดยมีท้าวเซียงพิลาหรือเรียกชื่อหนึ่งว่า "พ่อเฒ่าขี้โม้" เป็นผู้นำอยู่ห่างจากลำน้ำพุงประมาณ 500 เมตร จุดที่ก่อตั้งบ้านเรือนจะเป็นเนินเล็ก ๆ บริเวณรอบ ๆ จะเป็นที่ว่าง ลักษณะลุ่มสลับป่าบุ่งป่าทามเหมาะแก่การปลูกข้าว ทำนา ทำไร่ ปัจจุบันทุ่งนาโพธิ์เป็นทุ่งนากว้าง มีต้นโพธิ์ขึ้นกระจัดกระจายอยู่ทั่ว ตามแนวป่าบริเวณกว้าง และได้ตัดต้นไม้ออกจนโล่งเตียนทำเป็นทุ่งนา อยู่ห่างจากหมู่บ้านโนนหอมปัจจุบันออกไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1.5 กิโลเมตร
3) บ้านวังจันทบ ตั้งหมู่บ้านขนาด 6 หลังคาเรือน นำโดยท้าวแววและท้าวหมู่อยู่ติดกับลำน้ำพุง มีความสะดวกในการจัดสัตว์น้ำและพื้นที่มีที่ว่างพอที่จะทำการปลูกข้าว เลี้ยงสัตว์ได้ ปัจจุบันบ้านวังจันทบอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.5 กิโลเมตร อยู่ติดกับลำพุงในส่วนที่เรียกว่า "ดอนคางนก" แต่เนื่องจากบ้านวังจันทบอยู่ห่างจากหมู่บ้านอื่น ๆ มาก จึงทำให้มีโจรผู้ร้ายชุกชุม บุกปล้นที่บ้านนี้บ่อยครั้ง และชาวบ้านบางส่วนไม่สามารถทนอยู่ต่อไปได้จึงได้ย้ายมาอยู่ที่บ้านนาตาหลุบ
4) บ้านนาตาหลุบ ตั้งหมู่บ้านขนาด 3 ครอบครัวอยู่ติดกับลำแม่น้ำพุงเช่นกันและมีพื้นที่อุดมสมบูรณ์ อยู่ห่างจากบ้านวังจันทบไปทางทิศใต้ประมาณ 2 กิโลเมตร และอยู่ห่างจากทุ่งนาโพธิ์ไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 1 กิโลเมตร
5) หมู่บ้านฮ่องขี้ควาย ตั้งหมู่บ้านขนาด ครอบครัว โดยมีท้าวบู่เป็นผู้นำและมีท้าวเบาเป็นน้องชายรวมอยู่ด้วยสภาพทีอยู่เป็นทามสลับป่าอยู่ติดกับฮ่องเล็ก ๆ (ลำห้วย) มีโนนทั้งสองฝั่งลำห้วยเป็นที่ปลูกเรือนอยู่อาศัย ปัจจุบันบ้านฮ่องขี้ควายอยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศเหนือประมาณ 2 กิโลเมตร
เจ้าเมืองสกลนครตรวจตราแหล่งที่อยู่ของภูไท ประมาณ ปี พ.ศ. 2418 ในสมัยของพระยาประจันตประเทศธานี (คำ เป็นเจ้าเมืองสกลนครได้ออกตรวจตราไปตามหมู่บ้านต่าง ๆ ตามสถานที่หรือหลักแหล่งที่สำคัญต่าง ๆ ว่ากลุ่มคนที่อพยพมาจากทางฝั่งซ้ายมีมากน้อยเพียงใด อยู่กันที่ใดบ้าง สภาพการตั้งถิ่นฐานเป็นอย่างไร ที่ผ่านมาในช่วง พ.ศ. 2411-2418 ชนกลุ่มต่าง ๆ ในแถบที่ราบลุ่มหนองหาร ได้รวบรวมผู้คนเพื่อจัดตั้งเป็นบ้านเป็นเมืองมากมาย เมื่อเจ้าเมืองสกลนครตรวจตรามาพบกลุ่มภูไทยก็ได้แนะให้ท้าวหอมในฐานะที่เป็นผู้นำ พากันรวมกลุ่มคนที่กระจายกันอยู่ ทั้งนี้เพื่อความเป็นปึกแผ่น ง่ายต่อการปกครองและจะได้มีความมั่นคงมากยิ่งขึ้น อีกทั้งในขณะนั้นโจรผู้ร้ายก็มีชุกชุมมากปัญหาการลักขโมยมีอยู่ทั่วไป เสือ สิงห์ สัตว์ร้ายนานาชนิดล้วนแต่เป็นอันตรายแทบทั้งสิ้นเมื่ออยู่ห่างไกลกันเช่นนี้อันตรายก็มีมากขึ้นเท่าตัว นายหอมจึงได้เลือกทำเลที่ตั้งใหม่ซึ่งมีความเห็นว่า บริเวณที่เป็นเนินกว้างไม่ห่างจากหนองน้ำใหญ่เท่าใดนัก มีความเหมาะสมต่อการปลูกสร้างบ้านเรือนเพราะเป็นโนนสูง ทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของโนนแห่งนี้จะเป็นหนองน้ำขนาดใหญ่ สัตว์น้ำ กุ้ง หอย ปู ปลา มีมาก สมควรที่จะตั้งหลักทำมาหากิน ประการสำคัญจะไม่มีปัญหาเรื่องน้ำท่วมเพราะหากฝนตกน้ำก็จะไหลลงที่หนองแห่งนี้ ในสมัยนั้นบริเวณนี้ถึงแม้จะมีปลามาก แต่ก็มีที่ลุ่มเป็นหนองน้ำเล็ก ๆ น้อย ๆ อยู่กระจายรอบ ๆ โนนเป็นจำนวนมาก ท้าวหอมจึงได้พาพรรคพวกมาถากถางป่าดอน เพื่อเตรียมการที่จะย้ายหมู่บ้านเข้ามาอยู่ที่โนนแห่งนี้ซึ่งปัจจุบันคือพื้นที่ที่ตั้งหมู่บ้านโนนหอมนี้เอง
บ้านโนนหอมเเห่งใหม่ หลังจากที่เจ้าเมืองสกลนครได้สั่งให้รวบรวมผู้คนตามท้องไร่ท้องนาเข้ามารวมตัวเป็นปึกแผ่นอันหนึ่งอันเดียวกัน เพื่อไม่ให้เกิดการแตกแยกระส่ำระสายและสะดวกในการติดต่อกับเจ้าเมือง ระยะเดียวกันกับที่ท้าวหอมได้ถางป่าดงเพื่อที่จะสร้างหมู่บ้านใหม่เป็นที่เรียบร้อยในตอนปี พ.ศ. 2419 นี้เอง พระยาประจันตประเทศธานีได้เสียชีวิตลงทางราชสำนักที่กรุงเทพฯ จึงได้แต่งตั้งราชวงศ์ (ปิด) เป็นพระยาประจันตประเทศธานีเป็นคนต่อมา
ในปี พ.ศ. 2420 ท้าวหอมได้อพยพผู้คนจากทุ่งนาพ่อซม ทุ่งนาโพธิ์ ทุ่งวังจันทบ ทุ่งฮ่องขี้ควาย และทุ่งนาตาหลุบ เข้ามาอยู่ในบริเวณที่เป็นโนนซึ่งได้ถากถางจัดเตรียมไว้ และได้ตั้งชื่อว่า "หมู่บ้านโนนขี้กิ้ง" เหตุที่ตั้งชื่ออาจเป็นไปได้ว่า ตรงจุดศูนย์กลางของโนนนี้เป็นที่สูงและเมื่อมีการถ่ายอุจจาระมันจะไหลกลิ้งลงสู่ที่ต่ำกว่าซึ่งอยู่บริเวณด้านข้างเสียหมด จึงเรียกว่า โนนขี้กิ้ง (กลิ้ง) โดยบรรพบุรุษที่บ้านฮ่องขี้ควายนั้นส่วนหนึ่งได้ย้ายเข้าไปอยู่ที่บ้านไผ่ล้อม นำโดยท้าวบู่ ส่วนหนึ่งได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่บ้านโนนขี้กิ้งซึ่งนำโดยท้าวพันและท้าวเบา
หมู่บ้านร้างของชาวโนนขี้กิ้ง เมื่อท้าวหอมได้ตั้งหมู่บ้านใหม่เรียบร้อยแล้ว พระยาประจันต์ประเทศธานี (ปิด) ได้ให้หลวงวิเศษซึ่งย้ายออกมาจากตัวเมืองสกลนครพร้อมกันกับท่านเจ้าเมือง ช่วยดูแลกลุ่มผู้ไทยบ้านโนนขี้กิ้ง โดยทำหน้าที่เป็นผู้ช่วยท้าวหอมอีกแหล่งหนึ่ง คอยดูแลประสานงานระหว่างหมู่บ้านกับตัวเมือง หลังจากนั้นเป็นต้นมาหมู่บ้านที่เคยอยู่กันมาแต่ก่อนซึ่งถือว่าเป็นหมู่บ้านแรกเริ่ม ก็กลายเป็นหมู่บ้านร้างตั้งแต่นั้นมา และมีชื่อเรียกกันใหม่ดังนี้
1) บ้านทุ่งนาพ่อซม เรียกเป็นบ้านฮ่างนาพ่อซม ปัจจุบันเป็นทุ่งนากว้างอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน อยู่ห่างประมาณ 1 กิโลเมตร อยู่ในเขตที่นาของนายจรัส รมราศรี, นายหยาด รมราศรี, นางสีดา จำปาแก้ว, นายเดือน ไขประภาย, นายเด่น ไขประภาย, นายเฉลิม ฝั่งซ้าย, นายทุ่ม ไขประภาย, นายข่อง เปลี่ยนเอก, นายท่อง เปลี่ยนเอก
