ชุมชนชาวกูยที่ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณนี้
บ้านสําโรงทาบตั้งตามชื่อของต้นสําโรง ซึ่งเป็นไม้ยืนต้นสูงโปร่ง แต่เนื่องจากต้นสําโรงที่อยู่ในหมู่บ้านมีลักษณะพุ่มเตี้ยใบปกคลุมพื้นดิน จึงได้ชื่อว่าสําโรงทาบ ชาวกูยเรียกว่า เชาะอืมโรงเถียบ แปลว่า สําโรงเตี้ยหรือสําโรงพุ่ม
ชุมชนชาวกูยที่ถือเป็นกลุ่มชาติพันธุ์ที่มีอยู่ในประเทศไทยที่ได้เข้ามาตั้งถิ่นฐานในพื้นที่บริเวณนี้
เดิมบ้านสำโรงทาบอยู่ที่เซาะดี (บ้านกล้วย) อยู่ทางทิศตะวันออกเฉียงใต้ของหมู่บ้านประมาณ 3 กิโลเมตร มีเรื่องเล่าว่า บ้านเก่าเกิดโรคระบาด ลมพายุพัดบ้านเรือนเสียหาย ผู้คนล้มตายเป็นจํานวนมาก ประกอบกับไม่ได้ทํานาทําไร่หลายปีติดต่อกัน ตาแสง ผู้ใหญ่บ้านในสมัยนั้นเห็นว่าถ้าขึ้นอยู่ต่อไปอีกคงพากันอดตาย จึงได้พาลูกบ้านอพยพมาอยู่ยังบ้านใหม่คือบ้านสำโรงทาบ เพราะเห็นว่าเป็นทําเลที่ดีเหมาะสมและมีห้วยอันเป็นแหล่งน้ำธรรมชาติพร้อมสมบูรณ์จึงพากันสร้างบ้านเรือนขึ้นใหม่พร้อมกับสร้างวัดประจําหมู่บ้านทางด้านทิศตะวันตกเฉียงเหนือของหมู่บ้าน เมื่อมีประชากรมากขึ้นหมู่บ้านได้ขยายออกไปด้านทิศเหนือ วัดที่สร้างจึงต้องตกไปอยู่ทางด้านทิศตะวันตกอย่างเลี่ยงไม่ได้ ต่อมาเกิดความแห้งแล้งติดต่อกันหลายปีทุกคนในหมู่บ้านลงความเห็นตรงกันว่าเพราะวัดอยู่ทางทิศตะวันตกของหมู่บ้านอันเป็นทิศที่ไม่เป็นมงคลทําให้เกิดภัยพิบัติอยู่เนือง ๆ จึงย้ายวัดไปอยู่ทางทิศตะวันออกของหมู่บ้าน (ศาลากลางหมู่บ้านปัจจุบัน) เมื่อมีผู้คนมากขึ้นและได้ขยายบ้านเรือนไปด้านทิศตะวันออกของวัดเกิดโรคระบาดและภัยแห้งแล้งอีก กอรปกับที่สร้างวัดดังกล่าวเป็นที่ลาดเอียงน้ำเซาะดิน วัดเอียงลาดไปด้วยจึงได้ย้ายวัดไปยังบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน
เดิมบ้านสำโรงทาบขึ้นตรงต่อมณฑลอุบลราชธานีครั้งเมื่อการปกครองแบ่งเป็นมณฑลมีผู้นําหมู่บ้านตอนนั้น หลวงพิบูลย์บุราคร ซึ่งเป็นหลานของตาแสงเป็นกํานันคนแรกมีพระครูบริคุตต์เป็นเจ้าอาวาสวัดและเจ้าคณะอําเภอ ต่อมาโดยขึ้นตรงต่ออําเภอศีขรภูมิ จังหวัดสุรินทร์ สําโรงทาบเป็นหมู่บ้านเก่าแก่มีอายุกว่า 200 ปี ปัจจุบันบ้านสำโรงทาบแบ่งออกเป็น 2 หมู่บ้าน เมื่อปี พ.