เมืองแห่งหุบเขา น้ำตกไหลผ่านตลอดปี อากาศเย็นสบาย สัมผัสวิถีชีวิตชาติพันธุ์มานิ
ที่ได้ชื่อว่า "โหล๊ะหาร" เนื่องจากเป็นชุมชนที่มีลักษณะเป็นที่ราบลุ่มขนาดใหญ่ ชาวบ้านเรียกที่ราบลุ่มนี้ว่า "โหล๊ะ" และภายในโหล๊ะมีแหล่งน้ำ ชาวบ้านเรียกว่า "หาร" เมื่อเรียกรวมกัน จึงเป็น "บ้านโหล๊ะหาร" จนถึงปัจจุบัน
เมืองแห่งหุบเขา น้ำตกไหลผ่านตลอดปี อากาศเย็นสบาย สัมผัสวิถีชีวิตชาติพันธุ์มานิ
ปราชญ์ชาวบ้านได้เขียนคำขวัญหมู่บ้านแห่งนี้ว่า "ที่ราบลุ่มใกล้ลำธาร หารบึงใหญ่ตระการตาโตมหันต์ สองอย่างนี้รวมอยู่ที่เดียวกัน คนเรียกมันว่าโหล๊ะหาร คือบ้านเรา" เล่ากันว่าโหล๊ะหารเคยเป็นที่อยู่ของผู้คนมาก่อน แต่ต้องอพยพทิ้งหมู่บ้านให้กลายเป็นหมู่บ้านร้างไป เพราะตอนนั้นถูกโจรปล้น ขนเอาเงินทองของมีค่าไปหมด หากไม่สามารถเอาอะไรไปได้ โจรก็จะหุงข้าวกินจนเสร็จแล้วถึงจะไป และประกอบกับตอนนั้นมีโรคห่าระบาด (โรคอหิวา) ไม่มียารักษา จึงต้องอพยพผู้คนไปอยู่ที่อื่น จนกระทั่งมาตั้งหมู่บ้านใหม่อีกครั้งเมื่อประมาณ 50 ปีที่ผ่านมา บ้านโหล๊ะหารปัจจุบันมีชุมชน 3 กลุ่ม ดังนี้ โหล๊ะหาร โหล๊ะใหญ่ และทุ่งเสม็ด
บ้านโหล๊ะหารเป็นพื้นที่ราบลุ่มใกล้ลำธาร เดิมโหล๊ะหารเป็นบ้านร้าง เสือ แรด กว้าง หมู อยู่อาศัย จนกระทั่งมีคนอิสลามเข้ามาอาศัยอยู่ก่อน นานเท่าไหร่ไม่มีใครทราบ แต่คนรุ่นก่อนทิ้งให้เป็นบ้านร้าง ประมาณ 40-50 ปี เพราะเหตุผลสองประการ คือ มีโจรปล้นปีละหลาย ๆ ครั้ง เพราะอยู่ห่างไกลเจ้าหน้าที่และเกิดไข้ห่าไข้น้ำ ทำให้คนตายจำนวนมาก
เมื่อปี พ.ศ. 2502 มีคนเข้ามาอยู่ใหม่ คือ นายเตียหวด ลอยฉิว นายลี่ ดำแป้น และนายหลบ ดำแป้น และจากนั้นก็มีคนอื่นได้เข้ามาอาศัยอยู่กันเป็นจำนวนมากขึ้น เดิมหมู่บ้านเป็นหมู่ที่ 11 ตำบลหนองธง อำเภอปากพะยูน จนถึงปี พ.ศ. 2525 ต่อมาเมื่อ พ.ศ. 2526 ได้เปลี่ยนเป็นหมู่ที่ 7 ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน จังหวัดพัทลุง จนกระทั่งทุกวันนี้
ตำบลทุ่งนารีมีสภาพภูมิประเทศส่วนใหญ่เป็นเนินสูง และเป็นที่ราบลุ่ม ลักษณะดินส่วนใหญ่เป็นดินร่วนปนทราย เหมาะสำหรับการสวนยางพารา ปลูกสับปะรด และการปลูกพืชทำการเกษตร ในตำบลทุ่งนารีมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์ เช่น
ทรัพยากรป่าไม้ ในเขตบริเวณติดแนวเทือกเขาบรรทัด
แม่น้ำลำคลองที่สำคัญ คือ คลองพรุพ้อ คลองหลง คลองยางแดง และคลองป่าบอน
น้ำตก มี 2 แห่ง คือ น้ำตกควนปริง และน้ำตกแม่แตง