2) บ้านทุ่งนาโพธิ์ ปัจจุบันเรียกเป็นบ้านฮ่างนาโพธิ์ เป็นทุ่งนากว้างใหญ่อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้าน ห่างประมาณ 1.5 กิโลเมตร จุดศูนย์กลางของหมู่บ้านร้างอยู่ในนาของนายบัง ไขประภาย นอกจากนี้อาณาบริเวณขอบเขตของทุ่งนาโพธิ์กว้างใหญ่คุมพื้นที่หลายร้อยไร่ ในที่นาของหลาย ๆ คน เช่น นายคำพอก เปลี่ยนเอก, นางเพ็รช จำปาแก้ว, นายอ้ม โคตรบรม ฯลฯ
3) บ้านทุ่งวังจันทบ ปัจจุบันเรียกเป็นบ้านฮ่างวังจันทบ อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.5 กิโลเมตร อยู่ติดกับลำพุงในส่วนที่เรียกว่า "ดอนคางนก" อยู่ใกล้กับที่ดินของนายกวด ไขประภาย บ้านทุ่งนาตาหลุบ ปัจจุบันเรียกเป็นบ้านฮ่างนาตาหลุบ อยู่ห่างจากหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 2.5 กิโลเมตร หรืออยู่ห่างจากทุ่งนาโพธิ์ไปทางทิศใต้ 1 ก.ม. อยู่ติดกับลำน้ำพุงใกล้กับหมู่บ้านห้วยแคน ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ สกลนคร ปัจจุบันอยู่ในขอบเขตที่นาของนายเครือ แสงโคตรมา
5) บ้านฮ่องขี้ควาย ปัจจุบันเรียกเป็นบ้านฮ่องนาขี้ควาย อยู่ใกล้ทางแยกเข้าหมู่บ้านโนนหอมด้านที่ติดกับถนนสายสกล-นาแก จุดศูนย์กลางของหมู่บ้านฮ่างอยู่ในเขตที่ดินของ นางขิ้ม คณะเมือง เป็นที่นาติดกับลำห้วยนายาวเปลี่ยนชื่อหมู่บ้านจากบ้านโนนขี้กิ้งเป็นบ้านโนนหอมประมาณปี พ.ศ. 2425 ได้มีกลุ่มผู้ไทยจากที่อื่น ๆ เช่น หมู่บ้านใกล้เคียงที่ตั้งหมู่บ้านก่อนบ้านโนนขี้กิ้ง ได้ย้ายเข้ามาอยู่ที่โนนขี้กิ้งอีกหลายครอบครัว เช่น จากบ้านฮ่องหนองปิง (ปัจจุบันเป็นบ้านร้างอยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือของบ้านห้วยแคน ติดกับลำน้ำพุง) นำโดยท้าววัน ท้าวหนู นางพรม ท้าวเชียงคะ นอกจากนี้ยังย้ายมาจากบ้านห้วยปลาใย บ้านโพนนาไก่ อีกหลายครอบครัวในระยะนี้ทำให้บ้านโนนขี้กิ้งเป็นหมู่บ้านใหญ่พอสมควรเจ้าเมืองสกลนคร (ปิด) ได้ออกมาที่หมู่บ้านโนนหอมบ่อยครั้งมาก บางที 7 วัน หรือ 14 วัน หรือเดือน ออกมาที่หมู่บ้านครั้งหนึ่ง พร้อมข้าราชบริวารเป็นขบวนเพื่อเยี่ยมเยียนกลุ่มชนเผ่าภูไทถือว่ามาจากฝั่งซ้ายเดียวกัน ถึงแม้ว่ากลุ่มภูไทโนนขี้กิ้งจะไม่ได้รวมตัวกันเป็นกลุ่มใหญ่จนได้ตั้งเป็นเมืองเหมือนอย่างที่อื่นก็ตามแต่ก็ยังดีกว่าที่อยู่กระจัดกระจายกันตามป่าตามดง ซึ่งเจ้าเมืองสกลนครได้ช่วยแนะนำชาวโนนขี้กิ้งในการจัดสร้างที่อยู่อาศัย การกิน การอยู่รวมทั้งให้ข่าวสารราชการงานเมืองต่าง ๆ โดยผ่านท้าวหอมผู้นำหมู่บ้าน อีกทั้งมีหลวงวิเศษที่ถือว่าเป็นเชื่อสายของเจ้าใหญ่นายโตจากในเมืองมาตั้งอยู่ที่โนนขี้กิ้งแห่งนี้ เจ้าเมืองสกลนครเห็นว่าชื่อหมู่บ้านโนนขี้กิ้ง ไม่เหมาะกับชื่อหมู่บ้านเท่าใดนักและไม่เป็นมงคล จึงได้เปลี่ยนชื่อใหม่ว่า "บ้านโนนหอม" เพราะที่ตั้งหมู่บ้านนี้เป็นโนน คนที่ก่อตั้งคนแรกคือ นายหอมหรือท้าวหอมและเพื่อเป็นเกียรติแก่นายหอมผู้ก่อตั้ง จึงได้เรียกชื่อหมู่บ้านใหม่ว่าหมู่บ้านโนนหอมตั้งแต่นั้นมา
ท้าวหอมเสียชีวิตเมื่อไปรบกับจีนฮ่อ ในปี พ.ศ. 2427 ได้เกิดจลาจลขึ้นที่ทุ่งเชียงคำ ฝั่งซ้ายแม่น้ำโขง โดยจีนฮ่อได้บุกเข้ามาปล้นบ้านราษฎรในเขตเมืองเชียงขวาง เขตจังหวัดบริคัณฑนิคมทางฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงซึ่งในบริเวณนั้นเป็นอาณาเขตดินแดนของประเทศสยามอยู่ จีนฮ่อได้ตีเมืองเล็กเมืองน้อยมาจนถึงเมืองเชียงขวาง ทางเจ้าเมืองจึงได้เกณฑ์ไพร่พลถึง 1,000 คน จากสกลนคร แล้วเดินทางมุ่งหน้าไปเมืองเชียงขวางได้สมทบกับกำลังพลจากหัวเมืองต่าง ๆ อีก เพื่อการรบครั้งนี้ในจำนวนทหารศึกที่ส่งไปจากเมืองสกลนครนั้น ท้าวหอม ท้าวเชียง หลวงวิเศษ และลูกบ้านอีก 3-4 คน ได้ถูกเกณฑ์ไปรบศึกในครั้งนี้ด้วย การรบในครั้งนั้นต้องใช้เวลาถึงหลายสิบวันเพราะกองทับจีนฮ่อมีกำลังที่แข็งแกร่งมากหลวงพระบารมี ซึ่งอยู่ที่บ้านไผ่ล้อมก็มีโอกาสได้ไปร่วมรบด้วย ในนามทหารศึกจากเมืองสกลนคร ภายหลังต่อมาผลการรบในครั้งนั้นกองทัพจีนฮ่อถูกตีแตกย่อยยับพ่ายแพ้ และถอนกำลังออกไปจากเมืองเชียงขวา แต่กองทัพไทยก็มีความเสียหายเช่นเดียวกัน ท้าวหอมวีรบุรุษผู้ก่อตั้งหมู่บ้านโนนหอมได้เสียชีวิตที่ทุ่งเชียงคำซึ่งนำความเสียใจมาสู่ชาวโนนหอมเป็นอย่างมาก ส่วนเพื่อนบ้านคนอื่น ๆ กลับมาได้ด้วยความปลอดภัย ทางเจ้าเมืองสกลนครได้มอบใบสดุดีวีรกรรมของท้าวหอมฝากมาให้ญาติพี่น้องที่หมู่บ้านโนนหอมด้วยในฐานะที่เป็นนักรบที่มีจิตใจ กล้าหาร เด็ดเดี่ยว
หลวงวิเศษเป็นผู้นำหมู่บ้านคนให้ หลังจากที่ท้าวหอมได้เสียชีวิตที่ทุ่งเชียงคำแล้ว หมู่บ้านโนนหอมจึงขาดผู้นำ ทางเจ้าเมืองสกลนครจึงได้แต่งตั้งให้หลวงวิเศษเป็นผู้นำบ้านโนนหอมต่อจากนายหอมเพราะเห็นว่าหลวงวิเศษผู้นี้ได้คลุกคลีอยู่กับชาวโนนหอมมาหลายปีตั้งแต่คราวที่ท้าวหอมยังไม่เสียชีวิต รู้จักมักคุ้นกับชาวบ้านเป็นอย่างดียิ่ง และอีกอย่างหลวงวิเศษท่านสามารถอ่านออกเขียนได้ทั้งภาษาไทยและลาว (ไทยน้อย) ได้เป็นอย่างดี เป็นผู้ที่มีความรู้ความสามารถหลายด้านเคยไปรบและทำสงครามกับข้าศึกอยู่หลายครั้ง จึงมีความเหมาะสมเป็นอย่างยิ่งที่จะเป็นผู้นำต่อจากนายหอม ช่วงนั้นหลวงวิเศษได้ไปมาหาสู่กับเจ้าเมืองอยู่เป็นประจำ และได้เริ่มมีการพัฒนาหมู่บ้านในด้านต่าง ๆ เช่น เริ่มถางป่าบริเวณทางด้านทิศเหนือของหมู่บ้านขึ้นมาเพื่อสร้างเป็นวัดชั่วคราวขึ้นมา (ปัจจุบันบริเวณที่เป็นวัดเก่าหรือวัดร้างอยู่ในเขตที่ดินของนายจันดี ไชยบุตร อยู่ทางทิศเหนือของวัดโนนหอม) จากนั้นได้ตัดถนนทางเกวียนสั้น ๆ ขึ้นทางทิศตะวันตกของวัดขึ้นหนึ่งเส้น ขยายเส้นทางบางส่วนให้กว้างขวางขึ้น เพื่อให้เกิดความสะดวกในการเดินทางไปมาของเจ้าเมือง ซึ่งมักจะแวะมาที่หมู่บ้านโนนหอมประจำ
