แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม ผลไม้ตามฤดูกาล ชา บัวหิมะ ผ้าทอ และชุดแต่งกายชาวดาราอาง
คำว่า "นอ" แปลว่า พื้นที่บ้าน "แล" แปลว่า เที่ยวชม รวมกันเป็น "นอแล" บ้านแห่งการท่องเที่ยว
แหล่งท่องเที่ยววัฒนธรรม ผลไม้ตามฤดูกาล ชา บัวหิมะ ผ้าทอ และชุดแต่งกายชาวดาราอาง
ดาราอางเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ ที่อาศัยอยู่ในเมียนมา ติดกับจีน และได้มีรัฐเป็นของตัวเองเมื่อนานมาแล้วแต่ล่มสลายเนื่องจากสงครามที่คุกคามถึงชานเมือง และแพ้จากสงครามระหว่าง ดาราอาง-เมียนมา-ว้า-ไทยใหญ่ ในครั้งเคยสู่รบกันเนือง ๆ
ชาวดาราอางได้หนีจากสงครามที่ร้อนแรง เข้ามาอาศัยในประเทศไทย เมื่อปี พ.ศ. 2515 ได้อพยพมาทาง โปงปาแคม ชายแดนไทย-เมียนมา
ปี พ.ศ. 2515 เป็นครั้งแรกที่ดาราอางเข้ามาในประเทศไทย แต่ก็มีการกล่าวว่าก่อนที่จะอพยพเข้าม ในประเทศไทยก็มีชาวดาราอางเข้า - ออกเส้นทางธรรมชาติ ทางอรุโณทัย และ ทางดอยอ่างขาง
โดย นายนาโม หมั่นเฮิง ได้พาชาวดาราอางเข้ามาในประเทศไทยราว 20 ครอบครัว ได้อาศัยในพื้นที่ หมู่ 14 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ และอาศัยการปลูกฝิ่นในการทำการค้ากับพ่อค้าข้ามแดนระหว่างประเทศไทย-เมียนมาในการค้าขายผิดกฎหมาย และแลกข้าวปลาอาหาร กับชาวลาหู่ และไทยใหญ่ที่มาอาศัยอยู่ก่อน
เมื่อปี พ.ศ. 2516 ก็มีทหารที่เข้าประจำการขับไล่ชาวดาราอางให้กลับประเทศเมียนมา นายนาโม หมั่นเฮิง ก็กำลังจะพาชาวบ้านกลับเพราะกลัว ทหารจับ และทำร้าย ประชาชนดาราอาง แต่มีผู้นำไทใหญ่ ที่อยู่บ้านคุ้ม หมู่ที่ 5 ต.แม่งอล อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ บอกว่าไม่ต้องเดินทางกลับ เร็ว ๆ นี้พ่ออยู่หัว (รัชกาลที่ 9) จะเสด็จมาเยี่ยมชาวเขา
นายนาโม หมั่นเฮิง ก็ไม่ค่อยเข้าใจทั้งหมดแต่ก็หวังจะได้อาศัยในประเทศไทยต่อไป จึงตัดสินใจ อยู่ต่อไปเพื่อรอพ่ออยู่หัวเสด็จมา และในปี พ.ศ. 2527 นายนาโม หมั่นเฮิง จึงได้เข้าเฝ้า ในหลวง ร.9 เพื่อขออาศัยอยู่ใต้พระบรมโพธิสมภาร และได้กราบทูลขออาศัยอยู่ในพื้นแผ่นดินไทยตั้งแต่ปีนั้นเป็นต้นมา
ดาราอาง ขยายมาจาก "ดาอาง" เป็น "ดาราอาง" "ดา" แปลว่าบรรพบุรุษ "รา" แปลว่า กิ่งก้านสาขา การกระจายตัวออกจากพื้นที่ดั่งเดิม "อาง" แปลว่า ที่สูง ที่เหน็บหนาว และแปลได้อีกความหมายหนึ่ง คือ อาง ที่แปลว่า ไสยศาสตร์
