Advance search

กุงอมลุ

บ้านพี่น้องชาติพันธุ์ขมุ ชีวิตผูกพันกับผืนป่า สืบทอดประเพณีดั้งเดิม หุงเหล้าแบบชาวขมุ

หมู่ที่ 7
น้ำหลุ
ชนแดน
สองแคว
น่าน
อบต.ชนแดน โทร. 08-5713-7024
ศตคุณ ปัตติมงคล, ทักษณะ เสารางทอย
14 ก.ย. 2023
ปริญญ์ รุจิรัชกุล
17 ก.ค. 2024
บ้านน้ำหลุ
กุงอมลุ

"อมหลุ" ภาษาขมุ "อม" แปลว่าน้ำ "หลุ" แปลว่า ต้นน้ำ เนื่องจากหมู่บ้านเดิมอยู่ในป่าใหญ่เป็นต้นกำเนิดแม่น้ำ มีตาน้ำผุดที่ใช้ดื่มกิน


บ้านพี่น้องชาติพันธุ์ขมุ ชีวิตผูกพันกับผืนป่า สืบทอดประเพณีดั้งเดิม หุงเหล้าแบบชาวขมุ

น้ำหลุ
หมู่ที่ 7
ชนแดน
สองแคว
น่าน
55160
19.4390857668662
100.682869702578
องค์การบริหารส่วนตำบลชนแดน

กลุ่มชาติพันธุ์ขมุตั้งรกรากอยู่ตามแนวตะเข็บชายแดนระหว่างประเทศไทยและสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ตอนนั้นยังไม่มีการแบ่งเขตแดนว่าคือประเทศไทยหรือประเทศลาว จึงถือว่าอาศัยร่วมกัน

ในช่วงการรวมชาติลาว กลุ่มชาติพันธุ์ขมุบางกลุ่มถอยร่นเข้าสู่พื้นที่ประเทศไทย ในการอพยพครั้งนั้นได้มีการย้ายบ้านเรือนหลายหมู่บ้าน เช่น บ้านห้วยแกลบ บ้านน้ำปาน บ้านห้วยมอย บ้านน้ำหลุ วังเสา ซึ่งในสมัยนั้นการอพยพการเดินทางเป็นไปด้วยความยากลําบาก การอยู่ใกล้แม่น้ำจึงจำเป็นต่อการต่อแพเพื่อล่องนํ้า หรือทางบกจะต้องเดินเท้าเพียงอย่างเดียว โดยแม่น้ำต่าง ๆ เมื่อไหลรวมกันชาวบ้านเรียกกันว่า แม่น้ำยาว

จากนั้นเมื่อฝรั่งเศสออกจากลาว ใน พ.ศ. 2497 ระหว่างสองประเทศจึงมีการแบ่งเขตแดนเกิดขึ้น ประมาณปี พ.ศ. 2506 ทหารไทยได้เข้ามากำกับเขตแดน กำหนดเส้นแบ่งระหว่างประเทศ ทำให้ชาวบ้านทั้งหมดต้องถอยร่นลงมาให้ห่างเส้นเขตแดน จึงได้อพยพลงมาตั้งถิ่นฐานนอกแนวเขตแดนระหว่างประเทศเพื่อความปลอดภัย

ระหว่างที่ยังไม่มีเอกสารอ้างอิงตัวบุคคล การขึ้นทะเบียนประชาชนใช้ แผ่นป้ายไม้เขียนเลขลำดับที่ และได้รับพระราชทานเหรียญชาวเขา ตอนนั้นยังไม่มีบ้านเลขที่หรือตำบลชัดเจน หน่วยงานราชการที่ขึ้นตรงคือ อําเภอ

