บ้านพี่น้องชาวอูรักลาโว้ย ศาลเจ้าโต๊ะบุหรง ประเพณีลอยเรือ การแสดงรำมะนาและรองเง็ง
บ้านพี่น้องชาวอูรักลาโว้ย ศาลเจ้าโต๊ะบุหรง ประเพณีลอยเรือ การแสดงรำมะนาและรองเง็ง
เดิมเคยชาวบ้านโต๊ะบุหรงตั้งกระท่อมอาศัยอยู่บริเวณคอคอดของเกาะจำนุ้ย ต่อมาสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 มีทหารญี่ปุ่นเข้ามาบริเวณนี้เพื่อจับผู้ชายไปเป็นเชลย และเกิดโรคฝีดาษระบาด (ภาษาชาวเลเรียกว่า ยาเก๊ะ บิยี่) ชาวเลจึงย้ายไปอยู่หมู่บ้านแห่งที่สองบริเวณที่เรียกว่า "วันไพร" หรือ เขตผีพราย
บริเวณนี้เคยเป็นที่ฝังศพเด็กทารกที่คลอดก่อนกำหนด ต่อมามีเด็กและผู้ใหญ่ชาวเลเสียชีวิตกว่าสิบคนจากการกินไข่ปลาปักเป้าที่มีพิษ
โต๊ะหมอ ชื่อ "วะกาว" จึงเสี่ยงทายโดยการดูเทียนแล้วให้ชาวเลย้ายไปอยู่ที่ "ลัก หง่าตอย" (บริเวณที่เกาะของนกอินทรีทะเล) ปัจจุบันคือบริเวณริมหาดใกล้ศาลโต๊ะบุหรง
ต่อมา กำนันตำบลให้ชาวเลอูรักลาโว้ยบางส่วนย้ายไปอยู่ด้านตะวันตกเฉียงใต้ของเกาะ ภาษาอูรักลาโว้ยเรียกว่า "เซอบือละ" (หมายถึง ด้านข้างเกาะ) โดยจัดให้มีเอกสารที่ดิน หลังจากนั้นมีชาวเลบางส่วนขายที่ดินไปจึงย้ายกลับมาอยู่บริเวณบ้านกลางและบ้านเกาะจำอีกครั้ง
พ.ศ. 2547 เกิดภัยพิบัติสึนามิ บ้านเรือนหลายหลังบริเวณริมหาดได้รับความเสียหาย จึงมีการสร้างบ้านถาวรขึ้นโดยได้รับการสนับสนุนการสร้างจากกระทรวงกลาโหม จึงเรียกว่า ชุมชนกลาโหม ชาวเลอูรักลาโวยจบางครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติสึนามิก็ได้ย้ายเข้ามาอาศัยที่ชุมชนนี้
ชุมชนโต๊ะบุหรง เป็นหนึ่งในสี่ชุมชนที่อาศัยร่วมกันบริเวณบ้านเกาะจำ ตำบลเกาะศรีบอยา
พื้นที่ทำกิน
ทำประมงในเขตเกาะเหลากา เกาะยูง เกาะไผ่ เกาะคู่ เกาะลันตา เกาะเหลาหละ เกาะจำนุ้ย เกาะเหลาสี เกาะม่วง เกาะตูหลัง เกาะพีพี เกาะหมา เกาะบิหลัน เกาะซีม่า เกาะฮั่ง เกาะศรีบอยา อ่าวยาซ่า และบริเวณช่องเภาในเขตจังหวัดกระบี่
รวมถึงบริเวณสันดอนทรายในทะเล ชาวเลอูรักลาโวยจ เรียกว่า บอหอ เช่นที่ บอหอสูง บอหอกลาง บอหอมานะ และในพื้นที่ป่าโกงกาง เช่น การหาปูดำ การหาหอย และบนเกาะยังหาวัสดุที่มาทำเครื่องมือเครื่องใช้ เช่น ไม้ไผ่ หวาย เตย ไม้ น้ำมันยาง ไม้ทำบ้าน ไม้ทำเรือ ไม้ระกำ ยางไม้เอามาทำกำยานใช้ในพิธีกรรม ผลไม้ ผัก น้ำผึ้ง และยาสมุนไพร
พื้นที่ทางจิตวิญญาณ
