ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบแนวผจญภัยคือล่องแก่ง โดยเป็นจุดเริ่มต้นในการขึ้นแพเพื่อล่องไปยังบ้านน้ำปุ๊และบ้านทรายมูลเพื่อผ่านเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติแม่จริม
ตั้งชื่อหมู่บ้านตามชื่อของลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน
ชุมชนที่เกี่ยวข้องกับการท่องเที่ยวแบบแนวผจญภัยคือล่องแก่ง โดยเป็นจุดเริ่มต้นในการขึ้นแพเพื่อล่องไปยังบ้านน้ำปุ๊และบ้านทรายมูลเพื่อผ่านเข้าไปยังอุทยานแห่งชาติแม่จริม
ชุมชนน้ำว้าเดิมนั้นเป็นชาวบ้านของบ้านห้วยเมี่ยงที่ตั้งหมู่บ้านตามแนวชายแดนไทย-ลาว ซึ่งอยู่ใกล้ ๆ กับบ้านน้ำตวงในปัจจุบัน จนกระทั่งในปี พ.ศ. 2511 เกิดการปะทะกันระหว่างกองกำลังคอมมิวนิสต์และทหารไทยอยู่ตลอดเวลา และระยะทางในเดินทางจากตัวอำเภอแม่จริมไปสู่บ้านห้วยเมี่ยงมีระยะทางที่ไกล รวมถึงบ้านห้วยเมี่ยงตั้งอยู่บริเวณต้นกำเนิดแหล่งน้ำ ทางราชการจึงเกรงว่าจะส่งผลกระทบต่อแหล่งน้ำ จึงได้ย้ายชาวบ้านมาตั้งถิ่นฐานริมลำน้ำว้า และตั้งชื่อหมู่บ้านเป็นบ้านน้ำว้าตามชื่อของลำน้ำที่ไหลผ่านหมู่บ้าน
ชุมชนลำน้ำว้าตั้งอยู่ในหมู่ที่ 5 ตำบลน้ำพาง อำเภอแม่จริม จังหวัดน่าน มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ป่าชุมชนลำน้ำว้า
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่บ้านน้ำปุ๊ ตำบลน้ำพาง
- ทิศตะวันออก ติดต่อกับ ลำน้ำว้า และหมู่บ้านน้ำพระทัย ตำบลน้ำพาง
- ทิศตะวันตก ติดต่อกับ ตำบลหมอเมือง และตำบลน้ำปาย
ทรัพยากรธรรมชาติ
แหล่งน้ำ
ลำน้ำว้าเป็นแหล่งน้ำสำคัญสายเดียวที่ไหลผ่านชุมชนลำน้ำว้าเป็นระยะทางประมาณ 5 กิโลเมตร ซึ่งชุมชนได้ใช้น้ำในการอุปโภค บริโภคในครัวเรือน รวมทั้งทำการเพาะปลูกพืชผักเนื่องจากดินบริเวณลำน้ำว้ามีความอุดมสมบูรณ์
ป่าไม้
ชุมชนลำน้ำว้ามีสภาพป่าไม้เป็นป่าไม้เต็งรังและป่าเบญจพรรณ ไม้ส่วนมากเป็นไม้จำพวกไม้ไผ่ ไม้ยาง ไม้เหียง ไม้แดง จนกระทั่งช่วงที่พื้นที่ของอำเภอแม่จริมเป็นสถานที่สู้รบ ทำให้เกิดการบุกรุกพื้นที่ป่าเพื่อสร้างเส้นทางลำเลียงอาวุธ รวมถึงเกิดการเข้ามาสัมปทานป่าไม้มีค่า เช่น ไม้สัก ไม้ตะเคียน ไม้แดง ทำให้สภาพป่าเบญจพรรณหมดไปแล้วกลายเป็นป่าไผ่ขึ้นแทน ต่อมามีการสำรวจพื้นที่เพื่ออนุรักษ์และแบ่งป่าสงวนขึ้น โดยเฉพาะพื้นที่ลำนำว้าเป็นป่าต้นน้ำที่สำคัญ จึงเกิดกาารแบ่งเขตเป็นป่าชุมชนในปี พ.ศ. 2543-2544 จำนวนประมาณ 2,000 ไร่ ทางทิศเหนือของหมู่บ้าน
ประชากรบ้านน้ำว้า มีบรรพบุรุษสืบเชื้อสายมาจากชนเผ่าถิ่นที่อพยพมาจากบริเวณชายแดนไทย-ลาว โดยที่จำนวนประชากรของชุมชนลำน้ำว้ามีจำนวนประชากรตามสถิติประชากรเดือนมิถุนายน พ.ศ. 2567 จำนวน 404 คน จำแนกเป็นชายจำนวน 207 คน และเป็นหญิงจำนวน 197 คน และมีจำนวนครัวเรือนจำนวน 99 ครัวเรือน