โดยดาราอางในประเทศไทยเป็น รา ของคำว่า ดาอาง เพราะย้ายถิ่นที่อยู่ จากแผ่นดินใหญ่ มาอาศัยตามเขาต่าง ๆ ของประเทศไทย เมียนมา จีน และอื่น ๆ โดยสังเกตจากการแต่งตัวที่เป็นเอกลักษณ์ของ ดาราอาง ในการแยกกลุ่มชาติพันธุ์ และชนเผ่า การแต่งกาย จะออกคล้ายคลึงกันบ้างกับหลาย ๆ กลุ่มชาติพันธุ์
ชนเผ่าดาราอางในประเทศไทยได้จดทะเบียนข้อมูลราษฎรครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2527 เป็นต้นมา และบ้านขอบด้ง (นอแล) เป็นหมู่บ้านแรกที่เข้ามาอาศัยในพื้นแผ่นดินไทยตั้งแต่ปี พ.ศ. 2515 เป็นต้นมา และได้กระจายตัวกันออกไปอาศัยและรับจ้างในเขตของเชียงใหม่ ในบริเวณ ฝาง แม่อาย ไชยปราการ เชียงดาว
ต่อมา ชุมชนดาราอางก็ได้ตั้งขึ้นอีกหลาย ๆ ชุมชนเนื่องจากประชากรที่เพิ่มขึ้นตามกาลเวลา และพื้นที่ทำกินที่จำกัด ทำให้มีการกระจายตัวไปตั้งชุมชนใหม่
บ้านนอแล เป็นชุมชนที่ตั้งบนพื้นที่สูงจากระดับน้ำทะเล 1,928 เมตร ที่ดอยอ่างขาง หมู่ 14 ต.ม่อนปิ่น อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ บ้านจะนิยมสร้างเป็นทรงเดียวกัน ตามโครงการอ่างขางโมเดล
สาธารณูปโภค ชุมชนบ้านนอแล เป็นชุมชนที่มีไฟฟ้าเข้าถึงและมีน้ำบาดาลในการอุปโภคบริโภคในการใช้ชีวิตประจำวัน และเข้าถึงอาหาร ยารักษาโรค และสัญญาณโทรศัพท์ รวมถึงการคมนาคมในการเข้าถึงในตัวเมือง
การถือครองที่ดิน
ในอดีต ที่ดินที่อยู่อาศัยจำเป็นที่จะต้องเช่าอยู่ โดยการเช่ารายปีเพื่อปลูกสร้างบ้านเพื่ออยู่อาศัยและสะดวกต่อการไปทำงานเพราะใกล้ต่อสถานที่จ้างงานต่าง ๆ และสมัยนั้นก็ค่าเช่าไม่ค่อยแพงและด้วยญาติพี่น้องอยู่กันหลายคนจึงสะดวกต่อการไปเยี่ยมในช่วงเทศกาลและประเพณีต่าง ๆ ในปี พ.ศ. 2553 ได้เริ่มทยอยซื้อที่ดินกันเพื่อเก็บไว้ให้รุ่นหลังได้อยู่อาศัยแบบยั่งยืน จนถึงปัจจุบันกลายเป็นชุมชนที่กว้าง ประชากรที่หลากหลาย มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุ สิทธิในการครอบครองที่ดินก็ยังขัดแย้งกับสถานะพลเมืองบางส่วน เนื่องด้วยต้องขอญาติในการเป็นผู้ครอบครองแทนเพราะชาวบ้านส่วนใหญ่ไม่ใช่คนไทย ไม่มีสัญชาติไทยจึงต้องให้ญาติเป็นผู้ใช้สิทธิครอบครองแทน
จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 263 ครัวเรือน จำนวนประชากรที่อาศัยอยู่จริงทั้งหมด 1,418 คน แบ่งเป็น เพศชาย 725 คน และเพศหญิง 693 คน
- ผู้ใหญ่วัยทำงาน 650 คน
- ผู้สูงอายุ 385 คน
- เยาวชน 235 คน
- เด็ก 147 คน
ประชากรในชุมชนส่วนใหญ่เป็นดาราอาง มีครอบครัวชาวจีน 2 ครอบครัว และพี่น้องไทยใหญ่ 1 ครอบครัว โดยมีประชาการ จีน 7 คน ไทยใหญ่ 5 คน
จีน, ดาราอาง, ไทใหญ่องค์กรทางเศรษฐกิจในชุมชน
ส่วนใหญ่จะเป็นการเปิดร้านค้าขายของชำต่าง ๆ มีทั้งอาหาร ผัก เครื่องดื่ม ชุดชาติพันธุ์ ส่วนใหญ่จะเป็นทุนของชาวบ้านของครัวเรือนนั้น ๆ ที่มีงบประมาณในการจัดตั้งร้านสะดวกซื้อให้กับประชากรในชุมชนเอง และมีกลุ่มวิสาหกิจชุมชนบ้านนอแล โดยมีสองกลุ่ม กลุ่มแม่บ้าน กับกลุ่มเยาวชน และกลุ่มวิสาหกิจชุมชนของเยาวชน จะเป็นกลุ่มที่ดูแลเรื่องการเข้าถึงสิทธิและการละเมิดสิทธิของคนในชุมชน
เดือน | กิจกรรมทางเกษตร | กิจกรรมทางวัฒนธรรม |
มกราคม | เก็บเกี่ยวบัวหิมะ | เผาหลัวตานพระเจ้า |
กุมภาพันธ์ | เก็บเกี่ยวบัวหิมะ ปลูกผัก | - |
มีนาคม | รับจ้าง เก็บบัวหิมะเดือนสุดท้าย | - |
เมษายน | เตรียมแปลงบัวหิมะ | รดน้ำดำหัว |
พฤษภาคม | ปลูกบัวหิมะ | - |
กรกฎาคม | ทำเกษตร ปลูกผัก ปลูกบัวหิมะ | - |
สิงหาคม | เก็บลำไย | - |
กันยายน | ปลูกผักรอบเดือน เก็บผักรอบเดือน | เข้าพรรษา แห่ต้นเทียน ต้นเงิน ต้นทอง งานลายหล่ำแต่ละป๊อก |
ตุลาคม | เก็บเกี่ยวบัวหิมะ ปลูกผัก เก็บผัก | - |
พฤศจิกายน | เก็บบัวหิมะ ปลูกผัก | ทอดกฐิน |
ธันวาคม | เก็บบัวหิมะ | บลอย ซานัม กะมาย (ปีใหม่) |
1.นายนาโม หมั่นเฮิง ผู้นำคนแรกพาชาวบ้านเข้ามาอาศัยในชุมชนบ้านนอแล เมื่อปี 2515 จนถึง ปัจจุบัน
2.นายอ้อน สุนันตา ผู้เรียบเรียงประวัติความเป็นมาของดาราอางในประเทศไทย
3.นายรอด อาจารย์ นักร้อง และผู้ที่ศึกษา เรื่องวัฒนธรรม และชุดดาราอาง
4.ดาบูเมิง ผู้ที่เป็นสื่อกลางระหว่าง คนกับผีเจ้าเมือง
5.ดาฉาน ผู้นำทางศาสนา
ทุนกายภาพ
ธรรมชาติที่เป็นแหล่งท่องเที่ยว และป่าที่อุดมสมบูรณ์ อากาศที่บริสุทธิ์ ดึงดูดนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวในชุมชนเป็นจำนวนมาก
ทุนวัฒนธรรม
การย้อมสีผ้าและการทอผ้าที่เป็นเอกลักษณ์ของดาราอาง โดยการย้อมสีผ้าจะย้อมจากสีธรรมชาติ การเดินป่า การหาสมุนไพรจากป่า การอยู่คู่ป่าที่ยาวนาน และวิถีชีวิตที่เรียบง่าย