การขยายตัวของหมู่บ้านจากอดีตจนถึงปัจจุบัน
อายุของบ้านโนนหอมจากแรกเริ่มที่ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2400 จนถึงปัจจุบัน พ.ศ. 2566 รวมอายุได้ทั้งสิ้น 166 ปี มีความเก่าแก่ใกล้เคียงกับหมู่บ้านอื่นอีกหลายหมู่บ้านในละแวกเดียวกัน เช่น บ้านไผ่ล้อม บ้านห้วยปลาใย บ้านคำผักแพว บ้านดงหลวง เพราะกลุ่มคนที่อาศัยอยู่ตามที่ต่าง ๆ เหล่านี้ต่างก็ได้อพยพย้ายถิ่นฐานมาพร้อมกัน อีกทั้งก่อตั้งหมู่บ้านในเวลาใกล้เคียงกัน โดยครั้งแรกที่ย้ายเข้ามาผู้คนยังกระจายกันอยู่ ต่อมาเมื่อท้าวหอมได้มาถากถางป่าดงบริเวณโนนใกล้หนองน้ำใหญ่ (หนองฮากในปัจจุบัน) จึงได้รวบรวมผู้คนได้ 20 กว่าหลังคาเรือนก่อตั้งเป็นหมู่บ้านโนนหอมขึ้น โดยมีบรรพบุรุษเป็นภูไทกะตาก ซึ่งพูดจาเสียงดังฟังชัดกว่าภูไทกลุ่มอื่น ๆ ในอดีตของชาวโนนหอมนั้น จุดแรกที่บรรพบุรุษได้ก่อตั้งบ้านเรือนคือจุดศูนย์กลางของคุ้ม 2 (คุ้มคุณพระรักษา) หรือทางทิศตะวันออกของวัดบ้านโนนหอมในปัจจุบัน จุดศูนย์กลางนี้จะเรียกว่า "ป่าหมาก" เพราะมีต้นหมากปลูกอยู่มากมาย (ต้นหมากสำหรับคนแก่เคี้ยว) บริเวณนี้แต่ก่อนจะมีต้นหมากนับร้อยต้น รวมทั้งต้นมะพร้าว มะม่วง และกอหวายรวมอยู่ด้วยแต่ปัจจุบันนี้ต้นหมากและต้นไม้อื่น ๆ ได้ถูกตัด ถากถางไปมากจนโล่งเตียนหมดแล้ว จะหลงเหลือในเห็นก็แต่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น ทั้งนี้ก็เพราะลูกหลานของท้าวหอมที่มีอยู่มากมาย ได้ทำการถางป่าปลูกบ้านเรือนจับจองขยายพื้นที่จนทั่วหมดแล้วต่อมาในปี พ.ศ. 2438 บรรพบุรุษของชาวโนนหอม ได้สร้างวัดประจำหมู่บ้านขึ้นทางทิศตะวันออกของป่าหมากแห่งนี้ (ห่างประมาณ 100 เมตร จากป่าหมาก) และทางทิศตะวันออกของบ้านเท้าหอมนั้นเอง ทั้งนี้เพื่อให้วัดเป็นศูนย์กลางและเป็นที่รวมจิตใจของชาวบ้าน เมื่อมีการสร้างวัดได้ไม่นาน ก็ได้มีลูกหลานของบรรพบุรุษได้ขยับขยายบ้านเรือนย้ายมาปลูกสร้างกันมากขึ้นทางทิศตะวันออกของวัดรวมทั้งได้ถางป่าที่ทำพื้นที่ปลูกบ้านเพิ่มขึ้นกระจายอยู่รอบ ๆ วัด จนมีบ้านเรือนอยู่มากมายทุกทิศทุกทางของวัด
บ้านโนนหอมอยู่ห่างจากตัวจังหวัดสกลนครออกมาทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ประมาณ 16 กิโลเมตร มีอาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ของหมู่บ้านต่าง ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ จด บ้านไผ่ล้อม บ้านโพนยางคำ
- ทิศใต้ จด บ้านห้วยแคน บ้านท่าเยี่ยม
- ทิศตะวันตก จด บ้านห้วยปลาใย บ้านโพนนาไก่
- ทิศตะวันออก จด บ้านทามไฮ บ้านตองโขบ
ปัจจุบันบ้านโนนหอมเป็นตำบลหนึ่งที่มีพื้นที่อาณาเขตติดต่อกับพื้นที่ของตำบลอื่น ๆ ดังนี้
- ทิศเหนือ จด ตำบลเหล่าปอแดง ตำบลงิ้วด่อน
- ทิศใต้ จด ตำบลตองโขบ ตำบลเต่างอย
- ทิศตะวันตก จด ตำบลบึงทวาย อำเภอเต่างอย
- ทิศตะวันออก จด ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ
บ้านโนนหอมอยู่ห่างจากตัวอำเภอและจังหวัดที่สำคัญ ดังนี้
- โนนหอม - จ.สกลนคร 15 กิโลเมตร
- โนนหอม - จ.นครพนม 140 กิโลเมตร
- โนนหอม - จ.อุดรธานี 176 กิโลเมตร
- โนนหอม - จ.ขอนแก่น 220 กิโลเมตร
- โนนหอม - จ.กาฬสินธุ์ 145 กิโลเมตร
- โนนหอม - อ.ธาตุพนม 62 กิโลเมตร
- โนหอม - อ.นาแก 37 กิโลเมตร
สภาพภูมิอากาศของบ้านโนนหอม
สภาพภูมิอากาศโดยทั่วไปของบ้านโนนหอมและหมู่บ้านอื่น ๆ ในบริเวณใกล้เคียงกันจะไม่มีความแตกต่างกันเท่าใดนัก รวมไปถึงพื้นที่ส่วนใหญ่ของขอบเขตตามแนวเทือกเขาภูพานตอนบนหรืออีสานตอนบน เพราะฉะนั้นลักษณะภูมิอากาศในพื้นที่แถบนี้จะแบ่งออกได้เป็น 3 ฤดูกาล ดังนี้
- ฤดูฝน จะอยู่ในช่วงปลายเดือนพฤษภาคม ต้นเดือนตุลาคมของทุกปีทั้งนี้เนื่องจากหมู่บ้านโนนหอมและหมู่บ้านใกล้เคียงตั้งอยู่ในขอบเขตที่ราบลุ่มหนองหารหรือแอ่งสกลนครห่างจากหมู่บ้านออกไปทางทิศใต้ประมาณ 10 กิโลเมตร จะเป็นแนวของเทือกเขาภูพานที่ทอดยาวมาจากทางทิศตะวันออกทางเขตจังหวัดมุกดาหาร ผ่านอำเภอนาแก แนวเขตอำเภอโกศรีสุพรรณ อำเภอเต่างอย อำเภอกุดบาก แล้วต่อเนื่องเข้าไปในเขตของจังหวัดกาฬสินธุ์และอุดรธานี ตามลำดับซึ่งจากสภาพภูมิประเทศของผู้ตั้งหมู่บ้านโนนหอมนี้จะเป็นได้ว่ามีแนวของเทือกเขาภูพานกั้นเป็นฉากหลังอยู่เมื่อถึงหน้าฝนของทุกปีส่วนของลมฝนที่พัดมาทางทิศตะวันออกเฉียงเหนือก็จะพัดพาเอาความชื้น กลุ่มเมฆรวมทั้งเป็นปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความกดอากาศสูงที่แปรปรวนและลอยต่ำเข้ามาปะทะกับแนวของเทือกเขาภูพานที่กั้นไว้จึงทำให้เกิดฝนตกทางด้านหน้าของแนวปะทะในบริเวณที่เป็นราบลุ่มหนองหารทั้งหมด จึงทำให้บริเวณนี้มีฝนตกตลอดในช่วงหน้าฝน หมู่บ้านโนนหอมไม่ค่อยจะมีปัญหาทางด้านฝนแล้งเหมือนพื้นที่อื่น ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงฤดูฝนในแต่ละปีจะมีพายุดีเปรสชั่นพัดเข้าตกหลายลูกจึงเปรียบเสมือนว่าพื้นที่แถบนี้เป็นแนวรับน้ำได้อย่างดียิ่งต่างกันกับพื้นที่อื่น ๆ ที่อยู่ทางด้านหลังแนวเทือกเขาภูพาน เช่น เขตพื้นที่จังหวัดกาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด ยโสธร ขอนแก่น มหาสารคาม มักจะประสพปัญหาด้านความแห้งแล้งในแต่ละปี
- ฤดูหนาว จะอยู่ในระหว่างต้นเดือนตุลาคม-ปลายเดือนกุมภาพันธ์ จะมีอากาศหนาวพอสมควรเนื่องจากอยู่ใกล้เทือกเขาภูพาน แนวป่าไม้ยังมีอยู่มากช่วยทำให้สภาพอากาศอยู่เย็นได้นาน อุณหภูมิในฤดูหนาวเฉลี่ยประมาณ 20 องศาเซลเซียส หรืออยู่ในช่วง 15-25 องศาเซลเซียส ตลอดช่วงของหน้าหนาวจะมีระดับความแตกต่างของอุณหภูมิอยู่เป็นระยะ ๆ คือ ช่วงที่มีอากาศหนาวมากจะอยู่ในราวปลายเดือนธันวาคมและต้นเดือนกุมภาพันธ์ มีระดับอุณหภูมิอยู่ในช่วง องศาเซลเซียส ส่วนอุณหภูมิในระดับธรรมดาทั่วไปประมาณ 22 องศาเซลเซียส โดยรวมแล้วหมู่บ้านโนนหอมจะมีระยะฤดูหนาวประมาณ 4 เดือนเศษ
