แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดาราอาง เรียนรู้วิถีชาติพันธุ์
ในอดีตชาวบ้านเล่าลือกันว่า ที่หมู่บ้านนี้จะเป็นทุ่งนา มีบ่อน้ำ รอบ ๆ จะเป็นสวน เป็นป่า เวลาหน้าร้อนกวางจะลงมากินน้ำหาอาหารกินบริเวณนี้ และก่อนหน้านั้นเคยมีกวางหลงเข้ามาในชุมชนให้เห็นกันบ่อยครั้ง จึงประชุมกันตั้งซื่อหมู่บ้านว่า "หมู่บ้านทุ่งกวางทอง"
แหล่งท่องเที่ยวทางวัฒนธรรมดาราอาง เรียนรู้วิถีชาติพันธุ์
บ้านทุ่งกวางทองเป็นชุมชนดาราอาง หรือเรียกสั้น ๆ ว่า ดา-อาง ชื่อภาษาอังกฤษ Dara-ang/Ta’ang ดาราอางเป็นชนกลุ่มน้อยชนกลุ่มหนึ่งซึ่งดาราอาง มีหลายตระกูล ส่วนใหญ่อยู่บ้าน หนองสามปู รัฐฉาน อีกส่วนหนึ่ง มีชื่อหมู่บ้านว่า บ้านจงลอ โดยประชากร และตระกูลส่วนใหญ่ของชุมชนนี้คือ ดาราอางรูหจิ่ง หรือ ดาราอางดำ
เมื่อปี พ.ศ. 2538 ดาราอางอีกกลุ่มหนึ่งคือ ดาราอางชุดดำ เริ่มอพยพเข้ามาประเทศไทย ใกล้ดอยอ่างขาง มาพักอาศัยที่บ้านนอแลไม่นานก็ได้ย้ายลงมาอาศัยอยู่กับชาวดาราอาง บ้านห้วยหมากเลี่ยมเป็นเวลา 3 ปี
ต่อมาไม่นาน เกิดความลำบากไม่มีที่ดินทำกิน ทำงานรับจ้างทั่วไปรายได้ก็ไม่พอที่จะเลี้ยงครอบครัวตนเองได้ บางครอบครัวก็เป็นครอบครัวใหญ่ และวิถีชีวิตวัฒนธรรมความเป็นอยู่ค่อนข้างแตกต่างกัน จึงได้แยกย้ายกันออกมาอยู่ตามสวนส้มต่าง ๆ บางครอบครัวมีพ่อแม่ที่อายุมาก และลูกหลานเยอะ การเดินทางลำบาก จึงยากที่จะเดินทางไปเที่ยวหาญาติพี่น้องที่อยู่ตามสวนต่าง ๆ แล้วยังเป็นภาระในการทำงาน ทำให้ไม่เป็นที่พอใจกับนายจ้าง
ต่อมามีนายจ้างผู้ใจบุญท่านหนึ่งเสนอที่ดินให้สร้างที่อยู่อาศัยชั่วคราวเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ ด้วยเหตุที่ว่ามีญาติพี่น้องที่อยากจะมาอยู่ด้วยเยอะ แล้วอีกอย่างยังห่างไกลความเจริญทำให้ลูกหลานลำบากในการเดินทางไปเรียนหนังสือ
ชาวบ้านจึงชวนกันไปหาซื้อเช่าที่ดิน ที่พอที่จะสร้างบ้านอยู่รวมกันเป็นจำนวนมากได้ พอได้ที่ดิน ที่ติดอยู่กับบริวารบ้านศรีดอนแก้ว หมู่ 8 ต.แม่สาว อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ซึ่งเป็นทุ่งนา ชาวบ้านจึงขอนายจ้างย้ายออกมาสร้างบ้าน ที่ดินแห่งนี้มาจากเงินชาวบ้านรวมกันเช่า อยู่ต่อมามีญาติพี่น้องชาวดาราอางดำเริ่มเข้ามาเรื่อย ๆ มีผู้ใหญ่บ้านศรีดอนแก้วจึงได้แนะนำที่ดินใกล้เคียงให้ชาวบ้าน ชาวบ้านและผู้ใหญ่บ้านศรีดอนแก้ว รวมตัวกันไปปรึกษาคณะกรรมการหมู่บ้านที่อยู่บริเวณใกล้เคียงขอซื้อที่ดินอยู่
คณะกรรมการมีความเห็นด้วยที่จะซื้อที่ดินเพื่อจะสร้างหมู่บ้าน ชาวบ้านดาราอางได้นัดประชุมพูดคุยปรึกษาหารือเพื่อที่จะตกลงรวมเงินกันซื้อที่ดิน พื้นที่ 8 ไร่ 2 งาน 88 ตารางวา
ในปี พ.ศ. 2553 ชาวบ้านได้แบ่งที่ดินเท่า ๆ กัน และได้ช่วยกันสร้างบ้านเป็นจำนวนหลายหลังคาเรือนเพื่อเป็นที่อยู่อาศัย จากนั้น เริ่มตั้งชื่อหมู่บ้านว่า หมู่บ้านทุ่งกวางทอง
ชาวดาราอางบ้านทุ่งกวางทองเลือกตั้งถิ่นฐานในเขตพื้นที่ราบกว้างขวางที่มีลำคลองอยู่ในบริเวณใกล้เคียง สร้างบ้านติด ๆ กัน มีรั้วและกำแพงกั้นเป็นบางครอบครัว ในพื้นที่ดังกล่าวจะมีสภาพดินฟ้าอากาศเหมาะสมแก่การดำรงชีวิต
นอกจากนั้นยังสะดวกในการหาอาหารจำพวกพืชผัก แต่ละครัวเรือนก็จะแบ่งปันพืชผลต่าง ๆ เพราะบ้านอยู่ใกล้กัน บ้านจะเป็นไม้ไผ่บ้าง ปูนซีเมนต์บ้าง และชุมชนตั้งอยู่ไม่ห่างไกลจากตัวเมือง สะดวกในการเดินทางการออกไปทำงานไปเรียนและยังไม่ต้องเสี่ยงหรือระวังภัยอันตรายจากสัตว์ป่าที่ดุร้าย
สาธารณูปโภค ประกอบด้วย ไฟฟ้า น้ำประปา รถจักรยานยนต์ รถยนต์ รถรับส่งนักเรียน วิทยุ ทีวี เครื่องกระจายเสียงของชุมชน เครื่องใช้ไฟฟ้าต่าง ๆ ห้องเก็บของชุมชน ถังขยะ รถเก็บขยะ รถดูดส้วม สัญญาณอินเตอร์เน็ต
การถือครองที่ดิน
ในอดีตที่ดินที่อยู่อาศัยจำเป็นที่จะต้องเช่าอยู่ โดยการเช่ารายปีเพื่อปลูกสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยและสะดวกต่อการไปทำงานเพราะใกล้ต่อสถานที่จ้างงานต่าง ๆ และสมัยนั้นค่าเช่าไม่ค่อยแพง และด้วยญาติพี่น้องอยู่กันหลายคนจึงสะดวกต่อการไปเยี่ยมในช่วงเทศกาลและประเพณีต่าง ๆ
ในปี พ.ศ. 2553 ได้เริ่มทยอยซื้อที่ดินกันเพื่อเก็บไว้ให้รุ่นหลังได้อยู่อาศัยแบบยั่งยืน จนถึงปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่กว้างประชากรที่หลากหลาย มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ สิทธิในการครอบครองที่ดินก็ยังขัดแย้งกับสถานะพลเมืองบางส่วน เนื่องด้วยต้องขอญาติในการเป็นผู้ครอบครองแทนเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย ไม่มีสัญชาติไทยจึงต้องให้ญาติเป็นผู้ใช้สิทธิครอบครองแทน
บ้านทุ่งกวางทองมี จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริง ทั้งหมด 337 คน แบ่งเป็น เพศชาย 170 คน เพศหญิง 167 คน และครัวเรือนทั้งหมด 73 ครัวเรือน
- ผู้ใหญ่วัยทำงาน 140 คน
- ผู้สูงอายุ 55 คน
- เยาวชน 61 คน
- เด็ก 81 คน
ประชากรในชุมชนล้วนจะเป็นดาราอางเหมือนกันหมดทุกหลังคา แตกต่างกันแค่สำเนียงน้ำหนักการพูด เพราะต่างเข้ามาอาศัยในชุมชนมาจากหลายพื้นที่เข้ามาอาศัยในชุมชน
ดาราอางองค์กรทางเศรฐกิจในชุมชน
ส่วนใหญ่เป็นการเปิดร้านค้าขายของชำต่าง ๆ มีทั้งอาหารผัก ก๋วยเตี๋ยว เครื่องดื่ม ชุดชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเป็นทุนของชาวบ้านของครัวเรือนนั้น ๆ ที่มีงบประมาณในการจัดตั้งร้านสะดวกซื้อให้กับประชากรในชุมชน
ปฏิทินชุมชน แสดงกิจกรรมทางเศรษฐกิจ และกิจกรรมทางวัฒนธรรม ดังนี้
เดือน | กิจกรรมทางเกษตร | กิจกรรมทางวัฒนธรรม |
มกราคม | ถอนหอมขาว, คัดถั่วเหลือง, แต่งกิ่งส้ม, เก็บส้ม | - |
กุมภาพันธ์ | แต่งกิ่งส้ม, เก็บมันอะลู | - |
มีนาคม | แต่งกิ่งส้ม, เก็บมันอะลู | - |
เมษายน | เตรียมพื้นที่ปลูกข้าวโพด | รดน้ำดำหัว |
พฤษภาคม | พ่นยาใส่ปุ๋ย, ปลูกข้าวโพด, รับจ้างโรงงาน | - |
มิถุนายน | ปลูกข้าว, ปลูกผักสวนครัว, พ่นยาใส่ปุ๋ย, ปลูกข้าวโพด | - |
กรกฎาคม | เก็บมะม่วง, ปลูกแตงโม, รับจ้างโรงงานเป็นเวลา 6 เดือน | - |
สิงหาคม | เก็บลำไย | - |
กันยายน | การทำงาน, เก็บแตงโม, ปลูกถั่วแดง, เตรียมพื้นที่เก็บข้าวโพด | - |
ตุลาคม | รับจ้างโรงงาน | สลากภัตร |
พฤศจิกายน | เกี่ยวข้าว, เก็บถั่วแดง, แต่งกิ่งส้ม, เก็บส้ม | ทอดกฐิน |
ธันวาคม | ตีถั่วแดง, เกี่ยวถั่วแดง, ตีข้าว, คัดถั่วเหลือง, แต่งกิ่งส้ม, เก็บส้ม | บลอยซานัมกะมาย |
1.ปู่จ๋าน (ดาฉาน) หรือ นายเล็ก รูใหญ่ มีความรู้และประสบการณ์ในการประกอบพิธีในชุมชน และเป็นคนนำพิธีต่าง ๆ ของชุมชน
ทุนเศรษฐกิจ
ปัจจุบันบางครัวเรือนเปลี่ยนตัวเองเปิดร้านค้า ทำไร่สวนของตัวเอง ปัจจุบันมีการวางจำหน่ายอาหารที่แปรรูปซึ่งเป็นอาหารที่อยู่กับชาวดาราอางมานาน เรียกอาหารนั้นว่า ดอเอิ้ม ซุมท่าง ซึ่งเป็นอาหารที่ใช้รับประทานและเป็นอาหารที่ไว้รับแขกและได้จัดวางจำหน่ายผ่านคนรอบ ๆ ชุมชนและแขกที่มาเยี่ยมเยือนชุมชน
จากอดีตทำไร่ ปลูกข้าว ปลูกผักสวนครัว รับจ้างทั่วไป บางครัวเรือนก็พัฒนาทำไร่สวนเป็นของตัวเอง มีร้านสะดวกซื้อในชุมชน มีการนำผักและอาหารเข้ามาจำหน่ายในชุมชนโดยที่คนในชุมชนไม่ต้องเสียเวลาเดินทางไปซื้อนอกชุมชน
คนในชุมชนยังขาดสิทธิและสถานะบุคคลเป็นจำนวนมากโดยเพาะกลุ่มวัยทำงานที่ต้องหาเลี้ยงครอบครัว ยังไม่มีหน่วยงานเข้าช่วยเหลือ
ทุกหลังคาเรือนมีการปลูกพืชผักสวนครัว เพื่อลดค่าใช้จ่ายในครัวเรือน บ้างก็ทำสวนเพื่อปลูกและขายให้คนในชุมชนเดียวกัน มีบ่อน้ำและน้ำประปาที่เข้าถึงทุกครัวเรือน
ชาวบ้านที่นี่ต่างใช้ชีวิตแบบดั้งเดิมและค่อนข้างปรับตัวเข้ากับยุคสมัยปัจจุบันช้า เพราะอดีตไม่ค่อยได้รับการศึกษา ใช้ชีวิตอยู่กับประสบการณ์และคำสอนต่อ ๆ กันมา แต่ปัจจุบันเด็ก ๆ เริ่มมีโอกาสเข้ารับการศึกษาที่สามารถพัฒนาเด็กให้มีศักยภาพที่ดีขึ้น บางครัวเรือนมีกำลังส่งเรียนจบในระดับที่สูง ๆ บางครัวเรือนก็ส่งเรียนตามกำลังเงินที่พอไหว
พื้นที่ใกล้ชุมชนต่างก็มีพืชผักที่คนในชุมชนหามาปลูกไว้เพื่อสะดวกต่อการบริโภค มีแหล่งน้ำที่อำนวยต่อการนำไปใช้รดผักด้วย ใช้ล้างภาชนะต่าง ๆ ได้ การเดินทางก็ค่อนข้างสะดวก
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอาง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.