เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านที่มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการทำแพปลา สู่การก่อตั้งธนาคารปูม้าเพื่อฟื้นวิถีการทำประมงที่รับผิดชอบต่อทะเลและรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ
มาจากชื่อที่ตั้งของธนาคารปูคือตำบลแหลมผักเบี้ย อำเภอบ้านแหลม จังหวัดเพชรบุรี ซึ่งชื่อ "แหลมผักเบี้ย" มาจากลักษณะของพื้นที่ที่เป็นหาดทรายขาวและมีผักเบี้ยขึ้นเป็นจำนวนมาก ชาวบ้านต่างพากันเรียกบริเวณนี้ว่า "แหลมผักเบี้ย"
เครือข่ายชาวประมงพื้นบ้านที่มีจุดเริ่มต้นเล็ก ๆ จากการทำแพปลา สู่การก่อตั้งธนาคารปูม้าเพื่อฟื้นวิถีการทำประมงที่รับผิดชอบต่อทะเลและรักษาทรัพยากรทางธรรมชาติ
ธนาคารปูม้าชุมชนแหลมผักเบี้ยเริ่มต้นมาจากการทำแพปลา ต่อมาช่วงก่อน พ.ศ. 2551 เกิดวิกฤติของทรัพยากรทางทะเลในชุมชน เนื่องจากชาวประมงใช้อวนขนาดเล็กเกินไปจับสัตว์ทะเล สัตว์ทะเลหลายชนิดติดเข้ามาอยู่ในอวนเป็นจำนวนมาก เช่น สัตว์น้ำวัยอ่อน สัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง และปะการังที่เป็นแหล่งที่อยู่อาศัยของสัตว์น้ำ ส่งผลให้สัตว์น้ำจึงใกล้สูญพันธุ์ ชาวประมงจับปลาได้ลดลง และราคาอาหารทะเลตกต่ำ จนทำให้ชาวประมงบางคนต้องเลิกทำการประมงไป คนในชุมชนและเครือข่ายชาวประมงของชุมชนแหลมผักเบี้ยจึงร่วมกันก่อตั้งธนาคารปูม้าขึ้นมา รวมทั้งสร้างกระชังเพาะเลี้ยงปลาทะเล และฟื้นฟูวิถีการทำประมงพื้นบ้าน
ในช่วงระหว่างที่มีการแก้ไขปัญหาเรื่องทรัพยากร ชาวชุมชนแหลมผักเบี้ยได้ไปศึกษาดูงานเกี่ยวกับการบริหารจัดการแพปลาชุมชน มีการนัดประชุมกับชาวประมงที่สนใจ จัดตั้งกลุ่มแพปลาชุมชนโดยระงมเงินทุนขั้นต้นในการดำเนินการบริหารจัดการแพปลา กำหนดกฏกติกาสำหรับสมาชิกเพื่อให้แนวปฏิบัติร่วมกัน รวมทั้งมีแนวทางฟื้นฟูทรัพยากรสัตว์ที่ชัดเจน โดยปรับเปลี่ยนมาใช้เครื่องมือจับสัตว์น้ำที่หลากหลายมากขึ้นให้เหมาะสมกับฤดูกาลและสัตว์น้ำที่ต้องการ สมาชิกในกลุ่มแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบ มีการจัดการเงินทุนและจัดทำบัญชีอย่างเป็นระบบ คนในชุมชนจึงมีเป้าหมายในการทำประมง
การทำธนาคารปูม้ามีหลักการคือให้สมาชิกนำปูที่ไข่นอกกระดองมาเลี้ยงในธนาคาร เพื่อขยายพันธุ์ปูและปล่อยคืนสู่ธรรมชาติ โดยมีเงื่อนไขคือทุกวันที่ชาวประมงในหมู่บ้านออกเรือไปจับปูม้า เมื่อกลับเข้าฝั่งจะต้องนำแม่ปูม้าที่มีไข่แก่นอกกระดองมาบริจาคให้กับธนาคารอย่างน้อยคนละ 1 ตัว เพื่อนำปูมาเลี้ยงในถังที่มีออกซิเจนจนกระทั่งแม่ปูสลัดไข่และไข่ฟักเป็นตัวอ่อนของลูกปู จากนั้นสมาชิกก็จะปล่อยลูกปูไปตามท่อน้ำที่เชื่อมจากถังเลี้ยงสู่ทะเล เพื่อขยายพันธุ์ปูและปล่อยปูคืนสู่ธรรมชาติ ซึ่งแม่ปู 1 ตัว มีไข่ที่เป็นตัวแล้วจำนวนประมาณ 700,000 ตัว