ภาษาชนเผ่าพื้นเมืองดาราอางเป็นภาษาที่สื่อสารกันในชุมชน โดยดาราอางมีภาษาเป็นของตัวเอง และมีตัวหนังสือของตัวเอง แต่ตอนหลังไม่มีโรงเรียนเปิดสอนภาษาดาราอาง เสี่ยงต่อการสูญหายในเรื่องของตัวหนังสือ
เมื่อปี พ.ศ. 2515 ชาวบ้านนอแล ทำอาชีพปลูกฝิ่น จนถึงปี พ.ศ. 2527 ได้เข้าร่วมโครงการหลวง เลยหันมาปลูกผักปลอดสารพิษ ทำอาชีพเกษตรกร ปลูกผลไม้เมืองหนาว และเมื่อปี พ.ศ. 2561 เริ่มหันมาปลูกบัวหิมะ และเริ่มขายของออนไลน์
โดยส่วนใหญ่จะถือบัตรบุคคลบนพื้นที่สูง (เลขนำหน้าด้วยเลข 6) ประมาณ 700 คน และบัตรบุคคลไม่มีสถานะทางทะเบียน (หมายเลข 0/89) จำนวน 120 คน บุคคลตามมาตรา 38 วรรคสอง (เลข 0) จำนวน 200 คน บัตรคนไทย (หมายเลข 8) ตามมาตรา 7 ทวิวรรคสอง จำนวน 70-80 คน และอื่น ๆ ที่ยังไม่ได้รับการสำรวจจำนวนหนึ่ง
มีน้ำใช้เป็นน้ำบาดาล และไฟฟ้าเข้าถึง รวมถึงการเดินทางที่สะดวกสบายมากขึ้น เพราะเศรษฐกิจที่ดีขึ้นกว่าเดิม ทำให้ชุมชนได้รับระบบสาธารณูปโภค
ชาวบ้านนอแลสามารถเข้าถึงการรักษาพยาบาลที่สะดวกสบายมากขึ้นเนื่องจากมีรถสำหรับการเดินทาง และสถานีอานามัยก็อยู่ไม่ไกลจากชุมชน
เยาวชนบ้านนอแลสามารถเข้าถึงการศึกษาที่ดีขึ้นมาก จากเมื่อปี พ.ศ. 2540 นักเรียนยังต้องใช้การเดินเท้า 4 กิโลเมตร เพื่อไปเรียนหนังสือ ปัจจุบันมีรถประจำทาง และเยาวชนได้รับทุนการศึกษาที่มากขึ้น เยาวชนบ้านนอแลโดยส่วนใหญ่เรียนในตัวเมือง จะมีระดับชั้นประถมศึกษาเท่านั้นที่ยังเรียนอยู่บนดอย ส่วนที่เหลือเยาวชน 90 เปอร์เซ็นต์ เรียนในตัวเมือง
ยังมีการปฏิบัติตามประเพณีของชาวดาราอางดั้งเดิม แต่มีความเสี่ยงที่จะหายไป เนื่องจากเยาวชน 90 เปอร์เซ็นต์ ไปศึกษาในตัวเมือง ไม่มีคนสืบสานวัฒนธรรม
เมื่อปี พ.ศ. 2515 ป่าไม้อุดมสมบูรณ์ น้ำที่มีใช้ตลอดทั้งปี ในระยะเวลา 50 ปี ที่ผ่านมา ธรรมชาติบ้านนอแล เหลือเพียงแค่ 30 เปอร์เซ็นต์ ธรรมชาติในปัจจุบันหายไป จากที่เคยอากาศหนาวทั้งปี กลับมีหน้าร้อนที่ร้อนมาก ทั้ง ๆ ที่เมื่อก่อนบ้านนอแลไม่เคยร้อนเลย แต่เริ่มพบเห็นว่าบรรยากาศแย่ลง และฟ้าฝนก็ตกไม่ตรงตามฤดูกาล
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ดาราอาง ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.