จากนั้นตำบลชนแดนขึ้นการปกครองส่วนภูมิภาคกับ อำเภอเชียงกลาง จังหวัดน่าน โดยเมื่อปี พ.ศ. 2534 ราษฎรในพื้นที่ได้ยื่นเรื่องต่อราชการร่วมกับกำนัน ผู้ใหญ่บ้าน รวม 3 ตำบล ได้พิจารณาว่าสภาพทางภูมิศาสตร์ ลักษณะความเป็นอยู่ การประกอบอาชีพ แนวโน้มมีความเจริญในอนาคต และความเห็นชอบของคณะกรรมการหมู่บ้าน สภาตำบล หัวหน้าส่วนราชการประจำอำเภอ จังหวัด สภาจังหวัด สมาชิกสภาผู้แทนราษฎร และกระทรวงมหาดไทย

ต่อมาเมื่อวันที่ 1 เมษายน พ.ศ. 2535 จึงได้ประกาศเขตท้องที่อำเภอเชียงกลางแยกตำบลนาไร่หลวง ตำบลชนแดน และตำบลยอด ออกจากอำเภอเชียงกลางและรวมจัดตั้งเป็น กิ่งอำเภอสองแควโดยใช้ชื่อ กิ่งอำเภอสองแคว ตั้งอยู่ที่บ้านสองแคว หมู่ที่ 5 ตำบลนาไร่หลวง ซึ่งคำว่า "สองแคว" มีความหมายว่า ลำน้ำสองสายไหลมาบรรจบกัน คือ ลำน้ำยาวและลำน้ำยอด

เมื่อวันที่ 11 ตุลาคม พ.ศ. 2540 จึงได้มีพระราชกฤษฎีกายกฐานะขึ้นให้เป็น อำเภอสองแคว โดยปัจจุบันตำบลชนแดนมีชาติพันธุ์ขมุ 7 หมู่บ้าน 1 หมู่บ้านชาติพันธุ์ถิ่น และ 1 หมู่บ้านชาติพันธุ์ไทลื้อ รวมเป็น 9 หมู่บ้าน

ที่ตั้งหมู่บ้านห่างจากตัวอําเภอสองแควไปทางทิศเหนือประมาณ 15 กิโลเมตร ห่างจากตัวจังหวัด 90 กิโลเมตร

หมู่บ้านตั้งอยู่ในพื้นที่ชายแดนของประเทศไทยติดกับพื้นที่สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว ห่างจากเขตแดนประมาณ 11 กิโลเมตร โดยหมู่บ้านมีเนื้อที่ โดยรวม 255 ไร่ อยู่ในพื้นที่ตําบลชนแดน อําเภอสองแคว จังหวัดน่าน

อาณาเขต

  • ทิศเหนือ ติดต่อกับ สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว
  • ทิศใต้ ติดต่อกับ ตำบลนาไร่หลวง อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน
  • ทิศตะวันออก ติดต่อกับ อำเภอทุ่งช้าง จังหวัดน่าน
  • ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลยอด อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

พื้นที่สาธารณะ สนามกีฬาหมู่บ้าน หอประชุมหมู่บ้าน ตลาดชุมชน

สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ ป่าสุสาน ป่าชุมชนหมู่บ้าน ป่าต้นน้ำ

สถานที่สำคัญทางเศรษฐกิจ สังคม วัฒนธรรม สะโหลกหมู่บ้าน (ที่เลี้ยงผี) ที่ตีดาบ ตลาดจุดผ่อนปรณชายแดนไทย-ลาว บ้านใหม่ชายแดน  

ทรัพยากรทางธรรมชาติ มีแม่น้ำยาว ห้วยหลวง ห้วยกอม ห้วยเย็น น้ำปาน น้ำหลุ น้ำเสน ขุนน้ำพริก เขาป่าซางเหลือง ถ้ำคอมมิวนิสต์เก่า-พื้นที่ที่มีกิจกรรมทางสังคม ประเพณี และเทศกาลต่าง ๆ สะโหลกหมู่บ้าน จุดเลี้ยงผีประจำหมู่บ้าน ลานหมู่บ้าน