- ฤดูร้อน จะอยู่ในระหว่างต้นเดือนมีนาคม-ต้นพฤษภาคม จะมีอากาศร้อนพอสมควร อุณหภูมิอยู่ระหว่าง 25-35 องศาเซลเซียส เฉลี่ยประมาณ 30 องศาเซลเซียส ในช่วงหน้าร้อนนี้ ระดับอุณหภูมิจะแปรปรวนและมีความแตกต่างกันมาก โดยเฉพาะช่วงปลายเดือนมีนาคมต่อต้นเมษายนของทุกปี อุณหภูมิสูงขึ้นถึง 38 องศาเซลเซียส แต่ยังดีที่หมู่บ้านโนนหอมมีสถานที่ท่องเที่ยวประจำหมู่บ้านคือแก่งตาละปัด ซึ่งเป็นแก่งหินที่ขวางลำน้ำพุง อยู่ทางด้านทิศใต้ของหมู่บ้านโนนหอม
สภาพภูมิประเทศของบ้านโนนหอม
บ้านโนนหอมมีสภาพเป็นพื้นที่ราบกว้าง อาณาบริเวณโดยรอบเป็นป่าสลับทุ่งนาบริเวณที่ตั้งหมู่บ้านจะเป็นโนนหรือเนิน ส่วนบริหารโดยรอบจะเป็นที่ลุ่มอยู่เป็นแห่ง ๆ เหมาะแก่การทำเกษตรเป็นอย่างยิ่ง โดยเฉพาะอย่างยิ่งหนองน้ำน้อยใหญ่ที่กระจายอยู่รอบ ๆ หมู่บ้านทางทิศตะวันตกเฉียงใต้ของหมู่บ้านพื้นที่ราบเอียงลงสู่ที่ลุ่มหนองฮากซึ่งอยู่ที่ท้ายหมู่บ้าน ในอดีตที่ผ่านมาหมู่บ้านโนนหอมไม่เคยมีปรากฎการณ์เรื่องของน้ำท่วมหมู่บ้าน เพราะว่ามีที่ตั้งอยู่บนที่เนินสูงพอสมควร เมื่อมีฝนตกลงมาน้ำก็ไหลลงสู่หนองน้ำสาธารณะ และหนองน้ำทั่วไปที่ราบล้อมหมู่บ้าน จากนั้นจะมีฮ่องหรือลำห้วยเล็ก ๆ ระบายน้ำจากหนองน้ำเหล่านี้ไหลลงไปสู่ลำน้ำพุงหรือลำห้วยเล็ก ๆ อีกครั้งหนึ่ง และน้ำจากลำน้ำพุงและลำห้วยต่าง ๆ ก็จะไหลลงสู่หนองหารอีกครั้งหนึ่ง ตามลำดับ
พื้นที่ทั้งหมดของบ้าน จำนวนพื้นที่ทั้งหมด 4,784 ไร่
- เป็นพื้นที่ทำนา 2,500 ไร่
- พื้นที่ทำสวนทำไร่ 340 ไร่
- พื้นที่ป่าอื่น ๆ 1,944 ไร่
เนื่องจากจำนวนประชากรที่เพิ่มมากขึ้นในแต่ละปี ทำให้มีการถากถางป่าดัดแปลงพื้นที่ทำส่วนทำไร่ ให้เป็นพื้นที่ทำนากันมากขึ้น เพื่อให้ผลผลิตของข้าวที่ได้ ในแต่ละปี มีมากพอที่จะเลี้ยงครอบครัวและขายให้พ่อค้า นำรายได้มาใช้จ่ายในครอบครัว
แหล่งน้ำสำคัญของหมู่บ้าน
1) หนองฮากใหญ่ เป็นหนองน้ำสธารณะประโยชน์ มีพื้นที่นับพันไร่ เป็นแหล่งน้ำธรรมชาติที่หล่อเลี้ยงชีวิตของชาวภูไทบ้านโนนหอมและหมู่บ้านใกล้เคียง ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เป็นหนองน้ำคู่บ้านคู่เมืองมาตั้งแต่ที่เริ่มก่อตั้งหมู่บ้านแรกเริ่ม บรรพบุรุษได้พากันเลือกตั้งหมู่บ้านใกล้กับหนองน้ำแห่งนี้เพื่อความอุดมสมบูรณ์ของน้ำและอาหารที่ใช้เลี้ยงชีวิต หนองฮากเป็นแหล่งเพาะพันธุ์ปลาน้ำจืดตามธรรมชาติ เป็นแหล่งขยายพันธุ์สัตว์น้ำจืดหลายชนิด เช่น เต่า กุ้ง ปู หอยปลาประเภทต่าง ๆ รวมทั้งนกเป็ดน้ำและนกน้ำประเภทอื่น ๆ อีกด้วยเพราะพื้นที่หนองฮากทั้งหมดนั้น ส่วนหนึ่งคือบริเวณโดยรอบจะมีน้ำล้อมรอบ ส่วนที่อยู่บริเวณตรงกลางจะเป็นแนวแวง จอก แหน กอสวะ ต้นสังวาลย์ ต้นกก ป่าบัว หญ้าน้ำพันธุ์ต่าง ๆ หลากหลายชนิดรวมทั้งพืชน้ำอื่น ๆ สภาพแวดล้อมอันเหมาะสมเหล่านี้จึงเหมาะเป็นอย่างยิ่งที่สัตว์ต่าง ๆ จะขยายพันธุ์กันเองตามธรรมชาติ พื้นที่โดยรอบหนองด้านนอกสุดเป็นที่ราบลุ่มที่ชาวบ้านใช้ทำนาปลูกข้าว ซึ่งให้ผลผลิตมากในแต่ละปี นอกจากนี้หนองฮากใหญ่ยังมีประวัติอันเก่าแก่มาแต่โบราณว่า เมื่อหลายพันปีก่อนเคยเป็นที่อยู่ของพวกขอม ต่อมาเมืองเกิดล่มแล้วกลายมาเป็นเมืองร้าง ในเวลาต่อมา
2) หนองฮากน้อย อยู่ห่างจากตัวหมู่บ้านไปทางทิศตะวันออกประมาณ 1.5 กิโลเมตรเป็นแหล่งน้ำจืดที่สำคัญของหมู่บ้านรองลงมาจากหนองฮากใหญ่ หนองฮากน้อยมีพื้นที่ไม่มากนัก แต่ก่อนพื้นที่ตื้นเขินขึ้นทุกปี เนื่องจากน้ำพัดพาเอาตะกอนต่าง ๆ ลงไปทับถม ต่อมาได้มีการขุดลองหนองใหม่อีกครั้งในปี พ.ศ. 2536 จึงทำให้มีปริมาณเก็บกักน้ำมีมากเพื่อใช้น้ำในการเกษตร และเป็นแหล่งทำมาหากินเหมือนกับหนองฮากใหญ่ พื้นที่โดยรอบเป็นทุ่งนาชาวบ้านได้ใช้น้ำที่หนองแห่งนี้เพื่อการเกษตรกรรมการปลูกพืชเลี้ยงสัตว์พื้นที่โดยรอบหนองเป็นอู่ข้าวอู่น้ำที่สำคัญอีกแห่งหนึ่งของชาวบ้านโนนหอม
3) ลำน้ำพุง ลำน้ำพุงจะไหล่ผ่านพื้นที่ของบ้านโนนหอมทางด้านทิศใต้ ห่างจากหมู่บ้านประมาณ 1.5 กิโลเมตร ต้นน้ำของลำน้ำพุงจะเกิดบนเทือกเขาภูพาน ในส่วนที่เรียกว่าเขื่อนน้ำพุงแล้วไหล่ลงมาตามซองเขา ผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ลงมาเรื่อย ๆ จนถึงเขตอำเภอเต่างอย เข้าสู่เขตตำบลโนนหอมที่บ้านท่าเยี่ยม บ้านโนนหอม โดยลำน้ำพุงจะไหล่ผ่านและเป็นเส้นกั้นแบ่งเขตแดนระหว่างบ้านโนนหอมและบ้านห้วยแคน แบ่งเขตระหว่างโนนหอมกับตำบลตองโขบชาวบ้านได้อาศัยลำน้ำพุงแห่งนี้ในการทำมาหากินอีกแห่งหนึ่ง สามารถจับปลาได้ตลอดทั้งปีโดยเฉพาะอย่างยิ่งหน้าฝนในระยะที่ปลาขึ้นชาวบ้านจะให้ความสนใจกับการจับปลาเป็นอย่างมาก นอกจากนี้ยังใช้น้ำเพื่อการเกษตรอีกด้วย โดยมีการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าจากลำน้ำพุงขึ้นมาแล้วปล่อยไปตามคลองส่งน้ำให้ชาวบ้านใช้ในการเกษตร โดยระบบการสูบน้ำด้วยพลังงานไฟฟ้าจากลำน้ำพุง ที่ตั้งของการสูบน้ำอยู่ที่แก่งตาละปัด แล้วส่งผ่านคลองส่งน้ำเพื่อการเกษตรเข้าที่ทุ่งหนองแวง ซึ่งอยู่ทางทิศใต้ของหมู่บ้าน ห่างประมาณ 1.5 กิโลเมตร ซึ่งทุ่งหนองแวงถือได้ว่าเป็นแหล่งทำการเกษตรที่สมบูรณ์ อีกแห่งหนึ่งของหมู่บ้าน เนื่องจากมีระบบคลองส่งน้ำเพื่อการชลประทานครบถ้วนกว่าที่อื่นในหมู่บ้าน เพราะระบบการเกษตรที่บ้านโนนหอมจะมีอยู่หลายแห่ง แต่ในเรื่องน้ำที่ใช้นั้นมักจะมาจากการเจาะน้ำบาดาลใต้ดินขึ้นมาใช้ เนื่องจากหลายแห่งอยู่ไกลจากแหล่งน้ำหรือหนองน้ำธรรมชาติอื่น ๆ
