ชุมชนที่มีวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอและคนเมือง (คนภาคเหนือ) และมีชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
เดิมหมู่บ้านผาผ่าชื่อ บ้านดอยล้อมหรือบ้านดอยวง ต่อมาเกิดเหตุการณ์ก้อนหินขนาดใหญ่กลิ้งมาจากดอยผาลายลงมากลางหมู่บ้าน ชาวบ้านจึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า "บ้านผาผ่า"
ชุมชนที่มีวัฒนธรรมของชาวปกาเกอะญอและคนเมือง (คนภาคเหนือ) และมีชุมชนท่องเที่ยว OTOP นวัตวิถี
บ้านผาผ่าแต่เดิมเป็นป่าเขาที่มีต้นไม้ทึบ ต่อมาท้าวพรหมเดินทางมาจากเชียงใหม่เพื่อปราบปรามข้าศึกได้เดินทางผ่านป่าแห่งนี้ และเห็นว่าเป็นพื้นที่ที่เหมาะสมกับการต่อตั้งที่พักริมทาง จึงสร้างบ้านเรือนประมาณสิบกว่าหลังคาเรือน และตั้งชื่อหมู่บ้านว่าบ้านดอยล้อมหรือดอยวง เนื่องจากหมู่บ้านตั้งอยู่กลางหุบเขา มองดูคล้ายกับอยู่ในกระทะ ต่อมาหมู่บ้านมีผู้คนเพิ่มมากขึ้น หมู่บ้านจึงขยับขยายขึ้นเป็นลำดับ กระทั่งคืนหนึ่งเกิดเหตุการณ์ประหลาดขึ้นในหมู่บ้าน คือ เกิดฝนฟ้าคะนอง เสียงดังสนั่นหวั่นไหวคล้ายกับภูเขาถล่ม ชาวบ้านจึงได้ออกไปดูและพบรอยมีลักษณะเป็นร่องที่ถูกของหลักครูดไถไปตามทางเดินของหมู่บ้าน ด้วยความสงสัยจึงพากันเดินตามรอยนั้นไปจนสุดทางเดินของหมู่บ้าน และพบก้อนหินขนาดใหญ่ประมาณหกคนโอบตั้งอยู่ตรงท่าน้ำ ก้อนหินมีลายขาวสลับดำ สันนิษฐานว่าก้อนหินดังกล่าวกลิ้งลงมาจากยอดเขาผาลาย จึงทำให้เกิดเสียงดังและร่องรอยดังกล่าว หมู่บ้านดอยวงจึงถูกเปลี่ยนชื่อเป็นบ้านผาผ่าจนถึงทุกวันนี้
ครูบาผาผ่า บ้านผาผ่าเป็นแหล่งกำเนิดของนักบุญแห่งล้านนา คือ ครูบาผาผ่า หรือพระครูปัญญาวรฉัตร ซึ่งเป็นเจ้าอาวาสวัดผาผ่าจนถึงแก่มรณภาพเมื่อปี พ.ศ. 2504 โดยในชุมชนมีอนุสรณ์สถานเพื่อรำลึกถึงครูบาผาผ่า ดังนี้ รูปเหมือนครูบาผาผ่าประดิษฐสถานที่ศาลากลางวัดผาผ่า สถูปเจดีย์และรูปเหมือนครูบาผาผ่า เจดีย์บรรจุอัฐิครูบาผาผ่า สร้างไว้บนภูเขาขนาดย่อมที่บริเวณทิศเหนือของสถูปเจดีย์
สภาพแวดล้อมของชุมชนเป็นไหล่เขาและที่ราบลุ่มน้ำยวม และที่ราบในหุบเขาริมห้วยแม่ปาน ป่าไม้เป็นป่าเบญจพรรณ พันธุ์ไม้ที่พบ เช่น สัก เต็ง รัง แหล่งน้ำที่สำคัญ คือ ลำน้ำยวมหรือแม่น้ำยวม สำหรับการคมนาคมของชุมชนมีถนนสายแม่สะเรียง-ท่าสองยางตัดผ่านหมู่บ้าน
อาณาเขต
- ทิศเหนือ ติดกับ ตำบลเมืองยวมใต้ อำเภอแม่สะเรียง
- ทิศใต้ ติดกับ ตำบลแม่สวด อำเภอสบเมย
- ทิศตะวันออก ติดกับ ตำบลกองก๋อย อำเภอสบเมย และตำบลแม่เหาะ อำเภอแม่สะเรียง
- ทิศตะวันตก ติดกับ ตำบลสบเมย อำเภอสบเมย
ประชากรในบ้านผาผ่าเป็นชาวปกาเกอะญอและคนเมืองหรือคนภาคเหนือ
ปกาเกอะญอประชากรในชุมชนมีอาชีพหลักคือ การทำเกษตรกรรม โดยทำนาในฤดูฝน หลังจากการเก็บเกี่ยวข้าวแล้วจะปลูกพืชไร่ เช่น ถั่วเหลือง ถั่วลิสง และกระเทียม โดยอาศัยน้ำจากอ่างเก็บน้ำบ้านผาผ่าที่สร้างกั้นห้วยแม่ปาน
ประชากรส่วนใหญ่ของหมู่บ้านนับถือศาสนาพุทธ ดังนั้นจึงมีวัฒนธรรมและประเพณีทั่วไปเหมือนกับชุมชนอื่น ๆ ในภาคเหนือ เช่น ประเพณีวันสงกรานต์ วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา ฯลฯ
ทุกวันขึ้น 15 ค่ำ เดือน 8 มีประเพณีนมัสการพระธาตุผาผ่า โดยชาวบ้านจะเดินขึ้นดอยไปนมัสการพระธาตุ จุดบั้งไฟเป็นพุทธบูชาและแข่งขันบั้งไฟด้วย
สำหรับความเชื่อที่สืบทอดมาตั้งแต่สมัยบรรพบุรุษของชาวบ้านผาผ่า คือ เชื่อว่าลูกหลานหรือผู้ที่จะมาอยู่ในบ้านจะเดินทางออกหรือกลับเข้าหมู่บ้านตั้งมีการบอกกล่าว "เจ้าที่บ้าน" ทุกครั้ง เพื่อให้เจ้าที่บ้านปกป้อง คุ้มครอง โดยจะมีการบอกกล่าวที่ศาลเจ้าซึ่งเรียกว่า "ตักฟาย"
ในชุมชนมีการดำรงรักษาภูมิปัญญาการเล่นดนตรีพื้นเมือง เช่น สะล้อ ซึง ปี่ ขลุ่ย ฯลฯ
คนในชุมชนสื่อสารกันด้วยภาษาปกาเกอะญอและภาษาคำเมือง
หน่วยศึกษานิเทศก์. (2540). ประวัติหมู่บ้าน อำเภอสบเมย จังหวัดแม่ฮ่องสอน. สำนักงานคณะกรรมการการประถมศึกษาแห่งชาติ กระทรวงศึกษาธิการ.
องค์การบริหารส่วนตำบลแม่ตะควน. (ม.ป.ป.). ข้อมูลพื้นฐานของตำบลแม่ตะควน. สืบค้น 28 กรกฎาคม 2567. http://www.maekatoun.go.th/