ชาติพันธุ์ขมุมีการเรียกระบบเครือญาติกันเยอะมาก เรียกแยกกันตามญาติฝ่ายหญิง และฝ่ายชาย มีการเรียกชื่อความเป็นญาติก่อนเรียกชื่อเล่น เช่น น้าชื่อมั่น จะเรียกขานชื่อว่า เอมมั่น กึน ทั้งนี้หมู่ที่ 7 บ้านน้ำหลุมีจำนวนประชากรชาวขมุที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ทั้งสิ้น 492 คน แบ่งเป็นเพศชาย 247 คน เพศหญิง 245 คน และมีจำนวนครัวเรือน 138 ครัวเรือน

กำมุ

การรวมกลุ่มทางเศรษฐกิจของชาติพันธ์ขมุ มีความหลากหลายมากขึ้นต่างจากอดีต เช่น กลุ่มยางพารา กลุ่มจักสาน กลุ่มแม่บ้าน กลุ่ม อสม. กลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มสินค้า OTOP กลุ่มส่งเสริมการท่องเที่ยงเชิงอนุรักษ์และกลุ่มผู้ที่ปลูกพืชผักผลไม้ขาย การออกไปทำงานนอกชุมชนมีมาก เช่น ทำงานโรงงาน รับราชการ และรับจ้างทั่วไป

 ปฏิทินการเกษตร

Screenshot%202567-07-17%20at%202_06_05%E2%80%AFPM_6697721851b2b.png

กิจกรรมทางวัฒนธรรม

พิธีเลี้ยงผีปู่ย่า (โรยคางแหนะ)

เป็นการเลี้ยงผีเมื่อมีการเจ็บป่วยเกิดขึ้นในครอบครัว โดยจำเป็นต้องให้หมอผีที่ชาวบ้านให้ความเคารพมาทำพิธีกรรมให้ โดยใช้ไข่ไก่ในการประกอบพิธีเพื่อหาคำตอบของต้นตออาการเจ็บป่วยที่เกิดขึ้นจึงจบพิธีกรรมของหมอผี ถ้าเจ็บป่วยจากผีบรรพบุรุษจะมีการเลี้ยงผีขึ้น มีการสร้างศาลชั่วคราวขนาดเล็กไว้ในบริเวณนอกตัวบ้าน ทำพิธีกรรมโดยเจ้าของบ้านมีการเชิญญาติพี่น้องมาร่วมงาน ของในการประกอบพิธีกรรม ได้เแก่ ไก่ เหล้าอุ เมื่อเริ่มพิธีกรรมจะมีการเชือดไก่ นําเลือดไก่ป้ายคอ (ใต้ลูกระเดือก) และป้ายที่ไหของเหล้าอุ เมื่อเสร็จพิธีจึงนําไก่ที่ประกอบพิธีไปประกอบอาหารเลี้ยงแขก โดยชาวขมุเชื่อว่าเป็นการเลี้ยงผีเพื่อให้อาการเจ็บป่วยหายไป

พิธีฆ่าควาย

เมื่อคนในครอบครัวมีอาการป่วย หรือ บาดเจ็บร้ายแรง บางครอบครัวจะทำการบนต่อผีบรรพบุรุษเพื่อให้คนที่มีอาการป่วยหายจากโรคหรือการบาดเจ็บ

เมื่อผู้ป่วยหายเป็นปกติแล้ว ครอบครัวจำเป็นต้องทำการแก้บน โดยการแก้บนสามารถแสดงถึงฐานะการเงินของ ครอบครัวนั้น ๆ ได้ เช่น หากเป็นครอบครัวที่มีกําลังทรัพย์น้อยอาจจะบนด้วยการฆ่าหมูหรือวัว เพราะมีค่าใช้จ่ายถูกกว่าการฆ่าควาย

อีกปัจจัยหนึ่งที่สําคัญในการแสดงฐานะของครอบครัวนั้น ๆ คือ พิธีกรรมมีระยะตั้งแต่วันแรกจนถึงวันสุดท้ายเป็นเวลาเจ็ดวันเจ็ดคืนด้วยกัน มีอาหารเลี้ยงแขกที่มาร่วมงานตลอดทั้งเจ็ดวัน