โครงการพระราชดำริ อ่างเก็บน้ำคลองป่าบอน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดต่อ หมู่ที่ 6 บ้านเขาจันทร์ ตำบลหนองธง อำเภอป่าบอน
- ทิศใต้ ติดต่อ หมู่ที่ 9 บ้านช่องเขา ตำท่าชะมวง
- ทิศตะวันออก ติดต่อ หมู่ที่ 8 และหมู่ที่ 1 ตำบลทุ่งนารี อำเภอป่าบอน
- ทิศตะวันตก ติดต่อ อำเภอมะนัง และอำเภอปะเหลียน
มีจำนวนประชากรทั้งหมด 1,572 คน แบ่งเป็น ชาย 690 คน และหญิง 682 คน จำนวนครัวเรือนทั้งหมด 482 ครัวเรือน
ในปัจจุบันนี้ ชาวมานิ อยู่กันเป็นครอบครัวมี 10 ครอบครัว รวมสมาชิกทั้งหมด 39 คน ในเผ่าก็จะมี "หัวหน้าเผ่า" หรือเรียกว่า "กำนัน-ผู้ใหญ่บ้าน" และในเผ่านี้ก็มี กำนันชื่อ เฒ่ากุ้ง ผู้ใหญ่บ้านคือ "เฒ่าต้ม" แต่ไม่ได้หมายความว่าเฒ่าต้มเป็นคนอาวุโสที่สุด
จากที่สอบถามมาพวกเขาบอกว่า คนที่มีอายุมากที่สุดคือ "เฒ่าลอย" อายุ 72 ปี ถือว่าเป็นผู้ที่อาวุโสที่สุด แต่เหตุผลที่ "เฒ่ากุ้ง" ได้ถูกเลือกให้เป็นกำนัน เพราะเฒ่ากุ้ง สามารถคุยกับทุกคนในเผ่าได้ ทุกคนจะเชื่อฟังเฒ่ากุ้ง และเขาสามารถจัดการปัญหาและเรื่องต่าง ๆ ที่เกิดขึ้นในเผ่าได้ และทุกคนจะใช้นามสกุล รักษ์ป่าบอนยกเว้นเขย/สะใภ้ จะใช้นามสกุล ศรีมะนัง ส่วนภาษาที่ใช้ มี 2 ภาษา คือ ภาษามานิและภาษาถิ่นภาคใต้
มานิปฏิทินวัฒนธรรม
- มกราคม : อาหารป่า เช่น ค่าง ลิง หมูเถื่อน มูสัง หมีขอ พาบแมว มันโสม มันทราย มันเซอ มันยม
- กุมภาพันธ์ : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น สะตอป่า ไอ้เหล็กไม่ไผ่ ยากระชาย บ่าวมะมืด ยาชั่งโหลน
- มีนาคม : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น มะปริง มะปราง มะม่วงป่า ว่านนางคลวญ ไหลเผือก ยาปะนียะวะ
- เมษายน : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น น้ำผึ้ง ลูปะนี สะตอป่า ลูกอิคุ้ย ลูกมะลอง ขิงดอกเดียว กล้วยมูสัง ไอ้ แหวง มวกเหล็ก ยาขี้ไก่
- พฤษภาคม : อาหารป่า เช่น ลูกจำไหล ลูกไฟการ ขนนปาน ลูกคน ลูกเงาะป่า ไมยราบ
- มิถุนายน : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น ค้างคาว กบ ปลา ยาขี้เถ้า ยามุข ลูกเการัต ลูกปะ
- กรกฎาคม : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น หมูดิน ยางชัน ยาหัวหาย ต้นนะทาง
- สิงหาคม : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น นก กระรอก ลูกหว่า หวายเล็ก ไม้ไผ่บอกตุด ยาต๋อก ยาอิโป๊ะ ยามะเปีย ยามะเปียยะ
- กันยายน : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น ค่าง ลิง ยาขุนแสนหา ลูกกัด (ยาคุมกำเนิด) ใบอ้อยช้าง (ยารักษา ตาแดง) ยาพาหุมต้น