นอกจากแหล่งน้ำที่กล่าวมานี้แล้ว บ้านโนนหอมยังมีแหล่งน้ำขนาดเล็ก ๆ ประเภทหนองน้ำอีกมากมายกระจายรายล้อมหมู่บ้าน ซึ่งส่วนมากจะเป็นที่ลุ่มน้ำขัง สลับปนกับทุ่งนาด้วยโดยขนาดของแอ่งน้ำเหล่านี้จะแคบหรือใหญ่ต่างกัน หนองน้ำเหล่านี้ เช่น หนองซกมอง หนองตาขี้เฮ่ หนองอั้น หนองปลาดำ หนองบักยน หนองกกผึ้ง หนองแวง หนองบัวน้อย หนองบัวใหญ่ หนองตอ หนองตาเฮอ ฯลฯ หนองน้ำเหล่านี้เมื่อฝนตกลงมาจะเป็นแอ่งน้ำขังได้อย่างดีในช่วงฤดูแล้งจะต้องใช้น้ำจากการเจาะบาดาลใต้ดินแทน
โดยเฉพาะหนองฮากใหญ่ซึ่งเป็นหนองน้ำเก่าแก่ของหมู่บ้าน มีตะกอนของดินที่ถูกน้ำกัดเซาะพัดมาทับถม ทำให้หนองน้ำขนาดใหญ่แห่งนี้เกิดการตื้นเขินมากขึ้นทุกปี อีกทั้งกอสวะและหญ้าต่าง ๆ ได้แพร่พันธุ์ขยายตัวมากขึ้น จึงทำให้พื้นที่ของการเก็บกักน้ำในบางส่วนลดลงและในปลายปี พ.ศ. 2536 ได้มีการขุดลอกฮ่องหนองฮากเพื่อทำการระบายน้ำออกจากหนองทั้งนี้เพื่อที่จะนำเครื่องจักรกลหนักลงไปทำการขุดลอกให้ได้ผลโดยเริ่มทำการขุดตามริมขอบหนองทางด้านทิศเหนือค่อนไปทางตะวันตกทั้งนี้เพื่อให้มีพื้นที่เก็บน้ำมากยิ่งขึ้น
ประชากรและขนาดของพื้นที่ ประชากร ตำบลโนนหอม มีครัวเรือนทั้งสิ้นจำนวน 2,511 ครัวเรือน มีประชากรรวมจำนวน 7,032 คน ประชากรชาย จำนวน 3,475 คน ประชากรหญิง จำนวน 3,557 คน
ความสำคัญของสถาบันครอบครัว
ในอดีตสมัยที่ปู่ย่าตายายก่อตั้งหมู่บ้านใหม่ ๆ นั้น ความสามัคคีในครอบครัวจะเป็นพื้นฐานที่สำคัญที่สุดที่ชาวโนนหอมได้ประพฤติปฏิบัติต่อกันมาจนถึงปัจจุบันนั่นคือความเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันซึ่งเริ่มตั้งแต่หัวหน้าครอบครัว พ่อ แม่ ลูกหรือลูกเขย ลูกสะใภ้ หรือเครือญาติ อื่น ๆ หลายคนซึ่งอยู่ในครัวเรือนเดียวกัน ประกอบรวมกันเป็นหน่วยหนึ่งในสังคมที่มีความสำคัญยิ่ง เพราะเป็นพื้นฐานอย่างดีทำให้บ้านโนนหอมเป็นที่รู้จักของผู้คนทั่วไปตั้งแต่อดีตที่ผ่านมาได้รับการสนับสนุน และส่งเสริมจากข้าราชการของบ้านเมืองด้วยดีตลอดมาและเป็นสิ่งที่ส่งเสริมให้ชาวโนนหอมเป็นที่ยอมรับในทุกระดับทุกวงการ
การปกครองที่ดีในครอบครัวนั้นจะช่วยให้ชาวบ้านได้รับการพัฒนาต่อไปเรื่อย ๆ ไม่ว่าจะเป็นด้านการศึกษาหาความรู้ต่าง ๆ การพัฒนาด้านอาชีพการงาน การสัมพันธไมตรีกับหมู่บ้านอื่น ๆ รวมทั้งการพัฒนาในทุก ๆ ด้านทำให้เกิดการพัฒนาทางด้านเศรษฐกิจที่มีต่อหมู่บ้านโดยตรง โดยเฉพาะอาชีพที่หลากหลาย ซึ่งชาวโนนหอมมีความสามารถทำได้สารพัดงานแล้วนำรายได้เข้ามาสู่ครอบครัว นำมาพัฒนาครอบครัว หมู่บ้าน ปรับปรุงชีวิตความเป็นอยู่ให้ดีขึ้นกว่าที่เป็นอยู่
สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีบทบาทที่สำคัญยิ่งของครอบครัวที่มีต่อสังคมการอยู่รวมกัน ของกลุ่มชนเผ่าผู้ไทยแห่งนี้ ซึ่งได้รับการปลูกฝังข้อประพฤติ ปฏิบัติ จารีต ประเพณีที่ดีงามอยู่ตลอดมามีการยึดถืออย่างเคร่งครัดมาตั้งแต่ปู่ย่าตายายรวมไปถึงการถือฮีตถือครองต่าง ๆ ของชาวบ้านเป็นส่วนที่เชื่อมโยงให้ชาวโนนหอม มีวัฒนธรรมอันดียิ่งในทุก ๆ ด้าน
ลักษณะการตั้งบ้านเรือน
ลักษณะการก่อตั้งบ้านเรือนของภูไทโนนหอมนั้นก็เหมือนกับกลุ่มชาติพันธุ์อื่นที่อยู่ในลุ่มน้ำหนองหารเดียวกัน ในอดีตบ้านเรือนแต่ละหลังจะปลูกอยู่กันเป็นกลุ่ม ๆ ตามเครือญาติพี่น้องของตนเองหรือนามสกุลเดียวกัน บางจุดไม่ได้อยู่เป็นกลุ่มติดต่อระหว่างกันได้สะดวกแต่ก็อยู่ใกล้ ๆ กัน แต่ก่อนไม่มีถนน ภายในหมู่บ้านก็จะใช้วิธีเดินลัดเลาะไปตามป่า ส่วนรูปแบบการก่อสร้างบ้านเรือนจะเป็นแบบปลูกยกพื้นสูง ใต้ถุนสูงซึ่งสามารถทำเป็นคอกเลี้ยงสัตว์ต่าง ๆ ได้เช่น คอกไก่ คอกวัวควาย ฯลฯ สมัยก่อนปู่ย่าตายาย จะเลี้ยงสัตว์เหล่านี้ ไว้มากเพื่อใช้เป็นแรงงานในการไถนา ส่วนมูลสัตว์ก็นำไปใส่ในที่นาเพื่อทำเป็นปุ๋ยให้ข้าวที่ปลูกงอกงาม มีผลผลิตดี
การปลูกสร้างบ้านสมัยแต่ก่อนจะนิยมสร้างด้วยไม้ทั้งหลัง เพราะสมัยนั้นมีไม้อยู่มากมายตามป่า สามารถจะเลือกมาใช้สิ่งต่าง ๆ ได้ตามความเหมาะสม เพราะรอบ ๆ หมู่บ้านมีแต่ป่าทั้งหมด ในปัจจุบันการปลูกสร้างบ้านใช้เสาปูน และมีแบบบ้านที่แตกต่างกันไปตามฐานะทางเศรษฐกิจของแต่ละครัวเรือน
แบบแผนครอบครัว
สำหรับแบบแผนครอบครัวส่วนมากร้อยละ 46.7 เป็นแบบแผนครอบครัวเดี่ยว ซึ่งประกอบด้วยพ่อ แม่ และลูก ส่วนแบบแผนครอบครัวขยาย ซึ่งแยกได้เป็น ครอบครัวขยายซึ่งมีลูกสะใภ้และเครือญาติอื่นๆอยู่ในครอบครัว จะมีร้อยละ 29.6 และครอบครัวขยายซึ่งมีลูกเขยอยู่ในครอบครัว มีร้อยละ 23.7 ดังนั้นจะเห็นว่าตามขนบธรรมเนียมประเพณีของชาวภูไทโนนหอมเดิมมักจะมีแบบแผนครอบครัวโดยการแต่งงานเอาสะใภ้มาเลี้ยงปู่ย่า ต่อมาแบบแผนครอบครัวได้เปลี่ยนแปลง คือ เอาลูกเขยมาอยู่กับพ่อตาและแม่ยาย อย่างไรก็ดีลักษณะของแบบแผนครอบครัวเดี่ยว กล่าวคือ ได้มีการแยกครอบครัวอยู่ต่างหากมีจำนวนมากขึ้นกว่าแบบแผนครอบครัวขยาย ซึ่งเป็นกระบวนการของแบบแผนครอบครัว กล่าวคือ จากครอบครัวขยายจะเปลี่ยนไปสู่ครอบครัวเดี่ยวในที่สุด
ประเพณีการสู่ขอแต่งงาน
การแต่งงานถือว่าเป็นการเริ่มต้นที่จะมีชีวิตคู่ เริ่มสร้างเนื้อสร้างตัวใหม่เป็นการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตไปอีกรูปแบบหนึ่ง จากที่เคยอยู่ร่วมกับพ่อแม่แล้วมาแยกครอบครัวอยู่กันต่างหากการที่จะเริ่มแต่งงานได้นั้นจะมีขั้นตอน อยู่หลายอย่างตามประเพณี ดังนี้
1) การทาบทามสู่ขอ (การตุ๊)