การเตรียมงานใช้ระยะเวลานานและจำนวนคนช่วยงานจำนวนมาก โดยคน ที่มาร่วมงานจะเป็นคนในหมู่บ้าน หรือ หมู่บ้านข้างเคียงซึ่งมักจะเป็นญาติกับครอบครัวที่ทำพิธีกรรม

พิธีเลี้ยงผีธรณี

เป็นการเลี้ยงผีที่ปกปักรักษาคนในครอบครัว แต่ละครอบครัวจะมีคนทำหน้าที่ถือผีธรณีเมื่อมีการจัดงานเลี้ยงผีธรณีขึ้น สมาชิกในครอบครัวทั้งที่อาศัยอยู่ในบ้านหลังเดียวกัน และบ้านอื่น ๆ ที่ถือผีธรณีร่วมกันจะต้องมาร่วมงาน

ก่อนเริ่มพิธีกรรมจะต้องทำความสะอาดบริเวณที่ทำพิธีกรรม โดยสถานที่ในการทำพิธีจะเป็นบริเวณนอกบ้านมีการขุดหลุมขนาดเล็กเพื่อนําเครื่องไหว้ไปใส่ขณะทำพิธี

เครื่องไหว้ ประกอบด้วย นํ้าเปล่า เหล้าขาว ไก่ต้ม ขนม ผลไม้ และดอกไม้ ผู้ที่ทำหน้าที่ถือผีธรณีจะเป็นผู้ทำพิธี มีการเรียกชื่อสมาชิกในบ้านทั้งที่อยู่ร่วมพิธีและไม่ได้เข้าร่วมพิธี เป็นการบอกว่าให้ผีธรณีปกปักรักษาให้สุขภาพแข็งแรงและปลอดภัยจากภัยอันตราย จะมีการเลี้ยงในเดือนเมษายนของทุก ๆ ปี

เลี้ยงผีสโหลก

เป็นการเลี้ยงผีประจำหมู่บ้านที่ปกปักดูแลรักษาชาวบ้านทุกคนในหมู่บ้าน โดยทุกหมู่บ้านของกลุ่มชาติพันธุ์ขมุจะมีสโหลก (ศาลประจำหมู่บ้าน) ซึ่งมีหน้าที่ในการตัดสินเมื่อมีคดีความเกิดขึ้น เช่น ทะเลาะวิวาท หย่าร้าง เป็นต้น และเป็นสถานที่ในการตีอาวุธซึ่งเชื่อว่าเป็นพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์สามารถปัดเป่าสิ่งไม่ดีได้

การเลี้ยงผีสโหลกจึงเป็นพิธีกรรมใหญ่ที่ชาวบ้านต่างร่วมแรงร่วมใจในการจัดงาน สัตว์ที่จะนํามาประกอบพิธีกรรม จะเป็นหมูและสุนัขสลับกันไปแล้วแต่ผู้ที่ถือผีสโหลกของหมู่บ้าน (ผู้นําทางจิตวิญญาณ) มีการตัดกิ่งไม้นํามาขวางทางเพื่อปิดทางเข้า-ออกหมู่บ้าน ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่คนในห้ามออก-คนนอกห้ามเข้าจนถึงเวลาเช้า จะมีการนําสิ่งของที่ขวางทางออกจึงจะเดินทางเข้า-ออกได้ตามปกติ

1.นายดู่ เสารางทอย เกิดเมื่อปี พ.ศ. 2471 อาศัยอยู่หมู่ 7 ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน

นายดู่ เสารางทอย เป็นบุตรชายของนายแท่ง เสารางทอย ผู้ใหญ่บ้านคนแรกของบ้านน้ำหลุ นายแท่งดำรงตำแหน่งผู้ใหญ่บ้านปี พ.ศ. 2484-2516 นายดู่เกิดที่ขุนห้วยต๊ะแดง ซึ่งเป็นหมู่บ้านเล็ก ๆ กลางป่า ซึ่งอยู่ตามแนวเทือกเขาหลวงพระบาง