- ศาลโต๊ะบุหรง (ลักหง่าตอย) ที่ชาวเลอูรักลาโวยจเกาะจำเล่าว่า เดิมมีจอมปลวกรูปร่างคล้ายหัวคนโผล่ขึ้นมาจากใต้ดิน เชื่อกันว่าเป็นเจ้าที่ เมื่อจอมปลวกใหญ่ขึ้นเรื่อย ๆ มีรูปร่างคล้ายลำตัวและแขน ชาวบ้านจึงช่วยกันแกะสลักไม้เป็นรูปเพื่อบูชา ต่อมามีการสร้างศาลาไม้ขึ้นครอบบริเวณจอมปลวก ในภายหลังมีผู้บริจาคสร้างศาลาปูนและทำรูปปั้นปูนขึ้นมาแทนรูปเดิม และมีผู้ศรัทธาสร้างรูปปั้นปูนรูปนกอินทรีทะเลตั้งอยู่ด้านหน้าของศาลเจ้า
- ศาลโต๊ะอาดัม ที่เกาะเหลาสี (ปูเลาเบอซี)
- โต๊ะแซะ ควนเกาะปู
- โต๊ะกราหมาดบูสาป
- โต๊ะเล
- พื้นที่ทะเลทั้งหมด
- สุสานที่ฝังศพ
ชาวเลอูรักลาโวยจชุมชนโต๊ะบุหรง สร้างที่พักอาศัยเป็นกลุ่มใกล้ ๆ กัน เป็นบ้านชั้นเดียวยกพื้นเตี้ย ๆ หลังไม่ใหญ่ คล้ายเพิงพัก สภาพไม่ค่อยแข็งแรง และสร้างอยู่ในที่ดินที่ไม่มีเอกสารสิทธิ์ ติดกับป่าชายเลน
ชุมชนโต๊ะบุหรง มีประชากรอาศัยอยู่ จำนวน 41 ครัวเรือน แบ่งเป็น ชาย 105 คน และหญิง 94 คน รวมทั้งหมด 199 คน
อูรักลาโวยจชาวชุมชนโต๊ะบุหรง ชุมชนกลาโหม ชุมชนมูตู และชุมชนบ้านกลางที่อาศัยร่วมกันในหมู่บ้านเกาะจำ ปฏิบัติตามประเพณีร่วมกัน ดังนี้
ประเพณีเปอตัดญีรัย (ประเพณีแต่งเปรว)
เปรว คือ หลุมศพ ในเดือน 4 ของทุกปี ก่อนถึงวันงานจะมีคณะกรรมการไปถางหญ้า และตกแต่งหลุมฝังศพ ในวันทำพิธีช่วงตอนเช้า ผู้หญิงชาวเลจะเตรียมทำขนม อาหารคาว หวาน เพื่อนำไปเซ่นไหว้ และรับประทานอาหารร่วมกัน โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ทำพิธี มีการบรรเลงเพลงรำมะนา ร้องเพลงเป็นภาษาอูรักลาโวยจ ปัจจุบันมีวงดนตรีเต้นรำเพลงที่กำลังเป็นที่นิยม ซึ่งเวทีนี้จะมีวัยรุ่นและเด็ก ๆ เต้นรำกัน
ประเพณีลอยเรือตูละบาลา
เป็นประเพณีที่ชาวอูรักลาโวยจบนเกาะจำทุกชุมชนให้ความสำคัญมากที่สุด และถือปฏิบัติสืบต่อกันมาตั้งแต่บรรพบุรุษ จัดขึ้นปีละ 1 ครั้ง ในวันแรม 2 - 3 ค่ำ เดือน 6 ช่วงเริ่มมรสุมตะวันตกเฉียงใต้ หรือ "ลมพลัด" เพื่อสะเดาะเคราะห์ ส่งวิญญาณบรรพบุรุษกลับไป "ฆูนุงฌึรัย" ซึ่งเชื่อว่าเป็นบ้านเมืองเดิมของบรรพบุรุษ และส่งสัตว์ที่ฆ่ากินเป็นอาหารกลับไปให้เจ้าของเดิมเพื่อไถ่บาป เชื่อว่าเมื่อประกอบพิธีนี้ วิญญาณบรรพบุรุษจะคุ้มครองลูกหลาน ให้ปลอดภัยจากการออกทะเล ภัยธรรมชาติและโรคภัยไข้เจ็บ