เมื่อฝ่ายชายฝ่ายหญิงมีความรักใคร่ชอบพอกันแล้ว ญาติของผู้ใหญ่ทั้งสองก็จะมาดูว่า ผู้ที่ลูกชายลูกสาวจะแต่งงานนี้จะเป็นคนอย่างไร นิสัยใจคอ ฐานะเป็นอย่างไร ความรู้ระดับไหนและอื่น ๆ อีกหลายอย่าง แต่การสู่ขอนี้ฝ่ายชายจะเป็นผู้เริ่มดำเนินการพิธีต่าง ๆ ก่อนฝ่ายหญิง โดยฝ่ายชายจะให้ผู้เฒ่าผู้แก่ที่ตนเองให้ความเคารพนับถือไปสอบถามให้อีกครั้งหนึ่งเรียกว่า การตุ๊ ซึ่งเป็นการตกลงสอบถามเรื่องค่าดอง สินสอด หากฝ่ายหญิงไม่รักก็จะเรียกค่าดองแพง ๆ เพื่อให้ฝ่ายชายสู่ค่าดองไม่ไหวและล้มเลิกการแต่งงานไป แต่ถ้าหากฝ่ายหญิงรักฝ่ายชายก็จะเรียกค่าดองพอสมควร ตามฐานะของเจ้าบ่าว หากตกลงค่าดองกันได้ก็จะมีการนัดวันมาสู่ขอโดยดูฤกษ์ยามวันที่เป็นมงคล หาวันดีๆ
2) การหมั้นหมายฝ่ายหญิง
เมื่อถึงวันกำหนดที่จะสู่ขอแล้ว ฝ่ายชายก็จะเตรียมค่าสินสอดซึ่งมีเงินสดทองรูปพรรณ รวมทั้งผู้ใหญ่ที่มีความนับถือไปที่บ้านเจ้าสาว โดยที่ฝ่ายหญิงก็จัดเตรียมผู้ใหญ่รอรับเมื่อทั้งสองฝ่ายพร้อมหน้ากันแล้ว ก็จะให้ฝ่ายชายสวมสร้อยหรือแหวนหมั้นให้แก่ฝ่ายหญิง โดยมีผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายเป็นสักขีพยานในครั้งนี้การสู่ขอไม่นิยมค้างไว้นานหลายเดือนส่วนมากจะแต่งงานในราวเดือนสี่และเดือนหก เพราะฉะนั้นจะมีการขอไว้ล่วงหน้าเล็กน้อยไม่กี่เดือนก็จะจัดพิธีแต่งงานเลย ตลอดช่วงที่มีการหมั้นนี้หมายความว่าเป็นการจับจองหญิงคนนี้ไว้แล้ว ห้ามใครมาจีบหรือมาแต่งงานและต้องถือสัญญาของแต่ละฝ่าย หากฝ่ายชายผิดสัญญา เช่น ไปแต่งงานกับหญิงอื่น เจ้าสาวก็จะรับเอาสินสอดทองหมั้นทั้งหมด แต่ถ้าฝ่ายสาวผิดสัญญาฝ่ายชายก็จะปรับไหมเป็นจำนวนมูลค่า เท่าของมูลค่าสิ่งของที่ให้ไว้กับฝ่ายหญิง เมื่อเข้าใจกันดีแล้วผู้หลักผู้ใหญ่ก็จะดูฤกษ์ยามเพื่อนัดวันที่จะแต่งกันและจัดเตรียมงาน
3) ค่าสินสอดทองหมั้น
ในการแต่งงานแต่ละคู่นั้นค่าสินสอดจะไม่เหมือนกันส่วนมากจะขึ้นอยู่กับฐานะของฝ่ายหญิงว่าสภาพฐานะทางครอบครัว อาชีพการงานเป็นอย่างไร ถ้าเป็นบุคคลธรรมดาค่าดองจะอยู่ระหว่าง 20,000-50,000 บาท แต่ถ้าพื้นฐานต่าง ๆ ทางครอบครัวดี รับราชการด้วยการงานมั่นคงค่าดองจะเพิ่มขึ้นเป็นเท่าตัวหรืออยู่ระหว่าง 50,000-100,000 บาท หรืออาจจะมากกว่านี้เล็กน้อย นอกจากนี้ค่าสินสอดยังขึ้นอยู่กับสร้อย แหวน เงิน ทองที่จะนำมาด้วยว่ามากน้อยเท่าใด รวมไปถึงนิสัยใจคอของฝ่ายชายมีความเรียบร้อยอ่อนน้อมถ่อมตนมากเพียงใด หากเป็นคนดีมีศีลธรรมไม่มีเงินค่าดองก็จะลดผ่อนลงมาได้บ้าง
4) การแต่งงาน
ญาติของทั้งสองฝ่ายจะไปบอกกล่าวแก่ชาวบ้านถึงงานวันกินดองว่าวันที่เท่าใดหรือตรงกับวันอะไร ขึ้นกี่ค่ำเพื่อให้เป็นที่รู้กันจะได้มาร่วมงานให้ถูกต้องเมื่อใกล้ถึงวันผู้ใหญ่ของทั้งสองฝ่ายจะช่วยกันจัดทำพาขวัญซึ่งมีขันโตกเป็นฐานรับมีใบตองกล้วยเป็นส่วนประกอบที่สำคัญประดับด้วยดอกไม้ สิ่งที่จัดเตรียมคือ
ฝ่ายหญิง - สิ่งของต่าง ๆ เช่น ที่นอน หมอน มุ้ง ผ้าห่ม เสื่อ-เครื่องสมมา (ขอขมา) เช่น ผ้าขาวม้า หมอน ผ้าห่ม ผ้าถุงหรืออื่น ๆ แล้วแต่สมควรแก่ ฐานะของแต่ละฝ่าย
ฝ่ายชาย - สินสอด ทองหมั้น-เสื้อผ้าชุดแต่งตัวเจ้าบ่าว พาขวัญ
สิ่งที่ญาติทั้งสองฝ่ายจะต้องจัดเตรียมให้พร้อมก็คือ อาหารสำหรับจัดเลี้ยงแขกรวมไปถึงการต้อนรับต่าง ๆ และที่ขาดไม่ได้ก็คือ เพื่อนของเจ้าบ่าวและเจ้าสาว ในตอนเย็นก่อนวันแต่งงานจะมีงานเลี้ยงฉลองกันอย่างสนุกสนาน บางรายจะมีมหรสพแล้วแต่ฐานะของแต่ละคน มีการร่วมรับประทานอาหารร่วมกันเลี้ยงแขกที่มาช่วยงาน แม่บ้านพ่อบ้านจะทำการเตรียมอาหารเพื่อเลี้ยงแขกในตอนเช้า
ในตอนเช้าวันเข้าพาขวัญ หมอสูตรจะเริ่มตรวจดูความเรียบร้อยของงานอีกครั้งหนึ่งเพื่อไม่ให้ผิดพลาด การสู่ขวัญนั้นถ้าหากฝ่ายหญิงจะมาอยู่ที่บ้านฝ่ายชาย ก็จะต้องไปผูกแขนที่บ้านของฝ่ายหญิงก่อนแล้วแห่ขบวนเจ้าสาวมาที่บ้านฝ่ายชาย แต่ถ้าฝ่ายชายจะไปอยู่กับหญิงก็จะต้องเอาหญิงไปผูกแขนที่บ้านของฝ่ายชายแล้วแห่เจ้าบ้านกลับไปด้วย
พิธีเริ่มเมื่อบ่าวสาวมาพร้อมกันที่พาขวัญ หมอสูตรจะทำพิธีให้ศีลให้พรกับคู่บ่าวสาว ให้คำสั่งสอนหลายอย่างแล้วผูกข้อมือให้คู่บ่าวสาว เสร็จแล้วส่งคู่บ่าวสาวเข้าห้องหอ หมอสูตรหรือหมอสื่อจะเป็นผู้ที่คู่บ่าวสาวให้ความเคารพนับถือ ถ้าหากภายหลังมีการผิดกันหรือฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งเกิดการหย่าร้างกัน หรือกรณีที่ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งทำผิดฮีตครองต่าง ๆ ก็จะทำการตักเตือนกัน
เมื่อเสร็จพิธีผูกแขนแล้วก็จะร่วมรับประทานอาหาร สิ่งของที่จะมาสมมานั้นจะมอบให้ฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงในวันนี้หรือสองสามวันข้างหน้าก็ได้ แล้วแต่ความสะดวก เป็นอันเสร็จพิธีการแต่งงานการเป็นเครือญาติในการแต่งงาน
การเป็นเครือญาติในการแต่งงานนั้น พอที่จะแบ่งเป็นประเภทต่าง ๆ ได้ดังนี้
1) การแต่งงานกับคนในหมู่บ้าน การแต่งงานกับคนที่อยู่ในหมู่บ้านนั้นในปัจจุบันไม่ค่อยมีมากเท่าใดนัก ไม่เหมือนแต่ก่อนที่คู่บ่าวสาวจะอยู่ในหมู่บ้านเดียวกัน เพราะแต่ก่อนผู้คนไม่มากนักการไปมาหาสู่กันไม่ค่อยจะมีกว้างขวาง การเกี้ยวพาราสีหนุ่มสาวจะมีเฉพาะ ในหมู่บ้านเดียวกันเป็นส่วนมาก จะมีนอกบ้านนั้นเป็นส่วนน้อย หรืออย่างไกลสุดก็เป็นหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงกันเท่านั้น เมื่อเห็นว่ารักใครชอบใครก็จะให้ผู้เฒ่าผู้แก่ไปขอให้โดยไม่มีพิธีรีตองอะไรมากนัก แต่ในปัจจุบันความทันสมัยในการที่จะเดินทางไปที่นั่นที่นี้มันง่าย สะดวก แต่ก็ยังมีคู่บ่าวสาวที่ยังชอบพอกันเอง โดยไม่ต้องไปเกี้ยวพาราสีที่อื่น ทั้งนี้ เพราะไม่อยากอยู่ที่อื่นและเห็นสาวหมู่บ้านเดียวกันสวย หรือบางทีก็เป็นเพราะญาติผู้ใหญ่ของแต่ละฝ่ายมีความเห็นชอบพอเห็นสมควรที่จะต้องแต่งงานกันมีความเหมาะสมกัน ไม่ต้องไปที่หมู่บ้านอื่น คนแก่บอกว่าในสมัยก่อนผู้คนในหมู่บ้านมีน้อยและเพื่อให้การสร้างบ้านเมืองเป็นไปอย่างรวดเร็ว มีผู้คนเพิ่มขึ้นเป็นจำนวนมาก ถ้ามีใครที่โตขึ้นเป็นหนุ่มสาวก็จะแต่งงานกันเองในหมู่บ้านเพื่อจะให้มีลูกหลานเต็มบ้านเมืองแต่ถ้าหากไปแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านก็เท่ากับว่าไปสร้างงานให้กับหมู่บ้านอื่นไม่ใช่นำความเจริญมาให้กับหมู่บ้านของตัวเอง ส่วนคนที่แก่มีอายุที่ยังไม่ได้แต่งงานก็จะหาทางรีบแต่งงาน เพราะถ้าไม่เช่นนั้น ชาวบ้านมักจะล้อกันว่าขึ้นคาน
2) การแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้าน
การแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านจะมีมากขึ้นในยุคปัจจุบันและมีทุก ๆ หมู่บ้าน ทั้งนี้เพราะโลกมีความเจริญมากยิ่งขึ้น มีการไปมาหาสู่กันอย่างสะดวกสบาย มีการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมด้านต่าง ๆ จึงทำให้มีผู้คนหันมาให้ความสนใจคนนอกบ้านกันมาก แล้วเกิดความรักใคร่ชอบคอกัน เช่น หมู่บ้านโนนหอมกับคนที่อยู่ในหมู่บ้านอื่น ต่างอำเภอ ต่างจังหวัด ตามภูมิภาคต่าง ๆ ทำให้เห็นโลกที่กว้างขึ้น จนปัจจุบันนี้มีชาวโนนหอมที่มีครอบครัวอยู่ต่างประเทศก็มีนับว่าเป็นการพัฒนาชีวิตความเป็นอยู่อีกอย่างหนึ่ง เมื่อเห็นสิ่งต่าง ๆ ที่กว้างขึ้นก็จะนำเอาความรู้นั้นมาพัฒนาหมู่บ้านของตนเอง
การแต่งงานกับคนนอกหมู่บ้านเป็นที่นิยมมากในสมัยนี้ถือได้ว่าเป็นการศึกษาสิ่งแปลกใหม่ที่มีอยู่นอกหมู่บ้านของตนเองที่เคยอยู่มาตั้งแต่เล็กจนโตความสัมพันธ์ระหว่างเครือญาติ
โดยปกติแล้วชาวภูไทบ้านโนนหอม จะมีความแน่นแฟ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกันดียิ่งมีความสมัครสมานสามัคคีกัน ช่วยเหลือซึ่งกันและกันในยามที่มีความเดือดร้อน หรือได้รับความลำบากในสภาวการณ์ต่าง ๆ เช่นยามทุกข์ยาก ขาดแคลนข้าวปลาอาหารก็จะให้หยิบยืมกันได้ มีเหตุเพลิงไหม้ชาวบ้านก็จะนำข้าวสารอาหารแห้งมาบริจาคช่วยเหลือกันทั้งหมู่บ้าน แต่สำหรับความสัมพันธ์ในหมู่เครือญาตินามสกุลเดียวกันแล้ว ยิ่งแน่นแฟ้นมากยิ่งขึ้นอีกไม่เคยทอดทิ้งกันในยามที่มีความเดือดร้อน มีการงานอันใดวานกันได้ ขอแรงกันได้ ช่วยเหลือกันโดยไม่ได้หวังสิ่งตอบแทนใด ๆ ถ้าเป็นสัมพันธ์โดยสายเลือดแท้ ๆ คือ พ่อ แม่ พี่ น้อง ลูก หลาน หรือ ปู่ย่า แต่ละครอบครัวจะมีความใกล้ชิดสนิทสนมกันมากเป็นอย่างดี อาจจะมีอยู่บ้างที่ลูก ๆ ที่เกิดมามีความไม่เข้าใจกัน แต่พ่อแม่และคนเฒ่าคนแก่ก็ได้คอยตักเตือน และทำความเข้าใจกันใหม่ เพราะถึงอย่างไรเสียก็ยังเป็นพี่น้องร่วมท้องเดียวกัน อยู่บ้านเดียวกัน ยังจะมีโอกาสได้พึ่งพาอาศัยกันไม่วันใดก็วันหนึ่ง คนแก่ท่านมักจะให้ข้อคิดอย่างนี้กับพี่น้องชาวโนนหอมทุก ๆ คน
การเป็นเครือญาติโดยมิใช่สายเลือด
1) การฝากตัวเป็นลูกฮักลูกแก้ว กรณีนี้ที่บ้านโนนหอมยังมีให้เห็นกันอยู่ การฝากตัวเป็นลูกฮักลูกแก้วเกิดจากการที่สามีภรรยาคู่ใดคู่หนึ่งไม่มีลูกหรือมีแต่จำนวนน้อย และอยากจะได้ลูกเพิ่มจากที่มีอยู่ โดยอาจเกิดจากกรณีต่าง ๆ ดังนี้
- การที่ครอบครัวนั้นไปรับเอาลูกคนใดคนหนึ่งมาเลี้ยงเพราะความน่ารัก ฮักแพงหรือพ่อแม่เด็กมีความยากจน มีความเมตตาสงสารเด็ก ก็จะไปขอและรับเด็กนั้นมาเลี้ยงและเมื่อเด็กโตขึ้นเด็กอาจจะกลับไปอยู่กับพ่อแม่ผู้ให้กำเนิดก็จริง แต่ก็ยังไปมาหาสู่กับพ่อแม่บุญธรรมที่เคยเลี้ยงดูตั้งแต่เล็กซึ่งก็ถือว่าเป็นลูกฮักลูกแก้วเช่นกัน
- การที่ครอบครัวหนึ่งไม่มีลูกเลยแล้วไปติดต่อรับเอาลูกคนอื่นมาเลี้ยงจนเติบใหญ่มีความสัมพันธ์เสมือนพ่อลูก เมื่อโตขึ้นก็รับเอาเป็นบุตรบุญธรรมต่อซึ่งก็ถือว่าเป็นลูกฮักลูกแก้วเช่นเดียวกัน
- การที่ครอบครัวของพ่อแม่เด็กมีความยากจนมีลูกมาก ก็เอาบุตรไปให้ครอบครัวอื่น ๆ ช่วยเลี้ยงดู เช่น ญาติพี่น้องช่วยเลี้ยงซึ่งก็ถือว่าเป็นการฝากตัวเป็นลูกฮักลูกแก้วเช่นกัน
2) การเป็นลูกพี่ลูกน้อง การเป็นลูกพี่ลูกน้อง หมายถึง ลูกพี่ลูกน้องที่เป็นเครือข่ายสายเลือดเดียวกัน พ่อแม่พี่น้องเป็นญาติกัน มีความเคารพนับถือแน่นแฟ้นเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน มีอาหารการกินใดก็แบ่งปันกันกิน เอื้อเฟื้อเผื่อแผ่ในยามที่ทุกข์ยากขัดสนที่บ้านโนนหอมจะมีลูกพี่ลูกน้องกันอยู่หลายสกุลจนทั่วทั้งหมู่บ้านโยงใยเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน
3) การประกาศตัวเป็นเสี่ยว การเป็นเสี่ยวหรือการเป็นเพื่อนสนิทกันนั้น เป็นประเพณีอีกอย่างหนึ่งที่มีมานานแล้ว มีความคล้ายคลึงกันกับญาติพันธ์อื่น ๆ ที่มักจะผูกเสี่ยว การประกาศเป็นเสี่ยวเป็นต้นกำเนิดของการผูกเสี่ยวเหมือนที่อื่นทำกัน ซึ่งมีสาเหตุมาจากหลายกรณีเช่น
- เกิดความชอบพอในนิสัยใจคอ และความประพฤติที่ถูกใจกับคนใดคนหนึ่ง จึงได้มีการประกาศเป็นเสี่ยวกัน
- การที่บุคคลหนึ่งมาจากที่ห่างไกลต่างบ้านต่างเมือง ที่มีวัฒนธรรมแตกต่างกันและด้วยความที่อยากมีสัมพันธ์ไมตรีด้วยกับผู้นั้น จึงได้ประกาศขอเป็นเสี่ยวด้วย
- การที่มีอะไรต่าง ๆ เหมือนกันหรือคล้าย ๆ กัน เช่น เป็นนักเรียนเหมือนกันชอบสิ่งต่าง ๆ ที่คล้ายกัน
นอกจากนี้การที่จะเกิดเป็นเสี่ยวกันยังมีอีกหลายกรณี เพราะการเป็นเสี่ยวกันเป็นการปรองดองกัน ทำให้คนเป็นมิตรไมตรีต่อกัน ถึงแม้จะอยู่ใกล้หรือไกลก็ตาม ถ้าหากว่าถูกใจกันก็เป็นเสี่ยวกันได้ บางคนในสมัยก่อนพ่อแม่เป็นเสี่ยวกันแต่พอตกมาถึงรุ่นลูกก็ยังเป็นเสี่ยวกันอีกต่อหนึ่ง ทำให้เกิดความรักความซื่อสัตย์ต่อกัน มีอะไรก็แบ่งปันกัน ไปมาหาสู่นอนพักค้างคืนที่บ้านเสี่ยวได้อย่างสะดวกสบาย
4) ผลดีของการเป็นเสี่ยว ที่มีต่อหมู่บ้านผลดีของการเป็นเสี่ยวที่มีต่อกัน มีดังนี้
- เป็นการเชื่อมความสัมพันธ์ไมตรีระหว่างหมู่บ้านต่อหมู่บ้าน เกิดความแน่นแฟ้นเมื่อมีปัญหาอะไรเกิดขึ้นก็สามารถจะเคลียร์ปัญหาโดยผ่านเสี่ยวได้ สามารถช่วยผ่อนจากหนักเป็นเบาได้