จากนั้นได้ย้ายลงมาอยู่ห้วยปางแซะ ก่อนจะย้ายถิ่นฐานลงมาที่ห้วยน้ำหลุเดิม สาเหตุการย้ายถิ่นฐาน เนื่องจากอยู่บนภูเขาห่างจากแหล่งน้ำ การเดินทางที่ลำบาก ตอนย้ายลงมาอยู่บ้านน้ำหลุ นายดู่ มีอายุ 7-8 ปี

อุ้ยดู่มีความสนใจไฝ่รู้เรื่องต่าง ๆ รอบตัว ชอบติดตามนายแท่งผู้เป็นพ่อออกไปประชุมที่อำเภอ และทุ่งช้างอยู่บ่อยครั้ง จนได้รู้จักกับผู้นำของหมู่บ้านต่าง ๆ เป็นอย่างดี ซึ่งกำนันในยุคนั้นชื่อว่า กำนันพล (นายชั้น) บันเทิง และได้ประสานกับหน่วยงานราชการ ให้เข้าไปจัดตั้งโรงเรียนจนปี พ.ศ. 2483 ได้ มีการจัดตั้งโรงเรียนขึ้นสำเร็จ ชื่อว่าโรงเรียนบ้านน้ำหลุ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2506 ได้มีการโยกย้ายถิ่นฐานครั้งสำคัญ เนื่องจากภาวะสงคราม และเกิดการปล้นสะดมจากกลุ่มโจร ทางผู้นำหมู่บ้านได้ขอกำลังจากทหารให้เข้ามาดูแลก็ไม่เกิดผล จนได้ปรึกษากันและตัดสินใจย้ายหมู่บ้านในที่สุด

รวมถึงหมู่บ้านที่อยู่ใกล้เคียงได้ตัดสินใจย้ายถิ่นฐานเช่นกัน ในวันที่ย้ายนั้นบางส่วนก็เดินลัดป่าพาสัตว์เลี้ยงมาด้วยส่วนใหญ่จะเป็นฝูงควาย ซึ่งสมัยก่อนเลี้ยงควายกันเยอะ บางส่วนก็ล่องแพลงมาตามแม่น้ำ พักแรมกันตามเนินทรายริมน้ำ

ระหว่างนั้นก็ตัดไม้ไผ่และใบหวายใบก้อบรรทุกแพลงมาด้วย จนมาถึงเนินทรายที่มีลำห้วยตัดผ่าน มีต้นไม้ใหญ่ร่มรื่น เหมาะแก่การลงหลักปักฐาน จึงได้จอดแพและเริ่มสร้างกระต๊อบเป็นที่อยู่อาศัยจนกลายเป็นบ้านน้ำหลุในปัจจุบัน

ตั้งชื่อหมู่บ้านตามห้วยเดิมที่ย้ายมา และหมู่บ้านอื่น ๆ ก็ทยอยมาลงหลักสร้างบ้านแปงเมืองอยู่ใกล้ ๆ กันจนกลายเป็นตำบลชนแดนนั่นเอง เมื่อสร้างบ้านแปงเมืองแล้วก็เริ่มแผ้วถางที่ทำกินเพื่อทำไร่ข้าวปลูกพืชผัก

ส่วนอุ้ยดู่นั้น ก่อนย้ายลงมาได้แต่งงานมีครอบครัวและมีลูก 4 คน เมื่อย้ายลงมาอุ้ยดู่ได้เลือกทำเลสร้างบ้านและอยู่รวมกันเป็นครอบครัวใหญ่ จากนั้นทหารก็เข้ามามีบทบาทต่อชุมชนมากขึ้น ให้ชาวบ้านแขวนไม้แผ่นที่เขียนชื่อและรหัสครอบครัวเพื่อถ่ายภาพ จัดระเบียบหมู่บ้าน มีการแต่งตั้งผู้นำอย่างเป็นทางการ