ศ. 2527 คือหมู่ 1 และหมู่ 11 โดยใช้ถนนสายสำโรงทาบ-ปรางค์กู่ ที่ผ่ากลางหมู่บ้านเป็นเขตแดนสําหรับแบ่งแยกระหว่างหมู่บ้านสำโรงทาบและบ้านโดด แต่ถึงอย่างไรชาวบ้านก็ยังมีวัดเกตุวรารามเป็นศูนย์รวมทางด้านจิตใจเพื่อประกอบพิธีกรรมต่าง ๆ ร่วมกัน ไม่เพียงแต่เป็นศูนย์รวมทุก ๆ ด้านของ 2 หมู่บ้านเท่านั้น แต่ก็ยังเป็นที่ร่วมประกอบพิธีกรรมของบ้านใหม่ศรีสําโรงและบ้านงิ้วที่เป็นหมู่บ้านที่แยกออกไปตั้งบ้านเรือนจากบ้านสำโรงทาบด้วย
เดิมหมู่บ้านแห่งนี้เป็นแหล่งที่อุดมสมบูรณ์ด้วยพืชพันธุ์ธัญญาหารมาก มีห้วยน้ำไหลผ่านทางด้านตะวันตกหมู่บ้าน มีป่าละเมาะอยู่ทางทิศใต้และทิศตะวันออกของหมู่บ้าน ซึ่งแต่เดิมนั้นเป็นป่ากว้างไปจนถึงเซาะดี (บ้านกล้วย) ทิศตะวันออกจะเป็นแหล่งของเห็ดชนิดต่าง ๆ และป่าทางทิศใต้หมู่บ้านจะเป็นผลไม้ป่าและบรรดาสัตว์เล็กสัตว์น้อยที่ใช้สําหรับบริโภค เช่น กบ เขียด ปู ปลา และสัตว์ป่าจําพวกสัตว์ปีก เป็นต้น เพราะทางทิศใต้ของหมู่บ้านมีลักษณะเป็นเนินและที่ดอนลาดเอียงไปทางทิศตะวันตกซึ่งมีลําห้วยแสงไหลผ่าน
ประชากรในบ้านสำโรงทาบเป็นกลุ่มชาติพันธ์ุชาวกูยหรือชาวส่วยเป็นกลุ่มชนกลุ่มหนึ่ง แต่เนื่องจากชาวกูยเป็นกลุ่มชนที่ไม่มีตัวหนังสือเขียนจึงไม่มีหลักฐานที่บันทึกเป็นลายลักษณ์อักษรว่ากลุ่มชนชาวกูยมีความเป็นมาอย่างไร มีแต่เพียงเรื่องเล่าสืบต่อกันมาจึงไม่สามารถหาหลักฐานยืนยันได้แน่นอนว่าชาวกูยแต่เดิมตั้งถิ่นฐานอยู่ที่ไหน ในเวลาต่อมา ไซเคนพาเดน (Seidenfaden) ชาวเดนมาร์ค ซึ่งเป็นครูฝึกหัดตำรวจในมณฑลอีสาน (จังหวัดอุบลราชธานี) สมัยรัชกาลที่ 5 ได้ศึกษาเรื่องราวของชาวกูยในเขมรและสยาม (The Kui People of Gambudia and Siam) ได้กล่าวถึงการอพยพของชาวกูยจากตอนเหนือของอินเดียมาทางตะวันออกเข้าเขตพม่าและไทย เมื่อราว 1,200 ปี ก่อนคริสตกาล (ประมาณ 3,000 ปี) ตลอดระยะเวลาอันยาวนานนี้ชาวกูยได้เคลื่อนย้ายกระจายอยู่ในแถบตอนเหนือของเขมรและตอนใต้ของลาวและทางตอนใต้ของภาคตะวันออกเฉียงเหนือของไทยหากเป็นดังคํากล่าวของไซเดนฟาเดน แสดงว่ากลุ่มชาวกูยเป็นกลุ่มชนที่เก่าแก่กลุ่มหนึ่งที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ในแถบดังกล่าวกว่า 3,000 ปี มาแล้วแต่ก็ยังไม่มีหลักฐานที่แน่ชัดเพราะเป็นเพียงการสันนิษฐานจากการเปรียบเทียบถึงวัฒนธรรมบางอย่างที่บังเอิญไปพ้องกันกับชาวมุนด์ อันมี วัฒนธรรมในการจับช้างหรือคล้องช้างเหมือนกับชาวกูยในแถบอีสานตอนใต้และแถบเขมร และวัฒนธรรมทางด้านภาษาโดยเฉพาะภาษาในพิธีกรรม