- ตุลาคม : อาหารป่า ยารักษาโรคเช่น ตะกวด ลูกกอ ลูกปะ ลูกไฟกา ลูกขี้ค้อน ลูกบึ้ง ต้นโหก
- พฤศจิกายน : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น ตะพาบน้ำ กล้วยเถื่อน (แก้ไข้) ดอกกาหลา (แก้ตัวร้อน) ปอติกอเอาะ (แก้ปวดเอว)
- ธันวาคม : อาหารป่า ยารักษาโรค เช่น ระกำป่า ลูกหลุมพี หมีเบ็ด ชะมด ลิ่น ม้ากระทืบโลง สาวสะดุ้งทุ้งฟ้า
1.นายยาว รักษ์ป่าบอน เชี่ยวชาญด้านยาสมุนไพร
2.นายต้ม รักษ์ป่าบอน เชี่ยวชาญด้านการจับผึ้งป่า
3.นายเพียร รักษ์ป่าบอน เชี่ยวชาญด้านพิธีกรรมการปัดเป่าฝนฟ้าไม่ให้ตก
4.นายพัน รักษ์ป่าบอน เชี่ยวชาญด้านการล่าสัตว์
ทุนกายภาพ
บริเวณป่าต้นน้ำป่าบอนที่เป็นป่าดิบชื้น และไหล่เขา มีพืชต่าง ๆ ที่หลากหลาย ที่เป็นทั้งยาสมุนไพรรักษาโรค เป็นอาหาร มีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ อากาศที่ดีตลอดปี
ใช้ภาษามานิ และภาษาถิ่นภาคใต้ในการสื่อสาร และไม่มีภาษาเขียน
วิถีชีวิตดั้งเดิมของชาวมานิที่เปลี่ยนแปลงไปด้วยความจำเป็นที่จะต้องมีปฏิสัมพันธ์กับสังคมภายนอก ทำให้มานิบ้านโหล๊ะหารต้องพึ่งพาสังคมภายนอกเป็นอย่างมาก ทั้งกลุ่มนักท่องเที่ยว องค์กรสังคมสงเคราะห์ต่าง ๆ ผู้ที่มาเยี่ยมเยียนหมู่บ้าน ประกอบกับเทคโนโลยีต่าง ๆ ที่เข้ามา ทำให้ระยะหลังนั้น สังคมภายนอกมีอิทธิพลในการกำหนดวิถีชีวิตของชาวมานิอย่างมาก
วิถีชีวิตแบบดั้งเดิมของชาวมานิกลายเป็นเรื่องรอง เนื่องจากรายได้จากการท่องเที่ยวนั้นสามารถเลี้ยงปากท้องชาวมานิได้ดีกว่า วิถีชีวิตชาวมานิจึงปรับเข้ากับสังคมภายนอกมากขึ้น แต่ในหน้าฝนที่ผ่านมา ชาวมานิจำนวนมากได้อพยพกลับไปอยู่ในป่า ความสัมพันธ์ระหว่างมานิกับธรรมชาติจึงกลับมาแนบแน่นกันมากขึ้น ซึ่งการอนุรักษ์ผืนป่านั้นก็สามารถกล่าวได้ว่าเป็นวัตถุทางวัฒนธรรมอย่างหนึ่งสำหรับมานิ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์มานิ ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).
ชุมพล โพธิสาร. (2560). โครงการแนวทางการจัดการวัฒนธรรมบนฐานของการจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมกลุ่มชาติพันธุ์มานิ (ซาไก) ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าเขาบรรทัด: รายงานวิจัยฉบับสมบูรณ์. สํานักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม
เกศริน มณีนูน และพวงเพ็ญ ศิริรักษ์. (2546). ซาไก ชนกลุ่มน้อยภาคใต้ของไทย. กรุงเทพฯ : โอ. เอส. พริ้นติ้งเฮาส์.