- ค้าขายสินค้าต่างหมู่บ้านก็สามารถนอนพักค้างคืนที่บ้านเสี่ยวได้ ไม่มีปัญหาเพราะถือว่าหมู่บ้านนี้มีคนที่รู้จักอยู่ ให้เสี่ยวเป็นคนที่ช่วยขายหรือเอาสินค้าไปช่วยแลกปลาได้
- มีการช่วยเหลือซึ่งกันและกันทางด้านการปรึกษาหารือ การปกครอง
การแบ่งมรดก
การแบ่งมรดกให้กับพี่น้องหรือลูกหลานนั้น มักจะทำกันในช่วงที่เห็นว่าผู้ที่มีมรดกอยู่ในมือนั้นมีความเฒ่าแก่ชราแล้ว รวมไปถึงผู้ที่จะรับมรดกตกทอดนั้นมีความเป็นผู้ใหญ่พอพันนิติภาวะหรือสามารถที่จะดูแลตนเองได้ผู้ที่รับมรดกอาจจะเกี่ยวข้องกับผู้ให้โดยเป็นลูกหลาน เหลน บุตรบุญธรรม หรือผู้ที่ทำการเลี้ยงและดูแลผู้ถือมรดกเมื่อตอนแก่ มรดกที่มักจะแบ่งกันประจำเป็นส่วนมาก คือ บ้าน ที่ดิน สวน ที่ดิน และไร่นา ส่วนที่เป็นแบ่งเงินทองนั้นมีน้อยมาก เพราะพ่อแม่ปู่ย่าตายายไม่ร่ำรวยมากถึงขั้นแบ่งเป็นตัวเงินแต่จะแบ่งให้เป็นรูปแบบอย่างอื่นแล้วนำไปปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตามความคิดความสามารถของแต่ละคนแต่ละครอบครัวจะแบ่งมรดกเพียงครั้งเดียว ให้กับผู้ที่เห็นสมควรว่าจะให้มรดก เช่น ลูก หลาน ฯลฯ ถ้าเป็นที่ดินสวนไร่นาก็จะแบ่งให้มีพื้นที่เท่า ๆ กัน ผู้รับมรดกคนใดจะเอาในที่ลุ่มหรือที่ดอนผู้ใดจะเอาในที่เป็นป่าส่วนมากผู้ให้มรดกจะไม่ค่อยลำเอียงในการให้เพราะมีความฮักแพงลูกหลานทุก ๆ คน จะมอบให้ด้วยความยุติธรรม มีน้อยแบ่งไปตามน้อยมีมากแบ่งไปตามมาก แต่ในกรณีที่เป็นบ้านเรือนแล้ว ผู้ที่จะได้มักจะเป็นลูกหรือหลานที่อยู่เลี้ยงให้มรดกจนกระทั่งท่านถึงแก่กรรมโดยจะตกลงกันไว้แล้ว ถ้าหากว่าที่ดินสวนไร่นามีน้อยผู้ให้มรดกอาจจะไม่ให้ที่ดิน แต่อาจจะให้บ้านแทน และมักจะสอบถามลูกหลานก่อนเสมอว่าใครจะเอาบ้าน ใครจะเอาที่ดิน ทั้งนี้เพื่อความยุติธรรม
เมื่อแบ่งสันปันส่วนกันเรียบร้อย ผู้ให้มรดกก็จะนัดลูกหลานที่เป็นผู้รับไปทำการโอนที่ดินหรือบ้านเพื่อรับเป็นกรรมสิทธิ์ของตนเองได้เลย การทำพินัยกรรมให้กับเด็กตัวเล็ก ๆ หรือยังไม่ได้บรรลุนิติภาวะนั้นจะมีน้อยมาก ถ้าไม่มีความจำเป็นจะไม่มีการแบ่งมรดกโดยวิธีนี้
การตกลงกันไม่ได้ในเรื่องการแบ่งมรดกนั้น จะมีอยู่บ้างเป็นส่วนน้อย ส่วนมากเป็นผู้รับมรดกที่มีความโลภหรือเห็นแก่ได้
กรณีที่ผู้ถือกรรมสิทธิ์ในที่ดินหรือบ้านเจ็บป่วยล้มตายลงเสียก่อนที่จะมีการแบ่งมรดกนั้น การแบ่งมรดกจะทำโดยญาติพี่น้อง โดยผู้หลักผู้ใหญ่ กำนันผู้ใหญ่บ้านเป็นผู้รับรู้ด้วยทั้งนี้เพื่อให้เกิดความยุติธรรมทั้งผู้รับและมรดกของผู้ที่ให้ด้วย
บทบาทของพ่อแม่
ในกลุ่มของผู้ไทยนั้น บทบาทของพ่อแม่ที่มีต่อลูกนั้นมีความสำคัญยิ่ง ถือว่าเป็นครูคนแรกของทุกคนในครอบครัว พ่อแม่จะให้การอบรมสั่งสอนลูก ๆ ทุกคนให้เป็นคนดีมีศีลธรรม มีจรรยามารยาท มีความประพฤติเรียบร้อยสิ่งใดดีไม่ดีอย่างไรจะได้รับการอบรมสั่งสอนจากพ่อแม่อย่างเคร่งครัดชาวผู้ไทยโดยแท้จะมีความรักลูกหลานของตนเองเป็นอย่างมากพ่อแม่จะให้ความรักความเอ็นดูแก่ลูกทุกอย่างเปรียบเสมือนหัวแก้วหัวแหวน คอยปกป้องและตักเตือนลูก ๆ อยู่เสมอ ดูแลลูก ๆ จนกระทั่งเติบใหญ่ เมื่อไปที่โรงเรียนการแนะนำต่าง ๆ จะขึ้นอยู่กับครูประจำชั้นของนักเรียน ซึ่งมีบทบาทในการอบรมสั่งสอนเช่นกัน
พ่อแม่จะคอยบอกกล่าวและเป็นพี่เลี้ยงเป็นกำลังใจให้ลูก ในเวลาที่ทำงาน ในเวลาที่เรียนหนังสือ พ่อแม่จะส่งเสียลูก ๆเพื่อให้ได้การงานที่ดี ๆในบางครอบครัวถึงแม้ลูกจะเติบใหญ่จนมีลูกมีครอบครัวกันหมดแล้ว พ่อแม่ก็ยังติดตามดูแลพฤติกรรมของลูกอยู่ตลอด คอยควบคุมบอกกล่าวให้ลูก ๆ อยู่เสมอคอยเป็นที่
ปรึกษาให้กับทุกๆ คนในครอบครัว ในกรณีที่ลูกหลานไม่สามารถตัดสินใจในบางสิ่งบางอย่างได้ เราอาจสรุปได้ว่าชนเผ่าผู้ไทยนี้ บทบาทของพ่อแม่ในการอบรมสั่งสอนบุตรหลานมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่ง
กะเลิง, กูย, ญ้อ, ไทโย้ย, โส้ข้อมูลกลุ่ม/องค์กรชุมชน
- กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง (กทบ)
- กองทุนแก้ปัญหาความยากจน (กข.คจ.)
- กลุ่มผู้สูงอายุ
- กลุ่มทอผ้าฝ้าย (ผ้าขิต/ผ้าขาวม้า)
- กลุ่มจักสาน
- กลุ่มทอผ้าย้อมคราม
- กลุ่มตุ๊กตาภูไท
- กลุ่มทอเสื่อ
- กลุ่มเพาะเห็ด
- กลุ่มทำพานบายศรี/ขันหมากเบง
- กลุ่มเลี้ยงโคขุน
- กลุ่มเกษตรผสมผสาน
เดือน | วิถีชีวิต |
มกราคม | บุญขึ้นบ้านใหม่ |
กุมภาพันธ์ | บุญดูลาน (เข้ากรรม) |
มีนาคม | บุญวันมาฆบูชา/ บุญกองข้าว/ บุญข้าวจี่/ เลี้ยงปู่ตา |
เมษายน | บุญพระเวสสันดร/ เทศน์มหาชาติ/ สงกรานต์ |
พฤษภาคม | เลี้ยงปู่ตา |
มิถุนายน | บุญวันวิสาขบูชา |
กรกฎาคม | บุญชำระบ้าน |
สิงหาคม | บุญเข้าพรรษา/ ตักบาตรวันแม่ |
กันยายน | บุญห่อข้าวประดับดิน/ ฟังเทศน์กลางเข้าพรรษา |
ตุลาคม | บุญห่อข้าวสาก/ บุญออกพรรษา |
พฤศจิกายน | บุญกฐิน/ งานวันลอยกระทง |
ธันวาคม | ปริวาสกรรม/ ปีใหม่/ สวดมนต์ข้ามปี |
ภาษาภูไท | ภาษาราชการ |
กะตนกะโต๋ | ร่างกาย |
โห | ศีรษะ |
โหน่ยตา | ลูกตา |
หูดัง | จมูก |
หูปะ | ปาก |
เส้อ | เสื้อ |
ซ่ง | กางเกง |
สะแอว | เข็มขัด |
เฮิน | บ้าน |
ฝักตูบ่อง | หน้าต่าง |
ต่อไฟ | เตาไฟ |
อุ๊กะปู | แกงปูใส่ข้าวคั่ว |
โค่กบ | แกงกบ |
แกงเฮ็ดตาบโป๊ะ | แกงเห็ดปลวก |
กะแบะ | ถ้วยเล็ก |
อุ๊ | ตุ่มน้ำ |
กะเป้ | กะบุง |
เอ็ดโลด | ทำเลย |
แม๊นม่ะโม่ง | สอยมะม่วง |
โง | วัว |
แมงงอด | แมลงป่อง |
แมงดับแดง | หิ่งห้อย |
เอ็ดผีเลอ | ทำอะไร |
มาแต่เลอ | ไปไหนมา |
อี่ยอ | พ่อ |
หลุสาว | ลูกสาว |
ผู่บ่าว | หนุ่ม |
แม๋ฮ้าง | แม่หม้าย |
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ผู้ไท ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.