ขั้นตอนพิธีกรรม ดังนี้ วันแรม 2 ค่ำ ช่วงเช้าโต๊ะหมอทำพิธีขอไม้ กลุ่มผู้ชายชาวเลจะไปตัดไม้ระกำและไม้ตีนเป็ด เพื่อให้ช่างต่อเป็นเรือตูละบาลา ณ ชุมชนบ้านกลาง ให้แล้วเสร็จก่อนเที่ยงของวันแรม 3 ค่ำ โต๊ะหมอ (ผู้นำทางจิตวิญญาณ) ทำพิธีขอบรรพบุรุษพร้อมเครื่องเซ่นไหว้บอกกล่าวเพื่อขอต่อเรือตูละบาลา และไหว้ศาลโต๊ะบุหรงเพื่อบอกกล่าวการจัดงานพิธีลอยเรือ กลางคืนมีการแสดงรำมะนาถวายโต๊ะบุหรง กลุ่มแม่บ้านชาวเลจัดเตรียมชุดเครื่องเซ่นไหว้ อาหาร คาวหวาน เพื่อใช้ในพิธีไหว้ศาลโต๊ะบุหรงและพิธีลอยเรือ ประกอบด้วย ข้าวเหนียวต้มสุกและดิบ 7 สี ขนมหวาน ข้าวตอก ข้าวสารเหลือง-ขาว หมาก พลู ยาสูบ เทียนน้ำมนต์ ด้ายแดง ด้ายขาว ด้ายเหลือง และชุดเครื่องครัว อาหารสำเร็จรูป อาทิ น้ำปลา น้ำตาล เกลือน้ำมัน ไม้เขียดไฟ หอมกระเทียม พริกแห้ง กะปิ เป็นต้น
พิธีต่อเรือตูละบาลา
ณ ชุมชนบ้านกลาง วันแรม 3 ค่ำ กลุ่มผู้ชายชาวเลจะช่วยกันต่อเรือตูละบาลาให้แล้วเสร็จพร้อมตกแต่งให้สวยงามเพื่อเตรียมแห่เรือในภาคบ่าย เวลาประมาณ 15.00 น. เครือข่ายชาวเลและประชาชนบ้านเกาะจำพร้อมกันบริเวณชุมชนบ้านกลาง เพื่อร่วมพิธีแห่เรือตูละบาลาไปยังศาลเจ้าโต๊ะบุหรง ก่อนมีพิธีแห่เรือ โต๊ะหมอ (ผู้นำทางจิตวิญญาณ) ทำพิธีเซ่นไหว้ ผู้แทนชาวเล 4 คน ร่วมกันยกเรือเข้าพิธีในขบวนแห่เรือ มีการบรรเลงและขับร้องดนตรีรำมะนาและรองเง็งตลอดเส้นทาง เพื่อความสนุกสนาน ขบวนแห่ถึงสถานที่ประกอบพิธีลอยเรือ ณ ศาลเจ้าโต๊ะบุหรงวางเรือไว้ตรงตำแหน่งที่กำหนด
ผู้เข้าร่วมพิธีนำเครื่องเซ่นไหว้สะเดาะเคราะห์ใส่ในเรือตูละบาลา
ชาวเลแต่ละครัวเรือนจะเตรียมน้ำสะอาดใส่ภาชนะพร้อมเทียนไข 1 เล่ม เพื่อให้โต๊ะหมอทำพิธีเสกน้ำมนต์ปัดเป่าและทำนายโชคชะตาจากหยดน้ำตาเทียนว่าดีหรือไม่ดี เรื่องสุขภาพหรืออื่นๆ เมื่อโต๊ะหมอทำพิธีครบทุกครัวเรือน ผู้เข้าร่วมพิธีจะนำน้ำมนต์ไปอาบชำระร่างกายที่บ้านเพื่อให้สิ่งชั่วร้ายไม่ดีออกไป
พิธีทำน้ำมนต์ในพิธีลอยเรือตูละบาลา ณ ชุมชนบ้านโต๊ะบุหรง
เวลาประมาณ 20.00 น. โต๊ะหมอเริ่มประกอบพิธีลอยเรือตูละบาลา ชาวเลที่ร่วมพิธีจุดเทียนไขวางในลำเรือให้สว่างไสว พร้อมใส่เงินตามศรัทธา และนำข้าวตอกมาทำพิธีปัดรังควานออกจากร่างกายและโปรยไปในลำเรือ กลุ่มชาวเลผู้ชายช่วยกันยกลำเรือ เพื่อนำไปลอยกลางทะเล ผู้เข้าร่วมพิธีร่วมส่งเรือ หลังส่งเรือเรียบร้อยแล้ว จะเป็นการเฉลิมฉลองพิธีลอยเรือ มีการแสดงพื้นบ้านรำมะนาและรองเง็ง บริเวณหน้าศาลเจ้าโต๊ะบุหรง
พิธีส่งเรือตูละบาลาออกสู่ทะเล
