แหล่งศึกษาธรรมชาติบ้านเปร็ดใน ชุมชนที่มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ
คำว่า "เปร็ด" มาจากภาษาเขมร ที่หมายถึง เส้นทางผ่านหรือทางลัด ซึ่งในอดีตหมู่บ้านเปร็ดในก็เป็นเส้นทางหนึ่งที่ชาวเขมรใช้เป็นเส้นทางติดต่อค้าขายระหว่างชนชาติต่าง ๆ บริเวณแหลมอ่าวไทย
ขณะที่อีกความเป็นมาของชื่อชุมชนมีการสันนิษฐานว่าเพี้ยนมาจากคำว่า "เป็ด" โดยมีตำนานของหมู่บ้านคือ มีหนองน้ำชื่อ หนองเป็ด น้ำลึกท่วมหัว มีป่าใหญ่ล้อมรอบ ได้มีเป็ดเงินเป็ดทองว่ายน้ำมาในหนองเป็ดในวันเพ็ญ 15 ค่ำ และไปอยู่หนองนอกในวันแรม 14 ค่ำ ชาวบ้านจึงเรียก หนองเป็ด เพี้ยนมาเป็น "เปร็ด"
แหล่งศึกษาธรรมชาติบ้านเปร็ดใน ชุมชนที่มีป่าชายเลนที่อุดมสมบูรณ์ขนาดใหญ่เป็นอันดับ 2 ของประเทศ
สันนิษฐานว่าเริ่มมีคนเข้ามาตั้งถิ่นฐานตั้งแต่ประมาณปี พ.ศ. 2396 โดยมีผู้นำในการเข้ามาตั้งถิ่นฐานครั้งแรกนั้น สันนิษฐานว่ามี 2 ตระกูล คือ ทวดตุ๋งและทวดเปรม ชูมณี เชื้อสายจีน กับทวดจิ๋วและทวดจาบ เสี่ยงเคราะห์ โดยมีการอพยพย้ายถิ่นฐานมาจากหมู่บ้านโคก แถบตำบลหนองคันทรง เข้ามาจับจองที่ดิน โดยได้มีการอพยพเข้ามาถากถางที่ดินซึ่งในเวลานั้นเป็นป่าดิบทึบ มีสัตว์ป่ามากมาย เช่น เสือ กวาง หมูป่า ติดกับทะเลเป็นป่าชายเลนอันอุดมสมบรูณ์และมีสัตว์น้ำชุกชุม ลักษณะการตั้งบ้านเรือนจะกระจายอยู่ตามป่าบก ซึ่งบ้านแต่ละหลังจะอยู่ห่างกันและมีต้นไม้ใหญ่ล้อมรอบ
ชุมชนบ้านเปร็ดในตั้งอยู่ในตำบลห้วงน้ำขาว อำเภอเมือง จังหวัดตราด มีอาณาเขตติดต่อดังนี้
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ ตำบลหนองคันทรง
- ทิศใต้ ติดต่อกับ หมู่ 3 บ้านอ่าวกรูด
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ หมู่ 1 บ้านเปร็ดนอก หมู่ 3 บ้านอ่าวกรูด หมู่ 4 บ้านห้วงน้ำขาว
- ทิศเหนือ ติดต่อกับ พื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติท่าตะเภ่-น้ำเชี่ยว
ชุมชนบ้านเปร็ดใน แบ่งพื้นที่ทัังหมดประมาณ 12,367 ไร่ ประกอบด้วย พื้นที่อยู่อาศัยและพื้นที่สาธารณะ 990 ไร่ พื้นที่เกษตรกรรม 1,337 ไร่ พื้นที่ป่าชายเลนที่เป็นพื้นที่ป่าสงวนแห่งชาติท่าตะเภาน้ำเชี่ยว 10,430 ไร่
ชุมชนบ้านเปร็ดในมีสถิติจำนวนประชากรทั้งหมด 617 คน แบ่งเป็นผู้ชายจำนวน 312 คน ผู้หญิงจำนวน 305 คน และมีจำนวนครัวเรือน 232 หลัง
กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน
กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดในเกิดมาจากการรวมตัวต่อสู้กับผู้ประกอบการนากุ้งที่เข้ามาตั้งแต่ปี พ.ศ. 2524 เป็นต้นมา ได้ส่งผลให้ชาวบ้านเริ่มมีการปรับเปลี่ยนไปทำอาชีพทำนากุ้ง เนื่องจากไม่สามารถทำนาข้าวด้วยวิธีชีวิตแบบเดิม ๆ ได้อีกต่อไป จนเริ่มเกิดความเสื่อมโทรมในพื้นที่ป่าชายเลนและหน้าทะเลเนื่องจากการปล่อยน้ำเสียจากนากุ้ง ทั้งยังมีการบุกรุกพื้นที่ป่าชายเลนเพื่อขุดบ่อทำนากุ้ง มีการสัมปทานป่าไม้ผิดเงื่อนไขของนายทุน ทำให้สภาพป่าเสื่อมโทรมเป็นอย่างมาก ส่งผลให้ชาวบ้านรวมตัวกันต่อสู้เพื่อแก้ไขปัญหาและปกป้องผืนป่า และพัฒนากลุ่มจนมาเป็นกลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน ในปีพ.ศ. 2541
กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน มีการวางโครงสร้างการบริหารจัดการกลุ่ม ตามแผนการจัดการทรัพยากรป่าชายเลนและพื้นที่หน้าทะเล และดําเนินกิจกรรมโดยได้รับ การสนับสนุนทางวิชาการจากศูนย์ฝึกอบรมวนศาสตร์ชุมชนแห่งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก (Regional Community Forestry Training Center for Asia and the Pacific: RECOFTC)
กิจกรรมการอนุรักษ์ป่ายังขยายผลไปเชื่อมโยงสู่กิจกรรมที่หลากหลาย สร้างเครือข่ายความร่วมมือจากทุกกลุ่มในชุมชน ขยายผลสู่เครือข่ายนอกชุมชน โดยมีเป้าหมายอยู่ที่การอนุรักษ์ป่าชายเลนเพื่อให้เป็นแหล่งศึกษาธรรมชาติของสาธารณชน และเป็นแหล่งอนุบาลสัตว์น้ำสำคัญที่ยังเหลืออยู่เพียงแห่งเดียวในน่านน้ำทะเลฝั่งอ่าวไทย
ทุนวัฒนธรรม
วัดห้วงน้ำขาว เป็นแหล่งรวมจิตใจของชาวบ้านเปร็ดในและชาวบ้านในหมู่อื่น ๆ ของตำบลห้วงน้ำขาว ซึ่งในวันสำคัญทางศาสนาชาวบ้านจากทุกบ้านจะนำอาหารคาวหวานไปทำบุญที่วัดและแลกเปลี่ยนพูดคุยกัน ทำให้ความสัมพันธ์ระหว่างบ้านเปร็ดในกับหมู่บ้านอื่น ๆ แน่นแฟ้น รวมถึงประเพณีของชาวบ้านเปร็ดในนั้นยังคงเป็นแบบผสมผสานจีนกับไทย เนื่องจากส่วนใหญ่สืบเชื้อสายจีน ประเพณีที่สำคัญ เช่น สารทจีน ตรุษจีน การเซ่นไหวบรรพบุรุษ และมีการทำบุญศาลเจ้าปู่คุ้มในช่วงวันตรุษจีน ราวเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
อภีษฎา คุณาพรธรรม. (2551). การจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมของเครือข่ายองค์กรชุมชน : กรณีศึกษา กลุ่มอนุรักษ์และพัฒนาป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน จังหวัดตราด. ศิลปศาสตรมหาบัณฑิต, จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย.
กระทรวงการท่องเที่ยวและกีฬาของประเทศไทย. (ม.ป.ป.). ป่าชายเลนบ้านเปร็ดใน. https://thailandtourismdirectory.go.th/