จนกระทั่งปี พ.ศ. 2508 ทหารได้นำเหรียญชาวเขามาแจกจ่ายให้กับชาวบ้าน ซึ่งมีหมายเลขและตัวย่อ นน หรือน่าน จากนั้นทางหน่วยงานราชการได้ให้ผู้นำหมู่บ้านเกณฑ์ชาวบ้านที่มีอายุ 15 ปีขึ้นไป เดินทางไปทำบัตรประจำตัวที่ว่าการอำเภอ ซึ่งสมัยนั้นตำบลชนแดนได้ขึ้นกับอำเภอและหรืออำเภอทุ่งช้างในปัจจุบัน แต่ด้วยเส้นทางนั้นไกลมาก จึงพากันเดินลัดป่าลัดเขาเพื่อข้ามเขาให้ถึงอำเภอและ นอนพักแรมกันในป่า 2 คืน

เมื่อถึงอำเภอและก็ได้ถ่ายบัตรประจำตัวประชาชน ขากลับทางการได้แจกข้าวสารอาหารแห้ง จึงพากันแบกกลับทางเดิม อุ้ยดู่ค่อนข้างมีฐานะในสมัยนั้นเนื่องจากพ่อเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้เดินทางไปกับพ่อเพื่อไปประชุมงานราชการและติดต่อกับโลกภายนอก จนได้รู้จักกับคนภายนอกและเริ่มทำการค้าขายแลกเปลี่ยนกัน

อุ้ยดู่กับคนในหมู่บ้านจะสร้างแพ และนำของป่าจำพวกยางฝาง รากไม้ พืชผัก และยาสมุนไพร ล่องแพลงไปขายที่อำเภอท่าวังผาที่บ้านสบยาว โดยขากลับจะซื้อเกลือและของใช้จำเป็นเดินกลับบ้าน ค่ำไหนนอนนั่นหรือผ่านหมู่บ้านต่าง ๆ ก็ขอพักค้างคืน จนได้รู้จักกับผู้คนมากยิ่งขึ้น จนรู้เส้นทางไปมาหาสู่กันมากขึ้น

หลังจากนั้นได้ค้าขายวัวควายและม้าต่าง อุ้ยดู่ได้ซื้อม้าแกลบมาเพื่อไว้ขี่สัญจรไปมา และใช้ม้าในการรับจ้างต่างข้าวต่างพืชผลทางการเกษตร และมีบทบาทในการค้าขายอีกด้วย

ทุนกายภาพ

มีวิวทิวทัศน์ที่สวยงาม ล้อมรอบไปด้วยแม่น้ำ น้ำตกและภูเขา หลากหลายแห่งในชุมชน เหมาะแก่การชมวิวทิวทัศน์ ท่องเที่ยวเชิงนิเวศน์

ทุนมนุษย์

มีปราชญ์ชาวบ้านหลากหลายแขนง เช่น งานจักสาน การทอผ้า-ทำเสื้อผ้าขมุ ภาษาขมุ

ทุนเศรษฐกิจ

กองทุนหมู่บ้าน กองทุนเศรษฐกิจชุมชน เป็นแหล่งเงินทุนในการกู้ยืมของชาวบ้านในชุมชน

ภาษาที่ใช้พูด ชาติพันธุ์ขมุตำบลชนแดน มีภาษาพูดเป็นของ แต่ไม่มีภาษาเขียน ซึ่งสถานการณ์การใช้ภาษาของผู้คนในชุมชน ใช้ภาษาขมุในการพูดเป็นชีวิตประจำวัน สื่อสารระหว่างกันในชุมชนทั้งตำบล และภาษาคำเมืองร่วมกับคนนอกพื้นที่ และใช้ภาษาไทยในการเรียนการสอน มีการใช้ทวิภาษาในการสอนระดับชั้นอนุบาล โรงเรียนบรรณโศภิษฐ์ ตำบลชนแดน อำเภอสองแคว จังหวัดน่าน