ในงานลอยเรือตูละบาลา มีการบรรเลงดนตรีประกอบพิธีลอยเรือ ดนตรีรำมะนาจะเริ่มบรรเลงหลังทำพิธีไหว้โต๊ะบุหรงและพิธีฉลองเรือก่อนที่จะนำออกไปลอยในทะเล ซึ่งพิธีไหว้โต๊ะบุหรงเป็นพิธีกรรมแรกของพิธีลอยเรือ โดยลูกหลานชาวอูรักลาโวยจ จะนำเครื่องเซ่นไหว้ ที่ประกอบด้วยอาหารคาวหวานนำมาวางไว้หน้าโต๊ะบุหรง
เมื่อโต๊ะหมอทำพิธีกรรมเสร็จ นักดนตรีจะเริ่มบรรเลงเพลงรำมะนา เริ่มด้วยเพลงแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้มากินของเซ่นไหว้ และบรรเลงอีก 6 เพลง ซึ่งเพลงมีเนื้อหาเกี่ยวกับวิถีชีวิตของชาวเลอูรักลาโวยจ
ดนตรีรำมะนาที่ใช้บรรเลงในพิธีลอยเรือมีทั้งหมด 7 เพลง ลักษณะของการขับร้องบทเพลง จะมีคนร้องนำหนึ่งคน จะร้องนำก่อนในแต่ละวรรคเพลง โดยคนร้องที่เหลือเป็นลูกคู่รับ คำร้องของลูกคู่รับมีลักษณะคล้ายกับคำร้องนำ ร้องสลับกันไปมาจนจบเพลง
เทคนิคการขับร้องมีหลายลักษณะเช่น การลักจังหวะ การโยกเสียง การผ่านเสียง การช้อนเสียง การสะบัดเสียง การโปรย และการเน้นเสียง คำร้องของเพลงใช้ภาษาของชาวอูรักลาโวยจ ซึ่งเป็นภาษาที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว นักร้องทั้งหมดตีกลองรำมะนาไปด้วยเพื่อประกอบจังหวะ
ประเพณีแต่งงาน
ในอดีตหนุ่มสาวชาวเลอูรักลาโวยจจะแต่งงานช่วงอายุประมาณ 14-18 ปี จะมีพิธีสู่ขอหมั้นหมาย โดยผู้ใหญ่ฝ่ายชายจะไปขอถึง 3 ครั้ง ถ้าตอบรับก็จะไปขอหมั้น หรือ "ปากัยตูนัง" ก่อนแต่งงาน 3 วัน ฝ่ายชายจะต้องอาสาทำงานบ้านผู้หญิง เช่น หาน้ำ ผ่าฟืนเป็นต้น วันแต่งงานขบวนแห่จะให้เจ้าบ่าวขี่คอเดินวนซ้ายรอบบ้านเจ้าสาว 3 รอบ
ก่อนย่างเข้าประตูบ้านผู้ใหญ่ฝ่ายเจ้าสาวจะถามว่า มีเรือไหม มีแหไหม มีฉมวกไหม เจ้าบ่าวตอบว่า "มี" ก็จะมีคนล้างเท้าให้ก่อนข้ามเข้าธรณีประตู เพื่อนเจ้าบ่าวจะนำเสื่อและหมอนไปวางในห้องเจ้าสาว เจ้าสาวจะประแป้งให้แขกที่มาร่วมงาน
วันรุ่งขึ้นพ่อแม่และญาติพี่น้องจะส่งตัวเจ้าบ่าวเจ้าสาวลงเรือไปผจญภัยตามเกาะต่าง ๆ โดยมีข้าวสาร น้ำจืด เครื่องมือจับปลาไปด้วย เพื่อพิสูจน์ว่าฝ่ายชายจะสามารถเลี้ยงดูภรรยาได้
ขาไปผู้ชายจะเป็นคนกรรเชียงเรือโดยให้ผู้หญิงนั่งหัวเรือ ขากลับผู้หญิงจะเป็นฝ่ายกรรเชียงเรือให้ผู้ชายนั่งหัวเรือ เป็นที่เข้าใจได้ว่าทั้งคู่เป็นสามีภรรยาตามพฤตินัยแล้ว เมื่อแต่งแล้วฝ่ายชายจะต้องเข้าไปอยู่บ้านฝ่ายหญิง (อาภรณ์ อุกฤษณ์ 2554, หน้า 199)