ทุนการท่องเที่ยว
การท่องเที่ยวล่องแก่งลำน้ำว้าด้วยแพไม้ไผ่เริ่มต้นขึ้นประมาณปี พ.ศ. 2537 ที่ลำน้ำว้า โดยเริ่มจากการเข้ามาท่องเที่ยวของผู้ใหญ่จากหน่วยงานราชการ ทางอำเภอแม่จริมจึงได้ให้เจ้าหน้าที่อาสาสมัครรักษาดินแดน (อส.) ตัดไม่ไผ่มาทำแพให้ล่องแพเที่ยวชมธรรมชาติตามลำน้ำว้า ซึ่งในขณะนั้นลำน้ำว้ามีชื่อเสียงในเรื่องความสวยงาม ความอุดมสมบูรณ์ของป่าเขาและปลาลำน้ำว้าที่มีรสชาติดี แต่ก็ยังคงเป็นที่รู้จักกันแต่เฉพาะในจังหวัดยังไม่มีชื่อเสียงเป็นที่รู้จักของคนทั่วไปอย่างเช่นในปัจจุบัน ทำให้ในช่วงแรกนั้นการเข้ามาท่องเที่ยวล่องแพไม้ไผ่ มีเป็นครั้งคราว ส่วนใหญ่นักท่องเที่ยวเป็นเจ้าหน้าที่ราชการโดยทางอำเภอจะเป็นผู้นำมา นอกจากนี้มีนักท่องเที่ยวซึ่งส่วนใหญ่เป็นคนในจังหวัดน่านนิยมมาเที่ยวพักผ่อนบริเวณริมน้ำว้าบ้าง
ต่อมาในปี พ.ศ. 2539 ชาวบ้านบ้านน้ำว้าได้รวมกลุ่มทำแพไม้ไผ่เพื่อให้บริการนักท่องเที่ยวขึ้น นักท่องเที่ยวที่เข้ามาล่องแพไม้ไผ่ส่วนใหญ่เป็นคนจากหน่วยราชการในจังหวัดน่าน และเป็นการบอกกันปากต่อปากถึงกิจกรรมการล่องแพไม้ไผ่ที่ลำน้ำว้านี้ และช่วงเวลาต่อมาการท่องเที่ยวในพื้นที่ลำน้ำว้าได้เริ่มเป็นที่รู้จักของนักท่องเที่ยวที่ชอบการท่องเที่ยวแบบแนวผจญภัยมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งความอุดมสมบูรณ์และความสวยงามของป่าไม้ และลำน้ำว้า ตลอดจนสภาพแก่งของลำน้ำว้าที่มีความตื่นเต้นสนุกสนาน ผู้ประกอบการท่องเที่ยวจึงได้เริ่มเข้ามาให้บริการ โดยได้เพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยว เช่น การนำแพยางมาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว การนำช้างของชาวบ้านที่เคยชักลากไม้มาให้บริการแก่นักท่องเที่ยว ในช่วงนี้เองที่ทางอำเภอแม่จริมและจังหวัดน่านได้เล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับจากการท่องเที่ยวจึงได้มีการส่งเสริมและประชาสัมพันธ์ จนพื้นที่ลำน้ำว้าเป็นที่รู้จักทั่วประเทศและมีนักท่องเที่ยวเข้ามาท่องเที่ยวมากขึ้นเรื่อยๆ ในขณะเดียวกันนี้อุทยานแห่งชาติแม่จริมจึงต้องมีการพัฒนาและปรับปรุง พื้นที่อุทยานเพื่อรองรับการท่องเที่ยว รวมทั้งได้มีการเพิ่มกิจกรรมการท่องเที่ยวให้มีความหลากหลายมากขึ้น เช่น การเดินป่า การปั่นจักรยานภูเขา การปีนเขาผาหน่อ เป็นต้น
อภิญญา จิตรวงศ์นันท์. (2546). การท่องเที่ยวกับการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตชุมชนลำน้ำว้า จังหวัดน่าน. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ลำน้ำว้า (ล่องแก่ง). https://thailandtourismdirectory.go.th/