นอกจากจะทำการเกษตรเป็นหลักแล้ว รายได้ส่วนหนึ่งของชาวบ้านคือ การขุดหน่อไม้ขายส่งพ่อค้าคนกลางที่มีรถยนต์เพื่อส่งต่อโรงงานทำหน่อไม้อัดหรือดอง กิโลกรัมละ 2-5 บาท พืชต่อมาคือ มะต๋าว หรือลูกชิด ต้องเข้าป่าเพื่อค้างคืนเพื่อหาและทำปางต้มก่อนนำมาขาย พืชเศรษฐกิจต่อมาคือ แขม หรือ ก๋ง ใช้สำหรับทำไม้กวาดดอกหญ้า

หลังตัดต้องนำมาตากให้แล้วฟาดให้ดอกหญ้าออกเหลือแต่ซี่ จากนั้นนำมาลิดกิ่งออกมัดเป็นกำ มัดรวมกันชั่งกิโลขาย กิจกรรมนี้สามารถทำได้แบบลากยาวต่อเนื่องคือ หลังจากตัดเสร็จในช่วงเย็น ตื่นแต่เช้านำมาตากแดดกลางสนาม แล้วก็ไปทำไรทำสวน

ตอนเย็นกลับมาก็ฟาดให้ดอกมันออก จากนั้นไปอาบน้ำ กินข้าวเสร็จก็มาลิดแขมต่อ นั่งรวมกันเป็นวง ก่อกองไฟ พูดคุยกันสนุกสนาน ต่อมาเมื่อมีไฟฟ้าและโทรทัศน์ กิจกรรมนี้ถูกเปลี่ยนไปบ้างจากหน้ากองไฟเป็นหน้าโทรทัศน์แทน

ปัจจุบันไม่ค่อยมีแล้วเนื่องจากไม่คุ้มทุนที่จะตัดผ่านหลายขั้นตอน เนื่องจากมีผู้รับซื้อทันที่ที่ตัดมาได้ ไม้กวาดที่ทำเองใช้ในบ้านยังคงมีการทำอยู่ แม้ว่าส่วนหนึ่งจะซื้อจากตลาดมาใช้แล้ว


ชาติพันธุ์ขมุจะอยู่รวมกลุ่มกัน คนในหมู่บ้านจะแต่งงานกันเอง แต่ถ้ามีคนหมู่บ้านอื่นมาสัมพันธ์ก็ไม่ได้ห้ามแต่อย่างใด จะมีเพียงการออกเรือนที่ลูกคนเล็กมักจะต้องอยู่กับบ้านพ่อแม่ หญิงไปอยู่บ้านฝ่ายชาย มีการขอขมาหรือการพูดคุยกันก่อนที่จะไปอยู่บ้านฝ่ายชายหรือฝ่ายหญิงตามสมควร

ในส่วนของการทำไร่หรือทำสวน ใช้การลงแขกระหว่างญาติ คนในหมู่บ้านเพื่อช่วยเหลือกันและกัน ประชากรมีการเปลี่ยนแปลงไปตามสมัยคือมีลักษณะรวมกันทั้งครอบครัวเดี่ยว และครอบครัวรวม

การเพิ่มขึ้นของประชากรไม่ได้ก้าวแบบกระโดด มักจะมีลูกกันอยู่ที่ 2-4 คน ต่อครอบครัว ในอดีตไม่มีการใช้ระบบใดๆเป็นพื้นฐานในการอุปโภคบริโภค พึงมีแต่สิ่งที่ชาวบ้านต้องใช้เพื่อประทังชีวิตเนื่องจากความห่างไกลทางเทคโนโลยี สภาพที่เจอคือ ใช้น้ำหาบจากคลอง ถนนทางเท้าลูกรัง ระบบสาธารณูปโภคเริ่มมีเข้ามาเมื่อประมาณ ปี พ.ศ. 2515 ไฟฟ้า ถนนลูกรังที่กว้าง อาคารเริ่มมีให้เห็น


ถ้ำสะเกิน
ป่าน้ำยาวน้ำสวด
ป่าชุมชน
หน่วยจัดการต้นน้ำ
กำลังอยู่ระหว่างจัดทำข้อมูล

ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2566). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์ขมุ ปีงบประมาณ 2566. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร.

อบต.ชนแดน โทร. 08-5713-7024