ปัจจุบันชาวเลมีพิธีแต่งงานที่คล้ายกับคนไทยพื้นถิ่น เริ่มตั้งแต่หนุ่มสาวชอบพอกัน ให้ผู้ใหญ่ไปสู่ขอ มีสินสอดของหมั้น มีงานเลี้ยงในหมู่ญาติและคนรู้จัก งานเลี้ยงจะขึ้นอยู่กับฐานะของคู่บ่าวสาว บางคู่ก็มีการกินเลี้ยงที่บ้าน มีพิธีรดน้ำให้พร โดยมีโต๊ะหมอเป็นผู้ทำพิธี และญาติผู้ใหญ่
ชุดแต่งงานของคู่บ่าวสาวก็เป็นไปตามสมัยนิยม ช่วงอายุของการแต่งงานจะอยู่ที่ยี่สิบปีขึ้นไป จะมีการแต่งงานงานระหว่างกลุ่มชาวเลด้วยกันเองและต่างกลุ่ม หลังแต่งงานแล้วการที่จะอยู่บ้านของฝ่ายไหนก็ขึ้นอยู่กับสะดวกและสถานที่ทำงานของฝ่ายนั้น
ประเพณีแลกเปลี่ยนสิ่งของและชิงเปรต
ชาวอูรักลาโวยจเดินทางไปทำบุญสารทเดือนสิบในตัวเมืองกระบี่ เหนือคลอง และวัดปกาสัย ทุกปี โดยไปค้างแรมนอนที่ตลาดนัดเหนือคลอง โรงนัดเหนือคลอง พรุดินนา และวัดปกาสัย จะเดินทางไปล่วงหน้า 2-3 วัน นำของทะเล เช่น ปลาเค็ม ปลาเบนย่าง ปะการัง กัลปังหา เปลือกหอย กำไลกระ เป็นต้น เพื่อไปแลกกับเสื้อผ้า อาหาร ขนมลาอับน้ำตาล ของใช้จำเป็นกับคนเมือง และร่วมพิธีชิงเปรต เพื่อเก็บขนมพอง ขนมลา ข้าวปลาอาหาร และเงินที่ชาวพุทธนำไปตั้งไหว้เปรต แล้วนำไปเซ่นไหว้บรรพบุรุษ เพราะเชื่อว่า ลูกหลานต้องไปรับบุญเพื่อให้วิญญาณบรรพบุรุษไม่อดอยาก
การเกิด
ในอดีต เมื่อผู้หญิงชาวเลอูรักลาโวยจตั้งครรภ์และถึงกำหนดคลอด "โต๊ะบิดัด" หรือหมอตำแยจะทำคลอดให้ เมื่อเด็กคลอดออกมาแล้วจะใช้ไม้ไผ่ที่เหลาจนบางตัดสายสะดือให้เด็ก และอาบน้ำเย็นให้เด็กก่อนจึงอาบน้ำอุ่นตาม และให้เด็กทารกดื่มน้ำผึ้งจนครบ 3 วัน เพื่อให้เด็กถ่ายของเสียออก จึงให้ดื่มนมแม่หลังคลอด 3 วัน จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายและเลี้ยงฉลอง หรือ "ทำนูหรี" โต๊ะบิดัดจะช่วยดูแลแม่และลูกในช่วงที่แม่อยู่ไฟ 7-9 หรือ 15 วัน เมื่อครบ 44 วัน พ่อแม่จะทำพิธีเซ่นไหว้ตายายอีกครั้ง ปัจจุบันนิยมคลอดกับแพทย์แผนปัจจุบัน
พิธีศพ
เมื่อมีสมาชิกชาวเลอูรักลาโวยจในชุมชนเสียชีวิต จะก่อกองไฟไว้หน้าบ้านผู้ตาย และจัดวางอาหารไว้หน้ากองไฟตลอด 3 วัน 3 คืน ถ้าเสียชีวิตในช่วงเช้าจะฝังศพตอนเย็น ถ้าเสียชีวิตหลังเที่ยงวัน จะทำพิธีฝังในวันรุ่งขึ้น ผู้ชายจะช่วยกันทำโลง และมีการอาบน้ำศพ โดยโต๊ะหมอจะอาบให้เป็นคนแรก ต่อด้วยญาติพี่น้อง เพื่อนบ้าน
หลังจากนั้นจะแต่งตัวให้ผู้ตายและทาน้ำมันหอมก่อนบรรจุลงในโลงศพที่ปูด้วยเสื่อ และใช้ผ้าขาวยาว 9 ศอก คลุมบนศพ นำข้าวของเครื่องใช้ของผู้ตายใส่ไปในโลงศพด้วย แล้วแห่ศพไปฝังยังสุสาน เมื่อโต๊ะหมอทำพิธี ญาติพี่น้องจะช่วยกันกลบหลุมศพ และปลูกมะพร้าวที่มีหน่อไว้ปลายเท้าศพ หลังจากนั้นอีก 3 วัน จะเลี้ยงอาหาร ดับกองไฟ และทำบุญผู้ตายอีกครั้ง ในพิธีแต่งเปลว (อาภรณ์ อุกฤษณ์ 2554, หน้า 201)
ปัจจุบันชาวอูรักลาโวยจที่นับถือศาสนาพุทธจะนิมนต์พระไปสวดในงานศพ ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาอิสลาม ก็จะปฏิบัติศาสนกิจและทำพิธีฝังศพตามหลักศาสนาอิสลาม ส่วนกลุ่มที่นับถือศาสนาคริสต์ก็จะทำพิธีฝังศพตามหลักศาสนาคริสต์
พิธีเซ่นไหว้บรรพชน
ชาวเลอูรักลาโวยจที่อาศัยอยู่ในชุมชนเดียวกันจะทำพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษร่วมกันปีละครั้ง ในอดีตเคยมีพิธีเซ่นไหว้วิญญาณบรรพบุรุษที่สิงสถิตอยู่ตามธรรมชาติ เช่น เจ้าทะเล เจ้าถ้ำ เจ้าเกาะ เจ้าแหลม ฯลฯ ก่อนหรือหลังพิธีลอยเรือในเดือน 6 เพื่ออ้อนวอนบอกกล่าวว่าเมื่อลมพลัด (ลมมรสุมตะวันตกเฉียงใต้) หรือลมออก (ลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ) พัดมาขอให้ลูกหลานหาปลาได้จำนวนมาก
พิธีแก้บน (แก้เหลย)
ชาวเลอูรักลาโวยจจะมีการแก้บน เนื่องจากได้บนบานศาลกล่าวกับสิ่งเหนือธรรมชาติที่ตนเคารพนับถือเพื่อขอให้ตนเองและครอบครัวหายจากการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือประสบผลสำเร็จในเรื่องใดเรื่องหนึ่ง
ถ้าเป็นไปเป็นตามที่ได้ขอหรือบนบานไว้ ก็ต้องมาแก้บนตามที่ได้พูดไว้ เช่น จัดให้มีการบรรเลงรำมะนา หรือถวายอาหารคาวหวาน เป็นต้น
ต้องทำตามที่ได้ให้สัญญาไว้ การแก้บนด้วยการบรรเลงรำมะนานั้นมักจะเป็นการแก้บนใหญ่ ๆ หมายถึง การบนบานศาลกล่าวในเรื่องเหนือธรรมชาติ เรื่องความเป็นความตาย เรื่องการเจ็บไข้ได้ป่วย หรือ ถูกรางวัลลอตเตอรี่
พิธีในวันขึ้น 15 ค่ำ ของทุกเดือน
จะมีการเล่นดนตรีรำมะนาเพื่อประกอบพิธีกรรม เพราะชาวเลมีความเชื่อว่าเมื่อประกอบพิธีกรรมนี้แล้วจะทำให้วิญญาณบรรพบุรุษคุ้มครองลูกหลานชาวอูรักลาโวยจ ให้ปลอดภัยจากการออกทะเล ภัยธรรมชาติและโรคภัยไข้เจ็บ
ขั้นตอนของพิธีกรรม เริ่มจากทำพิธีไหว้โต๊ะบุหรง ซึ่งถือเป็นบรรพบุรุษของชาวเลในหมู่บ้าน ลูกหลานชาวอูรักลาโวยจ จะนำเครื่องเซ่นไหว้ที่ประกอบด้วยอาหารคาวหวานนำมาวางไว้หน้าโต๊ะบุหรง เมื่อโต๊ะหมอทำพิธีกรรมเสร็จ นักดนตรีก็จะเริ่มบรรเลงดนตรี โดยเครื่องดนตรีที่ใช้ คือ รำมะนา
ทุนวัฒนธรรม
รำมะนา