เอกสารที่เป็นหลักฐานพอที่จะเชื่อถือยืนยันได้อีกอย่างหนึ่งที่แสดงให้เห็นว่าชาวกูยเป็นกลุ่มชนที่อาศัยอยู่ในแถบนี้และเป็นกลุ่มชนดั้งเดิมคือ เอกสารของปราชญ์ไทยในสมัยรัชกาลที่ 5 ซึ่งเป็นข้าหลวงและข้าราชการ ประกอบด้วย หม่อมอมร วงศ์วิจิตร (พ.ศ. 2443) พระยา ประชากิจกรจักร (พ.ศ. 2447) และสมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (ติสโสอ้วน) ปราชญ์ทั้ง 3 ท่าน ต่างให้ความเห็นที่สอดคล้องกันว่ากลุ่มชนที่อาศัยอยู่ดั้งเดิมในภาคอีสานได้แก่กลุ่มที่พูดภาษาตระกูลมอญ-เขมร และมีชาวกูยเป็นกลุ่มใหญ่ที่สุด
ชาวกูยบ้านสําโรงทาบเป็นสังคมเกษตรกรรม มีอาชีพในการทำนาเป็นหลัก โดยจะเริ่มต้นการปักดำในช่วงเดือนหก (เดือนมิถุนายน, กรกฎาคม โดยประมาณ) และจะเก็บเกี่ยวประมาณเดือนสิบสอง (พฤศจิกายน-ธันวาคม) ประเภทข้าวที่ปลูกจะปลูกข้าวจ้าวเป็นหลัก และยังมีอาชีพหนึ่งที่ชาวกูยถือเป็นภารกิจทุกปีอันถือเป็นวิถีการดำรงชีวิตในหลาย ๆ ครอบครัว คือการไปขายแรงงานยังภาคตะวันออกแถบจังหวัดชลบุรี ระยอง ฉะเชิงเทรา เพื่อไปรับจ้างตัดอ้อย เนื่องจากแรงงานขาดแคลนเจ้าของไร่อ้อยจึงส่งนายหน้าเข้ามาหาแรงงานที่หมู่บ้านและจ่ายค่าแรงล่วงหน้าพร้อมนำพาหนะรับส่งถึงชุมชนให้ได้รับความสะดวกสบายยิ่งขึ้น ทำให้แรงงานที่ไปนอกจากจะมีเฉพาะชายฉกรรจ์เหมือนอดีตแล้วยังมีสตรีชาวกูยทั้งแต่งงานและยังไม่แต่งงานต่างก็ไปรับจ้างตัดอ้อยเช่นกันทั้งนี้เพื่อให้ได้ค่าแรงเพิ่มขึ้นเป็นการช่วยหารายได้อีกแรงด้วย
กูย- ผลิตภัณฑ์ OTOP 5 ดาว ผ้าไหมยกดอกย้อมมะเกลือ กลุ่มทอผ้าไหมพื้นเมืองและเสื้อกูย ม.1 ต.สำโรงทาบ อ.สำโรงทาบ จ.สุรินทร์
อิศราพร จันทร์ทอง. (2537). บทบาทหน้าที่ของพิธีแก็ลมอของชาวกูยบ้านสำโรงทาบ อำเภอสำโรงทาบ จังหวัดสุรินทร์. วิทยานิพนธ์ปริญญาศิลปศาสตรมหาบัณฑิต สาขาวิชามานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยศิลปากร.