ชุมชนชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งค้าขายสินค้าเสื้อผ้ามือสองและสินค้าอื่น ๆ จากกัมพูชา
ชุมชนชายแดนระหว่างไทยและกัมพูชาที่มีความสำคัญทางเศรษฐกิจ เนื่องจากเป็นแหล่งค้าขายสินค้าเสื้อผ้ามือสองและสินค้าอื่น ๆ จากกัมพูชา
ชุมชนชายแดนบ้านคลองลึกมีความเกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์การเสียดินแดนมณฑลบูรพา ซึ่งอำเภออรัญประเทศเดิมเป็นอำเภอที่ไม่ติดชายแดน เนื่องจากลาวและเขมรเป็นประเทศราชของสยาม จนกระทั่งหลังวิกฤตการณ์ ร.ศ. 112 ได้ทำให้สยามเสียดินแดนเขตประเทศราชให้กับฝรั่งเศสหลายครั้ง ซึ่งรวมถึงมณฑลบูรพา ประกอบด้วย เมืองเสียมราฐ พระตะบอง และศรีโสภณ ทำให้อรัญประเทศกลายเป็นเมืองชายแดนโดยปริยาย
ต่อมาในช่วงหลังการเปลี่ยนแปลงการปกครองในปี พ.ศ. 2475 รัฐบาลได้มีการเจรจาขอคืนดินแดนบางส่วนกลับคืนมาแต่ไม่สำเร็จ ทำให้ไทยและฝรั่งเศสมีปัญหากันตามแนวชายแดนตลอดมา กระทั่งในปี พ.ศ. 2483 ฝรั่งเศสได้เริ่มเปิดสงครามอินโดจีน โดยมีการส่งเครื่องบินมาทิ้งระเบิดที่เมืองนครพนม ทางการไทยจึงได้ต่อสู้เพื่อปกป้องดินแดน และในปี พ.ศ. 2484 ญี่ปุ่นซึ่งมีอิทธิพลในเวลานั้น ได้เข้ามาเป็นคนกลางไกล่เกลี่ยและลงนามสันติภาพขึ้น ส่งผลให้ไทยได้มณฑลบูรพาและดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขงกลับคืนมา รัฐบาลได้มีการสร้างอนุสาวรีย์ชัยที่บ้านคลองลึก อรัญประเทศ และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิที่กรุงเทพฯ เพื่อเป็นอนุสรณ์แห่งชัยชนะ และในปี พ.ศ. 2489 ไทยได้เข้าร่วมสงครามโลกครั้งที่ 2 กับญี่ปุ่น แล้วเมื่อสงครามสิ้นสุดลง ฝรั่งเศสในฐานะชาติพันธมิตรที่ชนะสงครามได้เรียกร้องดินแดนฝั่งขวาแม่น้ำโขงและมณฑลบูรพาคืน จึงทำให้อรัญประเทศกลับมาเป็นเมืองชายแดนอีกครั้ง
ลักษณะภูมิประเทศ
ภูมิประเทศของเทศบาลเมืองอรัญญประเทศมีลักษณะเป็นที่ราบลุ่ม และเป็นที่ราบคล้ายแอ่งกระทะสูงกว่าระดับน้ำทะเลประมาณ 47 เมตร ตั้งอยู่ทางภาคตะวันออก มีพื้นที่การปกครอง 5 ตารางกิโลเมตร เป็นพื้นที่สำหรับที่อยู่อาศัยประมาณ 60% เป็นพื้นที่สำหรับการเกษตร 35% และมีพื้นที่ส่วนอื่น 4% มี 3 ฤดูกาล (ฤดูร้อน, ฤดูฝน, ฤดูหนาว)
ลักษณะภูมิอากาศ
ลักษณะอากาศมีลักษณะร้อนชื่น อากาศเปลี่ยนแปลงไปตามฤดู ซึ่งมี 3 ฤดู ดังนี้
- ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนกุมภาพันธ์ไปจนถึงกลางเดือนพฤษภาคม อากาศร้อนและแห้งแร้ง แต่บางครั้งอาจมีอากาศเย็น บางครั้งเกิดพายุฝนฟ้าคะนองและลมกระโชกแรงหรืออาจมีลูกเห็บตกก่อให้เกิดความเสียหายแก่ประชาชนทุกปี เรียกว่า "พายุฤดูร้อน" อากาศร้อน จะมีอุณหภูมิระหว่าง 35-41.40 องศาเซลเซียส ร้อนจัด มีอุณหภูมิประมาณ 41.40 องศาเซลเซียสขึ้นไป (ข้อมูลเมื่อปี 2558)
- ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่กลางเดือนพฤษภาคม ฝนตกมากในช่วงเดือนพฤษภาคม-ตุลาคม แต่อาจเกิด "ช่วงฝนทิ้ง" ซึ่งอาจนานประมาณ 1-2 สัปดาห์ หรือบางปีอาจเกิดขึ้นรุนแรงและมีฝนน้อยนานนับเดือน ในเดือนกรกฎาคม แต่ในเขตเทศบาลไม่เคยเกิดอุทกภัยรุนแรง ปริมาณน้ำฝนรวมตลอดปี 982.40 มิลลิเมตร จำนวนวันที่ฝนตกตลอดปี 101 วัน และปริมาณฝนสูงสุด 45.70 มิลลิเมตร (ข้อมูลเมื่อปี 2558)
- ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่กลางเดือนตุลาคมถึงกลางเดือนกุมภาพันธ์ ในช่วงกลางเดือนตุลาคมนานราว 1-2 สัปดาห์ เป็นช่วงเปลี่ยนฤดูจากฤดูฝนเป็นฤดูหนาว อากาศแปรปรวนไม่แน่นอน อาจเริ่มมีอากาศเย็นหรืออาจยังมีฝนฟ้าคะนอง อากาศหนาวอุณภูมิต่ำสุดประมาณ 16 องศาเซลเซียล (ข้อมูลเมื่อปี 2558)
ลักษณะของดิน
ลักษณะดินโดยทั่วไปเป็นดินกรวดปนทราย พื้นดินค่อนข้างแห้งแล้ง ดินทรายประมาณ 75% ดินลูกรังประมาณ 15% ลักษณะดินในพื้นที่เป็นดินเหนียวประมาณ 10%
ลักษณะของแหล่งน้ำ
มีแหล่งน้ำที่ใช้สำหรับ อุปโภค-บริโภค จำนวน 6 แห่ง แหล่งน้ำทั้ง 6 แห่ง เคยเป็นแหล่งน้ำที่เกิดขึ้นตามธรรมชาติและเทศบาลได้ดำเนินการปรับปรุงก่อสร้างขึ้นใหม่เพื่อให้เพียงพอกับการอุปโภคและบริโภคของประชาชน ดังนี้
- แหล่งน้ำบริเวณสวนกาญจนาภิเษก
- สระน้ำบริเวณบ่อหลาบริเวณ กม.3
- สระน้ำบริเวณชุมชนมิตรสัมพันธ์
- สระน้ำบริเวณซอยชาตะสิงห์
- สระน้ำบริเวณหน้าตลาดสด
- ลำห้วยพรมโหด
ลักษณะของไม้และป่าไม้
ในเขตเทศบาลเมืองอรัญญประเทศ ไม่มีป่าไม้ แต่มีต้นไม้ที่ชาวบ้านปลูกลักษณะของไม้เป็นไม้ยืนต้น ผลัดใบ ไม้ดอกไม้ประดับ (เพื่อการค้า)
ประชากรในเมืองอรัญญประเทศมีหลายเชื้อชาติอาศัยปะปนกันอยู่ ซึ่งมีทั้งคนพื้นดั้งเดิมที่มีเชื้อสายชาวลาวจากท่าอุเทนที่เดินทางเข้ามาอยู่ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 3 ซึ่งเจ้าพระยาบดินทรเดชา (สิงห์ สิงหเสนี) ได้ยกกองทัพไปปราบกบฏที่เวียงจันทน์ แล้วกวาดต้อนผู้คนที่แขวงท่าอุเทนกลับมาตั้งถิ่นฐานอยู่ที่บ้านดงอรัญ ริมลำน้ำคลองลึก อันเป็นเชื้อสายบรรพบุรุษชาวอรัญสมัยแรก ๆ นอกจากนี้ยังมีชาวไทยเชื้อสายญวนในดินแดนบูรพาที่เลือกมาอยู่เมืองอรัญประเทศ ตอนที่ไทยต้องคืนดินแดนบูรพาให้กับฝรั่งเศส อรัญประเทศยังมีชาวไทยเชื้อสายจีนที่อพยพเข้ามาทำการค้าและชาวไทยจากจังหวัดต่าง ๆ ที่เข้ามาปฏิบัติงานอยู่ในอรัญประเทศ
จากนโยบายแปรสนามรบเป็นสนามการค้าของ พล.อ.ชาติชาย ชุณหวัณ อดีตนายกรัฐมนตรีที่มีต่อกลุ่มประเทศย่านอินโดจีน ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงด้านการค้าชายแดนด้านนี้อีกครั้งหนึ่งในทางที่ดีขึ้น จนก่อให้เกิดการเปิดจุดผ่านแดนชั่วคราวขึ้นที่บ้านคลองลึกติดกับอำเภอปอยเปตของกัมพูชา เมื่อเดือนมิถุนายน 2534 ส่งผลให้การค้าชายแดนเป็นไปอย่างคึกคัก มีปริมาณเงินหมุนเวียนทั้งในและนอกระบบวันละนับสิบล้านบาท
การลงทุนต่าง ๆ เพื่อรองรับสันติภาพของกัมพูชาจึงเกิดขึ้นมากมายในเขตอำเภออรัญประเทศ โดยเฉพาะโครงการที่เกี่ยวกับที่พักอาศัยทั้งโรงแรมและบ้านจัดสรร อาทิ โรงแรม อินน์ ปอนด์ ซึ่งเป็นโรงแรมขนาด 200 ห้อง โรงแรมอินเตอร์ ทำการต่อเติมห้องพักขึ้นอีกเท่าตัว และโครงการโรงแรมขนาดที่ใหญ่ที่สุดอีกโครงการหนึ่ง คือ โรงแรมของโครงการ ศูนย์การค้าอรัญประเทศของกลุ่ม ส.เทียนทอง ก่อสร้างเป็นอาคารสูง 14 ชั้น มีจำนวนห้องพัก 240 ห้อง นอกจากนี้ภายในโครงการยังมีห้างสรรพสินค้าขนาด 10,000 ตารางเมตร อาคารพาณิชย์ 450 คูหา มูลค่าการลงทุนของโครงการนี้กว่า 1,000 ล้านบาท
ยาเสพติด
ปัญหายาเสพติดในชุมชนของเทศบาล จากข้อมูลของสถานีตำรวจภูธรอรัญประเทศในปี 2558 พบว่ามีการจับกุมผู้กระทำความผิดด้านยาเสพติดได้รับแจ้ง จำนวน 263 ครั้ง ผลการจับกุมได้ 291 ราย คิดเป็นร้อยละ 100 ซึ่งถือว่าเทศบาลเมืองอรัญญประเทศมีชุมชนที่เสี่ยงต่อการติดยาเสพติดให้โทษสูงเนื่องจากการขนถ่ายสินค้าที่สามารถนำเข้าได้ง่ายจากประเทศเพื่อนบ้าน แต่ยังไม่พบผู้ค้ารายใหญ่ เป็นเพียงผู้ค้ารายย่อยและผู้เสพ ส่งผลให้เทศบาลเมืองอรัญญประเทศจึงต้องเฝ้าระวังโดยให้ในแต่ละชุมชนมีหน่วยที่เฝ้าระวังและแจ้งเบาะแสให้กับเทศบาลหรือที่สถานีตำรวจภูธรในพื้นที่โดยตรง
สาธารณสุข
จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐานพบว่า ประชาชนกรส่วนมากมีสุขภาพที่ดี มีการคัดกรองสุขภาพให้กับประชาชนกลุ่มเสี่ยง โรคที่มักเกิดแก่ประชากรในชุมชนเช่นกัน ได้แก่ โรคความดัน เบาหวาน โรคเอดส์ โรคไข้เลือดออก มือ-ปาก-เท้าในเด็ก และโรคอื่น ๆ อีกมาก มีสถิติเข้ารับการรักษาพยาบาล ปัญหาคือประชาชนบางรายไม่ยอมไปคัดกรองหรือตรวจสุขภาพประจำปี การแก้ไขปัญหา คือ เทศบาลและหน่วยงานสาธารณสุข โรงพยาบาล ได้จัดกิจกรรมร่วมมือกันรณรงค์ให้ชุมชนเห็นความสำคัญในเรื่องนี้ซึ่งก็ได้ผลในระดับหนึ่ง ประชาชนให้ความร่วมมือเป็นอย่างดี แต่ต้องเป็นการดำเนินการอย่างต่อเนื่องเป็นประจำทุกปี จากการสำรวจข้อมูลพื้นฐาน บางครัวเรือนไม่ได้กินอาหารที่ถูกสุขลักษณะ การใช้ยาเพื่อบำบัดอาการเจ็บป่วยที่ไม่เหมาะสม การออกกำลังกายยังไม่สม่ำเสมอ และประชากรส่วนมากไม่ได้รับการตรวจสุขภาพ ปัญหาเหล่านี้เทศบาลพยายามอย่างยิ่งที่จะแก้ไข โดยร่วมมือกับโรงพยาบาล สาธารณสุข จัดกิจกรรมเพื่อแก้ไขปัญหา
โรงพยาบาลในเขตพื้นที่ เป็นของรัฐบาล จำนวน 4 แห่ง ได้แก่
- โรงพยาบาลอรัญประเทศ จำนวน 150 เตียง
- โรงพยาบาลค่ายสุรสิงหนาท จำนวน 60 เตียง
- สถานีกาชาด จำนวน 44 เตียง
- ศูนย์บริการสาธารณสุข จำนวน 1 แห่ง
- คลินิกเอกชน จำนวน 16 แห่ง
วาริน สุขเสมอ. (2537). การศึกษาเพื่อวางแผนพัฒนาเทศบาลตำบลอรัญญประเทศ จังหวัดสระแก้ว : กรณีศึกษาผลกระทบของชุมชนการค้าชายแดนไทย-กัมพูชา. วิทยานิพนธ์ปริญญาการวางแผนและเมืองมหาบัณฑิต จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
เทศบาลเมืองอรัญญประเทศ. (2567). ข้อมูลทั่วไปและประวัติความเป็นมา. (ออนไลน์). สืบค้นเมื่อ 17 กรกฎาคม 2567 เข้าถึงได้จาก https://arancity.go.th/