แสดงในพิธีกรรมต่าง ๆ เช่น ลอยเรือ แต่งเปรว แก้บน เครื่องดนตรีที่ใช้มีชนิดเดียวคือ กลองรำมะนา เป็นกลองที่ทำด้วยไม้ขึงหน้าหนังด้านเดียว การบรรเลงใช้รำมะนาจำนวน 2-3 ใบ
การบรรเลงดนตรีรำมะนา ไม่มีพิธีการมาก เริ่มด้วยเพลงแรกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับการอัญเชิญวิญญาณบรรพบุรุษให้มากินของเซ่นไหว้ และบรรเลงต่ออีก 6 เพลง เนื้อหาของเพลงกล่าวถึงวิถีชีวิตของชาวเลอูรักลาโว้ย ดนตรีรำมะนาในพิธีมีเพลงทั้งหมด 7 เพลง
ลักษณะของบทเพลงมีคนร้องนำหนึ่งคนจะร้องนำก่อนในแต่ละวรรคเพลง คนที่เหลือเป็นลูกคู่รับ คำร้องของลูกคู่รับมีลักษณะคล้ายกับคำร้องนำ ร้องสลับกันไปมาจนจบเพลง เทคนิคการขับร้องมีหลายลักษณะเช่น การลักจังหวะ การโยกเสียง การผ่านเสียง การช้อนเสียง การสะบัดเสียง การโปรยและการเน้นเสียง คำร้องของเพลงใช้ภาษาของอูรักลาโวยจ
ภูมิปัญญาท้องถิ่น
ภูมิปัญญาของชาวเลอูรักลาโวยจ ได้แก่ การทำบูบูอีกัด (ไซปลา), การทำบูบูนุยฮ (ไซปลาหมึก), การทำปูกัยจ ฮูรัก(อวนกุ้ง) การดูกระแสน้ำ, การดูทิศทางลม, การโคจรของดวงจันทร์และดวงดาว, การต่อเรือปลาจั๊ก การจักสานฝาบ้าน สานเสื่อ, เย็บจากมุงหลังคาบ้าน การจักสานตะกร้า กันหม้อ (ที่รองหม้อ), จงนั่ง ทำจากเตยดิน เป็นที่ใส่ของ เช่น ใส่หมากพลู ใส่รวงข้าว ใส่ข้าวห่อในเรือ สมุกไว้ใส่ยา ทำปลาย่าง, ทำปลาเค็ม (ปลาแห้ง), การทำจาวหลู (เคยเค็ม) การทำกะปิ เป็นต้น
การละเล่น
เล่นข้าวหุงเลียง, ปิดตาลักซ่อน, หมากขุม, มอญซ่อนผ้า, เล่นพ่อแม่ลูก, เล่นเตย เป็นต้น ส่วนเด็กผู้ชายจะเล่น ปลากัดว่ายน้ำ, หาปลาหัวกัว, ตกปลาตามหัวสะพาน ตามโขดหิน, ขว้างกระป๋อง, เล่นซ่อนแอบ, เล่นตำรวจจับผู้ร้าย, เล่นยิงปืน เป็นต้น
ส่วนเด็กชาวเลในปัจจุบันมีการละเล่นตามสมัยนิยมเหมือนคนทั่วไป เช่น เล่นขายข้าวแกง ร้องเพลงเต้นรำ เล่นตุ๊กตา ส่วนเด็กผู้ชาย เล่นน้ำ ขี่คอกระโดด เล่นยิงปืน ตกเบ็ด เป็นต้น
อาหาร
มีอาหารทะเลประเภท กุ้ง หอย ปลา ปู กั้ง ปลาหมีก และเพรียงทะเล เป็นอาหารหลัก นำมาต้ม ย่าง เผา หรือกินสด ๆ เช่น ยำหอยติเตบกินกับน้ำชุบเคย หอยตาชัยผัดกระเทียมพริกไทย, ข้าวยำ, แกงกะทิหอยตาชัยกับมะละกอหรือสับปะรด, ต้มส้มหอยตาชัย, แกงกะทิหอยใส่มะพร้าวคั่ว, ปลาจ้องม้องต้มส้ม, ข้าวมันหุงกับน้ำกะทิกินกับหอยมีดพร้า, หมึกต้มตะไคร้, หมึกผัดดำ, หมึกต้มส้ม ปลากระเบนย่าง, หอยโข่งยำรีเสะ (มะพร้าวคั่ว), ยำเห็ดหลุบ, แกงกะทิเห็ดหลุบ, น้ำพริกมะเขืออึก, ห่อหมก, น้ำชุบคั่ว และยำหอยยักษ์ เป็นต้น