นอกจากนี้ ธนาคารปูม้ายังมีส่วนช่วยสร้างอาชีพและรายได้ให้กับสมาชิก เนื่องจากชุมชนทำการตลาดเอง ผลิตสินค้าและจัดจำหน่ายโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง และกำหนดราคาอย่างสมเหตุสมผล โดยมีการตรวจสอบอย่างสม่ำเสมอเพื่อให้ผลิตอาหารที่ปลอดภัย สินค้าที่จำหน่าย ได้แก่ อาหารทะเลอินทรีย์ อาหารทะเลปลอดสาร นอกจากนี้ชุมชนยังนำอาหารทะเลที่สดใหม่ไปขายในกรุงเทพฯ เพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับสินค้า ทำให้ชาวประมงมีอาชีพที่มั่นคง รวมทั้งผู้บริโภคก็จะได้รับประทานอาหารที่ปลอดภัย ไร้สารเคมีที่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ หลังจากนั้นประมาณ 1 ปีกว่า ชุมชนจึงเปิดตลาดในพื้นที่เพื่อให้ผู้มาเยือน นักท่องเที่ยวได้ซื้อและรับประทานอาหารทะเลที่ปลอดภัย
ปัจจุบันในกลุ่มธนาคารปูม้ามีสมาชิกรวม 33 คน (ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2567) และวิสาหกิจชุมชนกลุ่มแพปลาชุมชนแหลมผักเบี้ยได้รวมกลุ่มกันกว่า 200 ครอบครัว (ข้อมูลจากปี พ.ศ. 2567) ทำการประมงพื้นบ้านเพื่อผลิตอาหารทะเลปลอดสารพิษ และร่วมกันเปิดร้านอาหารชื่อ "โอ้โหปูอร่อย ชุมชนท่องเที่ยวแหลมผักเบี้ย" นอกจากนี้มีกิจกรรมชมทะเลแหวก แต่ต้องดูช่วงเวลาน้ำขึ้นน้ำลง มีบริการนักท่องเที่ยวหรือผู้สนใจที่มาศึกษาดูงาน และมีกิจกรรมปล่อยปูลงทะเล โดยเอาถังใบเล็กมาตักไปเทปล่อยที่ทะเลในช่วงน้ำลง เพื่อให้น้ำทะเลพาลูกปูออกสู่ชายฝั่งป่าโกงกาง เพิ่มโอกาสรอดชีวิตและเติบโต
แหลมผักเบี้ยเป็นชายหาดที่แรกของฝั่งอ่าวไทย ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างหาดโคลนในจังหวัดสมุทรสงครามและหาดทรายของภาคใต้ แหลมผักเบี้ยจึงเป็นพื้นที่ที่รับน้ำจืดจากแม่น้ำหลายสาย ได้แก่ แม่น้ำเจ้าพระยา แม่น้ำบางปะกง แม่น้ำท่าจีน แม่น้ำแม่กลอง แม่น้ำเพชรบุรี เมื่อตะกอนแม่น้ำดังกล่าวลงสู่ทะเลในแหลมผักเบี้ย ทำให้น้ำทะเลมีความขุ่นสูงเกิดเป็นหาดโคลนและหาดทราย ดังนั้นแหลมผักเบี้ยจึงมีความอุดมสมบูรณ์ทางทรัพยากรทางทะเลมาก
คนในชุมชนเป็นชาวประมง และชาวบ้านในพื้นที่ที่รวมตัวกันดูแลในเรื่องการตลาดและจำหน่ายผลิตภัณฑ์อาหารทะเลอินทรีย์ รวมทั้งบริหารจัดการร้านอาหาร "โอ้โหปูอร่อย ชุมชนท่องเที่ยวแหลมผักเบี้ย"
ธนาคารปูม้าชุมชนแหลมผักเบี้ยมีผู้นำชุมชน 2 คน ได้แก่ ผู้ใหญ่ส้มหรือนางอัจฉรี เสริมทรัพย์ ประธานวิสาหกิจกลุ่มแพปลาชุมชน และนายอภิชัย เสริมศรี หรือพี่วิน ประธานธนาคารปูม้าแหลมผักเบี้ย
ทุนชุมชนประกอบด้วยทรัพยากรทางธรรมชาติ ได้แก่ หาดแหลมผักเบี้ย สัตว์น้ำในแพปลาและธนาคารปูม้า รวมทั้งภูมิปัญญาในการทำประมงพื้นบ้านและธนาคารปูม้าเพื่ออนุรักษ์ทรัพยากรของท้องถิ่น ดังนั้นธนาคารปูจึงเป็นแหล่งเรียนรู้เกี่ยวกับปูม้าและสัตว์น้ำชนิดอื่น ๆ ให้กับผู้ที่สนใจ
ธนาคารปู. (ม.ป.ป.). ธนาคารปูม้าพื้นที่จังหวัดเพชรบุรี. https://www.ธนาคารปูม้า.com/
สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน. (ม.ป.ป.). แพปลา ธนาคารปูชุมชนแหลมผักเบี้ยเพชรบุรี ต้นแบบในการฟื้นฟูท้องทะเลไทย. https://web.codi.or.th/
องค์การบริหารส่วนตำบลแหลมผักเบี้ย. (ม.ป.ป.). ประวัติความเป็นมาของตำบลแหลมผักเบี้ย. http://www.laemphakbia.go.th/