ชาวชุมชนโต๊ะบุหรงใช้ภาษาอูรักลาโวยจสื่อสารในชีวิตประจำวัน มีภาษาพูดแต่ไม่มีภาษาเขียน คำศัพท์มีน้อย เข้าใจกันเฉพาะกลุ่ม แสดงถึงอัตลักษณ์ทางภาษาของกลุ่มชาติพันธุ์
ตัวอย่าง ได้แก่
คำที่ใช้เรียกชื่อสถานที่ เช่น ปูเลา เกอจั๊บ เดอมี หมายถึง เกาะจำนุ้ย, ลัก หง่า ต้อย หมายถึง บริเวณที่เกาะของนกอินทรีทะเล, ตือโป๊ะ ตืองะ หมายถึง บ้านกลาง เป็นต้น
สัตว์บก เช่น อีตี หมายถึง เป็ด, ลีปัด หมายถึง ตะขาบ, บูรก หมายถึง นก
พืชผัก ผลไม้ เช่น กาจักจับปัยจ หมายถึง ถั่วพู, กาจักตูโมะ, หมายถึง ถั่วงอก, กาจักปาญัก หมายถึง ถั่วฝักยาว เป็นต้น
คำกริยา เช่น เกอละฮ หมายถึง หัวเราะ, ตีโนะ หมายถึง นอน, เมอเลา หมายถึง พูด เป็นต้น (สำนักงานวัฒนธรรมจังหวัดกระบี่. มปป., หน้า 14-16)
อวัยวะ เช่น ซีกู หมายถึง ข้อศอก, ดากู หมายถึง คาง, ตางัน หมายถึง มือ เป็นต้น
ประโยคคำถาม เช่น เกา บวยจ นามา หมายถึง เธอทำอะไร
ประโยคคำสั่ง เช่น ยางัน ลูปา มากัด นาซิ นอ หมายถึง อย่าลืมกินข้าวนะ
ประโยคบอกเล่า เช่น กูญา มากัด ลาโวะ หมายถึง เขากินปลา เป็นต้น (ศูนย์ศึกษาและฟื้นฟูภาษาและวัฒนธรรมในภาวะวิกฤต, 2563, หน้า 32-33)
ความขัดแย้งเรื่องสิทธิการครอบครองพื้นที่และการใช้ประโยชน์ในพื้นที่ของคนดั้งเดิม, ชาวเลอูรักลาโว้ยกับหน่วยงานของรัฐ (ป่าชายเลน กรมเจ้าท่า ที่ราชพัสดุ)
ประปาหมู่บ้าน ไฟฟ้า ถนนเข้าชุมชน การพัฒนายังไม่ทั่วถึงบ้านทุกหลัง ยังมีบ้านบางหลังต้องพ่วงไฟฟ้ากับบ้านที่มีหม้อไฟฟ้า และอีกหลายหลังที่พ่วงไฟฟ้าบ้านอื่นเนื่องจากยังไม่มีบ้านเลขที่ ซึ่งการขอบ้านเลขที่นั้นบ้านแต่ละหลังที่สร้างจะต้องมีห้องน้ำ บ้านชาวอูรักลาโว้ยหลายหลังยังไม่มีห้องน้ำ และการขอบ้านเลขที่ในพื้นที่ของรัฐ จะต้องมีหนังสือยินยอมจากหน่วยงานที่รับผิดชอบ (บ้านที่ตั้งบนพื้นที่ป่าชายเลน ต้องมีหนังสือรับรองการใช้พื้นที่ บ้านที่อยู่เขตพื้นที่กรมเจ้าท่าก็ต้องมีใบอนุญาตจากกรมเจ้าท่า ส่วนที่ราชพัสดุก็จะต้องมีใบรับรองการใช้พื้นที่จากหน่วยงานที่ราชพัสดุ
ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. (2567). รายงานโครงการสำรวจและจัดการข้อมูลกลุ่มชาติพันธุ์อูรักลาโวยจ ปีงบประมาณ 2567. กรุงเทพฯ : ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร (องค์การมหาชน).